เราจะเขียนอะไรใน gotoknow กันไปทำไม


เรามาที่นี่เพื่อเรียนรู้

เราเขียนอะไรที่นี่กันไปทำไมเนี่ย  สาระเหรอ หาเพื่อนใหม่เหรอ หรือ just บ่นพร่ำรำพัน ?  หรือนี่ก็เป็นเพียงที่ๆ หนึ่งที่ไม่ต่างจากที่อื่น  เราต้องชัดเจนในตัวเองไหม หรือเพียงแค่เขียนไปเรื่อยๆ  ก็น่าจะพอแล้ว จะเอาอะไรมากอีกล่ะ ....

เรื่องหนึ่งที่ผมมองเห็นว่าสมาชิกเรา (ผมชอบคำนี้นะ มันทำให้เกิดควมรู้สึกว่าเราสังกัดอะไรสักอย่าง ซึ่งบ่งว่าเรามีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้างตามปรัชญาของหน่วยที่เราสังกัด) มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันพอสมควร คือ สาระเนื้อหา การมีผู้เข้าอ่านมาก และการผู้แสดงความคิดเห็น มาก  ที่ผมยกต่อไปนี้เป็นขั้วที่อยู่ตรงมุมของ 2 ขั้วนะครับ  จริงๆ มีน้อยคนที่ถึงขนาดนั้นนะครับ

ฝ่ายหนึ่งถนัดเขียนเรื่องที่ถูกใจผู้อ่าน และก็จริงตามนั้น ด้วยความที่เธอ/เขา เขียนอะไร ก็มีคนร่วมแสดงความคิดเห็นกันหลายหลาก บางประเด็นก็ถกกันเป็นที่สนุกสนาน  (แบบว่าเขียนอะไรก็ตรงใจขาประจำทุกที)

ฝ่ายหนึ่งก็ถนัดการเขียนเรื่องที่เป็นสาระ การสร้างองค์ความรู้ บันทึกสิ่งต่างๆ ที่ตนเองประสบมา (แบบว่าสาระสุดๆ)

ในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ G2K เราจะเอายังไงดี ?

ผมมองว่า "สาระ" เป็นจุดเด่น เป็นตัวตนของ  G2K  (ซึ่ง webblog ในเมืองไทยมีมากมาย สมาชิกเยอะแยะ แต่เขาไม่เด่นด้านนี้)

... แต่...

ตัวตนของ G2K อีกอันหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้  การมีปฏิสัมพันธ์ในเชิงความรู้ระหว่างกัน   (มี web page ส่วนตัวของบุคคลต่างๆ มากมายเพื่อบันทึกความคิดเห็นของตนเอง ข้อเขียนข้อบันทึกของตนเอง ผมเองก็มี)

ผมอ่านประเด็นที่ทีมประเมินผลงานของ สคส กล่าวว่า

“การมี Blog อาจทําให้การบริหารจัดการความรู้  กลายเป็นเพียงการบริหาร การจัดการข้อมูลข่าวสาร (Information Management) ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดแรงขับเคลื่อน ผลักดันให้เกิดเกลียวแห่งความรู้”

(อ้างจาก http://gotoknow.org/blog/sawaengkku/79772)

แล้วรู้สึก ผิดหวัง เป็นอย่างยิ่ง  นี่เป็นการประเมินที่ผมคิดว่าผู้ประเมินไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ มองไม่เห็นธรรมชาติของ webblog เป็นการประเมินด้วยถ้อยคำสั้นๆ แต่ดูแคลน potential ของ web blog เรา  ผมคิดว่าเขาไม่มี vision ในด้านนี้ มองในมุมมองของนักปฏิบัติงานในองค์กร ...

Webblog G2K มีพลังในการสร้างองค์ความรู้และปัญญาครับ ผมขอยืนยัน !!! ในแง่ของเครื่องมือแล้ว นี่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ได้ใช้ประโยน์จากเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ในการสร้างเสริมความรู้ของชาวไทยในวงกว้างทั่วประเทศ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาประชุมพบปะกัน ลดต้นทุนได้มหาศาล ..

แต่ ...  สมาชิกหลัก (ทั้งสองขั้ว) ควรมีการปรับตัวในระดับหนึ่ง เพื่อเป็นแนวทางแต่สมาชิกอื่นๆ    เป็นการขยับ ปรับตัว เพื่อให้สิ่งที่เราเขียนมีผลกระทบต่อสมาชิกอื่นๆ ในด้านปัญญา (ไม่จำเป็นต้องตลอดไปนะครับ แต่ผมมองว่าต้องเกิน 75%)

ผมขอเสนอสูตร  P x Q x Cn x Cq  = I

P = Popularity  จำนวนคนอ่าน
Q = Quality คุณภาพ สาระของเนื้อหา
Cn = number of Comments จำนวนข้อคิดเห็น
Cq = quality of Comments คุณภาพของข้อคิดเห็น
I = Impact, Intelligence ผลกระทบทางปัญญา

ลองดูตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมนะครับ (คงไม่ต้องถึงกับทำลิงค์ไปบล็อกนั้นนะครับ)
เรื่องที่เขียนแม้มีผู้อ่านมาก มีการตอบสนองมาก แต่ก็สั้นๆ ประเภทชื่นชม แวะมาทัก แต่เนื้อหาหลักๆมีน้อย  ผลกระทบก็มีน้อย ผมขอเรียกว่า  ลูกโป่งที่ล่องลอย
เรื่องที่เขียนมีสาระ ข้อคิดเห็นดีๆ แต่เฉพาะตัวมากๆ เขียนแบบไม่ได้หวังให้ใครแสดงความคิดเห็น ผู้อ่านไม่มาก (n=5) ผู้แสดงความคิดเห็นยิ่งน้อย (n=1) ผลกระทบก็น้อย ผมขอเรียกว่า ฤาษีผู้โดดเดี่ยว

นี่เป็นตัวอย่างที่สุดขั้วครับ  ในความเป็นจริง เราแกว่งไกวอยู่ระหว่างนี้ เป็น spectrum มากกว่า จะบอกว่าเราอยู่กลุ่ม 1 หรือ 2  และจริงๆ ยังอาจมีมิติอื่นเกี่ยวข้องอีกนะครับนอกจาก คุณภาพ ความน่าอ่าน จำนวน   เช่น การเป็นผู้มีชื่อเสียง ผู้มีคนเกรงใจ การเป็นคนหน้าใหม่  ลฯล

 นี่เป็นสิ่งที่เราต้องปรับตัว ต้องเรียนรู้จากกันครับ เรามาที่นี่เพื่อเรียนรู้   ผมเชื่อว่ายังนี้นะครับ

คนที่ถนัดเขียนเรื่องเบาๆ ก็คงต้องหาสาระมาใส่บ้าง เช่น เอาเรื่องที่ตนเห็นว่ามีประโยชน์ต่อสมาชิกมาลง แต่ .. แสดงความคิดเห็นของตัวเองลงไปด้วย พยายามมองด้านบวก ด้านลบ ข้อเตือนใจ ข้อควรระวัง เราได้อะไร อะไรที่ไม่น่าเชื่อ ฯลฯ ของสิ่งที่เราเอามาลง เมื่อมีคนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแล้วก็น่าจะลองสรุปประเด็น หรือถ้าจะดีไปกว่านั้นคือมองว่าเราได้อะไรจากประเด็นนี้

คนที่ถนัดเขียนเรื่องหนักๆ ก็คงต้องเรียนรู้จาก blog ของคนที่ popular ว่าเขาเขียนยังไง  อาจต้องมีการแบ่งประเด็นที่เขียน เขียนสั้นๆ เป็นข้อๆ ที่สำคัญคือการตั้งคำถามกับผู้อ่าน ไม่ใช่เล่าไปโลด ควรเชื้อเชิญให้เขาร่วมแสดงความคิดเห็น  ถ้าคุณเขียนเรื่อง แต่ตั้งประเด็นคำถามที่ท้าทายไม่ได้ แสดงว่าคุณยังไม่ชัดเจนในเรื่องที่คุณเขียนครับ เรื่องที่เขียนไปแล้วก็ควรหมั่นเช็คในหน้าศูนย์รวมข้อมูลว่ามีใครมาแสดงความคิดเห็นไหม พอมีคนตอบก็ควรเข้ามาตอบสนอง อย่าเขียนแล้วทิ้งไปครับ ขอให้คิดว่า เราต้องการเรียนรู้

สิ่งที่เราได้เรียนรู้บางครั้งไม่ใช่เนื้อหาที่เขาเขียน แต่อยู่ที่วิธีการนำเสนอของเขาด้วย

งานทุกชิ้นที่เราเขียนไม่จำเป็นต้องมีสาระตลอดไป หรือต้องมีคนอ่านมากตลอดไป มันขึ้นๆ ลงๆ ครับ ขึ้นอยู่กับว่ามันเป็นที่สนใจของผู้อ่านเท่าไร เป็นเรื่องที่ท้าทายนะครับ ขอให้คิดเข้าไว้ว่า เราต้องการ สร้าง และ ต่อยอด ความคิด ความรู้ (ความรู้สำคัญน้อยกว่าความคิด กระบวนการคิดนะครับ ตามความคิดเห็นของผม) แล้วมันก็จะทำให้ G2K มีคุณค่าอย่างที่เราเชื่อมั่น

ผมเองในช่วงหลังๆ เขียนในบล็อกของตัวเองน้อยลง อ่านและบันทึกในบล็อกคนอื่นมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่า OK นะ เพราะอยากให้พวกเรามีการต่อยอดความคิด  ขอให้สมาชิกเอา "ความรู้" และ "ปัญญา" เป็นตัวตั้งครับ  ผมเชื่อว่านี่จะทำให้ G2K พัฒนาเป็นเกลียวไปเรื่อยๆ  ผมมั่นใจในศักยภาพของสมาชิก G2K ครับ

อืมม  ตั้งคำถามอะไรดีที่ท้าทาย ?    ผม ... ในฐานะของสมาชิกที่เข้ามาประมาณเดือนกว่าๆ มองอย่างนี้ เห็นอย่างนี้

แล้วท่านสมาชิกที่อยู่มานานจนรู้เห็นความเป็นไปทั้งหมดของ G2K  เห็นยังไงบ้าง  มองอนาคตของ G2K ว่าจะเป็นแค่แลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างที่เขาสบประมาท ตั้งข้อสังเกตไหม (ขอแก้ครับ รู้สึกจะเวอร์ไปหน่อย -17.00 น. 23/02/2006)

ขอแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ 20 ตค.2550

สืบเนื่องจากการที่ผมวิจารณ์ว่าการประเมิน สคส ของทีมประเมิน ขาดวิสัยทัศน์ โดยอ้างอิงจากบันทึกของดร. แสวง รวยสูงเนิน นั้น  อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่าดร. แสวง รวยสูงเนิน มีความเห็นเหมือนกับผม อันให้ท่านรู้สึกอึดอัดนั้น (จาก ความอึดอัดกับการแสดงความเห็นของผู้อื่นผ่านบล็อก) ผมใคร่ขอแจ้งให้ผู้อ่านทราบว่าความคิดเห็นนี้ "เป็นของผมผู้เดียว" โดยที่ดร. แสวง รวยสูงเนิน  ไม่ได้เห็นว่า ทีมประเมิน ขาดวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้แต่อย่างใด  ความเห็นในบทบันทึกนี้เป็นความเห็นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับตัวท่าน เพียงแต่ผมอ้างอิงเนื้อหาจากรายงานการประเมินที่ท่านนำมาแจ้งเท่านั้น โดยที่ท่านเองก็เห็นพ้องด้วยกับความเห็นในรายงานดังกล่าว

หมายเลขบันทึก: 80159เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2007 02:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (38)
  • ผมอึ้งในสูตรครับคุณหมอ
  • ผมขอเสนอสูตร  P x Q x Cn x Cq  = I

    P = popularity  จำนวนคนอ่าน
    Q = quality คุณภาพ สาระของเนื้อหา
    Cn = จำนวนข้อคิดเห็น
    Cq = คุณภาพของข้อคิดเห็น
    I = impact, intelligence ผลกระทบทางปัญญา

  • ในอนาคตสมาชิกจะไปทำงานเพื่อสังคมร่วมกัน
  • ลองไปดูบันทึกครูบาสุทธินันท์นะครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

ขออนุญาตเข้ามาเห็นด้วยกับอาจารย์ก่อนนะคะ

กับอยากจะบอกเรื่อง 2 ประการค่ะ

1. ชอบสูตรในบันทึกมากค่ะ

2. ไม่ทราบว่าเป็นเพราะระบบใหม่ที่ปรับปรุง มีผลต่อสคริปต์ต่างๆหรืออย่างไร ทำให้ k-jira ต้องรีเฟรสหน้าจอนี้ 5-6 ครั้งกว่าจะเขียนตอบอะไรได้ค่ะ

คือมันไม่ค่อยยอมให้วางเคอร์เซอร์เม้าท์ลงในช่องกลอกข้อความ แล้วไม่ยอมให้ขึ้นไป copy ข้อความของอาจารย์ข้างบน เพื่อจะมา paste เพื่ออ้างอิงถึง ในช่องตอบคอมเม้นต์เลย ไม่ทราบเป็นเพราะ ทางผู้ดูแลระบบ เขาสร้างสคริปต์ให้ห้าม copy หรือเปล่านะคะ

3. ลิ้งค์ข้างบนนั้น มันคลิกลิ้งค์ไม่ได้ค่ะอาจารย์

4. มันต้องมีอะไรผิดปกติบางอย่างแน่ๆค่ะอาจารย์ คือกว่าที่ k-jira จะตอบคอมเม้นต์อาจารย์ได้ มัน error ไปหลายรอบแล้ว ดีนะที่พิมพ์ใส่ notepad แล้วมาโพสต์

ดังนั้นถ้าหากเห็น จำนวนคนอ่านเยอะ แต่คนออกความเห็นน้อย บางทีอาจจะเป็นเพราะระบบโพสต์มีปัญหานะคะ

โอมเพี้ยง คราวนี้ขอให้ send comment ได้นะคะ

  • มาขำๆๆพี่จูน
  • เพิ่งทำอะไรใหม่ๆอย่างง ครับพี่

 

ผมทราบครับ และคราวนี้คงจะเฉลยปัญหาของ k-jira และท่านอื่นที่เคยสงสัย คือ k-jira เขียนขณะที่ผมกำลังปรับแก้ blog ของผม และ refresh ใหม่อีกหลายครั้งครับ ข้อมูลมันเลยมาจ๊ะกัน ผมเองก็เขียนบท notepad เหมือนกันสำหรับอะไรที่ยาวๆ แบบนี้ เผื่อเหนียวครับ

ผมเข้ามาแบบไม่สนทฤษฎีใดๆ มาแบบว่าง.ๆ (แต่ไม่เปล่า) ..ส่วนจะเข้ากับข้อไหนก็เป็นเรื่องของเจ้าของทฤษฎี ที่เขาจะจับเราไปใส่ครับ

เท่าที่ผมสัมผัส G2K มาตั้งแต่แรกเริ่ม (ตอนที่ผู้พัฒนาทั้งสองท่านนำเสนอ G2K ที่ สคส.) ผมยังไม่เห็นว่า G2K จะเปลี่ยนปรัชญาการพัฒนาแต่อย่างไรเลย ...การปรับด้านเทคนิควิธีใช้ก็เป็นเรื่องธรรมดาของเทคโนโลยี อีกอย่างชุมชนแห่งนี้ก็มีสมาชิก ไม่ว่าจะหน้าเดิม-หน้าใหม่ ...ก็น่ารัก จริงใจ ตรงไปตรงมาดีครับ

ผมสรุปสั้นๆ เท่านี้ก่อนครับ...

ผม.แวะไปสุ่มอ่านมาหลายๆ blog ..แล้วมองแบบกลางๆ    ผมรู้สึกว่า...ช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ชุมชนแห่งนี้จะรบกันด้วยความคิดมากกว่าช่วงแรกๆ ของ G2K ...ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเริ่มรับทฤษฎี คือ เรียนรู้ รู้จัก รู้ทางกันมากขึ้น...และหลังจากได้ร่ำเรียนวิชากันมาบ้างพอสมควรระยะหนึ่งแล้ว ก็อดคิดไม่ว่าว่าเป็น "ช่วงลองวิชา"

แต่อย่างไรก็แล้วแต่ครับ ..คนทำดี คิดดี พูดดี (เขียน Blog ดี) ก็ไม่น่าจะเดือดร้อนใจให้เสียความปกติสุข

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ

ผมก็แอบเข้ามาอ่านกระทู้นี่ เป็นประเด็น โดนฺG2K เต็มๆ

แต่ลองมองดู สมาิชิก ใน G2K แล้วจะพบได้ว่ามี 3 กลุ่มใหญ่คือ

1. กลุ่มในสังกัด ศธ. หรือ กระทรวงศึกษาธิการ  เป็น อ.มหา'ลัย อ.โรงเรียนในสังกัด

2. กลุ่มในสังกัด สธ. หรือ กระทรวงสาธารณสุข เป็น หมอ พยาบาล บุคคลในสังกัด

3. กลุ่มอื่นนอกเหนือ 1. และ 2.

ผมเองเป็นกลุ่มที่ 3

การเข้ามาเรียนรู้ใน  G2K จากบุคคลอื่นมีแต่ได้กับได้

G2K เป็นช่องทางให้คนหลายกลุ่มหรือในกลุ่มตัวเองได้เรียนรู้  แสวงหา ศึกษา ถ่ายทอด และร่วมกัน ปรับปรุงปรับแต่ง 

แต่การจะเข้าใจเรียนรู้ ในวัจนภาษา ในสิ่งที่นำเสนอ ตามแต่วิถีแห่งวัฒนธรรมขององค์กรแต่ละองค์กร แต่ละกลุ่ม แต่ละพวก ที่แฝง  ที่แสดงออกและนำเสนอ นั้น มันคงต้องมีกระบวนทำความเข้าใจ ทำการละลายพฤติกรรม เพื่อให้เข้าใจ เชื่อใจ ไว้ใจ ในสิ่งที่หยิบยืนความรู้ความคิด มุมมองดีๆให้กัน

การทำความเข้าใจ ทำการละลายพฤติกรรม อาจไม่ได้เน้นที่สาระ แต่หากแฝงสาระ และมุมมอง ประสบการณ์ ก็เป็นสิ่งที่หลายคนได้กระทำกันอยู่ 

 อย่างที่คุณหมอบอกละครับ บางอย่างในเนื้อหาผมก็ไม่เข้าใจครับ เพราะผมยังไม่เข้าใจในการนำเสนอ ของเนื้อหานั้นๆครับ

บันทึกนี้จะเป็นประเด็น ให้จุดประกายความคิดใน G2K กันบ้าง จะดีมากเลยครับ 

ขอขอบคุณครับ ที่ช่วยจุดประกาย และผมจะขอตามจุดประกายด้วยคนครับ 

เห็นด้วยครับ...

ความหลากหลายของอาชีพ วัย ความสนใจและความถนัด จึงทำให้เกิดความแตกต่างมากมายใน web นี้...

ผมมองเป็นโอกาสที่สมาชิกมีสิทธิ์ที่จะเลือกอ่านหรือเลือกแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ตนเองสนใจและมีความถนัด...

หลายคนเป็นเพียงแค่คนทำงาน...ไม่ใช่นักวิชาการ คงไม่สามารถเขียนเนื้อหาวิชาการหรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นวิชาการได้มากนัก...

สิ่งที่สามารถทำได้ก็คงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ ครับ...

  

 

ขอยืนยันความเห็นของคุณหมอมาโนชที่ว่า Webblog G2K มีพลังในการสร้างองค์ความรู้และปัญญาครับ

และคิดว่าคำวิจารณ์ที่มีมานั้น เราควรใช้ประโยชน์ในแง่ที่ว่า เราต้องพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมค่ะว่า เราได้อะไรบ้างจากโลกแห่งนี้ แม้ว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ซึ่งเกิดกับพวกเราชาวบล็อกเกอร์ จะเป็นสิ่งที่แสดงออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมไม่ได้ก็ตาม

ชื่นชมคุณหมอในการแสดงความเห็นชี้แนะแนวทางให้พวกเราชาวบล็อกเกอร์นะคะ 

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นของทุกท่านครับ ยินดีรับฟังครับ กำลังใตร่ตรองอยู่เหมือนกัน ว่าเรื่องนี้มันจะมีประเด็นไปที่ไหนอีก หรือจริงๆ มันจะเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักพอกับการหยิบยกหรือเปล่า ยังไงก็ตาม ถือว่าได้เขียนไปแล้วครับ ตามอารมณ์และความรู้สึกในตอนนั้น

สวัสดีค่ะ ไม่ค่อยได้เป็นผู้เขียนซักเท่าไหร่ใน G2K
แต่ฝั่ง
learner ปัทเขียนอยู่บ่อยๆค่ะ เข้ามาที่นี่ได้รับความรู้มากเลยค่ะ แตกต่างจากชุมชนโน้นอย่างสิ้นเชิงเลยค่ะ ที่ไม่ค่อยได้เขียนก็เพราะยังไม่รู้จะเริ่มยังไงมั้งคะ ก็เลยเข้ามาเป็นนักชมอยู่เรื่อยๆน่ะค่ะ มันก็ได้รับความรู้อีกทางนึงมากๆเลยนะคะ

  • ที่ท่านอาจารย์มาโนชได้ทิ้งท้ายไว้สุดท้ายว่า"มองอนาคตของ G2K ว่าจะเป็นแค่แลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างที่เขาตั้งข้อสังเกตไหม "
    ปัทเห็นว่า สำหรับคนที่เข้ามาเขียนบ่อยๆ และเข้ามาเพราะใจต้องการเขียนหรือต้องการเข้ามาอ่านจริงๆแล้วน่ะ คงไม่คิดยังงั้นหรอก มันไม่ใช่แค่แลกเปลี่ยนความรู้ แต่มันมากกว่านั้นค่ะ ทุกคนที่เข้ามาบนชุมชนแห่งนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นชุมชนที่อบอุ่นจริงๆ มันก่อตัวจากชุมชนเล็กที่ทุกคนเข้ามารู้จักกัน เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้กัน รวมถึงช่วยเหลือกันในหลายเรื่องจนกลายเป็นหลายๆสิ่งตามมาค่ะ
  •  มีบันทึกนึงที่ปัทเคยเข้ามาอ่าน เป็นบันทึกของ พี่มะปรางเปรี้ยวค่ะ บันทึกนี้ต้องการความช่วยเหลือค่ะ  น้องคนนึงป่วยเป็นโรคหูรูดกระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานค่ะ ต้องประสบปัญหาอย่างหนักเลย สิ่งหนึ่งที่ปัทได้รับจากบันทึกนี้คือ ทุกคนไม่ได้ละเลยกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลยค่ะ มีหลายคนที่เต็มใจเข้ามาช่วยเหลือจริงๆค่ะ ซึ่งหากเป็นเพียงแค่ชุมชนแห่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลเท่านั้น เหตุการณ์เหล่านี้คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนเลยค่ะ

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์มาโนชครับ ชอบประโยคนี้มากๆ "เรามาที่นี่เพื่อเรียนรู้" ผมแวะมาอ่านที่นี่บ่อยครับและทุกครั้งที่เข้ามา ผมได้ความรู้มากมายกลับไป แต่ไม่ค่อยได้มา comment หรือมาเขียน blog ที่นี่เท่าไรครับ


แวะมาอ่าน

เพื่อเก็บเกี่ยวสิ่งดีดี และไม่ผิดหวัง ชอบสูตรคุณหมอครับ เห็นด้วยกับสิ่งที่หมอคิดและเขียน

ใน Go2know เหมือนร้านอาหารที่มีเมนูหลากหลาย ให้คนเลือกชิมตามรสนิยม

แต่อย่าไปสนใจในสิ่งล่อหรืออามิสใดเลย

อยากเขียนเพื่อสื่อในสิ่งที่ตนรู้...เป็นสาระหนึ่ง

เข้าไปอ่านเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นอีกสาระหนึ่ง

comment เพื่อแลกเปลี่ยน มีทั้งสาระและไมตรีจิต

นานาจิตตัง แล้วแต่คิดและรู้จักเก็บเกี่ยวครับ

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำของคุณหมอค่ะ เห็นได้ว่าช่วงหลังๆคุณหมอจะตอบคนอื่นมากขึ้น แต่ก็มีคนคอยอ่านบันทึกคุณหมออยู่นะคะ อย่าเพิ่งทิ้งไปเลย...เห็นด้วยกับท่านอาจารย์พิชัยค่ะ หว้าคิดว่าที่ g2k มีความหลากหลายให้เราเลือกเข้าไปเรียนรู้ ทุกบันทึกล้วนเขียนออกมาอย่างตั้งใจ สำหรับหว้าแล้วทุกบันทึกให้สิ่งดีๆกับหว้าเสมอค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

แวะเข้ามาอ่านแต่มีปัญหาว่า บันทึกทีไร เครื่องแฮ้งทุกที ความคิด ณ วันนี้ เลยไม่เหมือนวันวานที่อ่านบันทึกอาจารย์แล้วค่ะ

บันทึกของอาจารย์ ทำให้เก็บประเด็น ได้หลายประเด็น แต่ก็ยังอยากเสนอความเห็นแลกเปลี่ยนกับอาจารย์  1 ประเด็นค่ะ

คือประเด็นเรื่องเอาความรู้และปัญญา เป็นตัวตั้ง ในการบันทึกหรือเพิ่มความเห็น

ดิฉันคิดว่า เป็นส่วนสำคัญที่ต้อง keep in mind เสมอ เวลาเขียน เพราะมีเหตุผลส่วนตัวว่า

  1. ต้องการให้บันทึกของตัวเองเป็นที่รวมการคิดที่ตกผลึกของตัวเอง ซึ่งเมื่อก่อนจะเขียนในสมุดเก็บไว้เอง แต่เมื่อมีบล็อก ความคิดที่ตกผลึกก็เลยถ่ายเทลงตรงนี้แทน  สิ่งที่เรียนรู้คือ เมื่อบันทึกแล้วมีคนที่เข้ามาให้ความเห็นก็จะรู้สึกขอบคุณทุกครั้งเพราะเหมือนมาช่วยชี้ประเด็นเพิ่ม
  2. ความรู้บางอย่างเป็นเรื่องเฉพาะตัวเฉพาะวิชาชีพ หากการบันทึกสามารถทำให้เกิดประโยชน์กับคนอื่นด้วย ก็ต้องบันทึกด้วยสิ่งที่เป็นจริง จริงใจไม่กั๊กความรู้ไว้ เพราะสิ่งที่ไม่ถูกต้องหากมีคนนำไปปฏิบัติตามแล้วเกิดผลเสีย เป็นบาปอันใหญ่หลวง สิ่งที่เรียนรู้คือ บันทึกจะมีจำนวนน้อยแต่ทุกบันทึกก็มั่นใจกับข้อมูลที่ได้บันทึกลงไปค่ะ
  3. เป็นคนที่เวลาคิดอะไรจะตัดเรื่องตัวบุคคลออกไปก่อน เอาเรื่องหรือสาระมาคิดก่อนก็เลยนำมาใช้ในบล็อก  สิ่งที่เรียนรู้คือ มันเป็นวิธีที่ช่วยให้ตัวเองมั่นใจที่จะเขียนความเห็นค่ะ แต่บางครั้งต้องชะลอตัวเองลงบ้างเพราะบางท่านไม่ได้ทำงานลักษณะนี้ กลัวเขาหัวใจวายค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ที่บันทึกความคิดไว้และเปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็นค่ะ....

ดิฉันประสบเช่นเดียวกับ อ.จันทรรัตน์ค่ะ...เมื่อวานcommentแล้วpost ไม่ได้ค่ะ...ดิฉันว่าตอนนี้G2Kประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง...ที่ทำให้คนทำงานเกิดความรักกัน...และมีเป้าหมายเดียวกันในการถ่ายทอดประสบการณ์ในทุกด้านของชีวิต..ทุกรูปแบบ....คงปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตคนเรามิได้มีแต่งาน..มีด้านอื่นด้วย...เพราะชีวิตด้านอื่นถ้ามีสุข..งานก็ดีตามไปด้วย...ดังนั้นเราก็น่าจะได้เป็นเพื่อนกัน....และคุยกันได้ทุกเรื่องจริงๆ...แม้เรื่องส่วนตัว(ถ้าเจ้าตัวไม่อาย)ค่ะ...เพราะถ้ามีคนเข้าใจเรา...เราก็สุขในชีวิต....ผ่อนคลาย...ความรู้ฝังลึกก้ผลุดออกมาง่ายดายค่ะ(เสียดายที่ดิฉันไม่มีเครื่องมือในblogใช้...ขอประทานโทษค่ะ..ยังเข้าระบบไม่ได้เลย...บันทึกเลยไม่ค่อยน่าอ่านค่ะ)...ขอบคุณค่ะ..อ.ผู้สอนถีบจักรยาน

เรียนคุณหมอ 

สืบเนื่องจากที่คุณหมอเข้าไปให้ข้อมูล   คุณหมอช่วยบอกความหมายที่ชัดเจนของ      

  โลกียธรรม ----> โลกุตรธรรม 

 ให้ขัดเจนกว่านี้กว่านี้จะได้ไม่ผิดพลาดในการตีความหมายค่ะ  เผื่ออาจเขียนเรื่องต่อไปได้

       มีอีกเรื่องหนึ่งไม่รู้ว่าคุณหมออ่านหรือยังค่ะ เรื่องจิตใจพอเพียงได้หรือยัง ลองอ่านดูนะค่ะhttp://gotoknow.org/blog/Ranee/77629
  • เกือบลืมนะคะคุณหมอ บางครั้งเข้ามาอ่านแต่อาจจะไม่ได้ทิ้งร่องรอยไว้
  • เห็นด้วยค่ะกับคำว่า เรามาที่นี่เพื่อเรียนรู้ เพราะฉะนั้น ต้องใช้สติ และปัญญาเป็นตัวตัดสินอย่างที่คุณหมอพูดนั่งแหละค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์หมอมาโนช

       อาจารย์เขียนได้เป็นระบบดีจัง สำหรับสูตรของอาจารย์นี่ ผมมี bias เล็กๆ ในส่วนที่อาจารย์เรียกว่า

                     Cq = คุณภาพของข้อคิดเห็นครับ

เพราะผมคิดเอาเองว่า ดัชนี้ตัวนี้แหละที่บ่งว่าเกิดการต่อยอดทางความคิด และ/หรือ ความรู้สึก ได้มากเพียงไร

  • บางเรื่อง ผู้เขียนพูดแบบให้หลักการทั่วไป แต่ก็อาจมีคนมายกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมให้เห็นชัดๆ ได้ (general -> specific)

 

  • บางเรื่อง ผู้เขียนเล่ากรณีตัวอย่าง แต่ก็อาจมีคนจับแก่นสาระ และทำให้กลายเป็นกรณีทั่วไปไดได้ (specific -> general)

 

  • บางเรื่อง ผู้เขียนให้ทั้งหลักการและยกตัวอย่างไว้ดีแล้ว แต่ก็อาจมีคนนำไปเทียบเคียงกับประเด็นอื่น ชี้ให้เห็นจุดร่วม/จุดต่าง แบบนี้กลายเป็นความแตกฉานทางความคิด ซึ่งถ้าทำดีๆ ก็กลายเป็นความรู้ & ปัญญาได้ (interconnectedness)

 

      และคิดว่าอาจจะมีแนวการแตกหน่อ / ต่อยอด อื่นๆ อีกแน่ๆ ครับ :-)

  • สวัสดีครับคุณหมอมาโนช
  • ขอบพระคุณมากครับ ที่ได้สะท้อนมุมมองให้เห็นภาพของ G2K เพื่อให้สมาชิกได้เห็นภาพของชุมชนแห่งนี้
  • เห็นด้วยกับการเรียนรู้ และพัฒนาการบันทึกใน G2K เพื่อให้เกิดผลต่อการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ผ่าน G2K (ตามสูตร)
  • และเห็นด้วยกับความคิดเห็นของคุณหมอและสมาชิกทุกท่านที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น และโดยเฉพาะความคิดเห็นของพี่โอ๋-อโณ ที่พวกเราคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวตนที่แท้จริงของพวกเราสมาชิก G2K ต่อสังคมกันต่อไปครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ

ขอบคุณคุณ minisock คุณจักรกฤษณ์ ที่แวะให้ความเห็นครับ

อาจารย์พิชัย และอาจารย์ลูกหว้าครับ ผมเห็นด้วยครับว่า G2K เรามีนานาสาระ +ไมตรีจิตเต็มเปี่ยมครับ

อาจารย์จันทรรัตน์กรุณาให้แนวคิดในการเขียนแก่ผู้แวะมาอ่าน ก็เป็นอีก style หนึ่งครับ หลายหลากดีครับ เวลาเขียนอะไรแล้วมีคนมาต่อยอด เรารู้สึกดีนะครับ ทำให้เราเห็นอะไรที่แตกต่างไปด้วย

 อาจารย์ราณีครับ เรื่องจิตใจพอเพียงได้หรือยัง ผมจะตามไปอ่านนะครับ

ขอบคุณอาจารย์บัญชาครับที่ต่อยอดความคิดให้ เห็นด้วยครับ  พอพูดถึงเรื่อง Cq = คุณภาพของข้อคิดเห็น ตอนนี้ผมเกิดความคิดอย่างหนึ่งว่าคนที่สำคัญที่จะตัดสินคือ YOU  ครับ (ฮั่นแน่ พูดเหมือนใน time เลยนะครับ Person of the Year: YOU!)  นั่นก็คือว่าเรามีใจที่จะบันทึกอะไรให้คนอื่นแล้ว ส่วนคนอื่นเขาจะได้จากเราแค่ไหน ก็มีปัจจัยอื่นๆ มากำหนดอีกมาก

คุณ สิงห์ป่าสัก ครับ ระยะเวลาจะเป็นสิ่งพิสูจน์ครับว่าเมื่อผ่านไปอีกช่วงหนึ่งแล้ว เราไปถึงไหนกันบ้าง

อาจารย์มาโนชครับ ขออนุญาตฤษีผู้อยู่ในรู แสดงความคิดเห็นอันแปลกประหลาดหน่อยครับ

เรื่องแรก ผมชื่นชมกับความพยายามในการจัดทำดัชนี แต่ Q และ Cq นั้นยัง subjective อยู่

หากดัชนี I จะบ่งถึงคุณภาพของบันทึกและความเห็น ก็ควรจะทำให้ Q และ Cq ชัดเจนขึ้น ซึ่งผมคิดว่ายากเหมือนกันครับ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

บันทึกที่มีแก่นความรู้ ก็ยังไม่แน่ว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน ความหมาย และอรรถประโยชน์ของบันทึก ขึ้นกับความสามารถในการถ่ายทอดของผู้บันทึก และพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องของผู้อ่าน

ซึ่งนี่กลับเป็นประเด็นใหญ่เรื่องของการเรียนรู้ เนื่องจากการถ่ายทอดความรู้ ไม่ได้เป็นเหมือนการถ่ายน้ำจากถังหนึ่งไปยังภาชนะอีกอันหนึ่ง แต่ผู้ถ่ายทอด พยายาม relate ความรู้-ประสบการณ์ ให้กับผู้รับ (ไม่มี physical contact) ซึ่งเหล่าผู้รับจะไม่สามารถรับได้เท่ากัน ทั้งปริมาณ รายละเอียด และความลึกซึ้ง

ดังนั้นในห้องเรียนเดียวกัน เมื่อเกิดการสอน นักศึกษาจึงรับความรู้ไปได้ไม่เท่ากัน

แม้แต่ผู้ถ่ายทอด ต่างก็มีข้อจำกัดและเลือกใช้วิธีการที่แตกต่างกันไป เช่นเดียวกับผู้รับ ก็จะเลือกรับในสิ่งที่ตนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย มากกว่าเป็นเรื่องที่ตนไม่มีพื้นฐาน หรือไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

ดังนั้นผมเห็นว่าตัวดัชนี ไม่ควรใช้ประเมินทุกบันทึก หากแต่บันทึกควรจะจัดเป็นหมวดหมู่ อาจใช้วิธี nominate บันทึกโดยผู้ที่อยู่ใน field นั้น เหมือนเป็น peer review ไปกลายๆ จากนั้นนำเอาดัชนี I มาประเมิน

สมุด (บล๊อก) และ แพลนเน็ต เป็นพื้นที่ของผู้บันทึก แต่เราอาจมี peer review planet มีลักษณะเป็น filtered planet  หลายๆอัน เพื่อช่วยให้ผู้ที่สนใจในความรู้สาขาต่างๆ เข้าถึงความรู้-ประสบการณ์ที่บล๊อกเกอร์นำมาถ่ายทอดครับ ส่วนคำหลัก นำไปสู่กลุ่มความรู้แบบ unfiltered จากหลายๆบล๊อก ซึ่งผู้อ่านต้องกรองเอาเอง

YOU นั้น ใช่เลยครับ -- ผู้บันทึกเลือกได้ และปล่อยฝีมือได้เต็มที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน และส่วนผู้อ่านก็เลือกได้เช่นกันครับ 

โวทให้เป็นบันทึกที่ "ต้องอ่าน" เลยค่ะ

คุณConductor  ครับ ผมขออนุญาตเรียกว่าซือแป่ผู้ลงจากเขาคุนลุ้น (เพื่อเผยแผ่วิทยยุทธ) น่าจะตรงกว่าฤาษีผู้อยู่ในรูนะครับ  ผมเห็นด้วยกับการจัดหมวดหมู่ครับ รู้สึกจะเคยคุยกับอาจารย์จันทวรรณ อ.เสนอจะทำในแนวของ http://digg.com/ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจทีเดียว คุณ conductor เห็นว่ายังไงครับ

อาจารย์ มัทนา  ครับ ขอบคุณมากครับ

เล่าฮูมิอาจน้อมรับการยกย่องใดๆ และยังรู้สึกสบายใจที่จะอยู่ในรู หากแต่มิขัดข้องหากผู้ใดจะใช้ประโยชน์จากความเห็นอันต่ำต้อย

กรณีของ digg ผมคิดว่าเป็นเรื่องของความนิยม จะดีในลักษณะความรู้ที่เข้าใจได้ในวงกว้าง ซึ่งเป็นเรื่องดีที่น่าลองนะครับ

แต่ลักษณะความนิยม ไม่แน่ว่าจะช่วยให้บันทึกความรู้เชิงลึกโผล่ขึ้นมาอยู่ในความสนใจมากนัก ผู้อ่านเป็นจำนวนมากอาจจะผ่านไปโดยไม่ได้สังเกตเลย เช่นบันทึกทางจิตเวช หากผมอ่านแล้วก็จะเอ๋อไปเลย เพราะไม่มีพื้นฐานใดๆ ไม่เข้าใจ อนุมาณได้ว่ามีค่าแต่ตัวเองกลับไม่รู้ค่า ไม่ digg ให้เนื่องจากรู้สึกว่าตัวเองไม่ qualified ที่จะประเมิน  แม้ว่าจะป่วย ก็ไม่ได้ใช้ความรู้นั้นมารักษาตนเอง-แต่จะพึ่งผู้เชี่ยวชาญเสียมากกว่าครับ

ถึงแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ดีกว่าไม่มีเครื่องมือช่วยผู้อ่านเลยครับ และอาจจะดีกว่านี้หากมีอาสาสมัครที่มีความรู้หลากหลาย (และมีเวลา) ที่จะช่วยแยกแยะสาระออกจากสัญญาณรบกวน (noise ซึ่งในทางวิศวกรรมถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ถึงแม้จะกรองออกได้ แต่ก็อาจมีหลุดรอดเข้ามาบ้าง)

กรณี seeded digg /guru digg อาจทำให้ปรากฏในแพลนเน็ตพิเศษซึ่งจะนำผู้อ่านซึ่งเชื่อในการวินิจฉัยของอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญ ได้เข้าไปดูบันทึกนั้นๆ เพื่อตัดสินใจเอาเองว่ามีค่าต่อตนเพียงใด ในลักษณะนี้ เป็นการ digg รายบันทึก ไม่เหมือนกับการรับบล๊อกเข้าแพลนเน็ต

ระหว่างค้นข้อมูลเก่าๆ ไปเจอบทความเก่าของ ดร.บวร ปภัสราธร ซึ่งเขียนมาเกือบปีแล้วครับ เรื่อง "ข่าวสารเท่าเทียมแต่รู้ไม่เท่าทัน"

ครึ่งหลังของบทความ ผมคิดว่าน่าสนใจและชอบมากครับ จึงขอตัดตอนมาบันทึกไว้ตรงนี้ เนื่องจากมั่นใจว่าผู้ที่(ยัง)อ่านข้อคิดเห็นของบันทึกนี้มาจนถึงตรงนี้ จะเข้าใจประเด็นที่ ดร.บวร เขียน


...

อดีตนักวิจัยคนหนึ่งของอินเทล ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ผู้คนจะเรียนรู้ได้จากข้อมูลข่าวสารมากน้อยเพียงใดนั้น มิได้ขึ้นกับปริมาณข้อมูลข่าวสารหรือคุณภาพของข้อมูลข่าวสารนั้นแต่เพียงอย่างเดียว ผู้คนจะเรียนรู้จากข้อมูลข่าวสารนั้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นผู้ที่สามารถเลือกใช้ทฤษฎีที่ตนเองมีความรู้ มีความเข้าใจอยู่แต่เดิมมาประยุกต์เข้ากับข้อมูลข่าวสารนั้นได้อย่างเหมาะสม และจะต้องเป็นผู้ที่เคยมีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับประเด็นข่าวสารที่นำเสนอนั้นมาพอสมควรอีกด้วย

ถ้าขาดทฤษฎีหรือขาดประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง ถึงจะได้รับข้อมูลข่าวสารมามากเพียงใด คนนั้นก็ไม่อาจรับรู้และเข้าใจประเด็นที่บ่งบอกโดยข้อมูลข่าวสารชุดนั้นได้ คนที่สนใจจะลงทุนในตลาดหุ้น แต่ไม่เคยมีประสบการณ์ซื้อขายหุ้นมาก่อน ไม่เคยเรียนรู้ทฤษฎีการเงินการลงทุนใดๆ มาแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าวันนี้คนนั้นจะอ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจ ฟังวิทยุ ดูรายการโทรทัศน์ที่รายงานข้อมูลตลาดหุ้นไปพร้อมๆ กับอีกคนหนึ่งที่เป็นนักลงทุนที่คร่ำหวอดกับการลงทุนในตลาดหุ้นนานนับสิบปี แถมด้วยมีปริญญาทางด้านการเงินควบคู่ไปด้วย

คนแรกไม่ว่าจะสนใจอยากจะลงทุนใน ตลาดหุ้นมากเพียงใด ก็ไม่สามารถเรียนรู้จากรายงานข้อมูลที่ได้มาเท่ากับนักลงทุนดั้งเดิมอีกคนหนึ่งได้ เพราะคนแรกมีแต่ความสนใจ แต่ขาดทั้งทฤษฎีและประสบการณ์ ดูรายงานตลาดหุ้นก็มีความรู้เพียงแค่หุ้นขึ้นหุ้นลง ในขณะที่นักลงทุนหน้าเก่าสามารถเรียนรู้ได้ว่าจะลงทุนในตลาดหุ้นในวันหน้าได้อย่างไร

ทฤษฎีและประสบการณ์จึงเป็นองค์ ประกอบสำคัญในการที่ผู้คนจะเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่ตนได้รับมานั้นให้กลาย เป็นความรู้ที่จะใช้วิเคราะห์ประเด็นใดประเด็นหนึ่งให้เกิดความเข้าใจได้อย่างกระจ่างแจ้ง แม้ว่าจะเป็นเจ้าทฤษฎีความรู้ท่วมท้น แต่ถ้าขาดประสบการณ์ก็อาจทำให้เรียนรู้อย่างผิดๆ ได้จากข้อมูลข่าวสารที่ตนเองได้รับมา เพียงแค่ไปเลือกใช้ทฤษฎีที่ไม่เหมาะสมในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ตนเองได้รับมา ก็จะทำให้เรียนรู้ไปคนละเรื่องได้ทีเดียว

ถ้าได้ข้อมูลเกี่ยวกับดวงดาวในจักรวาลมาอยู่ในมือ แล้วต้องการที่จะเรียนรู้จากข้อมูลดวงดาวเหล่านั้น ถ้าต้องการความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ไปใช้ทฤษฎีทางโหราศาสตร์มาวิเคราะห์ ความรู้ที่ได้คงไปคนละทางกับการใช้ทฤษฎีดาราศาสตร์มาวิเคราะห์อย่างแน่นอน

นักการเมืองสองคนที่ต่างศึกษา ทางรัฐศาสตร์มาเช่นเดียวกัน คนหนึ่งมีชั่วโมงบินทางการเมืองมากกว่าอีกคนหนึ่ง คนนั้นย่อมได้เปรียบในการวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น กล่าวคือสามารถใช้ทฤษฎีมาประยุกต์เข้ากับข้อมูลที่ตนเองมีอยู่ได้ดีกว่านักการเมืองมือใหม่

ซึ่งถ้ายอมรับว่าคำตอบของอดีตนักวิจัยจากอินเทลผู้นี้พอจะนำมาใช้ในองค์กรของเราได้แล้ว ต่อไปเราจะต้องคิดมากไปกว่าการที่จะพยายามกระจายข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงให้กับผู้คนในองค์กรของเรา โดยตั้งความหวังไว้ว่าถ้าต่างคนต่างได้ข้อมูลข่าวสารเท่าเทียมกันแล้ว ทุกคนก็จะเรียนรู้ได้เท่าทันกัน เราคงต้องคิดเพิ่มเติมขึ้นอีกว่า

ทำอย่างไรจึงจะเตรียมความรู้พื้น ฐานทางทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารนั้นให้กับผู้คนในองค์กรของเราได้อย่างเพียงพอ และเราจะต้องพยายามหาหนทางที่จะทำให้ผู้คนได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับประเด็น ในข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอไปนั้นด้วย ถ้าวันนี้ทำได้ครบถ้วนทั้งเรื่องของทฤษฎี ประสบการณ์ และข่าวสารที่เท่าเทียมกันแล้ว วันหน้าจะได้ไม่ต้องมาต่อว่าต่อขานกันเองภายในองค์กรว่าใครโง่ใครฉลาดอีกต่อไป

ผมเป็นคนหนึ่งเหมือนกันที่ว่างๆมักจะเข้ามาหาอะไรอ่านจาก Gotoknow โดยปกติผมจะเขียนอยู่ทางฝั่งของ learners ซะมากกว่า

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งเกี่ยวกับสูตรที่อาจารย์นำเสนอ ผมว่ามันใช่เลยผลของการกระจายความรู้จะมากจะน้อยมันก็ขึ้นอยู่กับ 4 อย่างนั้น  

ขอบคุณคุณ [v] lives  ครับที่เห็นด้วยกับข้อเขียนของผม

ขอบคุณคุณ Conductor  ครับที่มาต่อยอดความคิดให้ งานเขียนทุกชิ้นของผม ผมรักรู้สึกเหมือนมันมีชีวิต เป็นสิ่งๆ หนึ่งที่เราผลิตขึ้น จึงดีใจที่มีคนอ่าน และยิ่งดีใจถ้ามีคนมาช่วยแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งครับเหมือนกับเป็นการมาขัดเกลาผลงานของเรา ความคิดของเราให้มีประกายมากขึ้น  โดยเฉพาะความคิดเห็นในทางตรงกันข้าม ความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ต่อยอดความคิด ซึ่งผมถือเสมือนว่าเป็นการขัดเงาแรงๆ ที่ยิ่งทำให้คราบที่ติดอยู่หลุดไปเรื่อยๆ ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านจริงๆ 

ผมเห็นด้วยกับคุณ conductor เรื่องข้อจำกัดของ digg ว่าจะดีในกรณีที่เรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องที่สามารถอ่านเข้าใจกันได้ในวงกว้าง ส่วนในเรื่องที่ค่อนข้างจะลึกลงไปนั้น ผมก็เห็นด้วยอีกเหมือนกันว่าถ้ามีอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันอ่านและประเมินก็จะทำให้เรื่องดีๆ ได้ปรากฎต่อคนกลุ่มมาก 

บทความของ ดร.บวร ปภัสราธร  น่าสนใจครับ จะเข้าหลักของการศึกษาตามแนวพุทธิที่ว่า "ศึกษา" หมายถึง ทั้ง ปริยัติ - เรียนจริง ปฎิบัติ - ทำจริง = ปฎิเวธ - รู้แจ้ง หรือเปล่าครับ

ดังนั้น ณ ขณะนี้ ความคิดในเรื่องนี้ของผมถึงที่ว่า สิ่งหนึ่งที่น่าจะทำให้ impact ของบทความมีมากขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยด้านผู้เขียน และผู้อ่านแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยทีเดียวคือระบบที่จะทำให้เรื่องได้ปรากฎในที่อันควร แก่ผู้ที่สนใจ และแสวงหาสิ่งที่ตนเองต้องการ ซึ่ง ณ ขณะนี้ส่วนนี้ยังเป็นข้อจำกัดอยู่

แหม... ผมไม่ได้คิดตรงกันข้ามกับอาจารย์เสียหน่อยครับ ตามศัพท์ของท่านอาจารย์วิจารณ์ ผมเพียงแต่เอาแว่นขยายไปส่องเพื่อหาความหมาย ข้อจำกัด และข้อเสนอสำหรับวิธีการที่อาจจะดีขึ้นครับ

ส่วนเมื่อส่องแล้วเห็นอะไร ก็คงขึ้นกับวิจารณญาณของผู้อ่านแต่ละท่านครับ

ชอบบันทึกและสูตรของคุณหมอมากค่ะ....ขอเติมนิดหนึ่งได้ไหมค่ะ

  I = Initiative & Innovative --> Intellectual Capital

ขอบคุณค่ะ

เอ๋

สวัสดีค่ะ  คุณหมอมาโนช

  • ครูอ้อยมาเขียนบันทึกที่นี่  โดยไม่มีอะไรชักจูงมาเลย  เพียงแต่ชอบ  ชอบที่จะเรียนรู้  ชอบที่จะอ่านและเขียน  จนได้รับรางวัล   ครูอ้อยก็ยังคงเป็นครูอ้อย  มีแต่ได้กับได้ ณที่นี้  จะเขียนแบบไหน  เป็นอิสระ  ไม่ก้าวก่ายใคร 
  • ส่วนอุดมการณ์หรืออุดมคติ  ก็มี   แต่ในมวลสมาชิกหมู่มากนี้   ย่อมคล้อยไปตามกระแสแห่งความร่มเย็น....ก็แล้วกันค่ะ

ขอบคุณค่ะ..สูตรของคุณหมอ ..เจ๋งไปเลยค่ะ

อาจารย์พรรณีครับ ขอบคุณครับที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น เห็นด้วยครับ คิดสร้างสรรค์ดีจัง ^__^

อาจารย์สิริพรครับ ยินดีมากครับที่ได้ต้อนรับอาจารย์ผู้ที่ active และ energetic ตลอด อยากบอกว่าสมาชิกเราได้ประโยชน์จากบทความของอาจารย์ครับ อาจารย์เป็นคนสำคัญผู้หนึ่งที่ทำให้ G2K มีชีวิตชีวาอยู่ตลอดครับ

แวะมาทักทายครับ

ผมก็แวะเข้ามาหาความรู้ วิธีคิด ต่างมุมมองของคนในสังคมเพื่อเอาไปเป็นประโยชน์ต่อครับ

The worth of book is to be measured by what you can carry away from it.

(ได้จาก asia book )

ก็คงเหมือนกับ gotoknow นี้ละครับ แต่ละคนคงได้อะไรที่หลากหลาย...

เรียน ท่านนายแพทย์มาโนช (ผมขอยกย่องว่าท่านเป็นปราชญ์แห่งสยาม)

ผมขอใช้คำนี้ชมความกล้าของท่านที่กล้าประณามว่าทีมประเมิน สคส ไม่มีวิสัยทัศน์

แต่ผมผู้น้อยด้อยปัญญา ไม่มีความสามารถพอที่จะไปเทียบเทียมกับท่าน ผมจึงมองว่าทีมประเมิน สคส นั้นมีวิสัยทัศน์ดีกว่าผม และผมยังชื่นชมทุกท่านอยู่เช่นเดิม แม้จะถูกท่านประณามอย่างเสียหาย ไม่ไว้หน้าก็ตาม

ในฐานะที่ท่านมีวิสัยทัศน์เหนือกว่าทีมประเมินอย่างมากมาย ผมใตร่ขอความอนุเคราะห์ชี้แจง ว่าวิสัยทัศน์ในการจัดการความรู้ของท่านนั้นเลอเลิศระดับไหน ไกลกว่าทีมประเมิน สคส เพียงใด

ผมขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

และผมใคร่ขอให้ท่านไปแสดงความคิดเห็นกับทีมประเมินโดยตรง ไม่ต้องผ่านบล็กผม จะช่วยให้ผมจะอึดอัดน้อยกว่านี้ครับ

กรุณาส่ง link ไว้ที่บล็อกผมด้วย ผมจะตามไปอ่านครับ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

เรียนอาจารย์แสวงที่เคารพ

ผมได้อ่านข้อความของอาจารย์แล้วมึนงงครับ โดยเฉพาะข้อความที่ว่า  ".. และผมใคร่ขอให้ท่านไปแสดงความคิดเห็นกับทีมประเมินโดยตรง ไม่ต้องผ่านบล็อกผม จะช่วยให้ผมจะอึดอัดน้อยกว่านี้ครับ.."

ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอ้างอิงถึงบันทึกของอาจารย์ที่ไปทำให้อาจารย์ต้องอึดอัดได้ไหมครับ  เพราะนี่มันก็ผ่านมาตั้ง 7-8 เดือนแล้ว ผมจำไม่ได้ครับ เลยต่อไม่ติดครับ

สวัสดีค่ะ คุณมาโนช หนูคิดว่า g2k 1) มีไว้ให้ประโยชน์ทางสังคม เช่น คนที่อยากเป็นนักเขียน ก็ลองมาเริ่มต้นจากการสร้างบล็อกที่นี้ มันเหมือนว่าดูว่าเราเขียนแล้วเข้าท่าไหม ต้องปรับปรุงอย่างไร 2) ทำให้เห็นน้ำใจและความอัธยาศัยดี + ความมีน้ำใจของเหล่าบล็อกเกอร์ 3) สร้างสรรค์โดยใช้ Km เช่นคนที่ไปเที่ยว ไปออกค่าย ก็มาเขียนเล่าสู่กันฟัง ถือว่าเป็น KM ที่ดีค่ะ 4) ขอบคุณพื้นที่ g2k ทำให้ได้ ลปรร

สืบเนื่องจากการอ้างอิงเนื้อหาในบันทึกของดร.แสวง ผมได้เพิ่มเติมข้อชี้แจงในบันทึกแล้วนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท