สนทนากลุ่ม


สาระท้องถิ่นกับภูมิปัญญา

เมื่อต้นภาคเรียนนี้กลุ่มนิเทศฯได้จัด Focus Group ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำกรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นของ สพท.อย.1 โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ภูมิปัญญา ผู้บริหารครูอาจารย์และศึกษานิเทศก์เข้าร่วม ผู้เขียนได้เข้าร่วมในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีความประทับใจในข้อคิดเห็นของท่านอาจารย์สุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่มีความเชี่ยวชาญหลายด้านของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับสาระท้องถิ่นในหลักสูตรสถานศึกษากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยตั้งคำถามหลายประเด็น เช่น สภาพการสอนปัจจุบันตอบสนองผู้เรียนให้เห็นความเป็นจริงของธรรมชาติ และทรัพยากรธรรมชาติของตนเองแล้วหรือยัง  กระบวนการวัดผลมีวิธีการอย่างไรในการดูว่าเด็กคนนี้รู้จักท้องถิ่น  กระบวนการเรียนการสอนส่งผลให้นักเรียนเห็นเชิงระบบของท้องถิ่นหรือไม่  เอาพืช สัตว์ มาเป็นเนื้อหา หรือดิน น้ำ ทรัพยากร ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นวัตถุทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต  ถ้านำมาจัดการสอนเพื่อการเรียนรู้ จะเชื่อมโยงให้เห็นระบบนิเวศในท้องถิ่นอย่างไร เช่นการทำนาซึ่งเป็นอาชีพของท้องถิ่น เกี่ยวข้องกับดิน น้ำ ลมฟ้าอากาศ การใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์กับสารเคมี สารชีวภาพ ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนเราอย่างไร  เทคโนโลยีที่กล่าวถึง มักนึกถึงแต่เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำอย่างไรจึงจะให้เด็กรู้จักนำทรัพยากรท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์  และยกตัวอย่างว่าคนอยุธยาสมัยก่อนจะแข็งแรง รูปร่างสมส่วน เพราะเขาจะกินอาหารจากธรรมชาติไม่ปรุงแต่ง กินปลาแม่น้ำ ไข่เป็ด ไข่ไก่ที่เลี้ยงตามธรรมชาติ  กินขนมพื้นบ้าน กินงาดำโดยนำมาทำเป็นทั้งอาหารและขนม ถือว่า งา เป็นอาหารเชิงวัฒนธรรมสมัยปู่ ย่า ตา ยาย  เด็กรุ่นใหม่จะถามว่า  งาดำมีสารอะไร ผู้เฒ่าผู้แก่ตอบไม่ได้ รู้แต่ว่ามันทำให้ร่างกายแข็งแรง ถ้าผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านั้นอธิบายได้ บอกประโยชน์ได้ หรือถ้าเด็กมีนิสัยในการแสวงหาความรู้/หาคำตอบด้วยตนเอง  เด็กก็จะกิน และนำไปปลูก ดูแลรักษา นำไปขยายพันธุ์  ปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ หรือหาเครื่องมือมากลั่น มาทำ นำมาประยุกต์แปรรูปเป็นอาหารต่าง ๆ  นำสู่วิถีชีวิตของตน เป็นการเชื่อมโยงสู่การนำไปใช้จริงในการดำรงชีวิต หลักสูตรก็จะทำให้เด็กเห็นความเป็นท้องถิ่นมากขึ้น   และอีกอย่างในสมัยก่อนการทำงานต่าง ๆ ใช้กำลังคน ทำให้คนได้ออกกำลัง ร่างกายจะแข็งแรง แต่สมัยนี้ มีเครื่องทุ่นแรงมาก  เราจึงสูญเสียความอดทนในการทำงานต่าง ๆ และไม่ชอบที่จะทำงานโดยใช้แรงงานของตนเอง กลัวเหนื่อย กลัวหาว่าล้าสมัย ดังนั้นการสอนต้องสอนให้รู้จักคิดวิเคราะห์ ให้มีเหตุผลว่าทำไปเพื่ออะไร  

คนทุกวันนี้ไม่นำ ภูมิปัญญามาใช้ เพราะความทันสมัยมาแทนที่ จึงขาดความเป็นรากเหง้าของตนเองไป  ต้องจัดการศึกษาให้เข้าถึง(ความจริงของชีวิต เชื่อมโยงสู่สิ่งอื่น ๆ ไม่แยกส่วน) เข้าใจ (รากเหง้าของตนเอง) แล้วพัฒนาจากฐานเดิม(รากเหง้าสู่โลกยุคใหม่)  การจะทำให้เยาวชนไม่ทิ้งรากเหง้าของตน ต้องสอนให้รู้จักคุณค่า ให้เข้าไปถึงจิตใจ  ทำอย่างไรจะให้ครูตระหนักรู้ พ่อ แม่ ผู้อำนวยการโรงเรียน กรรมการสถานศึกษา ทุกฝ่ายร่วมกันตระหนักรู้และช่วยกันทำให้เด็กได้เรียนรู้ เชื่อมโยงสู่วิถีชีวิตจริงโดยให้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้มากขึ้น

การจัดการเรียนการสอนสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ให้บูรณาการสอดแทรกในสาระเท่าที่จะทำได้  โดยครูมีมุมมองในมิติตระหนักรู้ในความสำคัญของท้องถิ่น ครูต้องเรียนรู้ท้องถิ่นด้วย จะบูรณาการได้เนียนไม่แยกจากวิถีชีวิตจริง  วิชาวิทยาศาสตร์ต้องหาสาระทางวิทยาศาสตร์ หรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ให้รู้ลึกว่าในสารอาหารแต่ละชนิดมีสารอะไร สารนั้นมีประโยชน์อย่างไร  ส่งผลดีผลเสียอย่างไร  การปลูกผักบุ้งจีน ครูเกษตรกับครูวิทยาศาสตร์ต้องร่วมกัน ให้ความรู้ที่ลึกในเรื่องการปลูก การบำรุงดิน การให้ปุ๋ย ให้น้ำ การดูแลรักษาอย่างไร จึงจะทำให้พืชเจริญเติบโตดี  นอกจากนั้นการจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ควรเชิญผู้นำชุมชนมาสืบค้นภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วจำแนกแต่ละด้านจัดทำเป็นทำเนียบให้สะดวกในการเลือกเรียนให้เหมาะตามกลุ่มสาระ   ครูควรจะพาไปหาภูมิปัญญา ด้านแพทย์แผนไทย  เกษตร อาหารฯลฯ ในชุมชน ตามความสนใจของเด็ก แล้วให้เด็กกลับมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ว่า เท่าที่ไปดูมาเกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  แล้วสรุปเด็กจะทำเป็นโครงงาน หรือการนำเสนอความรู้ในรูปแบบใด โดยสะท้อนการสร้างสำนึกใหม่ 3 ด้าน คือ ด้านพุทธิพิสัย เป็นการรับรู้ในมิติในสถานการณ์จริง/เข้าถึงความจริงในพื้นที่  ด้านจิตพิสัย เป็นการทำความเข้าใจให้เห็นเชิงระบบส่งผลดี ไม่ดีต่อตนอย่างไร ด้านทักษะพิสัย เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีนิสัยใหม่คือต้องลงมือทำ ซึ่งจะทำให้สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง  การเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้วนำวิชาการมาบูรณาการลงไปเป็นผลิตภัณฑ์ นำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดให้ดูทันสมัย ให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เช่น เด็กเรียนรู้การทำมะดันแช่อิ่มของลุงแจ่ม   ของป้าแจ๋ว  แล้วนำมาตรวจสอบว่าผู้คนนิยมรับประทานแบบใด จะนำมาพัฒนาต่ออย่างไร การสอนต้องอย่าลืมสร้างสำนึกท้องถิ่นให้ได้ ให้รู้ความเป็นมาของท้องถิ่น  หรือเลือกบุคคลในท้องถิ่นมาให้ศึกษาก็ได้เหมือนกันให้เหมาะสมกับสาระที่จะเรียน  การเชิญภูมิปัญญาท้องถิ่นต้องมีการเตรียมการ นัดหมาย ถ้าอยู่ใกล้นำเด็กไปหาแหล่ง ถ้าอยู่ไกลต้องจัดงบประมาณให้ใช้จ่ายได้คล่องตัว ผู้บริหารโรงเรียนต้องเห็นความสำคัญ นอกจากจะเชิญมาช่วยสอนแล้ว ให้ทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของโรงเรียนในการดำเนินการ จะช่วยลดความขัดแย้งลงได้  เวลาโรงเรียนจัดงานสำคัญ ๆ ก็เชิญมา มีการมอบ       เกียรติบัตรให้เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ 

แหล่งการเรียนรู้มีทั้งในโรงเรียน เช่นห้องวิทยาศาสตร์ โรงอาหาร ห้องน้ำ สวนวิทยาศาสตร์ สวนสมุนไพร สวนหย่อม  ต้นพืช สัตว์ในโรงเรียน ฯลฯ  นอกโรงเรียน เช่น บุคคล ภูมิปัญญา  แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ลงสู่การปฏิบัติจริง ที่สามารถโยงสู่สาระวิทยาศาสตร์ได้  เช่น โรงงาน บ่อบำบัดน้ำเสีย กองขยะ น้ำเสียในคลอง ระบบนิเวศ  เลือกให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่จะเรียน เช่น การลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา เป็นต้น  โดยครูวิทยาศาสตร์ต้องมองวิทยาศาสตร์ในมิติใหม่ มองวิทยาศาสตร์ในวิถีชีวิตของชุมชน มองให้เห็นวิทยาศาสตร์ในธรรมชาติในชุมชน

การเรียนวิชาชีพแบบไหนที่ให้เด็กภาคภูมิใจในความเป็นอยุธยา ต้องชูประเด็นความสำคัญ/คุณค่าของสิ่งที่ทำให้ได้  ใช้อาชีพเป็นสื่อเชื่อมโยงสู่มิติวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมความเป็นอยุธยา ให้ถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นอยุธยา เช่นอาชีพที่ทำด้วยฝีมือ เช่น ตีมีด ทำหม้อ ทำขนมไทย ทำนา ทำข้าวเม่า เป็นต้นการวัดผลควรจะสอบถามพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย ในการเกิดสำนึกต่อครอบครัว ช่วยครอบครัวทำอะไรบ้างไหม เน้นจิตพิสัยตามสภาพจริง มีข้อมูลเชิงประจักษ์

สำหรับคุณลักษณะของผู้เรียน ตามความคิดเห็นของท่านอาจารย์สุรินทร์นั้น  ท่านมีความคิดเห็นว่าทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ไม่ปล่อยเป็นภาระของครู พ่อแม่ผู้ปกครองต้องช่วยกัน ทำให้เด็กมีลักษณะดังนี้

1.       มีธรรมฉันทะ คือใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ใฝ่ทำ

2.       คิดเป็น มีวิจารณญาณ รู้เท่าทันกระแส

3.       มีกระบวนทัศน์ ความเป็นองค์ธรรมของชีวิต และสรรพสิ่ง เห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์ แบบสมดุล/ไม่สมดุล

4.       มีสำนึกความเป็นชุมชน มีจิตใจให้แก่ส่วนรวมเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

5.       มีความเชื่อมั่นในตนเอง มั่นคงทางจิตใจและมีความกล้าหาญทางจริยธรรม

6.       มีความสามารถในการจัดการทรัพยากรเพื่อความยั่งยืน

7.       ดำรงชีวิตเรียบง่าย ประหยัด

ผู้เขียนเห็นว่าข้อคิดเห็นนี้ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มากในการปลูกฝังให้เด็กมีจิตสำนึกความเป็นท้องถิ่น จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง อาจจะเกิดการฉุกคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาในสาระวิทยาศาสตร์ที่เน้นความเป็นท้องถิ่นได้

                
หมายเลขบันทึก: 80179เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2007 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท