ว่าด้วยการอบรม


ที่สำคัญต้องชี้ให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของความรู้ เห็นคุณค่าของทุนความรู้ เพื่อเชื่อมโยงประยุกต์ใช้ทุนความรู้ในชีวิตประจำวัน และในวิถีของชุมชน ไม่ให้เกิดคำถามทิ้งท้ายว่าอบรมแล้วได้อะไร? เพราะทางราชการมักตอบว่า อบรมแล้วได้ความรู้ แล้วความรู้ใช้ทำอะไร ?

            เมื่อคราวไปจัดอบรมชาวเขาหลักสูตร การพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  ตามโครงการขยายผลงานโครงการหลวงเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน  ที่บ้านถ้ำเวียงแก  หมู่ที่ 1 ตำบลนาไร่หลวง อำเภอสองแคว  จังหวัดน่าน   ผมมีความรู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน  เพราะเคยปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาเคลื่อนที่  อยู่ที่นี่เป็นที่แรกในชีวิตราชการ  ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดน่าน  กรมประชาสงเคราะห์   กระทรวงมหาดไทย(ในขณะนั้น)  ก่อนจะมาเป็นศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 25 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

           วันนี้บ้านถ้ำเวียงแก เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง  ตั้งอยู่บนสันดอยสูง   ทางเข้าหมู่บ้านไม่ว่าจะเข้าทางอำเภอสองแคว  หรือทางอำเภอเชียงกลาง  ล้วนผ่านเส้นทางลาดชัน  เมื่อก่อนผมต้องขี่มอเตอร์ไซคล์วิบาก ZUZUKI  รุ่น TS125  ไต่ไปตามทางดอยดินแดง ที่หน้าแล้งฝุ่นหนาจมล้อ  และหน้าฝนมีแต่ร่องและโคลนเลน  17 ปี ผ่านไป หมู่บ้านยังตั้งอยู่ที่เดิม  เพียงแยกเป็นหมู่บ้านผาหมี เพิ่มขึ้นมา และเส้นทางเปลี่ยนเป็นทางลาดยางถาวรขึ้น  แต่ยังมิวายเป็นหลุมเป็นบ่อต้องให้คอยหลีกหลบ  และผมเดินทางเข้าหมู่บ้าน โดยพาหนะรถยนต์ปิคอัพ...

            คนในหมู่บ้านยังมีหน้าตาแบบเดิม  แม้ว่าในยุคนี้  คนรุ่นใหม่จะเข้ามาบริหารชุมชนมากขึ้น แต่ทุกคนมีอัธยาศัยเหมือนเมื่อก่อน  และต่างมีภารกิจกันมากขึ้น   ช่วงหลังในชุมชนบ้านถ้เวียงแกมักมีปัญหาเรื่องการจัดอบรม  เนื่องจากชาวบ้านไม่ค่อยยอมเข้ารับการอบรมที่จัดโดยส่วนราชการหรือหน่วยงาน เพราะเริ่มรู้สึกเบื่อการอบรม เดี๋ยวหน่วยงานโน้นก็เข้ามา  หน่วยงานนี้ก็เข้ามา  ไม่เห็นว่าชีวิตจะมีอะไรดีขึ้น กว่าเก่า   เอาแต่อบรม ๆ   แม้จะอธิบายแล้วว่า อบรมเพื่อให้ได้รู้ได้เข้าใจ  เป็นประโยชน์กับชีวิต แต่ดูเหมือนว่าสิ่งนี้จะเป็นนามธรรมเกินไป  ความรู้ใช้ไม่ได้กินไม่ได้  ต้องการเงินและอาหารมากกว่าความรู้ บางทียังโดนชาวบ้านถามเลยว่า มาเข้าอบรมแล้วมีเบี้ยเลี้ยงให้มั้ย  ถ้าไม่มีก็ไม่มาเสียเวลาทำมาหากิน !?!

          เป็นประเด็นปัญหาใหญ่ที่ทางราชการผู้จัดฝึกอบรมในชุมชนต้องปรับตัว  อย่างน้อยก็ปรับหลักสูตรการอบรมให้น่าสนใจ  และง่ายต่อการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน  การปรับช่วงเวลาให้ตรงกับปฏิทินชุมชน  เพราะชาวบ้านบอกว่าทางราชการมักเลื่อนนัดบ่อย นัดไม่เป็นนัด  ชาวม้งชอบคำไหนคำนั้น  ไม่ชอบให้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา   วิทยากรต้องเน้นเชิงกระบวนการให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมมากกว่าจะพร่ำสอนบรรยายลูกเดียว  ที่สำคัญต้องชี้ให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของความรู้  เห็นคุณค่าของทุนความรู้  เพื่อเชื่อมโยงประยุกต์ใช้ทุนความรู้ในชีวิตประจำวัน และในวิถีของชุมชน   ไม่ให้เกิดคำถามทิ้งท้ายว่าอบรมแล้วได้อะไร? เพราะทางราชการมักตอบว่า อบรมแล้วได้ความรู้  แล้วความรู้ใช้ทำอะไร  ?  เหล่านี้  ต้องชี้แจงแถลงไข ให้ชาวบ้านรู้แจ้งแทงตลอด  อย่างน้อยก็ให้เห็นว่า  สามารถใช้ความรู้เพื่อแก้ปัญหาส่วนตัวในชีวิต  แก้ปัญหาครอบครัว และร่วมกันป้องกันแก้ไขปัญหาชุมชน... 

         ว่าก็ว่าเถอะในส่วนราชการเอง  เวลามีการจัดอบรมหน้าที่  บางที่บางแห่งก็ยิ่งกว่าอบรมชาวบ้านเสียอีก  ติดโน่นติดนี่ เข้าประชุมเองไม่ได้ มอบผู้แทไปประชุมน บางครั้งผู้ไปแทนก็ตัดสินใจอะไรไม่ได้  ถ่ายทอดต่อก็ไม่ได้   เผาผลาญงบประมาณเปล่าๆปลี้   จัดอบรมตามโรงแรมหรูๆ ห้องประชุมใหญ่ติดแอร์เย็นฉ่ำ   เน้นพิธีการที่เรียนเชิญผู้บังคับบัญชาระดับสูงมาเปิด กว่าจะได้เปิดต้องรอคนห้องประชุมพร้อม  รอท่านประธานเดินทางมาถึง   กว่าจะเริ่มพิธีก็สาย   เริ่มพิธีแล้วกว่าจะเสร็จพิธีปาเข้าไปเกือบเที่ยง  ช่วงพิธีเปิดคนเต็มหรือเกือบเต็ม หลังพิธีพักรับประทานอาหารว่าง  คนหายไปหนึ่งในสี่  หลังพักรับประทานอาหารเที่ยง คนหายไปเป็นครึ่ง บางครั้งในช่วงบ่าย  มีวิทยากรนั่งบรรยายอย่างเหงาหงอยในขณะที่ผู้เข้ารับการอบรมเหลือน้อยหรอมแหรม และง่วงหลับกันบ้าง คุยกันบ้าง  บางหน่วยงานมีการจัดประชุมกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็นในช่วงบ่าย แต่จะมีประโยชน์อะไรเล่า  ในเมื่อผู้มีอำนาจตัดสินใจเดินทางกลับตามหลังท่านประธานไปแต่เมื่อเช้าแล้ว  และจะมีประโยชน์อะไรเล่า  สำหรับการอบรม ที่เน้นรูปแบบมากกว่าเนื้อหาสาระ

         ผมเคยเสนอในการอบรมหลายคราว่า  เรื่องการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาเป็นประธานในพิธีนี้ ลองเปลี่ยนจากการมาเปิด เป็นมาปิดการอบรม และรับฟังผลการอบรมดีกว่ามั้ย   ให้คนเต็มแน่นในช่วงบ่าย และขับเน้นเนื้อหาสาระกันอย่างจริงจัง   ให้ประธานได้รับทราบผลการอบรมที่เป็นรูปธรรม สมบูรณ์แบบทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหา  และขับเคลื่อนงานภาคปฏิบัติต่อไปได้  ปรากฏมีคนเห็นด้วยกับความคิดนี้ แต่ไม่มีใครเอาด้วย  มันนอกกรอบเกินไป  เหมือนจะแหวกประเพณีปฏิบัติในการอบรมของส่วนราชการ   ดังนั้นการอบรมที่จัดโดยส่วนราชการ ไม่ว่าจะอบรมเจ้าหน้าที่หรือชาวบ้าน มักจะเอาดีที่เริ่มต้น  ในช่วงปลายก็ปล่อยแหลกเหลว เละเทะ ไร้สาระ

         นับประสาอะไรกับการอบรมชาวบ้าน  อย่างบ้านถ้ำเวียงแก  หมู่บ้านเก่าๆที่ผมคุ้นเคย  ชาวบ้าน ยังอัธยาศัยดีเหมิอนเดิม  ผมปรับประบวนการอบรมใหม่ เหมือนเห็นว่าเป้าหมายของกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมเปลี่ยนแปลง  ยึดเอาผู้เข้ารับการอบรมเป็นศูนย์กลาง  และทำหน้าที่เชิงกระบวนการ ในการเรียนรู้ ทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับงานด้านพัฒนาสังคมและสวัสดิการสังคมหมู่บ้าน   เรียนรู้เทคนิคการมองปัญหา วิเคราะห์ปัญหาและกำหนดทางเลือกในการแก้ไขปัญหา  โดยยกสถานการณ์จริงในชุมชน มาเป็นตัวตั้ง

         อบรมชาวบ้าน คราวนี้ จึงไม่มีพิธีเปิด  ไม่มีพิธีปิด   เพียงแต่เริ่มต้นเมื่อชาวบ้านพร้อม  และยุติทันที เมื่อชาวบ้านเริ่มไม่สนุกกับการเรียนรู้แล้ว  ส่วนสาระประโยชน์นั้น แทรกซ่อนอยู่แล้วในกระบวนการอบรม  ไม่ว่าในเบื้องต้น ท่ามกลางและบั้นปลาย  ไม่มากก็น้อย ... 

หมายเลขบันทึก: 80078เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2007 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

โดนใจมากๆเลยเกี่ยวกับพิธีการเปิด  เคยทำแล้วโดยไม่มีการกล่าวรายงาน ไม่มีประธานเปิด ไม่มีจุดธูป เทียน ใช้สื่อมัลติวิชั่นเป็นตัวนำเข้าสู่เนื้อหาการสัมมนา ปรากฏว่าต้องตอบคำถามเป็นสิบ ทำไมไม่เชิญ....มาเปิด ทำไมไม่มีพิธีเปิดซะหน่อย เราก็ตอบว่าประหยัดเวลา ไม่ยุ่งยาก และอยากเปลี่ยนแปลงวิธีการ โดยสาระเหมือนเดิม เรากลายเป็นคนนอกคอก แต่เรามีหลักคิดว่า

1 ประธานส่วนใหญ่ท่านเป็นผู้ใหญ่ ทรงภูมิ ทรงความรู้ มากด้วยประสบการณ์ ควรให้ท่านได้ทำในสิ่งที่ยากกว่าการเป็นประธานพิธีเปิด ยืนฟังรายงาน แล้วก็อ่านคำกล่าวเปิด แล้วก็อาจตัดริบบิ้น หรือตีกลอง ทำนองนั้น

2 เวลาที่เสียไปกับการรอประธาน รอความพร้อม และพิธีการต่างๆ เอามาใช้บรรยายได้ 1 วิชา

2 สาระสำคัญของการอบรมสัมมนาคืออะไร ถ้าไม่ใช่ความรู้ ก็ควรให้เความสำคัญกับการใช้เวลาเพื่อสาระเนื้อหา

3ผู้เข้าอบรมสัมมนาควรคิดว่าคุณคือคนสำคัญของงานนี้  เนื้อหาความรู้คือหัวใจของการอบรมสัมมนา หาใช่ประธานไม่

ฯลฯ ใครมีเหตุผลอื่นๆอีกก็ลองแลกเปลี่ยนกันดู

               ปลื้มกับข้อเขียน  และ ชัดเจนในความคิด  ขอแสดงความชื่นชม  ผมเองก็ไม่ค่อยชอบพิธีรีตรอง  เนื้อหานั้นสำคัญกว่า  ลีลาและผักชี

               คนที่ไม่ใส่ใจกับเนื้อหา  หรือคุ้นเคยกับพีธีรีตรอง จะมีความรู้สึกไม่ค่อยสบายนัก  เหล่านี้ ก็จำเป็นต้องให้ความรู้  เพราะล้วนอยู่บนโลกใบนี้เช่นกัน

                การที่ มีผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับพี่น้องชาวบ้าน ได้สื่อสารแบบนี้แล้ว  เชื่อว่าช่องว่าด้านความสัมพันธ์ที่ว่าเคยห่างจะมีน้อยหรือไม่มี   ทำให้เกิดการเข้าถึง เข้าใจ พัฒนา เรียกว่าตรงเป้า ตรงประเด็นครับ.

คุณค่าของการฝึกอบรมไม่ได้อยู่ที่พิธีการ แต่อยู่ที่การมีส่วนร่วมและบรรยากาศของการฝึกอบรมมากกว่าและที่สำคัญคือฝึกอบรมแล้วทุกคนควรจะได้ประโยชน์จากการฝึกอบรมครับ...

 

ขอบคุณสำหรับการมอบสิ่งดีๆให้กับหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลความเจริญอย่างจริงใจ

สำหรับการที่ผมได้อ่านข้อความที่โพสต์อยู่ด้านบนแล้วนะครับผมก็เป็นคนที่นั่นเหมือนกันผมก็ไม่เข้าใจกับคนผู้ใหญ่ที่นี่เหมือนกันว่าทำมัยการอบรมจึงเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ ที่จริงถ้าหน่วยงานต่างๆจะเข้าจัดต้องวัยรุ่นครับอบรมวัยรุ่นจะได้ความรู้กว่าจะได้จัดแบบไม่เสียเวลาไม่ต้องมีเบี้ยเลียงด้วย (ในความคิดของผมนะครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท