อนุสรณ์ทางใจ (โลกในใจของบุญถึง ตอนที่ 10)


ผมเคยเห็นนักเรียนบางคนเตะฟุตบอลใส่กระถางต้นไม้ที่กำลังออกดอกบานสะพรั่ง หรือทำลายทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ของโรงเรียนอย่างหน้าตาเฉย ทำให้คิดไปว่าการที่นักเรียนไม่ได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในสิ่งใดก็ย่อมทำให้เขาไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของในสิ่งนั้น

       เมื่อตอนเป็นนักเรียนมัธยม ผมมีโอกาสได้ปลูกต้นประดู่ที่ริมสนามฟุตบอลเข้าโรงเรียนต้นหนึ่ง ผมจะแวะเวียนไปรดน้ำพรวนดินเป็นประจำ และมีความสุขที่เห็นต้นประดู่โตวันโตคืน    
      วันหนึ่งผมเห็นคอกที่ผมสร้างกั้นรอบต้นประดู่ล้มระเนระนาด ประดู่กิ่งหนึ่งหักห้อยเหี่ยวเฉาคาต้น ลำต้นถูกแรงกระแทกจนเอนเอียงไป เข้าใจว่าคงถูกลูกฟุตบอลอัดอย่างแรง ผมเสียใจอย่างบอกไม่ถูก ก่นด่าคนที่เตะฟุตบอลอยู่คนเดียวอย่างพลุ่งพล่าน วันนั้นผมต้องเสียเวลานานกับการประคบประหงมต้นประดู่อย่างทะนุถนอม กั้นคอกใหม่ให้แข็งแรงกว่าเดิม และหาเวลาไปดูแลบ่อยครั้งขึ้น
      วันที่ผมเรียนจบอำลาสถาบัน
แทนที่จะอาลัยรักโรงเรียนเหมือนคนอื่น ผมกลับใจหายที่ต้องจากต้นประดู่ของผมมากกว่า แม้ผมเรียนจบมาหลายปีก็ยังคิดถึงและหาโอกาสไปดูประดู่ของผมเสมอ ผมดีใจที่เห็นมันยังมีชีวิตอยู่ และเจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขา โรงเรียนได้นำม้าหินอ่อนมาวางไว้รอบต้นให้นักเรียนรุ่นน้องผมได้นั่งพักผ่อนใต้ร่มเงาอย่างสำราญ
       เมื่อผมเรียนจบมาเป็นครูได้ 2 ปี มีโอกาสไปเยี่ยมโรงเรียนเก่าดูต้นประดู่อีกครั้งปรากฏว่า
ต้นประดู่ของผมหายไปอย่างไม่เหลือร่องรอย กลายเป็นอาคารโรงฝึกงานอุตสาหกรรมขึ้นมาแทนที่ ผมยืนงง น้ำตาซึมออกมาอย่างสิ้นหวัง รำพึงรำพันด้วยความรันทด
      
...เจ้าประดู่เพื่อนยากเอ๋ย เราคงไม่มีโอกาสได้พบกันอีกแล้ว ขอให้เพื่อนจงไปสู่สุคติเถิด..
      
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ผมไม่เคยเหยียบย่างไปที่โรงเรียนเก่าอีกเลย
       อาจารย์ใหญ่มอบหมายให้ผมเป็น
ครูที่ปรึกษาชมรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ ผมจึงถือโอกาสส่งเสริมให้นักเรียนในชมรมได้ปลูกต้นไม้ยืนต้นอย่างน้อยคนละ 1 ต้น และดูแลรักษาด้วยตนเองเพื่อเป็นอนุสรณ์ทางใจ ผมพยายามสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนเหล่านี้ก็พบว่า พวกเขามีความผูกพันกับต้นไม้ของตนเองไม่แตกต่างจากผมที่เคยผูกพันกับต้นประดู่ในสมัยนั้นเลย
      เคยมีคนบอกว่า
ถ้าอยากมีความสุข 3 ชั่วโมงให้ดื่มเหล้า อยากมีความสุข 3 วัน ให้ซื้อเสื้อผ้าใหม่ อยากมีความสุข 3 เดือน ให้แต่งงานใหม่ อยากมีความสุข 3 ปี ให้ปลูกบ้านใหม่ และถ้าอยากมีความสุขตลอดชีวิตให้ปลูกต้นไม้” ดูคำกล่าวนี้จะมีเหตุผมที่น่าเชื่อถือมากทีเดียว
      ครั้งหนึ่งผมพานักเรียนไป
ทัศนศึกษานอกสถานที่ที่จังหวัดชายทะเลตะวันออกของภาคใต้ความจริงก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครพาใครไปกันแน่ เพราะผมเองก็เพิ่งได้มาภาคใต้ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ตอนผมเป็นนักเรียนผมเรียนภูมิศาสตร์ประเทศไทยถึงเรื่องยางพารา กาแฟ แร่ดีบุกของภาคใต้ จากครูและหนังสือแบบเรียนเท่านั้น ผมก็สามารถท่องจำจนสอบได้คะแนนสูงสุดของห้องเกือบทุกครั้ง แต่ก็เพิ่งได้เห็นของจริงเที่ยวนี้เอง รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เจอของใหม่ไปพร้อม ๆ กับนักเรียนของผม น่าอิจฉาเด็ก ๆ ในสมัยนี้ที่มีโอกาสได้เห็นโลกกว้างมากกว่าเด็กในยุคผม
        ถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้มีทิวทัศน์ที่สวยงามมาก มีทั้งทิวสนและสวนยางสลับกันไป สายลมและเกลียวคลื่นที่กระทบฝั่งเป็นระลอก และหาดทรายที่ขาวสะอาด เป็นบรรยากาศที่สดชื่นยิ่งนัก
       ผมจินตนาการไปว่า หากผมมีอำนาจวาสนาในบ้านเมือง
ผมจะเวนคืนพื้นที่ชายฝั่งทะเลทุกด้าน ตั้งแต่จังหวัดตราดจนถึงใต้สุดของประเทศไทย แล้วสร้างถนนเลียบชายฝั่งทะเลเป็นแนวยาวตลอดสองข้างถนนจะปลูกต้นไม้เป็นทิวแถว แต่ละจังหวัดก็ต้องมีต้นไม้ประจำจังหวัดของตนเอง ถ้าถนนอยู่ในพื้นที่จังหวัดใดก็จะมีต้นไม้ของจังหวัดนั้น ๆ ตลอดทั้งแนวจนสุดเขตจังหวัด เป็นอย่างนี้ทุกจังหวัด แล้วจะส่งเสริมการท่องเที่ยวในเส้นทางนี้ให้ชาวโลกได้ตื่นตาตื่นใจกับความสวยสดงดงามของประเทศไทย ต้นไม้จะบ่งบอกว่าเป็นพื้นที่จังหวัดใด และสองข้างทางแต่ละจังหวัดจะมีสินค้าพื้นเมืองของจังหวัดนั้น ๆ จัดจำหน่ายเป็นจุด ๆ อย่างเป็นสัดเป็นส่วน
      
ความฝันของผมต้องหยุดกึก เมื่อรถทัศนาจรที่แล่นเลียบชายฝั่งทะเลอย่างราบรื่นต้องเลี้ยวโค้งหลบคฤหาสน์หลังใหญ่ที่ตั้งตะหง่านอยู่ริมทะเล ผู้นำทางบอกกับพวกเราว่าเป็นบ้านของผู้มีชื่อเสียงทั้งทางธุรกิจและการเมืองผู้หนึ่ง
      วันนั้นผมได้ความรู้จากผู้นำทางที่เป็นท้องถิ่นภาคใต้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ ซึ่งเขาพยายามอธิบายให้เราห็นว่าภาคใต้ของเขามีอะไรที่แปลกและแตกต่างไปจากภาคอื่น ๆ แต่ผมกลับค้านอยู่ในใจว่า ไม่ได้แตกต่างจากภาคอื่น ๆ โดยสิ้นเชิงหรอก อาจมีปัจจัยบางอย่าง เช่น สภาพภูมิศาสตร์ที่ทำให้ภาคใต้ต่างจากภาคอื่นไปบ้าง
แต่รากเหง้าที่แท้จริงก็มีความเป็นไทยเหมือนกันทุกภาค ความแตกต่างเหล่านี้กลับช่วยเพิ่มสีสันให้ความเป็นไทยมีรสชาติและดูดีมากขึ้นเสียอีก
      ผู้นำทางของเราแกมีอารมณ์ขัน
เล่าเรื่องตลกพื้นบ้านเรียกเสียงหัวเราะจากนักเรียน และคณะครูได้ตลอดทาง มีเรื่องหนึ่งแกเล่าให้เห็นถึงความผิดพลาดในการคาดการณ์ของคนภาคใต้ในสมัยก่อนว่า ...คนใต้ต่างก็มีลูกมากเหมือนกับคนในภาคอื่น ๆ ลูกแต่ละคนก็ต้องมาช่วยกันทำสวนยางลูกคนไหนที่ขยันช่วยพ่อแม่ทำงานมาโดยตลอด พ่อแม่ก็จะยกสวนยางให้ ถ้าลูกคนไหนเกเรไม่ยอมช่วยงานพ่อแม่ก็จะให้ที่ดินชายทะเล เพราะถือว่าไม่มีราคา พอสิ้นบุญพ่อแม่ปรากฏว่าลูกที่เกเรกลับร่ำรวยเพราะที่ดินชายทะเลมีราคาสูงกว่าที่สวนยางหลายเท่าตัว...
      
การทัศนศึกษาครั้งนั้นสร้างเสริมประสบการณ์ใหม่ให้คณะครูและนักเรียนได้อย่างคุ้มค่า ได้ทั้งประสบการณ์ตรง และเกิดความภาคภูมิใจในความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิดของประเทศเรา แม้ว่าผู้บริหารโรงเรียนและครูบางคนจะหวาดกลัวต่อปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการพานักเรียนไปทัศนศึกษา แต่ผมกลับคิดว่าการส่งเสริมในเรื่องนี้เป็นความจำเป็นที่ควรกระทำ หากเราได้วางแผนดำเนินการอย่างรัดกุม ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนด โอกาสที่จะเกิดเรื่องราวก็คงมีน้อยมาก เพราะเพียงการศึกษาเล่าเรียนในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ที่มีครูผลัดกันเข้าสอนตามตารางสอนอย่างเดียวคงไม่เกิดการเรียนรู้ที่ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นแน่
       เรื่อง
การจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และสุขภาพจิตที่ดีให้ในสถานศึกษาเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่สถานศึกษาควรตระหนักและดำเนินการอย่างจริจัง จากประสบการณ์ตั้งแต่เป็นนักเรียนจนมาเป็นครู ผมได้เห็นความผิดพลาดในการดำเนินงานของโรงเรียนในเรื่องนี้อย่างหนึ่ง กล่าวคือโรงเรียนหลายแห่งพยายามเน้นเฉพาะการจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมบริเวณโรงเรียนและอาคารเรียนให้สะอาด สดชื่น ร่มรื่น สวยงาม ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี เป็นครูที่พูดไม่ได้ และมีผลดีต่อความรู้สึกของทุกคนในโรงเรียน 
       แต่ถ้ามองลึกเข้าไปถึงบรรยากาศภายในห้องเรียนอีกหลายแห่งพบว่า ยังปล่อยกันอย่างตามมีตามเกิดขาดการเอาใจใส่ นักเรียนร่วม 50 คน ต้องแออัดยัดเยียดอยู่ในห้องเรียนแคบ ๆ ที่ร้อนอบอ้าว ฝุ่นชอล์กฟุ้งกระจาย โต๊ะเก้าอี้ที่โยกคลอนเสี่ยงต่อการล้มคว่ำคะมำหงายของผู้นั่ง ถูกจัดเรียงแถวหันหน้าสู่กระดานดำ แน่นจนแทบจะหาช่องทางเดินไม่ได้ สภาพห้องที่แห้งแล้ง ขาดการตกแต่งให้น่าอยู่น่าเรียนเช่นนี้ย่อมส่งผลให้ทั้งนักเรียนและครูผู้สอนเกิดความรู้สึกที่เบื่อหน่ายและบั่นทอนสุขภาพจิตลงไปทุกวัน
     
แม้เราจะบอกว่า การจัดการเรียนการสอนที่ดีนั้น มิได้จำกัดอยู่เพียงห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ที่มีครูผู้สอนแต่ละคนผลัดกันเข้าสอนตามตารางสอนที่กำหนดไว้เท่านั้นก็ตาม แต่ในสภาพความเป็นจริงที่ปฏิบัติกันอยู่ ชีวิตประจำวันของนักเรียนจำนวนไม่น้อยจะอยู่ในห้องเรียนตามตารางสอนร่วม 6 – 7 ชั่วโมง การเรียนนอกห้องเรียนก็มีเพียงบางชั่วโมงเท่านั้น หากห้องเรียนมีบรรยากาศที่ไม่ดี นักเรียนก็คงต้องระทมทุกข์ภายในห้องเรียนแคบ ๆ เกือบทั้งวัน โดยไม่มีโอกาสได้สูดกลิ่นไอของสวนสวยโรงเรียนงามรอบ ๆ บริวณโรงเรียนที่ผู้บริหารโรงเรียนได้มอบให้นักการภารโรงและครูบางคนที่มีฝีมือช่วยบรรจงตกแต่งเพื่ออวดบุคคลที่มาเยี่ยมชมโรงเรียนอย่างฉาบฉวยด้วยความภาคภูมิใจ
      
เวลาเรามองความงามของสุภาพสตรีนอกจากจะมองที่รูปร่างหน้าตาแล้ว เราคงต้องมองลึกเข้าไปถึงสภาพจิตใจ จึงจะเรียกว่างามทั้งภายนอกและภายใน ผมคิดว่าบรรยากาศของโรงเรียนก็คงเหมือนกัน ควรงามทั้งบริเวณรอบ ๆ อาคารเรียนและภายในห้องเรียนด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะเข้าทำนอง “สวยแต่รูปจูบไม่หอม”
      ผมเคยเห็นนักเรียนบางคนเตะฟุตบอลใส่กระถางต้นไม้ที่กำลังออกดอกบานสะพรั่ง หรือทำลายทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ของโรงเรียนอย่างหน้าตาเฉย ทำให้คิดไปว่า
การที่นักเรียนไม่ได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในสิ่งใดก็ย่อมทำให้เขาไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของในสิ่งนั้น
      
ผมเลยคิดในใจว่า ถ้าผมได้เป็นผู้บริหารโรงเรียนผมจะแบ่งพื้นที่บริเวณโรงเรียนทุกตารางนิ้วออกเป็นส่วน ๆ ขีดสีตีเส้นให้ชัดเจน จัดสรรให้นักเรียนและครูอาจารย์ทุกคนร่วมรับผิดชอบ ตกแต่งดูแลในพื้นที่ของตนเองอย่างอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องเรียน ผมจะจัดสรรงบประมาณก้อนหนึ่งให้นักเรียนทุกห้อง เพื่อนำไปวางแผนจัดตกแต่งห้องเรียนของตนเองได้ย่างเต็มที่ โดยมีครูที่ปรึกษาประจำห้องเป็นผู้คอยให้คำแนะนำเมื่อจำเป็น เพื่อฝึกให้นักเรียนได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ และฝึกการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายและแจ้งให้โรงเรียนทราบ
        บรรยากาศแต่ละห้องเรียน
ผมจะไม่คำนึงถึงว่าต้องมีรูปแบบเดียวกันหรือสีเดียวกัน สิ่งที่ผมต้องการคือความคิดสร้างสรรค์ ความหลากหลายอย่างมีชีวิตชีวา และความภาคภูมิใจของนักเรียนที่มีต่อห้องเรียนของตนเอง ในแต่ละภาคเรียนจะมีการประกวดห้องเรียนดีเด่น จัดงานให้เอิกเกริกและเชิญแขกผู้มีเกียรติมาเยี่ยมชมและมอบรางวัลด้วย
      นอกจากนี้โรงเรียนที่ผมเป็นผู้บริหารโรงเรียน จะมีต้นไม้ประจำโรงเรียนที่คณะครูและนักเรียนร่วมกันคิดขึ้นเอง แล้วพวกเราจะปลูกต้นไม้ชนิดนั้นรอบ ๆ บริเวณโรงเรียนอย่างเป็นสัดส่วนรวมทั้งบริเวณสองข้างทางเข้าสู่โรงเรียนด้วย จะมีเพลงประจำโรงเรียนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับต้นไม้ชนิดนั้น ครูและนักเรียนจะร้องเพลงนี้กันทุกเช้า เหมือนเพลงที่ผมเคยร้องด้วยความภาคภูมิใจในสถานศึกษา เมื่อเป็นนักเรียนครู
         
...ร่มยูงทองแห่งนี้สุขสันต์ เรารักกันเช่นฉันน้องพี่...”

               อีกเมื่อไรก็ไม่รู้ซินะ ผมจึงจะทำอย่างที่ผมคิดได้.

หมายเลขบันทึก: 80552เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2007 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
สวัสดีค่ะคุณธเนศ การสร้างอะไรขึ้นมาจากมือของเราเอง มันเป็นความภูมิใจและสุขใจไม่อาจจะบรรยายหมดได้โดยคำพูด ... ขอยืมคำพูดของครูบาว่า คนที่มีความสุขและรู้จักต้นไม้ คือคนที่มีธรรมมะในหัวใจค่ะ...และมีความสุขที่จะอยู่กับมันตลอดชีวิต เห็นด้วยกับคุณธเนศมากๆ ค่ะที่อยากเวนคืนที่ริมชายหาด เพราะมันจะได้เป็นที่สาธารณะที่ให้คนอื่น ๆ เขาได้ชื่นชมความสวยงามและรักษาสภาพแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่เป็นหาดส่วนตัว หรือที่ส่วนตัวของใคร ส่วนเรื่องการจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และสุขภาพจิตที่ดีให้ในสถานศึกษาเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่สถานศึกษาควรตระหนักและดำเนินการอย่างจริงจัง และต้องให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการรักและหวงแหนในสิ่งที่อยู่ด้วย ให้คิดว่าโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านแห่งที่ 2 แหมอ่านจนตาแฉะเลยค่ะ(ล้อเล่นค่ะ)คุณครูน่าจะแบ่งเป็น 2 ตอนนะค่ะเพราะยาวมาก แต่ไม่เป็นไรค่ะ ใครไม่อ่าน แต่ราณีอ่านทุกตัวอักษรเลยค่ะ อ้อเกือบลืมค่ะ ขอบคุณสำหรับแง่คิดดี ๆ ที่อ่านแล้วรู้สึกหวงแหนต้นไม้ไปพร้อมคุณธเนศเลยค่ะ
   ขอบคุณครับ..หากเราคิดตรงกันและพูดกันดังๆ  แหลมทองของเราที่ติดชายทะเลอาจเป็นแหลมที่เป็นทองจริงๆขึ้นมาก็ได้ครับ
    เรื่องบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีในโรงเรียนนั้น ดร.โกวิท  วรพิพัฒน์ ท่านบอกว่าเป็น "ครูที่พูดไม่ได้" จะช่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาซึมซับจิตวิญญาณสอนคุณธรรมและความรู้คนได้ไม่แพ้ "ครูที่พูดได้"เลย
     ตอนแรกตั้งใจจะแบ่งเป็นตอนย่อยๆอีก แต่ก็เกรงว่าจะไม่ต่อเนื่องกัน เลยเขียนนาว  ขออภัยด้วย  และขอบคุณที่พยายามอ่านจนจบครับ..
    ทนอ่านอีก 2 ตอนจบครับ

สวัสดีค่ะคุณครู

  • ราณีตามมาอีกแล้วค่ะ อ่านแล้วนึกถึง ตอนเด็ก  เลยค่ะ
  • ตอนเด็ก ราณีเป็นเด็กเรียนเก่งมาก พอพี่ชายสอบตกชั้น ป.5 ราณีก็ต้องย้ายโรงเรียนไปอยู่อีกโรงเรียนหนึ่ง  ไปพร้อมกันพี่น้องทั้งบ้านค่ะ เพราะคุณพ่อจะได้ไปส่งพร้อมกัน
  • เข้าใจสถานการณ์นี้ดีค่ะ เพราะเจอกับตนเอง พอย้ายโรงเรียนใหม่ขึ้นชั้นป.6 ด้วยความที่เขาดูว่าเราเรียนดี จึงจัดไปอยู่ห้องคิง  แต่อาจารย์ประจำชั้นแกชอบดุเด็ก ตวาดเด็กเป็นประจำและขู่ด้วย เข้ามาแรก ๆ ก็กลัวทั้ง ๆ ที่เราเคยเข้าได้กับคุณครูทุกท่าน ยกเว้นท่านนี้ ท่านสอนวิชาเรขาคณิต  และใครทำการบ้านผิดหรือตอบไม่ถูกเมื่อถาม โดนด่าแลตีเป็นประจำ
  • ต่อนะค่ะเดี๋ยวลืม! คนอื่นกลัว ราณีก็กลัว แต่ราณีต่อต้าน และไม่ชอบมาก...
  • พอขึ้นม. 1 ได้ครูประชั้นเป็นผู้ชายดุมาก ชอบถือไม้เรียว และครูคนนั้นไม่ชอบเด็กอ้วน ราณีจึงเป็นที่หมั่นไส้ของครูคนนั้นมาก ๆ  โดนหาเรื่องตีประจำ  แต่ครูอีกท่านนึงเป็นภรรยาของคุณครูประจำชั้นราณี  ชอบราณีมาก ชอบเรียกมาคุยเป็นประจำ 
  • ราณีกลายเป็นคนดื้อเงียบ โดนตีเป็นประจำและไม่เคยทำการบ้านวิชาครูท่านนั้นเลย ส่วนวิชาครูคนอื่นทำค่ะ
  • พอราณีใกล้จะออกคุณครูคนนั้นได้ลูกสาว อ้วนกลมมาก  จนถึงปัจจุบันผ่านมา20 กว่าปีแล้วเจอครูท่านนั้นประจำ ก็ยกมือไหว้ รู้สึกท่านก็ยิ้ม  ๆ  เพราะลูกสาวแกก็อ้วนเหมือนกัน  ฮิ ฮิ

 

ช่วยลบอันด้านบนทิ้งด้วยนะค่ะใส่ผิดตอน  ต้องไปใส่ตอนที่ 1  ขอโทษ 10 ครั้งค่ะ อย่าลืมลบทิ้งด้วยนะคะคุณครู อายเขาค่ะ
     ไม่เป็นไรหรอกครับ  เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน  อ่านตอนนี้ก็นึกถึงตอนที่แล้วได้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท