ชมรมผู้สูงอายุ ร่วมสร้างเสริมสุขภาพช่องปากที่ เขต 5 โคราช (7) ... ชมรมผู้สูงอายุ ที่ลำปลายมาศ


ผมศึกษารูปแบบของพุทไธสง ก็สังเกตว่า วัดเป็นศูนย์กลาง แต่วัดที่ผมเข้าไป (ที่ลำปลายมาศ) ไม่ได้เป็นศูนย์กลาง ตอนแรกก็ลังเลว่า จะเริ่มตรงไหนดี เพราะว่า ผู้สูงอายุของผมเป็นลักษณะชุมชนเมือง เขาไม่เข้าวัด เขาจะอยู่กันที่บ้าน ... เราคงต้องตามไปที่บ้าน

 

ที่ รพ.ลำปลายมาศ อยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ค่ะ

คุณหมอเริงสิทธิ์ มาพร้อมคุณวนิดา พยาบาลฝ่ายส่งเสริมฯ ที่ทำหน้าที่ดูแลชมรมผู้สูงอายุอยู่

คุณหมอมาเล่าถึงที่มาที่ไปของ การยกมือรับทำกิจกรรม ผู้สูงอายุที่ชุมชนของลำปลายมาศค่ะ ... เพราะว่าแรกเริ่มเดิมทีที่บุรีรัมย์ มีการทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็ที่ พุทไธสง ตามบันทึกนี้ ชมรมผู้สูงอายุ ร่วมสร้างเสริมสุขภาพช่องปากที่ เขต 5 โคราช (6) ... ชมรมผู้สูงอายุ ที่พุทไธสง จ.บุรีรัมย์

คุณหมอเห็นรูปแบบของพุทไธสง และประโคนชัยก็อยากทำมั่ง พอพี่อ๋อย (อยู่ที่ สสจ.บุรีรัมย์) เสนอมา ผมก็ยกมือทันที แต่ผมก็ไร้รูปแบบเหมือนกันครับ

ผมศึกษารูปแบบของพุทไธสง ก็สังเกตว่า วัดเป็นศูนย์กลาง แต่วัดที่ผมเข้าไป (ที่ลำปลายมาศ) ไม่ได้เป็นศูนย์กลาง ตอนแรกก็ลังเลว่า จะเริ่มตรงไหนดี เพราะว่า ผู้สูงอายุของผมเป็นลักษณะชุมชนเมือง เขาไม่เข้าวัด เขาจะอยู่กันที่บ้าน ... เราคงต้องตามไปที่บ้าน

ก่อนอื่น ผมก็เข้าไปหาฝ่ายส่งเสริมฯ เพราะว่าสนิทกัน ถามว่า “พี่ครับ ผมจะทำยังไงดี ไปรับโครงการเขามาด้วย” ก็ปรากฏว่า ฝ่ายส่งเสริมก็จะรณรงค์เรื่อง โรคหลอดเลือด ผมก็เลยบอกว่า ผมก็เอาด้วย เราจะได้ไปพร้อมกัน ... นี่คือที่มา

และขอบอกจุดเด่นของ รพ.ลำปลายมาศ คือ ผอ. สนับสนุนทุกเรื่องที่เป็นงานทันตฯ และกำลังใจ จากเมื่อวันที่ 30 พย.49 มีเอกสารปึกหนึ่งไปวางอยู่ที่โต๊ะผม เขียนว่า ฝากเอกสารผู้สูงอายุให้หมอเริงสิทธิ์ รพ.ลำปลายมาศ ... จาก ศูนย์ฯ เขต … ผมก็คิดว่า ถอยไม่ได้แล้ว

ผมก็ไปเอาเอกสารผู้สูงอายุ และเอกสารทั้งหลายแหล่ขึ้นมาดู มาเขียนหลักการและเหตุผล แปะโน่นนิด นี่หน่อย ก็เป็นงานของเราขึ้นมาครับ แต่ทุกอย่างจะมากองกันอยู่ที่ หมู่ 4 ตำบลลำปลายมาศนี่ละครับ เป็น

“โครงการส่งเสริมทันตสุขภาพผู้สูงอายุ หมู่ที่ 4 บ้านผักกาดหญ้า ต.ลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ปี 2550”

ผมเริ่มจาก ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 (พ.ศ.2543-2544) พบภาวะโรคฟันผุที่ผู้สูงอายุเป็นร้อยละ 95.6 ฟันผุรากฟันร้อยละ 19.9 โรคฟันผุไม่ได้รับการรักษาร้อยละ 56 สูญเสียฟันร้อยละ 92.7 และสูญเสียฟันทั้งปากร้อยละ 8.2 ... ผมก็สงสัยว่า หมู่ 4 ของผมเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ผมก็ไปหาผู้ใหญ่บ้าน ท่านก็ให้เอกสารผมมา 1 ชุด บอกว่า ทะเบียนผู้สูงอายุอยู่ในเล่มนี้ ให้ผมไปศึกษา มีผู้สูงอายุทั้งหมด 60 ปีขึ้นไป 100 คนพอดี จาก ปชช. ทั้งหมด 92 คน คิดเป็นร้อยละ 10.3 (ตรงกับระดับประเทศด้วยครับ)

และการดำเนินงานทันตสาธารณสุข ปี 2550 กำหนดตัวชี้วัดกลุ่มผู้สูงอายุ ของจังหวัดไว้ว่า ผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันเทียมร้อยละ 80 มีฟันแท้หรือฟันเทียมที่ใช้เคี้ยวอาหารได้ร้อยละ 80 และชมรมผู้สูงอายุมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากอย่างน้อย 1 รูปแบบ

ผมก็เอา 2 อันนี้มารวมกัน และเขียนเป็นหลักการและเหตุผลของโครงการที่ลำปลายมาศ

ได้วัตถุประสงค์ของโครงการว่า

  1. เป็นการพัฒนารูปแบบการให้บริการเชิงรุกแก่ผู้สูงอายุของงานทันตกรรม ... เพราะที่ผ่านๆ มางานทันตกรรมนั่งอยู่แต่ในฝ่าย พอ สสจ. ให้งานมา ผมก็ทำตามที่ให้มา และถามฉุกละหุกก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็ไปถามฝ่ายส่งเสริมฯ แต่งานนี้ รู้สึกว่าเป็นงานแรกที่ผมได้ออกไปข้างนอก
  2. เพื่อให้ผลการดำเนินงานทันตสาธารณสุขได้ผลงานตามตัวชี้วัดปี 2550
  3. เพื่อจัดลำดับการให้บริการแก่ผู้สูงอายุตามความจำเป็นเร่งด่วน โดยใช้แบบสัมภาษณ์ OIDP ... โดยเอาแบบสำรวจฟันเทียมพระราชทาน ออกสำรวจผู้สูงอายุในหมู่บ้าน 100 คน รวมเรื่องโรคประจำตัวของผู้สูงอายุด้วย

ผู้รับผิดชอบโครงการ จะเป็น คปสอ. เพราะเขาดูแลเกี่ยวกับโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ และข้อมูลมา co กันในเรื่องสิทธิของผู้สูงอายุตามบัตรต่างๆ เพื่อเปิดช่องทางให้เขาเข้าถึงเราได้มากขึ้น

เป้าหมาย ผู้สูงอายุ หมู่ 4 บ้านผักกาดหญ้า ตำบลลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 100 คน

ระยะเวลาดำเนินการ 1 มกราคม 2550 - 31 ตุลาคม 2550
กิจกรรมโครงการ

  1. ขั้นเตรียม
    - ประชุมชี้แจงตัวชี้วัดการดำเนินงานทันตสาธารณสุข ปี 2550 กับ คปสอ. เพื่อให้รับรู้ว่าเป็นงานของทุกคน
    - จัดทำโครงการเสนอผู้บังคับบัญชา
  2. ขั้นดำเนินการ
    - จัดประชุมชี้แจงงานส่งเสริมทันตสุขภาพ ตรวจสุขภาพช่องปาก ตอบแบบสัมภาษณ์ OIDP ดำเนินการจัดตั้งชมรมผู้สูงวัยไม่กินหวาน เพราะว่าผู้สูงอายุต้องทำกิจกรรม 1 อย่าง เลือกไม่กินหวาน เพราะทางส่งเสริมสุขภาพก็จะทำการรณรงค์ในเรื่อง โรคหลอดเลือด ผมก็ทำไปพร้อมๆ กับฝ่ายส่งเสริมฯ และทำประชาคมทันตกรรมผู้สูงอายุ ว่าเขาต้องการอะไรกันแน่
    - สรุปผลการประชุม ผลการตรวจสุขภาพช่องปาก ผลการตอบแบบสัมภาษณ์ OIDP ผลการทำประชาคม และสรุปผลการจัดตั้งชมรมผู้สูงวัยไม่กินหวาน
    - ติดตามการดำเนินงานของชมรมทุกเดือน
    - ติดตามการมารับบริการของผู้สูงอายุเทียบกับตัวชี้วัดทุกเดือน
  3. ขั้นสรุปผลการดำเนินงาน
    - สรุปผลการดำเนินงานเทียบกับวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ในแต่ละเดือน
    - สรุปปัญหาอุปสรรคที่พบและสรุปแนวทางการแก้ไข ในระดับตัวเอง และที่เกี่ยวข้อง

งบประมาณ ... ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • งานทันตกรรมมีการพัฒนารูปแบบการให้บริการเชิงรุกแก่ผู้สูงอายุ
  • ผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันเทียม 80 คน
  • ผู้สูงอายุมีฟันแท้หรือฟันเทียมที่ใช้เคี้ยวอาหารได้ 80 คน
  • ผู้สูงอายุมีการดำเนินงานชมรมผู้สูงวัยไม่กินหวานอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้สูงอายุมีความพึงพอใจที่เข้าถึงบริการและมีคิวเข้ารับบริการตามความจำเป็นเร่งด่วน

... โครงการที่ลำปลายมาศนี้ เป็นโครงการน้องใหม่ของจังหวัดค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 80435เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2007 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีครับทำงานเริ่มแรกก็เป็น เก้ๆ.กังๆ.แบบนี้และ อีกสักระยะนึง ก็คงจะเข้ารูปเข้ารอย

  • ใช่เลยค่ะ คณสุจินต์ เภสัชชา ... ตอนนี้ เขาก้าวไปไกลมากเลย พัฒนาไปอีกเยอะเลยละค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท