สังคมชุมพรกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ


“สิ่งที่เกิดขึ้นและได้รับจากประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ ก็คือบทสะท้อนสติปัญญาของสังคม ณ ที่แห่งนั้น”

ผมเขียนต้นฉบับคอลัมน์นี้ในวันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550 ทำให้มีข้อมูลสำคัญมารายงานให้ท่านผู้อ่าน ไทยนิวส์ ได้รับทราบ ซึ่งก็คือการประกาศแต่งตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนประจำจังหวัดชุมพร และที่ผ่านไปแบบสด ๆ ร้อน ๆ ก็คือ คณะกรรมาธิการฯ ได้ประชุมร่วมกันเป็นทางการครั้งแรกในวันนี้ ทำให้เราได้รับทราบการกำหนดโครงสร้างและตำแหน่ง รวมทั้งบทบาทหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่สัมฤทธิ์ผลของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

คณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 21 คน เท่ากันหมดทุกจังหวัดทั่วทั้งประเทศ โดยได้รับการคัดเลือกและประกาศแต่งตั้งจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ หลักในการคัดเลือกจะให้ความสำคัญกับสมาชิกสมัชชาแห่งชาติของแต่ละจังหวัด ซึ่งในจังหวัดชุมพรเรามีอยู่ด้วยกัน 13 คน ส่วนที่เหลืออีก 8 คน มีที่มาจากการเสนอชื่อของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในที่ประชุมเราได้มีมติร่วมกันกำหนดตำแหน่ง ดังนี้

  1. นายพินัย                    อนันตพงศ์         ประธานที่ปรึกษา
  2. นายอวยชัย                 วรดิลก              ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ
  3. นายไพสิษฎ์                ลิมสถายุรัตน์      รองประธานฯ คนที่ 1
  4. นางวิภา                      วิภาสวัชรโยธิน   รองประธานฯ คนที่ 2
  5. นายสมพงษ์                อินทรสุวรรณ      รองประธานฯ คนที่ 3
  6. นายทนง                     สมร่าง               กรรมาธิการฯ
  7. นายธงชัย                   ลิ้มตระกูล          กรรมาธิการฯ
  8. นายประยูร                  สงค์ประเสริฐ      กรรมาธิการฯ
  9. นายสมชาย                 สุทธิรักษาวงศ์    กรรมาธิการฯ
  10. นายสังคม                   บำรุงราษฎร์       กรรมาธิการฯ
  11. นายสุชาติ                   มีสมบัติ             กรรมาธิการฯ
  12. นายสุรวุฒิ                   แพชนะ              กรรมาธิการฯ
  13. นายไพฑูรย์                 หลิมวัฒนา         กรรมาธิการฯ
  14. นายนิพันธ์                  ศิริธร                 กรรมาธิการฯ
  15. นายธนยศ                   พราหมนาเวศ     กรรมาธิการฯ
  16. นายพจน์ปรีชา             จารุจารีตร์          กรรมาธิการฯ
  17. นายสุทธินันท์             จันทระ              กรรมาธิการฯ
  18. นายไอศูรย์                  ภาษยะวรรณ์      เลขานุการฯ
  19. นายประวิทย์                ภูมิระวิ               ผู้ช่วยเลขานุการฯ
  20. นายศุภวัฒน์                สินธพานนท์      เหรัญญิก
  21. นายสาธิต                   ศรีหฤทัย            โฆษกฯ

ภารกิจหลักของคณะกรรมาธิการฯ คือ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยแบ่งออกเป็น 5 ประการ ดังนี้

  • จัดทำแผนงาน/โครงการรับฟังความคิดเห็น ประชาพิจารณ์ และการประชาสัมพันธ์

  • ดำเนินการประชาสัมพันธ์ จัดตั้งเวทีรับฟังความคิดเห็น การทำประชาพิจารณ์ โดยการประสานงานกับภาคส่วนต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป เพื่อเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็น

  • จัดทำสรุปและรายงานผลการรับฟังความคิดเห็น ประชาพิจารณ์ โดยบันทึกสรุปการรับฟังความคิดเห็น การจัดทำรายงานเสนอคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคใต้ และคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมและการประชามติ

  • ประสานงานกับคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคใต้ และคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมและการประชามติ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน

  • ดำเนินงานเกี่ยวกับด้านงบประมาณ การจัดซื้อ จ้าง เช่า และการยืม ตลอดจนการรายงานค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินงานให้สภาร่างรัฐธรรมนูญทราบ รวมทั้งการจัดทำรายงานต่อสำนักการคลังและงบประมาณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อสิ้นสุดโครงการ

นี่ว่ากันตามภารกิจหลักที่กำหนดมาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ การปฏิบัติจริงในพื้นที่ยังมีรายละเอียดอีกมากมายหลายประการที่จะต้องประสานงาน ช่วยกันขับเคลื่อนให้กระบวนการมีส่วนร่วมของจังหวัดชุมพรเข้าถึงประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งกระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุด

ตัวผมเองได้รับการมอบหมายให้ทำหน้าที่ออกแบบและวางระบบการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ บอกตรง ๆ ว่า รู้สึกหนักใจในภารกิจนี้ แต่ก็ภูมิใจที่ได้รับความเชื่อมั่นจากหมู่คณะ

โจทย์ที่ตั้งไว้ในตอนนี้ก็คือ ทำอย่างไรคุณภาพและปริมาณของการแสดงความคิดเห็นของจังหวัดชุมพรจึงจะออกมาได้อย่างดีที่สุด ? ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น วิทยากรกระบวนการ บรรยากาศ ฯลฯ

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน สสร. ผู้มีประสบการณ์ ท่านได้สรุปให้ผมตระหนักว่า ภายหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็น สิ่งที่เกิดขึ้นและได้รับจากประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ ก็คือบทสะท้อนสติปัญญาของสังคม ณ ที่แห่งนั้น

ถ้าสังคมชุมพรเราช่วยกันแสดงความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ ร่วมกันนำเสนอและผลักดันจนกระทั่งได้รับการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปรากฏชัดเจน เราก็จะเกิดความรู้สึกร่วมในการรณรงค์ให้รัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ

ถึงตอนนั้น ปรากฏการณ์ ธงเขียว เหมือนสมัยที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง.

คำสำคัญ (Tags): #รัฐธรรมนูญ
หมายเลขบันทึก: 80172เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2007 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท