BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

การฝึกสมาธิโดยย่อ


สมาธิ

อ้างถึงคำขอของอาจารย์ลุงใน ความจริงแห่งชีวิต  จะบอกวิธีหัดฝึกสมาธิโดยย่อ..

สมาธิ แปลว่าความตั้งมั่นแห่งใจ วิธีการฝึกย่อๆ ก็จะนำเสนอสัก ๓ วิธี

๑. การภาวนาพุทโธ

ให้หาที่นั่งเรียบสบาย จะนั่งแบบใช้ขาขวาทับซ้ายหรือซ้ายทับขวาก็ได้ เอามือวางไว้บนตักตามสบาย หายใจเข้าก็นึกว่า พุท ..หายใจออกก็นึกว่า โธ ....พุท-โธ ๆ ๆ ๆ....(การนึกทำนองนี้ เรียกตามศัพท์ว่า บริกรรม) ทำไปเรื่อยๆ ตามสบายไม่ต้องเกร็งหรือหวังผลอะไรนัก...

พอทำไปสักพัก ใจก็จะเผลอไปคิดเรื่องอื่น ก็รวบรวมความนึกคิดเข้ามาสู่การนึกว่า พุท-โธ ๆ ๆ อีก...ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เริ่มต้นก็ให้ได้สัก ๒๐ นาที ...ถ้าใช้นาฬิกาตั้งเวลาก็จะเป็นการดี...

พอเริ่มชำนาญขึ้น ใจก็จะเผลอน้อยลง... ก็ค่อยๆ เพิ่มเวลาขึ้นไป...

๒. การภาวนายุบหนอพองหนอ

วิธีการก็เหมือนข้างต้น เพียงแต่เปลี่ยนการนึกหรือบริกรรมจากคำว่า พุท-โธ มาเป็น หายใจออกก็นึกว่า ยุบหนอ..หายใจเข้าก็นึกว่า พองหนอ...ยุบหนอพองหนอ ....ไปเรื่อยๆ

๓. การนับลม

วิธีนี้มีอยู่ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค วิธีการเบื้องต้นก็เหมือนดังข้อแรก เพียงแต่เมื่อหายใจเข้าก็นับ ๑ หายใจออกก็นับ ๒... นับไปถึง ๕ ก็เริ่มต้นนับ ๑ อีกครั้ง แล้วก็นับไปให้ถึง ๖....แล้วก็เพิ่มขึ้นให้ถึง ๗...๘...๙...๑๐... เมื่อถึง ๑๐ แล้วก็ให้เริ่มใหม่ โดยนับถึง ๕ อีกครั้ง จนถึง ๑๐ อีกครั้ง...

... ๑ ๒ ๓ ๔ ๕

... ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖

... ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗

... ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘

... ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙

... ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐

... แล้วก็เริ่มใหม่อีกครั้ง

ทั้งสามวิธีนี้ ให้กำหนดอารมณ์ไปที่สุดใดจุดหนึ่ง เช่น ที่ปลายจมูก ในท้อง หรือหน้าอก ตามสะดวก ... 

สำคัญที่สุด...

เมื่อเริ่มหัด ก็ให้หาหนังสือการฝึกสมาธิมาอ่านประกอบด้วย ซึ่งมีหลายอาจารย์ ควรเลือกอ่านหลายๆ เล่มแล้วก็ประมาลเข้าเพื่อความเหมาะสมของเรา โดยเน้นให้ดูเรื่อง วิปัสสนูปกิเลส ซึ่งเป็นกิเลสหรือความเศร้าหมองของจิตด้วยสำคัญหมายว่ามีความรู้แจ้ง หรือบรรลุ แล้วก็ค่อยๆ ตรวจสอบอารมณ์ตัวเองไปเรื่อยๆ..

....

 อนึ่ง ดังเคยบอกไว้หลายครั้งแล้วว่า สมาธิเป็นสิ่งกลางๆ อาจเป็น มิจฉา (คือ ผิด) หรือ สัมมา (คือ ถูก) ก็ได้ ...ในส่วนที่เป็นสัมมาหรือถูกก็คือ เมื่อจิตใจเริ่มเป็นสมาธิแล้วให้พิจารณาว่า..

สิ่งต่างๆ นั้น เป็นเพียงสิ่งที่เกิดจากอะไรหลายๆ ผสมผสานกันขึ้นมาเท่านั้น...นี้คือ สังขาร ...ซึ่งมีความเหมือนกัน ๓ ประการ คือ

๑ สิ่งต่างๆ นั้น มีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา (อนิจจัง)

๒ สิ่งต่างๆ นั้น ไม่สามารถดำรงอยู่ในสภาพเดิมได้ (ทุกขัง)

๓. สิ่งต่างๆ นั้น ฝืนความปรารถา ไม่สามารถบังคับได้ ไร้เจ้าของ เป็นไปตามสภาพของเหตุปัจจัยต่างๆ ตามที่จะเกื้อหนุนหรือบั่นทอนในสถานการณ์นั้นๆ (อนัตตา)

....

ถ้าเปลี่ยนจากการนั่งมาเป็นการยืนบ้าง ก็สามารถทำได้ ...และถ้าเปลี่ยนจากการยืนมาเป็นการเดินก็ได้เช่นเดียวกัน โดยเปลี่ยนจากลมหายในมาเป็นการกำหนดการเดินช้าๆ แทน ก็ได้เช่นเดียวกัน 

ส่วนการที่จะประสบความสำเร็จคือพัฒนาได้เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีของแต่ละคน ไม่แน่นอน

คำสำคัญ (Tags): #สมาธิ
หมายเลขบันทึก: 80439เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2007 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • จะลองให้พี่ๆที่อ้วนๆฝึกอันนี้นะครับหลวงพี่
  • พองหนอ...ยุบหนอพองหนอ ฮ่าๆๆๆ
  • ดูที่นี่หน่อยครับ
  •  สอบถาม BM.chaiwut

นมัสการคะ

ดิฉันก็เป็นบุคคลหนึ่งนะคะที่เรียนรู้ธรรมะ และจะไป ทำบุตรที่วัดตลอดถ้าได้อยู่บ้าน และล่าสุดได้ไปบวชชีพรามณ์มา ก็ทำให้จิตใจสงบขึ้น และสิ่งนี้ละคะทำให้ดิฉันไม่คิดอะไรที่ฟุ้งซ่าน แต่ในบางครั้งก็รู้สึกเครียดกับปัญหาต่างๆ แต่ก็จะพยายามทำจิตให้สงบมากที่สุด และค่อยๆแก้ปัญหาความเครียดให้ได้

สุดท้าย อยากทราบนะคะว่าทำไงจิตถึงอยู่กับเราไม่คิดอะไรเรื่อยเปลื่อย

อาจารย์ขจิต

tag ตอบไปเรียบร้อยแล้ว ลองไปหาอ่านดูซิ จ้า

เจริญพร

P

คุณ jib ต้องไปทำบุญ นะ (ไป ทำบุตรที่วัดตลอดถ้าได้อยู่บ้าน) ในวงเล็บใช้ไม่ได้ (............)

จิต หมายถึง ธรรมชาติที่ให้สำเร็จความคิด ซึ่งปรกติจะต้องคิดอยู่ตลอดเวลา

การฝึกจิต ก็คือ การฝึกให้ความคิดอยู่ในอำนาจ สามารถกำหนดให้คิดในสิ่งที่ต้องการได้...แต่ พื้นฐานของจิตแต่ละคนก็แตกต่างกัน เช่น บางคนอาจช้าๆ เนือยๆ บางคนอาจฉับพลัน บางคนอาจไวต่อสิ่งชั่ว ช้าต่อสิ่งดี หรือบางคนก็อาจไวต่อสิ่งดี ช้าต่อสิ่งชั่ว..เป็นต้น

ต้องใช้ปัญญาเป็นตัวกำหนดละสิ่งที่ไม่พึงคิด กำหนดให้คิดเฉพาะสิ่งที่ต้องการ ถ้าฝึกได้ ก็จะเป็นการเพิ่มพลังให้แก่เราซึ่งเรียกว่า บารมี ก็ได้

เจริญพร  

  • นมัสการพระอาจารย์ครับ
  • ตอนนี้เรียนเครียด ๆ พยายามนั่งนะครับ กะว่าสักพักก่อนนอนแต่นักสมาธินี่จะว่าง่ายก็ง่ายยากก็ยากครับ ผมทำไม่ค่อยได้สักทีใจมันเตลิดเปิดเปิงไปตลอด สงสัยวาสนาด้านนี้ยังไม่เยอะ ต้องฝึกบ่อย ๆ ครับ
P

คำสอนทางพุทธศาสนามีเรื่อง พละ แปลว่า กำลัง ซึ่งจำแนกออกเป็น ๕ ประการ คือ

๑ ความเชื่อ (ศรัทธา)

๒ ความขยัน (วิริยะ)

๓ ความระลึกได้ (สติ)

๔ ความตั้งมั่นของใจ (สมาธิ)

๕ ความรู้เชิงเหตุผล (ปัญญา)

อธิบายว่า ๑และ๕ ต้องสมดุล ถ้า ๑ มากเกินไปก็งมงาย ถ้า๕ มากเกินไปก็จะหัวแข็ง...

๒ กับ ๔ ก็จะต้องสมดุล เพราะถ้า๒ มากเกินไปก็จะฟุ้งซ่าน หรือถ้า๔ มากเกินไปก็จะง่วง...

๓ ยิ่งมากยิ่งดี จะเป็นตัวตรวจสอบทำให้ ๑/๕ และ ๒/๔ เท่ากัน...

ความเครียดจากการเรียนนั้น เกิดเพราะ ๒ มากเกินไป และ ไม่ได้ใช้ ๓ เป็นตัวตรวจสอบให้เกิดความสมดุล...

ดังนั้นๆ การที่เรารู้สึกเครียดๆ แล้วไปนั่งสมาธิ นั่นเป็นการเพิ่มความเครียด เพราะใช้ความขยันไปฝืนจิตให้เกิดสมาธิ...ประมาณนี้

ความเห็นส่วนตัว โดยพิจารณาจากประสบการณ์ตัวเอง ครับ..

อนึ่ง คนที่ความขยันสูง ใจตั้งมั่นสูง เค้าจะไม่ค่อยเครียด (สังเกตตัวเองในบางครั้งก็ได้) เพราะ ความระลึกรู้ในขณะนั้นสูงนั่นเอง

เจริญพร 

  • ขอบพระคุณพระอาจารย์ครับ เพิ่มทราบเรื่องพละและกำลังจากพระอาจารย์ครับ
  • ขอบพระคุณพระอาจารย์คะ กับคำชี้แนวทางของการฝึกจิตแล้วจะนำไปปฏิบัติดูคะ
55555....ขำน้อง
P จัง...มาเจอพระอาจารย์ละเอียดและชอบขัดคอของกระผมเข้า...ซึมเลย....อิอิ
นี่ยังดีนะครับน้อง...ถ้าเป็นผมหนักกว่านี้ครับ...ชะรอยจะคิดว่าวัดนั้นเป็นวัดเณรแอเข้าให้....5555
พระอาจารย์ครับ...แล้วฝึกสมาธิอย่างยากละครับ...ทำไงได้ม่างงงง...55555
วันนี้เศร้านะพี่หลวง เมื่อกี้ส่งเมลล์หาพี่หลวงเสร็จว่าจะไปทำสมาธิสักหน่อย เปิดมาเจอเรื่องนี้ของพี่หลวงพอดี เลยไม่รู้ว่าตกลงจะนั่งหรือไม่นั่งสมาธิดี ฮ่าๆ ๆ

เรียนถามพระอาจารย์ครับ

จากการวิธีการฝึกสมาธิที่อาจารย์แนะนำมา ผมอยากทราบวิธีการทำสมาธิข้อ ๒. การภาวนายุบหนอพองหนอ ครับ

ผมขอเดาเอาว่าการภาวนายุบหนอ-พองหนูที่พระอาจารย์แนะนะมานั้นใช้ในแนว สมถกรรมฐาน แต่ที่ผมเคยฝึกมาบ้าง(ไม่กี่วัน)ในแนววิปัสสนากรรมฐานเขาก็ใช้ชื่อวิธีการเดียวกัน แต่ผมคิดว่าคงปฏิบัติต่างกัน เลยอยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายให้กระจ่างหน่อยครับ เพื่อว่าคนที่อ่านจะได้กระจ่างชัดครับ เพราะผมเข้าใจว่าสายยุบหนอ-พองหนอนี้มาจากพม่าครับ

P
P
P
P
ไม่มีรูป

 

เพิ่งลงมาจากภูเขา...

เรื่องการฝึกสมาธิ ตำราในเมืองไทยมีมากมาย และค้นหาในเน็ตก็มีเยอะ สำนักก็มีมากมาย ... ผู้สนใจลองพิจารณาตามความเหมาะสม ...เรื่องราวที่เสนอไปก็เป็นเพียงย่อๆ เท่านั้น

เรื่องยุบหนอฯ นี้ ...สมัยก่อนทางวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ เคยส่งท่านอาจารย์เจ้าคุณโชดกฯ ไปเรียนที่พม่า และมีอาจารย์จากพม่าบางรูปมาสอนในเมืองไทย อาจอ้างหลักฐานจากเส้นทางนี้ก็ได้ ... อาตมาไม่รู้รายละเอียดเพราะไม่ค่อยติดตามประเด็นเหล่านี้...

เจริญพรทุกท่าน

ขอบคุณครับพระอาจารย์ที่ตอบคำถามกระผม

แนวที่ผมได้ฝึกมาบ้างก็จากแนวที่เจ้าคุณชาดกฯ ไปรับมาจากพม่านี่แหละครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท