บันทึกของ วินทร์ เลียววารินทร์


ถึงจะเดินถอยหลัง ก็ยังต้องออกแรง

 ผมเพิ่งเข้าไปท่องเน็ต Win Book Club  เจอบันทึกของนักเขียน 2 ซีไรท์  เลยนำมาให้ได้อ่านและแลกเปลี่ยนกันครับ

ถึงจะเดินถอยหลัง ก็ยังต้องออกแรง

นิยายจีนกำลังภายในส่วนใหญ่ที่ผมเคยอ่านมีตัวละครที่เป็นคนร้ายฝีมือสูงส่ง ทำเรื่องชั่วทุกอย่าง แย่งสุดยอดคัมภีร์แห่งยุทธจักร เพื่อจะได้เป็นจอมยุทธอันดับหนึ่งแห่งบู๊ลิ้ม

เมื่อได้คัมภีร์มา ก็ฝึกฝนอย่างหนักหน่วง จนกลายเป็นยอดฝีมือฝ่ายอธรรม ฝีมือร้ายกาจจนในช่วงต้นพระเอกมักต่อกรด้วยมิได้

คิดๆ ดูก็น่าขำ คนร้ายในนิยายช่างขยันขันแข็งเสียนี่กระไร ไม่ท้อถอย ฝึกฝนลมปราณวิชามารทุกวี่ทุกวัน ไม่ค่อยเห็นคนเลวที่ขี้เกียจ ตื่นสาย อู้การฝึกวิชา

พุดง่ายๆ คือ นิสัยอาจไม่น่าคบ พฤติกรรมอาจชั่วร้าย แต่เรื่องความขยันหมั่นเพียรไม่เป็นรองใคร!

มองในอีกมุมหนึ่งคือ แม้แต่คิดจะเป็นคนชั่วก็ยังต้องขยัน ยิ่งคิดจะชั่วมากก็ต้องยิ่งขยันมาก

ในนวนิยายเรื่อง อุ้ยเซี่ยวป้อ ของ กิมย้ง พระเอกเป็นคนขี้เกียจมาก ไม่ชอบฝึกวิชาการต่อสู้ อาจารย์คนหนึ่งของเขาจึงสอนวิชา 'หนี' ให้เขา หลักวิชานี้คือ ไม่ว่าคนที่จะมาทำร้ายมีฝีมือเก่งแค่ไหน ผู้ฝึกวิชานี้จะหนีพ้นได้เสมอ อย่างไรก็ตาม พระเอกซึ่งเป็นคนขี้เกียจก็ยังต้องฝึกฝนวิชานั้น

 

ผู้คนในโลกของความจริงไม่ค่อยขยันเช่นนั้น โดยเฉพาะในโลกที่ 'ความสำเร็จของชีวิต' แปลว่า 'ความสบาย'

แต่ความสบายกับความขี้เกียจเป็นคนละเรื่องกัน

หลายคนอยากสบายโดยไม่ต้องทำอะไรเลย ทำงานหนึ่งชิ้นสองชิ้น ก็บ่นว่าเหนื่อย ทำงานเกินเวลาสักนาทีก็บอกว่าชีวิตไม่ยุติธรรม ทำงานในสายที่ไม่เคยลอง ก็บ่นว่าอยากลาออก

กลายเป็นวัฒนธรรมขี้บ่นที่ระบาดไปทั่วทุกมุมโลก

ค่านิยมที่นิยมในโลกปัจจุบันคือ ทำงานน้อยได้เงินมาก ได้กำไรเร็ว จัดเป็นหลักการตลาดชั้นเลิศ ลงทุนลงแรงต่ำ ได้รับค่าตอบแทนสูง ลงทุนวันนี้ได้กำไรในวันพรุ่งนี้ ถือว่าเก่ง ลงทุนเช้าได้เงินบ่ายถือว่าเยี่ยม

การตีเหล็กเป็นเครื่องมือเครื่องใช้แต่ละชิ้นต้องใช้ความร้อนสูงจัด ผ่านการตีจนเป็นรูปร่างที่ต้องการ แล้วจึงปล่อยให้เย็นตัวลง กลายเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่มีค่า

ความสบายที่มาจากความลำบากมีคุณค่ากว่าความสบายที่เดินทางมาถึงมือง่ายๆ

 

วิลเลียม เจมส์ นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่แห่งอเมริกาในรอยต่อศตวรรษที่ 19-20 บอกว่า มนุษย์ส่วนใหญ่ถูกโปรแกรมให้รู้สึกเหนื่อยเมื่อถึงเวลาเหนื่อย มนุษย์เราใช้พลังน้อยกว่าที่มีอยู่จริง เขาบอกว่า หากคุณผลักความเหนื่อยออกไปอีกสักนิด คุณจะได้งานมากกว่าเดิม อย่างไม่น่าเชื่อ

แน่ละ ความหมายของ วิลเลียม เจมส์ มิใช่ต้องการให้คนทำงานจนตายคาที่ แต่ให้ลองทดสอบดูว่า บางครั้งการยอมแพ้เกิดจากใจไม่สู้ ไม่ใช่กายไม่พร้อม

เราอาจไม่ต้องทำถึงขนาดขยันจนต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งอาจมากเกินพอดี แต่คำถามคือแค่ไหนคือความพอดี เท่าไรคือความเหมาะสม

บางคนทำงานได้มากมายกว่าจะเหนื่อย บางคนทำนิดเดียวก็ 'รู้สึก' เหนื่อยแล้ว บางคนไม่ทำอะไรเลย ก็ยังเหนื่อย

ผมไม่เคยเห็นใครที่ขี้เกียจแล้วชีวิตฉิบหาย ตรงกันข้าม คนที่ชีวิตพังหลายส่วนใหญ่เกิดจากความขี้เกียจ ความเขลา และความโลภ

ไม่มีใครตายไปเพราะทำงานหนัก

ไม่มี ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยเห็น

ไม่มีอะไรได้มาโดยไม่ต้องลงแรง

ถึงจะเอนกายนอนพัก ก็ยังต้องออกแรงเขยื้อนกาย ถึงจะเดินถอยหลัง ก็ยังต้องออกแรง จะยกธงขาวยอมแพ้ก็ยังต้องออกแรงยกธง


วินทร์ เลียววาริณ
www.winbookclub.com
24 กุมภาพันธ์ 2550 


 
 

หมายเลขบันทึก: 80537เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2007 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบหนังสือของวินทร์ เหมือนทุกอารมณ์จริงของชีวิต เป็นจิตวิญญาณของรสชาติ เป็นความว่างเปล่าที่กลมกลืน เป็นท่วงทำนองที่ครบเครื่อง เป็นทุกอย่างของความเป็นอนุมูลของโลกใบนี้

ชอบผลงานของวินทร์มาก อยากได้รับไอเดียหรือคำติชมจากท่านบ้าง(อยากเป็นศิษย์)น่ะ

ซื่อเกือบทุกเล่มถ้าเป็นชื่อ วินทร์ เลียววารินทร์

ชอบงานเขียนของ วินทร์ เลียววาริณมาก ตอนนี้อ่านมังกรเซน และได้ข้อคิดดีๆจากหนังสือเล่มนี้มาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท