วิกฤตเสถียรภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยในระบบราชการ (ของ มน.)


          ดิฉันเงื้อง่ามานานแล้ว ไม่ฟันสักที วันนี้ได้ฤกษ์เบิกโรง อาศัยช่วงที่ความร้อนแรงเรื่องออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยนเรศวร เริ่มซาซาลง  ขออาสาเป็นหน้าม้าข้างฝ่ายพนักงานมหาวิทยาลัย ชี้แจงแถลงไขความในใจดังนี้ค่ะ


สถานภาพของมหาวิทยาลัย และบุคลากรของมหาวิทยาลัยนเรศวรในปัจจุบัน

          มหาวิทยาลัยนเรศวร  เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่เป็นส่วนราชการจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ๒๕๓๓    เป็นมหาวิทยาลัยใหม่ในส่วนภูมิภาค ตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก เขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศ  นับจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๙  มหาวิทยาลัยนเรศวรมีอายุเพียง ๑๖ ปี

          ตามนโยบายการกำหนดอัตรากำลังภาครัฐ ปี พ.ศ. ๒๕๔๒  ซึ่งมีเป้าประสงค์ที่จะลดจำนวนข้าราชการลงผนวกกับมาตรการยุบเลิกอัตราข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ  มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงได้รับจัดสรรอัตรากำลังจากส่วนกลาง เป็นตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยแทนตำแหน่งข้าราชการ เพื่อการบรรจุบุคลากรทุกประเภทเข้าทำงานในมหาวิทยาลัยทั้งที่เป็นอาจารย์ และเจ้าหน้าที่นับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน
 มหาวิทยาลัยนเรศวรมีบุคลากรที่เป็นข้าราชการ จำนวนทั้งสิ้น  ๖๘๕ คน  ลูกจ้างประจำ ๑๐๒  คน  และพนักงานมหาวิทยาลัย  ๑,๖๑๘ คน  คิดเป็นร้อยละ ๒๘.๔๘   ๔.๒๔  และ  ๖๗.๒๗ ของจำนวนรวมตามลำดับ  ทั้งนี้  สัดส่วนของจำนวนข้าราชการและลูกจ้างประจำ ต่อ จำนวนพนักงานมหาวิทยาลัย ลดลงเป็นลำดับทุกปี (ข้อมูล ณ วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙)

          อย่างไรก็ตาม พนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งนับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามการเจริญเติบโตของมหาวิทยาลัย  ต่างตกอยู่ในสภาพไม่มั่นคงในอาชีพการงาน  ทั้งนี้ก็เพราะบุคลากรกลุ่มนี้ปฎิบัติงานภายใต้พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ๒๕๓๓  ในขณะที่ พ.ร.บ. ดังกล่าว ไม่มีข้อกำหนดใดใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลประเภทนี้เลย  หรืออีกนัยหนึ่งกล่าวได้ว่า พนักงานมหาวิทยาลัยเป็นบุคคลที่ไม่มีกฎหมายรองรับนั่นเอง  ดังนั้นในหลายๆ กรณี  กฎ ระเบียบต่างๆ ที่ใช้บังคับเพื่อการบริหารงานบุคคลในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัย  จึงยังไม่ครอบคลุม   บางส่วนถูกเลือกปฏิบัติและขาดความเป็นธรรม ดังจะได้กล่าวเป็นลำดับถัดไป

ปัญหาการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยและ
วิกฤตเสถียรภาพพนักงานมหาวิทยาลัยในระบบราชการ

          ทั้งที่ทิศทางการดำเนินนโยบายในระดับประเทศเตรียมพร้อมให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบในทุกวิถีทาง  แต่การที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยดังกล่าว    ทำให้มหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค ดังเช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร  ประสบกับปัญหาขาดแคลนบุคลากรทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  “ อาจารย์ ”  ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการดำเนินงานตามภารกิจของมหาวิทยาลัย   เพราะมหาวิทยาลัย ไม่อาจรับประกันอัตราค่าตอบแทนต่างๆ  หรือสิ่งเอื้ออำนวยหลักประกันความมั่นคงในการจ้างงาน เพื่อจูงใจบุคคลให้มาเป็นอาจารย์ได้อย่างเต็มที่และชัดเจน  สิ่งนี้ จึงเป็นเหตุผลประการแรกที่ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของบุคลากร และส่งผลต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก

          เมื่อการรับและคัดเลือกบุคลากร เป็นไปตามวิถีข้างต้น  จึงเกิดสภาพการณ์ที่ทำให้มหาวิทยาลัยจำต้องจัดระบบบริหารงานบุคคลคู่ขนานกัน 2 แบบ  คือแบบข้าราชการ ซึ่งเป็นไปตาม พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ๒๕๓๓ และแบบพนักงานมหาวิทยาลัย โดยออกเป็นประกาศของมหาวิทยาลัยที่ไม่ขัดแย้งกับกฎหมาย   ซึ่งบางอย่างก็เทียบเคียงให้เหมือนกับข้าราชการได้  บางอย่างไม่อาจเทียบเคียงได้ก็เกิดความเหลื่อมล้ำกันบ้าง  และบางอย่างยังไม่เกิดปัญหา ก็ยังไม่ได้วางระบบ ระเบียบไว้รองรับแต่อย่างใด  ทั้งที่หลายกรณี  บุคลากรทั้ง ๒ ประเภท มีสถานภาพที่ไม่แตกต่างกันเลย  คือ เป็นอาจารย์เหมือนกัน เป็นเจ้าหน้าที่เหมือนกัน  กระบวนการบริหารงานบุคคลอย่างนี้ล้วนกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบซึ่งกันและกันโดยตลอด  ตั้งแต่ เรื่องเล็กน้อย  เช่น การแต่งกาย  (ชุดปกติขาว-สูท-ชุดไทย)  การออกหนังสือเดินทางไปราชการต่างประเทศ  การให้สิทธิพิเศษหรือส่วนลดค่าบริการต่างๆ (ถ้าแสดงบัตรข้าราชการจะลดพิเศษ)ไปจนถึงเรื่องสำคัญๆ ที่กระทบต่อขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของบุคลากร  เช่น   การพิจารณาความดีความชอบ  สวัสดิการและผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆ  เป็นต้น 

          สำหรับวิกฤตเสถียรภาพ  และความไม่ชอบธรรม ที่เกิดแก่พนักงานมหาวิทยาลัยเฉพาะส่วนบุคคลนั้น มีหลายประการ ดังจะยกเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมได้ต่อไปนี้

  1. พนักงานมหาวิทยาลัย มีความรู้สึกไม่มั่นคงในการประกอบอาชีพการงาน  เกรงว่าอาจถูกเลิกจ้าง หรือลดเงินเดือน หรือถูกปรับเป็นลูกจ้าง วันใดวันหนึ่งก็ได้หากมหาวิทยาลัยไม่ออกนอกระบบ หรือไม่มี พ.ร.บ. รองรับ
  2. พนักงานมหาวิทยาลัยไม่มีสิทธิ์เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งของตนและครอบครัวจากรัฐดังเช่นข้าราชการ แต่ต้องจ่ายเบี้ยประกันสังคมเองเพื่อให้ได้สวัสดิการรักษาพยาบาลที่มีข้อจำกัดมาก อาทิ ไม่ครอบคลุมไปถึง พ่อ แม่  จำกัดเฉพาะการรักษา / ยา พื้นฐาน  จำกัดให้รับบริการได้เฉพาะสถานพยาบาลที่กำหนด ฯลฯ  ไม่ต่างไปจากลูกจ้างบริษัทเอกชนทั่วไป
  3. พนักงานมหาวิทยาลัยไม่มีกองทุนบำเหน็จ บำนาญ  หลังเกษียณอายุราชการ
  4. พนักงานมหาวิทยาลัย ไม่มีสวัสดิการค่าเช่าบ้าน และค่าเล่าเรียนบุตร
  5.  การขาดสิทธิของพนักงานมหาวิทยาลัยตามข้อ 2  3  และ 4   ในขณะที่ข้าราชการซึ่งเป็นบุคลากรประเภทเดียวกัน ได้รับสิทธิดังกล่าว ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องจากบุคคลภายนอก  และทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยถูกเลือกปฏิบัติ เพราะบุคคลภายนอกมองว่า  สิทธิประโยชน์ต่างๆ  แสดงถึงฐานะทางสังคมของข้าราชการมีเกียรติควรแก่การเคารพนับถือมากกว่า ส่วนพนักงานมหาวิทยาลัยมีฐานะเสมือนพนักงานบริษัท
  6. มหาวิทยาลัยประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัย เข้มข้น และเข้มงวด ตามรอบเวลาที่กำหนด  พนักงานมหาวิทยาลัยต้องเขียน Portfolio ต้องคำนวณภาระงานเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อประกันคุณภาพของงานตามระบบราชการในแนวปฏิรูป  ในขณะที่ข้าราชการไม่มีข้อกำหนดให้ดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น จึงก่อให้เกิดความลักลั่นในการบริหารงานบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เมื่อมีการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อพิจารณาความดีความชอบประจำปี  ปลุกกระแสความไม่สามัคคีปรองดองกันได้ง่าย
  7. ระบบการพิจารณาความดีความชอบของ กพร. ก็เช่นกัน ที่ทำให้ขวัญและกำลังใจในการทำงานของบุคลากรส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร  ซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย (รวมทั้งลูกจ้างชั่วคราว)  ถดถอยลงอย่างมาก  ทั้งนี้เพราะ กพร. กำหนดให้ปันผลรางวัลตามผลการปฏิบัติราชการประจำปีของมหาวิทยาลัย  แก่บุคลากรที่เป็นข้าราชการเท่านั้น พนักงานมหาวิทยาลัยจึงเป็นดังเช่นบุคคลนอกกฎหมาย ที่สร้างผลงานไร้ความหมาย
  8. ในไม่ช้า พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ (อาจารย์) ของมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ดังเช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีอายุการทำงานไม่นานนัก ก็จะทยอยถึงเวลาแห่งการประเมินผลงานทางวิชาการ เพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ เป็น ผศ.  รศ.  ศ. ตามลำดับ  ทำนองเดียวกัน พนักงานมหาวิทยาลัยสายบริการ  ก็ต้องการความก้าวหน้า เป็นผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ  ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ  ดังเช่นข้าราชการสาย ข และ ค  หากมหาวิทยาลัยยังไม่สามารถสร้างกฎ กติกา ที่เป็นที่ยอมรับ  เพื่อรองรับหนทางความก้าวหน้าในการประกอบวิชาชีพต่างๆ  แก่พนักงานมหาวิทยาลัยเหมือนข้าราชการอย่างชัดเจน  ก็จะเป็นผลเสียต่อการพัฒนาบุคลากรในภาพรวมของทั้งมหาวิทยาลัย  และมีผลพวงต่อเนื่องไปถึงคุณภาพของมหาวิทยาลัย

ข้อเสนอแนะต่อการแก้ปัญหาการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยและวิกฤตเสถียรภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยในระบบราชการ

  1. คณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ควรเร่งรัดการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ที่มีรายละเอียดครอบคลุมหลักการกลางที่รัฐบาลกำหนด  เพื่อให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ  เพราะมหาวิทยาลัยจะได้มีความชอบธรรมในการจัดระบบบริหารงานบุคคล  การบริหารการเงินและงบประมาณ  และอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน อย่างเหมาะสมตามบริบท  วิสัยทัศน์  ปรัชญาของมหาวิทยาลัยนั้นๆ โดยเร็วที่สุด ก่อนที่ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น จะสะสมมากขึ้นจนยากที่จะสะสาง
  2. คณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ควรผลักดันให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่ชัดเจน เกี่ยวกับงบประมาณที่จะจัดสรรให้กับมหาวิทยาลัย เมื่อออกนอกระบบในกรณีที่รายได้ไม่พอกับรายจ่ายในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยใหม่ ที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค  และเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ ที่มีทางเลือกให้กับการศึกษาอย่างหลากหลาย ทั้งทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ  แต่ยังขาดแคลนทั้งกำลังคนและทรัพยากรเกื้อหนุนต่างๆ ในขณะที่ต้องแบกรับภาระการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่ครอบครัวมีเศรษฐานะต่ำกว่าคนในเมืองหลวง  อีกทั้งต้องเป็นที่พึ่งทางวิชาการแก่ชุมชนและสังคม  ช่วยพัฒนาสังคมในภูมิภาคใกล้คียงให้เข้มแข็งมีสุขภาวะที่สมบูรณ์  มีศักยภาพที่จะแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ  ภารกิจที่หนักอึ้งดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอไม่ใช่เท่าที่จำเป็น  ความชัดเจนดังกล่าว จะช่วยให้สังคม ผู้ปกครอง  นักเรียน ยอมรับและเชื่อมั่นว่า  มหาวิทยาลัยมีปณิธานอันแน่วแน่ในอันที่จะมุ่งพัฒนาเยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติ  มิใช่มุ่งแสวงหาผลกำไรจากการประกอบธุรกิจทางการศึกษา เพียงเพื่อความอยู่รอดหรือความมั่งคั่งของคนในองค์กร
  3. ในกรณีที่มีปัญหาทางการเมืองเข้าแทรกแซง ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ชะงักงัน  คณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ควรพิจารณาหาแนวทาง หรือผลักดันให้มี พ.ร.บ. คุ้มครองพนักงานมหาวิทยาลัยของทุกมหาวิทยาลัย  ที่กำลังจะออกนอกระบบ  ให้มีความมั่นคงในการปฏิบัติงาน  มีสิทธิและสวัสดิการ เท่าเทียมหรือไม่น้อยกว่าข้าราชการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนบุคลากร เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย มากกว่าข้าราชการ


          จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา 

หมายเลขบันทึก: 80054เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2007 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 05:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (34)
  • เขียนได้ดุดันถึงใจดีครับ
  • หากทำได้อย่างที่กล่าวนั้น จะเป็นการพัฒนาที่ก้าวไปอีกก้าวหนึ่ง
  • ผมเข้าใจว่า จะมีปัญหาเฉพาะ มรภ. ดูเหมือนเป็นกันทั่วไปหรือครับ
  • ที่ มรภ. พนักงาน/อัตราจ้าง/ลูกจ้าง จะสงบนิ่ง แล้วแต่เจ้าของมหาวิทยาลัยจะตัดสินใจ
  • เคยคิดเหมือนกันครับว่า น่าจะรวมตัวพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงอะไรบางอย่าง แต่ยังขาดผู้นำ หรือว่า การทำอย่างนี้ไม่เหมาะสมกับอาจารย์ ก็ไม่ทราบ
  • มีอีกหลายประการ ที่เป็นปัญหา

มาเชียร์ครับ    ผมเคยพูดในสภามหาวิทยาลัยบางแห่ง ว่าถ้ามหาวิทยาลัยจะเจริญก้าวหน้า ต้องจัดสิ่งตอบแทนอาจารย์ที่เป็นพนักงานให้ดีเท่าหรือยิ่งกว่าของราชการ     โดยต้องเลือกคนดีและเก่งมาทำงาน    รวมทั้งประเมินผลงานอย่างจริงจัง

วิจารณ์ พานิช  

          ขอบพระคุณท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ และคุณ นม. เป็นอย่างสูงนะคะ ที่ส่งแรงเชียร์

          ความจริง ดิฉันคาดว่าจะได้แรงเชียร์มากกว่านี้ พนักงานมหาวิทยาลัย หายหน้าไปไหนกันหมดคะ

          สงสัยทุกท่านจะทำงานหนักจนไม่มีเวลาได้มาติดตามอ่าน Blog (ดิฉันเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริง)

          ดิฉัน และบุคลากรทุกคน ในมหาวิทยาลัย ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย มีสิทธิเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยด้วย เพราะมหาวิทยาลัยดำเนินงานโดยภาษีของราษฎร

          "อาจารย์" อยู่ในฐานะที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้นำทางความคิด ไม่น่าจะเป็นความผิด หรือไม่เหมาะสมบังควรประการใด  หาก "อาจารย์" จะแสดงอิสรภาพทางความคิด ที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ตนและผู้อื่นทั้งทางกายและใจ

          ใครๆก็กลัวการเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น  ดิฉันก็กลัวค่ะ  สิ่งที่ดิฉันกลัวก็คือ

  • กลัวว่ามหาวิทยาลัยจะไม่ออกนอกระบบ เพราะการเมืองเป็นเหตุ
  • กลัวว่าประเทศไทยจะล้าหลังทางการศึกษา
  • กลัวว่าลูก หลานจะโง่
  • กลัวว่าลูก หลานที่โง่ จะถูกหลอกได้ง่าย
  • ถ้าถูกหลอกไปได้แล้ว  ก็จะต้องตกเป็นทาสทั้งทางกาย ความคิด และจิตวิญญาณ
  • แม้ถึงเวลานั้น บางคนจะคิดได้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว
  • แล้วก็จะได้แต่นั่งรอ สวดภาวนาว่า
  • ขอให้พระนเรศวร คืนชีพกลับมากอบกู้อิสรภาพอีกครั้ง 

ขอเชียร์อาจารย์เต็มที่  ผมอยากให้พนักงานมหาวิทยาลัยเงินเดือนมากๆ เลย แต่ก็ประเมินเข้มด้วย จนทำให้อาจารย์ที่เป็นข้าราชการอยากออกมาเป็นพนักงาน

มหาวิทยาลัยของเราล้าหลังมากเพราะอาจารย์มั่นคงจนหมดแรงไฝ่รู้ อยู่ไปวันๆ ก็ได้ ขยันขี้เกียจ ผลตอบแทนเท่ากัน  เป็นห่วงการศึกษาของชาติมากครับ คุณภาพการศึกษาของเราต่ำกว่ามาตรฐานสากลครับ

ต่อสู้ในแนวทางและหลักการที่ถูกต้องก็ขอสนับสนุนด้วย  เป็นหัวโจกนำทีมสู้เลยเจ๊

กราบสวัสดีอาจารย์ค่ะ

    ชื่นชมอาจารย์ค่ะ   เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงดีค่ะ

คิดรอบด้านดีและใส่ใจอาจารย์ผู้น้อยด้วยค่ะ

แอบอิจฉาคณะสหเวชเล็กๆค่ะ    

 

ปัญหาเรื่องความมั่นคงและคุณภาพของพนักงานมหาลัยสายวิชาการ  คิดว่าคงจะเหมือนกันหมดทุกมหาลัย  และอาจจะมีมากหน่อยสำหรับมหาลัยใหม่ๆ ในส่วนภูมิภาคครับ

ปัญหานี้จะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อประเทศเป็นส่วนรวม  เพราะมหาลัยเป็นฐานความรู้ของประเทศ  เป็นแหล่งรวมความก้าวหน้า  เป็นตัวกำหนดชะตาของประเทศ 

คนจะเก่ง  จะดี  จะมีคุณภาพหรือไหมนั้น  มหาลัยมีส่วนรับผิดชอบอยู่ไม่ใช่น้อย  

แต่  ณ  วันนี้  อาจารย์พนักงานมหาลัย  เดินเข้า-ออกมหาลัยเป็นว่าเล่น  เนื่องจากขาดความมั่นคงในวิชาชีพนี้ 

แล้วอนาคตของนิสิต  อนาคตของมหาลัย  อนาคตของประเทศ  จะฝากไว้กับใคร  ในเมื่ออาจารย์เองก็ต่างหาที่อยู่ใหม่กันทุกขณะ   

ไม่ว่าใครที่เกี่ยวข้อง  จะต้องเร่งแก้ปัญหาความมั่นคงและคุณภาพของอาจารย์โดยด่วน  ก่อนที่วิชาชีพนี้จะกลายเป็นที่ทำงานชั่วคราวระหว่างหางานทำใหม่....ของบัณฑิตจบใหม่ทั้งหลาย

เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ค่ะ

ที่นี่ ไม่มีอาจารย์คนไหน ออกโรงมาปกป้อง พนง.อย่างจริงจัง  และที่แน่นอนคือ  มีการแบ่งชนชั้นอย่างเห็นได้ชัด  ข้าราชการมักบอกว่า เราเป็นแค่ พนง ค่ะ ถ้าเลือกได้นะคะ  เงินเท่าราชการ แต่ขอสวัสดิการ  การปรับเลื่อนขั้น การได้รับเครื่องราชย์ฯ เหมือนข้าราชการดีกว่า

 

สิทธิการกู้เงินของสหกรณ์  ข้าราชการไม่จำกัดเวลา แต่ พนง ต้องชำระให้หมดก่อน สัญญาว่าจ้างจะหมด

ทำอย่างเราไม่อยากมีบ้าน หรือ มีของต้องผ่อนระยะยาวอย่างนั้น   เงินเดือนมากกว่าไม่กี่บาท  ตัดสวสัดิการหมดเลย

 

จริงๆ พนง น่าจะรวมตัวกันนะคะ  ครั้งหนึ่ง นายก สุรยุทธ์ บอกว่า จะปรับได้เราได้เครื่องราชย์และเปลี่ยนให้เรียกว่า ข้าราชการมหาวิทยาลัย   ...แต่ก็เห็ฯเงียบไป  เศร้าจัง

 

เห็นด้วยกับอาจารย์มาลินี ผมเป็นข้าราชการระดับ7 ลาออกจากราชการมาเป็นพนักงาน(ราชการ) ของมหาวิทยาลัยราชภัฎแห่งหนึ่ง(ไม่อยากเปิดเผยชื่อเกรงซำเติมสถานการณ์) มีความคิด ความฝัน ความหวัง มีความอยากทำในสิ่งที่ต้องฝัน หวัง ยอมลดสิทธิต่างๆที่ได้รับ ลดเงินเดือนสวัสดิการ ผมมาอยู่มรภ. ได้ปีเศษ หลายเรื่องที่นำเสนอตามสิทธิพนักงานราชการที่ควรจะได้ หลายเรืองที่คิด และถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ ความเป็นธรรม ความเท่าเทียม ผู้บริหารหลายคนพูด ให้กำลังใจ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม มหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่ เลวร้ายมากว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่ง พนักงานไม่มีสิทธิเป็นผู้บริหาร ไม่มีสิทธิเลือกผู้บริหาร มีแต่กลุ่มข้าราชการเท่านั้น แทบไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นได้ในสังคมอุดมปัญญา อุดมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ วัยวุฒิ พนักงานหลายคนพูดกันแบบเงียบ ไม่กล้าเรียกร้องสิทธิ เพราะกลัวว่าจะถูกเลิกจ้าง ผมเคยเรียกร้องสิทธิต่างๆต่อที่ประชุมใหญ่ของคณะฯและผู้บริหารระดับสูง  สมาชิกในคณะผู้บริหารหลายท่านเก๋า  เก่า แก่แต่อายุไม่แก่กล้าวิชา ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงทั้งที่มหาวิทยาลัยสามาถออกกฎระเบียบต่างๆเองได้ หลายท่านก็พูดๆไปแต่ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม กลัวสูญเสียอำนาจ ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งร่วมเรียกร้องพนักงานทั้งพนักงานราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งผมว่ามีสิทธิไม่แตกต่างกันแตกต่างกันเพียงที่มาของรายได้ อนาคตคงเหมือนกัน ควรร่วมมือกัน ผนึกกำลังกันเป็นตัวจักรขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เมื่อมหาวิทยามีความมั่นคง พนักงานก็มั่นคงตามไปด้วย มหาวิทยาลัยก็จะได้คนดีๆอยู่ในระบบ พร้อมที่จะทำงานให้มหาวิทยาลัยอย่างเต็มศักยภาพ คืนคนดีๆให้กับสังคม สังคมก็จะได้สิ่งดีๆ จากคนดี คนกล้าเหล่านี้ เพราะถ้ากลับไปถามกล่มข้าราชการคงไม่อยากเปลี่ยนเพราะอย่างไรรัฐก็ต้องจ้างตลอดจนเกษียณอยู่แล้ว ศักยภาพที่มีอยู่ก็ไม่รู้จะแสดงไปให้เหนื่อย มันเป็นความมั่นคงที่เป็นความล้มเหลวทางการศึกษาของประเทศ ความอิสระทางวิชาการที่ไม่อิสระจริง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นข้าราชการที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงก็มีอยู่ไม่น้อยก็ต้องขอยกเว้นด้วย ถ้ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบผมมีความเชื่อว่ามหาวิทยาลัยจะเป็นสถาบันที่มีอิสระทางความคิด ทางวิชาการและเป็นผู้ชี้นำสังคม ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจทางการเมืองหรืออำนาจใด สังคมจึงจะได้ประโยชน์จากมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ระบบการจูงใจพนักงานของมหาวิทยาลัยต้องยอดเยี่ยมก่อน ปัจจุบันพนักงานอาจารย์มหาวิทยาลัย จบ ป.โท ป.เอก ยังมีค่าตอบแทนน้อยกว่าลูกศิษย์ที่ทำงานอยู่ อบต. เทศบาล โบนัสไม่ต้องพูดถึง ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งถ้าจะมีการรวมตัวกันของพนักงานอาจารย์ของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง แล้วยื่นข้อเสนอให้แก่ผู้มีอำนาจพิจารณาเปลี่ยนแปลงระบบทันที่ ไม่ต้องรีรออะไรอีกต่อไป ต้องกล้าหาญที่จะทำ ประเทศไทยไม่ควรเสียเวลาแม้แต่วินาทีเดียวในการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งนั้นดีขึ้นหรือเลวลง แน่นอนระบบการศึกษาในปัจจุบันมัน การพัฒนาคนของประเทศยังคงไม่ได้ดีขึ้น ถ้ายังไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าเพียงแต่คิดคงเปลี่ยนไม่ได้ ต้องลงมือทำ ผมขอเป็นพนักงานคนหนึ่งพร้อมจะทำงานร่วมเปลี่ยนแปลงกับคณะอาจารย์ หรือกลุ่มอาจารย์ผู้มีศักยภาพ พนักงานอาจารย์ทุกคนควรลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และกรอบกฎหมาย ทวงคืนมหาวิทยาลัยให้กับสังคมไทย มหาวิทยลัยไม่ควรอยู่กับกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง ความเท่าเทียม เป็นธรรมควรเกิดขึ้น ผมพร้อมร่วมประกาศอิสระภาพครับ สู้ครับ...

                                           ภาสกร

                                       086-2338788

พนักงานมหาลัยของธรรมศาสตร์มีชุดปกติขาวแล้วนะ เข้าไปดูซิ

http://www.tu.ac.th/org/ofrector/person/record/identity_2.html

ขอบคุณมากค่ะคุณ kk

เห็นได้ชัดว่า ผู้บริหารม.ธรรมศาสตร์ ให้ความใส่ใจในรายละเอียด กับการบริหารงานบุคคลดีมากๆ เลยนะคะ

ดีใจที่ได้เข้ามาใน gotoknow และพบกับ Blog ของอาจารย์นะคะ  เหมือนมีความหวังเล็กๆ ว่าพนักงานมหาวิทยาลัยจะมีการรวมตัวกัน  จะมีพลังในการเรียกร้องสิทธิ์อันชอบธรรมบ้าง  คงจะเข้ามาขอความรู้และความเห็นอาจารย์อีกเรื่อยๆ นะคะ

เรียนถามพนักงานมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งนะคะว่าค่าตอบแทน 5% ที่เพิ่มขึ้นเมื่อมีการปรับฐานเงินเดือนของข้าราชการ  พนักงานมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งได้รับหรือยังคะ  เวลาผ่านมาปีกว่าแล้วที่มหาวิทยาลัยของดิฉันยังไม่ได้รับเลยค่

 และในส่วนของตำแหน่งทางวิชาการของพนักงานสายสนับสนุน(สายข.) ก็ยังไม่มีความชัดเจนเลยค่ะ  สำหรับสายวิชาการหรืออาจารย์นั้นที่มหาวิทยาลัยของดิฉันมีพนักงานมหาวิทยาลัยที่ทำตำแหน่ง ผศ.ได้แล้วค่ะ  โดยมีอายุการทำงาน 5 ปีขึ้นไป  แต่ในส่วนของสายข. ยังไม่เห็นอนาคตเลยค่ะ   ไม่ทราบว่าพอจะมีท่านใดมีข้อมูลเกี่ยวกับพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนบ้างไหมคะ  อยากแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยค่ะ

 

ขอบพระคุณอาจารย์ที่ช่วยจุดประกายให้พนักงานมหาวิทยาลัยมีกำลังใจนะคะ

ที่เว็บบอร์ดของ สกอ. มีคนไปตั้งกระทู้ถามเรื่องเกี่ยวกับพนักงานมหาวิทยาลัยก็เงียบมากเลยค่ะ  ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนเลยค่ะ  ถ้าพนักงานมหาวิทยาลัยหลายๆ คนไปสอบถาม แลกเปลี่ยนพูดคุยกันที่นี่บ้างก็ดีนะคะ

http://202.44.139.5/forum/forum_topics.asp?FID=1

 

 

เว็บไซต์สำนักส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร  มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในความก้าวหน้าในการทำงานในมหาวิทยาลัยค่ะ

http://www.mua.go.th/users/basd/

 

มีเว็บบอร์ดด้วยค่ะ

 

http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vboard.php?user=pizzakai

เว็บบอร์ดของจุฬา

http://www.cu-qa.chula.ac.th/suggest/

 

ระเบียบพนักงานมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

http://www.swu.ac.th/president/personnel/handbook.html

ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา

http://www.buu.ac.th/buubill/index.php?PHPSESSID=heq05djfjst8ossik21ia8e8e0&board=1.0

 “วิจิตร” สั่งอนุกรรมการแก้ไข พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพิ่มบทบัญญัติความมั่นคงในสถานภาพให้พนักงานมหาวิทยาลัย หลังพบส่วนใหญ่กังวลจนต้องเคลื่อนไหวให้ออกนอกระบบเร็วขึ้น เผยทำได้โดยสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ไม่ต้องรอมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
       
       ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้นำปัญหาเรื่องสถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยมาหารือ โดยได้มอบหมายให้ประธานคณะอนุกรรมการแก้ไข พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ที่มี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธาน ไปหาทางแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้รองรับพนักงานมหาวิทยาลัยด้วย เพราะปัจจุบันจำนวนพนักงานมหาวิทยาลัย มีประมาณครึ่งหนึ่งของข้าราชการมหาวิทยาลัย บางมหาวิทยาลัยมีพนักงานมหาวิทยาลัยสูงถึงร้อยละ 65 ของจำนวนบุคลากรในมหาวิทยาลัยทั้งหมด และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะรัฐบาลมีนโยบายไม่บรรจุข้าราชการ
       
       ศ.ดร.วิจิตร กล่าวอีกว่า ขณะนี้พนักงานมหาวิทยาลัยมีความกังวลเรื่องความมั่นคงในสถานภาพ และคนกลุ่มนี้จึงเป็นกำลังสำคัญเคลื่อนไหวสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ เพราะหวังว่าเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการแล้วจะสามารถให้สถานภาพแก่พวกเขาได้ ดังนั้นตนจึงต้องการให้หาทางเพิ่มความมั่นคงในสถานภาพให้พนักงานมหาวิทยาลัย โดยไม่ต้องรอให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการก่อน ซึ่งสามารถทำได้โดยแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เพิ่มบทบัญญัติให้การบรรจุ แต่งตั้ง ขึ้นเงินเดือน พิจารณาความก้าวหน้าของพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เมื่อคณะอนุกรรมการยกร่างแก้ไขเรียบร้อยแล้วจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

http://imgads.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9500000025911
พนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมีระบบเดียว จะได้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ ลักลั่น ระหว่าง ข้าราชการกับพนักงานมหาลัย
ข้าราชการบางท่านว่า พนักงานมหาวิทยาลัย เงินเดือนเยอะนะ
แต่ก็ต้องถูกประเมินผลงานอย่างเข้มข้น
ส่วนตัวแล้ว เห็นด้วยกับระบบที่กระตุ้นให้คนทำงาน โดยเฉพาะการศึกษาที่ควรพัฒนาเสมอ  แต่ก็ไม่ควรมีสองระบบ ทำให้รู้สึกเหมือนถูกเลิอกปฎิบัติ

พนักงานมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ที่ม. อุบล ก็แย่มากเลยค่ะ ทำไงดีเริ่มไม่อยากทำงานที่นี่แล้ว แต่ติดสัญญาทาสที่เป็นนักเรียนทุนต้องใช้ให้หมด ไม่สามารถย้ายไปที่อื่นได้ รู้สึกแย่และเป็นทุกข์มากค่ะ ไม่รู้ว่ามีแนวทางการโอนย้ายพนักงานมหาวิทยาลัยหรือเปล่านะคะ อยากให้มีการเสวนาร่วมกันทุกมหาวิทยาลัยถึงเรื่องนี้จังค่ะ (พนักงานมหาวิทยาลัย) เป็นทุกข์มากกก
พนักงานมหาวิทยาลัย มทร

เข้ามาพบกระทู้นี้จากการsearchในgoogle ด้วยคำว่า "พนักงานมหาวิทยาลัย + ตกต่ำ" ค่ะ

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ อาจารย์เขียนได้ตรงกับประสบการณ์ที่ดิฉันและเพื่อนๆในมหาวิทยาลัยได้รับทั้งสิ้นเลยค่ะ และขอสนับสนุนเรื่องการรวมตัวผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและผู้ที่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของประเทศ จริงๆแล้วมันไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเลย คิดให้ดีผลกระทบตกไปที่ตัว นักศึกษา ผู้ที่ชาติอยากจะให้เป็นผู้มีคุณภาพทั้งหลายทั้งแหล่ ด้วยหวังว่าจะเป็นอนาคตของชาติ ต่อไป

ลองมานั่งคิดดู ด้วยระบบที่แย่ ตกต่ำเช่นนี้ เกิดขึ้นมา ราวๆ 10 ปี ก็ลองมองไปที่ตัวนักศึกษาที่จบไปรุ่น 3-5 ปีให้หลังนี้(นักศึกษาที่ศึกษาจบช่วงปี 47 ถึงปัจจุบันก็น่าจะได้) เพราะน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากระบบบริหารที่ง่อนแง่นทำให้เกิดการหมุนเวียนบุคลากรและการไม่มีกำลังใจที่จะทำงานเท่าที่ควร เพราะมันไม่มีเลยแล้ว ขวัญกำลังใจ ระบบแบบนี้นี่หรือที่คำนึงถึงอนาคตของชาติ และหากยังช้า มากไปกว่านี้ เราก็จะมี นักศึกษา ที่ต้องมาได้รับกรรมที่ไม่ได้ก่อ ที่ผู้นำนโยบายต่างๆคิดหากันขึ้นมา แต่ไม่มีการรองรับให้นโยบายที่คิดทำกันขึ้นมานี้มีผลต่อคุณภาพการศึกษาไทยให้ที่ดีขึ้นกว่าเดิม หากเนิ่นช้าอยู่แบบนี้ "ขอเรียกนโยบายที่ท่านดำเนินอยู่นี้ว่ามันคือการผลักภาระ ได้หรือไม่คะ"

"การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดีค่ะ หากทำให้มันดีกว่าเดิม"

เฮ่อ !

พนักงานราชการม.ราชภัฏมหาสารคาม

ในมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มีหลายกลุ่มมาก ทั้งพนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานราชการ(สายผู้สอน)อาจารย์อัตราจ้าง ข้าราชการ ซึ่งมีหลายชนชั้น สวัสดิการต่างกั้นมาก หรือแม้กระทั่ง การทำผลงานวิชาการ ข้าราชการมีเงินประจำตำแหน่ง แต่พนักงานราชการไม่มีเงินประจำตำแหน่ง กฎระเบียบต่างๆ ไม่อื้อต่อการส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิชาการ อย่างนี้ จะพัฒนาประเทศ ท้องถิ่นอย่างไร ทุนเรียนต่อ ป.เอก ให้อาจารย์ที่มีอายุเยอะ 3 ปีเกษียณอายุราชการอยู่แล้วจบไปก็ไม่เห็นมาสอนมหาวิทยาลัยอีก แล้วให้ทุนคุ้มค่าหรือไม่ บางครั้งการประเมินอาจารย์พนักงานราชการ เอาเกณฑ์ใหนมาประเมิน เช่น ให้ผ่านแบบมีเงื่อนไข เช่น ปรับปรุงตัวเองเช่นขาดความรับผิดชอบ เป็นต้น แต่อาจารย์ข้าราชการ บางคนมีคำสั่งคุมสอบ Final แท้ๆยังไม่เห็นเป็นไร ผมว่า ควรเอาผิดให้ออกจากราชการด้วยซ้ำ ไม่เห็นเป็นไร วอนขอความเป็นธรรม ให้มีกฎกติกาที่ถูกต้อง เป็นธรรมด้วยครับ ประเทศไทยจะได้พัฒนา

เมื่อก่อนดิฉันเคยปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย(ต่างจังหวัด)เช่นเดียวกัน แต่สอบบรรจุข้าราชการได้ก็เลยต้องออกจามหาวิทยาลัยนั้นมา แต่ใจจริงแล้วไม่อยากทีจะออกเลย ได้ทำงานกับทีมงาน ที่รู้ใจ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตน มันรู้สึกมีความสุข แต่ถ้าถามว่าแล้วอยู่หน่วยงานอื่นพัฒนาท้องถิ่นไม่ได้รึไร ก็ตอบว่า ระบบมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในตัวของมันเองอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมีบุคคลากรที่มีคุณภาพ ความรู้ความสามารถ จะทำให้การศึกษาน้นพัฒนาได้อย่างรวดเร็วดียิ่งขึ้น แต่ทุกวันนี้ที่ยังต้องรับราชการในหน่วยงานอื่นก็เพราะด้วยเรื่องสวัสดิการ ของระบบราชการที่สามารถเอื้อต่อสมาชิกในครอบครัว อย่างทั่วถึง เรียกได้ว่าเป็นใบเบิกทางเลยก็ว่าได้ ขณะเดียวกันการปฏิบัติ ต่อพนักงานราชการและข้าราชการก็มีความเหลื่อลำกันพอสมควร ทำให้พวกพนักงานราชการรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งที่จริงแล้วพนักงานราชการเป็นผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถมากว่า ข้าราชการบางท่านเสียด้วย ตอนนี้ดิฉันอยากกลับไปทำงานที่เดิม แต่ถ้าไปก็เป็นสถานะพนักงานราชการ ซึ่งมองอนาคตว่าไม่รู้จะเป็นอย่างไร แต่ก็ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ สู้ต่อไปเพื่อพนักงานราชการทุกๆคนนะคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

รู้สึกดีมากเลยนะคะที่มีคนออกมาพูดเรื่องนี้ เพราะสวัสดิการทุก ๆ อย่างของพนักงานมหาวิทยาลัยสู้พวกข้าราชการไม่ได้เลยค่ะ แต่จะทำอย่างไรได้ ก็ตำแหน่งอาจารย์ทุกวันนี้เป็นตำแหน่งพนักงานมหาลัยอย่างเดียว (สอบใหม่น่ะค่ะ)

และอยากทราบเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานมหาวิทยาลัยในทุก ๆ เรื่อง รบกวนทุก ๆ ท่าน ช่วยบอกหน่อยนะคะ

ดิฉันเป็นอาจารย์ที่ มรภ ทางภาคอีสาน ก็มีความไม่มั่นใจคำว่าพนักงานในสถานบันอุดมศึกษา ที่อาจารย์พูดมาเป็นความจริงที่สุดที่สะท้อนออกมาให้เห็นได้ชัดเจน ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปจะไม่มีอาจารย์ที่เก่งๆมาสอนเลย เพราะมันไม่มีความชัดเจน คนที่เขาเก่งเขาคงไม่มาเลือกเป็นพนักงานฯที่ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรรองรับ (ต่อไปคนที่จะมาเป็นอาจารย์ก็คือคนที่ไม่มีทางไปหรือไม่มีทางเลือก) อย่างตัวดิฉันว่าจะรอดูซัก2ปีถ้าไม่มีความมั่นคงคงต้องขอลาออก ไม่ใช่ว่าไม่รักสถานบันแต่ทุกคนต้องการความมั่นคงในชีวิตมีครอบครัวต้องดูแล ขอขอบคุณอาจารย์ที่เขียนข้อเท็จจริงได้ดีมากๆๆค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ คุณนันท์ สำหรับความเห็น

            ไม่นานมานี้ ที่ ม.นเรศวร ท่านอธิการบดีมีดำริจะจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวรขึ้น (บุคลากรในที่นี้หมายถึงพนักงานมหาวิทยาลัย) ซึ่งงานประชาสัมพันธ์ มน.ได้ประชาสัมพันธ์ ให้บุคลากรมหาวิทยาลัยทราบผ่านทาง E-mail ดังนี้ค่ะ

             กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร  สร้างหลักประกัน เสริมความมั่นคง สนับสนุนเริ่มต้นการออมของบุคลากร  

             ม.นเรศวร เปิดโอกาสให้บุคลากรร่วมเป็นคณะกรรมการโครงการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคง  สนับสนุนเริ่มต้นการออมของบุคลากร

             ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงนโยบายการบริหารงานว่า  มีความประสงค์ให้มหาวิทยาลัยนเรศวร  เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ทุกคนต้องการเข้ามาทำงานและสามารถ  ทำงานได้อย่างมีความสุขจนเกษียณอายุราชการ เนื่องจากเกิดความมั่นคงในการทำงาน มีสวัสดิการที่ดี  “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” จึงเป็นแนวคิดที่มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม  โดยมหาวิทยาลัยได้ศึกษารูปแบบการประกันสุขภาพเมื่อวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งมีคณะผู้บริหารระดับคณะ/สำนัก/สถาบัน/กอง ร่วมรับฟังระบบประกันสุขภาพที่จะเสริมความมั่นคงให้บุคลากรและครอบครัว โดยได้รับเกียรติจาก  นายเพิ่มศักดิ์ เนตรนุช กรรมการผู้จัดการบริษัท  Health Benefit Consultants ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันสุขภาพระดับนานาชาติ มาให้คำแนะนำและข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการประกันสุขภาพ 

          มหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัดตั้ง “คณะทำงานติดตามกำกับดูแลจัดทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มหาวิทยาลัยนเรศวร” เพื่อดำเนินการจัดทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัย  โดยมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดตั้ง “คณะกรรมการโครงการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร”  ประกอบด้วย  ผู้แทนจาก 2 ส่วน คือ  

  • ส่วนที่ 1 ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง จำนวน 6 คน  ได้แก่

        1. รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร   

        2. ผู้อำนวยการกองคลัง 

        3. ผู้อำนวยการกองแผนงาน

        4. ผู้อำนวยการกองกฎหมาย

        5. ผู้อำนวยการกองบริหารงานบุคคล

        6. หัวหน้าสำนักงานเลขานุการสถาบันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

  • ส่วนที่ 2 ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง จำนวน 6 คน  แบ่งเป็น

       บุคลากรสายวิชาการ 3 คน และบุคลากรสายบริการ 3 คน จากทุกคณะซึ่งจะคัดเลือกบุคลากรสายวิชาการและบริการอย่างละ 1 คน จากนั้นพิจารณาคัดเลือกเพื่อเป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง โดยมีกองบริหารงานบุคคลและกองกฎหมายเป็นฝ่ายเลขานุการ

       “คณะกรรมการโครงการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร”  จะดำเนินการร่างข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยนเรศวรให้ความเห็นชอบ ข้อบังคับ และดำเนินงานตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อไป

        กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะเป็นอีกสวัสดิการหนึ่งที่จะสนับสนุนความมั่นคง สร้างความเชื่อมั่นให้บุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งทุกคนสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและมีส่วนร่วมกับการจัดตั้งกองทุนได้ 

ที่มา

งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร
โทรศัพท์ 0-5596-1118 หรือ 0-5596-1117 โทรสาร 0-5596-1128
E-mail : [email protected]

--------------------------------------------------------------------------------------------

ปล.  นับเป็นนิมิตหมายที่ดีนะคะ  สำหรับพนักงานที่ไม่มี บำเหน็จ  บำนาญ กบข. หรือสวัสดิการอื่นๆ  แต่นับจนบัดนี้  ดิฉันก็ยังไม่เห็นมีกระบวนการเลือก“คณะทำงานติดตามกำกับดูแลจัดทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มหาวิทยาลัยนเรศวร”  และ “คณะกรรมการโครงการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร”  โดยเฉพาะผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง จำนวน 6 คน เลย 

           คงจะต้องเทียบเคียงกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ประสบผลสำเร็จในเรื่องนี้มาแล้ว  ที่ไหนดีน้อ?? 

 

พนักงงานมหาวิทยาลัยสาย ข

เรียนอาจารย์

ดิฉันพบปัญหาการทำงานว่า ไม่ผ่านการประเมิน ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ ระยะเวลา 8 เดือนของการปฏิบัติงาน ” ณ วันที่ 7 เมษายน 2553 โดยก่อนหน้านี้ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยวิจัยก่อนปรับมาทำงานในตำแหน่งนักวิทย์ ได้เซ็นรับทราบแต่จากผลการประเมินทำให้เข้าใจได้ว่าผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง โดยกล่าวหาว่าเป็นอันตรายต่อหน่วยงาน ดิฉันทำงานมาเป็นเวลา 3 ปีกว่าแต่พอรับผู้ช่วยวิจัยใหม่ได้ 3 เดือนก็เกิดปัญหาเนื่องจากสอนงานให้แต่กลับโดยตำหนิจากหัวหน้าว่าไม่สอนงานให้และดูถูกว่าดิฉันไม่จบทางด้านเภสัชแต่ทำงานนี้ได้ ดิฉันจบโทชีวเคมี ตรี(เคมีชีววิทยา) มีปัญหาเครื่องมือก็ดูแลเองตลอดแต่กลับเห็นดีเห็นงามกับเด็กใหม่ที่ชอบประประเจง มองว่าดิฉันเป็นตัววปัญหา ทั้งดูถูก อคติ มาโดยตลอด ส่วนตัวดิฉันเป็นคนไม่ยอมคนหากเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผิดกับเด็กใหม่ที่ดีค่ะถูกอย่าง แต่สิ่งที่ได้รับทำให้บั่นทอนสุขภาพทั้งทางจิตและร่างกายเป็นอย่างมาก ตั้งใจทำงานมาตลอดไม่เคยบ่น ลา 1ครั้ง ไม่เคยลาป่วย ในการประเมิน พอใจตัวเลขอะไรก็ใส่แต่เป็นระดับต่ำสุด รบกวนอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยค่ะ ประเมินคราวหน้าก็ไม่น่าจะผ่านหากตั้งเกณฑ์ที่สูงกว่ามาตรฐานตำแหน่งระดับ 4

นับถืออย่างสูง

พนักงงานมหาวิทยาลัยสาย ข

ใจเย็นๆ นะคะน้อง "พนักงงานมหาวิทยาลัยสาย ข"  พี่ขอเป็นกำลังใจ 

          สมัยนี้และสมัยหน้าต่อๆ ไป เราคงหลีกหนีไม่พ้นการถูกประเมินกันทุกคน  ดังนั้นในเรื่องการทำงานต้องยึดหลักมั่นในใจว่า เราไม่ใช่คนเกียจคร้านแต่เป็นคนทำงานและมีผลงานที่พิสูจน์ได้  ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ประเมิน  เราก็ไม่กลัว  เราก็ไม่แคร์  ถ้าผู้ประเมินไม่เที่ยงธรรม  ผลงานของเราย่อมเป็นสิ่งพิสูจน์ได้ดีกว่าผลประเมิน สังคมและผู้คนในที่ทำงานซึ่งไม่ใช่เจ้านายเพียงคนเดียวย่อมรับรู้ได้และยอมรับเรา

          อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่สนับสนุนการทำงานก็มีความสำคัญ และเป็นสิ่งที่เราจะต้องถูกประเมินด้วยเช่นกัน  ในเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับผู้ร่วมงาน  เพื่อนๆ ในที่ทำงานของเรา  ดังนั้นต้องยึดหลักมั่นในทางสายกลาง คือไม่เอาตนเองเป็นที่ตั้งมากเกินไป  หรือไม่โอนอ่อนตามผู้อื่นมากจนเกินไป ดังเช่นที่น้องพูดว่า

"เป็นคนไม่ยอมคนหากเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผิดกับเด็กใหม่ที่ ดีค่ะทุกอย่าง"

          ด้วยพื้นฐานประสบการณ์ในชีวิตที่สั่งสมมาของแต่ละบุคคลที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ทัศนคติ ความคิด  ความเชื่อ ของแต่ละบุคคลต่างกัน แม้แต่เรื่องของความถูก - ผิด ดังนั้น  ลองมองเรื่องต่างๆ ตามทัศนะของคนอื่นบ้างดีไหมคะ  ว่าทำไมเราเห็นว่า ไม่ถูกต้อง  แต่เขาเห็นว่า ดีแล้ว.....  

 

ทำอย่างไรพนักงานมหาวิทยาลัยทุกประเภทจะมีสภาพที่มั่นคงมากกว่านี้ เพราะขณะนี้ดูสภาพตัวเองไร้อนาคตหมดกำลังใจ เข้ามาเป็นอาจารย์เพราะความใฝ่ฝัน แต่พอเข้ามาแล้วรู้สึกว่ากลายเป็นอาชีพที่หมดอนาคต

มาให้กำลังใจครับผม

ผมไม่อยากเห็นสังคมไทยเป็นสองมาตรฐานแบบนี้ครับ ผมเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมเช่นกัน

ประเทศชาติล้มเหลวในความคิดหรืออย่างไร  บุคคลที่เป็นมันสมอง ที่ได้รับทุนเล่าเรียนมา หวังกลับมารับราชการในพระองค์ กลับถูกให้เป็นไปตามยถากรรม  แต่หารู้ไม่ว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะพัฒนามหาวิทยาลัยได้อย่างแท้จริงในอนาคต

ผมขอเป็นหนึ่งเสียงเอาใจช่วยครับ  

ขออนุญาตประชาัสััมพันธ์กลุ่มเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย ทางเว็บไซต์เฟสบุค >> http://www.facebook.com/groups/121922094502682/

ผมเป็นอาจารย์พิเศษ ทางด้านมัลติมีเดียและอนิเมชั่นมาได้สามปีแล้ว ตอนนี้กำลังได้รับการบรรจุเข้าเป็นพนักงาน

มหาวิทยาลัย วุฒิปริญญาโท ตำแหน่งอาจารย์ ซึ่งเงินเดือนน้อยกว่าเป็นพนักงานบริษัทเอกชนวุฒิปริญญาตรี ในครั้นที่ผมเริ่ม

ทำงานในสายงานนี้เมื่อสิบปีที่แล้วเสียอีก ซึ่งก็มีความหวั่นใจอยู่เหมื่อนกันไม่รู้ว่าตัดสินใจผิดหรือถูก

                                                 เพราะก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ผมก็สงสัยว่าทำไม

ครูอาจารย์ (รุ่นพี่) ที่เคยสอนผมสมัยผมเรียนมหาลัยนั้นทยอยลาออกจากการเป็นอาจารย์ไปทำงานบริษัทเกือบหมดแล้ว ใน

                                                          ระยะเวลา ตลอดสิบปีที่ผ่านมา 

พอมาเห็นระบบและก้าวเข้ามาเป็นอาจารย์เสียเอง โดยเฉพาะการเรียนการสอนในสายงานนี้ทำให้รู้เลยว่า สงสารเด็ก ๆ และ

อนาคตของชาติมากเนื่องจากไม่มีคนจากสายงานมืออาชีพมากประสบการณ์ที่จะสนใจมาเป็นอาจารย์ประจำสักเท่าไหร่แม้ว่า

เขาจะมีคุณสมบัติครบถ้วน เนื่องจากค่าตอบแทนที่ได้จากการสอนนั้นน้อยมาก

           ในส่วนตัวผมไม่กังวลเรื่องความมั่นคงเลยเพราะ ทำงานเอกชนในสายงานนี้หยุดคิดหยุดสร้างสรรค์ก็ตกงานเหมือน

กัน และถ้าเปรียบเทียบกับงานสอน ก็เป็นอะไรที่อาจารย์และเด็กต้องกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นวิชาที่

เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี่ผนวกกับศิลปะดั่งเดิม+สมัยใหม่ แต่ก็ยังน่าดีใจที่ ม. เอกชน ที่เปิดสอนด้านนี้ค่อนข้างปรับตัวได้อย่าง

เท่าทันและมีคุณภาพมากอย่างเช่นบาง มหาวิทยาลัย (เอกชน) วิชา drawing วิชาเดียวมีทั้งอาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษ

(จ้างเพิ่ม) ประกบสอนเด็ก ในสัดส่วนอาจารย์ ห้าท่านต่อเด็กไ่ม่เกินยี่สิบห้าคน (เนื่องจากค่าเทอมแพงมาก) ย้อนกลับมาดู

พนักงานราชการ ม.ของรัฐ อาจารย์หนึ่งท่านต้องรับภาระสอนเด็ก 25-40 คน (ในขณะที่ค่าตอบแทนต่างกัน) ก็กลายเป็นว่า

สำหรับคนที่มุ่งมั่นอยากเป็นอาจารย์จริง ๆ ก็หันไปสมัครเป็นอาจารย์ ในมหาลัยเอกชนกันหมด ซึ่งผมก็เคยเคลิ้ม ๆ อยู่เหมือน

กันแต่หันมา

                                 ดูลูกศิษย์ตาดำ ๆ  ที่โอกาสของเค้าเป็นรองที่อื่นอยู่แล้ว ก็ทิ้งกันไม่ลง

ผมเลยอยากสะท้อนปัญหาว่าโลกก้าวไปข้างหน้า แต่การศึกษาไทยในมุมที่ผมยืนอยู่นี้ยังมีช่องโหว่เดินไปด้วยความเชื่องช้าและ

อ่อนแรงเพราะอาจารย์ที่เป็นพนักงานราชการก็ขาดกำลังใจและแรงผลักดัน ซึ่งถ้าไม่มีใจเสียสละลงมาทำ เด็ก ๆ ก็เหมือนถูก

ปล่อยทิ้งขว้างมีเพียงหลักสูตรถูกวางไว้อย่างสวยหรูแต่ไม่มีครูอาจารย์ที่มีคุณภาพมาสอนอย่างจริงจัง ผลกระทบอีกอย่างที่เกิด

ขึ้นคือผู้ปกครองเสียเงินซ้ำซ้อนกับการที่ต้องส่งนักศึกษาไปเรียนกับสถาบันเอกชนที่เปิดสอนแอนิเมชั่นและศิลปะนอกหลักสูตร

เพิ่มเติม ซึ่งดูแล้วไม่เข้าท่าเลยเพราะมหาลัยมีิวิชาและหลักสูตรรองรับอยู่แล้วแต่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางด้าน

วิชาการของเด็กได้ ถามว่าประเทศมันก้าวไปข้างหน้ามั้ย ผมว่าก้าวนะแต่มันเป็นย่างก้าวของคนที่มีความพร้อมทางด้านโอกาสที่

ดีกว่า ด้านการเงินที่พร้อมกว่า ซึ่งก็คือเด็กส่วนน้อยในสังคมนั่นเอง...

อาจารย์ครับ ส่งหนังสือพิมพ์ ด้วยสิครับ จะได้ รู้กันทั่วสังคม กระตุ้น นายกฯ และ รมต. ศธ. กันสักนิด ครับ

ีมีการรวมกลุ่มของพนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อเรียกร้อง สถานะ (ตัวตน) และ สิทธิ นะครับ หากอาจารย์ยังไม่ได้เป็น สมาชิก ก็ขอเรียนเชิญครับ

https://www.facebook.com/groups/thai.ustaffnet/

เว็บไซต์ : http://u-staff.blogspot.com/

https://www.facebook.com/ustaff

การจัดการเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นการทำลายระบบการศึกษาของประเทศโดยจะไม่มีบุคคลากรท่่ีดีมีคุณภาพ เข้ามาในระบบจะเป็นเพียงทางผ่านที่จะไปหาระบบที่มีความมั่นคงในระบบราชการหรือหาทางไปที่ดีกว่าหรือสถานศึกษาของเอกชน เนื่องจากข้าราชการหลังเกษียณมีเงินบำนาญและค่ารักษาพยาบาลมากเพียงพอหลายหมื่นบาทในการดำรงชีวิตซึ่งแตกต่างกับพนักงานมหาวิทยาลัยถ้าเลือกถ้าเลือกรับบำนาญจะได้จากประกันสังคมเพียงเดือนละไม่เกิน 3000 บาทและถ้าเลือกรับบำเหน็จก็จะไม่ได้รับสิทธิในการเบิกค่ารัดษาพยาบาล ดังนั้นความแน่นอนของอาชีพที่เป็นอยู่จะให้อาจารย์มุ่งมั่นในการสอนคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นระบบการศึกษาไทยยิ่งจะล้มเหลว เด็กที่จบมาจะไม่มีคุณภาพ เราต้องการให้ประเทศของเราเป็นแบบนี้หรือการศึกษาตกต่ำ

เรียนอาจารย์ที่เคารพ ขออนุญาตพูดถึงความรู้สึกเรื่องขึ้นค่าที่พักบุคลากรนะคะ

สวัสดิการเรื่องที่พักบุคลากรนั้นก็กำลังจะสั่นคลอนด้วยนะคะ ตอนนี้ก็กำลังจะขึ้นค่าที่พัก การที่เอาของสมบัติของมหาวิทยาลัยอาคารที่สร้างมาเป็นที่พักสำหรับบุคลากรที่ไม่สามารถเบิกค่าเช่าบ้านได้ก็มีการจะคิดค่าที่พักโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนและการนำไปใช้ประโยชน์ที่แน่นอน ห้องพักก็เสื่อมโทรมลงไปทุกวัน เช่น มน.นิเวศ 1-2-3-4 อายุ 20 กว่าปีแล้ว ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่ควร และตอนนี้จะมาเพิ่มโดยไม่แจ้งให้ผู้พักอาศัยทราบ ซึ่งดูแล้วสวัสดิการเรื่องที่พักอาศัยกำลังถูกริดรอน ซึ่งการจัดการกับทรัพย์สินของทางราชการนั้นทำอะไที่มีผลประโยชน์เพิ่มควรจะชัดเจน ผลส่วนต่างของรายได้รับ-รายจ่าย มีระบบการจัดการไม่ชัดเจน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท