ประเทศไทยยังไม่มี “แผนการใช้ที่ดิน'???????


ใครจะใช้ที่ดินตรงไหน ทำอะไรก็ได้ โดยแทบไม่มีข้อจำกัด หรือมีก็มีทางเลี่ยงบาลีได้แทบทุกเรื่อง และไม่ต้องสนใจว่าแผนหลักในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างไร
 วันนี้ผมได้พบกับบุคลากรของกรมพัฒนาที่ดินที่เคยเรียนกับผมมาก่อน และเขาก็กำลังทำงานด้านการวาง แผนการใช้ที่ดิน ให้กับประเทศไทย  

เขาบอกผมว่า กำลังรีบเร่งทำแผนการใช้ที่ดินระดับตำบล แต่คนจำนวนน้อย ไม่สามารถทำงานได้ทัน

  

ผมก็เลยบอกเขาว่า ด้วยคนจำนวนน้อยนั้น ต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานให้ชัดเจน ว่าคนเท่านี้ ทรัพยากรต่างๆเท่านี้ จะทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร

  

ผมยังยึดหลักการที่ว่า

  ตราบใดที่ยังไม่มีประสิทธิผล ไม่มีประโยชน์ที่จะคุยกันเรื่องประสิทธิภาพ  

หมายความว่า เราต้องเน้นทำงานให้ได้ผลก่อน แล้วจึงมาพิจารณาว่า จะทำให้ประหยัดที่สุด และคุ้มค่าที่สุดได้อย่างไร ถ้าไม่ได้ผลแล้วจะมาเทียบเป็นประสิทธิภาพได้อย่างไร

  

แต่ในทางปฏิบัติ เรากลับทำไปก่อน ได้ผลไม่ได้ผลอย่างไรก็ทำให้แล้วๆไป

  

 และบางทียังคิดเรื่องการประหยัดทั้งๆที่ยังทำงานไม่ได้ผลเลย

  

วิธีคิดแบบนี้ผมไม่ทราบว่าเราได้มาจากไหน หรือมีเพียงในระบบราชการที่เราทำกัน แบบ ไร้เป้าหมาย ขาดการประเมิน อย่างไรก็อยู่ได้ และได้เงินเดือน เหมือนเดิม

  

ดังนั้น แม้เราจะมีเป้าหมายที่จะทำแผนการใช้ที่ดิน ตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ (ปีที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมนั่นแหละครับ) จนมาถึงปี ๒๕๕๐ เราก็ยังไม่มีแผนว่า

  

1.     ประเทศไทยจะกำหนดว่า เราจะใช้พื้นที่ดิน ทำอะไรบ้าง ในปริมาณ และสัดส่วนเท่าไหร่ ใครถือครอง ใครใช้ ได้ผล ไม่ได้ผล อย่างไร

 

2.     ในพื้นที่ต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นนั้น มีทรัพยากรสอดคล้อง และไม่สอดคล้องกับแผนหลักของประเทศ มากน้อยเพียงไร มีการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง และไม่ถูกต้องอย่างไรบ้าง

 

3.     ทรัพยากรเหล่านั้น ที่เหมาะสมควรมีแผนการใช้ อนุรักษ์ และพัฒนาอย่างไร

 

4.     ที่ไม่เหมาะสม จะต้องพัฒนาปรับปรุง หรืออนุรักษ์ ให้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้อย่างไร

 

5.     การวางแผนดังกล่าวจะทำให้สอดคล้องกับความต้องการทั้งระดับประเทศ ภาค ชุมชน และครัวเรือนประเภทต่างๆ อย่างไร

 

6.     มีการวางแผนการทำงานให้สามารถเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ การพัฒนา และการแก้ปัญหาให้มีผลเสีย หรืผลกระทบต่อระบบทรัพยากร สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ประเพณี กฎระเบียบพื้นบ้าน และวัฒนธรรม ทั้งของชาติ และของท้องถิ่น ได้อย่างไร

 

7.     ถ้ามีปัญหาขัดแย้งทั้งในเชิงพื้นที่ ทรัพยากร กฎ ระเบียบ และสังคม จะต้องมีแผนแก้ไขล่วงหน้าไว้แต่ละกรณี ไว้อย่างไรบ้าง

 

8.     ควรจะมีกฎหมายไว้ควบคุมดูแล การใช้ที่ดิน ให้เป็นไปตามแผน ในเรื่องอะไรบ้าง

 

9.     ควรทำงานสร้าง พัฒนา และปรับปรุงแผนการใช้ที่ดินอย่างไร จึงจะใช้งานได้จริง ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของเป้าหมายการพัฒนาของประเทศ

 

10. ใคร และหน่วยงานใด ควรจะเข้ามาร่วมทำงาน ในรูปแบบ และระดับต่างๆให้บรรลุเป้าหมายการวางแผนการใช้ที่ดิน เพื่อลดปัญหา ทรัพยากร สังคม และสิ่งแวดล้อม แบบบูรณาการอย่างแท้จริง

 

11. ฯลฯ

  

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เรายังไม่มีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม มีแต่นามธรรมที่ไม่มีการปฏิบัติ ผมจึงเรียกว่า เรายังไม่มี แผน การใช้ที่ดินในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ จนมาถึงระดับชุมชน

  

ที่มีอยู่บ้างก็เป็นระดับ ผังเมือง ที่เป็นระดับชุมชน และระดับ หน่วยงาน ที่กระจัดกระจายในพื้นที่แบบต่างๆ ไม่เต็มพื้นที่ของประเทศ ทำเหมือนกับว่าประเทศไทยนี้สามารถ แบ่งแยก ได้อย่างนั้นแหละ

  

เพราะแผนเหล่านั้นบางทีก็ไม่สอดคล้องกัน และไม่สอดประสานเข้ากับแผนหลัก และปรัชญาการพัฒนาของชาติ

  

ผมยังนึกอิจฉา ประเทศเพื่อนบ้าน เช่นลาว และ เวียตนาม ที่เขามีแผนการใช้ที่ดินชัดเจนมาก ถึงระดับครัวเรือน

  

นั่นเป็นข่าวไม่ค่อยดีสำหรับเมืองไทย ที่เราล้าหลังด้านการกำหนดแผนและกฎหมายการใช้ที่ดิน ที่เรายังวิ่งตาม ลาว และเวียตนาม อยู่แบบไม่เห็นฝุ่น เพราะเขาใช้ปฏิบัติกันมานานแล้ว มีปัญหาบ้างก็กำลังแก้ไขกันอย่างเอาจริงเอาจัง สำหรับประเทศทางยุโรป เขาไปไกลโขแล้วครับ ไม่ต้องไปอิจฉาเขาให้เหนื่อยแปล่า

  

แต่ ก็ยังมีข่าวดีครับ ผมทราบข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า ยังมีประเทศที่ยังไม่มีแผนการใช้ที่ดินอยู่เป็นเพื่อนกับไทยบ้างเหมือนกัน ที่มีลักษณะที่ว่า ใครจะใช้ที่ดินตรงไหน ทำอะไรก็ได้ โดยแทบไม่มีข้อจำกัด หรือมีก็มีทางเลี่ยงบาลีได้แทบทุกเรื่อง และไม่ต้องสนใจว่าแผนหลักในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างไร

  

ประเทศที่ยังเป็นเพื่อนแบบไม่มีแผนการใช้ที่ดิน

ก็คือ กัมพูชา และเมียนม่า ครับ  ดีใจไหมครับ
หมายเลขบันทึก: 79676เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2007 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แปลกแต่จริงดังที่อาจารย์ว่าเลยครับ

การวางแผนการใช้ที่ดินเป็นรายวิชาที่มีการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา แต่ผมก็ไม่เข้าใจเช่นกันครับว่าทำไมประเทศไทยเราจึงล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ จังเลยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

หากจะบอกว่าความไม่สนใจของฝ่ายรัฐ ก็ไม่เชิง หรืออาจจะบอกว่าความไม่รู้ก็ไม่ใช่

แต่ที่น่าจะใช่ หรือมีความเป็นไปได้ในมุมมองของผมก็คือความเห็นแก่ตัวของคนทุกระดับ

ด้วยความเคารพ

อุทัย   อันพิมพ์

 

          ผมอยากให้ท่านอาจารย์  ดร.แสวง  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จริง  ๆ  ครับ  ผมมองว่ารัฐกำลังทำให้ดินที่อุดมสมบูรณ์มาแต่อดีตกลายเป็นดินเสื่อมที่ไม่สามารถปลูกพืชพรรณธัญญาหารได้ดีเหมือนในอดีต   ไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใด  การบริหารจัดการที่ใช้เงินลงไปเท่าไร  ดังที่ท่านอาจารย์ว่าจนถึงวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีแผนการใช้ที่ดิน  ผมก็พึ่งจะเคยไดยินนี้เองครับ

ตอนนี้ทางกรมพัฒนาที่ดินมาติดต่อให้ไปช่วยงานด้านการวางแผนการใช้ที่ดินแล้วครับ

 

ไม่น่าเชื่อว่าผมต้องพูดเรื่องนี้ถึง ๒๐ ปีกว่าคนจะเริ่มเข้าใจและคิดที่จะนำหลักการไปทำงานครับ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท