กำลังใจ (โลกในใจของบุญถึง ตอนที่ 12)


“....ก้าวเดินไปไม่หวั่นขวากหนาม ข้ามลำธารไม่หวั่นภูผา มาร่วมเป็นกำลังใจ ทางแสนไกลร่วมฟันฝ่า เกิดเป็นคนจงหย่าหยุดยั้ง เพื่อนร่วมทางจงอย่าอ่อนล้า มาร่วมเป็นกำลังใจ จุดหมายคงอยู่ไม่ไกล....”

      งานวันชาวหอคืนนั้นดูสนุกและคึกคักเป็นพิเศษ เสียงดนตรีสลับกับเสียงกระเซ้าเย้าแหย่หยอกล้อกันระหว่างนักศึกษาชาวหอทั้งหญิงและชาย ดังเซ็งแซ่จนฟังไม่ได้ศัพท์ อาหารการกินที่วางอยู่บนโต๊ะกลายเป็นส่วนเกินที่ถูกมองข้าม
    
บุญถึง...มีที่นั่งหรือยัง นั่งกับพี่มั๊ย” เสียงพี่แก้วเรียกขณะที่ผมเดินผ่านโต๊ะที่เธอและเพื่อน ๆ นั่งอยู่ ผมเองก็พยายามกวาดสายตาหาพี่แก้วตั้งแต่หัวค่ำแล้วเหมือนกัน
      “ขอบคุณครับพี่ เก้าอี้นี่ยังว่างใช่มั๊ยครับ” ผมพูดพร้อมกับลากเก้าอี้ออกมาแล้วทรุดตัวลงนั่งใกล้พี่แก้ว
     “ กินอะไรเรียบร้อยหรือยัง” เป็นประโยคแรกที่พี่แก้วถามหลังจากที่ผมนั่งลง
     “เรียบร้อยจากโต๊ะโน้นแล้วครับพี่” ผมตอบเบา ๆ และทำตัวลีบลงเมื่ออยู่ท่ามกลางเพื่อน ๆ พี่แก้ว
    “คงอิ่มใจมากกว่าละมั้ง พี่ขอแสดงความยินดีกับตำแหน่ง
ขวัญใจชาวหอประจำปีนี้” พี่แก้วกล่าวแสดงความยินดีกับผมด้วยสายตาที่บอกความรู้สึกจริงใจ ซึ่งจริง ๆ แล้วพี่แก้วนั่นแหละที่อยู่เบื้องหลังช่วยสนับสนุนชักนำเพื่อน ๆ และน้อง ๆ ชาวหอหญิงให้เลือกผม...แล้วพี่แก้วก็แนะนำเพื่อน ๆ ของพี่แก้วที่เรียนอยู่ปี 4 ให้ผมรู้จักตามธรรมเนียม ซึ่งความจริงผมก็คุ้น ๆ หน้าอยู่แล้ว
    
งานวันชาวหอปีนี้สนุกกว่าทุกปีนะ แต่ละหอจัดตกแต่งได้ดีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะตู้เสื้อผ้าของหอชายจัดได้เก๋และมีแนวคิดแปลกดี”
      
พี่แก้วกล่าวถึงบรรยากาศของการประกวดหอพักของนักศึกษาวิทยาลัยครู ที่เพิ่งผ่านมาเมื่อเช้านี้ โดยนักศึกษาชาวหอทั้งชายและหญิงต่างจัดตบแต่งหอพักของตนให้คณะกรรมการไปตรวจ มีผู้เยี่ยมชมที่เป็นสมาชิกจากหออื่นติดตามมาเป็นขบวน ที่สนุกและตื่นเต้นก็คือ ชาวหอหญิงไปดูหอชาย ส่วนชาวหอชายก็ไปดูชาวหอหญิง ต่างฝ่ายต่างพยายามจัดหอพักของตนให้สะดุดตากรรมการและแขกผู้มาเยือน โดยเฉพาะเพศตรงข้าม มีเสียงกรี๊ดกร๊าด เสียงหัวเราะทักทายกันระหว่างเจ้าของตู้เสื้อผ้า และผู้มาเยือนไม่ขาดระยะ ผู้ที่มีความลึกซื้งต่อกันก็จะมอบสิ่งที่มีความหมายแก่กันเป็นพิเศษ
        นักศึกษาวิทยาลัยครูส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง จึงมีหอพักหญิงถึง 4 หอ หอพักชายมีเพียง 2 หอ ชื่อหอพักก็เก๋ทั้งนั้น เป็นต้นว่า
นิมมานนรดี ชิดชายชล เทพประทาน พิมานแมน ฟังคล้ายเป็นวิมานชั้นฟ้าที่น่าสิงสถิตทั้งสิ้น
       ผมไม่มีวันลืมภาพความประทับใจเมื่อเช้านี้ลงได้
พี่แก้วถือช่อกุหลาบสีแดงผูกโบสีฟ้ามามอบให้ผมที่หน้าตู้เสื้อผ้า ซึ่งผมบรรจงตบแต่งไว้ต้อนรับพี่แก้วมากกว่าใคร ๆ
      “พี่ขอมอบดอกกุลาบจากใจพี่ แก่น้องชายที่พี่รักที่สุด”
       พี่แก้วพูดด้วยเสียงประหม่านิด ๆ แต่ให้ความรู้สึกที่ลึกซื้งกินใจและฝังลึกในหัวใจผมตลอดมา มือพี่แก้วที่สัมผัสกับมือผมขณะยื่นไปรับช่อกุหลาบ แม้เพียงชั่วแล่นแต่ก็ซึมซาบให้ความรู้สึกที่เป็นสุขอย่างประหลาด
      
พี่แก้วอายุมากกว่าผม 1 ปี เป็นคนอำเภอและจังหวัดเดียวกันกับผม ผมรู้จักกับพี่แก้วเมื่อครั้งเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พี่แก้วเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อยู่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดซึ่งอยู่อาคารเดียวกันกับโรงเรียนผม มีเพียงลูกกรงเหล็กกั้นพรมแดนระหว่างช่องทางเดินของอาคารเท่านั้น
        ผมพบพี่แก้วครั้งแรกขณะที่ยืนรอรถประจำทางกลับบ้านของเย็นวันหนึ่ง วันนั้นผู้โดยสารแน่นเป็นพิเศษ กระเป๋าและคนขับรถคอยควบคุมไม่ให้นักเรียนที่เสียครึ่งราคาขึ้นรถ บอกแต่เพียงว่าให้รอคันหลัง ผมรอมา 2 คันแล้วก็ไม่มีท่าทีว่าจะได้ขึ้น พยายามตื้อขึ้นไปยืนเบียดเสียดก็ไม่สำเร็จ ถูกกระเป๋าไล่ลงทุกครั้ง
       ห้าโมงกว่าแล้ว เหนื่อยก็เหนื่อย หิวก็หิว ในกระเป๋ามีเพียงค่ารถ 50 สตางค์เท่านั้น
เฉาก๊วยจากรถเข็นของอาแปะส่งกลิ่นน้ำนมแมวรบกวนให้ผมต้องกลืนน้ำลายที่เอ่อมาจุกลำคอโดยไม่รู้ตัว
      “ไอ้ถึง กินเฉาก๊วยมั๊ย เย็นชื่นใจจริง ๆ”
สิทธิศักดิ์นักเรียนห้องเดียวกับผมที่อยู่ในกลุ่มลูกคนจีน ซึ่งคอยแกล้งผมเป็นประจำ ยื่นเฉาก๊วยมาล่อ แล้วก็ดื่มอวดด้วยท่าทียียวน พอเห็นว่าผมไม่กล้าต่อล้อต่อเถียงด้วย สิทธิศักดิ์ก็ยิ่งทำกร่าง
       “ไม่มีตังค์ซื้อซิท่า ทำบุญทำทานให้สักอึกเอามั๊ย” เพื่อนในกลุ่มของสิทธิศํดิ์ 2 – 3 คนผสมโรงหัวเราะอย่างขบขัน ผมก้มหน้านิ่ง
      “หยุดนะนายฮั้ว ทำไมเธอถึงชอบแกล้งเพื่อนอย่างนี้” มีเสียงหนึ่งดังมาจากกลุ่มนักเรียนหญิงที่ยืนอยู่ 3 – 4 คน ทำให้สิทธิศักดิ์หรือนายฮั้วและเพื่อนของเขา หยุดแสดงความก้าวร้าวลงทันที เจ้าของเสียงเดินออกมาประจันหน้ากับนายฮั้ว ด้วยท่าทางเอาจริง ทำให้กลุ่มนายฮั้ว ต้องถอยร่นหลบไปจับกลุ่มอยู่อีกมุมหนึ่งของถนน
       
แม่พระที่มาโปรดผมในยามนั้นเป็นสาวน้อยในชุดนักเรียนรูปร่างสูงโปร่ง ผิวขาวเนียนแบบลูกคนจีนไว้ผมบ็อบเคลียท้ายทอย จมูกโด่ง นัยน์ตาคมเข้มรับกับใบหน้ารูปไข่ ท่าทางเด็ดเดี่ยวของเธอ ดูโดดเด่นดั่งนางพญาผู้เยาว์วัย ผมเองก็เพิ่งเห็นเธอครั้งนี้เป็นครั้งแรก
     
พวกนายฮั้วก็เป็นอย่างนี้แหละ ชอบข่มคนที่เห็นว่าพอข่มได้ เจอคนจริงเข้าก็หงอทุกครั้ง” เธอหันมากล่าวกับผมพร้อมกับมองผมอย่างปลอบโยน
      “ขอบคุณครับ” ผมพูดกับสาวน้อยผู้อารีด้วยเสียงเครือ เพราะยังไม่หายตกใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วก้มหน้าไม่หล้าสบตาเธอผู้นั้น
      “ชื่ออะไร เรียนอยู่ชั้นไหนแล้ว” เธอถามผมต่อขณะที่เพื่อนของเธอเดินเข้ามาสมทบรุมล้อมผมอย่างสนใจ
     
ชื่อบุญถึง อยู่ ม.ศ. 2” ผมตอบสั้น ๆ ด้วยกระแสเสียงที่ยังไม่หายประหม่า เพื่อน ๆ ของเธออมยิ้ม คงขำชื่อและท่าทางของผมแต่ก็พยายามไม่แสดงท่าทีให้ผมไม่สบายใจ สาวน้อยผู้อารีสั่งเฉาก๊วยให้ผมและทุกคนโดยไม่ถาม ท่าทางของเธอจริงใจและจริงจัง จนผมไม่กล้าปฏิเสธ
     
ฉันชื่อแก้ว โน่นจี๊ด นั่นแหม่ม และคนนั้นก็นก พวกเราเรียนอยู่ ม.ศ.3 คงเป็นพี่เธอซินะ บ้านเราอยู่ตัวอำเภอ ปกติพวกเราจะไปรถรับส่งของกรมทางหลวง แต่วันนี้รถเขาไปต่างจังหวัดเลยต้องขึ้นรถกลับเอง พวกนายฮั้วก็บ้านอยู่ใกล้ ๆ กับฉันนั่นแหละ เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน บ้านเธออยู่ไหนล่ะ ต้องกลับรถประจำทางทุกวันเหรอ”
        เธอแนะนำและซักถามผม ผมตอบเธอไปสั้น ๆ เช่นเคย
      
วันหลังขึ้นรถกรมทางหลวงไปพร้อมกับพวกเราก็ได้นะ ฉัน...เอ้อ...พี่จะบอกให้เขาจอดให้เธอลงเอง” พี่แก้วชักชวนผม
        “ขอบคุณครับ” ผมตอบด้วยความซาบซึ้งในน้ำใจของเธอ
       
ผมเดินผ่านโรงเรียนของพี่แก้ว พยายามมองหาเธออยู่หลายวันก็ไม่พานพบ จะไปรอพบพี่หน้าโรงเรียนก็ไม่กล้า ผมร้อนรุ่มกลุ้มใจอยากเจอพี่แก้วสักครั้ง หลังเลิกเรียนวันหนึ่ง ผมตัดสินใจชวนสมชัยเดินเตร็ดเตร่แถวหน้าโรงเรียน บริเวณที่คิดว่ารถรับส่งของกรมทางหลวงจะจอด กลัวจะเจอนายฮั้วกับพรรคพวกก็กลัว แต่ไปกับสมชัยนายฮั้วคงไม่กล้าหรอก เพราะเคยรู้รสหมัดของสมชัยมาแล้ว ขณะที่กำลังยืนเก้ ๆ กัง ๆ อยู่นั้นพี่แก้วก็ร้องทักผมแต่ไกล แล้วเธอก็เดินตรงมาหาผม
      “ไปขึ้นรถกลับบ้านพร้อมพี่เถอะ นี่เพื่อนเหรอ” พี่แก้วหันไปทางสมชัย
       “ครับ ชื่อสมชัย” ผมแนะนำ สมชัยยิ้ม และโค้งศีรษะให้พี่แก้ว
      “ไปพร้อมกันทั้งหมดเลยมั๊ย” พี่แก้วชวนสมชัยอีกคน ผมชิงตอบแทนสมชัย
     “สมชัยเขาไปอีกทางหนึ่งครับ” ว่าแล้วผมก็เดินแยกจากสมชัย ตามพี่แก้วไปขึ้นรถกระบะท้ายสูงหลังคางุ้มอย่างว่าง่าย พี่แก้วจัดที่ให้ผมนั่งใกล้ ๆ กับเธอ บนไม้กระดานที่พาดระหว่างตัวถังรถเป็นแนวยาวแทนม้านั่งทั่วไป นายฮั้วและคณะยืนอยู่ท้ายรถหันมาทางผมแล้วซุบซิบอะไรก็ไม่รู้ ผมรู้สึกหวาด ๆ แต่อยู่กับพี่แก้วผมก็ใจชื้นไม่กลัวอะไรแล้ว พี่แก้วหยิบทอฟฟี่ในกระเป๋าส่งให้ผมเม็ดหนึ่ง
      “อมซะจะได้ชุ่มคอ” พี่แก้วลอบมองผมไม่รู้ว่ามองอย่างเอ็นดูหรือสมเพช แต่ผมก็ชุ่มชื่นทั้งคอและหัวใจ พี่แก้วชวนผมคุยมาตลอดทาง
      “จอดตรงสามแยกข้างหน้าด้วยนะน้าแวว” พี่แก้วตะโกนบอกคนขับ
     “เอาใครขึ้นรถมาด้วย ทีหลังไม่จอดระหว่างทางนะ” น้าแววเบาเครื่องรถแล้วบ่นอย่างไม่ค่อยพอใจก่อนจอดให้ผมลง
      “เด็กหลงโว้ย” นายฮั้วตะโกนตามลงมาขณะผมก้าวลงจากรถ
       ตั้งแต่วันนั้นผมก็ไม่ได้ขึ้นรถมาพร้อมกับพี่แก้วอีก ผมเจอพี่แก้วอีกครั้งเมื่อใกล้สอบปลายปี พี่แก้วก็ยังคงถามสารทุกข์สุกดิบ แสดงความห่วงใยผมเหมือนเดิม ผมยังจำประโยคสุดท้ายที่พี่แก้วพูดร่ำลา ผมฟังแล้วก็ใจหาย
      
เดือนหน้าพี่ก็จบแล้ว ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปเรียนที่ไหน บุญถึงต้องดูแลและตั้งใจเรียนนะ”
     
ผมไม่ได้พบพี่แก้วอีก อยากรู้ว่าพี่แก้วไปเรียนต่อที่ไหน ก็ไม่รู้จะถามใคร ครั้นจะถามนายฮั้วก็รังแต่จะถูกเยาะเย้ยรังแก พี่แก้วเงียบหายไปเป็นปี จนผมจบชั้นมัธยมปีที่ 3 และสอบเรียนต่อวิทยาลัยครูได้
      
ขณะที่ผมกำลังหันรีหันขวางตัดสินใจไม่ถูกกับระบบการลงทะเบียนเรียนชั้นปีที่ 1 ของวิทยาลัยครูที่ต้องแย่งกันลงทะเบียนในแต่ละรายวิชาอยู่นั้น ผมได้พบพี่แก้วอย่างไม่คาดฝัน ผมดีใจและตื่นเต้นอย่างที่สุด พี่แก้วเองก็มีสีหน้าแช่มชื่นเช่นกัน
        พี่แก้วอยู่ในชุดนักศึกษา ดูเป็นสาวขึ้นมาก แต่ดวงตาอาทรที่มองผมยังฉายแววปรานีไม่เปลี่ยนแปลง
       “อย่าเพิ่งพูดอะไรกันเลย รีบลงทะเบียนให้เสร็จก่อน พี่จะช่วย” พี่แก้วเป็นแม่พระมาโปรดผมในยามวิกฤติอีกครั้ง ช่วยจัดการลงทะเบียนให้ผมจนเรียบร้อยแล้วพาผมมานั่งดื่มน้ำส้มคั้นที่โรงอาหาร เราต่างถามสารทุกข์สุกดิบกันด้วยความดีใจที่ได้พบกัน พี่แก้วเล่าว่าหลังจากจบมัธยมปีที่ 3 ก็ไปสอบเรียนพยาบาลและวิทยาลัยครู พอดีสอบได้ที่นี่ก็เลยมาเรียน ตอนเรียนปี 1 ต้องปรับตัวใหม่และเรียนหนักมาก ต้องดูหนังสือจนดึกทุกคืน
        “พี่ว่าจะเขียนจดหมายมาหาบุญถึงตั้งหลายครั้ง ก็ไม่มีเวลาเลย อย่าโกรธพี่นะที่เงียบหายไป” พี่แก้วเล่าบรรยากาศของวิทยาลัยครูให้ผมฟัง และแนะนำวิธีการเรียนให้กับผมตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ อย่างละเอียด ในตอนหนึ่งพี่แก้วเล่าว่า
        “นักศึกษาที่นี่เขาจะมีพี่มีน้อง คอยให้ความช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาให้กันและกัน...
ตอนนี้บุญถึงเป็นน้องพี่แล้วนะ ห้ามไปเป็นน้องคนอื่นรู้มั้ย”
        
ครับ” ผมตอบพี่แก้วสั้น ๆ เหมือนที่เคยตอบ แต่ก็ซ่อนความปิติไว้ภายใน

พี่แก้วดีต่อผมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย คอยดูแลเอาใจใส่ แนะนำช่วยเหลือเรื่องการเรียนและเรื่องส่วนตัวเสมอมา ผมไม่รู้ว่าพี่แก้วคิดยังไงกับผม ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีความรู้สึกอย่างไรต่อพี่แก้ว รู้แต่ว่าเวลาอยู่ใกล้พี่แก้วแล้วอบอุ่น และอยากอยู่ใกล้พูดคุยกับพี่แก้วนาน ๆ
        
ผมขยันอ่านหนังสือ ตั้งใจเรียน จนมีผลการเรียนดีขึ้น ผมจำได้ว่าวันประกาศผลสอบภาคเรียนที่ 1 ผมนำผลการเรียนไปอวดพี่แก้วเป็นคนแรก พี่แก้วยิ้มอย่างพอใจและกล่าวชื่นชมผมเสียยืดยาว ในใจผมคิดเสมอว่าผลการเรียนที่ดีขึ้นของผม เป็นผลมาจากกำลังใจที่พี่แก้วให้แก่ผมมากกว่าจะเกิดจากตัวผมเองทั้งหมด พี่แก้วเองก็คงภูมิใจอยู่ลึก ๆ เช่นกัน กำลังใจช่างมีพลังที่ลึกล้ำอย่างประหลาดเหนือพลังใด ๆ
       
พี่แก้วมอบวิทยุเทปเป็นของขวัญให้ผม 1 เครื่องผมเปิดฟังทุกคืนทั้งเวลาท่องหนังสือและเวลานอน มีความรู้สึกเหมือนมีพี่แก้วอยู่ใกล้ ๆ
       “อีกไม่กี่เดือนพี่ก็จะจบแล้วนะ ไม่รู้จะได้เรียนต่อหรือจะต้องออกไปสอนหนังสือ” พี่แก้วปรารภขึ้น ขณะที่ผมกำลังปล่อยอารมณ์ให้จมดิ่งไปกับอดีตที่เหมือนเพิ่งผ่านมาสักครู่ ตอนนี้ที่โต๊ะเหลือผมกับพี่แก้วเพียง 2 คนเพื่อน ๆ พี่แก้วขอตัวกลับไปก่อน..เกือบ 2 ยามแล้ว เวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน ดนตรีหยุดบรรเลงไปนานเท่าไรก็ไม่รู้ บรรยากาศงานชาวหอเริ่มโหรงเหรง ยังมีนักศึกษาเพียงบางโต๊ะที่ยังจับกลุ่มคุยกันต่อ
       “ผมคงคิดถึงพี่แก้วและทำใจลำบากเมื่อถึงวันนั้น”
       เสียงผมเครือและแผ่วเบา เมื่อนึกถึงเหตุการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ พี่แก้วเตือนสติผมอีกครั้ง
       “บุญถึงเป็นผู้ใหญ่มากแล้วนะ อย่าทำตัวเป็นลูกแหง่ที่เลี้ยงไม่โตซิ ต้องมีความเชื่อมั่นในตนเอง จึงจะสามารถนำตัวเองและนำคนอื่นได้”
      เราต่างมองตากัน ราวกับจะเก็บภาพที่อยู่เบื้องหน้าไว้ในความทรงจำให้เนิ่นนาน
       ปีต่อมาพี่แก้วก็สอบคัดเลือกได้เข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เราเขียนจดหมายติดต่อกัน 2 – 3 ฉบับ แล้วอยู่ ๆ พี่แก้วก็เงียบหายไป ผมเขียนไปหาพี่แก้วครั้งหลังสุดอีก 2 ฉบับ ก็ไม่ได้รับคำตอบ แรก ๆ ผมอดที่จะน้อยใจพี่แก้วไม่ได้ ผมคิดไปต่าง ๆ นานา ว่าพี่แก้วอาจมีแฟนที่กรุงเทพฯ เลยลืมน้อยชายกะโปโลที่เป็นลูกแหง่เลี้ยงไม่โตคนนี้ แต่อีกใจหนึ่งก็พยายามเข้าใจพี่แก้วว่า คงจะเรียนหนักจนไม่มีเวลาว่าง และอยากให้ผมเป็นตัวของตัวเองเสียที พี่แก้วได้ให้อะไรกับผมเพียงพอแล้ว เป็นเปลวเทียนที่ส่องทางเดินให้ผม และเป็นสะพานให้ผมก้าวเดิน ผมควรจะยืนหยัดด้วยลำแข้งของตนเอง อย่าได้คิดอะไรที่เกินเลยหรือผูกมัดพี่แก้วในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
       ผมได้ข่าวพี่แก้วอีกครั้ง เมื่อผมเรียนจบออกมาเป็นครูแล้ว ทราบว่าพี่แก้วไปสอบบรรจุเป็นครูอยู่ที่พิษณุโลกและแต่งงานกับเพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยเดียวกัน
       ร่วม 30 ปีแล้วซินะ...วันเวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน ผมหยิบรูปพี่แก้วในอัลบั้มขึ้นดู ทอดสายตาไปนอกหน้าต่าง เหม่อมองไปจนสุดปลายฟ้าที่กว้างไกล มีเพียงแสงดาวระยิบระยับ ที่ช่วยแต้มแต่งอ้อมกอดอันละมุนของรัตติกาลให้มีสีสัน
       ผมถอนหายใจลึก ๆ นึกโหยหาวันเวลาอันอบอุ่นที่มีพี่แก้วอยู่เคียงข้าง....เสียงเพลงจากวิทยุกังวานแว่วขึ้น...
      
....ก้าวเดินไปไม่หวั่นขวากหนาม ข้ามลำธารไม่หวั่นภูผา มาร่วมเป็นกำลังใจ ทางแสนไกลร่วมฟันฝ่า เกิดเป็นคนจงหย่าหยุดยั้ง เพื่อนร่วมทางจงอย่าอ่อนล้า มาร่วมเป็นกำลังใจ จุดหมายคงอยู่ไม่ไกล....”

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 80768เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2007 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ชอบอันนี้จังเลยครับ
  • ....ก้าวเดินไปไม่หวั่นขวากหนาม ข้ามลำธารไม่หวั่นภูผา มาร่วมเป็นกำลังใจ ทางแสนไกลร่วมฟันฝ่า เกิดเป็นคนจงหย่าหยุดยั้ง เพื่อนร่วมทางจงอย่าอ่อนล้า มาร่วมเป็นกำลังใจ จุดหมายคงอยู่ไม่ไกล....”
  • สมัยเรียนที่ มศว สงขลา
  • ยังมีประเพณีชาวหอ
  • มาอยู่ที่ประสานมิตร ตอนปริญญาโท ไม่มีแล้วครับ
  • ไม่ทราบเดี๋ยวนี้มีไหม
  • ได้ข่าวว่าบุญถึงจะไปต่างประเทศก่อนเดือนตุลาคม ปีนี้ครับ ไปตั้ง 1 ปี นานจังเลยครับ
      ชีวิตการเรียนที่อยู่หอพัก ถือเป็นการอบรมบ่มนิสัย  กล่อมเกลอุปนิสัย ใจคอ  บุคลิกภาพ สร้างวินัยในตนเองที่ดีมากทีเดียว  เราได้รับการพัฒนา EQ จากที่นี่อย่างมาก
      ผมเสียดายที่ปัจจุบันสถาบันฝึกหัดครูไม่ได้จัดประสบการณ์อันล้ำค่านี้ให้แก่นักศึกษา

เรียนคุณครูธเนศ

       อ่านแล้วประทับใจสุด ๆค่ะ  เก็บเอาความรู้สึกดีๆ ไว้กับเราตลอดไป  อย่างน้อย มันก็คือน้ำหล่อเลี้ยงใจเราค่ะ 

    ขอบคุณคุณราณีที่ติดตามอ่าน เป็นกำลังใจให้ผมบันทึกจนถึงตอนสุดท้าย(ตอนต่อไป) ทั้งๆที่การเขียนแต่ละตอนยาวมาก
     กำลังใจมีพลังอย่างนี้นี่เอง...เราคงได้แลกเปลี่ยนกันในเรื่องต่อไปอีกนะ

เป็นความหลังและความรู้สึกที่ดีของการอยู่หอพักสมัยนั้น ไม่มีขโมย วันชาวหอทุกคนเปิดตู้ให้ผู้มาเยือนดูความสะอาด เรียบง่าย และมิตรภาพชาวหอ ตอนนั้นเราอยู่หอ3 ชื่อราชาวดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท