การเกิดทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร


ถ้าเราถูกหลอกบ่อยๆ เดี๋ยวเราก็จะฉลาดไปเอง...!!! ??

 (9)

ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร เกิดขึ้นได้อย่างไร...?

           คุณพ่อดิฉันเคยบอกว่า ถ้าเราถูกหลอกบ่อยๆ เดี๋ยวเราก็จะฉลาดไปเอง


ดิฉันฟังแล้วก็ขำ ขำเสร็จก็นึกเห็นจริงขึ้นมา คือเรื่องนี้อาจไม่จริงเสมอไปนะคะ   แต่ดิฉันมองเห็นจากความเป็นไปบางส่วนในชีวิตของตัวเอง เพราะความเป็นคนคิดช้า ขี้เกรงใจ หัวไม่ไว ทำอะไรไม่ทันเพื่อน ก็เลยโดนเพื่อนอำให้บ่อยๆ โดนอำบ่อยเข้าก็เริ่มจะรู้ว่าอันไหนจริง อันไหนหลอก

แนวๆว่าจะฉลาดขึ้น เพราะรู้ว่าถูกหลอกเนี่ยนะคะ...


ดิฉันเห็นความเป็นไปต่างๆด้วยประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่มขึ้นตามวัย ก็ทำให้รู้ว่าเราจะเข้าใจอะไรต่อมิอะไรมากขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเรามีประสบการณ์ที่หลากหลาย และการรับรู้ข้อมูลจากหลายๆทิศทาง รวมถึงการเรียนรู้ที่มิได้เกิดขึ้นอย่างสำเร็จรูป


แถมยังเชื่อเอาเองด้วยว่ามนุษย์เราก็น่าจะเรียนรู้มาโดยวิธีนี้ คือเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วไปสรุปว่าคนอื่นเขาก็เรียนรู้กันมาเช่นนี้ อันเป็นวิธีคิดที่อันตรายมาก สำหรับการวิจัยแบบวิทยาศาสตร์

ดังนั้น ข้อผิดพลาดทั้งหมดในเนื้อหา การรู้เท่าทันการสื่อสาร นี้ดิฉันจึงขอรับผิดแต่เพียงผู้เดียว เพราะดิฉันคิดเอาเอง นึกเอาเองตามใจตัว แต่ก็ยังเชื่อเป็นจริงเป็นจังว่า ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร นั้น เป็นประโยชน์แน่ และสามารถสร้างเพื่อแทรกเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาของชาติไทยได้ด้วย

คิดเอาเป็นตุเป็นตะไปขนาดนั้น.. ดูซิเป็นไปได้!


ดิฉันมานึกทบทวนเส้นทางการพัฒนา ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารของตัวดิฉันเอง ก็พอจะสรุปได้เป็นข้อดังนี้ค่ะ


1. ดิฉันเป็นลูกสาวคนโต ที่สื่อสารกับแม่ไม่ค่อยเข้าใจ แล้วก็รันทดมาก ทั้งๆที่รู้ว่าแม่รักเรามาก แต่วิธีแสดงความรัก หรือวิธีพูดของแม่ ไม่ตรงกับความคาดหวังของเรา

ดิฉันจึงเฝ้าตั้งคำถามและหาคำตอบมาตลอดเวลาสามสิบกว่าปี แลกด้วยน้ำตาและความไม่เข้าใจของแม่กับลูกสาวไปหลายร้อบปี๊บ จึงได้คำตอบว่า ให้มองที่หัวใจเขา มองให้เห็นหัวใจแท้ๆของเขา อย่ามองเฉพาะคำพูด หรือการแสดงออกที่ไม่ถูกหู ไม่ถูกใจเรา


แต่ควรมองให้เห็นเจตนาแท้ๆของเขา แล้วเราเราจึงจะเข้าใจว่า ที่เขาพูด หรือที่เขาทำไปนั้น แท้ๆแล้วเกิดจากเจตนาอย่างไร

เรื่องของแม่กับลูกนี่ บางทีก็เป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขาแท้ๆเลยนะคะ


2. สมัยเล็กๆ ดิฉันเป็นเด็กที่คุยกับเพื่อนวัยเดียวกันไม่ใคร่รู้เรื่อง เพราะอะไรก็ตอบไม่ถูก คงเป็นเพราะรอบตัวมีแต่ผู้ใหญ่ และด้วยเหตุปัจจัยอันประจวบเหมาะต่างๆ ทำให้ต้องหันไปอ่านหนังสือแทนการเล่นกับเพื่อน และหนังสือก็มักเป็นแบบที่ผู้ใหญ่อ่าน เช่น หนังสือ เพศศึกษากับปรัชญา เป็นต้น พอคุยกับเพื่อน เพื่อนก็ว่าดิฉันเป็นคนพิลึก พูดไม่รู้เรื่อง เพื่อนฝูงก็ไม่อยากคุยด้วย ดูหน้าตาเป็นเด็กที่น่าสงสารมาก...


คืออย่างนี้นะคะ นึกขึ้นมาแล้วดิฉันก็ขำตัวเองจริงๆ หันไปทางไหนเพื่อนก็ไม่ยอมคุยด้วย ดิฉันก็เลยเปลี่ยนจากการ เข้าไปเล่น กับเพื่อน เป็นการ สังเกต(อ่าน) พฤติกรรมของเพื่อนๆรอบตัว แทน รวมถึง สังเกต วิเคราะห์ และพิจารณา พฤติกรรมของทุกๆคน ไม่เว้นแม้แต่ตัวเอง


การ หยุดคิดและพิจารณา การมองและวิเคราะห์ ทำให้เรามองเห็นอะไรบางอย่างที่เขามิได้พูดออกมา

ผลจากการอ่านมาเยอะๆ เชื่อมโยงกับการการฝึกคิดวิเคราะห์ (โดยไม่รู้ตัว)ทำให้เรามองเห็นอะไรบางอย่างที่เขาไม่ได้พูดออกมาตรงๆ และออกแนวๆว่าเราจะเข้าใจได้โดยไม่ต้องพูด แต่เราจะ อ่าน เอาได้ 

(เวลาที่ดิฉันอธิบายอะไม่ใคร่ถูก จะนึกถึง "ครูไผ่" ที่เว็บวิชาการด็อตคอม เพราะท่านมักจะเข้ามาอธิบายต่อให้เข้าใจชัดขึ้นค่ะ)

ดิฉันเชื่อเอาเป็นเบื้องต้นว่าเด็กๆทั่วไปก็เรียนรู้มาแบบนี้ได้ เพราะดิฉันก็เป็นเด็กคนหนึ่งในบรรดาเด็กทั่วไปเหมือนกัน


3. และเพราะมีเพื่อนน้อยเมื่อสมัยยังเล็ก ดิฉันจึงต้องอยู่กับตัวเองมาก ก็เลยมีกิจกรรมชีวิตเพียงไม่กี่อย่าง ได้แก่การอ่านหนังสือต่างๆ(รวมถึงการเขียนนั่นเขียนนี่) การฟัง (วิทยุ เทป ฟังผู้ใหญ่รอบตัวพูดเรื่องที่เราไม่เข้าใจ แต่ก็ฟังไปทุกวันๆ) และการดู (ทีวี ตอนเล็กๆ โตขึ้นมาหน่อยก็ดูหนังโดยเฉพาะหนังฝรั่ง)


ดิฉันหายงอนแม่เพราะได้อ่าน ต้นส้มแสนรัก อ่านแล้วร้องแงๆๆๆ พร้อมๆกับได้รู้ว่า โถ! มีเด็กน้อยที่น่าสงสารกว่าเราอีก
ครั้นอ่านเวลาในขวดแก้ว ก็ได้รู้ว่าบางทีผู้ใหญ่ที่เขาคิดไม่ออกจริงๆว่าเขาควรจะทำอย่างไร รู้ว่าอ้อ..เขาหมดมุขจริงๆต้องเข้าใจ
ได้ดูหนังไทยเรื่อง ปุกปุย โอ้นานมากจำไม่ได้แล้วแต่รู้ว่าเป็นหนังครอบครัวที่ดีมาก ได้ข้อคิดดีๆมากมาย ได้เห็นลึกไปถึงความเป็นครอบครัวที่แท้จริง ว่าต้องประกอบด้วยความรักเป็นสำคัญ

คือแหมเขียนเสียยืดยาว ทั้งที่อยากฟันธงว่าการดูหนัง ช่วยพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารได้

เอาใหม่อีกที เพื่อให้ดูดีมีระดับ  :)


การมีโอกาส เสพวรรณกรรม ที่เหมาะสม ช่วยพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารได้เป็นอย่างดี


การเสพวรรณกรรม เป็นหนอีกทางหนึ่ง ที่จะช่วยให้ทำให้คนเข้าใจโลก เข้าใจชีวิตได้ โดยการนำเสนอแบบจำลองการสื่อสารในชีวิต ผ่านจินตนาการหลากรูปแบบ ให้ผู้เสพได้ทั้งความเพลิดเพลินและข้อคิด ที่จะนำไปเป็นคติเตือนใจได้ ทั้งโดยภาวะที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว
(ซึ่งอย่างหลังนี้จำเป็นมาก การได้สติโดยอัตโนมัติ จากการฉุกคิดถึงอะไรบางอย่างที่แว่บเข้ามาในใจ น่าจะทำให้การตัดสินใจของเราดีขึ้น)


ดิฉันคิดว่า ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร จะเกิดขึ้นเมื่อเรารู้ความจริงแท้ของสิ่งนั้น


เช่นรู้ว่า แท้ๆแล้วสิ่งนั้นคืออะไร หรือรู้ว่าที่เขาสื่อสารอย่างนั้น แท้ๆแล้วหมายความว่าอย่างไร หรือมีเจตนาแท้ๆอย่างไร เป็นต้น


ดิฉันอยากสรุป(แบบบ้านๆ)ว่า ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร เกิดจากประสบการณ์ชีวิต ที่ทำให้เกิดวิธีคิดชุด รู้เท่าทัน เป็นความถี่ซ้ำๆ ทั้งจากการอ่าน ฟัง ดู และเข้าไปสัมผัสโดยตรง


และอยากฟันธงอีกทีว่า ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร มีอยู่แล้วในการเรียนการสอนของคุณครูและอาจารย์ทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะนำเสนอโดยเจตนา หรือไม่เจตนาก็ตาม


แต่หากบุคลากรทางการศึกษา สามารถสร้างจิตสำนึกตระหนักในเรื่องนี้ให้แก่เด็กได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็น่าจะทำให้เด็กไทยฉลาดทันคน ไม่อับจนเป็นหนี้โดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่ฟังความแบบตัดตอนเอาแต่ประโยชน์ โดยมองไม่เห็นโทษมหาศาลที่รออยู่ข้างหน้า


เพื่อนดิฉันเดินผ่านมาเห็นดิฉันโพสต์เรื่องนี้ก็แซวว่า ไหนบอกว่าจะเลิกบ่นเรื่องนี้แล้วไง ดิฉันจะอ้าปากตอบ เธอก็เดินไปถึงประตูเสียแล้ว ขอวิ่งตามไปเถียงเอ๊ยไปชี้แจงเธอก่อนนะคะ พรุ่งนี้จะเข้ามาบ่น เอ๊ยนำเสนอต่ออีกหน่อยค่ะ ขอบพระคุณที่กรุณาอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้นะคะ

 

 

 

ปรับจาก  วิชาการ.คอม กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy) ความเห็นที่ 6  (10 ต.ค.49)

 

 

หมายเลขบันทึก: 80577เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2007 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดิฉันหายงอนแม่เพราะได้อ่าน ต้นส้มแสนรัก อ่านแล้วร้องแงๆๆๆ พร้อมๆกับได้รู้ว่า โถ! มีเด็กน้อยที่น่าสงสารกว่าเราอีก
ครั้นอ่านเวลาในขวดแก้ว ก็ได้รู้ว่าบางทีผู้ใหญ่ที่เขาคิดไม่ออกจริงๆว่าเขาควรจะทำอย่างไร รู้ว่าอ้อ..เขาหมดมุขจริงๆต้องเข้าใจ
ได้ดูหนังไทยเรื่อง ปุกปุย โอ้นานมากจำไม่ได้แล้วแต่รู้ว่าเป็นหนังครอบครัวที่ดีมาก ได้ข้อคิดดีๆมากมาย ได้เห็นลึกไปถึงความเป็นครอบครัวที่แท้จริง ว่าต้องประกอบด้วยความรักเป็นสำคัญ
*******        *******

ว่างกว่านี้ จะมาคุยเรื่อง เซเซ่, จ๋อม และ ปุกปุย

โอย เราชอบเรื่องเดียวกัน

 

ขอร้องนะคะพี่แอมป์ อย่าชอบ คนนี้ เหมือนหมอเล็ก มีงอนกันแน่ ๆ ฮา

สวัสดีแบบขำกิ๊กเลยค่ะคุณหมอเล็ก

แบบว่าเราชอบเรื่องเดียวกันเปี๊ยบเลย  อ่า..อย่างไรก็ตาม มิสเตอร์วอชิงตันได้กลายเป็นอดีตของพี่ไปแล้ว  เพราะเหตุว่าคุณเขาหล่อสมมาตรอย่างที่ซานว่าจริงแต่แบบว่าส่วนผสมเข้มข้นไปหน่อย  ถ้ายืนใกล้กันจะเปลืองสป็อตไลท์อะค่ะ  อิๆๆๆๆ

บันทึก การเกิดทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร บันทึกนี้  เป็นทึกที่พี่แอมป์ขำตัวเองจริงๆเพราะเขียนโดยเอาตัวเองเป็นตัวตั้งอย่างไม่คิดชีวิต  เพราะคิดว่าเราถูกหลอกบ่อยๆแล้วเราฉลาดขึ้นจริงๆ   คงเป็นเพราะเกิดทักษะ"การเรียนรู้จากประสบการณ์และความผิดพลาด"  นี่เอง แต่ก็ไม่ใคร่ชอบดอกนะคะ  ชอบแบบฉลาดโดยไม่ต้องหลอกกันจะดีใจกว่าเยอะ

ว่าแล้วก็ดีใจจังที่เราชอบเซเซ่ น้องจ๋อมกับน้องนัท และปุกปุยเหมือนกันเล้ย..ย. : )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท