AAR ร่วม Weekly Meeting ของ สคส.


มีไอเดียดีๆ ที่เอาไปใช้ต่อได้

เมื่อเช้านี้หลังจากได้คุยเรื่องงานของเครือข่ายเบาหวานเสร็จ อาจารย์วิจารณ์เชิญดิฉันเข้าร่วม Weekly Meeting ของ สคส. ซึ่งเริ่มเมื่อเวลา ๐๘.๓๐ น. ด้วย เพิ่งรู้จึงไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่คิดว่าคงจะได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นอีกแน่ ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาด ได้เรียนรู้มากอีกเช่นเคย ทั้งจากช่วงของการตีความหนังสือ Social Intelligence ในเรื่อง Healthy Connections ซึ่งวันนี้คุณจ๋า ฉันทลักษณ์ รับผิดชอบบท Biological Allies และยังร่วมกับคุณอ้อ วรรณา ในบท A People Prescription เนื้อหากล่าวถึงเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคน ฮอร์โมน และพฤติกรรมของคน มีตัวอย่างเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา แพทย์/พยาบาลกับผู้ป่วย เป็นต้น เรา discuss และยกตัวอย่างประสบการณ์ของตนเอง ทำให้อาจารย์ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด สงสัยว่าตัวเองน่าจะเหมาะกับการเป็นแพทย์มากกว่าวิศวกร อาจารย์วิจารณ์ก็นึกขึ้นได้ว่าอาจารย์อาจจะไม่เป็นแพทย์เท่าไหร่ เพราะชอบคิดภาพใหญ่มากกว่า individual

หลังจากนั้น เป็นการ AAR งาน World Bank – KMI Seminar การหารือกับกรมการปกครอง คุณอ้อขอแทรกเพื่อหารืองานที่ไปพูดคุยกับ สสส. เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะใน มรภ. ก่อนที่จะกลับมา AAR  Workshop ภายในของ สคส. แต่ละคนคิดและพูดกันเพลินจนเกือบ ๑๓.๐๐ น. ไม่มีใครบ่นหิวเลย

ดิฉันได้กำไรจากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เพราะได้เรียนรู้วิธีการประชุมหน่วยงานที่สมาชิกทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระและเท่าเทียม ในบรรยากาศแบบกันเอง (แต่เรียบร้อย) เป็นการประชุมที่เปิดเผยจนดิฉันไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นคนนอก เพราะได้โอกาสร่วมแจมเกือบทุกเรื่อง นอกจากนี้ยังมีไอเดียดีๆ ที่เอาไปใช้ต่อได้ เช่นการเลือกหัวข้อ KM ตามภาษาที่อาจารย์ประพนธ์แนะคือ “เจ้าหน้าที่ได้พัฒนา ประชาชนได้ประโยชน์” หรือที่อาจารย์วิจารณ์พูดถึง Evening talk ที่ช่วยให้คนนอนหลับสบาย เป็นต้น แถมได้รู้มาอีกว่าอาจารย์ประพนธ์เป็นคน "ขี้เหงา" ชอบมีเพื่อนคุย

ถ้ามีโอกาสก็จะเอาวิธีการประชุมแบบนี้ไปใช้ในหน่วยงานบ้าง

ดิฉันเข้าร่วม Weekly Meeting ของ สคส. ที่ห้องประชุมของ สกว. ชั้น ๑๔ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ สังเกตว่าแต่ละคนนั่งเก้าอี้ในตำแหน่งเดิมๆ ไม่รู้มีเคล็ดอะไรหรือเปล่า ลืมถามค่ะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 79950เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2007 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • แวะมาเก็บเกี่ยวครับ
  • ขอบคุณ
  • คำหลัก มีเครื่องหมาย + = คำเดียวกันใช่ไหมครับ เพิ่งสังเกตครับ
อาจารย์เล่าได้ดี๊ดีค่ะ ช้อบชอบ ทุกครั้งที่อ่านบันทึกเล่าเรื่องของอาจารย์จะรู้สึกถึงความเย็นๆแต่อิ่มๆบอกไม่ถูกค่ะ ขอบคุณนะคะอาจารย์

ตอบอาจารย์ Panda ค่ะ คำหลัก เมื่อใส่เครื่องหมาย - หรือ + แสดงว่าเป็นคำเดียวกัน ไม่อย่างนั้นจะแยกเป็นคนละคำ

ขอบคุณคุณโอ๋-อโณ สำหรับคำชม แสดงว่าเนื้อหาและสไตล์ของบันทึกมีผลต่ออารมณ์ด้วย (อิน Social Intelligence เสียแล้ว)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท