พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ (โลกในใจของบุญถึง ตอนที่ 9)


เราฝึกให้นักเรียนเข้าแถวมา ตั้งแต่ชั้นอนุบาลหรือชั้นประถมจนถึงชั้นมัธยมปลายเป็นเวลาร่วม 13 – 14 ปีแล้ว นักเรียนก็ยังเข้าแถวกันไม่เป็น ต้องให้ครูมาคอยคุมแถวอย่างใกล้ชิด จึงจะเข้าแถวเป็นระเบียบได้
        “อ๊อด...อ๊อด...อ๊อด...”
     
เสียงออดสัญญาณเข้าแถวดังยาว ๆ ติดต่อกัน 3 ครั้งในเวลา 8.10 น. เป็นสัญญาณที่ผมได้ยินเป็นประจำทุกเช้าจนรู้สึกชาชิน ภาพที่ปรากฏในเวลานั้นก็คือ นักเรียนแต่ละคนต่างมุ่งหน้าสู่สนามหน้าเสาธงอย่างเชื่องช้า บ้างก็หยอกล้อ เตะถีบ ตบศีรษะเพื่อน แล้วก็วิ่งไล่กันเป็นที่สนุกสนาน
     
นักเรียนกลุ่มหนึ่งที่เตะฟุตบอลอยู่กลางสนาม เมื่อได้ยินเสียงออดก็เตะลูกฟุตบอลมาที่หน้าเสาธง นักเรียนกลุ่มที่มารอเข้าแถวอยู่ก่อนแล้ว ก็แย่งกันเตะฟุตบอลอัดกันเป็นพัลวันจนกว่านักเรียนผู้ที่เบิกฟุตบอลจากโรงเรียน มาแย่งเอาฟุตบอลไปเก็บไว้ หรือครูที่คุมแถวลงมาเอาไม้เรียวไล่ตี ความวุ่นวายจึงสงบลงบ้าง แต่ก็ยังมีนักเรียนกลุ่มอื่นหยอกล้อส่งเสียงเจี๊ยวจ๊ากกันจนแสบแก้วหู แถวยังไม่มีทีท่าว่าจะเป็นรูปขบวนสักที
    
อ๊อด...อ๊อด...”
      
สัญญาณออดที่สองดังขึ้นอีกครั้งเวลา 8.15 น. ช่วยเร่งให้นักเรียนจัดแถวให้เข้าที่เข้าทางตามระดับชั้นตามห้องเรียนของตนขึ้นบ้าง ชั้นใดที่ครูประจำชั้นลงมาคุมเร็วหน่อยก็ทำให้แถวเป็นระเบียบเร็วขึ้น ชั้นใดที่ครูประจำชั้นยังมาไม่ถึงหรือไม่มาคุมแถว นักเรียนชั้นนั้นก็ยังเข้าแถวไม่เป็นระเบียบ แม้หัวหน้าชั้นจะเดินกำชับให้จัดแถว นักเรียนบางคนก็ยังไม่ยอมเชื่อฟังง่าย ๆ จนกระทั่งครูเวรหรือครูประจำชั้นอื่นต้องเอาไม้เรียวมาไล่ต้อนจึงเป็นระเบียบได้บ้าง แต่เมื่อครูเดินพ้นไปก็เริ่มระส่ำระสายอีก เหมือนจับปูใส่กระด้ง
   
สมัยนั้นโรงเรียนกำหนดให้ครูประจำชั้นทุกคนลงมาคุมแถวตอนเช้า และมีครูเวรประจำวันรับผิดชอบดูแลกำกับการเข้าแถวและดูแลความเรียบร้อยประจำวัน เท่าที่ผมเห็นอยู่ทุกวัน ก็มีครูเวรคนหนึ่งยืนอยู่หน้าประตูโรงเรียนคอยตรวจดูความเรียบร้อยในการแต่งกายของนักเรียน และคอยดักจับนักเรียนที่มาสายแล้วจดชื่อหรือลงโทษตามควรแก่กรณีที่ผมเห็นบ่อย ๆ นอกจากเฆี่ยนหรืออบรมแล้ว ก็ลงโทษโดยให้เก็บขยะหน้าโรงเรียน หรือไม่ก็ให้วิ่งรอบสนามฟุตบอล
     
ครูเวรอีกส่วนหนึ่งมีประมาณ 2 – 3 คน ก็เดินดูตามอาคารเรียน ห้องน้ำ ห้องส้วม และบริเวณรอบ ๆ โรงเรียนดูแลทั้งการทำเวรรักษาความสะอาด ดูแลไม่ให้นักเรียนหลบตามห้อง เพื่อลอกการบ้าน หรือนักเรียนที่ไม่ลงมาเข้าแถวและตรวจแม้กระทั่งในห้องน้ำที่มักมีนักเรียนบางคน หลบไปสูบบุหรี่หรือมาสายแล้วแอบปีนรั้วด้านหลังมาหลบไม่ไปเข้าแถว ครูเวรนอกนั้นก็มีหน้าที่ดูแล การเข้าแถวหน้าเสาธงบอกนำเคารพธงชาติ สวดมนต์ และอบรมนักเรียน 
         สำหรับผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งตอนนั้นไม่มีตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเหมือนปัจจุบัน มีเพียงอาจารย์ใหญ่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ หรือครูใหญ่ในโรงเรียนขนาดกลาง และขนาดเล็กเท่านั้น อาจารย์ใหญ่ของผมชื่อ
อาจารย์ถนัด นาน ๆ ครั้งท่านจึงลงมาดูแลการเข้าแถวและอบรมหน้าเสาธง ส่วนใหญ่ก็มีแต่ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ผลัดกันมาทำหน้าที่แทน พวกเราต่างกลัวอาจารย์ใหญ่กันทุกคน ความจริงท่านก็ไม่ได้ดุและไม่เคยถือไม้เรียว แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเราจึงกลัว อาจเกรงในตำแหน่งและบารมีก็ได้
       
ไม้เรียวเป็นอาวุธคู่กายสำหรับครูเวรและครูประจำชั้นในตอนนั้น น้อยคนนักที่ไม่ถือไม้เรียว ครูบางคนออกจะใจดี ไม่เคยตีนักเรียน แต่ก็ยังถือไม้เรียว อาจถือเพื่อข่มขวัญหรือเสริมบารมี หรือถือเพราะเอาอย่างครูคนอื่นก็ไม่ทราบได้
      เสียงไม้เรียวที่กระทบก้นนักเรียนเป็นเสียงที่ผมได้ยินเป็นประจำ ทำให้รู้สึกเจ็บและหวาดเสียวแทนคนถูกตีไปด้วยเรียกว่าเป็นวิธีการตัดไม้ข่มนามได้ชะงัดทีเดียว
       ไม้เรียวที่ครูใช้เป็นไม้ขนาดเล็กกว่านิ้วก้อยของผู้ใหญ่เล็กน้อย โรงเรียนให้ภารโรงเหลาเก็บไว้ที่ห้องพักครู แต่ละห้องมีจำนวนเป็นโหลเชียวละ เวลาครูเรียกไปพบที่ห้องพักครู ผมเหลือบไปเห็นไม้เรียวที่วางไว้เป็นตับเหมือนคลังพระแสงครั้งใด รู้สึกเสียวสันหลังทุกครั้งไป
        
การลงโทษที่พิสดารของครูบางคนยังมีให้เห็นบ่อย ๆ ในสมัยนั้น แต่ก็ไม่เห็นมีใครหัวหมอ บิดพลิ้วไม่ยอมให้ครูลงโทษหรือก็ไม่เห็นมีผู้ปกครองคนใดฟ้องร้องเอาผิดกับครูเหมือนสมัยปัจจุบัน เมื่อผมมาเป็นครูจึงได้อ่านระเบียบเรื่องการลงโทษนักเรียนตามหนังสือกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 20754/2501 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2501 ซึ่งประกาศตั้งแต่ก่อนผมเป็นนักเรียนเสียอีกระบุไว้ชัดเจนว่า
      
..ครูควรลงโทษนักเรียนให้เป็นไปตามหลักและวิธีการที่ประกอบด้วยเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง โดยมุ่งหวังที่จะให้เป็นการอบรมสั่งสอน ไม่ใช่ลงโทษด้วยความพยาบาท อาฆาต หรือมีอารมณ์โกรธ หรือลงโทษด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ตบหน้า ขว้างปา หรือให้เขกโต๊ะจนมือเลือดออก เป็นต้น ถ้าครูยังละเมิดในการลงโทษนักเรียนตามแนวที่แนะนำข้างต้น จะถือว่าเป็นกรณีต้องสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัย เพื่อไล่ออก ปลดออกหรือให้ออกจากราชการ ...”
         
ผมไม่แน่ใจว่า ครูของผมได้อ่านระเบียบนี้หรือไม่ แต่อาจเป็นเพราะสมัยนั้นนักเรียนต่างมีความเคารพยำเกรงครูเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และยอมรับว่าการลงโทษของครูเป็นการอบรมสั่งสอนที่เปี่ยมด้วยความปรารถนาดีต่อศิษย์ จึงไม่มีเรื่องมีราวเกิดขึ้น
        ในตอนหลังก็มีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการอีกฉบับหนึ่งว่าด้วยการลงโทษนักเรียน หรือนักศึกษา พ.ศ.2515 ตอนผมออกมาเป็นครูแล้ว มีความตอนหนึ่งว่า
       
...การเฆี่ยน ให้เฆี่ยนด้วยไม่เรียวเหลากลมเกลาผิวเรียบเส้นผ่าศูนย์กลาง ไม่เกิน 0.7 เซนติเมตร ที่บริเวณก้นหรือขาอ่อนท่อนบนด้านหลังซึ่งมีเครื่องแต่งกายรองรับ กำหนดเฆี่ยนไม่เกิน 6 ที โดยให้หัวหน้าสถานศึกษาหรือครูอาจารย์ที่หัวหน้าสถานศึกษามอบหมายเป็นผู้เฆี่ยน การเฆี่ยนต้องกระทำในที่ไม่เปิดเผย และในลักษณะเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนให้เข็ดหลาบไม่ประพฤติชั่ว และกลับตัวเป็นคนดีต่อไป ...”
      
ด้วยระเบียบนี้เองทำให้ครูที่เคยชินกับการลงโทษแบบเดิม ต้องถูกนักเรียนและผู้ปกครองที่หัวหมอร้องเรียนจนต้องถูกสอบสวนไปหลายราย ผมเองเมื่อมาเป็นครูก็ยังไม่เคยใช้ไม้เรียวสักครั้ง ผมก็เห็นเด็กที่ผมสอนมีความเคารพเชื่อฟังผม โดยไม่มีปัญหาอะไร และเกิดบรรยากาศการเรียนการสอนที่ดีเสียอีก
       
ผมก็เลยไม่แน่ใจนักว่าระหว่างการปกครองด้วยไม้เรียวและไม่ใช้ไม้เรียววิธีไหนจะดีกว่ากัน แต่ที่รู้ ๆ ก็คือ ไม่ว่าสมัยผมเป็นนักเรียนหรือสมัยผมเป็นครู ถ้าไม่มีครูควบคุมอย่างใกล้ชิด นักเรียนก็ยังเข้าแถวไม่เป็นระเบียบเหมือนเดิม
        ผมคิดเสมอว่า
การเข้าแถวตอนเช้าหน้าเสาธงเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ครูและนักเรียนต่างมาร่วมกันแสดงความเคารพต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ด้วยสำนึกแห่งความเป็นคนไทย ด้วยจิตใจที่เป็นสมาธิแน่วแน่และร่วมกันประกอบพิธีกรรมด้วยความตั้งใจ ครูทุกคนก็ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการประกอบพิธีกรรม โดยไม่ต้องถือไม้เรียว นักเรียนก็จะดูครูเป็นแบบอย่าง และกระทำตามจนเป็นนิสัย เกิดเป็นวินัยในตนเองโดยไม่ต้องสอน
     
และเมื่อจบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว บรรยากาศยามเช้าที่สดชื่นเช่นนี้ ควรจะพูดจากันด้วยภาษาดอกไม้ที่ระรื่นหู พูดจากันแต่ในสิ่งที่ดีงามเพื่อให้เป็นมงคลก่อนเริ่มการเรียนการสอนประจำวัน ฉะนั้นการอบรมหน้าเสาธงตอนเช้าจึงเป็นสิ่งที่น่าจะทบทวนว่าเหมาะสมหรือไม่ หากเราจะใช้เวลาดังกล่าวเป็นเพียงการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรตินักเรียนที่กระทำความดี หรือมีผลงานดีเด่นแล้วมอบรางวัลกัน สร้างเสริมกำลังใจกัน โดยใช้เวลาไม่มากนัก แล้วจึงแยกแถวเข้าห้องเรียนเพื่อพบครูประจำชั้นหรือครูที่ปรึกษาที่จะให้คำแนะนำหรืออบรมกันในที่รโหฐานเฉพาะห้องของตนเองก่อนเรียนตามตารางสอนก็น่าจะเป็นการเหมาะสมมากกว่า
         
ภาพที่ครูถือไม้เรียวไล่ตีนักเรียนขณะกำลังเข้าแถวหรือแม้ขณะร้องเพลงชาติหรือสวดมนต์ ตลอดจนการอบรมนักเรียนหลังเคารพธงชาติ ของผู้บริหารโรงเรียนหรือครูเวร โดยใช้คำพูดที่รุนแรงผ่านเครื่องกระจายเสียงให้พ่อแม่ผู้ปกครอง นักเรียนทางบ้านได้ยินได้ฟังเป็นประจำทุกเช้า เป็นเวลาร่วมครึ่งชั่วโมง จนนักเรียนบางคนถึงกับเป็นลมล้มพับต้องหามส่งห้องพยาบาล โดยที่ผู้อบรมก็ยังไม่ยอมหยุดคำผรุสวาทเป็นภาพที่ผมได้เห็นได้ฟังมาหลายสิบปีแล้ว และโรงเรียนอีกหลายแห่งก็ยังรักษาเอกลักษณ์เหล่านี้ไว้อย่างเหนียวแน่นดูแล้วน่าสังเวชใจยิ่ง
      
เมื่อผมเห็นครูยืนถือไม้เรียวคุมเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าแถวครั้งใดผมก็ยิ่งมั่นใจถึงความล้มเหลวในการสร้างเสริมประชาธิปไตย และความล้มเหลวในการปลูกฝังวินัยให้แก่นักเรียนมากขึ้น เพราะสิ่งนี้เป็นเครื่องชี้วัดได้เป็นอย่างดีว่าเราฝึกให้นักเรียนเข้าแถวมา ตั้งแต่ชั้นอนุบาลหรือชั้นประถมจนถึงชั้นมัธยมปลายเป็นเวลาร่วม 13 – 14 ปีแล้ว นักเรียนก็ยังเข้าแถวกันไม่เป็น ต้องให้ครูมาคอยคุมแถวอย่างใกล้ชิด จึงจะเข้าแถวเป็นระเบียบได้
       
..อย่างนี้นี่เล่า เราจึงถูกค่อนขอดจากชาวต่างชาติว่า...
   
ประเทศไทยนี้อะไร ๆ ก็ดีไปหมด เสียอย่างเดียวที่มีคนไทยอยู่” น่าเจ็บกระดองใจไหมล่ะ...

 

 

หมายเลขบันทึก: 80463เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2007 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ถ้าหน้าเสาธงเป็นการชี้แจงและเล่าเรื่องดีๆ
  • น่าจะดีกว่านี้ครับ
  • อาจารย์ ทำไมข้อความมันซ้ำกันครับ
  • สงสัย copy มาสองครั้งนะครับ
  • ขอบคุณครับ
   ขอบคุณน้องขจิต  แม้จะมีงานมาก  ทั้งเรียน  ทั้งทำงานช่วยสังคม  ทั้งบันทึกบล็อกมิได้ขาด  ยังมาเยี่ยมบล็อกพี่มิได้ขาด  และยังช่วยชี้แนะจุดบกพร่องให้ด้วย  ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วครับ

สวัสดีค่ะครูธเนศ

         แหมนึกถึงตอนเด็ก ๆ เลยค่ะ  เพราะเคยหลบคุณครูไม่เข้าแถวเหมือนกัน  ก็เข้าใจว่าที่ครูถือไม้เรียว ก็เพื่อขู่ให้เด็กเกรงกลัว แต่การที่ผรุสวาทคำไม่ดีออกมาทางไมโครโฟน เป็นสิ่งที่แย่สุดที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม  แต่ควบคุมยากค่ะ  มือถือไมค์ปากก็สั่งโดยไม่ได้คิดว่าเสียงจะไปถึงไหน  อายเขาค่ะ 

        

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท