น้ำตาของครู...น้ำตาของเด็ก


 (14)

 

การรู้เท่าทันการสื่อสาร : ตัวอย่างการสอน

กรณีศึกษาที่ 1
เด็กๆลอกข้อสอบช้อยส์


กิจกรรม
ดิฉันเอากระดาษคำตอบแบบตัวเลือกเปล่าๆโดยไม่มีโจทย์ไปให้เด็กทำ กำหนดเวลาทำสั้นๆ แถมบอกว่า ห้ามลอกกันเด็ดขาด อีกต่างหาก เด็กๆก็ก้มหน้าก้มตาทำ ทำเสร็จดิฉันก็เฉลย เด็กๆทำถูกกันหลายข้อโดยไม่มีโจทย์เลย (เธอดีใจกันน่าดู)


การอธิบายให้เชื่อมโยงกับการรู้เท่าทันการสื่อสาร
ดิฉันบอกเด็กๆว่า กิจกรรมนี้เปรียบเหมือนการทำข้อสอบแบบเลือกคำตอบโดยไม่คิด ไม่ตระหนักถึงเป้าหมายที่แท้จริงของการวัดความรู้ของตน ก็จะได้คะแนนลวงลมๆแล้งๆ หาคุณค่าอะไรมิได้ เท่ากับไม่รู้เท่าทันการสอบ ไม่รู้ว่าสอบไปทำไม ไม่เห็นคุณค่า จึงสักแต่ว่าได้ทำ มิได้เกิดจากการเรียนรู้ที่แท้จริง
ถามว่าทำไปแล้วมีประโยชน์อะไร?......


การสะท้อนความคิดและวิธีคิด
คือไม่ทราบว่าจะจัดเป็นการประเมินผลด้วยได้หรือไม่นะคะ ดิฉันจะให้เด็กเขียนข้อคิดที่ได้ทุกครั้ง เพื่อให้เด็กๆได้สะท้อนวิธีคิด หรือผลจากการฝึกคิดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เด็กๆจะได้ฝึกคิดฝึกเขียน ส่วนดิฉันก็จะได้เห็นว่าเธอคิดอะไรบ้าง และจะปรับจะเพิ่มอะไรให้เธอได้อย่างไรบ้าง ในคราวต่อไป

การสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้
ดิฉันก็อยากทำได้อย่างที่ว่านั้นนะคะ แต่ทำไม่เป็น เลยได้แต่เก็บๆที่เด็กเขียนไว้รวมเป็นเล่ม กะว่าพอโตเป็นผู้ใหญ่แล้วมีโอกาสกลับมาเจอกัน ก็จะได้เอาให้อ่านว่าสมัยเล็กๆเขาคิดอย่างไร


กรณีศึกษาที่ 1 วงเล็บ 2
เด็กๆให้ความสำคัญกับค่านิยมการสอบเอ็นทรานซ์มากกว่าการตระหนักถึงคุณค่าแท้ของการศึกษาเรียนรู้ (สมัยที่สอนเด็กมัธยม)


กิจกรรม
ดิฉันเอาเลือกเอาข้อสอบเอ็นท์ข้อเด็ดๆสมัยนู้น..น มาผสมรวมกันเสียใหม่ แล้วให้เด็กๆทำเป็นข้อสอบไฟนอล ช็อยส์แต่ละข้อที่เลือก ดิฉันให้เธอเขียนบอกเหตุผลด้วย แล้วก็ให้เธอดูเฉลยจากต่างสำนัก แต่ละสำนัก ก็มีเหตุผลอันควรเชื่อถือได้ว่าถูกต้อง ทั้งที่เฉลยไม่ตรงกันสักคน

แล้วก็เอาเฉลยจากครูที่สอนเธออยู่ทุกวันมาให้ดูด้วย ว่าครูสามคนยังวิเคราะห์คำตอบและเฉลยออกมาไม่ตรงกันสักคนเดียว... เด็กๆวิพากษ์กันจ้าละหวั่น แล้วก็โต้แย้งแสดงเหตุผลกันอย่างฉลาด... ดิฉันตั้งใจอธิบายพวกเธออย่างนุ่มนวล ด้วยความรักน้องสาวและน้องชายเล็กๆของดิฉันอย่างสุดซึ้ง แล้วก็ขอโอนไปอยู่อุดมศึกษาด้วยน้ำตาร่วงกราวเช่นเคย...


สาวน้อยคนหนึ่งถามด้วยน้ำตาว่า ...อาจารย์ไม่ไปไม่ได้เหรอคะ?....
....ดิฉันไม่กล้าตอบเธอ....ไม่กล้าแม้แต่จะไปกล่าวลาเด็กๆที่ปรึกษา เพราะกลัวว่าจะต้องยืนร้องไห้แงๆหน้าห้องเรียนอีก ได้แต่ส่งจดหมายน้อยฝากไปให้  เด็กคนหนึ่งเขียนในเฟรนด์ชิพว่า  ทำไมอาจารย์ไปโดยไม่มาร่ำลา   เหมือนจากกันโดยไม่มีเยื่อใย......ดิฉันนั่งอ่านแล้วก็ร้องไห้แงๆอยู่คนเดียว

ก่อนหน้านั้น  ดิฉันเคยย้ายโรงเรียนหนหนึ่งเพราะสอบบรรจุได้   แล้วก็ได้ยืนพูดลาหน้าแถวพร้อมทั้งร้องไห้แงๆประกอบการพูด    พอเห็นครูร้อง   เด็กก็ร้องแงๆตามด้วย    ทีนี้ก็เลยร้องไห้แงๆกันใหญ่


การอธิบายให้เชื่อมโยงกับการรู้เท่าทันการสื่อสาร
ดิฉันบอกเด็กๆว่า การสอบครั้งนี้เปรียบเหมือนการทำข้อสอบเอ็นท์ โดยไม่รู้เป้าหมายที่แท้จริงของการวัดความรู้ และไม่รู้เท่าทันถึงเป้าหมายแท้ๆของการศึกษา


การสอบเข้าไปได้ด้วยวิธีนี้ และด้วยการวัดประเมินทิศทางเดียวแบบนี้ และทำให้เด็กๆเชื่อว่าคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพวกเธอทั้งหมด ถูกตัดสินด้วยข้อสอบช็อยส์เพียงชุดเดียว ด้วยการสอบที่เธอหลงคิดว่าเป็นครั้งใหญ่ครั้งเดียวในชีวิต ....อย่างนี้ เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อวิธีคิดและ กรอบแนวคิดของอนาคตของชาติไทย
และ ถามว่าค่านิยมอันตรายที่เกิดไปแล้วจะมีใครมารับผิดชอบให้?......

คือตอนนั้น(สมัยสาวๆ)ดิฉันยังไม่เคยคิดถึงคำว่า การรู้เท่าทันการสื่อสาร แต่ดิฉันได้คิดหาวิธีอยู่เป็นสิบปี ด้วยความมุ่งมั่นว่าจะหาวิธีคิดใหม่ที่จะสื่อสารกับน้องมัธยมให้จงได้ ต่อมาเมื่อไม่นาน ก็มีข่าวโอเหน็ดเอเหน็ดแอ่นด์แอ็ดมิดชั่นอะไรต่างๆ ทำเอาดิฉันจ๋อยลงไปอีก

ดีที่เด็กสมัยนี้มีสื่อมีอะไรให้พอสื่อสารได้ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร ส่วนผู้ใหญ่ก็มีสื่อให้ท่านได้ชี้แจงเด็กว่าอะไรเป็นอะไร และจะหาทางออกให้เด็กได้อย่างไร ก็รู้สึกค่อยยังชั่วขึ้นมาก


การสะท้อนความคิดและวิธีคิด
คือรอบนี้ดิฉันไม่กล้าอยู่รอให้พวกเธอสะท้อนวิธีคิด เพราะดิฉันรู้คำตอบอยู่แล้ว และดิฉันก็ไม่ปรารถนาที่จะสร้างทุกข์ให้พวกเธอมากไปกว่านี้ อย่างไรก็ตามการสอบครั้งนั้นไม่มีผลต่อคะแนนของเด็กๆ เพราะดิฉันได้สอนและสอบครบกระบวนการไปก่อนหน้านั้นแล้ว


ดิฉันได้ข้อคิดว่า บางครั้งถ้าไม่ยอมให้ระบบกลืนเรา เราก็จะอยู่ในระบบนั้นไม่ได้ หรืออยู่ได้ก็จะอยู่อย่างเป็นทุกข์ หากไม่รู้จักทำใจ เราก็อาจต้องกระเด็นดึ๋งๆออกจากระบบนั้น และก้มหน้าก้มตาแสวงหาระบบใหม่ที่เหมาะแก่ตัวเราต่อไป

 

 

หมายเลขบันทึก: 80753เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2007 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • อาจารย์สอนได้ดีออกค่ะ  น่าสนใจ...
  • หว้าถึงไม่ค่อยชอบข้อสอบปรนัย  แต่ที่นี่บอกว่าต้องมีข้อสอบประเภทนี้อยู่ด้วย
  • หว้าถึงต้องมีข้อสอบ 2 ประเภททั้งปรนัยและอัตนัยเป็นตัววัดลูกศิษย์ค่ะ  ถ้าใครเดาเก่งก็ไม่สามารถทำอัตนัยเราได้แน่นอน...
  • แล้วจะแวะมาอีกค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ อาจารย์ลูกหว้า

....(เด็กๆไม่ยอมบอกยังงี้เลยค่ะ  สอนทีไรเธอบอกว่าเวียนหัวทุกที)

เรื่องข้อสอบปรนัยนี้ก็ค่อนข้างจะละเอียดอ่อน  ดิฉันคิดอยู่นานกว่าจะกล้าเขียนเล่าอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ

เหตุที่ตัดสินใจเล่าเพราะวันหนึ่งคุมสอบ  หนุ่มน้อยคนหนึ่งสอบเสร็จก็เดินออกจากห้องสอบ และบอกเพื่อนว่า  "กาๆไปเถอะไม่ต้องคิดอะไร  เดี๋ยวก็ถูกเข้าข้อนึงแหละ"  

ดิฉันก็เลยตัดสินใจเขียนเล่าแบบว่าย้าว..ว..ยาวๆๆๆไปเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท