ถ่ายทอดประสบการณ์ : จุดคานงัดคุณภาพของระบบบริการสุขภาพ (๑)


ผู้ป่วยเบาหวาน ครอบครัว และท้องถิ่นร่วมมือกัน ทำให้สามารถอยู่กับเบาหวานได้อย่างมีความสุขและเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

การประชุมวิชาการ Primary Care ระดับประเทศ ครั้งที่ ๒ "ตกผลึกอุดมการณ์บริการปฐมภูมิ สู่ปฏิบัติการ...งานสุขภาพชุมชน"

๑๓.๔๐ น.วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ เป็นเวทีในห้องย่อย ๔ ห้อง "สะท้อนอุดมการณ์ แนวคิด....สู่รูปธรรมจากคนทำงาน" ดิฉันเข้าฟังการถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อเรื่องจุดคานงัดคุณภาพของระบบบริการสุขภาพ ห้องย่อย GH 203 ซึ่งมี นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ ผอ.รพ.เทพา จ.สงขลา ดำเนินรายการ ผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ได้แก่ คุณปรีชา ศรีชัย รองนายก อบต.และประธานชมรมเบาหวาน ต.บ้านกร่าง จ.พิษณุโลก นพ.นิพัธ กิตติมานนท์ ผช.ผอ.ฝ่ายบริการปฐมภูมิ รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก ภก.สุรพงศ์ แสงฉายา รพ.คำตากล้า และคุณวัลภา เฟือยงาราช นักวิชาการสาธารณสุข ศสช.บ้านกุดจาน อ.คำตากล้า จ.สกลนคร

 

 คุณปรีชา ศรีชัย รองนายก อบต.บ้านกร่าง จ.พิษณุโลก

คุณปรีชา ศรีชัย เล่าประสบการณ์ของตนเป็นคนแรก ว่าเมื่อปี ๒๕๔๖ คุณหมอนิพัธ กิตติมานนท์ ได้ส่งทีมจาก รพ.ร่วมกับทีม สอ. ไปคัดกรองคนที่มีอายุ ๔๐ ปีขึ้นไป ตนเองทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์และนัดคนมา จัดข้าวปลาอาหารมาเลี้ยง ในการตรวจรุ่นแรก ๒,๐๐๐ กว่าคนพบว่ามีน้ำตาลในเลือดผิดปกติ ๒๓๙ คน “ผมเป็นส่วนหนึ่งในนั้น น้ำตาล ๓๐๐” เจ้าหน้าที่แจ้งว่าผมเป็นเบาหวานต้องส่ง รพ. “รู้สึกเสียใจ ครอบครัวก็เสียใจว่าโชคร้าย เพราะคนที่บ้านไป รพ.แล้วไม่ได้กลับ เสียใจเพราะคิดว่าต้องเสียชีวิตเร็วเกินควร คิดว่าต้องไปเร็ว.....ลูกวางแผนจะปลูกบ้าน ตีราคาเรียบร้อย พอรู้ว่าพ่อเป็นเบาหวาน งดเลย เพราะคิดว่าพ่อคงอยู่ไม่นาน”

ตอนไปพบแพทย์ ในระหว่างรอได้เจอกับคนเป็นเบาหวานที่อยู่ต่างตำบลกัน มีการจัดห้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เขาถามกันว่า “ลดไหม” ผมก็แปลกใจว่า “ลดอะไร”  เขาคุยกันว่ารับยาแล้ว ปฏิบัติตามที่แพทย์สั่งแล้ว บางคนบอกลด บางคนไม่ลดเพราะไปงานเลี้ยง ผมจึงฉุกคิดได้ว่า “น้ำตาลลดได้” ได้พบแพทย์สั่งยาแล้วนัดอีก ๑ เดือน น้ำตาลลดจาก ๓๐๐ เหลือ ๑๗๐ ภาคภูมิใจมาก กลับมาเล่าให้ครอบครัวฟัง เห็นประโยชน์จึงเชิญเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้กับชาวบ้าน ๒๓๙ คน

เจาะเลือดติดตามดูทำอยู่อย่างนี้ ๔ เดือน คิดว่ามาได้ครึ่งทางแล้วจึงชวนกันตั้งกลุ่มออกกำลังกาย ออกกำลังกายทุกวัน ทำอาหารกินด้วยกันเดือนละครั้ง ต่อมาน้ำตาลลดเหลือ ๑๑๐ใช้เวลาเกือบ ๒ ปีกว่าน้ำตาลจะลดจาก ๓๐๐ เหลือ ๑๑๐ จากเริ่มต้นมีสมาชิก ๓๐-๔๐ คน จนมีถึง ๒๐๐ คนแล้ว บางคนยังไม่เป็นเบาหวาน แต่กลัวจะเป็นก็มาออกกำลังกาย

อบต.จัดงบสนับสนุน ๓,๐๐๐ บาทต่อเดือน จัดเสื้อให้และมีบริการต่างๆ ชาวบ้านรัก เพราะคนป่วยดีขึ้น ไม่ต้องมีคนคอยดูแล ไปทำมาหากินได้

คุณปรีชาบอกว่าจะคุมเบาหวานได้ ครอบครัวต้องให้การสนับสนุน "ผมชอบกินทุเรียน ลูกไม่ซื้อให้ ตั้งกติกาว่าเป็นสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยกับผม ใครจะกินให้จัดการจากนอกบ้านให้เรียบร้อย" นอกจากนี้ตนเองออกงานสังคมบ่อย ก่อนไปกินโต๊ะจีน จะกินอาหารจากบ้านไปก่อน พอไปงานก็กินถั่วคุยกับเขาได้ สิ่งสำคัญคือ “ต้องชนะใจตนเอง” ไม่ใช่เผลอคนก็แอบกิน

ทุกวันนี้ตนเองมีความสุข ครอบครัวก็มีความสุข มาพูดวันนี้ยิ่งมีความสุข ถ้าไม่ได้เป็นเบาหวานก็คงไม่ได้มา คุณหมอสุวัฒน์ถามว่าถ้าเจาะเลือดวันนี้คิดว่าน้ำตาลจะเท่าไหร่ คุณปรีชาตอบได้ทันทีว่า “ไม่เกิน ๑๒๐”

คุณปรีชาเล่าเรื่องของตนเองได้อย่างน่าประทับใจ เห็นภาพของผู้ป่วยเบาหวาน ครอบครัว และท้องถิ่นร่วมมือกัน ทำให้สามารถอยู่กับเบาหวานได้อย่างมีความสุขและเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 80925เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2007 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
การคุมเบาหวานอยู่ที่ใจจริงๆ ค่ะ ต้องชนะใจตนเอง ให้ได้ แต่คุณพ่อดิฉันยังไม่สามารถชนะใจตนเองได้ค่ะ ปัจจุบัน ระดับน้ำตาลสะสม ยังอยู่ที่ 7 คุณหมอให้ลดลงมาที่ 6 ค่ะ
     พี่ปรีชาเป็นตัวอย่างของประชาชน ที่ทำงานร่วมกับน้องๆ ศสช บ้านกร่าง ได้เป็นอย่างดี ต่างคนต่างสร้างเสริมพลังซึ่งกันและกัน ทำให้บรรยกาศการทำงานเต็มไปด้วยพลังแห่งความสุข พี่วัลลาถ่ายทอดได้ครบถ้วนกระบวนความจริงๆครับ

อยากให้คนไข้เป็นเบาหวานได้อ่านด้วย

อาจารย์เล่าเห็นภาพเลยค่ะ ว่าการดูแลเบาหวาน ทำได้ถ้าตั้งใจ

พิมพ์ข้อความและรูป ออกมาจะไปฝากโชว์ที่คลินิกเบาหวานค่ะ ขออนุญาติคุณปรีชา ผ่านอาจารย์ ผ่านบล็อกด้วย

เรื่องเล่าของคุณปรีชาคงช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานมีกำลังใจและเห็นว่าการควบคุมเบาหวานเป็นเรื่องที่ตนเองทำได้

ขอบคุณคุณหมอรวิวรรณที่จะเอาไปขยายต่อ ดิฉันเชื่อว่าคุณปรีชาคงเต็มใจแน่ๆ ดิฉันจะส่งรูปคุณปรีชาขนาดใหญ่กว่าในบล็อกไปให้คุณหมอด้วย ภาพไม่ดีนักเพราะแสงในห้องประชุมน้อยค่ะ

สำหรับคุณพ่ออาจารย์จันทวรรณ การที่คุมน้ำตาล A1C ได้ 7% นี่ก็ถือว่าดีมากแล้วค่ะ แต่ถ้าต่ำกว่านี้ได้ก็ถือว่ายอดเยี่ยม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท