ปลูกยางในทุ่งนา เสียทั้งเวลาและนาข้าว


ปลูกยางในทุ่งนา เสียทั้งเวลาและนาข้าว

บทความนี้ เขียนด้วยความเป็นห่วงชาวนาไทยทุกคนครับ


(ภาพชานชลาสถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทองครับ)

ผมได้มีโอกาสนั่งรถไฟจากในตัวเมืองนครศรีธรรมราชแล้วไปลงที่ สถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทองเพื่อกลับบ้าน คุณทราบไหมครับ ว่าผมเห็นอะไร สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจมากคือ การเปลี่ยนทุ่งนามาเป็นสวนยาง แล้วเมื่อนั่งมองออกไปทางหน้าต่างข้างเส้นทางรถไฟ ไม่ว่าจะด้านซ้ายหรือด้านขวา ที่นาก็กลายเป็นสวนยางไปเยอะมากๆ แต่ที่น่าเศร้าอีกก็คือ ผมได้เห็นว่าสวนยางที่ได้กรีดกันไปแล้วนั่น ต้นเล็กนิดเดียวเอง ไม่แน่ใจว่าเพราะว่าอายุถึงหรืออะไรครบกำหนดที่กรีดได้แล้ว หรือว่าเพราะว่าช่วงนั้นยางราคาแพงคนเลยรีบกรีดกันก่อน

 
(ลองดูนะครับ ว่านี่ขนาดสวนยางที่ปลูกในทุ่งนาที่ผมเห็น สังเกตขนาดของลำต้นยางนะครับ สวนยางนี้เปิดกรีดไปเรียบร้อยแล้วครับ หากคุณสังเกตดีๆ จะเห็นที่รองน้ำยางดำๆ ที่ลำต้นนะครับ)

 เหตุนี้ยังไม่เศร้าเท่ากับเมื่อไปดูที่ทุ่งนาของพ่อและแม่ที่ทำอยู่ยิ่งหนักเข้าไปอีก เมื่อสามทิศทางรอบแปลงที่นาของพ่อแม่ ล้อมรอบไปด้วยสวนยางพารา เหลือทิศใต้ด้านเดียวที่ยังเป็นที่นาให้เชื่อมต่อกันอยู่ แต่อย่างว่าครับ ที่นาของเค้าเค้าจะปลูกอะไรใครจะไปว่าอะไรได้ ใช่ไหมครับ


(สวนยางแปลงนี้ ไม่อยากจะเรียกว่าสวนยางครับ ขอเรียกเป็นทุ่งยางนาแล้วกันนะครับ คุณจะสังเกตเห็นการยกร่องพร้อมน้ำขังในร่องคูนะครับ แล้วจินตนาการรากยาง น้ำในดิน ว่ามันจะเชื่อมต่อกันอย่างไรครับ)

ถามว่า ทำไมชาวนาจึงนิยมปลูกยางพาราในที่นา อันแรกคือ ต้นยางจะโตเร็วในช่วงสองสามปีแรกครับ เพราะว่าชาวนาจะยกร่องขึ้นมาก่อนครับ ก่อนจะปลูกแล้วก็จะปลูกยางบนร่อง นั่นคือ บนแนวร่องนั่นจะสูงจากระดับน้ำในเบื้องต้น พร้อมๆ กับรากของต้นยางนั้น ยังไม่ชอนไชในวงกว้างมากนัก อีกอย่างคือ การดูแลรักษาทำได้ง่ายมาครับ เพราะที่นาไม่ค่อยมีวัชพืชขึ้นมากอย่างที่บนที่ดอน หรือเนินเขา

 
(นี่คือแปลง ทุ่งยางนาอีกแปลงครับ เลยสวนยางนี้ไปจะเป็นที่นาของคุณพ่อคุณแม่ผมเองครับ ที่ล้อมรอบ สามทิศทางด้วยสวนยาง คุณลองจินตนาการเล่นๆ ครับ ว่าน้ำควรจะไหลไปทางไหน หากฝนตกหนักต้นยางจะปรับตัวกันอย่างไร แล้วหากหน้าแล้งการไหลของน้ำจะเหมาะกับการทำนาได้อย่างไร....สรุปว่าจุกกันทั้งคนทำนาและทำยางนา)

แต่ระยะให้หลังจากนั้น ชาวนาอาจจะเจอกับอาการจุกเสียดแน่นท้องครับ เมื่อเจอว่าปลูกไปห้าปีแล้วหรือเจ็ดปีแล้ว ทำไมต้นมันยังเท่าแข้งอยู่เลย นั่นคือ เส้นรอบวงของต้นยางไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ หากเทียบกับเพื่อนบ้านที่ปลูกเจ็ดปีบนเนินเขาที่พร้อมจะกรีดหรือได้กรีดไปแล้ว หรือที่ดอนที่สูงขึ้นจากท้องทุ่งนา จึงต้องจำใจกรีดยางไปครับ แล้วต้นยางนะครับ หากเส้นรอบวงน้อยนะครับ จะกรีดยางหนึ่งในสามส่วนของเส้นรอบวง ถามว่า บาดแผลที่กรีดมันจะยาวซักเท่าไหร่กันครับ

คราวนี้ เราไปดูคุณสมบัติของต้นยางครับ ว่าต้นยางนั้นชอบดินแบบใด ชอบดินแบบน้ำท่วมขังอย่างในที่นาหรือเปล่า ปกติดินในนาก็เป็นดินเหนียวเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวเพราะว่า อุ้มน้ำได้ดี รากข้าวมันก็นิดเดียวดูดน้ำไปใช้ได้สะดวก และต้นข้าวชอบพื้นที่น้ำท่วมขังเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากมาวิเคราะห์ต้นยางแล้ว ในที่นานั้นไม่ได้เป็นที่ที่เหมาะสมแต่อย่างใดเลย ด้วยเพราะโครงสร้างดินต่างกันและช่องว่างในดินก็สำคัญสำหรับรากต้นยาง ส่วนดินเหนียวนั้นเป็นดินที่มีขนาดโมเลกุลของดินเล็กมากทำให้น้ำท่วมขังได้ง่าย การชอนไชของรากต้นยางก็ไม่ง่ายเลยครับ พอต้นยางอายุได้สามปีเป็นต้นไป หรือก่อนหน้านั้นรากของต้นยางก็จะไปเจอกับการท่วมขังของน้ำครับ เพราะว่าอย่างน้อยในรอบปีจะต้องมีน้ำท่วมขังแน่ๆ ในที่นา หากใครคิดว่าน้ำในที่นาจะถูกเปลี่ยนให้เป็นน้ำยาง มีน้ำในนามากก็ได้น้ำยางมาก นั้นให้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่นะครับ เพราะว่าน้ำยางที่เราได้นั้นมันมาจากการกรีดท่ออาหารให้ขาด นั่นหมายถึงว่า น้ำยางที่ได้จากการกรีดนั้นเกิดจากการสังเคราะห์แสงของต้นยางนั่นเอง

นั่นคือ จะมีน้ำยางมากได้ใบยางก็ต้องมีสุขภาพที่ดี ใบยางจะมีสุขภาพที่ดีได้ ก็ต้องมีระบบลำต้นที่ดี และที่สำคัญมากๆ คือ ระบบรากของต้นยางจะสำคัญมากๆ เพราะจะเป็นตัวหาสารอาหารจากดินส่งขึ้นไปยังลำต้นและใบ เพือปรุงอาหาร แล้วได้ผลผลิตออกมาเป็นน้ำยาง และสารอาหาร ส่วนน้ำที่รากดูดขึ้นไปนั้นจะถูกลำเลียงผ่านท่อน้ำ ซึ่งคนละอย่างกับน้ำยางนะครับ เพราะน้ำยางจะถูกลำเลียงผ่านท่ออาหาร

ต่อมา มาดูว่าระบบรากต้นยางมันจะชอนไชได้ดีอย่างไรในระบบดินเหนียว ปกติแล้วดินเหนียวนี่เป็นดินโมเลกุลเล็กกว่าดินร่วนหรือดินทราย ทำให้การยึดติดกันระหว่างโมเลกุลมีสูงและมีช่องว่างระหว่างโมเลกุลเล็ก นั่นคือรากจะหาสารอาหาร ก็จะดูดเข้าไปในรูปไอออนซึ่งอยู่ในตามโมเลกุลดินแต่รากจะดูดไอออนนั้นเข้าไปได้ยากหากมีการยึดหรือเป็นการดักไม่ให้ไอออนนั้นวิ่งผ่านเข้าไปหารากได้ รากก็ไม่สามารถจะดูดปุ๋ยที่เราใส่ลงไปได้ แต่หากระบบดินมีช่องว่างมากขึ้นมีน้ำไหลผ่านบ้าง แต่ไม่ใช่น้ำแช่หรือท่วมขัง ก็อาจจะช่วยให้การลำเลียงได้ดีขึ้น ดังนั้นอย่าแปลกใจมากหากใส่ปุ๋ยแล้วยางไม่สามารถโตได้ทันใจ หากท่านปลูกยางในทุ่งนา  ซึ่งการใส่ปุ๋ยนั้นก็มีความจำเป็นต้องทราบว่าจะใส่ปุ๋ยบริเวณไหน อันนี้ก็สำคัญแต่จะไม่ขอกล่าวในที่นี้

นี่ผมจะกล่าวแค่ปัญหาจากระบบดิน ระบบน้ำที่ต่างๆกันจากที่ดอน หรือว่าที่เนินเขา หรือบริเวณภูเขานะครับ ผมยังไม่พูดถึงปัญหาอื่น เช่น ในช่วงหน้าฝน หรือหน้าแล้ง ที่มีนกกระยางลงมาหากินลูกปลาแล้วบินขึ้นไปเกาะบนยอดยางแล้วทำให้ยอดยางหัก คราวนี้ก็หล่ะปัญหาปรากฏการตายอดข่มตาข้างก็จะหมดไป ท่านจะเจอปัญหากับต้นยางของท่านตามมา คือ ตาข้างจะเจริญดีมาก ท่านก็ต้องตัดทิ้งกันสนุกแน่ครับ อีกปัญหาคือ ปัญหาทะเลาะกับเพื่อนชาวนาด้วยกันที่มีที่นาบริเวณที่ท่านปลูกยางเรื่องน้ำ เพราะท่านปลูกยางไม่ต้องการน้ำให้ไหลผ่านสวนยาง ส่วนชาวนาที่ปลูกข้าวต้องการน้ำ

คราวนี้ มองไปยังอนาคต เช่น อายุการกรีดยาง ท่านจะกรีดได้นานแค่ไหนกันครับ หากปลูกยางในที่นา เช่นเส้นรอบวงก็สั้นกว่า กรีดได้บาดแผลเล็กกว่า ระบบรากที่แย่กว่า แล้วอายุการกรีดหรืออายุต้นยางจะเป็นอย่างไรครับ รับประกันว่าสั้นกว่าแน่นอน

ต่อไปมองที่การขายต้นยางหลังจากที่ต้นยางเสื่อมสภาพ ปกติก่อนการโค่นต้นยาง ควรจะมีการเร่งน้ำยางด้วยฮอร์โมนก่อน เพื่อเอาน้ำยางออกมาให้มาที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนการโคนเพื่อเอาต้นยางไปทำเฟอร์นิเจอร์หรือวัตถุประสงค์อื่น แต่หากเราปลูกในนาเนี่ยครับ ถามว่าต้นยางเราจะเอาไปทำเฟอร์นิเจอร์ได้ไหมครับ อย่างดีก็มีคนมาซื้อไปทำไม้ฟืนครับ เพราะต้นมันเล็กไงครับ

หากท่านจะกลับใจจาก สวนยางไปเป็นทุ่งนาอย่างเดิม จะทำได้ง่ายไหมครับ อันนี้ก็น่าคิดครับ แต่ก็คิดว่าดีกว่า จะปลูกต้นยางต่อไปครับ

ผมเขียนมาเพื่อให้พี่น้องชาวนาที่อยากจะปลูกยางในทุ่งนาได้ลองทบทวนดูอีกรอบนะครับ ไม่อยากให้เห็นภาพแบบนี้เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวนาเลยครับ ท่านเคยสงสัยไหมครับ ว่าหากท่านจะไปขอทุนเพื่อมาปลูกยางในนา ท่านคิดว่า กองทุนวิจัยยางจะอนุญาตท่านหรือครับ หรือว่าจะให้เงินสนับสนุนหรือครับ เพราะเค้ารู้อยู่แล้วว่าไม่ได้ผลนะครับ

ผมอยากให้พี่น้องชาวนา หันมาทำนากันอย่างจริงจัง ลดการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี โดยหันมาฟื้นฟูที่นาโดยใช้ปุ๋ยชีวภาพแทน ให้เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ มีปลาในนา มีลูกกุ้งในนา ให้จับมากินกันได้ ดีกว่าท่านเห็นปลาเปื่อยในนาที่วิ่งไปมาอย่างน่าสงสาร เพราะได้รับผลกระทบจากสารเคมี

 ดินแห่งใดไม่มีจุลินทรีย์ในดิน ดินนั้นก็จะเป็นดินที่เสื่อมสภาพ มีปัญหา ปุ๋ยอินทรีย์นั้นมีจุลินทรีย์ผสมอยู่ข้างใน ต้องให้จุลินทรีย์ช่วยย่อยเพื่อให้อยู่ในรูปที่พืชจะนำไปใช้ได้ ส่วนปุ๋ยเคมีอยู่ในรูปไอออนหรือธาตุประกอบทางเคมี ที่อาศัยการแตกตัวเป็นไอออนแม้ว่าจะเป็นการฉีดให้ต้นไม้เพื่อให้ต้นไม้กินได้ทันทีก็ตาม แต่มันจะไม่ครบวัฎจักรของระบบ

ผมเป็นห่วงว่าวันหนึ่ง ชาวนาจะขายที่นาของตัวเองให้บริษัท บริษัทจะหันมาทำนาแล้วให้ชาวนาไปทำนาจ้างในที่นาของตัวเอง แล้วท่านคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ตอนนี้เวียดนามก็ได้เข้าร่วม WTO แล้ว เวียดนามก็จะเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับสองรองจากไทยนะครับ วันหนึ่งหากเราไม่คิดทำนา เราจะมีโอกาสกินข้าวของเวียดนามเหมือนกับประเทศที่สั่งนำข้าวจากประเทศไทยนะครับ

ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ไข พูดคุยและสานต่อนะครับ

หากสิ่งที่ผมเขียนผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยด้วยแต่เขียนข้อแนะนำไว้ด้านล่างได้เลยครับ ผมเป็นนักคณิตศาสตร์คอมพิวเตอร์นะครับ ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญไรมากทางด้านยางพารา เพียงแต่ที่บ้านทำสวนยางพาราและเรียนวิทย์คณิต พื้นฐานทางเกษตรมาหกปีในระดับมัธยม ศึกษา อาจจะจำไรผิดพลาดไป ก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ แต่พร้อมจะรับฟังความเห็นจากทุกคน เสมอครับ

สุดท้ายแถมภาพภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนรู้จักกันดี ในนาม ภูเขาชุมทอง จากแนวทางของเพลงลูกทุ่ง ชุมทางเขาชุมทอง


(เลยทุ่งนานี้ไปที่กลางภาพก็จะเจอบ้านผมครับ ทุ่งนาผืนใหญ่นี้เดิน คลุกดินโคลน น้ำ หาปลา วิ่งเล่นว่าวหน้าร้อน จับกบ ตกเป็ด ยั่วเบ็ด ครบเครื่องมาหมดแล้ว คุณอาจจะเห็นสีขาวๆ ในนานั้นคือ นกกระยางครับ ซึ่งยามค่ำคืนนกกระยางส่วนหนึ่งจะไปนอนที่ป่าที่พอจะเหลืออยู่นิดหนึ่งที่ข้างบ้านผม พื้นที่ทำมาหากินของนกและสัตว์ก็เริ่มหายากขึ้นทุกที)

ภาพนี้มองจากทุ่งนาไปยังภูเขาสองลูกนั้น ทางขวามือคือภูเขาชุมทอง ส่วนภูเขาทางซ้ายมือชื่อภูเขาหอมภูเขาไห.... เมื่อการพัฒนาบ้านเมืองพัฒนาไปยังยุคของทุนนิยมมากขึ้น...การทำลายภูเขาก็มีมากขึ้น และก็มีหลายๆ คนเริ่มจะหากินโดยการไปทำลายภูเขากันมากขึ้น.... หลายๆ รายก็ได้เจออาการจุกเสียดของหัวใจในการทำลายทรัพยากรที่มีความสำคัญ 

ด้วยมิตรภาพ

 สมพร ช่วยอารีย์ (เม้ง)

หมายเลขบันทึก: 80493เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2007 01:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (72)
เกรียงศักดิ์ แสล้ประเสริฐ

เห็นด้วยครับบ และอยากเสนอให้มีการให้ความรู้เรื่องนี้กับชาวนาโดยตรง เพราะจะทำให้ชาวนาได้รับความรู้ความเข้าใจโดยตรงครับ

ขอบคุณพี่เม้งมาก ๆ ค่ะ ที่ส่งบล็อคดี ๆ มีความรู้มาให้อ่าน เราก็เป็นลูกสวนยางเหมือนกัน แต่ไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย (รู้แต่ว่าปีนี้ยางราคาดีหรือเปล่า)

หวัดดีครับ

เมื่อก่อนผมมองไม่เห็นทางการพัฒนาของชาวนาเลย  ทั้งๆที่ผมเรียนจบด้านเกษตร   เพราะเวลาผมมอง  ผมมองผ่านแว่นเทคโนโลยีสมัยใหม่  ที่เน้น "ปริมาณผลผลิต"  สูงสุด   ทำให้มองอย่างไร  ก็มองไม่เห็นทาง

แต่พอมาได้พบ  "โรงเรียนชาวนา"   "กลุ่มเกษตรปลอดสาร  จ. พิจิตร"    ผมพบแว่นใหม่  ที่มองในอีกมิติหนึ่ง   มองเห็นทางรอดของอาชีพการเกษตร  ที่ถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทย    คล้ายๆกับ  ยางพารา  และปาล์มน้ำมัน  รวมทั้งนาข้าว  ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนปักษ์ใต้   

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เทคนิควิชาการ   แต่อยู่ที่ "กระบาลทัศน์"  ของคนทั้งฝ่ายส่งเสริมสนับสนุน  และชาวเกษตรกรที่ถูกโปรแกรมวิธีคิดจนโงหัวไม่ขึ้น   เราคงต้องช่วยกันละครับ   

กลับมาเมื่อใด  อย่าลืมทิ้งทีอยู่เอาไว้ด้วยนะครับ

เมื่อวันศุกร์มาเจออาจารย์โอ๊ะ (ม.เกษตร)   โดยบังเอิญมาสัมมนาเรื่อง  Road Map for IT Engineering  ของ NECTEC    

สวัสดีครับ คุณเกรียงศักดิ์ น้องอิ๋ว และพี่ธวัช

ขอบคุณสำหรับทุกความเห็นนะครับ จริงๆแล้วสิ่งที่เกิดและสิ่งที่เรามองเห็นและมองไม่เห็นในปัจจุบันนี้ล้วนมีเหตุผลในตัวของมันเสมอ สิ่งที่เกิดและทำหรือกำลังจะทำในวันนี้ก็จะส่งผลกระทบตามมาอีกมากมายครับ อยู่ที่ว่าเราจะจับแนวทางที่เราจะทำนำไปสู่การจัดการสิ่งที่กำลังจะเกิดจากการกระทำนั้นได้อย่างไรโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติ หรือทำแล้วยังคงรักษาให้เกิดการสมดุลย์ของธรรมชาติในระบบได้ หากขาดสมดุลย์เมื่อใด ตัวที่ทำหน้าที่ฟ้องก็จะแสดงผล แต่บางอย่างที่เราทำวันนี้แต่ตัวฟ้องจะเกิดตามมาอีกนานจนเราลืมไปว่า จนคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเราโดนธรรมชาติรังแก ทั้งๆที่เหตุจริงๆอยู่ที่การกระทำของเราในอดีต

ร่วมกันถกในเรื่องนี้ได้เต็มที่นะครับ

ผมก็ปลูกยางในนา ๑๑ ไร่ ของแม่ยายที่ป่าพะยอม พัทลุง

  • เนื่องจากชลประทานไปลอกคลองลึกจนนาเก็บน้ำไม่อยู่
  • ทำนาไม่ได้อีกต่อไป
  • ฝนตกมาน้ำไหลซึมลงคลองหมด
  • ข้าวไม่ได้ผลผลิต ไม่มีทางเลือก
  • ก็เลยต้องปลูกยางได้มา ๘ ปีแล้ว
  • กรีดได้วันละประมาณ ๒๐ กก ครับ
  • ไม่ทราบว่าคุ้มหรือไม่คุ้มก็ไม่ทราบนะครับ อันนี้ผมมองเชิงนิเวศครับ
  • แต่มองแค่รายได้ระยะสั้น เขาว่าคุ้มครับ
  • อยากฟังมุมมองต่างๆเหมือนกันครับ

สวัสดีครับ ดร.แสวง

    ขอบคุณมากครับ สำหรับความเห็นเพิ่มเติมครับ แสดงว่าที่ดินที่ท่านปลูกนั้น กลายจากที่นาเป็นที่ดอนไปในที่สุดเทียบกับระดับน้ำ เพราะว่า ระดับน้ำแทนที่จะขังเพื่อการปลูกข้าวได้ ก็ทำให้น้ำหายไปอยู่ในคลองเพราะคลองอยู่ต่ำกว่าผืนนา ในส่วนนั้นการทำนาน้ำขังอาจจะเจอปัญหาการขาดน้ำได้ แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะมีข้าวพวกต้องการน้ำน้อย พวกข้าวเตี้ยทั้งหลาย ทำแบบไม่ใช่นาดำ อาจจะได้ เพราะตอนนี้ที่บ้านทำข้าวเตี้ยตระกูลหอมมะลิแถวนครศรีธรรมราช ลดการใช้น้ำครับ แต่พอไม่มีน้ำในนาข้าว วัชพืชในนาข้าวก็เริ่มงอก เพราะเคยให้เค้าเอาวัวควายมาขังในแปลงนา คิดพลาดไปเพราะอยากได้มูลสัตว์สำหรับครั้งหน้า แต่หารู้ไหมว่าวัวควายกินหญ้าเข้าไปเมล็ดหญ้าพวกนั้นมันก็จะกลายเป็นแหล่งวัชพืชอย่างดีต่อไปสำหรับนาข้าว กลายเป็นว่ามีวัชพืชหลายๆ อย่างอยู่รวมกันในแปลงนา สำหรับการปลูกยางในประเด็นที่ผมนำเสนอ เน้นในเรื่องการปลูกผิดที่โดยโครงสร้างของดินอาจจะไม่เหมาะสมกับต้นยาง เว้นแต่ว่าหากปรับปรุงดินก่อนปลูก ไม่ให้เป็นดินเหนียวล้วนก็อาจจะเป็นการดีก่อนปลูก แต่หากปลูกโดยการเอาที่นาน้ำลึกหรือที่ต่ำน้ำท่วมขังแล้วยกร่องปลูกยางอันนี้ผมไม่สนับสนุนเพราะว่าจะทำให้เสียสภาพของผืนนาตรงนั้นไปครับ

รบกวน ดร.แสวงช่วยเล่าขนาดต้นยางที่ปลูกในด้วยครับ ว่าก่อนกรีดหรือตอนนี้ต้นยางขนาดไหนหรือบอกความยาวเส้นรอบวงก็ได้ครับ แล้วดินมีโครงสร้างอย่างไรบ้าง ตำแหน่งสวนยางในที่นาอยู่ติดพื้นที่เนินดอนชายป่า  หรือว่า อยู่ในกลางนาลึกเลยครับ เพราะผมอยากได้ข้อมูลเหมือนกันครับ เผื่อวันหนึ่งจะลองทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์มาลองช่วยอธิบายด้วยครับ

ขอบคุณล่วงหน้าครับผม

 

คุณสมพร ครับ

               จที่ได้อ่านบทความดีๆนี้ มาตามคำเชิญชวนครับ ผมเองไม่ค่อยมีความรู้เรื่องแบบนี้ครับ ทั้งๆที่ญาติโกโหติกาผมก็ปลูกยางพาราและร่ำรวยกับราคายางที่บอกกันว่าดีในขณะนี้

               เพราะราคาดีหรือเปล่าจึงทำให้ยางพาราได้อยู่ในกระแสสุดๆในขณะนี้ ต้องปลูกยางพารากันให้ได้จะได้รวยๆกับเขามั่ง ไม่ได้สนใจว่าธรรมชาติยางพารามันชอบดินและสภาพแวดล้อมอย่างไรถึงจะเจิญงอกงามได้ดี จึงเห็นได้ทั่วไปในภาคใต้บ้านเรา ไม่เฉพาะแต่ที่อำเภอร่อนพิบูลย์เท่านั้นที่เปลี่ยนที่นาเป็นสวนยางพารา ทั่วไปครับ

               เจ้าภาพหลักเรื่องนี้ ผมก็ไม่ทราบว่าคือหน่วยงานใด เขาจัดการอย่างไรกับเรื่องนี้ ผมคิดว่าเกษตรอินทรีย์คงจะได้รับรู้กันบ้างแล้วในทุกระดับรวมทั้งเกษตรกรเอง สำหรับเกษตรกรเองในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชก็ได้มีการส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องนี้กัน จังหวัดนครศรีฯเราเองก็มีแผนการลดใช้สารเคมีและเพิ่มการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปีไหนเท่าไหร่ ความพยายามของหลายฝ่ายที่ทำยังหยุดกระแสนี้ไม่ค่อยได้

              ขออนุญาตนำความรู้จากบันทึกดีๆนี้ไปบอกกล่าวในวงพรรคพวกครับ

              ยังคิดอยู่ว่าน่าจะเอาพวกที่เปลี่ยนที่นาเป็นสวนยางแล้วไปไม่รอดมาประชาคกัน เพื่อสร้างบทเรียนสอนใจผู้ที่กำลังจะเดินเส้นทางนี้อยู่

เรียนคุณครูนง ที่เคารพครับ

       ขอบคุณครูนงมากๆครับ สำหรับข้อคิดดีๆ สำหรับบทความลองเอาไปใช้ได้เลยครับ หากคิดว่าดีแต่ไม่ต้องเชื่อทั้งหมดครับ ให้ทำไปศึกษาไปครับ เพราะผมคิดว่าต้องลองดูแต่ละกรณีว่าเป็นยังไง

      สำหรับสามทิศทางของที่นาพ่อแม่ผมที่สามทิศทางล้อมรอบด้วยที่นานั้น มีอยู่เพียงเจ้าเดียวที่ต้นยางมีขนาดเท่าๆ กัน ซึ่งเจ้าของสวนยางในนาก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดครับ เพราะว่าขนาดของต้นยางจะไม่เท่ากันครับ เค้าใช้เทคนิคที่ว่า ตรงไหนโตดีใส่ปุ๋ยน้อยๆ ตรงไหนต้นเล็กใส่ปุ๋ยเยอะๆ ให้มันโตทันกัน แต่อีกสองรายที่เหลือ ต้นยางจะมีขนาดลากแม่ลากลูกอย่างที่บอกเช่น หากยอดหักแล้วก็จบเกมส์มันจะหยุดชะงักช่วงหนึ่งกว่าจะโตขึ้นมาได้อีก

     ผมว่ากองทุนสนับสนุนวิจัยยางคงทราบเรื่องนี้ดีนะครับ ว่ามีผลกระทบอย่างไร และองค์กรนี้ก็คงไม่สนับสนุนเป็นแน่ เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้มีนักวิชาการลงไปหาชาวบ้านแล้วพูดคุย เพราะตอนนี้ได้ข่าวว่าจะมีการเปลี่ยนที่นาเป็นสวนยางกันอีกในละแวกบ้าน เราเองจะพูดไรมากก็ไม่ได้เพราะที่นาของเค้า เว้นแต่ว่าเค้าจะเอาสิ่งที่เราพูดไปคิดครับ

    ปัญหาบ้านเราคือการปลูกอะไรก็ปลูกตามๆกัน เป็นแบบแฟชั่น ไม่ได้ศึกษาหลักการปลูกแบบผสมผสาน แต่ตอนนี้เหมือนว่าจะดีขึ้นและการพัฒนานำไปสู่การใช้ปุ๋ยอินทรีย์นี้ ผมสนับสนุนมากๆเลยครับ ทำไปเถิดรับรองคุ้มค่าแน่นอน วันหนึ่งท่านจะยิ้มได้ยาวนานขึ้นครับ แต่ละรอยยิ้มจะตรึงอยู่กับคนที่พบเห็นได้ยาวนาน

    ผมไม่อยากให้ชาวนาต้องมาเสียใจก่อนจะสายเกินไปครับ ตอนนี้ที่บ้านพ่อแม่ก็เดินแนวพอเพียงและปลูกแบบผสมผสานครับ ที่นาข้างบ้านประมาณสองไร่ตอนนี้ได้ทำการทดลองปลูกผักบุ้งเปรียบเทียบกับนาข้าวแทน พูดง่ายๆ แทนจะเป็นนาข้าวก็เป็นนาผักบุ้ง ส่วนที่นาแปลงอื่นก็ปลูกข้าวตามปกติ เพราะว่านาข้างบ้านมีน้ำตลอดเพราะมีสระเก็บน้ำไว้ได้ตลอดปี รายได้เบื้องต้นสำหรับการเลี้ยงชีพในเรื่องอาหารการกินแต่ละมื้อผักบุ้งช่วยได้ครับ

   ขอเป็นกำลังใจนะครับ ในการทำงานด้านนี้นะครับ ผมเองตอนนี้อยู่เยอรมันครับ คิดว่าปีนี้คงได้จบกลับไป คงได้ร่วมกันทำงานกันต่อไปครับ

ขอแสดงความนับถือ

สมพร

ขอบคุณมากครับ
    ได้ความรู้มากเลย  นึกถึงแถวบ้านเดิมที่ไชยา ที่นาที่เราเคยวิ่งเล่น ตกปลาในทุ่งนาข้าวเขียวขจีเมื่อตอนเป็นเด็ก บัดนี้เขาแปรสภาพไปเป็นไม่สวนยางก็สวนปาล์มกันแทบหมดแล้ว .. เท่าที่สังเกตแบบผ่านๆนะครับ  ก็เห็นความแตกต่างอยู่ว่ายางบนเนินเขาที่มีดินแดง ดูจะโตเร็วและ แข็งแรงกว่ายางที่ปลูกในที่นามาก 
    ตอนนี้ชาวนาเขาซื้อข้าวสารกินกันเป็นปกติแล้วครับ มาถูกหรือผิดทางไม่ทราบได้  แต่ผมเสียดาย ลำห้วย 3 แห่งที่เคยมีน้ำตลอดปี  พรุใหญ่เชิงเขาลูกยาง และหนองบึงที่อุดมไปด้วยปลาน้ำจืด และป่าที่แสนอุดมด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่าที่ผมได้เคยเห็นตอนเป็นเด็ก และมันไม่เหลือแม้แต่ร่องรอยในปัจจุบัน .. แต่เสียดายอย่างไร  คงไม่มีวันกลับมาให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นอีกแล้วเป็นแน่แท้

สวัสดีครับ คุณแฮนดี้ ที่เคารพ

      ขอบคุณมากครับ ที่ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ บางทีเราเปลี่ยนแปลงอะไรโดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบครับ แต่ว่าทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนเปลี่ยนแปลงครับ สำหรับคนเราอยู่ที่ว่าเราจะคิดและเปลี่ยนแปลงไปในทางใด ที่เห็นได้ชัดในสังคมชนบทที่มีระบบทุนลงไป แน่ๆคือชาวบ้านอาจจะวัดกันที่สองล้อสี่ล้อมีบ้านหรูๆ จากบ้านที่เคยไม่มีรั้วกั้นก็จะมีรั้วแบบต้นไม้กั้น จากนั้นก็จะกั้นด้วยเสาร์ลวดหนามหรือกำแพงคอนกรีต เพราะเรามีกำแพงสร้างกำแพงกันระหว่างคนระหว่างใจคน

      ยังจำคำพูดของ ดาบตำรวจวิชัย ที่ปลูกต้นไม้เป็นล้านต้นท่านบอกว่า โครงการแผ่นดินธรรมบอกว่ามีเพือนบ้านที่ดีไม่ต้องสร้างรั้วบ้าน ปัจจุบันไม่รู้เรามีเพื่อนบ้านดีหรือไม่รู้ แต่เราสร้างรั้วบ้านกันแล้วแต่ว่าจะมากหรือน้อย เราป้องกันใครกันไม่รู้

     และคำพูดของลุงสงัดที่ปลูกป่าอีกคน ท่านบอกว่า เมื่อก่อนป่าเยอะแถบนั้นแล้วถัดมาคนทำลายกันจนหมด จนในที่สุดท่านก็รื้อใหม่ จนกลายเป็นป่า จากนกหรือตะกวดที่ไม่เคยเห็นก็จะเห็น กระรอกก็มีมาวิ่งให้เห็น แสดงว่ามีป่ายิ่งมีชีวิต มีป่าที่ไหนชีวิตก็จะมาอาศัยในป่าเองครับ เหมือนกับมีทรัพยากรที่ดีที่ไหนก็มีคนอยู่ที่นั่นเลยครับ

    อีกอย่างที่น่าเป็นห่วงมากคือการศึกษาครับ เพราะหากวันใดเรานิยามว่าการศึกษาคือการลงทุน คราวนี้หล่ะคับ อาจจะไม่มีการศึกษาเพื่อสร้างคนแน่ เพราะคนไม่มีทุนไม่มีโอกาสเรียน แล้วเรียนแล้วก็ต้องหาเงินกลับเข้ากระเป๋าตัวเองเพราะได้เรียนไปด้วยการลงทุน คนที่จะทำงานเพื่อส่วนรวมก็จะน้อยลง

ไม่แน่ใจว่าท่าน คิดกันอย่างไรบ้างครับ แต่พอมองในเรื่องการอยู่แบบพอเพียงที่มีหลายหมู่บ้านเริ่มทำ ก็รู้สึกดีใจที่ยังมีส่วนหนึ่งช่วยกันคิดช่วยกันทำในอีกทางที่เป็นแบบยั่งยืนจริงๆ

มีอะไรเสนอไว้นะครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ

สมพร

สวัสดีครับ
  ผมมีบันทึกเรื่อง อย่างนี้หรือ คือ "อุดมศึกษา" เขียนอะไรที่พบเจอไว้เล็กน้อย  ลองแวะไปดูได้ครับ

กราบขอบพระคุณ คุณแฮนดี้มากๆ ครับ เข้าไปติดตามอ่านแล้วครับ ผมเองก็เป็นห่วงการเปิดหลักสูตรต่างๆ ที่ผมเรียกว่า ธุรกิจทางการศึกษา โดยลงทุนเป็นหลัก หวังผล หวังกำไร ทำยอด วัดกันที่จำนวนมากๆ แล้ววันหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลตามกฏของนิวตันข้อที่สามครับ หากเทียบกับพุทธ ก็คงเทียบได้กับ กรรมสนองกรรม หรือทำดีได้ดี อะไรประมาณนั้นครับ

ซึ่งจริงๆ แล้วหากเราจะสร้างบัณฑิตเพื่อรับใช้สังคม การศึกษาก็ไม่ควรจะเป็นธุรกิจ เพราะการรับใช้สังคมคือการบริการที่เป็นธารน้ำใจที่หลั่งออกมาจากจิตสาธารณะ เพื่อรับใช้ชาติ แต่พอมีธุรกิจลงไปเจือปนในการศึกษา จิตสาธารณะที่ว่าจะกลายเป็น การช่วยบนเส้นทางธุรกิจแทน ผมเองยังเห็นด้วยกับการสร้างบัณฑิตแบบเน้นคุณภาพ

สัปรดที่ไหลเข้าไปทางสายสะพานจากสวน ในปีที่หนึ่ง กว่าจะผ่านกระบวนการต่างๆ จน จบ ปีสี่หรือตามหลักสูตรได้ อย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติที่ดี พอที่จะให้คนภายนอกได้ลิ้มชิมรสได้อย่างโดนใจผู้ชิม ไม่ว่าจะเป็นสัปรดที่นำเข้าในปีหนึ่งจากต่างที่ต่างถิ่นต่างแดนกันก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้วต้องได้คุณภาพเช่นกัน แม้ว่าสัปรดแต่ละเกรดจะต่างกันก็ต้องใช้กระบวนการในการผลิตให้สอดคล้องกับรูปแบบของสัปรดที่ต่างๆ กันจากการนำเข้า เพื่อให้สัปรดนั้นออกไปรับใช้สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรับประทานกันได้อย่างมีความสุข หวานถึงทรวง

ขอบคุณมากครับ

สมพร

เรียน คุณสมพรครับ

  • ยินดีและดีใจที่ได้มีโอกาสคุยกับคนเก่ง และดีใจที่เป็นห่วงชุมชนคนบ้านเรา  พูดถึงเรื่องที่คุณสมพรกำลังกล่าวถึงนั้นผมเองก็มีความรู้สึกเหมือนท่านครับ
  • แต่ปัจจุบันกระแสแรงจริง ๆ ตอนนี้พืชอีกตัวที่มาแรงก็คือเรื่อง ปาล์มน้ำมัน ครับ
  • ทางหน่วยงานผมได้มีการพูดคุยกันนอกรอบในส่วน จนท.ที่เห็นแล้วอดเป็นห่วงกันไม่ได้ แต่ก็มีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่คอยฉุดดึงให้ทำตามกัน ส่วนหนึ่งบางคนบอกว่าอยากเสี่ยงดูถึงแม้นจะไม่แน่นอนดีกว่าไม่ลอง ส่วนหนึ่งบอกว่าตัดยางไม่ได้ก็ขอแค่ได้ขายไม้ก็ได้
  • ตอนนี้น่าเป็นห่วงเรื่อง"ข้าว"ของคนบ้านเรามากครับ  เพราะซื้อข้าวสารกินกันเยอะมาก วันก่อนได้คุยกับผู้ใหญ่ที่ค้าข้าวสาร(ท่านเป็นผู้นำที่รักชุมชนและทำแผนชุมชนกับผม)แกบอกผมว่า เป็นเรื่องน่ากลัวในอนาตค เพราะคนบ้านเราจะซื้อข้าวจากที่อื่นกิน แล้วจะเกิดคุ้นลิ้นต่อไปจะไม่ปลูกข้าวกินเอง  อาจแปลเป็นอย่างอื่นและอาจขายไปในที่สุด  เพราะตอนนี้ที่นครมีห้างยักษ์หลายห้างที่อำนวยความสะดวก ตอนนี้ที่ท่าศาลากำลังจะเปิดอีกห้างแล้วครับ นั่งรถผ่านกับเพื่อนร่วมงาน เห็นแล้วเราหันมามองหน้ากันทันทีเพื่ออะไรก็ตอบไม่ได้       
  • ยินดีครับและดีใจด้วย  ที่เจอคนแนวคิดเดียวกันจะได้ช่วย ๆ กันหลาย ๆ คน หลาย ๆ ฝ่าย

เรียนคุญชาญวิทย์ ครับ

  • ดีใจมากเลยครับผม ที่ได้รับความคิดเห็นจากพี่ครับ
  • สงสัยผมต้องรีบจบไวๆ กลับไปเร่งทำวิจัยเรื่องนี้แสดงผลให้ชาวบ้านเห็นทิศทางกันด้วยแล้วครับ อาจจะออกมาในรูปโมเดลทางคณิตศาสตร์เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียนะครับ
  • ตอนนี้ผมคุยกับที่บ้านบ่อยมากครับ ตอนนี้ ป่าปาล์มเริ่มจะลงระบาดในทุ่งนาแล้วเช่นกันครับ
  • แล้วข้างๆที่นาบ้านผม ก็สามทิศแล้วครับที่ปลูกยางกัน ตอนนี้รายที่สี่กำลังจะปลูกอีกครับ ในที่น้ำลึก หากร้ายนี้ปลูกรับรอง นาที่บ้านผมก็จบเกมส์ครับ กำลังคิดว่าจะขอแลกที่นากัน เพราะนาของพ่อกับแม่ยังสูง น้ำก็จะไหลลงคลองที่เค้าลอกไว้ลึกพอสมควรครับ
  • สิ่งที่พี่พูดมา ทำให้น่ากลัวเหลือเกินครับ ผมได้ข่าวว่าที่ท่าศาลาคือโลตัสใช่ไหมครับ บริเวณ ม.วลัยลักษณ์ใช่ไหมครับ นั่นผมก็กังวลครับ ผมว่าสงสัยคนนายทุนเหล่านี้จะดูดเงินเล็กๆน้อยๆจากคนไทยหมดจริงๆ
  • ถ้าปลูกยางในนาแล้วเอาไว้ขายไม้ฟืนได้เท่านั้นครับ เพราะยางไม่ใหญ่ครับ หากจะปลูกสู้ไปปลูกต้นเทียมที่ริมรั้วดีกว่าหากจะขายไม้ โตเร็วด้วยครับ
  • อาจจะต้องรบกวนพี่ช่วยแทรกแนวคิดเหล่านี้ให้กับชาวบ้านพูดต่อๆกันไปนะคับ ในชุมชนที่พี่ได้สัมผัสมาครับ ไม่งั้นสังคมบ้านเราจะเจอกับความฉาบฉวยแบบนี้ไปเรื่อยๆครับ
  • พอใครปลูกพืชตัวไหนราคาดีเราก็มุ่งกันไปเต็มที เป็นห่วงจริงๆครับ
  • งานวิจัยที่ผมทำตอนนี้ยังไปได้ถึงระดับในการอธิบายให้รู้และเข้าใจกันนะครับ ไว้ผมจะหาโอกาสเอาภาพมาแสดงให้ดูครับ
  • ขอบคุณมากๆ เลยนะครับ พี่

โจไม่ค่อยรู้เรื่องมากหรอกค่ะ แต่อ่านแล้ว  ก็เป็นจริงอย่างที่พี่บอกน่ะค่ะ  ถ้ามีข้อมูลมากกว่านี้โจจะแวะมามาใหม่น่ะค่ะ

สวัสดีค่ะ 

ขอบคุณน้องโจมากครับ

  • มีอะไรที่พบเห็นหรือสังเกตเจอที่ไหน ก็บอกเล่ากันได้นะครับ
  • ยินดีทุกข้อมูลนะครับ เพราะอยากให้ใช้ที่ดินในทางที่เหมาะสมมากกว่านะครับ และผลในระยะยาวด้วยครับ
  • ผมไม่มีความรู้เรื่องยางหรอกครับ มีข้อมูลเล็กๆ ว่าผมรู้จักทับท่านกงศุลประเทศหนึ่งที่ประจำในลาว ท่านก็ลงทุนปลูกยางในประเทศลาว ลงทุนมาก และก็เอาคนไทอีสานไปทำงานในสวน เพราะคนอีสานทำงานดีกว่า ท่านว่างั้น
  • ในลาวส่วนบนมีนายทุนจีนมาปลูกยางเต็มไปหมด  ส่วยลาวด้านใต้ นายทุนจากเวียตนามมาปลูกยางเต็มเหมือนกัน
  • ป่าในลาวเคยมี 90 ส่วนร้อย ปัจจุบันเหลือ 40 ส่วนร้อย(สำนวนลาว) ไม้ข้ามมาฝั่งไทยทุกวัน มีนายทุนใหญ่จากกรุงเทพฯไปสร้างโรงไม้ขนาดใหญ่ที่มุกดาหาร  ทั้งๆที่มีพ่อค้าไม้ท้องถิ่นอยู่แล้วนับสิบราย
  • ที่ดงหลวงที่ผมทำงาน มีนายทุนจากกรุงเทพฯบ้างจากที่อื่นๆกว้านซื้อที่ดิน "ทั้งที่มีใบและไม่มีใบ" เพื่อปลูกยางมากมายจนเป็นห่วงจริงๆ นโยบายขยายพื้นที่ปลูกยางส่งผลกระทบหลายอย่าง  หากไม่มีมาตราการที่เหมาะสม
  • แม้แต่เกษตกรที่ผมทำงานด้วยก็แบ่งพื้นที่ปลูกยาง ซึ่งเราไม่ได้ต่อต้าน หรือกล่าวในทางที่ไม่ดี เป็นสิทธิของเขาที่จะตัดสินใจ แต่เขาได้ข้อมูลมากน้อยแค่ไหน
  • สองข้างทางถนนจากขอยแก่น-มุกดาหาร-อุบลราชธานี มีสวนขายกล้ายางมากมาย ผมว่าทุกๆ 10 กิโลเมตรมั้ง

กราบขอบคุณ คุณบางทราย มากๆเลยครับ สำหรับข้อมูลที่ดีมากๆ เลยครับ

  • ข้อมูลน่าสนใจมากๆ ครับ ว่าตอนนี้จีนและเวียดนามและลาว หันมาปลูกยาง ลดพื้นที่ป่า วิ่งหาธุรกิจอย่างอื่น ผมไม่อยากจะจินตนาการดูภาพถ่ายดาวเทียมตอนที่ยางผลัดใบเลยครับ
  • คงเห็นกันแต่ดินครับในพื้นที่สวนยางครับ
  • ไม่อยากจะคิดเวลาพายุวิ่งเข้าไปแล้วทำให้เกิดน้ำท่วมครับ สงสัยต้องมีองค์กรจัดการเรื่องนี้จริงจังแล้วครับผมว่า ไม่งั้นอาจจะเจอปัญหาอื่นตามมาอีกเต็มครับ
  • ผมเองไม่ค่อยจะสนับสนุนให้โค่นป่าหนาทึบเพื่อปลูกสวนยางครับล้วนๆ ครับ (แต่ปลูกสวนยางก็คงดีกว่าทำไร่เลื่อนลอยครับ)
  • จริงเราต้องแปลงรูปแบบยางดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ยางก่อนส่งออกครับ เพราะผมเชื่อว่าวันหนึ่งยางจากจีนจะออกมาตียางแถบบ้านเราอย่างแน่นอนครับ แต่จะมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ยางแทนครับ เพราะตอนนี้เค้ายังรับซื้อวัตถุดิบจากบ้านเราครับ
  • ผมพยายามมองในภาพใหญ่นะครับ มองถึงความเป็นไปของทั้งระบบครับ จริงๆแล้วโลกใบนี้เล็กนิดด้วยครับ
  • เราแบ่งกันได้ก็แค่เส้นเขตแดนครับ แต่ในทางสิ่งแวดล้อมแล้ว ไม่มีเส้นกั้นแดน ในทางสภาพดินฟ้าอากาศ ดังนั้นทุกชีวิตในโลกนี้ต้องร่วมกันรับผิดชอบและสร้างสมดุลย์ให้เกิดกับธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรในทางที่ปลอดภัยและไม่ทำร้ายระบบมากจนเกินไปครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • ตามมาอ่านแล้วค่ะคุณเม้ง   ตอนแรกงงๆว่าทำไม
  • นักคณิตศาสตร์ถึงมาเขียนเรื่องยางพารา
  • ที่พิษณุโลกลูกศิษย์และคนรู้จัก  เริ่มกู้ยืมเงินมาลงทุนทำสวนยางพารากันมากขึ้น
  • เพราะเริ่มเห็นช่องทางที่จะทำกำไร  มีการโค่นต้นไม้ใหญ่เพื่อมาทำสวนยางแทน
  • แต่ถ้าทุกคนเห่อมาทำสวนยางพารากันหมด  ค่อนข้างเป็นห่วงสภาพแวดล้อมในอนาคตเป็นอย่างมากค่ะ
  • ขอบคุณนะคะที่ให้มุมมองอีกทางหนึ่ง..
  • ขอบคุณ อ.ลูกหว้ามากครับ
  • คนที่รู้ทันและรู้ไปในทางที่ดี ก็ต้องช่วยกันนะครับ ในการยั้งๆ บางอย่างอย่าให้ขาดสติครับ ดังนั้นคนที่รู้หลายๆคนต้องช่วยๆ กันยั้งๆ ให้คนที่จะปลูกหรือทำอะไรได้ทบทวนได้คิดต่อครับ
  • เรามักจะคิดได้ตอนสายไปและคิดได้ตอนเกิดหายนะ นะครับซึ่งผมคิดว่า อย่าให้ไปถึงขั้นนั้นเลยครับ
  • ตอนนี้จะพยายามบูรณาการในสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้มาและทำวิจัยมาให้เข้ากันนะครับ ตอนนี้ผมทำได้ในระดับครอบครัวที่บ้านเพราะพูดคุยได้อยู่ตลอดและเชื่อกันในเหตุผลครับ
  • เอาข้อมูลจากที่ท่าน บางทราย หลายๆ ท่านมาผสมประกอบกัน ต่อไปราคายางจะถูกลงครับ หากไทยไม่คิดจะแปรยางธรรมชาติเป็นผลิตภัณฑ์ที่สำคัญก่อนส่งออกแทนการส่งออกเป็นยางแท่นเพื่อเป็นวัตถุดิบให้ประเทศอื่น พอจีน เวียดนามปลูกกันมา เค้าก็ไม่นำเข้าแน่ๆ จากเราครับ ส่วนประเทศอื่นที่เราจะส่งไป ก็จะมียางจีนและเวียดนามมาแข่งขัน เราก็มาติดที่การแข่งกันเรื่องคุณภาพกันต่อไปครับ
  • ขอบคุณมากครับ ที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้ข้อมูลดีๆนะครับ

 

หวัดดีครับน้องเม้ง พี่ก็เป็นคนนครฯ บ้านอยู่ หน้าขัน (ม.5 สามตำบล) แต่มาทำงานอยู่ อุบลฯเกือบ 20 ปี แล้ว  ได้อ่านบทความที่เขียน และ ข้อคิดเห็นของหลายๆ ท่านในนี้แล้วก็ดีใจครับ เพราะตรงกับใจมากๆ อีกทั้งมาอยู่อุบลฯ ก็ได้รณรงค์เรื่องการปลูกสร้างสวนยางให้เป็นป่ายางมานานพอสมควรแล้วครับ

P

สวัสดีครับพี่ประสิทธิ์

  • ขอบคุณสวรรค์ที่เมตตา (สวรรค์ของ GotoKnow) ที่นำพาให้คนบ้านเดียวมาเจอกันครับ
  • ตอนอ่านหัวข้อยางแล้ว ผมต้องรีบไปอ่านชื่อเจ้าของบทความ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าทำไมคุ้นๆ จังคนนี้ พอหันไปเห็นว่าอยู่ ม.อุบลฯ ก็ไม่ได้คิดอะไรครับ คิดว่าน่าจะคุ้นกันได้ตามธรรมดาทั่วไป
  • พอมาเจอคำตอบ อ้าวครับ คนบ้านเดียวกัน บ้านพี่กับบ้านผม อยู่ห่างกัน ไม่เกินสามกิโลเมตรนั่นเองครับ
  • บ้านผมอยู่ ต.ทุ่งโพธิ์ บ้านไผ่หนาม อยู่หลัง อบต. ทุ่งโพธิ์ หมู่ที่ 1 นะครับ (เดิมอยู่ อ.ร่อนพิบูลย์ เช่นกันครับ)
  • หากพี่กลับบ้าน ลองสังเกตดูนะครับ ว่ารู้สึกเหมือนผมหรือเปล่าครับ
  • ขอบคุณพี่มากๆ เลยนะครับ
  • ขอบคุณสวรรค์ของ GotoKnow ครับ

หวัดดีครับ น้องเม้ง

ตอนที่เห็นนามสกุลครั้งแรกก็ รู้สึกว่า คุ้นๆ เหมือนกัน เพราะมีพี่ๆ เพื่อนๆ อยู่หลายคนนามสกุลช่วยอารีย์ ครั้งแรกเข้าใจว่าคงเป็นน้องของเพื่อน (วินัย ช่วยอารีย์) หรือว่า เป็น ลูกพี่นงค์ (จำนงค์ ช่วยอารีย์) แต่ถ้าบ้านอยู่ไผ่หนาม คงไม่ใช่ เพราะว่า บ้านพวกนั้นอยู่แถวพานปูนนี่นา แต่ไม่เป็นไรครับได้รู้จักกันไว้ มาอยู่อุบลฯ ก็จับเรื่องยางมานานพอสมควรแล้วเหมือนกัน น้องเม้งอยู่ ปัตตานี คงรู้จักพี่เริญ (นาคะสรรค์) น่ะครับ พี่เริญ เป็นรุ่นพี่ ของพี่ตอนที่เรียน อยู่  ร.ก. หลังจากนั้นไม่พบกันเลย เพิ่ง มาพบกันอีกครั้งตอนปลายปี 49 เพราะว่า พี่เริญ มาช่วยดูหลักสูตรเทคโนการยางให้กับ คณะวิทย์ ม.อุบลฯ ซึ่ง พี่เป็น กรรมการร่างหลักสูตรด้วยคนหนึ่ง  ก็เลยทำให้รู้ว่า พี่เริญฯ ทำเรื่องยางอยู่ที่ ม.ปัตตานี ด้วย แต่งานที่พี่เริญฯ ทำอยู่เป็นงานปลายน้ำแล้ว (เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากยางเป็นส่วนใหญ่) ส่วนพี่อยู่ คณะเกษตร ฯ ทำไปอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าน้องเม้งสนใจจะทำเกี่ยวกับเรื่องยางของอีสาน ในอนาคต ก็ยินดีครับ

สุดท้ายก็ให้สำเร็จจบมาเร็วๆ และได้เป็น รศ.ดร. ฯ เหมือนกับพี่เริญฯ เร็วๆ น่ะครับ

พี่แดง

P

สวัสดีครับพี่แดง

  • ขอบคุณพี่มากๆ ครับ
  • จริงๆ แล้วที่พี่เค้าใจนั้นก็ถูกต้องทั้งหมด เพราะว่าต้นกำหนดของ ช่วยอารีย์ นั้นก็คือคุณปู่เขียน ช่วยอารีย์ ซึ่งเป็นคุณพ่อของอาวินัย และ อาจำนงค์ ช่วยอารีย์นะครับ
  • แต่เนื่องจากผมเป็นหลานคนโตคนแรกของ ช่วยอารีย์ นั่นคือ ผมเป็นลูกของคุณพ่อลำดวน ซึ่งเป็นลูกคนแรกของคุณปู่ ครับ และคุณพ่อได้ไปแต่งานกับคุณแม่เอียดลูกคุณย่าพุฒตาชูที่บ้านอยู่สามแยกทางเข้าวัดทุ่งโพธิ์นะครับ
  • ก็เลยย้ายไปอยู่ที่ไผ่หนามครับ เพราะว่าตระกูลช่วยอารีย์เพิ่งตั้งกันใหม่ และมาจาก ช่วยคงคง นะครับ คุณปู่คงดังแล้วแยก วงศ์ ครับ อิๆ ประมาณว่าช่วยคงคามีเยอะแล้ว เลยเปลี่ยนใหม่ครับ
  • สำหรับพี่เจริญ ก็รู้จักครับ พอดีผมมาเรียนเสียนานครับเหมือนกันครับ ครับ สำหรับเรื่องของยางนี้ มีกระบวนมากมายตั้งแต่ก่อนปลูกไปยังผลิตภัณฑ์ สิ่งที่ผมสนใจก็คือกระบวนการปลูกและการเจริญเติบโตครับ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ออกมาดีนะครับ พี่เข้าไปดูงานที่ผมทำได้ที่ www.somporn.net นะครับ ขอบคุณมากๆ นะครับ
  • แต่ผมเน้นทางคณิตศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่เอาเครื่องมือพวกนี้ไปจำลองการเจริญเติบโตนะครับผม ผมกะว่ายางและข้าว ก็เป็นสิ่งที่ต้องวิจัยกันต่อไปครับ ในเรื่องของการปลูกและให้สิ่งต่างๆ เกี่ยวกับปัจจัย อย่างถูกต้องครับ
  • ขอบคุณพี่แดงมากครับ ไว้ผมจะถามพ่อในครั้งต่อไป คิดว่าพ่อคงรู้จักพี่เช่นกันครับ

หวัดดีน้องเม้ง

ตอนนี้ก็พอจะพอจะรู้แล้วน่ะว่า ใครเป็นใครเพราะว่าครอบครัวของน้องเม้งกับครอบครัวบ้านพี่ก็คงรู้จักกันนะแหละ แต่ที่เซอร์ไพรด์กว่านั้นเพราะว่า พี่ได้แต่งงานกับญาตน้องเม้งน่ะครับ เป็นลูกของพ่อขำ แม่ ชุม ที่อยู่นาเส้ง ตอนนี้พี่เขาก็มาอยู่ที่อุบลกับพี่ เขาชื่อว่า พี่นิด สุวรรมาศน่ะ แต่หลังจากได้พี่เป็นผัวแล้วก็เปลี่ยนจาก สุวรรมาศ เป็นกาญจนา (5555) พันปรือๆ หลังจากจบแล้วมาเที่ยวอุบลได้น่ะ อ้อ อีกเรื่องนึงที่จะบอก จริงๆ แล้วตอนนี้พี่โดนอาจารย์หลวง (รศ.ดร.อรรถชัย  จินตเวช ) มาขอร้องแกมบังคับให้พี่ ทำโมเดล ของ ยางพารา แต่พี่บอกไปว่า พี่ไม่รู้เรื่อง โมเดลเลย แต่ อ.หลวง บอกว่าจะหาคนมาช่วยทำโมเดลให้ ขอให้พี่ช่วยหาข้อมูลเรื่องยางให้เป็นใช้ได้

แต่หลังจากเริ่มรู้จักน้องเม้งทางนี้แล้ว พี่รู้สึกว่า น้องเม้ง เก่งทั้ง โมเดล และเรื่องยาง พี่ก็เลยชักๆจะมีความคิดว่า ถ้าเป็นไปได้หลังจากจบจากเยอรมันแล้ว ถ้าได้น้องเม้งมาช่วยทำโมเดล แล้ว พี่ช่วยหาข้อมูลเรื่องยางน่าจะ work กว่าน่ะเพราะว่า อย่างน้อยๆ คนใต้บ้านเราถึงจะไปทาง line ไหนก็แล้วแต่ แต่ว่า ยางน่ะ มันอยู่ในสายเลือด ซึ่งตอนนี้ อ.หลวงฯ ท่านไปเป็นผู้อาวุโส ที่พิจารณาให้ทุน สกว. (บอร์ดใหญ่ สกว.) ด้วย ถ้าคนที่ถูกจีบกับคนจีบสามารถไปด้วยกันได้ ก็ น่าจะดีน่ะครับ แต่สุดท้ายก็แล้วแต่น้องเม้ง น่ะ ส่วนพี่ชักๆ จะเคลิ้มไปกับแนวคิดของ อ. หลวง ขาดแต่ว่า ไม่มีความรู้ทางด้าน Moderling ครับ

พี่แดง

P

สวัสดีครับพี่แดง

  • ห้าๆๆ ขอบคุณมากเลยครับพี่ ไว้ผมจะเล่าให้พ่อกับแม่ฟัง ได้รู้จักญาติเพิ่ม โลกนี้มันไม่มีอะไรห่างกันเลยครับ รู้จักกันได้ เจอกันได้ทุกที่ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เพียงแค่ปลายนิ้วจริงๆ ครับ
  • เคยมีความคิดว่าจะนัดเจอทำความรู้จักญาติๆซักทีครับ ใครจะมาร่วมก็ได้ ญาตินี้คือญาติร่วมโลกไปเลยครับ อิๆ ทำอาหารบ้านๆ กินกัน น้ำชุบ แกงเคยปลา หนมจีน ง่ายๆ ก็คงสนุกครับ เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการ์นะครับ
  • เรื่องการทำโมเดลยางพาราง ผมคิดว่าคงทำแน่ๆ นะครับ แต่คงต้องให้พี่ลองศึกษาและเก็บข้อมูลตั้งแต่แรกปลูกจนถึงการเจริญเติบโตจนกรีดได้เลยครับ ว่ามีการเจริญเติบโตอย่างไร และโตอย่างไรในสภาพปัจจัยต่างๆ กันอย่างไร
  • ผมได้พูดคุยกับ ท่าน อ.ดร. พูนพิภพ ที่ ม.เกษตร ตอนกลับไปเมืองไทยเมื่อต้นปีก่อนครับ ท่านอาจารย์ก็ทำเรื่องยางพาราอยู่แล้วด้วยครับ มีเครื่องมือในการตรวจวัดปัจจัยหลายๆ อย่างแต่เป็นยางต้นใหญ่แล้วครับ
  • ผมกำลังสนใจทั้งวงจรชีวิตเลยครับ เพราะผมเชื่อว่าก่อนจะกรีดได้ ระบบยางควรจะมีสุขภาพที่ดีในตอนเยาว์วัยมาก่อนครับ เหมือนคนเราใช่ไหมครับ ห้าๆๆ
  • ลองศึกษาดูนะครับ ผมว่าในเรื่องโมเดลลิ่ง ผมมีทีมอยู่เหมือนกันครับ เพียงแต่ว่าต้องพูดคุยเรื่องข้อมูลนะครับ เพราะว่าการได้มาซึ่งข้อมูลจากฟิลด์ยางจริงๆ ข้อมูลที่มีคุณภาพนี้สำคัญมากๆ เลยครับ เป็นข้อมูลเชิงปริมาณนะครับ แต่เป็นเชิงปริมาณแบบมีคุณภาพนะครับ
  • คือหากเข้าใจนิสัยของยางได้ดีแล้วมีข้อมูลที่ดี โมเดลลิ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากครับ ว่ามีตัวแปรอย่างไร จะโตอย่างไร แต่ข้อมูลต้องแน่นครับผม
  • เพราะว่าผมเป็นห่วงคุณภาพการปลูกยางในที่นาจริงๆ ที่บ้านเจอปัญหาหนักตอนนี้ครับ แทบทำนากันไม่ได้เลยครับ สามทิศทางปลูกล้อมทุ่งนาที่บ้านเสียแล้วครับ เศร้าจริงๆ ครับ คือหากไม่มีน้ำเลยต่อไปก็สงสัยต้องปลูกอะไรซักอย่างเหมือนกันครับ
  • ลองกำหนดหรือสอบถามท่านอาจารย์หลวงฯดูนะครับ ว่าต้องการผลในเรื่องนี้อย่างไร
  • ต้องการปริมาณน้ำยางมากๆ อย่างไร หรือ อย่างไร
  • อีกอย่างผมอยากให้มีแปรรูปยางที่ดีในประเทศไทย แทนจะนำยางดิบส่งออกแล้วไทยค่อยนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางจากต่างชาติอีกรอบ ไทยน่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนา สร้างเองทำเองใช้เอง ได้นะครับ
  • ขอบคุณพี่มากๆ เลยนะครับ

สวัสดีครับพี่ เป็นครั้งแรกที่ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้จากการเรียนรู้ที่ผ่านมา ไม่รู้ว่าผมรู้สึกไปเองหรือป่าว ว่าภาคเกษตรคนให้ความสนใจน้อย อาจเป็นไปได้ว่า ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินไม่จูงใจพอที่จะให้คนมาสนใจ ทั้งรุ่นลูกและรุ่นหลานเองก็ตามที และด้วยแรงส่งจากทางบ้าน ที่ไม่ต้องการให้กลับมาทำการเกษตรเหมือนบรรพบุรุษ เพราะว่าต้องทนกับความไม่แน่นอนของอากาศ และเรื่องของราคาผลผลิตที่ขึ้นอยู่กับกลไกตลาด สิ่งที่ผมพบเห็นที่ผมออกต่างจังหวัดเป็นประจำ ก็คือว่าคนที่ทำนาก็คือคนรุ่นพ่อ แล้วอายุก็มากขึ้นทุกวัน ส่วนรุ่นลูกก็มาเรียนหนังสือ ทำงานอยู่ในเมือง เพราะฉะนั้น การทำนาส่วนใหญ่ก็ยังเป็นแบบเดิม แรงงานก็หาได้ยากขึ้น ไม่ได้มีการพัฒนาการผลิต การบริหารจัดการที่มองถึงผลผลิตต่อไร่ และรูปแบบการตลาดสมัยใหม่เพื่อการคานอำนาจกับพ่อค้าคนกลาง หรือโรงสี ไม่ได้มีการนำเอาสิ่งที่เรียนรู้หรือความต้องการของตลาดในเมืองไปผลิตให้ตรงความต้องการของตลาด อย่างแนวทางเกษตรอินทรีย์ สิ่งที่ชัดเจนที่ผมกล้านำเสนอก็คือว่า(ตลาดอิสาน) การเติบโตของตลาดเครื่องจักรกลเกษตรในบ้านเราเติบโตไวมาก แล้วเท่าที่ติดตามว่าแหล่งที่มาของเงินที่มาซื้อ สินค้าพวกนี้แล้วมาจากไหน พบว่าน่าสนใจครับ ก็คือมาจาก1.คนมีที่เยอะ เอาที่เข้า ธกส.ผ่อนกับธกส.2.ลูกหลานที่ทำงานอยู่ในเมืองครับ  3.บ้างก็มาจากลูกหลานทำงานต่างประเทศ และอีกกลุ่มหนึ่งที่มาแรง 4.ก็คือกลุ่ม เขยฝรั่ง(ฝรั่งมองในแง่ของการลงทุน ให้คนในครอบครัวแฟนเพื่อหาเงินจากการรับจ้างเพือนบ้านแทนการให้เงินเพื่อรายจ่ายและการบริโภคซึ่งให้แล้วหมดไป) จริงๆแล้วรายได้จากการทำนาไม่พอครับ(สำหรับชาวนารายย่อย) สำหรับการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต นาอิสานส่วนมากเลยเป็นนารอฝน ลำบากมากครับ ไถแห้งไว้ก่อน แล้วหว่านรอฝน ฝนมาช้า ข้าวที่งอกก็ตาย มามากไปก็ท้ำท่วมตาย  ที่เหลือรอดรอเก็บเกี่ยวนาปีได้พอกินในครอบครัว ดีกว่าไปซื้อข้าวกิน ทีว่ามีข้าวเยอะก็เพราะว่าพื้นที่เพาะปลูกเยอะครับ (ได้-เสีย เฉลี่ยกันไป) แต่ดูผลผลิตต่อไร่แล้วต่ำมากครับ 

 หากมองตามสภาพการณ์นี้(โดยสมมติฐาน ว่าไม่มีการพัฒนา-ขยายระบบชลประทานและการจัดการน้ำที่ดีพอ)คาดการณ์ได้ว่าช่วงสองถึงสามปีนี้จะเป็นตลาดของเจ้าของผู้ขายปัจจัยทุน อย่างเครื่องจักร ที่ตอบสนองความต้องการของชาวนาในแง่ของความสะดวกสบาย และการขาดแคลนแรงงาน ครับ แต่ตลาดของผู้ผลิต(ชาวนา)ไม่ได้เติบโตตามครับ ผลผลิตต่อไร่ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะยังเป็นนารอฝน (+รอบการผลิตเท่าเดิม ไม่มีนาปรัง)  ราคาและการผลิตยังอิงกับตลาดmass ระดับรายได้ชาวนาไม่ได้เพิ่มขึ้นครับ แต่ที่เติบโตตามมาก็คือเรื่องของหนี้สินจากการลงทุนในเครื่องจักร ในระยะสั้นชาวนามองถึงการทำกำไรเครื่องจักรจากการรับจ้างเพื่อนบ้าน และการเพิ่มขึ้นหนึ่งหน่วยของเครืองจักรในตลาดรับจ้างหมายถึงกำไรจากการรับจ้างก็ลดลงด้วยจากตลาดแข่งขันครับ สุดท้ายไม่คุ้มที่จะรับจ้าง และรายได้ไม่เพียงพอต่อการส่งงวด คราวนี้ก็จะเป็นปัญหางูกินหางต่อไปครับ ก็ต้องจับตาดูและเอาใจช่วยต่อไปครับ หวังว่าอย่าเป็นเช่นนั้นเลย

ไม่มีรูป
365farmerlife

สวัสดีครับน้อง

  • สิ่งที่น้องบอกมานั้นคือ พ่อแม่ท่านคงต้องการให้ลูกได้ดีกว่าท่านนะครับ ซึ่งก็เป็นความหวังดีของพ่อแม่นะครับ รับเอาไว้ได้ครับท่านอยากให้เราทำงานน้อยๆ ได้เงินตอบแทนมากๆ แต่หากเรามองไปให้ลึกๆ แล้ว เงินไม่น่าจะตัวหลักในการดำเนินชีวิตเสมอไปครับ
  • หากทุกคนคิดเรื่องนี้โดยทิ้งเกษตร เกษตรกรจะตายหมดครับแล้วเราก็จะต้องนำเข้าสิ่งเหล่านี้ครับ
  • รากของประเทศไทย คือเกษตรกรรมนะครับ และเหมาะที่สุดแล้วคือเกษตรกรรมนะครับ
  • ทางอีสานเองนั้น เราต้องทำให้เกิดปราชญ์ชาวบ้าน ปราชญ์ชาวนา ไม่ทราบว่าน้องเคยดู อรหันต์ชาวนาไหมครับผ่านรายการคนค้นคน พี่ว่านี่แหล่ะ แหลม เป็นผู้หนึ่งที่พิสูจน์ให้ชาวนาเห็น เห็นไหมครับ ตู้เย็นอยู่ในบ่อปลา ไม่ใช่อยู่ที่ตลาด ข้าวทำก็ได้ผล เป็นแนวเกษตรกรรมแบบพอเพียง แบบผสมผสานครับ
  • นี่หล่ะครับ ทางที่ยั่งยืนของเกษตรกรที่แท้จริงครับ แต่ว่าแต่ละที่ต้องศึกษาครับ ว่าอะไรเหมาะกับบ้านตัวเอง ก็เดินในแนวทางนั้น ใช้สติ ปัญญาลงไปจัดการ
  • พี่มีเพื่อนคนหนึ่งตอนนี้ จบ ป ตรี แล้วไปทำงานนอกบ้านมา 14 ปี ตอนนี้กลับไปลุยงานเกษตรที่บ้าน พบความสุขที่แท้จริงไปแล้วครับ
  • พี่ว่าคนเราต้องมองอะไรให้ขาดครับ หากเราเน้นเงินอย่างเดียวก็ไม่ได้ครับ หากคนจับมือกันแล้วปลูกข้าว พ่อค้าคนกลางก็อยู่ไม่ได้ ต้องใช้ชาวนากำหนดราคาเองได้ครับ
  • รัฐเองก็ต้องมองแนวทางของประเทศให้ขาดครับ แล้ววางแผนให้การจัดการเรื่องผลิตผลทั้งประเทศ ไปได้ครับ พี่เชื่อว่าไทยต้องอยู่ได้ครับ
  • หลายๆ อย่าง ต้องฝึกมองกันครับ แล้วทำจริง ทำเท่านั้นครับ ที่จะบอกคำตอบ
  • ได้คำตอบไม่ได้ดีก็ต้องถามต่อแล้วทำต่อหาคำตอบใหม่ที่ดีกว่า โดยไม่ล้มเลิกง่ายๆ ครับ
  • ทางอีสาน หากปลูกต้นไม้ได้ ความแห้งแล้งจะไม่มาเยี่ยมนะครับผมเชื่ออย่างนั้นครับ
  • เพียงแต่จะทำนาแบบไหนนั่นต้องศึกษากันครับผม เข้าใจว่าคนต้องทำมาหากินครับ แต่สภาพต้นทุนจากทรัพยากรดินที่แตกต่างกันครับ หากดินดี น้ำดี ทุกอย่างจะไปได้สวยครับ
  • ขอเป็นกำลังใจนะครับ มาโพสต์ไว้ต่อนะครับ ยินดีแลกเปลี่ยนด้านนี้นะครับ
  • ผมเองมาเรียนต่างประเทศ แต่ไม่เคยลืมชาวนาชาวสวนนะครับ เพราะผมว่าผมเป็นหนี้คนเหล่านี้มากๆ เลยครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ

สวัสดีค่ะคุณเม้ง

เข้ามาเป็นครั้งที่สอง เพราะเมื่อวานอ่านเฉยๆ

อ่านแล้วนึกถึงทุ่งกุลาร้องไห้..เพราะตอนนี้พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพที่สุดแหล่งใหญ่ที่สุดของไทย ถูกเปลี่ยนเป็นสวนยางกับยูคาลิปตัส ( ยูคา ฯ มีผลอะไรมั้ยคะ ) ไปเกือบหนึ่งในสามได้แล้วมั้งคะ..เพราะราคาดีกว่าข้าว !

เจ็บใจที่ไม่เห็นบันทึกนี้ตั้งแต่เมื่อก่อนที่เบิร์ดจะย้ายมา ชร. ( ก่อนเดือน ธค.49 ) เพราะเบิร์ดตั้งคำถามกับคนที่จะปลูกยางในพื้นที่..แล้วได้รับคำตอบอย่างที่เบิร์ดเล่าให้ฟัง..แล้วเบิร์ดไม่มีข้อมูลมากพอก็เลยได้แค่ถามเพื่อให้หยุดคิดแต่ทำอะไรไม่ได้..

ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูล..เบิร์ดจะหาทางใช้ให้ได้สิน่า

P

สวัสดีครับคุณเบิร์ด

  • ขอบคุณมากๆ เลยครับคุณเบิร์ด
  • คุณนี่ไม่ธรรมดาเลยนะครับ
  • ทุ่งกุลา ผมได้ข่าวว่ามีการปลูกต้นยูคาลิปตัส เพื่อการดูดซับเกลือ เพราะการที่น้ำกับความเค็มของเกลือใต้ดินมันทำให้มีผลต่อนาข้าว
  • อันนี้ต้นยูคามีประโยชน์ แต่คำตอบว่าจะปลูกเท่าไหร่ถึงเหมาะโดยมีผลผลิตข้าวยังคงเดิม
  • แต่หากเป็นการเปลี่ยนไปเลยจากทุ่งนาเป็นทุ่งยูคา หรือทุ่งยาง อันนี้อันตรายครับ
  • มีนักวิชาการยางพาราที่รู้จริงมีอยู่หลายคนในทางภาคอีสานครับ
  • หากคุณเบิร์ดสงสัย ก็ถามมาได้นะครับ ผมจะลองปรึกษาคนในพื้นที่ดูได้นะครับ
  • ผมไม่อยากให้คนปลูกตามแฟชั่นนะครับ ไม่งั้นเราจะเจอปัญหาหนักครับ การปลูกยูคาบนคันนา นี่ ผมไม่แน่ใจว่าเกิดผลอย่างไรแค่ไหนครับ
  • ไว้ผมจะส่งข้อมูลเกี่ยวกับยูคา ไปให้อ่านนะครับ
  • อีกอย่าง ผมได้ถกกับท่านครูบา สุทธินันท์ อยู่ช่วงหนึ่งเรื่องยูคา นะครับ
  • ปัญหาคือ เราจะปลูกยูคาพันธุ์ไหน แล้วแค่ไหนจะดี แล้วปลูกพืชพื้นเมืองไม่ได้แล้วหรือ ถึงต้องปลูกยูคา
  • มีบางคนบอกว่า ยูคาจะคืนกลับให้กับธรรมชาติเมื่ออายุเกิน สิบปี แต่ถามว่า เค้าโค่นกันตอนไหน มันจะมีเวลาได้คืนกลับให้กับธรรมชาติได้จริงหรือ ก็เค้าโค่นกัน ก่อนถึงสิบปีนะครับ
  • เช่น สี่ปีโค่น ต่อไป แขนงก็ตัดได้ทุกๆ สามปี แล้วแต่ชนิดของพันธุ์
  • ส่วนยางพารา ก็มีพันธุ์ที่ทนน้ำ ปลูกในที่ท่วมขังได้เช่นกัน แต่ผลผลิตมันจะสู้ที่ปลูกบนโคกสูง ควน ภูเขา ได้หรือไม่ครับ
  • คำถามคือ ปลูกยูคาในทุ่งกุลาเพื่ออะไร
  • ปลูกยางในทุ่งกุลาเพื่ออะไร เหมาะสมไหม
  • ปลูกข้าวในทุ่งกุลาดีอยู่แล้วใช่ไหม ทำไมต้องปลูกยูคา หรือยาง
  • ไม่ว่าจะปลูกอะไร ท้ายที่สุดคือคนไทยต้องกินข้าว
  • ขอบคุณมากนะครับ คุณเบิร์ด ที่เป็นห่วงในเรื่องนี้นะครับ
  • แล้วที่เชียงราย ทางเหนือ เป็นอย่างไรบ้างครับ ปลูกกันขนาดไหนแล้วครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • จากข้อมูลของ ดร.แสวง ที่บอกว่า ปลูกยางในนา 11 ไร่ ได้ยาง 20 กก. นับว่าได้ผลผลิตน้อยมากๆ นะครับ หากจะเทียบกับที่ปลูกบนควน เนินเขา
  • เพราะหากปลูกที่เนินเขา ดินดีๆ 10 ไร่ ได้อย่างน้อยทำผืนก็คงประมาณ 50-70 ผืนยาง หากชั่งน้ำยาง ควรจะได้อย่างน้อย ก็ 100 kg.
  • แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ พันธุ์ยาง ความเข้มข้นของน้ำยาง พื้นที่ปลูก ที่สูงต่ำ และอื่นๆ
  • แค่เอารูปขนาดต้นยาง สองที่มาเทียบกัน วัดเส้นรอบวงก็ได้ครับ ในอายุเท่าๆ กันครับ
  • ส่วนหากพื้นที่ไม่มีน้ำเลย ก็ต้องหาทางดูว่าจะปลูกอะไร โครงสร้างดิน คุณสมบัติดิน ก็เอาดินไปหา เกษตรอำเภอได้เลยครับ
  • ว่าดินแบบนี้จะปลูกพืชอะไรดี
  • ขอบคุณมากนะครับ
สวัสดีครับคุณเม้งผมเพิ่งมาเป็นชาวสวนยาง ยังไม่ได้สังเกตอะไรมากนัก แต่จากความรู้ที่ได้อ่านนี้ ผมรู้ตัวว่า ออกจะเป็นชาวสวนยางที่รู้น้อยไปหน่อย คงจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง สวนยางในแปลงนา หรือในที่ลุ่ม แม้กระทั่งในที่ดอน แต่กลายมาเป็นที่ลุ่มเนื่องจากการทำถนน จะมีอาการแบบทีคุณเม้งเห็น คือต้นเล็ก ไม่เจริญเติบโตตามที่ควร เมื่อต้นเล็ก น้ำยางที่ให้ก็น้อยตามไปด้วย ผลตอบแทนจากการทำสวนยาง อาจจะน้อยกว่าการทำนา หลังจากที่กรีดยางได้อีก ๗ ปีข้างหน้า ซึ่งในตอนนั้น ราคาข้าวอาจจะถึงเกวียนละพันห้า เท่าที่ทราบ ตอนนี้การปลูกข้าวปลอดสารพิษ ขายได้ดีมาก ชาวนาแถวพัทลุง ขนมาขายถึงเมืองตรัง หรือชาวนาอุบล สามารถส่งข้าวไปขายถึงเมืองนอก แต่ข้าวบ้านเรา ขายที่โรงสี เกษตรกร มักจะใช้ราคาของผลผลิตในปัจจุบัน เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจที่จะผลิตอะไร แต่เมื่อเกษตรกรมีความสามารถในการวิเคราะห์เหตุการณ์ณ์ค่อนข้างต่ำ จึงมีเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจน้อยตัว ดังนั้นเมื่ออะไรมีราคาดี ก็จะหันมาปลูกพืชชนิดนั้นๆ ซึ่งก็เป็นมาแบบนี้กันมาตั้งแต่ เราเริ่มคิดปลูกเพื่อขาย วันนี้ ขอคุยแค่นี้ก่อน แต่จะขอเล่าว่าผมมาเจอ คุณเม้งในนี้ได้อย่างไร ผมไปเข้าฝึกอบรมเกษตรกรรมธรรมชาติ ที่ อ.ทุ่งสง เจอกับคุณโสทร แล้วเขาก็แนะนำให้เข้ามาในบล็อกของคุณเม้ง ก็อ่านไปหลายเรื่อง แต่พอมาเจอเรืองสวนยางพารา ก็เลยโพสต์ มาแสดงความคิดเห็นด้วย ได้บอกคุณโสทรว่า ผมจะทำบล็อกแบบนี้ด้วยและเขียนเกี่ยวกับกสิกรรมธรรมชาติ เช่น การทำและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ในการเกษตรภูณ
ไม่มีรูป
ภูณ

สวัสดีครับคุณภูณ

  • ยินดีต้อนรับนะครับผม ผมได้พูดคุยกับโสเรื่องนี้ และโสเองก็ทำในเรื่องยางและหลายๆ อย่างทางการเกษตร
  • เป็นความคิดที่ดีมากๆ เลยนะครับ ที่หันมาศึกษาการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพกันนะครับ เพราะนี่คือสิ่งที่ยั่งยืนจริงๆ แม้ว่าการดูดเข้าที่รากพืชจะดูดสิ่งเดียวกันเข้าไปนะครับ
  • หากผมจะเปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ก็คงเปรียบได้กับคนกินข้าวเข้าไปนะครับ ส่วนการใช้ปุ๋ยเคมีก็เหมือนการให้น้ำเกลือกับคนนะครับ
  • การดูดซึมเข้าสู่เส้นเลือดคือนำเข้าในแบบเดียวกัน แต่กระบวนการก่อนมาถึงจุดนั้นต่างกันครับ
  • ผมว่ากลุ่มที่คุณและหลายๆ คน เบิร์ด หรือ โส หรือ หลายๆ คนร่วมทำกัน เป็นสิ่งที่ดีงาม ทำกันไปเถิดครับ เป็นสิ่งที่ยั่งยืนครับ ทำแล้วได้ผล มาขยายต่อกันนะครับ
  • ที่ GotoKnow มาเขียนไว้ได้เลยนะครับ จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันนะครับ ที่นครก็มีหลายๆ กลุ่มทำชุมชนอินทรีย์กันแล้วครับ
  • หากทุกอย่างเรียบร้อย สร้างบล็อกเสร็จ บอกผมด้วยนะครับ จะเข้าไปเยี่ยมแลกเปลี่ยนกันต่อไปครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ
Hi! Man My hometown is near the beach so ไม่ค่อยคุ้นเคยกับการปลูกยาง แต่ที่เจาะไอร้องเป็นถิ่นยางพารา 100% มันเป็นอาชีพหลักของคนที่นี่ด้วย แต่เท่าที่สังเกตยังไม่มีชาวบ้านที่นี่ปลูกยางในนาเลย แต่มีมะพร้าวบ้าง นิดหน่อย ไม่มีข้อคิดเห็นแค่แวะมา good afternoon ค่ะพี่เม้ง..
P

สวัสดีครับน้องต้า

  • สบายดีนะครับผม
  • ขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่มารายงานความเป็นอยู่สิ่งที่เป็นมา เป็นอยู่ และเป็นไปนะครับ
  • มีความสุขในการทำงานนะครับ
  • ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญไรมาก
  • อาจจะจำไรผิดพลาดไป

       ถ้าคุณเม้งไม่ได้พิมพ์ผิดล่ะก็  คงเป็นคำที่ใช้ว่า "ไหร"  แถวบ้านที่ดิฉันอยู่ค่ะ  รู้สึกดีที่คนเก่งๆ ยังไม่ลืมบ้านเกิด ภาษาบ้านเกิด

      แต่ในละแวกแถวๆ บ้านดิฉันมันก็กำลังจะกลายเป็นสวนยางแทนทุ่งนาแล้วเหมือนกันล่ะค่ะ  ค่อนข้างลำบากเหมือนกันนะคะ  เพราะปัจจุบันเราไม่มีคนหนุ่มสาวที่จะมาทำนากันนี่คะ  แล้วคนที่ทำนาเค้าก็หาโรงสีข้าวค่อนข้างยากแล้ว (ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนมีออกหลายโรงสีในหมู่บ้านหนึ่งๆ)  คนก็เลยไม่ค่อยทำนากัน  คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ก็เข้าเมืองเพื่อไปเรียนหนังสือ  หรือหางานทำกันในเมืองใหญ่  ซึ่งเค้าต่างคิดกันว่านั่นคือหนทางที่จะทำให้เค้าได้เงินมาเลี้ยงชีพในยุคปัจจุบันดดยไม่เหนื่อยแบบหนักหนาสาหัสสากรรจ์เหมือนกับที่รุ่นพ่อเฒ่าแม่เฒ่าเค้าทำนากันน่ะค่ะ  อีกอย่างในเมื่อที่นาหลายๆ แปลงเริ่มทำสวนยางกันแล้ว  แปลงนาที่เจ้าของตั้งใจจะทำนาเลยค่อนข้างลำบากเหมือนกันในเรื่องของน้ำ  แต่ที่บ้านดิฉัน (ครอบครัว)กลับไม่มีคนที่จะทำนาเพราะเรามีภาระหน้าที่ทางราชการกันทั้งหมด  ในที่สุดจึงมีการจ้างให้คนอื่นมาทำนาในทีนาของเรา  คิดคำนวณผลกำไรแล้วไม่คุ้มเลย  เลยต้องหยุด ด้วยความจำเป็นน่ะคะ  หลายๆ ครอบครัวก็อาจมีเหตุผลเหมือนกันนี่แหละค่ะ  เลยหันไปทำสวนยางกันมากกว่า  เพราะเราสามารถจ้างคนมาทำงานในสวนยางให้เราได้  แต่ที่คุณเม้งกล่าวมาทั้งหมดนั่นก็ถูกต้องและน่าจะเป็นอย่างนั้นก็คงดี(สำหรับบางครอบครัว) นะคะ

P

สวัสดีครับคุณครูแอน

  • สบายดีไหมครับ
  • อิๆ เรื่องลืมบ้านเกิดคงไม่ลืมครับ มาเรียนอยู่นาน ก็ไม่ได้ลืมอะไรครับ เพราะวัฒนธรรมยุโรปคงไม่สามารถกลืมผมได้ เราเอาเฉพาะในส่วนที่ดีที่เราพบและประสบการณ์ ไปปรับใช้บ้านเราอย่างเข้าใจ ต้องศึกษาให้ดี จนรากเหง้าของบ้านเราไม่กระทบมาและยังอยู่ได้บนพื้นฐานของความดีความถูกต้องครับ
  • เมื่อสังคมหรือชุมชน ขาดภูมิคุ้มกัน สิ่งต่างๆ ก็หลั่งไหลเข้าไปได้ เป็นธรรมดาที่คนจะเปลี่ยนแนวทางไปปลูกในสิ่งที่เค้าต้องการ ประกอบกลับความจำเป็นพื้นฐานที่คุณเล่ามานะครับ
  • ไม่ได้ผิดอะไรหรอกครับ เพียงแต่เราต้องเข้าใจและคิดให้ครบวงจรนะครับ แล้วชุมชนสังคมจะอยู่ได้ครับ
  • ว่างๆ ถ่ายรูปต้นยางมาให้ดูบ้างนะครับ ว่าที่ปลูกในที่นาจะเป็นอย่างไรบ้างครับ
  • ขอบคุณมากนะครับ

สวัสดีครับทุกท่านที่เคารพ

         พอดีไปค้นหาเจอภาพที่ค้างเอาไว้นะครับ เป็นสวนยางและปัญหาการปลูกยางในนาพอดีเลยครับ เลยเอามาใส่เติมเต็มบทความนี้ ไม่ให้แห้งจนเกินไปครับ ท่านอาจจะพอจะคิดและมองเห็นไปด้วยนะครับ อาจจะทำให้ท่านๆ คิดกันต่อไปนะครับ ว่าจะเป็นอย่างไร

         ด้วยความเป็นห่วงชาวนาจริงๆ ครับ ขอบอกว่าให้รักษาผืนนาเอาไว้ให้ดีนะครับ หากยังปลูกข้าวได้ ก็ปลูกไปเถอะครับ ประยุกต์กับการปลูกอย่างอื่นผสมในหน้าแล้ง ........ ขอให้ทุกท่านโชคดีนะครับ

ตอนนี้กำลังลองยางอยู่ 22 ไร่

ที่ด่านมะขาม เชิงเขา

ไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย

จะแวะมาหาความรู้ ต่อไป

 

สวัสดีครับคุณสันติ

ขอให้โชคดีนะครับผม ไม่ทราบว่าอายุยางเท่าไหร่ครับ น่าจะไม่มีปัญหาครับ หากไม่ปลูกในนาและดินเหมาะสมกับยางครับ

เราทำให้ออกหัว ก็ต้องออกหัวครับ แต่ปลูกต้นไม้อย่างอื่นไว้ด้วยบ้างนะครับ หากมีที่ไม่ควรปลูกยางทั้งหมดครับ พยายามประยุกต์ให้เป็นการปลูกแบบผสมให้ได้นะครับ เพราะราคายางเองก็เอาแน่นอนไม่ได้ครับ ขึ้นๆ ลงๆ นะครับ อย่างน้อย หากราคายางถูกก็ต้องมีอย่างอื่นให้กินได้ด้วยครับผม

ขอบคุณมากนะครับ และขอให้สนุกในการเรียนรู้ยางนะครับ ปลูกกล้วยในระหว่างอกยาง จะช่วยไม่ให้ยางตายได้ในหน้าแล้งครับ เพราะกล้วยคือปราชญ์ว่าด้วยการตรึงน้ำครับ

 

 

ชาวนามาเป็นชาวสวนยาง

เป็นชาวนาเปลี่ยนมาทำสวนยางอยู่ที่อีสานเหนืออ่านที่คุณเม้งเขียนเห็นด้วยค่ะ มีคนรู้จักเป็นคนใต้ที่ทำสวนยางแต่ไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นด้วย เพราะกลัวว่าเป็นคนแถบอีสานเพิ่งมาปลูกยางความรู้อาจจะไม่แน่นเท่าไร เพราะไม่มีประสบการณ์การทำสวนยางมาก่อน แต่คนที่บ้านทำสวนยางขยายออกไปเยอะมาก มีความคิดเหมือนคุณเม้ง แม้เพิ่งจะได้มาอ่านก็ตาม เคยพูดกับคนที่จะเอาที่นามาทำสวนยาง ก็เหมือนที่คุณเม้งเขียน แต่ก็พูดอะไรเขาไม่ได้ เพราะว่าเป็นที่นาของเขา ไม่อยากให้วันหนึ่งเขาต้องมาซื้อข้าวจากชาวเวียดนามเหมือนที่คุณพูด แต่ที่บ้านดิฉันเองไม่ได้เอาที่นามาทำสวนนะค่ะ มีที่อยู่แล้วแต่ก่อนทำนาอย่างเดียวเป็นทีลุ่ม และมีที่สูงที่เอาไว้ทำไร่มันสำปะหลังเปลี่ยนมาทำเป็นสวนยาง ตอนนี้กรีดได้ 7 ปีแล้ว มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สวัสดีครับคุณ ชาวนามาเป็นชาวสวนยาง

  • ขอบคุณมากๆ นะครับ ที่แวะมาเยี่ยมและยินดีที่ได้รู้จักนะครับ
  • เรื่องปรึกษานะครับ ผมว่าถามได้ตลอดนะครับ อย่างผมคนใต้ก็ตาม แต่ไม่ได้ลงมือเองต่อเนื่องยาวนาน ทราบแต่กระบวนการคร่าวๆ และประสบการณ์แช่แข็งในอดีตเท่านั้นครับ การเรียนรู้และศึกษาด้วยตัวเองนั้นจำเป็นอย่างยิ่งครับ อีกอย่างคือ ไม่ว่าจะปลูกในทางใต้หรืออีสาน ประสบการณ์อาจจะช่วยเสริมได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะเหมือนกัน เพราะสภาพที่ต่างกัน ต้องปรับใช้อย่างเข้าใจและชาญฉลาด
  • เวลาไม่รู้จะทำอะไร หรือนึกอะไรไม่ออกให้นึกถึงสิ่งที่ทำอยู่ทบทวนและมองว่าเราทำตรงไหนมีปัญหา ตรงไหนบกพร่อง แล้วเราจะเปิดใจรับแล้วหาทางแก้อย่างมีเหตุผลและสติ
  • ผมว่าเราจะทำได้ เราไม่ทำไปแข่งกับใครครับ การปลูกข้าวในปัจจุบันของไทยเรา หลายที่ปลูกเพื่อกินเองครับ แต่คนปลูกน้อยกว่าคนซื้อกิน หากคนปลูกไม่เพียงพอแจกจ่าย ก็ต้องนำเข้า เป็นเรื่องธรรมดาเลยครับ
  • ผมดีใจนะครับ หากชาวบ้านคนพบเส้นทางของตัวเองในการเดินทางสายการเลี้ยงชีพ เพราะการเรียนรู้ในสายชีวิตนั้นไม่ต้องมีใบรับรองจากระดับสถาบันอุดมศึกษาหรืออื่นๆใดเลยครับ
  • ขอบคุณมากนะครับ เป็นห่วงชาวอีสานเสมอครับ ว่าด้วยเรื่อง ความแห้งแล้ง และน้ำท่วมครับ
ถ้าคิดในแง่การอนุรักษ์(พื้นที่นา)  การปลูกยางพาราในนาข้าวก็ไม่ควรครับ ผมเห็นด้วย  แต่ถ้าใครได้สัมผัสชีวิตชาวนาที่ต้องลงแรงทุกขั้นตอน ทุกปี และตลอดไป  เมื่อมาเทียบกับมูลค่าและผลผลิตที่ได้ในเชิงเศรษฐกิจ พบว่าการทำนา ไม่คุ้มครับ  เมื่อเทียบกับการแปลงนาให้เป็นสวนยางและทำอย่างมีความรู้  ผมยืนยันว่าการปลูกยางพาราเหนื่อยมากเพียง ๒ ปีแรก  ปีที่ ๓-๗ จะเริ่มคลี่คลายตามลำดับ  เมื่อให้ผลผลิตหลังจากปีที่ ๗ ก็สามารถมีรายได้ที่เรียกว่าไม่เหนื่อยทุกปีเหมือนการทำนา  หมายเหตุ นาที่จะเปลี่ยนเป็นสวนยางได้ควรเป็นที่นาที่ระบายน้ำได้ดี  เหมาะสำหรับที่นาระหว่างภูเขา / ที่นาต่างระดับ  เช่น ที่นาแถวภาคใต้  ผมเชื่อว่าไม่เหมาะอย่างยิ่งกับที่นาราบ เช่น พื้นที่พัทลุง หรือนาข้าวภาคกลางครับ

สวัสดีครับพี่ชนันท์

        ขอบคุณมากๆ นะครับ ใช่ครับ การปลูกหรือทำการเกษตรจำเป็นต้องศึกษาว่าต้นไม้ที่จะปลูกมีนิสัยอย่างไร และพื้นที่ที่จะปลูกควรมีสภาพอย่างไร จะปรับสองอย่างนี้ให้เข้าหากันได้อย่างไร อย่างไหนปรับได้ อย่างไหนปรับไม่ได้หรือปรับได้น้อย หากเราศึกษากันจริงๆ จังๆ เราจะไม่พบกับปัญหาเหล่านี้เลย

        การทำนานั้น ไม่คุ้มเพราะเราดันไปลงทุนมากไปครับ สูญเสียในส่วนที่ไม่ควรเสียนะครับ อ.ดร.แสวง รวยสูงเนินได้พิสูจน์ การทำนาแบบไม่ไถไม่หวาน ไม่ดำ ให้เห็น ในระดับหนึ่ง น่าจะเป็นแนวคิดให้กับชาวนาได้ครับ

        เราลงทุนกันมากในส่วนของการไถ การจ้างถอน ปักดำ เก็บเกี่ยว ฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และอื่นๆ ล้วนแต่เป็นการลงทุนทั้งสิ้น ตลอดจนชาวนาแท้ๆ หักลบแล้วไม่เหลืออะไรเลย ทำนากันก็แค่ไว้กินเอง ขาดทุนก็ทำเพราะไม่ต้องไปซื้อข้าว

        แต่พอแนวคิดหลายๆ อย่างเรื่องยางลงมา เพราะราคาดี คนกลับคิดไปในทางว่า หากยางราคาดี ทำสวนยาง ได้ราคาดี เอายางไปขายแล้วไปซื้อข้าวสาร แค่คิดกันซักครึ่งประเทศ อาการก็หนักแล้วครับ

        เราพึ่งพาและอยากโตมากเกินไปในบางครั้ง ทั้งๆที่ในอดีตพวกยาฆ่าแมลง ใครไม่ได้ต้องฉีดในนาข้าว ปัจจุบันต้องสู้กับวัชพืชในนา ใส่ยาคุมดินครับ เมล็ดพันธุ์คลุกสารเคมี กันมด กันนก และอื่นๆ สารพิษตกค้างกินเข้้าไปก็ได้สารพิษเก็บไว้ในร่างกาย ป่วยก็จ่ายค่ายาอีก ในขณะที่เราพึ่งยาต่างชาติมากกว่ายาสมุนไพรบ้านเรา และอื่นๆ

        กลไกวนเวียนเหล่านี้ครับ ที่น่าเป็นห่วง  อย่างคนปลูกยางในนา ที่น่านิยมคือว่า ยางโตดีในช่วงแรกๆ ดูแลง่ายดีครับ เพราะวัชพืชน้อยกว่าปลูกในทีู่สูงที่ควรจะอยู่ แต่ทุกอย่างก็มีข้อยกเว้น อยู่ที่สภาพต้นยาง ก็มีพันธุ์ที่ทนน้ำขัง

        อย่างกกเอง ทางออกก็คงมีหลายๆ วิธีการครับ ได้ชื่อว่าที่นาแค่เป็นนาร้างสักปีก็อาการหนักแล้วหล่ะครับ  แถวๆ บ้านผม คนก็เริ่มไ่ม่ค่อยทำนากัน ลดจำนวนลง แต่ชาวบ้านยังไม่อยากให้เป็นนาร้างเพราะทราบดีว่าไม่งั้นจะต่อในปีต่อไปจะหนัก จะมีพืชที่ไม่ต้องการได้รับเชิญให้เป็นพระเอก

        หากมีนาที่เป็นน้ำขังตลอดปี ปลูกข้าวสู้ทำนาผักบุ้งไม่ได้หรอกครับ รายได้ดีกว่าหากจะเน้นรายได้ ที่ผมเป็นห่วงหนักกว่านั้นคือ ต่อไปเจ้าของที่นาจะทำนาในฐานะที่เป็นลูกจ้างบริษัท แทนการเป็นเจ้าของที่จะลิขิตว่าตัวเองจะำทำนาหรือไม่ทำนา แต่วันหน้าอาจจะเป็นต้องทำในที่ตัวเองแต่ทำตามที่บริษัทชี้นิ้วครับให้ทำในฐานะคนใช้แรงงาน เมื่อถึงภาวะนั้น เราอาจจะมีประสบการณ์หลายๆ อย่าง

        หากองค์กรที่มีความรู้ทางการเกษตรที่เป็นองค์กรที่ควรให้ความรู้ทำให้มีศักยภาพได้ อาจจะเป็นที่พึ่งและเป็นพี่เลี้ยงให้ชาวนาได้สบายครับ อย่างปลูกอย่างในนา ผมก็ทราบว่าเกษตรอำเภอจังหวัดทั้งหลาย ก็ตระหนักและทราบกันดีครับ ว่าควรจะให้คำแนะนำอย่างไร และในสภาวะหนึ่งชาวนาเองก็ถกเถียงเรื่องเหล่านี้กันเองตลอด เพียงแต่หากไม่ทำเป็นชุดให้เค้าเห็นว่าอะไรควรจะเป็นทางไหน แ่ต่ท้ายที่สุดแล้วคือการทำด้วยตัวเองคงเป็นการรู้ที่ดีที่สุดครับ  การเปลี่ยนนายางเป็นนาข้าวในรอบต่อไป อาจจะเป็นด่านที่น่าจะสนุกอีกก็ได้ในช่วงที่ราคาข้าวแพง และราคายางตกต่ำเพราะปลูกกันมากเหลือเกินตอนนี้ อะไรราคาสูงคนอื่นเค้าก็ปลูกเป็นครับ คราวนี้ แข่งกันที่คุณภาพ อยู่ที่ว่าเราจะผลิตได้ดีแค่ไหนหากจะแข่งขันจะสู้กับใคร

           หากระบบการผลิตเราส่งวัตถุดิบออกแล้วท้ายที่สุดเรารับซื้อผลิตภัณฑ์มาขายกันเองในไทย ในราคาที่สูงกว่า ก็น่าคิดครับ มีหลายๆ ประเทศที่ร่ำรวยในการนำวัตถุดิบจากบ้านเราไปแปรรูปแล้วส่งออกไปขาย โดยที่ไม่ต้องผลิตวัตถุดิบเอง เห็นไหมครับ ว่าในที่สุดแล้วปัญญาสำคัญมากๆ เลย แต่สมองกับหัวใจนั้นต้องทำงานสัมพันธ์กันถึงจะทำให้สังคมไม่ร้อนได้ ไม่งั้นก็ร้อนกันต่อไปครับ

ขอบพระคุณมากๆ เลยนะครับ 

สวัสดีครับพี่ชนันท์

        ขอบคุณมากๆ นะครับ ใช่ครับ การปลูกหรือทำการเกษตรจำเป็นต้องศึกษาว่าต้นไม้ที่จะปลูกมีนิสัยอย่างไร และพื้นที่ที่จะปลูกควรมีสภาพอย่างไร จะปรับสองอย่างนี้ให้เข้าหากันได้อย่างไร อย่างไหนปรับได้ อย่างไหนปรับไม่ได้หรือปรับได้น้อย หากเราศึกษากันจริงๆ จังๆ เราจะไม่พบกับปัญหาเหล่านี้เลย

        การทำนานั้น ไม่คุ้มเพราะเราดันไปลงทุนมากไปครับ สูญเสียในส่วนที่ไม่ควรเสียนะครับ อ.ดร.แสวง รวยสูงเนินได้พิสูจน์ การทำนาแบบไม่ไถไม่หวาน ไม่ดำ ให้เห็น ในระดับหนึ่ง น่าจะเป็นแนวคิดให้กับชาวนาได้ครับ

        เราลงทุนกันมากในส่วนของการไถ การจ้างถอน ปักดำ เก็บเกี่ยว ฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และอื่นๆ ล้วนแต่เป็นการลงทุนทั้งสิ้น ตลอดจนชาวนาแท้ๆ หักลบแล้วไม่เหลืออะไรเลย ทำนากันก็แค่ไว้กินเอง ขาดทุนก็ทำเพราะไม่ต้องไปซื้อข้าว

        แต่พอแนวคิดหลายๆ อย่างเรื่องยางลงมา เพราะราคาดี คนกลับคิดไปในทางว่า หากยางราคาดี ทำสวนยาง ได้ราคาดี เอายางไปขายแล้วไปซื้อข้าวสาร แค่คิดกันซักครึ่งประเทศ อาการก็หนักแล้วครับ

        เราพึ่งพาและอยากโตมากเกินไปในบางครั้ง ทั้งๆที่ในอดีตพวกยาฆ่าแมลง ใครไม่ได้ต้องฉีดในนาข้าว ปัจจุบันต้องสู้กับวัชพืชในนา ใส่ยาคุมดินครับ เมล็ดพันธุ์คลุกสารเคมี กันมด กันนก และอื่นๆ สารพิษตกค้างกินเข้้าไปก็ได้สารพิษเก็บไว้ในร่างกาย ป่วยก็จ่ายค่ายาอีก ในขณะที่เราพึ่งยาต่างชาติมากกว่ายาสมุนไพรบ้านเรา และอื่นๆ

        กลไกวนเวียนเหล่านี้ครับ ที่น่าเป็นห่วง  อย่างคนปลูกยางในนา ที่น่านิยมคือว่า ยางโตดีในช่วงแรกๆ ดูแลง่ายดีครับ เพราะวัชพืชน้อยกว่าปลูกในทีู่สูงที่ควรจะอยู่ แต่ทุกอย่างก็มีข้อยกเว้น อยู่ที่สภาพต้นยาง ก็มีพันธุ์ที่ทนน้ำขัง

        อย่างกกเอง ทางออกก็คงมีหลายๆ วิธีการครับ ได้ชื่อว่าที่นาแค่เป็นนาร้างสักปีก็อาการหนักแล้วหล่ะครับ  แถวๆ บ้านผม คนก็เริ่มไ่ม่ค่อยทำนากัน ลดจำนวนลง แต่ชาวบ้านยังไม่อยากให้เป็นนาร้างเพราะทราบดีว่าไม่งั้นจะต่อในปีต่อไปจะหนัก จะมีพืชที่ไม่ต้องการได้รับเชิญให้เป็นพระเอก

        หากมีนาที่เป็นน้ำขังตลอดปี ปลูกข้าวสู้ทำนาผักบุ้งไม่ได้หรอกครับ รายได้ดีกว่าหากจะเน้นรายได้ ที่ผมเป็นห่วงหนักกว่านั้นคือ ต่อไปเจ้าของที่นาจะทำนาในฐานะที่เป็นลูกจ้างบริษัท แทนการเป็นเจ้าของที่จะลิขิตว่าตัวเองจะำทำนาหรือไม่ทำนา แต่วันหน้าอาจจะเป็นต้องทำในที่ตัวเองแต่ทำตามที่บริษัทชี้นิ้วครับให้ทำในฐานะคนใช้แรงงาน เมื่อถึงภาวะนั้น เราอาจจะมีประสบการณ์หลายๆ อย่าง

        หากองค์กรที่มีความรู้ทางการเกษตรที่เป็นองค์กรที่ควรให้ความรู้ทำให้มีศักยภาพได้ อาจจะเป็นที่พึ่งและเป็นพี่เลี้ยงให้ชาวนาได้สบายครับ อย่างปลูกอย่างในนา ผมก็ทราบว่าเกษตรอำเภอจังหวัดทั้งหลาย ก็ตระหนักและทราบกันดีครับ ว่าควรจะให้คำแนะนำอย่างไร และในสภาวะหนึ่งชาวนาเองก็ถกเถียงเรื่องเหล่านี้กันเองตลอด เพียงแต่หากไม่ทำเป็นชุดให้เค้าเห็นว่าอะไรควรจะเป็นทางไหน แ่ต่ท้ายที่สุดแล้วคือการทำด้วยตัวเองคงเป็นการรู้ที่ดีที่สุดครับ  การเปลี่ยนนายางเป็นนาข้าวในรอบต่อไป อาจจะเป็นด่านที่น่าจะสนุกอีกก็ได้ในช่วงที่ราคาข้าวแพง และราคายางตกต่ำเพราะปลูกกันมากเหลือเกินตอนนี้ อะไรราคาสูงคนอื่นเค้าก็ปลูกเป็นครับ คราวนี้ แข่งกันที่คุณภาพ อยู่ที่ว่าเราจะผลิตได้ดีแค่ไหนหากจะแข่งขันจะสู้กับใคร

           หากระบบการผลิตเราส่งวัตถุดิบออกแล้วท้ายที่สุดเรารับซื้อผลิตภัณฑ์มาขายกันเองในไทย ในราคาที่สูงกว่า ก็น่าคิดครับ มีหลายๆ ประเทศที่ร่ำรวยในการนำวัตถุดิบจากบ้านเราไปแปรรูปแล้วส่งออกไปขาย โดยที่ไม่ต้องผลิตวัตถุดิบเอง เห็นไหมครับ ว่าในที่สุดแล้วปัญญาสำคัญมากๆ เลย แต่สมองกับหัวใจนั้นต้องทำงานสัมพันธ์กันถึงจะทำให้สังคมไม่ร้อนได้ ไม่งั้นก็ร้อนกันต่อไปครับ

ขอบพระคุณมากๆ เลยนะครับ 

เข้ามาร่วมล้อมวง(เป็นห่วง)ข้าวครับ (ถ้าในวงเล็บแรกเปลี่ยนเป็นคำว่า "เปิบ" แทนก็คงจะมีความสุขยิ่งขึ้นนะครับ

ผมให้โจทย์นักเรียนไปช่วยกันคิดเป็นประจำเลยครับ

- ปลูกข้าวร่วมกับปลูกยางได้หรือไม่(คุณเม้งคงจะตอบละเอียดพอสมควร ยกเว้นมีข้อมูลทางวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ๆเพิ่มเติม)

- แล้วทำไมถึงไม่อยากปลูกข้าว (ทำแล้วเหนื่อย ลำบาก ยากจน แก้ไม่ได้สักทีเศร้าใจจริงๆเลยครับ)

- ลองคิดดูทำไมประเทศมหาอำนาจพยายามจะจดลิขสิทธิ์ข้าวหอมมะลิ

หรือบางประเทศผลิต(ตัดต่อพันธุกรรม)ข้าวเป็นยา  (เขาคงคิดอะไรที่เราอาจคาดไม่ถึง จริงๆผมเชื่อว่าหลายท่านก็คงจะทราบ)

- แล้วเรากำลังทำอะไรกันอยู่(หลงกลลวงของใครก็ไม่รู้ หรือรู้แต่ยอม หรือรู้แต่ไม่บอก หรืออื่นๆ)

- คนปลูกข้าวเป็นน้อยลง(อาจต้องสั่งซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นหรือคิดว่าอย่างไรครับ)

- พื้นที่นาถูกเปลี่ยนแปลงไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่อาจไม่เหมาะสม(ผลที่ตามมาคืออาจขาดทุนอีกรอบหรือเปล่าครับ)

แต่ยังรู้สึกใจชื้นขึ้นมาหน่อยกับข่าวพระราชสำนักเมื่อคืนวันที่ 28 มกราคม 2551 ที่สมเด็จพระเทพฯเสด็จเปิดโรงเรียนสอนควายไถนา เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการเตรียมความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาน่าจะเกือบทั้งหมดของชาวนา หวังว่าอนาคตชาวนาไทยคงอยู่ดีมีความสุข เป็นผู้มีพระคุณที่ผลิตอาหารหลักสำหรับคนไทยและประชากรโลกสืบต่อไป

 

สวัสดีครับพี่ว่าที่ ร.ต. วุฒิชัย สังข์พงษ์

        ขอบคุณมากๆ เลยครับ ดีใจจังครับที่จะมาช่วยกันมอง ช่วยกันคุ้ยผ่าตัดในเรื่องเหล่านี้ครับ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนและค้นหาแนวทางที่ดีให้เหมาะกับชาวนา และเกษตรตลอดจนสู่ผู้บริโภคในประเทศ

        พื้นที่นาจริงๆ แล้วจะเปลี่ยนเป็นสวนยางได้นะครับ ตามแต่พื้นที่ที่เปลี่ยนไป เพราะบางที่มีการขุดคูชลประทาน จนน้ำหดลงไปอยู่ในคลองหมด ฝนตกน้ำก็ไม่ค้างในนา ท้ายที่สุดแล้วหากน้ำไม่ท่วมก็ไม่มีน้ำในนา แบบนี้ก็หนักหน่อยครับ

        โครงสร้างดิน น้ำ สภาพปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในของต้นข้าวนั้นสำคัญไม่น้อยเลยครับ เราจึงต้องรู้จักนิสัยข้าว นิสัยยาง จึงจะวางไว้ให้ถูก จริงๆ แล้วธรรมชาติสร้างคำตอบไว้ให้หมดแล้ว  เราจะต้องลองกันเล่นๆ ก็ได้ เช่น มีพื้นที่จังหวัดหนึ่ง มีทั้งที่นาที่ไร่ ที่ดอน ที่ภูเขา แล้วให้นำเมล็ดยางขึ้นเฮลิคอปเตอร์ แล้วโรยเมล็ดยางพาราให้ทั่วทั้งจังหวัด โดยที่คนไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องไปเอาใจต้นยางที่ทิ้งไป แล้วปล่อยให้งอกเองตามธรรมชาติ ปล่อยให้เทวดาเลี้ยง แล้วคอยดูว่า หลังจากนั้น มีตรงไหนติดบ้างครับ ได้เป็นต้นยางบ้าง เราจะพบว่า พื้นที่ที่ยางขึ้นเป็นต้นได้ น่าจะเป็นพื้นที่คำตอบในการปลูกยางและเข้าใจว่า ตรงนั้น น่าจะเป็นคำตอบ ศึกษาดิน ศึกษาพื้นที่ได้เลยครับ ธรรมชาติจะให้คำตอบเราอย่างดีเลยครับ

        นั่นถึงเป็นที่มาของคำว่า ข้าวหอมมะลิไทย ทำไมมันต้องได้ผลที่เืมืองไทย เพราะธรรมชาติได้เลือกสรรค์แล้วว่าที่ตรงนี้หล่ะเหมาะสุด ส่วนพื้นที่อื่นก็เหมาะสำหรับพืชแบบอื่นๆ ที่เค้าทำได้ก็เพราะต้องตัดแต่ง ตกแต่งทางยีนถึงจะเอาชนะได้ แต่ไม่สามารถชนะได้ตลอดกาลนะครับ เค้าเลยออกกฏหมายในการที่จะควบคุมครอบครอง เพื่อดูดทรัพยากรเพื่อมาไว้ในครอบครอง อันนี้ เรามองออกกันทุกคนครับ หากเราไม่หลงเขาจนลืมหูลืมรากเหง้าครับ

        สำหรับเรื่องโรงเรียนสอนควายให้ทำนา ดีจังเลยครับ ผมอยากจะบอกว่า เป็นโครงการที่ดีเลย เพราะจะได้ฟื้นฟูพันธุ์ควายด้วยครับ ตอนนี้ควายเหลือน้อยมากครับ หาดูยากแล้วครับ เป็นการฟื้นฟูควายขึ้นมาให้มีในท้องทุ่ง ผมจะบอกว่าหากน้ำท่วม หรือเราไปไถนาด้วยควาย ต่อให้น้ำลึก ควายก็ว่ายข้ามไปได้ สบายๆเลยครับ แต่หากควายเหล็กเครื่องจมน้ำ ก็จอดแล้วครับ เพราะมันว่ายน้ำเองไม่ได้ครับ คนกับควายเลยอยู่แบบพึ่งพาและแบบญาติมิตรมากกว่าครับ แต่ก็อย่างว่าครับ ในสังคมทุน คนอยากมีอย่างรวยเร็วๆ อยากให้เห็นทันตาเพราะรอไม่ไหว จริงหากเราดูว่ากว่าเราจะโตได้ก็ต้องใช้เวลาหลายๆ ปียังรอกันได้เลย แต่ทำไมเรารอกันไม่ได้ในเรื่องผลผลิต จึงจำเป็นต้องเร่งกันตลอดไปก็ไม่ทราบครับ

        เร่งกันเป็นต่างๆ แต่ท้ายที่สุดเราก็จอดและดับเหมือนกันทุกๆคน

ขอให้พี่สนุกกับเด็กๆ นักเรียนนะครับผม 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ท่านที่สนใจจะซื้อที่ดินเปล่า หรือ ซื้อที่ดินปลูกเป็นสวนยางแล้ว ผมยินดีที่จะช่วยหาข้อมูลครับ ตอนนี้มีที่ดินขายหลายแปลงหลายพันไร่ สนใจติดต่อคุณ ทศพล โทร.084-929-9499

ผมได้เห็นคนทำสวนยางในนาในพื้นที่ภาคใต้มาตลอด 2 ข้างทางรถยนต์ และรถไฟเกือบตลอดภาคใต้ คิดว่าเพราะราคายาง 2-3 ปีที่ผ่านมาราคายางดี จึงไม่คิดอะไรมากทำตามกระแสนิยมมากกว่าจะคิดเรื่องอนาคต เพราะไม่มีคนคอยกล่อมเกลาอย่างน้องเม้ง ครับ บ้านพี่อยู่โคกแร่ ใกล้บ้านน้อง

สวัสดีครับพี่มนูญ

      ขอบคุณมากๆ นะครับพี่ มีโอกาสได้รู้จักกันบ้างก็ดีครับผม การลองผิดลองถูกไปบ้างก็ได้ประสบการณ์ครับ อาจจะไม่ใช่ผลเสียทั้งหมดครับ แต่บางครั้งเรากลับหรือถอยหลังไม่ได้ในบางเรื่องครับ ก็ต้องยอมรับในการตัดสินใจของเกษตรกรครับ

ขอบคุณพี่มากๆ นะครับ

ผมมีที่นาประมาน11ไร่ถ้าหากผมสามารถจัดการ การระบายน้ำใด้ที่ของผมสามารถปลูกยางใด้รือเปล่าครับ ที่เป็นดินเหนียวครับ

อยู่ที่ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ขอคำแนะนำด้วยครับ คุณเม้ง จักเป็นพระคุณอย่างสูง ปล.

สวัสดีครับคุณเริงชัย

      ขอบคุณมากๆ ครับ ที่ให้เกียรติมาร่วมพูดคุยด้วยครับ ไม่ทราบว่าที่นาที่ว่าตอนนี้ใช้ประโยชน์ด้านใดอยู่บ้างครับ ยังปลูกข้าวทำนาอยู่ไหมครับ หากยังทำนาอยู่ผมว่าน่าจะไว้ทำนาดีกว่านะครับ เพราะดินเหนียวว่าไปแล้วก็ไม่ค่อยจะเหมาะกับการปลูกยางสักเท่าไรครับ เพราะหากถามว่าปลูกยางในนาได้ไหม ตอบว่าปลูกได้ครับ แต่จะได้ผลผลิตที่ดีอย่างปลูกให้ถูกที่หรือปลูกที่ตรงตามนิสัยของยางพารา ผมคิดว่าคงแตกต่างครับ คือทำได้ กับทำได้ดี อาจจะแตกต่างกันมากครับ หากเป็นผมผมจะเอาไว้จัดทำเป็นไร่นาสวนผสมครับ พื้นที่ส่วนหนึ่งให้ยังคงไว้ทำนา อีกส่วนหนึ่งเอาไว้ปลูกพืชชนิดต่างๆ บูรณาการพืชนะครับ จะดีกว่าพืชเชิงเดี่ยวครับ การปลูกยางในนาก็มียางบางพันธุ์ครับที่ทนน้ำขังได้ครับ แต่มีน้ำขังต้นยางไม่ได้หมายความว่าเราจะได้น้ำยางเยอะๆ ไม่ใช่นะครับ มันอยู่กันคนละช่องทางครับ

อาจจะทดลองดูได้ครับ  หากเรามีที่แล้วถามว่าปลูกอะไรจะเหมาะ ทำได้ง่ายๆ โดยการปลูกหลายๆ แบบแล้วให้พืชเหล่านั้นแสดงคำตอบกับเราเองว่าชนิดใดโตได้ดีแสดงว่าเหมาะกับพืชชนิดนั้นครับ

ขอบคุณมากๆ นะครับ ขอให้สนุกกับการทำเกษตรนะครับ อาชีพที่หลายๆ คนอยากทำแต่ไม่มีโอกาสครับ

สวัสดีค่ะ

เพิ่งจะมาเห็นบล็อคนี้ ก็เป็นอะไรที่ให้ความรู้ดีนะคะ มีการพูดคุย คือตอนนี้ส่วนตัวก็กำลังสนใจเรื่องการทำสวนยางอยู่ ว่าจะลาออกจากงานประจำชีวิตพนักงานบริษัทที่ชาวเมืองเขาดำเนินชีวิตกัน แล้วกลับไปอยู่บ้านนอกถิ่นบ้านเกิดเรา พอดีเป็นคนกาญจนบุรี ตอนนี้คนแถวบ้านเขากำลังทยอยปลูกยางกันมาก ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนจากที่นามาเป็นสวนยางนะคะ เมื่อก่อนเขาทำไร่ ทำสวนกัน ที่ดินส่วนมากจะเป็นเนิน เขา เราก็เลยสนใจจะปลูกบ้างแต่ว่าไม่รู้เกี่ยวกับดิน กล้า หรือว่าการกรีดอะไรเกี่ยวกับยางเลย ยังไง คุณเม้ง ช่วยแนะนำ ได้ไหมค่ะ ว่าศึกษายังไง ที่ไหน หรือว่าหนังสือเล่มไหน กลัวว่าถ้าเพิ่งการกรมเกษตร อาจจะเป็นอะไรที่เข้าไม่ถึง รึว่าเหตุใดก็แล้วแต่ เราก็อยากที่จะศึกษาเองด้วย ... หรือมีเว็บไซด์อะไรที่ให้ความรู้เกี่ยวกับด้านนี้ไหมคะ

อืม คุณเม้ง คือปุ้ยอยากทราบว่าคุณเม้ง พอจะรู้เรื่องเกี่ยวกับสัก บ้างไหมคะ ที่บ้านเขาก็ปลูกกัน แต่ส่วนมากจะปลูกแล้วทิ้งเลย 20 ปีค่อยมาตัดกันที อยากทราบอ่ะคะว่าต้นสักนี่ การดูดิน การปลูก มันจะต่างจากต้นยางไหมคะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณเม้ง ขอบคุณสำหรับข้อมูลในเวปค่ะ คืออยากปรึกษาเกี่ยวกับการปลูกยางค่ะ คือดิฉันไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลยนะค่ะ เพราะพื้นฐานทางครอบครังจะมีความรู้ด้านการทำนา พอดีเพิ่งจะซื้อทีดินเป็นเนินเขาที่ จ.เพรชบูรณ์ อยู่ทางด้านหลังของ ภูกระดึงค่ะ(แต่ที่อยู่ในเขต เพรชบูรณ์)

ก็คิดว่าจะลองปลูกยางดูละค่ะ ช่วยกรุณาแนะนำด้วยนะค่ะว่า จะต้องใช้ ยางพันธุ์อะไรและหาชื้อได้ที่ไหน ที่จะไม่โดนหลอกอย่างต้นกล้าของรัฐเมื่อ สองสามปีที่แล้วนะค่ะ แล้วช่วยแนะนำด้วยนะค่ะว่าสมามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ไหนและฝึกอบรมได้ที่ไหนบ้าง จัดขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ถึงคุณพรพันธ์

ทที่ดินเนินเขา ดูสภาพดินด้วยนะครับ

ของผมอยู่เนินเขาเหมือนกัน ลงยางพารา 2 แปลง พันธ์ PRIM600 , PRIT251

PRIM600 พุ่มเตี้ย

PRIT251 ต้นโต สูง

น้ำยางให้ประมาณเท่ากันละครับ อย่าปลูกให้ชิดมากเกินไป ให้ห่างนั่นแหละดี

สอบถามกองทุนสวนยางดีที่สุด ส่วนพันธ์ยางเหลือให้ดีนะครับ ตา(พันธ์) ที่เขานำมาติดตานั่นแหละสำคัญ

ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูลและขอบคุณทุกท่านในเวปที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทำให้เรามีความรู้เพิ่มเติม แล้วจะแวะเข้ามาอีกค่ะ

สวัสดีค่ะคุณเม้ง เว็บบอร์ดนี้ไม่เห็คุณเม้งตอบมานานแล้ว ไม่ทราบว่าจะตอบคำถามดิฉันได้หรือเปล่า ดิฉันกำลังคิดว่าอยากปลูกยางพาราบนเขาน่ะค่ะ จะได้ผลผลิตดีหรือเปล่าคะ ตอนนี้ก็กำลังศึกษาข้อมูลไปเรื่อยๆ เลยอยากได้คำปรึกษาจากคุณเม้งค่ะ

เจริญพรโยมจุ๊บ

      ยังอ่านเมล์อยู่ตลอดนะโยม แต่อาจจะไม่ได้ตอบบ้าง มีคำถามก็ฝากทิ้งไว้ได้หรือจะส่งเมล์ผ่านระบบนี้มาก็ได้ สำหรับการทำสวนยางพาราบนเขา ก็คงขึ้นกับสภาพภูเขาด้วยนะโยมว่าภูเขาลักษณะอย่างไร แต่สำหรับพื้นดินลักษณะดิน ปลูกบนที่สูงก็คงดีกว่าในนานะโยม หากเป็นที่เนินทางลาดจากภูเขาก็อาจจะดีเห็นโยมบางท่านบอกว่าน้ำยางออกดี หากโยมจะต้องถางป่าจนราบแล้วปลูกยางอาตมาคิดว่าน่าจะทำเป็นสวนยางแบบสวนผสมก็คงดี แทนจะโค่นต้นไม้ทุกชนิดออกหมดแบบโกนหนวดแล้วค่อยปลูกใหม่ทั้งหมด โยมลองอ่านทุกๆ ความเห็นดูนะโยม อาจจะไ้ด้แนวทางอะไรหลายๆ อย่างเยอะ

ตอนนี้อาตมาก็นั่งรถผ่านทุ่งยางในนาทุกวันตอนบิณฑบาต ต้นยางก็ขึ้นเจริญดีในช่วงสามสี่ปีแรก ส่วนหลังจากนี้จะเป็นไปตามที่อาตมาเคยเขียนไว้ ค่อยจะเอามารายงานนะโยม อาตมาก็กำลังอยากจะหาสวนยางที่ปลูกในทุ่งนาตัวอย่างที่ได้รับผลผลิตดีเที่ยบเท่าการปลูกบนที่เนินอยู่เหมือนกันนะโยม เผื่อจะได้หักล้างความคิดที่อาตมาเคยเขียนไว้ข้างต้นในบทความนี้

จะปลูกอะไรก็ตามโยมควรจะศึกษาให้เข้าใจถึงนิสัยของพืชแต่ละชนิด เฉกเช่นเดียวกับการเลี้ยงสัตว์เช่นกัน

เจริญพร

มีที่ที่ปากช่องอยากปลูกยางพารา ช่วยแนะนำหน่อยค่ะ

พื้นที่อยู่เกือบถึงเนินเขาค่ะ ไม่ได้เพาะปลูกพืชอะไรหลายปีแล้ว ต้องทำอย่างไรบ้างคะ

คือเป็นลูกชาวนา และคิดที่จะเปลี่ยนพื้นนาเป็นสวนยาง  เพราะมีโครงการของสหกรณ์การเกษตรที่ส่งเสริมการปลูกยางพารา ไม่ค่อยมีข้อมูลและความรู้แต่มันน่าสนใจ แต่เห็นพ่อกับแม่ทำนามาตลอดชีวิต ทั้งลำบาก ทั้งยากจน ราคาข้าวตกต่ำ ขาดทุน ติดหนี้ เพราะทำนา ไม่มีอะไรดีเลย และยังถูกดูถูกว่าเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยไม่มีศักดิ์ศรี  อยากจะถามว่าใครเคยให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้มั้ย ซึ่งมีเยอะและกำลังจะหมดไปในอนาคต เพราะตอนนี้พื้นที่นากำลังกลายเป็นต้นอ้อย ต้นยาง และเป็นของต่างชาติ (เมียฝรั่งรวยมีเงินกว่านซื้อไปหมด)ก็ไม่มีอะไรมากอยากระบายความรู้สึก    ในฐานะที่ยังปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งประเทศ

 

สวัสดีครับคุณ

[IP: 113.53.250.75]
18 กุมภาพันธ์ 2554 23:04
#2368763
     ผมเข้าใจในความรู้สึกของคุณนะครับ และก็เห็นสภาพการเปลี่ยนแปลงของทุ่งนาที่บ้านเหมือนกันครับ จากที่นาที่บ้านเคยเป็นนากลางทุ่งรอบๆ ก็เป็นทุ่งนาหมด ตอนนี้สามทิศทางกลายเป็นสวนยางครับ แต่เราก็ยังยืนหยัดว่าที่ทำนาก็จะเอาไว้ทำนาในตราบที่ยังมีน้ำตกตามฤดูกาล และเราก็ยังมีข้าวกิน สวนยางก็มีแต่เราจะไม่ปลูกในนาเพราะต้นไม้ ต้นยางมันเดินไม่ได้ครับ หากเราปลูกลงตรงไหนมันจะประท้วงชูป้ายว่าไม่ใช่ที่ของฉันอย่ารังแกฉันเลยก็ไม่ได้ ทำได้แค่สู้หน้าต่อไปที่จะอยู่รอด หากอยู่ไม่รอดก็จะประท้วงด้วยการใบร่วงและตายในที่สุดยามน้ำขังครับ วันนี้ยางราคาดีมีต่างชาติยังรับซื้อ ในอนาคตหากยางราคาตกเราจะกินยางก็ไม่ได้ เพราะเราก็ต้องขายยาได้เงินไปซื้อข้าวแล้วกับการทำนาได้ข้าวมีข้าวกินไม่ต้องไปซื้อข้าวดีกว่าใช่ไหมครับ จงอย่าทำเกษตรเพียงแค่แปรรูปให้เป็นเงินเท่านั้น ควรจะมี ส่วนหนึ่งที่ทำเอาไว้ในยามข้าวยากหมากแพง อนาคตเราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศมากขึ้นกว่าทุกวันนี้อย่างแน่นอนเพราะการทำเกษตรของเมืองไทยเป็นเกษตรแบบแฟชั่น เกษตรแบบการตลาด เกษตรตามค่านิยม อะไรเด่นดังก็แห่กันตามไปครับ ท้ายที่สุดเราถอนตัวไม่ขึ้น หากวันหน้าราคาข้าวแพงขึ้นมาเราจะไม่เปลี่ยนทุ่งยางเป็นทุ่งนาหรือครับ แล้วจะเปลี่ยนได้ง่ายๆ ดั่งใจคิดได้หรือเปล่าครับ เพราะสภาพเปลี่ยนไปแล้ว คลองชลประทานขุดลึกเกินไปจนทำให้น้ำในนาไม่มีเหลือขังเพราะน้ำจะไหลลงคลองไปออกปลายคลองปลายน้ำหมด ท้ายที่สุดก็ออกทะเลหมดครับ การเกษตรแบบนี้หากเกษตรกรยังฟื้นฟูกระบวนการคิดไม่ทันตามแนวพระราชดำริหรือแนวเศรษฐกิจพอเพียง วันหนึ่งเราจะอยู่รอดได้เฉพาะคนที่เข้าใจธรรมชาติและอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้เท่านั้นครับ ดังนั้นจงทำต่อไปครับ ที่บ้านผมตอนนี้ก็ทำนาไว้กินเองแบ่งแจกจ่ายญาติพี่น้องที่ไม่ได้ทำนาบ้าง เมื่อได้ข้าวใหม่ก็เอาไปให้คนเฒ่าคนแก่ตามแบบขนบที่พวกเราได้ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง เพราะโลกทุกวันนี้เราบ้าเรื่องทุนกันมากจนลืมใจคน ระบบการศึกษามีแต่ตัวชี้วัดมากมายแต่ลืมดูหัวใจครู หัวใจนักเรียน หัวใจประชาชน แล้วภูมิปัญญาท้องถิ่นมันจะเหลือได้อย่างไรครับหากเราไม่เห็นคุณค่าตอนนี้และเก็บสิ่งดีงามเหล่านี้ไว้และสืบทอดต่อรุ่นน้องลูกหลานต่อไป
อุดมการณ์กินได้เสมอ อยู่ที่ว่าคนมีอุดมการณ์จะกินอะไรครับ
ขอให้โชคดีและอยู่บนฐานคิดที่คิดว่าดีและถูกต้องนะครับ ผมเชื่อว่าพลังแนวคิดดีๆ จะพัฒนาชาติได้ กระดูกสันหลังของชาติยังคงเป็นชาวบ้านเหมือนเดิมครับ เมื่อเทคโนโลยีมันเกลื่อนโลก ราคาจะตกต่ำแต่ราคาของกินกลับเหลือน้อย ตอนนั้นราคาของกินจะแพงสลับขั้วกันแล้วในที่สุดเราจะรู้สึกเสียดายโดยหวนกลับคืนมิได้ครับ ลองคิดจินตนาการตอนภัยพายุเข้ามาซิครับ คนทำนาน้อยลงเราจะบริจาคอะไรกันครับ จะต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศมาแจกกันก็ต้องทำครับ ตอนสมัยน้ำท่วมหาดใหญ่เมื่อปี 2543 มาม่าราคาห่อละร้อยใครก็ไม่ขายละครับ นั่นคือสถานการณ์ที่บอกเรา สอนเราครับ
โชคดีและมีความสุขในการทำนาครับ
ด้วยมิตรภาพครับ
ลูกชาวนา อีสานใต้ (ศรีสะเกษ)

ข้าวที่คนเรากินทุกวันนี้ราคา/กก. 12 -13 บาท นะปี 2554  เเต่ยางพารากินไม่ได้แต่ราคา/กก. 120-160 บาท ผมเองก็เป็นลูกชาวนาเหมือนกันแต่ผมเองก็คงรับไม่ได้เพราะถ้าไม่เปลี่ยนตอนนี้แล้วจะไปเปลี่ยนตอนไหน ที่ผมเปลี่ยนไปปลูกยาพาราไม่ใช่ดูถูกชาวนาเเต่ผมเองยากให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ก็เท่านั้น ผมคิดว่าคนที่จะเอาพื้นที่ไปปลูกยางเขาคงไม่มีที่ 2-5 ไร่แน่นอนเพราะถ้าลดพื้นที่ปลูกข้าวลงบ้างจะทำให้ราคาข้าวขยับราคาดีกว่าเก่า ส่วนตัวผมเองรู้ดีว่าการทำนามีต้นทุนสูง ฝนดีผลผลิตดีราคาตกตำ/ ฝนเเล้งผลผลิตตำราคาสูง แต่ผมไม่คิดเหมือนคุณ ผมมีพื้นที่นา 15 ไร่จะเปลี่ยนปลูกยางก่อนสักบวกลบดูแล้ว 20-30 ปี ก่อน ถ้าขายนำยางขายไม่ได้ราคา ผมจะรอขายต้นยาง และถ้าราคาข้าวดีก็อาจกลับมาปลูกข้าวเหมือนเดิม ต้องคิดให้ไกล อย่าคิดเเค่วันนี้ หรือ พรุ่งนี้การเกษตรจะอยู่ได้ต้องมีอุปสงค์/อุปทาน  ภาพที่คุณ ว่านั้นผมมองว่าคุณยังไม่ได้ศึกษาเท่าทีควรผมดูภาพเเล้วมันคือชีวิตมันคือโอกาศของชาวนาที่ปลูกยาง และดูสวยด้วยที่ไหนๆก็อย่างนี้และรอดูอีกสัก 2 ปี ผมเองก็เคยเห็นแบบนี้เหมือนกัน อ้ออย่าบอกผมนะว่าปลูกข้าวแต่พอกินก็ได้ไม่ต้องขายคนเราถ้ามันกินแต่ข้าวอยู่ได้ไม่เถียง แต่มันต้องมีอย่างอื่นบ้าง คือตรงๆนะ ต้องใช้ตังค์

 

ผมว่าน่าจะดีทั้งสองอย่างครับ คือว่าปลูกข้าวแต่พอกิน ปลูกยางเพื่อสร้างรายได้แบบต่อเนื่อง(เป็นเงินรายวัน) ไม่ว่างงานในหน้าแล้ง และทำรายได้เป็นกอบเป็นกำช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ด้วย ถ้าจะปลูกข้าวเพื่อขายทำกำไรล่ะก้อไม่คุ้มครับเผลอๆบางปีขาดทุน สู้เอาเงินที่มีไปซื้อข้าวเลยยังจะดีกว่าเพราะไม่เหนื่อย ทั้งลงทุนลงแรงอย่างนี้ไม่คุ้มครับ ก้มๆเงยๆปวดหลังครับ บางทีต้องเสียเงินค่านวดให้กับหมอนวดอีก(ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการทำนาในขั้นตอนการปักดำครับ เพราะถ้าไม่นวดเส้นเอ็นตึงพรุ่งนี้ก็ลงนาไม่ไหวครับ)

ทำไปเถอะครับ ดีทั้งสองอย่าง แต่ต้องได้ลองทำด้วยตนเองเพราะจะทำให้เราทราบปัญหาอย่างแท้จริง คือจะทำให้เราตั้งโจทย์ได้ถูกต้อง แต่ในแง่จิตวิทยาผมว่าปลูกยางฯอุ่นใจกว่าครับ เป็นการวางแผนระยะยาวปลูกไว้ให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานเหมือนมีธนาคารอยู่กลางทุ่ง เบิกจ่ายได้ทุกฤดูกาลสราญใจ..แฮ

ผมคนหนึ่งเป็นลูกชาวนาลำบากมากไม่คุ้มกับการลงทุนแต่ก็ยังอยากปลุกบ้างใว้แต่พอกินจะดีกว่าเดี๋ยวนี้แถวบ้านเขาทำมาค้าขายกันเยอะก็ลืมตาอ้าปากกันได้บ้างบางคน็รวยไปเลยบางคนก็พอมีพอกินดีนะครับคนรุ่นใหม่รู้จักทำมาหากินขึ้นเยอะทำนาอย่างเดียวไม่ไหวหรอกชนบทเดี๋ยวนี้ก็มีแต่ใช้เงินค่าครองชีพก็สูงเหมือนกันลำบากครับผมก็แบ่งปลูกยางพารา900ต้นเกือบได้กรีดแล้วครับปลูกที่เนินนะครับอย่าปลูกที่นาตำๆเด็ดขาดกรีดได้ดียังไงแล้วจะบอกอีกทีสู้ๆนะครับทุกคนลูกชาวนาซะอย่างสู้อยู่แล้ว

อดีตลูกซาวนา เหนือตอนล่าง กพ

ผมก็เคยเป็นลูกซาวนาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินคิตอยู่เหมือนกันว่าจะทำอะไรดีหน้านำก็ท่วมหน้าแล้งก็แล้งได้ไร่ละ40ถังเลยมีแต่หนี้เลิกทำแต่ปี36 ศึกษายางมา5ปีน่าจะเอานามาเป็นยางน่าจะดีเพราะมีรายได้ทุกวันขยันมากได้มากขยันน้อยได้น้อยหน้าจะดีกว่าครับ

ผมก็จะยกรอ่งแต่ยกสูงไม่ทำตำอย่างเขาหลอกครับเดี๋ยวนำท่วม แต่ผมมีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งครับว่าดินที่ผมขุดขึ้นมานั้นจะรัดต้นยางให้แน่นเพื่อปอ้งกันลมไม่ให้ยางโค้นได้หรือเปล่าครับ ผมยังคิตอยู่เลยว่าจะเจอปัญหานี้หรือเปล่า ถ้าใครรู้บอกด้วยครับ

อดีตลูกซาวนา เหนือตอนล่าง กพ

ผมก็เคยเป็นลูกซาวนาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินคิตอยู่เหมือนกันว่าจะทำอะไรดีหน้านำก็ท่วมหน้าแล้งก็แล้งได้ไร่ละ40ถังเลยมีแต่หนี้เลิกทำแต่ปี36 ศึกษายางมา5ปีน่าจะเอานามาเป็นยางน่าจะดีเพราะมีรายได้ทุกวันขยันมากได้มากขยันน้อยได้น้อยหน้าจะดีกว่าครับ

ผมก็จะยกรอ่งแต่ยกสูงไม่ทำตำอย่างเขาหลอกครับเดี๋ยวนำท่วม แต่ผมมีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งครับว่าดินที่ผมขุดขึ้นมานั้นจะรัดต้นยางให้แน่นเพื่อปอ้งกันลมไม่ให้ยางโค้นได้หรือเปล่าครับ ผมยังคิตอยู่เลยว่าจะเจอปัญหานี้หรือเปล่า ถ้าใครรู้บอกด้วยครับ

            พ่อค้าขายพันธ์ข้าวให้ชาวนา...พ่อค้าขายปุ๋ยให้ชาวนา...พ่อค้าขายยาปราบศัตรูพืชให้ชาวนา... พ่อค้าขายเครื่องมือการเกษตรให้ชาวนาฯ...ชาวนาขายข้าวเปลือกให้พ่อค้า ทั้งหมดพ่อค้าเป็นผู้กำหนดราคา..บางปีโชคดีเจอฝนทิ้งช่วง...บางปีเจอภัยแล้ง...บางปีเจอน้ำท่วม..แต่ไม่ว่าจะแล้งหรือจะท่วมสักเพียงใด....เมล็ดพันธุ์ก็ขึ้นราคา...ปุ๋ยก็ขึ้นราคา.... ยาก็ขึ้นราคา....ค่าแรงก็ขึ้นราคา....ค่าไถก็ขึ้นราคา...ค่ารถเกี่ยวก็ขึ้นราคา....เพราะว่าน้ำมันขึ้นราคา...แต่ข้าวเปลือกของชาวนาขึ้นราคาไม่ได้เห็นเขาว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศจะเดือดร้อนเพราะต้องซื้อข้าวกิน...ส่วนชาวนา"ก็ได้รางวัลปลอบใจว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ" ... รางวัลเกษตรกรดีเด่น...ชาวนาดีเด่น....โล่ห์รางวัลแทบไม่มีที่เก็บ...แต่ชาวนาก็ยังจนเหมือนเดิม

           ยางพารา 10 ไร่ 7 ปีกรีดได้ ขี้ยางกิโลกรัมละ 50 - 70 บาท ไร่หนึ่ง  80 ต้น   ได้ 3 กิโลกรัมต่อวัน สรุปว่า 10 ไร่ได้เงินวันละ 1,500 - 2,100 บาท (ยังไม่หักค่าใช้จ่าย ค่าแรง ค่าบำรุงรักษา ก็ยังเหลือพอ ยังไงก็พอลืมตาอ้าปากได้)

           ผมก็ทำนา กำลังมองไปที่ยางเหมือนกัน ก็ดีครับที่เตือนกัน แต่ถ้าปล่อยชาวนาไปตามยถากรรมในอุ้งมือของพวกพ่อค้าคนกลางผมว่า ต่อไปพวกเราอาจจะได้กินข้าวกิโลกรัมละ 150 บาทเท่าราคาเนื้อหมู่นะครับ....

สวัสดีค่ะคุณเม้ง

      ประหลาดใจเล็กน้อยที่บันทึกนี้เริ่มสร้างตั้งแต่ ก.พ. 2550 ผ่านมาสี่ปีกว่าแล้ว มีความเห็นแลกเปลี่ยนกันสามหน้า! ดิฉันยังเป็นสมาชิกใหม่ เข้าไปค้นไปควานหาวิธีใช้งานจากบันทึกของคุณมะปราง เจอคำแนะนำให้ลองตามมาที่นี่ ก็ค่อยๆฝ่าดง(ไม่รู้)มาเรื่อยๆ รู้สึกตื่นเต้นมาก ที่เจอบันทึกนี้ค่ะ

      แต่ว่ายังตามอ่านไม่ไหว ตาลายซะก่อน พรุ่งนี้มาแกะรอยบันทึกนี้ต่อค่ะ

ขอบคุณมากนะคะ ที่ตั้งใจกระเทาะกระปุกให้กระเทือนดวงดาว

ด้วยมิตรภาพ อาบล้นดวงใจ

ป.ล. มีภาพจากท้องน อีสานใต้มาให้ชม ปัญหาคล้ายๆกัน จะขอแปลงหัวเรื่องคุณเม้งว่า 

"ปลูกยูคา ในทุ่งนา เสียทั้งปลาและนาข้าว!!"

(ไม่แน่ใจ ภาพเฮาจะฝ่าคลื่นขึ้นมาได้รึเปล่า อิอิ)




สวัสดีลูกชาวนาทุกคน ที่มีวันนี้ได้ก็เพราะเกิดเป็นลูกชาวนา ทำนาและทำสวนยางครับ ทำนาไว้กินเหลือนิดหน่อยไว้ขายบ้าง ทำสวนยางได้เงินทุกวัน ก็ต้องฉลาดและรู้จักวางแผนกันมากขึ้น แนะนำนิดหนึ่งนาลุ่มไว้ทำนาเถอะทำดีๆได้ข้าวเยอะๆ ข้าวอนาคตราคายิ่งแพงกว่านี้อีก ทำดีๆรวยนะครับ นาดอนค่อยปลูกยางก็ทำให้ดีๆเหมือนกันนะครับ ยางดีอย่างหนึ่งได้กรีดเกือบทุกวัน ได้อยู่กับครอบครัวไม่ต้องแยกกันทำมาหากิน สวนยางเยอะได้จ้างพี่น้องบ้านนอกเราช่วยกันกรีดอีก มีความสุขครับได้อยู่กับพ่อแม่พี่น้องดีกว่าอยู่ในเมืองเยอะ เหนื่อยครับมีแต่คนเห็นแก่ตัว แต่ก่อนนะครับพ่อแม่สอนให้ขยัน อดทน สู้ และซื่อสัตย์มาก ท่านสอนแต่สิ่งดีๆ ตามประสาคนบ้านนอกนะครับ จนเดี๋ยวนี้37ขวบแล้ว ก็ไม่จนไม่รวยเท่าใหร่ครอบครัวก็มีความสุขดีครับ ภูมิใจที่เกิดเป็นลูกท่าน แต่เดี๋ยวนี้สิครับโลกเปลี่ยนไปเยอะมาก ทุกคนสอนลูกสอนหลานให้ทำแต่งานหาเงินให้ได้เยอะๆ แล้วยังไงหละ่สังคมเสือม "ทุนนิยม" ก็ยังงี้แหล่ะวัดกันที่รวยจน "รวย" คนก็นิยมชมชอบไม่สนว่าเขารวยเพราะอะไรบางคนคดโกงมา ขายยาบ้ายาเสพติดมา แย่ครับ "คนจนหรือ"เป้นคนดีแค่ไหนเขาก็ไม่ค่อยสนใจกันหรอก ก็เจอกับตัวเองนี่แหล่ะ เพื่อนบางคนเขาไปรำ่รวยมาเขาทำไม่รู้จัก ตลกนะครับ แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด จนกว่าผมอีก ก็บอกเพื่อน"คนเราไม่ได้วัดกันที่เงิน"ก็ดีนะครับเราจะได้สอนลูกสอนหลานในทางที่ดีบ้าง สอนแบบพ่อแม่เราผมว่าดีมากนะ แต่ก็ให้ตามยุกตามสมัยหน่อย "ซื่อสัตย์แต่อย่าซื่อบื้อ" เป็นคนดีแต่ต้องฉลาดอย่าให้คนชั่วหรือคนอื่นเอาเปรียบเรามากเกินไป " ลูกชาวนา ชาวสวนยาง" สู้ๆนะครับทุกคน เป็นกำลังใจให้ ปีใหม่แล้วก็ฃอให้มีความสุขกันมากๆร่ำรวยกันทุกคน และก็อย่าลืมพาลูกหลานไปทำบุญกันบ้างนะครับ เด็กๆจะได้เป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป

ปลูกในทุ่งนาก็ปลูกได้ ใส่ปุ่ยให้ดีแล้วกันลที่ยางพาราไม่โต่เพราะไม่ได้กินปุ้ยแต้ฒที่

ลองปลูกดูได้ครับ ใส่ปุ๋ยให้ดีครับ ในสภาพดินเหนียวผมอยากจะทราบเหมือนกันครับว่าจะโตดีขนาดไหนครับ จริงๆ ปลูกยางในนามีพันธุ์ที่ทนน้ำขังครับ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะได้ผลผลิตดีครับ

สภาพพื้นที่ต่างกันมากครับ กับที่ลาดเชิงเขาหรือที่ไม่ใช่ดินเหนียวอย่างดินนาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท