เก็บตกถนนเด็กเดิน (1) : พื้นที่แห่งความหวัง..พื้นที่แห่งคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนเมืองตักสิลา


ถนนเด็กเดิน Child Watch กลายมาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการจัดกิจกรรมที่มุ่งสร้าง “พื้นที่คุณภาพ” ให้กับเด็กและเยาวชน

หลังจากที่จังหวัดมหาสารคามได้รับการประกาศให้เป็น “เมืองที่มีความสุขที่สุดในประเทศ”  (THE  HAPPIEST  CITY) ต่อจากนั้นไม่นานนักจังหวัดมหาสารคามก็ยังได้รับการพิจารณาประกาศให้เป็น 1  ใน  10  จังหวัดที่มีระบบการคุ้มครองเด็กดีฯ  โดยเมื่อวันที่  12 มกราคมที่ผ่านมาได้เดินทางเข้ารับรางวัล  Child  Watch  Award จาก  ฯพณฯ  นายกรัฐมนตรี

 

  

 

มหาสารคาม  ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองแห่งการศึกษา (ตักสิลานคร)  และจากสภาพการณ์ปัจจุบันก็ยังฟ้องชัดว่าคำกล่าวนั้นยังคงเป็นจริง  หากแต่แปลกต่างไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิงก็คือจำนวนนักเรียน นิสิตนักศึกษาได้ทบทวีจำนวนขึ้นมากมายมหาศาลกว่าอดีตเป็นยิ่งนัก 

 

 

จำนวนอันมากมายเช่นนี้  กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญทางชีวิตของคนเมืองมหาสารคาม  โดยเฉพาะการ “ท้าทาย” ของระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรคนท่ามกลางวัฒนธรรมทุนนิยมที่โหมพัดกระหน่ำอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง

 

 ถนนเด็กเดิน  Child  Watch  กลายมาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการจัดกิจกรรมที่มุ่งสร้าง “พื้นที่คุณภาพ”  ให้กับเด็กและเยาวชน  โดยการวาดหวังให้พื้นที่ดังกล่าวกลายมาเป็น “เวที หรือ มุมแห่งชีวิต”  หรือแม้แต่ “จุดนัดฝัน”  ที่เด็กและเยาวชนจะได้สัญจรมาพบทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกันอย่างเปิดเผยและเปิดกว้าง  

 

 เด็กคนไหนใคร่แสดงก็ได้แสดง  ใครใคร่เต้น ได้เต้น  ใครใคร่ร้องได้ร้อง  และอื่น ๆ อีกมากมาย

 

 

  

 

ถนนเด็กเดินเปิดตัวกิจกรรมครั้งแรกเมื่อวันที่  27  สิงหาคม  2550  ณ  บริเวณลานด้านหน้าห้างเสริมไทย (เวลา  15.00 – 20.00  น.) โดยจัดขึ้นทุกสัปดาห์ที่ 3  ของทุกวันอาทิตย์

 

 

 

 

 

 

ถึงผมจะแย้งคิดอยู่อย่างเงียบ ๆ  ในเรื่องสถานที่การจัดงาน  แต่เมื่อครุ่นคิดถึงวิธีคิดและวิธีจัดการดังกล่าว  ก็ยอมรับว่าเป็นความคิดอันชาญฉลาดไม่น้อย 

 

เมื่อเราไม่สามารถนำเด็กออกจากโลกแห่งทุนนิยมได้อย่างสิ้นเชิง  เราก็ต้องเคลื่อนตนขับกิจกรรมออกไปยัง “พื้นที่” หรือ “เวที”  อันเป็นห้างสรรพสินค้าที่พวกเขามักที่จะใช้ชีวิตเริงเล่นอยู่ที่นั่น  แต่ต้องเน้นการบูรณาการพื้นที่ตรงนั้นให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง แต่ต้องไม่ลืมที่จะขับเคลื่อนให้มีพลังอย่างต่อเนื่อง  มีความหลากหลายทั้งรูปแบบและสาระ  เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเลือกเสพสิ่งต่าง ๆ ได้ตามความสนใจ 

 

 

 และแม้กระทำได้ตามนั้น  ก็ย่อมหมายถึงว่าเมืองมหาสารคาม ได้เกิด “พื้นที่คุณภาพ”  สำหรับเด็กและเยาวชนแล้ว  หรือเรียกให้ยิ่งใหญ่ขึ้นก็คือ “เมืองน่าอยู่สำหรับเด็ก”  (Child  Friendiy  City) 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 80313เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2007 20:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2021 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
เป็นที่น่ายินดีสำหรับมหาสารคามเมืองน่าอยู่ และผู้คนมีความสุขครับ
  • พื้นที่คุณภาพ สำหรับเด็กและเยาวชน  เราต้องช่วยกันให้ความหมาย  ให้คุณค่า  
  • แนวคิดการเคลื่อนเด็กๆออกจากสิ่งที่สังคมไม่ปรารถนา   เราต้องช่วยกันสานต่อ 

 

เยี่ยมเลยคะ สารคาม...ถนนเด็กเดิน เน้นเด็ก เพื่อเด็กจริงๆ  ....โอโฮ้  สุรินทร์ อายเลยคะ
เห็นแล้วก็อยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งครับ
  • สวัสดีครับ
    P
  • ถนนเด็กเดิน เป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน  นับจากแม่งาน คือ พัฒนาสังคม จ.มหาสารคาม  ส่วนราชการและสถานศึกษาต่าง ๆ 
  • องค์กรที่เข้าร่วมโดยส่วนใหญ่จะต้องจัดหางบประมาณกันเองทั้งนั้น
  • กิจกรรมหลากหลายอย่างให้เลือกเข้าร่วม  โดยปกติจัดที่ห้างฯ  แต่วันที่ 13  ที่ผ่านมาสัญจรไปจัด ที่ มรภ.มหาสารคาม
  • ซึ่งผมก็นำพานิสิต มมส ไปช่วยงานร่วม 70  คน
  • ขอบพระคุณนะครับ..ที่มาให้กำลังใจ

น่ารักทั้งเด็ก ทั้งคนจัด

และน่าชื่นชมในงานดีๆอย่างนี้ค่ะ

  • สวัสดีครับ
    P
  • ผมชอบวิธีคิดของกิจกรรมนี้มาก  แต่ก็เคยวิจารณ์ไว้ว่า  ผมไม่เห็นด้วยหากต้องกะเกณฑ์คนเข้าร่วม
  • แต่ต้องกล้าที่จะเคลื่อนไปจัดในสถานที่ที่เด็กมักไปใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้นให้มากที่สุด
  • กิจกรรมนี้จะยังมีต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 50 โน่นเลยนะครับ
  • ขอบคุณครับสำหรับการทักทายและเติมแต่งกำลังใจให้เต็มล้นอีกครั้ง
    P
  • อันที่จริง,  สุรินทร์น่าจะมีศักยภาพในเรื่องเหล่านี้ได้  เพราะเป็นจังหวัดใหญ่...มีเครือข่ายเด็กรักช้าง, มีเครือข่ายเด็กรักป่า...ฯลฯ
  • แต่ตอนนี้ผมมองข้ามไปถึงว่า  ผมอยากจัดค่ายให้เด็ก ๆ ลุกคนงานก่อสร้างในบริเวณใกล้ ๆ กับมหาวิทยาลัย  เพราะผมสัมผัสดูแล้วมีหลายคนที่ยากจน และมาจากต่างพื้นที่..เร่ร่อนเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนที่เรียนไปตามวิถีการทำงานของพ่อแม่
  • แต่คงต้องลงแรงหนัก..เพราะดูเหมือนวิธีคิดเรื่องนี้ของผมจะแปลกแยกกับคนที่นี่ไม่น้อย
  • สวัสดีครับ
    P
  • เด็กมักอยากเป็นผู้ใหญ่...
  • และผู้ใหญ่ก็อยากเป็นเด็ก
  • หรือแม้แต่ผู้ใหญ่บางคนก็ชอบทำตัวเป็นเด็ก  รวมถึงผมด้วยในบางครั้ง
  • ขอบคุณนะครับที่แวะมาให้กำลังใจ
  • สวัสดีครับ
    P
  • อันที่จริงผมก็อยากให้ทุกจังหวัดมีนโยบายเรื่องนี้เหมือนกันนะครับ  เพราะการกำหนด "พื้นที่คุณภาพ"  ให้กับเด็ก  ก็เท่ากับการกำหนดอนาคตให้กับเด็กนั่นเอง
  • ไม่จำเป็นต้องจัดในห้างสรรพสินค้า  แต่อาจจัดตามสวนสุขภาพกลางตัวเมืองก็ได้
  • ขอบคุณครับ

เป็นกิจกรรมที่น่าชื่นชมค่ะ การเลือกหน้าห้างสรรพสินค้า นับว่าเป็นกลยุทธหนึ่งซึ่งอาจมีทั้งดีและด้อย....เท่าที่คิด ณ ตอนนี้ก็คิดว่า คงเพื่อให้สะดวกกับผู้ปกครองที่จะพาเด็กมา เพราะผู้ปกครองก็มาซื้อของได้ด้วย....และปกติสมัยนี้เด็ก และผู้ปกครองก็ชอบเที่ยวห้างอยู่แล้ว.....

เห็นมีพ่อใหญ่มานั่งสอนสานใบมะพร้าว...น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่จะสอนให้เด็กๆ เรียนรู้วัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ จากพ่อใหญ่ แม่ใหญ่

  • สวัสดีครับอาจารย์...
    P
  • อันที่จริงผมก็ไม่ใคร่เห็นด้วยกับการใช้พื้นที่ห้างฯ มาจัดกิจกรรม  แต่วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีการเดินเข้าไปสร้างมุมชีวิตในที่ ๆ พวกเขานิยมไปใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัว
  • ไม่ปฏิเสธเรื่องค่านิยมและการบริโภคสรรพสิ่งต่าง ๆ ในห้างฯ  แต่เราก็สามารถบูรณาการมุมชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นตรงนั้นได้เหมือนกัน
  • แต่เบื้องลึก เห็นด้วยกับการไปจัดตามสวนสุขภาพ, สวนสาธารณะมากกว่าเป็นไหน ๆ
  • เมื่อนโยบายเป็นเช่นนั้น,  ผมก็ทำหน้าที่เพาะส่วนของตนให้ดีที่สุดเป็นพอ
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท