สิทธิในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางปกครองของคนต่างด้าว


กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง

           ประเด็นปัญหา : กรณีเอกชน หรือ นิติบุคคล ต่างด้าวได้รับความเสียหายอันเกิดจากการกระทำ/ละเว้นกระทำของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะสามารถนำคดีขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมทางปกครองได้หรือไม่

           สมมุติฐาน อาจกล่าวได้ว่าสิทธิในการฟ้องคดีดังกล่าวเป็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นหลักจารีตประเพณีอันเป็นบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยไม่ว่าคนชาติหรือคนต่างด้าวย่อมได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายของรัฐชาตินั้น

   ดังนั้นไม่ว่าคนชาติหรือคนต่างด้าวย่อมมีสิทธิเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางปกครองได้เช่นเดียวกันกับคนชาติ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีทางปกครองของรัฐที่ได้บัญญัติไว้

การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางปกครองกับหลักสิทธิมนุษยชน

    การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางปกครองประเทศไทยได้นำเอาหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งถือว่าเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศ มาบัญญัติไว้เป็นกฎหมายภายในภายหลังจากที่เกิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขึ้นใน ปี ค.ศ. 1948 กล่าวคือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 8 “บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาอย่างได้ผลโดยผลศาลแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจเนื่องจากการกระทำใด ๆ อันละเมิดต่อสิทธิขั้นมูลฐาน ซึ่งตนได้รับจากรัฐธรรมนูญหรือจากกฎหมาย” ปรากฏเป็น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 62 “สิทธิของบุคคลที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” จากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 8 ข้างต้นได้บัญญัติให้ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิขั้นมูลฐานอันเป็นสิทธิของเอกชน สิทธิประเภทนี้เป็นสิทธิที่เอกชนซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิมีต่อรัฐ เนื่องจากสิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องมี และในฐานะที่อำนาจของเจ้าหน้าที่เป็นอำนาจที่ได้รับมอบหมายมา มิใช่อำนาจในตัวเองของเจ้าหน้าที่อย่างสิทธิของเอกชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน หลักกฎหมายจึงถือว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่จะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นหลักจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ทั้งโดยกฎหมายที่ให้อำนาจนั้นเอง และโดยวิธีการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งการใช้อำนาจรัฐดังกล่าวเรียกในวิชากฎหมายปกครองว่า “หลักนิติรัฐ” กล่าวคือ รัฐและองค์กรของรัฐทั้งหลายที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญและกฎหมายมีหน้าที่ต้องเคารพกฎหมายที่ตราขึ้นในรัฐนั้นด้วย ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะเป็นรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายในลำดับใด ซึ่งหากเอกชนคนใดคนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นคนชาติหรือคนต่างด้าว ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของฝ่ายปกครองมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการกระทำทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ หรือประโยชน์อันชอบธรรมของตนนั้นเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนการกระทำนั้น หรือขอให้ไม่บังคับใช้การกระทำนั้นแก่กรณีของตน และ/หรือขอให้บังคับให้ฝ่ายปกครองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตน แล้วแต่กรณี โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเป็นศาลแรก หากไม่พอใจก็สามารถอุทธรณ์ไปยังศาลศาลปกครองสูงสุดได้ (ภายใน 30 วัน) เว้นแต่คดีบางประเภทที่มีความสำคัญมาก เช่น การฟ้องขอเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวง ก็ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้โดยตรง

บุคคลผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

          หากพิจารณาตาม ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 8 ผู้ที่มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง คือ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งตนได้รับจากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย กล่าวคือ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้กฎหมายปกครอง อันได้แก่ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังนั้นจึงต้องพิจารณาประกอบกับ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 42 และ มาตรา 43 สรุปได้ว่าผู้ที่มีสิทธิฟ้องคดีปกครองคือบุคคลดังต่อไปนี้

1) ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 9

2) ผู้ที่อาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการกระทำหรือการงดเว้นกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา 9

3) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในกรณีที่เห็นว่ากฎหรือการกระทำใด ๆ ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้มีสิทธิเสนอเรื่อง พร้อมความเห็นต่อศาลปกครองได้  

          อำนาจฟ้องตามข้อ 1) และ2) ได้ขยายไปให้แก่บุคคลที่ยังไม่ได้รับความเสียหายจริง แต่จะได้รับความเสียหายอย่างแน่นอนจากการกระทำทางปกครองอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้นั้นแม้จะยังไม่ได้รับความเสียหายก็มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองเช่นกัน

       ทั้งนี้ คำว่า “บุคคล” หมายความถึง บุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคล หรือหน่วยงานของรัฐ

       บทสรุป

คนต่างด้าวกับสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง หากพิจารณาตาม ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 8 ซึ่งถือว่าเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหลักจารีตประเพณีอันเป็นบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบกับ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 42 และ มาตรา 43 อาจกล่าวได้ว่าบุคคลใดๆก็ตามหากถูกกระทบ “สิทธิ” หรือมีการกระทบกระเทือนต่อ “ประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสีย” ก็ฟ้องคดีได้ และระดับของประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียนั้นก็ยืดหยุ่นตามลักษณะของคดีที่จะนำมาฟ้องต่อศาล ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของมาตรา 42 และมาตรา 43 ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองดังกล่าวข้างต้นด้วย คนต่างด้าวจึงถือได้ว่ามีสิทธิตามกฎหมายในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองหากตนได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของฝ่ายปกครอง ก็มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการกระทำทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ หรือประโยชน์อันชอบธรรมของตนนั้นเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนการกระทำนั้น หรือขอให้ไม่บังคับใช้การกระทำนั้นแก่กรณีของตน และ/หรือขอให้บังคับให้ฝ่ายปกครองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตน แล้วแต่กรณี

หมายเลขบันทึก: 79711เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2007 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 00:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท