การรู้เท่าทันการสื่อสาร : การตระหนักในคุณค่าที่แท้จริง


ความรู้เป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้นตามประสบการณ์การรับรู้ของมนุษย์ ใครได้ศึกษา เขาก็มีโอกาสรู้ได้เท่าๆกับที่เรารู้ ดังบาทหนึ่งในโคลงโลกนิติที่ว่า ....ความรู้อาจเรียนทัน กันหมด...

(12) 

การตระหนักในคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษา เรื่อง "การรู้เท่าทันการสื่อสาร"


ดิฉันอยากให้เด็กๆได้รู้เท่าทันความรู้ ว่าความรู้เป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้นตามประสบการณ์การรับรู้ของมนุษย์ ใครได้ศึกษา เขาก็มีโอกาสรู้ได้เท่าๆกับที่เรารู้ ดังบาทหนึ่งในโคลงโลกนิติที่ว่า ....ความรู้อาจเรียนทัน กันหมด...


เช่นถ้าเด็กๆที่สนใจได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้าเรื่อง โลก  เรื่อง แผ่นดิน เรื่อง  เครื่องบิน  เรื่อง อาหาร  หรือแม้แต่ เรื่อง การรู้เท่าทันการสื่อสาร  ให้ลึกซึ้ง สักวันเขาก็จะรู้และเข้าใจเรื่องนี้ได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง

อย่างไรก็ตาม การมีความรู้ และการหวังเพียงสิ่งรับรองความรู้และการยอมรับนับถือ (เช่นค่านิยมใบปริญญา) ก็มีผลข้างเคียง ทำให้เกิดอัตตาอย่างง่าย คือเกิดความรู้สึกว่า เราเป็นที่หนึ่ง เราเป็นคนแรก เราเหนือกว่า เราดีกว่า เราเก่งกว่า หรืออะไรที่มันดูกว่าๆไป....คือดูแล้วมันเกินพอดี อะไรๆที่เกินพอดีก็ทำให้เราเป็นทุกข์ได้โดยง่าย


การศึกษาในระบบเช่นนี้ มักทำให้เรารู้สึกแบบนี้ อันนี้ดิฉันก็ว่าเอาเองตามความรู้สึกอีก คงมิใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป


ดิฉันหวังอยู่เสมอว่าเด็กๆจะมองเห็นคุณค่าแท้ของการศึกษา ว่าคือการสร้างให้คนมีจิตใจที่ดีงามโดยเนื้อแท้ มากกว่ามองเห็นเพียงค่านิยมลวง ที่ให้คุณค่ากับการติดยี่ห้อและจัดลำดับอัตตา การนับเอาแต่ปริมาณ โดยมองไม่เห็นสิ่งละเอียดอ่อนลึกซึ้งและมีคุณค่าสูงกว่านั้น ดิฉันเคยกลัวเหลือเกินว่าเด็กๆที่ดิฉันสอน จะรักคะแนนมากกว่ารักเพื่อนมนุษย์


ดิฉันจึงมักสาธิตให้เธอดูเพื่อให้รู้เท่าทัน ว่าคะแนนเป็นสิ่งสมมุติ และบางทีก็ลวงทั้งคนสอนและคนเรียน ให้เพ่งคุณค่าอย่างหยาบ คือคิดแยกส่วน โดยนับจำนวน(ปริมาณ) หรือแล้วเอาจำนวนที่นับได้มาจัดลำดับ เรียงจากสูงไปหาต่ำ แล้ววิธีเรียงจากสูงไปหาต่ำนั้น ก็ได้ลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์โดยองค์รวมที่ละเอียดปราณีตไปจนหมดสิ้น

..........เพื่อให้วัด(ได้) ...จึงต้องตัดออก(เสีย)...

ที่คิดว่า "ได้" จึงกลับกลายเป็น "เสีย" ถ้าเรามองแต่เปลือกนอก แล้วละเลยสาระสำคัญหรือแก่นแท้ของสิ่งนั้น


ขณะเดียวกันดิฉันก็เกรงว่าหากดิฉันเขียนสื่อความไม่ดี ก็อาจทำให้เข้าใจไปว่าดิฉันกำลังไม่ยอมรับระบบวัดและระบบประเมินในระบบการศึกษาที่เป็นสากล .......ดิฉันจึงต้องรีบเรียนขอโทษอย่างยิ่งเป็นเบื้องต้น หากข้อเขียนนี้ทำให้เกิดความเข้าใจเช่นนั้น.....

.....เพราะที่แท้แล้วดิฉันมิได้เพ่งไปที่ระบบ แต่เพ่งไปที่เจตจำนงที่แท้ในการประเมินคนเป็นสำคัญ.....


หากผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กๆได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าแท้ของการศึกษา และเข้าใจว่าเจตจำนงที่แท้ของการประเมินเพื่อจัดลำดับคืออะไร ก็ต้องเพียรพยายามและช่วยกันสร้างการตระหนักรู้เรื่องนี้ขึ้นมา ด้วยตัวเป็นๆของเรา ร่วมกับผู้ที่มีจิตสำนึกตระหนักร่วมกันอีกนับพันนับหมื่นหรือที่จริงต้องบอกว่าอีกนับไม่ถ้วน..


คืองี้นะคะ.. สุดท้ายดิฉันคิดแล้วก็ขำตัวเอง เพราะทันทีที่เริ่มบ่น เอ๊ยพูดแบบนี้ พวกเพื่อนๆก็จะเปิดแน่บสี่ประตูต่อศูนย์ ปล่อยให้ดิฉันแสดงสุนทรพจน์ต่อคุณจิ้งจก คุณตุ๊กแกอะไรไป ไม่มีใครอยู่ทนฟังจนจบซักกะคน.....!! 

 

 

ปรับจาก วิชาการด็อตคอม กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy) ความเห็นที่ 11 (10 ต.ค.49)

หมายเลขบันทึก: 80583เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2007 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
คนที่รักคะแนนน้อยกว่าเพื่อนมนุษย์ได้คงต้องแข้มแข็ง (พอที่จะทวนกระแสของระบบได้ ... มั้ง)

ดิฉันก็คิดเช่นนั้นค่ะ คุณวีร์   คนที่จะทวนกระแสได้ต้องมีจิตใจเข้มแข็งมาก  ดิฉันก็ยังไม่รู้จริงๆว่าที่พยายามฝึกและสอนเด็กๆไปนั้น  โตขึ้นเขาจะมีฐานคุณธรรมที่มั่นคงพอหรือไม่  

ดิฉันได้เห็นด้วยชีวิตความเป็นครู กว่าสิบปีที่ผ่านมาว่าการสอนคนให้เก่งนั้น   ง่ายที่สุด ....สอนคนให้ฉลาด ยากขึ้นมาอีกหน่อย     .....สอนคนให้มีคุณธรรมอย่างแท้จริง   ....ยากที่สุด 

อยากขยายความจังค่ะ แต่ต้องขอเวลาทบทวน ไตร่ตรอง และเรียบเรียงอีกสักพัก 

ปล. ดีใจที่คุณวีร์แวะเข้ามาสื่อสารนะคะ   และขออภัยที่ยังทำลิงค์ชื่อไม่ได้  อาจารย์ ดร.บัญชาท่านกรุณาบอกวิธีทำแล้ว  แต่ดิฉันเรียนรู้ช้าหน่อยค่ะ  :)

อ้าว...  ได้แล้วค่ะ  ....ดีใจจัง..

อะไรๆที่เกินพอดีก็ทำให้เราเป็นทุกข์ได้โดยง่าย

ดิฉันเคยกลัวเหลือเกินว่าเด็กๆที่ดิฉันสอน จะรักคะแนนมากกว่ารักเพื่อนมนุษย์

*****  *****  *****  *****   *****  ***** 

คิดถึงเกินพอดี, สุขเกินพอดี, ติดเกินพอดี, สนุกเกินพอดี, กังวลเกินพอดี, ทำงาน(ไม่พักผ่อน)เกินพอดี, หวังดีต่อบางคน(แทบจะป้อนให้..)เกินพอดี...ฯลฯ

ทำให้เราเป็นทุกข์ได้จริง ๆ 

พระพุทธองค์ท่านทรง อัจฉริยะมาก ๆ ที่ตรัสสอนพวกเราเรื่องทางสายกลาง

เรื่องเฝ้ามอง เฝ้าตาม ดู รู้คิด ระวัง ให้ตัวเราเอง กลาง ๆเป็นปกติ

สุขชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว

เอ นี่พี่แอมป์สอนวิชาอะไรกันแน่นะเนี่ย อิ อิ

เรื่องเด็กๆที่ดิฉันสอน จะรักคะแนนมากกว่ารักเพื่อนมนุษย์

มีเรื่องเล่าเรืองหนึ่ง เป็นเรื่องจริง 

นักเรียนรุ่นหนึ่ง ประชุมกันลดคะแนนเก็บกัน เพื่อช่วยเหลือเพื่อนบางคนที่อาจติดเอฟ หรือ ติดโปร

มีการวางแผนเชิงคณิตศาสตร์ เชิงสถิติ

ใครคะแนนสูงนัก ต้องเว้นไม่ทำข้อสอบสักสามข้อ

ใครคะแนนรอง ๆ ลงมา เว้นสองข้อ

...ปรากฎว่าสัมฤทธิ์ผลนะคะ

เพราะฉะนั้นจึงกล้ายืดอกค่ะว่า เพื่อนรุ่นเดียวกันของเรา ไม่เป็นอย่างที่พี่แอมป์ กลัวค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอเล็ก

เอ่อ..  (กระซิบ)  พี่แอมป์สอน วิชา "พอดี ธรรมดา" อ่ะค่ะ     : )   : ) 

                          โอ้โห..  ทึ่งจริงๆ !!!

              ..พี่ไม่เคยเห็นทีมเวิร์กแบบนี้มาก่อนเลยอะ.. 
เพื่อนๆรุ่นคุณหมอเล็ก "สุดยอด" จริงๆค่ะ  คงประทับใจและจำกันได้ทั้งรุ่นเลยนะคะ    : )

อาจารย์ท่านทราบแผนนี้ป่าวคะ  : )      แผนกลยุทธ์แบบนี้น่ารักชะมัด 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท