วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ


 

          ผมเคยบันทึกเรื่องนี้ไว้ ๒ ครั้งแล้ว ที่ http://gotoknow.org/blog/council/52082 และ http://gotoknow.org/blog/thaikm/79874 วันเสาร์ที่ ๒๔ ก.พ. ๕๐ ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน เป็นครั้งแรก เป็นการประชุมที่พิเศษมากสำหรับผม คือได้เรียนรู้อย่างมากมาย

          ข้อดีคือการประชุมนี้จัดที่พื้นที่เลยทีเดียว คือที่ ห้องประชุมเอนกประสงค์ อาคารสำนักงานวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ต. พนางตุง อ. ควนขนุน จ. พัทลุง นี่คือความพิเศษข้อที่ ๑ ช่วยให้คณะกรรมการได้เห็นสภาพจริงของพื้นที่ และชุมชนโดยรอบ

          พอผมลงจากเครื่องบินที่สนามบินหาดใหญ่ตอน ๘.๓๐ น. อ. ไพฑูรย์ ศิริรักษ์ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ของวิทยาลัยฯ มารับ และพาไปเยี่ยม ศ. สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ที่บ้านของท่านที่อำเภอเมืองสงขลา ใครๆ ก็รู้จักว่าท่านเป็นปราชญ์แห่งภาคใต้และเจ้าของความคิดเรื่องวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ท่านนอนป่วยเป็นอัมพาตซีกขวาเนื่องจากเส้นเลือดสมองแตก เหตุการณ์เกิดที่สุราษฎร์ธานี ท่านได้รับการผ่าตัดสมองที่นั่นแล้วย้ายมา รพ. สงขลานครินทร์ เป็นมากว่า ๒ เดือนแล้ว ออกจากโรงพยาบาลมาทำกายภาพบำบัดที่บ้าน ข่าวดีคือท่านฟื้นเร็วมาก ผมไปให้กำลังใจให้ท่านหมั่นออกกำลังเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของสมอง

          ผมขอให้ อ. ไพฑูรย์พาไปดูพื้นที่โดยรอบวิทยาลัยฯ โดยให้รถไป ต. พนางตุงผ่านถนนและสะพานใหม่ที่ตัดจาก อ. ระโนด ทำให้ผมได้เห็นความงามของดงตาลบริเวณนี้ ได้รูปงามๆ ของดงตาลมาฝาก ได้รับรู้เรื่องกลุ่มเลี้ยงควายและถ่ายรูปควายนอนแช่น้ำอย่างมีความสุขโดยมีนกกระยางเป็นเพื่อน รถแล่นผ่าน "แหลมดิน" ซึ่งด้านขวามือเป็นทะเลน้อย ซ้ายมือเป็นทะเลสาบส่วนที่เรียกว่า "ทะเลหลวง" บริเวณนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำกว้างใหญ่มาก ผมชื่นชมที่เขาตัดถนนยาว ๖ กม. ผ่านโดยทำอันตรายต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด โดยสร้างเป็นสะพานเตี้ยๆยาว ๖ กม. ในที่ลุ่มริมถนนมีนกน้ำหากินอยู่มากมาย ผมเกิดความคิดว่า ภูมิปัญญาชุมชนที่เป็นชุมชนในพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ติดทั้งทะเลสาบ และทะเลมหาสมุทรนี่แหละคือลักษณะจำเพาะของที่นี่ ที่เป็นโอกาสให้เรียนรู้และสร้างผลงานวิชาการได้อย่างมากมาย โดยจะไม่มีมหาวิทยาลัยใดแข่งขันได้เลย เพราะพื้นที่แบบนี้มีอยู่ที่เดียวในประเทศไทย

          อ. ไพฑูรย์ เป็นคนที่นี่ และเคยเป็นครูสอนชั้นประถม จึงทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ส่วนตัวของผมตลอดเวลา กว่า ๒ ชม. ของการเดินทาง เราหยุดถ่ายรูปเป็นระยะๆ ที่หมู่บ้านในเขตตำบลตะเครียะเราผ่านบริเวณที่เขากำลังประกวด "นกกรงหัวจุก" (ภาษาปักษ์ใต้) หรือนกปรอดหัวโขน ผมขอให้รถจอดลงไปถ่ายกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมนี้ทันที บอกตัวเองว่านี่แหละ "ภูมิปัญญาชุมชน" มันช่วยให้คนในชุมชนรวมตัวกัน เป็น CoP ที่ในภาษาชาวบ้านเรียกว่า "กลุ่มนกกรงหัวจุก" อ. ไพฑูรย์บอกว่าคิวจัดประกวดยาวมาก คือชุมชนต่างๆ นิยมจัดประกวด โดยต้องจองคิวจัดผ่านชมรมฯ

          เราผ่านบ้านปากคลอง ซึ่งเป็นเมืองท่าสมัยโบราณ และเป็นบ้านเกิดของปราชญ์คนหนึ่งของเมืองไทย คือ อ. เปลื้อง ณ นคร และเนื่งจากร้านอาหารอร่อยๆ ในตัวอำเภอควนขนุนปิดหมด เราจึงย้อนกลับมากินที่ร้านข้าวแกงในตำบลปากคลอง ผมติดใจน้ำพริกผักจิ้ม เข้าใจว่าที่อร่อยนอกจากฝีมือคนปรุงแล้ว คุณภาพของกระปิน่าจะมีส่วนด้วย ที่ร้านมีนกกรงหัวจุกแขวนอยู่ ๒ ตัว ส่งเสียงร้องเจื้อยแจ้ว ผมถามว่าเขาซื้อขายกันตัวละเท่าไร ได้ความว่า "สี่ห้าพัน" และมีบางบ้านผสมนกในกรงด้วย แต่ส่วนใหญ่จับมาจากป่า

          หลังอาหารเที่ยง อ. ไพฑูรย์พาไปที่กลุ่มผลิตปลาดุกร้า ปลาส้ม และปลาแดดเดียว ได้เห็น "ภูมิปัญญาชุมชน" ระดับปฏิบัติการทำมาหากินกันทีเดียว กลุ่มนี้มีหลายบ้าน บางบ้านผลิตวันละเป็นตัน ที่แปลกและแสดงภูมิปัญญาคือวัตถุดิบคือปลาสดมาจากสมุทรสาคร เอามาแปรรูปที่นี่ ซึ่งหมายความว่าภูมิปัญญาในการแปรรูปของชาวบ้านที่นี่เป็นหนึ่ง ส่วนปลาดุก วัตถุดิบส่วนหนึ่งมาจากที่นี่เอง คือเลี้ยงกันในบริเวณนี้ ผมนึกในใจว่า ถ้าวิทยาลัยฯ ช่วยหาความรู้สมัยใหม่ หรือความรู้ด้านเทคโนโลยีการหมักจาก ศช. (ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ) ให้กลุ่มนี้ทดลองปรับปรุงคุณภาพและการประกันคุณภาพด้านความปลอดภัย ก็น่าจะช่วยให้สินค้ามีคุณภาพสูงและสม่ำเสมอขึ้น น่าจะขายได้ราคายิ่งขึ้น

          พื้นที่ของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนขนาด ๑,๔๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมสูงในหน้าน้ำ ตอนแรกมหาวิทยาลัยทักษิณวิทยาเขตพัทลุงจะมาก่อสร้างที่นี่ แต่โดนสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมคัดค้าน จึงต้องหาที่ใหม่ ไปได้ที่ อ. ป่าพยอม ซึ่งเป็นอำเภอทางทิศเหนือของจังหวัดพัทลุง ติดจังหวัดนครฯ และติดถนนสายเอเซีย เป็นพื้นที่สวยและกว้างขวางมาก พื้นที่พนางตุงนี้มีการสร้างอาคารไว้ ๒ หลัง และได้ขุดคลองยาว ๘๐๐ เมตร ไปเชื่อมกับคลองนางเรียม แล้วทิ้งร้างไว้กว่า ๑๐ ปี ตอนนี้มีการออกแบบพัฒนาพื้นที่เสร็จแล้ว ผมมีความเห็นว่าต้องออกแบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติ คือเป็นพื้นที่ลุ่มชุ่มน้ำ และชาวบ้านเขาทำนากัน โดยมีน้ำชลประทานเข้าถึง ชาวบ้านทำนาปีละ ๒ ครั้ง

          การประชุมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเตรียมการสร้าง พุทธมณฑล ในพื้นที่อาศรมภูมิปัญญาสุขภาวะ ของวิทยาลัยฯ มีการเตรียมการณ์วางศิลาฤกษ์ในวันวิสาขบูชา ซึ่งมีเวลาเตรียมการเพียง ๓ เดือน มีการหารือเรื่องการะดมทุน โดยสร้างวัตถุมงคล คือ จตุคามรามเทพ ท่านประธานคณะกรรมการ คือ พล. ต. อ. ดรุณ โสตถิพันธุ์ เป็นประธานที่ทำหน้าที่เก่งมาก ผมได้เรียนรู้มากทีเดียว ว่าในระบบราชการทั่วไป ประธานที่ต้องการอำนวยให้งานสำเร็จลุล่วงอย่างดี ต้องระมัดระวัง และคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง ต้องใช้ลูกเล่นสายสัมพันธ์อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผมไร้เดียงสาทั้งสิ้น ตอนประชุมเรื่องพุทธมณฑลผมจึงนั่งหลับๆ ตื่นๆ ตามสไตล์ของผม ท่านประธานซึ่งเป็นคนรุ่นเดียวกับผมคอยถามผมอยู่เรื่อยว่ามีความเห็นอย่างไร เห็นผงกศีรษะท่านคิดว่าผมเห็นด้วย แต่ก็อยากฟังความเห็น ผมต้องบอกว่าเรื่องนี้ผมไม่ถนัด แต่ก็เห็นว่าน่าจะมาถูกทาง ผมไม่กล้าเผยความลับว่าที่ประธานเห็นผมผงกศีรษะนั้นความจริงเป็นการนั่งโงก เกรงท่านจะเสียใจ

          วาระที่ผมสนใจคือแผนการพัฒนาอาศรมศิลปการ และแผนการดำเนินงานบริการวิชาการและวิจัย พ.ศ. ๒๕๕๐ - ๒๕๕๕ แต่น่าเสียดายที่ฝ่ายเลขานุการไม่ได้เตรียมนำเสนอเชิงนโยบาย แต่นำเสนอแบบเสนอแผนราชการ เน้นที่เงินและกิจกรรม ทำให้ไม่เห็นพลังและคุณค่าของงานของวิทยาลัยฯ ผมจึงของเสนอต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยทักษิณ และผู้บริหารวิทยาลัยภูมิปัญญา ว่า น่าจะมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการชุดนี้ในลักษณะของการประชุมที่เน้นนโยบาย - ยุทธศาสตร์ สักปีละ ๒ ครั้ง ใช้เวลาครั้งละ ๑ ๑/๒ วัน ค้างหนึ่งคืน เชิญกรรมการของอาศมต่างๆ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก (เช่น ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์, รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม, รศ. ดร. สุเทพ สุนทรเภสัช เป็นต้น) มาร่วมกันคิดนโยบายและยุทธศาสตร์ โดยทีมคณะเลขานุการกิจต้องเตรียมมานำเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ใช้อยู่เดิม กิจกรรมและผลงานที่เกิดขึ้นแล้ว และคำถามหรือประเด็นเชิงนโยบายที่ต้องการคำแนะนำ การประชุมก็จะสนุกมากและก่อประโยชน์ได้จริง

          ผมมีข้อสังเกตว่าทีมบริหารของวิทยาลัยติดวัฒนธรรมราชการมากไป น่าจะเปลี่ยนมาใช้วัฒนธรรมวิชาการ ที่เน้นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นให้มากขึ้น มีการนำเสนอความคิดของตนเองให้มากขึ้น

          ในการประชุม ๒ วาระหลัง เป็นเรื่องวิชาการ มีผมเสนอความเห็นอยู่คนเดียว และพอเสนอ ท่านประธานและคนอื่นๆ ก็แสดงท่าทีเห็นด้วยหมด ผมก็เลยไม่สนุก เพราะไม่มีคนช่วยขยายบางส่วน หรือตกแต่งบางส่วนที่ไม่น่าจะใช่ คือผมมองว่าผมเป็นคนคิดเชื่อมโยงแบบฝันเฟื่อง เวลาทำจริงต้องออกจากฝันสู่ความจริงที่ไม่ล่องลอยเกินไป

          ผมเสนอให้
          (๑) วิทยาลัยฯทำงานแบบไม่แยกส่วนออกเป็นอาศรมแบบต่างอาศรมต่างทำ ควรจะทำร่วมกันแบบบูรณาการ โดยแต่ละอาศรมก็มีจุดเน้นของตน แต่ละอาศรมผลัดกันเป็นอาศรมแกนนำและอาศรมร่วมมือ ในต่างโครงการ
          (๒) ชื่อ "วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน" บอกชัด ว่าต้องทำงานใกล้ชิดกับชุมชนมาก จึงต้องมียุทธศาสตร์ในการใช้ความเข้มแข็งของชุมชนในพัทลุง (ซึ่งเข้มแข็งมากเป็นพิเศษ) ซึ่งก็คือ "ภูมิปัญญา" อย่างหนึ่งที่สังคมในจังหวัดพัทลุงมีอยู่สูงมาก ในการทำงานวิชาการ บริการวิชาการ และอื่นๆ
          (๓) การเน้นงานวิจัยระยะยาว ดูผลของการเปลี่ยนแปลงในโครงการใหญ่ๆ เช่นการตัดถนน - สะพาน ขบวนการพัฒนาในรูปแบบที่ "เปิด" พื้นที่บริเวณนี้ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ "ปิด" มานานมาก ฯลฯ ซึ่งต้องตั้งโจทย์ที่แหลมคม ชัด และออกแบบเก็บข้อมูลเป็นช่วงๆ ที่จะไม่มีหน่วยงานอื่นทำได้ เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ และใช้การวิจัยแบบนี้ในการสร้างอาจารย์-นักวิชาการของมหาวิทยาลัยไปในตัว การเปลี่ยนแปลงที่ศึกษา มีทั้งด้านธรรมชาติ - ความหลากหลายทางชีวภาพ และด้านสังคม-วัฒนธรรม ซึ่งเกิดขึ้นจากการปรับตัวของสังคม
          (๔) มีวิธีการใช้ "สมอง" ของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาช่วยแนะนำ วิธีตั้งโจทย์วิจัย วิธีออกแบบวิธีการวิจัยที่ตอบโจทย์ได้อย่างแม่นยำน่าเชื่อถือ และมาคอยทำหน้าที่ steering เป็นระยะๆ
          (๕) มีมุมมองเรื่อง "ภูมิปัญญา" ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องอดีต กับภูมิปัญญาร่วมสมัย นำเอาภูมิปัญญา ๒ ยุคมาเชื่อมโยงและยกระดับซึ่งกันและกัน คือมุ่งทำให้ภูมิปัญญามีชีวิต และรับใช้ชีวิตคน

          ประชุมเสร็จ ๑๗ น. ผมได้ไปดูวิทยาเขตพัทลุง ที่อำเภอป่าพยอม พื้นที่กว่า ๔ พันไร่ มีสิ่งก่อสร้างใหญ่โตสวยงามเกิดขึ้นบนพื้นที่รกร้างเดิมดังเนรมิต ผลงานเหล่านี้เริ่มจากสมัยท่านอธิการบดี ผศ. ไพโรจน์ อินทรสมบัติ ซึ่งเป็นคนที่มีความสามารถพิเศษด้านการพัฒนาพื้นที่ การก่อสร้าง การปลูกต้นไม้ เห็นแล้วก็เกิดปิติว่าสมัยนั้นผมเป็นกรรมการสภา มทษ. ได้มีมติสนับสนุนการขยายวิทยาเขตมาที่พัทลุง เวลานี้เริ่มเห็นผลแล้ว ยุคสร้างสรรค์เชิงกายภาพจะต้องตามมาด้วยยุคการเน้นสร้างสรรค์วิชาการ หรื อเน้นคน ซึ่งจริงๆ แล้วควรทำคู่ขนานไปกับการพัฒนาเชิงกายภาพ แต่ผู้จัดสรรทรัพยากรไทยไม่เคยเข้าใจเรื่องนี้เลย ทำให้การพัฒนามหาวิทยาลัยของไทยเป็นการพัฒนาแบบไม่ครบด้าน ลุ่มๆ ดอนๆ

วิจารณ์ พานิช
๒๕ ก.พ. ๕๐

๑. ทุ่งนาที่มีต้นตาลอยู่บนคันนาบอกเขตที่ดินและได้ร่มเงาได้ผลผลิตเก็บผลส่งขายที่เพชรบุรี

๒. สะพานยาว ๖ กม.ข้ามพื้นที่ชุ่มน้ำแหลมดิน

๓. อ้ายทุยกับเพื่อนนกกระยาง

๔. นกตะโก้ง

๕. ริมทะเลน้อย

๖. บรรยากาศงานแข่งขันนกกรงหัวจุก

 

๗. เจ้าของนกเข้าไปเชียร์นกของตนได้

๘. กรงนกอยู่กลางแจ้งกรรมการอยู่ในที่ร่ม

๙. กรงอันวิจิตร

๑๐. หมู่บ้านชมรมผลิตปลาดุกร้าปลาส้มและปลาแดดเดียวบางบ้านผลิตวันละเป็นตัน

๑๑. ภายในโรงงานปลา

๑๒. ปลาแดดเดียวทำจากปลาจีนวัตถุดิบมาจากสมุทรสาครส่งมาในถังน้ำแข็ง

๑๓. จากขวาไปซ้ายพล.ต.อ.ดรุณโสตถิพันธุ์ประธาน,รศ.ดร.สมเกียรติสายธนูอธิการบดี,อ.สารูปฤทธิชูผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ

๑๔. สภาพพื้นที่ที่จะพัฒนาขึ้นเป็นวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน

๑๕. ผังการใช้ที่ดินพุทธมณฑลจะอยู่ใยบริเวณอาศรมภูมิปัญญาสุขภาวะด้านขวาบนของผัง

๑๖. คลองขุดไปเชื่อมกับคลองนางเรียม

๑๗. สภาพภายในห้องประชุมคนสวมเสื้อสีม่วงคือนายปิติเลิศสุวรรณเกษานายอำเภอควนขนุน

หมายเลขบันทึก: 80959เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2007 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วก้อให้แปลกใจครับ 

ผมเองอยู่ในพื้นที่มาตลอด  เห็นมาตลอด  รู้มาตลอด  แต่ไม่สามารถอธิบายได้เห็นภาพอย่างท่านอาจารย์ครับ 

คงเหมือนอย่างที่เขาว่า  คนในมักมองไม่เห็น  (เพราะเคยชิน  ไม่เห็นว่าจะสวย  จะงาม  จะน่าสนใจตรงใหน )  ต้องให้คนนอกมามองแล้วจะเห็นอย่างที่คนในไม่เคยเห็น 

อ่านแล้วดีใจครับที่เกิดเป็นคนพัทลุงกะเขาคนหนึ่งด้วย   

ผมคิดว่า  วิทยาลัยภูมิปัญญาฯ  คงได้อะไรเยอะมากจากข้อคิดเห็นของท่านอาจารย์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท