เรื่องเล่าจากดงหลวง 29 Law of Boss


“ คุณ..ผมทำงานยึดกฎเหล็ก 2 ข้อ เขาพูดพร้อมกับเอื้อมมือไปหยิบธงอันที่หนึ่งมาวางตรงหน้าแล้วว่า ข้อที่ 1 สิ่งที่หัวหน้าตัดสินใจต้องถูกเสมอ แล้วเขาก็เอื้อมไปหยิบธงอันที่ 2 แล้วกล่าวต่อว่า กฎข้อที่ 2 หากหัวหน้าผิด..ให้กลับไปใช้กฎข้อที่ 1..”

1.   Law of Boss (LOB): สมัยที่ผู้เขียนทำงานที่โครงการพัฒนาน้ำดื่มน้ำใช้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับกลุ่มบริษัท MPW และ COFFEE ของออสเตรเลียนั้น หัวหน้าโครงการจะมีธงเล็กๆวางอยู่บนแท่นโต๊ะทำงานจำนวน 2 ธง มีเลข 1 และเลข 2 ตามลำดับ ผู้เขียนไม่เคยสนใจ เพราะคิดว่าเป็นเครื่องประดับธรรมดาของฝรั่งบนโต๊ะทำงาน

 แต่วันหนึ่งผู้เขียนเข้าไปปรึกษาปัญหาในการทำงานกับหัวหน้าท่านนี้ มีตอนหนึ่งเขาพูดกับผู้เขียนว่า   คุณ..ผมทำงานยึดกฎเหล็ก 2 ข้อ เขาพูดพร้อมกับเอื้อมมือไปหยิบธงอันที่หนึ่งมาวางตรงหน้าแล้วว่า ข้อที่ 1 สิ่งที่หัวหน้าตัดสินใจต้องถูกเสมอ  แล้วเขาก็เอื้อมไปหยิบธงอันที่ 2 แล้วกล่าวต่อว่า กฎข้อที่ 2 หากหัวหน้าผิด..ให้กลับไปใช้กฎข้อที่ 1..”  ผู้เขียนกลับออกมาด้วยความงุนงงอยู่พักหนึ่ง เพราะไม่เคยได้ยินกฎประหลาด บ้าบออะไรอย่างนี้ แล้วก็มานั่งทบทวนพฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานที่เป็นฝรั่งทั้งหมด เวลาประชุมทีมงาน เวลาถกเถียงกัน มันอาจจะไม่เหมือนสังคมไทยที่เมื่อหัวหน้างานพูดทุกคนก็ ครับ..ใช่..หากไม่เห็นด้วยก็เงียบซะ.. แล้วเอาไปเม้าท์นอกห้องประชุม 3 วัน 3 คืนไม่จบ.. แต่ฝรั่งเขาเถียงกันเต็มที่ ยืนยันในเหตุผลของตัวเองเป็นที่สุด และไม่ได้ยอมหัวหน้างานแม้แต่น้อย แต่เมื่อหัวหน้างานรับฟังจนที่สุดแล้ว และตัดสินใจลงไปแล้ว ทุกคนหยุด ยอมรับสิ่งนั้นที่หัวหน้าตัดสินใจแม้จะไม่ตรงกับความคิดตัวเอง แม้ว่าเมื่อกี้เพิ่งคัดค้านมาหยกๆ แต่ยอมรับในสิ่งที่หัวหน้าตัดสินใจ ถือเป็นที่สุด

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นคือ เมื่อหัวหน้างานตัดสินใจแล้ว ผู้รับผิดชอบจะพิจารณาเงื่อนไขของการปฏิบัติงานให้เกิดความสำเร็จแล้วหากเสนอขอรับการสนับสนุนก็จะได้รับการสนับสนุนเต็มที่  สิ่งที่ผู้เขียนเรียนรู้คือ เมื่อหัวหน้างานตัดสินใจแล้ว..นั่นคือ ความรับผิดชอบผลของมัน พันเปอร์เซ็นต์ หากผิดพลาดก็เป็นความผิดของหัวหน้าไปเท่านั้น ดังนั้นความจริง Law of Boss ก็คือ Law of Responsibility นั่นเอง หรือ Law of Decision Making ที่หัวหน้างานมีอยู่เต็มๆในการตัดสินใจทุกครั้ง และเป็นเช่นนั้นจริงๆนี่คือวัฒนธรรมการทำงานของฝรั่งมังค่าในรูปของบริษัทที่ปรึกษา   

2.   กฎความรับผิดชอบของคนไทย: ในระบบองค์กรของไทยไม่ว่าระบบราชการหรือองค์กรธุรกิจเอกชน บุคลากรจะมีสองบทบาท คือ ทำตามหน้าที่ตามตำแหน่งที่อยู่ และทำตามที่หัวหน้างานมอบหมายพิเศษ และทั้งสองลักษณะความรับผิดชอบนั้นผู้ได้รับมอบหมายจะเป็นผู้แบกรับความสำเร็จหรือความล้มเหลวเต็มที่ หากสำเร็จก็อาจจะได้รับความชื่นชม (แต่มักไม่ค่อยได้รับคำชม) แต่หากไม่สำเร็จ ก็จะถูกหมายหัวถึงการไม่มีความสามารถ 

หนักไปมากกว่านั้นอาจจะได้รับการเตือน หรือโทษในระดับต่างๆไปเลยทีเดียว หัวหน้างานมักลอยตัวไป เสมือนผลงานที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของบุคคล แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องความรับผิดชอบของการตัดสินใจสั่งการ    ระบบของราชการเราอยู่ภายใต้ระเบียบต่างๆมากมาย ซึ่งไม่ยืดหยุ่นเพียงพอต่อการเอื้อเงื่อนไขของความสำเร็จ และผลงานมักเป็นเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ มักจะฉาบฉวยมากกว่าจะลงลึกถึงความเป็นจริง แต่อย่างไรก็ตามระบบนี้ก็อยู่กับประเทศมานานแสนนาน การมีแนวคิดปฏิรูปเป็นเรื่องที่ต้องการพัฒนาปรับปรุงให้ระบบเอื้อต่อประสิทธิภาพมากกว่าปริมาณ 

อย่างไรก็ตามระบบที่อยู่มานับเป็นร้อยปีแล้วนี้ คนที่ก้าวเข้ามาอยู่ในระบบก็เป็นคนที่มาจากระบบการศึกษาใหม่ๆที่ก้าวหน้าและในความเป็นจริงที่ความคิดอาจจะก้าวไปไกลแล้ว  แต่ระบบ ระเบียบไม่ได้ถูกแก้ไขปรับปรุงจึงไม่สามารถคิดอ่านให้เกิดก้าวกระโดดของการพัฒนาไปได้ ตรงข้ามการก้าวยังช้าเพราะความรกรุงรังของระบบ ระเบียบต่างๆนั้นทำให้เราล้าหลังลงด้วยซ้ำไป  

แม้ว่าสองเรื่องจะต่างระบบ ต่างวัฒนธรรมกัน แต่ก็เป็นมุมสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิด วิธีการทำงาน ระบบความรับผิดชอบ ที่หน่วยงานน่าที่จะพิจารณาเรียนรู้ และค้นหาประเด็นการพัฒนาระบบภายในของเราได้บ้าง พูดให้ชัดก็คือเราจะปรับวัฒนธรรมองค์กรของเราให้เหมาะกับลักษณะงานได้อย่างไร

คำสำคัญ (Tags): #law of boss#lob
หมายเลขบันทึก: 79979เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2007 00:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พี่ บางทราย คะ

เพิ่งเข้าใจวันนี้เองค่ะ กับกฎข้อที่หนึ่งและสอง แบบฝรั่ง และไทย ขอบคุณมากค่ะ ...

ชอบอ่านบันทึกของพี่นะคะ ได้เรียนรู้และได้คิดหลายๆอย่างค่ะ

น้องจันทรัตน์ครับ

  • ยังมีรายละเอียดเรื่องวัฒนธรรมองค์กรอีกมาก บังเอิญพี่มีประสบการณ์ทำงานกับสามระบบ คือ ราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน และ ฝรั่งมังค่า เลยมีโอกาสเรียนรู้เปรียบเทียบกัน ฝรั่งก็ไม่ใช่จะวิเศษวิโสอะไร แต่พี่ว่าหลักเขาดี ระบบสังคมเขาสอนคนมาอย่างนั้น  หลายอย่างก็สู้ของเราไม่ได้ เช่น ความมีน้ำใจ
  • เคยถูกข้าราชการตำหนิเราที่ทำงานไม่เข้าตา พี่ใช้หลัก Conflict confrontation คือเผชิญหน้าอย่างตรงไปตรงมาแต่ไม่ใช่เดินไปต่อยไปด่าเจ้านายนะ ตรงข้ามรีบเข้าหาแบบนอบน้อบอย่างมีหลัก ขอคำแนะนำท่านว่าผมบกพร่องตรงไหน อ่อนตรงไหน แล้วขอคำแนะนำ อะไรที่เราชี้แจงได้ก็ชี้แจง อธิบาย แล้ว แสดงจุดยืนในความตั้งใจการทำงานของเรามห้เห็นชัดเจน เจ้านายดีๆน่ะเมื่อลูกน้องเข้ามาตรงไปตรงมาก็ใจอ่อนและยอมรับ อาจจะแอบชมด้วยซ้ำไป ว่าไอ้หมอนี่มันตั้งใจ  จริงใจ  แต่สองอย่างนี้ก็เปิดโอกาสให้เราแล้วครับ
  • คงมีหลักการอื่นๆอีก เช่นหากเจ้านายไม่เอาด้วยล่ะ ไม่ชอบขี้หน้าเรา  อันนี้หนักจริงๆ คงต้องใช้เวลา

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท