โลกาภิวัตน์ : ไอทีพอเพียง


คุณบริโภคไอทีอย่างพอเพียงหรือไม่
ไอทีพอเพียง เป็นอย่างไร  อาจจะไม่มีใครคิดเรื่องนี้มากนัก  ผมก็เลยจะเสนอแนวทางให้ผู้อ่านพิจารณาช่วยคิด ช่วยแนะนำเสริมด้วย

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสถึง เศรษฐกิจพอเพียง   โดยทรงยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า ถ้าไม่มีเศรษฐกิจพอเพียง เวลาไฟดับจะพังหมด จะทำอย่างไร ที่ที่ต้องใช้ไฟฟ้าก็ต้องแย่ไป หากมีเศรษฐกิจพอเพียงแบบไม่เต็มที่ ถ้าเรามีเครื่องปั่นไฟ ก็ใช้ปั่นไฟ หรือถ้าโบราณกว่ามืดก็จุดเทียน คือมีทางที่จะแก้ไขปัญหาเสมอ          จากตรงนี้เอง ถ้ามองไปยังยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน องค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทางธุรกิจ ทุกประเภท ใช้ไอทีกันมากจริง ๆ ถ้าหากขาดซึ่งคอมพิวเตอร์และระบบไอทีที่สนับสนุนรองรับ หลายคนคิดว่า ธุรกิจน่าจะแข่งขันกันได้ลำบาก เพราะขาดเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพไป          ในหน่วยงานรัฐทุกแห่งทุกกระทรวง ทบวงกรม ก็ใช้ไอทีมากปีหนึ่งก็ 6-7 พันล้านบาท ที่เข้าสู่ระบบงบประมาณให้พิจารณาตรวจสอบได้ อีกส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ถ้าหากขาดซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ไอทีก็ยอมรับว่า ให้บริการประชาชนได้ลำบากเพราะไม่ทัน แต่ถ้าหากใช้งบประมาณฟุ่มเฟือยมาก ความคุ้มค่าก็ไม่เกิด          เรื่องนี้ทำให้ได้หลักคิดอยู่ 2 ประการคือ ประการแรก หลักการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า และประการที่สองคือ หลักการสามารถมีเทคโนโลยีด้วยตนเองภายในประเทศไทยเราเอง ทั้งสองหลักการนี้เกื้อหนุนกัน และเราจะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน          ประการแรก คือ การใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า ตั้งแต่เริ่มตั้งงบประมาณ เพื่อจัดซื้อจัดจ้าง หลังจากติดตั้งระบบแล้ว ก็คือใช้งานให้คุ้มค่าในทุกประการ ประยุกต์การใช้งานสำหรับให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ก็ยอมรับว่าประเทศเรา ซอฟต์แวร์ไม่ได้เขียนเองส่วนใหญ่ ฮาร์ดแวร์ทำเองก็ไม่เป็น ต้องพึ่งที่ปรึกษาชาวต่างประเทศก็มาก แต่เริ่มต้นจากระบบงบประมาณที่ตั้งขึ้น ถ้าหากใช้วิธีการตรวจสอบการประยุกต์ใช้งานแต่ละโครงการให้ละเอียดและคำนึงการใช้งานเรื่องต่าง ๆ อย่างจริงจัง แล้วลอง Mapping กับซอฟต์แวร์ที่ต้องใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ต้อง 100% ก็ได้ สักเกิน 80% ก็ถือว่าดีมาก ฮาร์ดแวร์ที่ได้มาก็จะลดไปตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่รองรับก็ไม่จำเป็นต้องออกแบบให้มีความเร็วในการส่งเกินความเป็นจริง ต้องวัดอยู่เสมอซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการออกแบบระบบที่ดีมากกว่าเพราะถนนส่งข้อมูลยิ่งดียิ่งแพงมาก          ทั้งหมดนี้หากจะเปรียบเทียบก็เหมือนว่า ถ้าหากงานที่ใช้สำหรับถนนลูกรังในชนบท ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อรถเบนซ์ เอาปิกอัพนี่แหละทั้งเหมาะสมกับการใช้งานและถูกกว่าเยอะ เรื่องนี้ฝากไปยังทุกกระทรวงทบวงกรมด้วย          หลักการที่สอง หลักการสามารถมีเทคโนโลยีของเราเองภายในประเทศโดยเฉพาะเรื่องไอที อย่าคิดว่าอุตสาหกรรมไทยยังทำเองเรื่องฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์และระบบเครือข่ายไม่ได้เลย จึงคิดซื้อจากต่างประเทศ 100% โดยร่ำไป ผมคิดว่าเราริเริ่มได้หลายเรื่อง ประกอบคอมพิวเตอร์ภายในประเทศก็มีอยู่แล้ว ส่งเสริมได้ยกเว้นเรื่อง Microprocessor Chip ก็สามารถริเริ่มวิจัยและผลิตบางอย่างได้ ซอฟต์แวร์เราส่งเสริมให้เขียนเองในประเทศไทยได้เช่นกัน ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์สวิตช์มีคนไทยนักพัฒนาเรื่องนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาหลายคนดึงมาช่วยประเทศไทยได้ แต่ต้องได้รับการสนับสนุนเรื่องการส่งเสริมการลงทุน ภาษี และการตลาดให้อยู่ได้ ผมมั่นใจว่า ถ้าได้รับการส่งเสริมที่ดีช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เช่นเดียวกับประเทศจีนขณะนี้ ผมว่าเราก็สามารถมีเทคโนโลยีของเราเองในอนาคตได้ แต่ต้องเริ่มต้นเดี๋ยวนี้                ในฐานะที่ผมมาจากระบบราชการ  ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง  และต้องใช้ซอฟต์แวร์ด้านสาธารณสุข (Health care Software) มากเป็นอย่างยิ่ง  เนื่องจากแนวโน้มการป่วยไข้ของประชาชนทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และทั้งโลกเริ่มมีมาก  กิจการสาธารณสุขจะต้องมีบริการผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น  การใช้ไอทีเพื่อทำให้บริการสะดวกรวดเร็วจำเป็นมากขึ้น ในประเทศไทยก็ไม่ต่างกันมาก หลายโรงพยาบาลต้องมีการปรับตัวใช้ไอทีมากขึ้น  ถ้าหากขาดซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ไอทีก็ยอมรับว่า ให้บริการประชาชนได้ลำบากเพราะไม่ทัน รวมทั้งระบบรายงานที่ต้องส่งให้หน่วยราชการระดับสูงก็ล่าช้า และสร้างความเหนื่อยหน่ายและความเครียดให้กับผู้ปฏิบัติงาน ไอทีจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าหากใช้งบประมาณในการจัดซื้อกันอย่างฟุ่มเฟือยมาก และใช้ไม่ถูกวัตถุประสงค์หลักของงาน  ความคุ้มค่าก็ไม่เกิด  และเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายทางด้านไฟฟ้าแก่หน่วยราชการอีกด้วย  นอกจากนี้ผู้บริหารโรงพยาบาลควรเล็งเห็นศักยภาพของเจ้าหน้าที่ที่มีความชอบและสนใจเรื่องไอที และสนับสนุนให้บุคคลดังกล่าวได้รับการศึกษาอบรม เพิ่มศักยภาพด้านความรู้และทักษะ เพื่อนำมาทำงานด้านระบบสารสนเทศ (IT) ของโรงพยาบาล  ซึ่งเป็นการใช้บุคลากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า  โดยมิต้องจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น หรือว่าจ้างบริษัทเอกชนมาดำเนินการซึ่งต้องสูญเสียค่าติดตั้ง บำรุง ดูแล รักษาระบบ อันเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอีกด้วย  

เอกสารอ้างอิง 

1. http://content.kapook.com/hilight/technology/10428.html

2. http://www.fisheries.go.th/coastal/db_coastal/index.php?option=com_content&task=view&id=4& Itemid=9    3.http://www.healthsquare.org/news.php?id=656283  

คำสำคัญ (Tags): #ไอทีพอเพียง
หมายเลขบันทึก: 80373เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2007 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่รู้จักและพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน แต่จะเข้าใจหลักปรัชญาพอเพียงหรือไม่นั้นก็เป็นที่น่าเป็นห่วงเพราะถ้านำไปใช้ ไปประยุกต์แบบผิดๆ ความหมายวัตถุประสงค์ก็จะเปล่าประโยชน์  ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยถ่วงดุลระบอบทุนนิยมตามกระแสโลกาภิวัตน์ได้อย่างสมบูรณ์ต่อเมื่อคนในชาติปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภควัตถุนิยมนำเข้าหรืออื่นๆ ที่เกินความจำเป็น  เพื่อสร้างพลวัตรในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศและชุมชน จะต้องใช้เวลาสักเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับคนในชาติจะกระทำเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึงหรือภาคใดภาคหนึ่งนั้นไม่ได้ สิ่งที่สำคัญที่ต้องเร่งให้เกิดสมดุล คือ ทุนด้านมนุษย์ ทุนการเงิน ทุนทัพยากร(พลังงาน) ทุนอำนาจ (ควรพัฒนาทุนด้านมนุษย์ก่อนเพราะปัญหาอยู่ที่มนุษย์ไม่ใช้ผลกระทบจากโลกาภิวัตน์) อยากให้คนไทยช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันครับ เพื่อสนองตามพระราชดำรัสของพระองค์และทฤษฎีพระราชทาน
อ่านแล้วเข้าใจง่ายดีครับ  จะติดตามต่อไป สู้ สู้

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวการดำรงอยู่ของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับรัฐ  และเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป  แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงถ้าทุกคนสามารถดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำรัสได้ประเทศไทยคงจะสงบสุขมากกว่านี้

เทคโนโลยีก้าวไปทุกวัน ขึ้นอยู่กับเราว่าจะเตรียมรับมือกับมันอย่างไร โดยใช้แนวคิดพอเพียงก็ช่วยได้มาก ดีค่ะ
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในบริบทของ เทคโนโลยี่ แทบจะเรียกได้ว่ามีความล้ำหน้าและปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์และฟังชั่น การใช้งานอยู่ตลอดเวลา ความก้าวล้ำเหล่านี้มีทั้งผลดีและร้ายต่อคน ผู้ซึ่งเป็นผู้นำเทคโนโลยี่มาใช้  หากเราใช้บนหลักความพอเพียงมีความรู้ มีคุณธรรม เชื่อว่า เทคโนโลยีจะมีประโยชน์มากกว่ามีโทษอย่างแน่นอนค่ะ  สู้ต่อไปน่ะค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท