คนพิการกว่า 5 ล้านยังคงถูกลืม (คัดมา)


มี พ.ร.บ.พื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 เป็นเครื่องมือดูแลคุ้มครองสิทธิคนพิการมากว่า 10 ปี แต่สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม การปฏิบัติต่อคนพิการ การจัดรัฐสวัสดิการสำหรับคนพิการไทย ยังไม่ตรงตามเป้าหมาย คนส่วนใหญ่มองผู้พิการแบบน่าสงสาร หรือคนรับการสงเคราะห์ แทนที่จะมองผู้พิการมีคุณค่าสามารถร่วมพัฒนาสังคมเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ

     คนพิการบ้านเรายังถูกทอดทิ้งอีกกว่า 5 ล้านคน “ศ.นพ.สุชัย” เผย คนพิการไทย ทะลุ 6 ล้านคน แต่กว่า 5 ล้าน ยังถูกลืม หลายชีวิตไม่มีแม้ชื่อในทะเบียนบ้าน ไร้บัตรประชาชน โอกาสจบประถมแค่ 23% “สสส.” เปิดตัวแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ ทุ่ม 109 ล้าน เน้นคนพิการมีคุณค่า ไม่ใช่รอรับสงเคราะห์

     ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ระบุว่า คนพิการจะมีจำนวน 10% ของประชากรทั้งประเทศ โดยในประเทศไทยประมาณการว่า มีผู้พิการมากกว่า 6 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลการจดทะเบียนคนพิการ ณ วันที่ 31 ส.ค. 2548 มีผู้พิการจดทะเบียนเพียง 403,719 คนเท่านั้น โดยในจำนวนนี้มี 22,808 คน หรือ 5.6% ยังเป็นบุคคลที่ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก แต่ได้รับการอนุโลมให้จดทะเบียนได้ ซึ่งการไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก หรือไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่มีบัตรประชาชน ย่อมเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานทุกๆ ด้านของคนพิการได้ ข้อมูลยังบ่งชี้ว่าคนพิการจำนวนมากกว่า 5 ล้านคน หรือ 90% ที่อยู่นอกระบบทางการ ไม่ได้การรับคุ้มครองแม้กระทั่งสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้พิการควรได้รับ

     ประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวอีกว่า แม้ประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.พื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 เป็นเครื่องมือดูแลคุ้มครองสิทธิคนพิการมากว่า 10 ปี แต่สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม การปฏิบัติต่อคนพิการ การจัดรัฐสวัสดิการสำหรับคนพิการไทย ยังไม่ตรงตามเป้าหมาย คนส่วนใหญ่มองผู้พิการแบบน่าสงสาร หรือคนรับการสงเคราะห์ แทนที่จะมองผู้พิการมีคุณค่าสามารถร่วมพัฒนาสังคมเช่นเดียวกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะปัจจุบันคนพิการยังขาดระบบให้หลักประกันความมั่นคงในชีวิต มีความเสี่ยงที่จะถูกกีดกัน หรือถูกคัดออกจากสังคม ขาดโอกาสที่จะมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศชาติด้วยศักยภาพที่พวกเขามี กระทั่งด้านการศึกษาที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แม้จะระบุสิทธิด้านการศึกษาสำหรับคนพิการอย่างชัดเจน แต่ขาดรูปธรรมการที่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2545 ชี้ชัดว่า คนพิการที่มีโอกาสได้รับการศึกษาจนจบประถมศึกษาขึ้นไปมีเพียง 23%

     “ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า สังคมไทย ยังขาดทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับคนพิการและความพิการอย่างถึงแก่นจริงๆ สังคมไม่รับรู้ และไม่เข้าใจชีวิตจิตใจของคนพิการอย่างถ่องแท้ มุ่งแต่สงเคราะห์แทนที่จะให้โอกาส ดังนั้น สสส. จึงได้จัดทำแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทยขึ้น เพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงทัศนะและการปฏิบัติต่อคนพิการในมุมของ ‘ความเป็นภาระ’ ไปสู่ ‘ความเป็นพลังอีกส่วนหนึ่งของสังคม’ ” ศ.นพ.สุชัย กล่าว

     ด้าน ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม รองประธานคนที่สองคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย ของ สสส. เริ่มดำเนินการระยะที่ 1 มาตั้งแต่ปี 2546 จากการสรุปบทเรียนพบว่า ที่ผ่านมา กว่าสิบปี สังคมไทยยังไม่เข้าใจ “ความพิการ” และ “คนพิการ” มากนัก จึงมุ่งเพียงสงเคราะห์แต่ขาดรูปธรรมของการให้โอกาส สสส. จึงจะดำเนินแผนงานในระยะที่ 2 ต่อไป ตั้งแต่ปี 2548-2551 ภายใต้งบประมาณ 109 ล้านบาท โดยในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดตัวแผนงานอย่างเป็นทางการ ที่จะเน้นการทำงานเชิงรุก กระตุ้นสังคมให้เห็นคุณค่าและให้โอกาสศึกษา โอกาสทำงาน โอกาสทำประโยชน์ เน้นการมีส่วนร่วมของคนพิการมากที่สุด ให้เต็มศักยภาพที่คนพิการจะทำได้

     ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนพิการยังมีอีกหลายด้าน อาทิ การสำรวจในปี 2544 เรื่องโอกาสการทำงาน พบว่า คนพิการที่อายุมากกว่า 15 ปี มีเพียง 30% ที่ได้ทำงาน โดยในจำนวนนี้ 48% มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 2,500 บาท และ 35% มีรายได้ระหว่าง 2,500-5,000 บาท เท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้วคนพิการเหล่านี้ มีศักยภาพที่จะทำงาน เป็นประโยชน์กับสังคมได้มากกว่านี้ โดยคนพิการควรได้รับการดูแล และโอกาสเท่าเทียมกับผู้อื่น ซึ่งสังคมควรจะตระหนักร่วมกัน เพราะโครงสร้างประชากร และสิ่งแวดล้อม ล้วนชี้นำว่า “คนพิการ” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรและการทำงาน ความชราภาพ โรคภัยไข้เจ็บ และความพิการแต่กำเนิด ตัวอย่างชัดเจน คือ คนพิการได้เข้ามาร่วมรณรงค์เมาไม่ขับ และเป็นวิทยากรเรื่องนี้อยู่ในเวทีทั่วประเทศ “ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนสามารถเปิดประตูให้โอกาสแก่คนพิการ ตัวอย่างง่ายๆ อยากเชิญชวนบรรดาห้างร้านว่าจ้างผู้พิการให้ทำงานตำแหน่งที่ร่างกายเขามิได้เป็นอุปสรรค ตลอดจนปรับปรุงทางเดิน ลิฟต์ ห้องน้ำ เครื่องหมายบอกทางสำหรับผู้พิการให้สะดวกขึ้นด้วย” ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าว

     พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย กล่าวว่า การทำงานแผนส่งเสริมสุขภาพคนพิการ จะเน้นไปที่การสร้างความศรัทธาเชื่อมั่นในศักยภาพและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของทุกคน เปิดมุมมองในสังคมให้เห็นคุณค่าเหล่านั้นด้วย อันจะนำไปสู่การเอื้อเฟื้อ และการให้โอกาสที่เท่าเทียมกัน เพื่อให้คนพิการลุกขึ้นสู้ชีวิต เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด และดำรงชีวิตในสังคมเช่นเดียวกับคนทั่วไป และ “ความเป็นภาระ” ก็จะกลายเป็น “ทุนทางสังคม” แต่กระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดได้ ต้องมีเครือข่ายผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่เข้มแข็ง มีคนพิการเป็นแกนหลัก ซึ่งกล่าวได้ว่าเขา คือ ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “ความพิการ” และควรเป็นผู้นำการเรียนรู้เพื่อสร้างภาคีพันธมิตรกับกลุ่มอื่นๆ

     “สังคมต้องมีการแสดงภาพสะท้อนการอยู่ร่วมในสังคมของคนพิการอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เช่น การมีภาพคนพิการร่วมในงานประเพณีเทศกาลสงกรานต์ การทำบุญวันเข้าพรรษา การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การไปทำงาน เรียนหนังสือ เล่นกีฬา เป็นต้น เมื่อโลกความเป็นจริงของคนพิการและคนทั่วไปเชื่อมต่อถึงกันได้แล้ว สังคมมีความเข้าใจกันมากขึ้น ก็จะสามารถร่วมกันจัดการโครงสร้างทางสังคมและระบบรัฐสวัสดิการ ให้สนองตอบต่อปัญหาความจำเป็นของผู้คนได้อย่างถ้วนทั่วได้” พญ.วัชรา กล่าว

     ที่มา: จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2548 อ้างถึงจาก สสส. หัวข้อข่าวคนพิการกว่า 5 ล้านยังคงถูกลืม

     link ข้อมูลเรื่องคนพิการจาก สสส.

หมายเลขบันทึก: 8045เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2005 02:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เขาชัยสน จะบูรณาการ งาน อสม.,ผู้พิการ และผู้สูงอายุ มารวมกัน น่าสนใจไหม  
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท