ชีวิตที่พอเพียง : 222. สะกิดใจโดยกรณีฟุตบอลไทย-สิงคโปร์


         เช้าวันที่ ๓ ก.พ. ๕๐ หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น พาดหัวข่าวว่านักฟุตบอลสิงคโปร์ที่ยิงลูกโทษเข้าประตูทีมไทย ให้สัมภาษณ์ว่า พอกรรมการวิ่งเข้ามาก็ใจหาย      คิดว่าตนจะโดนใบเหลือง      และไม่คิดว่ากรรมการจะตัดสินให้ทีมสิงคโปร์ได้เตะลูกโทษ

         ทำให้ผมนึกถึงสมัยเด็กๆ อายุสัก ๑๐ - ๑๔ ขวบ     ผมเป็นกองเชียร์ฟุตบอลของโรงเรียน ชุมพร "ศรียาภัย"     เชียร์กันสุดใจขาดดิ้น     โดยเฉพาะเมื่อแข่งกับคู่อาฆาต คือโรงเรียน หลังสวน "สวนศรีวิทยา"     สมัยนั้นชื่อโรงเรียนเขาเขียนกันอย่างที่ผมเขียนนี่     แต่เวลานี้เปลี่ยนไปแล้ว     และสมัยนั้นในจังหวัดชุมพร อำเภอที่ใหญ่ที่สุดคืออำเภอเมือง  รองลงไปคืออำเภอหลังสวน    โรงเรียนชายที่ใหญ่ที่สุดจึงได้แก่โรงเรียนประจำจังหวัด คือ โรงเรียน ชุมพร "ศรียาภัย"     รองลงไปย่อมได้แก่โรงเรียนประจำอำเภอที่ใหญ่รองลงมาคือ โรงเรียน หลังสวน "สวนศรีวิทยา"      ดังนั้น ทีมฟุตบอล ก็ย่อมมีฝีเท้าเด่นตามไปด้วย

          ผมเล่นกีฬาอะไรไม่เป็นสักอย่าง     และเวลาเรียนชั่วโมงพละ ผมก็จะเป็นตัวตลกของเพื่อนๆ     แต่เวลาเชียร์กีฬานี่ผมไม่เบาเลย     ฟุตบอลนัดชิงชนะเลิศทีไรกลับบ้านเสียงแหบเพราะร้องเพลงและตะโกนเชียร์

         มีอยู่หลายครั้ง ที่ดาราฟุตบอลรุ่นพี่ หรือรุ่นเพื่อน ได้เตะลูกโทษ     แต่เขาเห็นว่าทีมฝ่ายคู่แข่งเขาไม่ได้จงใจแกล้ง     เป็นการทำผิดโดยไม่จงใจ     ก็แสดงน้ำใจให้อภัย โดยการแตะออกไปนอกขอบประตูอย่างจงใจ คือเตะไม่แรง และให้ออกห่างประตูออกไปมากๆ    เป็นการทำตามคติในเพลงกราวกีฬา     "รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย"    พวกเรากองเชียร์ก็จะตบมือและตะโกนแสดงความชื่นชมดาราผู้แสดงน้ำใจผู้นั้น     รวมทั้งฝ่ายคู่แข่งก็จะตบมือให้ด้วย

          ทำให้ผมเกิดความสงสัย ว่าทำไมนักเตะสิงคโปร์จึงไม่ทำอย่างดาราฟุตบอลนักเรียนที่จังหวัดชุมพรเขาปฏิบัติกันเมื่อกว่า ๕๐ ปีที่แล้ว      ผมเดาว่า ถ้าเขาทำเช่นนั้น เขาคงจะถูกโค้ช ผู้จัดการทีม เพื่อนร่วมทีม และคนสิงคโปร์ก่นด่า     และอาจถูกให้ออกจากทีมชาติไปเลย     แสดงว่าจิตใจของคนสมัยนี้เน้นที่ชัยชนะ     โดยไม่สนใจเรื่องการแสดงน้ำใจ     และสภาพจิตใจคนแนวนี้คงจะไม่ใช่จำเพาะเฉพาะคนสิงคโปร์     คนไทยก็คงเหมือนกัน     และคนชาติอื่นๆ ในโลกก็คงจะเหมือนกัน

         เวลาผ่านไป ๕๐ ปี โลกเจริญขึ้นในทางวัตถุ     แต่เลวลงในด้านน้ำใจ     อารยธรรมด้านวัตถุของมนุษย์ก้าวหน้าอย่างเหลือเชื่อ     แต่อารยธรรมด้านน้ำใจ  ด้านจิตใจ  กลับเหือดแห้งไป   

         ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถเจริญขึ้นได้ทั้งทางวัตถุ และทางจิตใจ

วิจารณ์ พานิช
๓ ก.พ. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 79880เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2007 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เชื่อว่าต้องเริ่มที่ตัวเราค่ะ เป็นตัวอย่างให้ดี เอาชนะกิเลสที่ทำให้คิดถึงตัวเอง คิดถึงแต่พวกพ้องญาติพี่น้องของตัวเอง สอนคนที่เราสอนได้ด้วยการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ยิ่งคนใหญ่คนโตเท่าไหร่ยิ่งควรทำให้เห็นเป็นแบบอย่างยิ่งขึ้นเท่านั้น เห็นว่าการที่อาจารย์นำเรื่องที่อาจารย์เอาชนะกิเลสต่างๆมาเล่า ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้พวกเรายึดถือเป็นแบบอย่าง ดำเนินตัวเองให้อยู่คู่คุณธรรม ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำที่มักจะมาเย้ายวนเสมอๆ
ผมมองในมุมว่าถ้าเขาแสดงน้ำใจนักกีฬาเขาคงมีชีวิตรอดหลังจากการแข่งได้ไม่นานครับ เพื่อนผมเล่าว่ามาเฟียฟุตบอลเดี๋ยวนี้เครือข่ายใหญ่โตมาก การแข่งขันฟุตบอลทุกครั้งจะมีเดิมพันจำนวนมหาศาลที่เรานึกไม่ถึงโดยพนันขันต่อกันข้ามโลกทีเดียวครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท