ถอดรหัสพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราช


น้ำมีคุณสมบัติที่สามารถเปลี่ยนรูปทรงได้ตามแต่ภาชนะที่จะบรรจุหรือใส่ และน้ำนั้นทำให้เกิดความชุ่มเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าน้ำนั้นเป็นน้ำที่สะอาดและเป็นน้ำจากธรรมชาติด้วยแล้วก็จะยิ่งให้คุณค่าและประโยชน์กกับผู้คน เปรียบเหมือนชุมชนหนึ่งๆที่มีสภาพหรือบริบทที่แตกต่างกันจะขึ้นลูกหรือพัฒนาให้เป็นรูปทรงใด ให้เป็นอย่างภาชนะใดหรือบรรลุเป้าหมายใดก็ย่อมแล้วแต่ชุมชนนั้นจะได้คิดออกแบบ ส่วนคำว่า เพชร ก็สื่อความหมายประมาณว่าเข้มแข็งยั่งยืน ชุมชนที่พัฒนาดีแล้ว เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์การพัฒนาดีแล้วก็จะเป็นผลให้ชุมชนนั้นสมบูรณ์ เข้มแข็ง และยั่งยืน

จากการระดมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของที่ประชุมร่วมภาคประชาชนและภาคราชการ ต่อจากบันทึกที่แล้ว ลิ้งค์อ่าน ในที่สุดท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้สรุปแนวคิดแนวทางพัฒนาจังหวัดนครศรีรรมราช เป็นแบบจำลองดังภาพข้างล่าง

click ดูภาพใหญ่

เนื่องจากภาพที่เห็นดูคล้ายกับภาพหยดน้ำ จึงเรียกแบบจำลองหรือโมเดลการพัฒนานี้ว่า "หยดน้ำเพชรโมเดล"

ทำไมจึงตั้งชื่อเป็นอย่างนี้ ทำไมจะต้องเป็นหยดน้ำ และหยดน้ำนี้จะต้องมีเพชรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยได้อย่างไร เพราะคุณสมบัติของของสองสิ่งนี้ดูจะขัดแย้งกัน

คำอธิบายก็น่าจะประมาณว่า น้ำมีคุณสมบัติที่สามารถเปลี่ยนรูปทรงได้ตามแต่ภาชนะที่จะบรรจุหรือใส่ และน้ำนั้นทำให้เกิดความชุ่มเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าน้ำนั้นเป็นน้ำที่สะอาดและเป็นน้ำจากธรรมชาติด้วยแล้วก็จะยิ่งให้คุณค่าและประโยชน์กกับผู้คน เปรียบเหมือนชุมชนหนึ่งๆที่มีสภาพหรือบริบทที่แตกต่างกันจะขึ้นลูกหรือพัฒนาให้เป็นรูปทรงใด ให้เป็นอย่างภาชนะใดหรือบรรลุเป้าหมายใดก็ย่อมแล้วแต่ชุมชนนั้นจะได้คิดออกแบบ ส่วนคำว่า เพชร ก็สื่อความหมายประมาณว่าเข้มแข็งยั่งยืน ชุมชนที่พัฒนาดีแล้ว เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์การพัฒนาดีแล้วก็จะเป็นผลให้ชุมชนนั้นสมบูรณ์ เข้มแข็ง และยั่งยืน

แบบจำลองหรือโมเดลนี้บอกให้เห็นถึงเป้าหมายของการพัฒนาว่ามุ่งสู่ความเป็นชุมชนอินทรีย์ ชุมชนที่มีการเรียนรู้แทรกปนอยู่ในทุกกิจกรรมตลอดเวลา โดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือที่สำคัญเครื่องมือหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ชุมชนอินทรีย์นี้จะตั้งอยู่บนฐานของวิสัยทัศน์จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ เกษตรและท่องเที่ยวน่าอยู่ สู่สังคมที่พัฒนาอย่างยั่งยืน และอยู่บนฐานของเศรษฐกิจพอเพียงอีกฐานหนึ่งด้วย

น้ำหนึ่งหยดเปรียบเหมือนหน่วยของการพัฒนาหน่วยหนึ่ง จะเป็นหน่วยครัวเรือน กลุ่มครัวเรือน หรือหมู่บ้าน หรือตำบล หรืออำเภอ หรือสุดท้ายก็จะเป็นหน่วยจังหวัดนครศรีธรรมราชทั้งจังหวัด เป็นหยดน้ำที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ เพราะจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่พัฒนาอย่างบูรณาการทั้งจังหวัด

ในการพัฒนาชุมชนหนึ่งๆให้บรรลุสู่ชุมชนอินทรีย์นั้น  คนในชุมชนเองคือผู้มีบทบาทสำคัญ เพราะแนวคิดแนวทางการพัฒนานี้จะยึดพื้นที่เป็นหลัก ประชาชนเป็นศูนย์กลาง อาศัยกลไก ฐาน และทุนเดิมของชุมชนเป็นแนวในการพัฒนา ไม่เน้นเปิดหน้างานใหม่ในชุมชน ใช้บรรดาสิ่งที่คนในชุมชนสร้างเอาไว้แล้วเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนงานพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หน่วยงาน องค์ค์กร ภาคีพัฒนาทุกภาคส่วนคือเครื่องมือสำหรับคนในชุมชนใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนา บุคคลจากหน่วยงาน องค์กร ภาคีพัฒนาต่างๆคือตัวช่วยในการอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ เร่งปฎิกิริยา และสร้างเครือข่ายการทำงานให้เข้มข้นกว้างขวางร่วมกับชาวบ้าน เพื่อให้คนในชุมชนสามารถสร้างความสำเร็จสร้างความชำนาญการในแต่ละเรื่องและเพื่อการพึ่งตนเองได้ในที่สุด 

ในน้ำหนึ่งหยดจะมีพื้นที่ว่างสำหรับชุมชนเองจะได้พลิกแพลง สร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้กระบวนการพัฒนาตามความต้องการของชุมชนเอง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นจากหน่วยงานภาคส่วนใดก็สามารถเข้าไปร่วมมือกับชุมชนได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ปราชญ์ ผู้รู้ ฯลฯสามารถเข้าไปเป็นตัวช่วยในการกรองให้น้ำใสสะอาดได้ แสดงบทบาทเสริมหนุนซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ซ้ำซ้อนบทบาทกัน

ในแบบจำลองการพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราช หยดน้ำเพชรโมเดล นี้ จะเห็นได้ว่าเป็นกระบวนการพัฒนาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องร่วมกันของทั้งสามฝ่ายคือคนในชุมชนเองซึ่งเป็นองค์ประกอบหลัก หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆที่มีหน้างานอยู่ในชุมชน และภาควิชาการทั้งความรู้ภูมิปัญญาและความรู้จากแหล่งความรู้วิชาการภายนอกชุมชน

ชุมชนแต่ละชุมชนจึงจำเป็นต้องจัดทำระบบข้อมูล ระบบเชื่อมต่อการพัฒนา และระบบกรองน้ำให้สะอาด เพื่อให้เห็นภาพขบวนการเคลื่อนงานพัฒนาของชุมชน

นี่คือ หยดน้ำเพชรโมเดล โมเดลการพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราชตามความเข้าใจของผม

วันนี้ผมจะนำข้อความนี้ไปให้ ผู้ทีมีความสามารถทำไดอะแกรมของสำนักงาน พมจ.จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำแบบจำลองนี้ออกมาเป็นไดอะแกรม ตามที่นัดหมายไว้

 

หมายเลขบันทึก: 80109เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2007 20:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

น่าสนใจโมเดลนี้มากครับ

แต่ ก็อยากจะถามว่า กระบวนการขับเคลื่อนจะเป็นอย่างไร ทั้งในเชิงภายใน และการขยายผล

ข้อต้องระวัง และจุดแข็งของระบบมีอะไรบ้างครับ

คิดว่าคงไม่ยากเกินไปนะครับ

 

มาดูครูนง ถอดรหัส "หยดน้ำเพชรโมเดล" ... idea ลำเลิศจริงๆ ค่ะ

กรมอนามัยก็ถูกแซวว่า จะทำ "หิ่งห้อยโมเดล" ค่ะ คุณศรีวิภาเธอบรรยายไว้ที่นี่ ... เสวนา KM : World Bank & Thailand Experience Sharing (4) ... "Organizational Capabilities for KM" กรมอนามัย ...

ตอนนี้รายงานข่าวเพื่อนฝูงหน่อยนะคะ ว่า คุณศรีวิภาเธอเล่นวัดพื้นค่ะ ... เธอคงจะสงสัยว่า พื้นน่ะมันแข็งหรือนิ่ม ตอนนี้ก็เลยเข้า course ใส่เฝือกอ่อนที่สะโพกอยู่ค่ะ

ดร.แสวง ครับ

         ย่อๆนะครับเพราะเรื่องนี้เป็นหนังยาว เท่าที่ทราบ KM แก้จนเมืองนครฯ เป็น KM ภาคราชการ เท่านี้ก็ยากแล้ว ที่ไหนๆทำแล้วก็บ่นกันทั้งนั้น นี่คือข้อควรระวัง ไม่ยอมถอดหมวกกัน ทำวงเรียนรู้ไม่ได้ ดังเป็นที่ทราบๆกันอยู่ แถมจังหวัดนครศรีธรรมราชเราทำทั้งจังหวัด 1,551 หมู่บ้าน 165 ตำบล 23 อำเภอ โอโห! ต้องร้องว่าโอโหจริงๆ ร้องคำอื่นไม่ได้ ทำเต็มพื้นที่ ทำบูรณาการทั้งจังหวัด เขาทำกันจุดเล็กจุดน้อยทั้งนั้น นี่ก็เป็นสิ่งที่พึงระวังสุดๆ ไม่มีใครคิดว่าระดับนโยบายของจังหวัดจะตัดสินใจอย่างนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ปีหนึ่ง ปี 2548 เราทำทดลองนำร่องก่อน 3 ตำบล ในพื้นที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อย่างเก่งเราก็คาดกันว่าระดับนโยบายก็คงจะขยายผลไปสักอำเภอละตำบล 23 ตำบล ประมาณนั้น แต่ต้องทำทั้ง 165 ตำบล เต็มพื้นที่ทั้งจังหวัด แต่ทะยอยทำนะครับ ระยะเวลา 6 ปี ระหว่างปี 2548 -2553 ค่อยๆทะยอยทำตามกำลัง

         การขับเคลื่อนทั้งๆที่รู้อยู่ว่าKM ภาคราชการทำยากเพราะไม่สามารถถอดหมวกมาเป็นนักเรียนกันได้ทั้งในหน่วยงานเดียวกัน และในภาคีเครือข่ายหน่วยงานทีมาร่วมมือกัน

ดร.แสวง ครับ

        ต่อนะครับ ขัดข้องทางเทคนิคเล็กน้อย

        เรียนรู้แบบมวยวัดกันครับ จัดโครงสร้าง หรือจัดทัพ กลไกการทำงาน เป็นวงเรียนรู้ ตั้งแต่ วงเรียนรู้ของแกนนำหมู่บ้านๆละ 8 ท่าน ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการแก้จนเมืองนครฯ หมู่บ้านละ 64 ครัวเรือน แกนนำหนึ่งคนดูแลสมาชิก 8 คน เราหวังว่าในระยะยาวแล้วแกนนำหมู่บ้านเหล่านี้จะได้พัฒนาสมรรถนะทำกระบวนการจัดกดารความรู้ของหมู่บ้านได้ เป็นนักจัดการความรู้ของหมู่บ้าน

        ภาคราชการและเครือข่าย ย-ม-ม-นา (เครือข่ายภาคประชาชนที่รวมตัวกันระหว่าง เครือข่าย ยาง ไม้ผล ประมง และเครือข่าย นา ) จะทำตนเองเป็นทีมคุณอำนวย ไปอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของคุณกิจครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ร่วมกับแกนนำหมู่บ้าน อำนวยบ้างไม่อำนวยบ้างก็ว่ากันไปตามแต่ภูมิรู้ภูมิธรรมของแต่ละบุคคลแต่ละพื้นที่ ทีมที่ไปทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยนี้จะคละกันทีมละ 3 คน ส่วนใหญ่ก็จะประกอบด้วย ครู กศน. เกษตรตำบล พัฒนาการ อาจจะต่างไปจากนี้ก็ได้ เพื่อความเข้าใจอย่างรวดเร็วครับเอาเป็นว่าประกอบทีมกันอย่างนี้ ไปร่วมเรียนรู้ออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านในเวทีเรียนรู้ต่างๆ ที่ออกแบบไว้ทีมละ 3 คน ก็หวังจะให้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่นำกระบวนการ ลิขิต และประสานงานทั่วไป

           ทีมคุณอำนวยตำบล 3 คนดังกล่าว ก็เป็นผู้เรียน เรียนรู้งานส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของตน ทำได้ไม่ได้ ก็มาบอกมาเล่ากันในวงเรียนรู้ระดับอำเภอ ซึ่งมีทีมคุณอำนวยอำเภอทำกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอีกระดับหนึ่ง ทีมคุณอำนวยอำเภอซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ ก็ได้แก่ปลัดอำเภอ ผอ.กศน.อำเภอ พัฒนาการอำเภอ เกษตรอำเภอ  และสาธารณสุขอำเภอ ทำหน้าที่ทีมวิทยากรกระบวนการ กับทีมคุณอำนวยตำบลทุกตำบลในอำเภอ ก็เป็นห้องเรียนหรือวงเรียนรู้หนึ่งครับ ...จริงๆแล้ว วงนี้ไม่เวิร์คครับ ผิดกับวงเรียนรู้ระดับจังหวัดซึ่งเป็นวงเรียนรู้ของทีมคุณเอื้อจังหวัดมีหัวหน้าส่วนราชการระดับต่างๆเป็นผู้เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดท่านวิชม ทองสงค์ ประธานคุณเอื้อเป็นหัวหน้าห้อง วงนี้ก็เวิร์คมากครับ เท่าที่ผมตัวเล็กตัวน้อยจะเจ๊าะแจ๊ะมาได้

            ก็ขับเคลื่อนงานด้วยการเชื่อมวงเรียนรู้กันเป็นเครือข่ายแบบนี้ครับ  มีข้อค้นพบ ประสบการณ์ จุดเด่น จุดด้อยมากมาย รถสิบล้อคันหนึ่งขนไม่หมดแน่.....

            การที่ไม่ยอมถอดหมวกมาเป็นนักเรียน เรียนรู้งานหน้างานกันนี่แหละครับคือปัญหาสาหัสสากรรจ์ ปีนี้ซึ่งเป็นขวบปีที่ 3 ก็ได้หยิบเรื่องนี้มาเล่นกัน มีการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรโครงการกันทุกระดับ ให้ถอดหมวกนี่แหละครับ....ก็ทำไปแล้วก็ปรับเปลี่ยนเรียนรู้ไปนั่นแหละครับ จากมวยวัดเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ก็มีหลักการมากขึ้น เอาประสบการณ์ปีที่แล้วมาเป็นบทเรียน...จะไปถึงไหนได้ก็ไม่รู้ แต่จากการที่พวกเราทำกันอย่างนี้หลายฝ่ายเป็นกำลังใจให้ครับ สกว. สสส. ศูนย์คุณธรรม สปสช. ฯลฯ มาร่วมทัพกันเยอะแยะไปหมด นี่คงจะเป็นผลกระทบมั้งครับ...ลู่ทางปีนี้ท่าว่าจะไปได้ดีครับ

            แล้วผมค่อยเล่าต่อนะครับ มันจะยาวมากไปแล้ว

คุณหมอนนทลี แห่งเพื่อนร่วมทาง ครับ

         "หยดน้ำเพชรโมเดล" โมเดลพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราช ถ้าจะมี "หิ่งห้อยโมเดล"  โมเดลพัฒนางานของกรมอนามัยมาเคียงข้าง ก็น่าจะแลกเปลี่ยนแบบจำลองนี้กันได้นะครับ อยากจะให้มีให้ได้จังเลย มีคนแซวเท่ากับมีสิ่งท้าทายครับ อยากให้คุณหมอคิดและทำต่อนะครับ แค่ชื่อก็โดนใจแล้ว

          เอ้า คุณศรีวิภา คนเก่งยอดคุณอำนวยเธอต้องเข้าเฝือกเจ็บสะโพกเพราะวัดพื้นหรือครับ ขอเป็นกำลังใจให้เธอหายไวๆนะครับ

         ขอบคุณ...ที่คุณหมอเข้ามาแจมและส่งข่าวคราวเพื่อนฝูง

กราบสวัสดีครับ ครูนงเมืองคอน

    พอดีบังเอิญเห็นบทความเลยเข้ามาดู เพราะเกิดและห่วงใยในสิ่งที่เห็นในเมืองคอนเช่นกัน ประการแรกที่เป็นห่วงมากตอนนี้คือพิบัติภัยที่กระทบต่อพี่น้องแถบชายฝั่งทะเล ประการที่สองที่อดห่วงเรื่องการเปลี่ยนที่นาเป็นสวนยาง ลองอ่านดูนะครับ เผื่อคุณครูนงเห็นด้วยในบทความและมีโอกาสพบประพี่น้องประชาชนได้ดีกว่าผม หากมีอะไรก็เชิญวิจารณ์ได้ที่บทความเลยนะครับ กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ด้วยความเคารพและนับถือ

สมพร ช่วยอารีย์

คุณสมพร ครับ

            ได้ไปแสดงความเห็นไว้แล้วครับ

  • ติดตามเข้ามา  และร่วมเรียนรู้ด้วยคนนะครับ
  • ขอให้กำลังใจครูนง และทีมงานทุกๆ คนนะครับ

น้องสิงห์ป่าสักครับ

            เรียนรู้แบบไม่รู้จบจริงๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท