สมองไหลแบบฟิลิปปินส์


หมอฟิลิปปินส์ชอบเรียนต่อพยาบาล และไปทำงานพยาบาลในต่างประเทศ

แพทยสมาคมฟิลิปปินส์เผยแพร่ข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนศกนี้ถึงวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ ซึ่งอาจจะทำให้ระบบสาธารณสุขพังทลายได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

นายไฮเม่ กัลเวซ ตัน อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขฟิลิปปินส์ได้เผยแพร่ผลการศึกษาเรื่องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของบุคลากรด้านการแพทย์ใน 5 ปีที่ผ่านมาเปิดเผยว่า

สาเหตุของภาวะสมองไหลไปต่างประเทศ(หมอ-พยาบาล)เกิดจากการเมืองไร้เสถียรภาพ รายได้ต่ำ คอร์รัปชั่น สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ดี และการคุกคามให้มีการประพฤติผิดจรรยาแพทย์ อย่างไรก็ตาม... สาเหตุสำคัญที่สุดเกิดจากการย้ายไปเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของลูกหลาน

นับตั้งแต่ปี 2537 พยาบาลที่นั่นไปทำงานต่างประเทศไม่น้อยกว่า 100,000 คน ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้(50,000 คน)เพิ่งออกไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่โรงเรียนพยาบาลผลิตพยาบาลใหม่ได้ 33,370 คน(ต่อ 5 ปี)

ส่วนแพทย์ไปทำงานต่างประเทศแล้วมากกว่า 3,500 คนตั้งแต่ปี 2543 (5 ปี) ขณะที่มีแพทย์ใหม่สอบได้ใบอนุญาตวิชาชีพเพียง 1,500 คนในช่วงปี 2545-2546 หรือประมาณ 3,750 คน(ต่อ 5 ปี)

ถ้าจะกล่าวแบบการเงินก็คงจะต้องกล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมา... ดุลชำระพยาบาลติดลบ(สร้างได้น้อยกว่าส่งออก)ประมาณ 16,630 คน ส่วนดุลชำระแพทย์(สร้างได้น้อยกว่าส่งออก)ติดลบประมาณ 250 คน

เงินเดือนในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของพยาบาลและหมอฟิลิปปินส์อยู่ที่ 3,000-4,000 ดอลลาร์(ประมาณ 120,000-160,000 บาท) เทียบกับเงินเดือนที่ฟิลิปปินส์ 180-220 ดอลลาร์ (ประมาณ 7,200-8,800 บาท)

หมอฟิลิปปินส์ส่วนใหญ๋กว่าร้อยละ 80 ทำงานในสถานพยาบาลเอกชน สัดส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์ก็ลดลงจาก 86 % เหลือเพียง 52.9 % เหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้ระบบสาธารณสุขมูลฐานของฟิลิปปินส์ล่มสลายได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า

รัฐบาลฟิลิปปินส์เองก็จัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขให้เพียงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับ ร้อยละ 4.5 ในเวียดนาม และร้อยละ 7.6 ในไทย ทำให้เกิดความขาดแคลนในระบบบริการสุขภาพ(ข่าวมติชน)

นพ.เฟอร์ดินานด์ ซาลเซโด หัวหน้าหน่วยวางแผนและโครงการ หน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหมอ 1 คนในท่ามกลางหมออีก 350 คนที่เรียนหลักสูตรต่อเนื่องเพื่อเป็นพยาบาลในปี 2546 ให้สัมภาษณ์ว่า

พยาบาลฟิลิปปินส์มีรายได้เดือนละประมาณ 108 ดอลลาร์(ประมาณ 4,320 บาท) ส่วนหมอมีรายได้น้อยกว่าเดือนละ 500 ดอลลาร์(ประมาณ 20,000 บาท)

เขาจึงเรียนต่อเป็นพยาบาล ซึ่งมีโอกาสทำงานได้ชั่วโมงละ 40 ดอลลาร์(ประมาณ 1,600 บาท)ในสหรัฐฯ อังกฤษ หรือยุโรปตะวันตก

หมอเหล่านี้เรียนต่อเป็นพยาบาล เนื่องจากมาตรฐานการศึกษาแพทย์ในประเทศตะวันตกสูงกว่าฟิลิปปินส์มาก ต้องไปเรียนต่อ ฝึกงาน และสอบอีกนานกว่าจะทำงานได้ แต่ถ้าเรียนต่อเป็นพยาบาลจะเข้าทำงานได้เร็วกว่ามาก

ผู้เชี่ยวชาญประมาณการณ์ว่า พยาบาลในสหรัฐฯ มีประมาณ 2,600,000 คน(ปี 2546) เมื่อถึงปี 2553 จะต้องการพยาบาลเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 ล้านคน เนื่องจากพยาบาลสหรัฐฯ ในช่วงเบบี้บูมเม่อร์ (baby boomer – คนที่เกิดช่วงปี 2493-2503)เกษียณกันมาก (จาก www.sfgate.com)

ประเทศไทยน่าจะส่งเสริมให้มีการผลิตพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้พยาบาลมีรายได้พอ เนื่องเป็นแกนหลัก (core) ของระบบบริการสุขภาพทุกระดับ... ก่อนที่จะขาดแคลนอย่างฟิลิปปินส์

แหล่งข้อมูล:

  • ขอขอบคุณ > ฟิลิปปินส์ขาดหมอ-พยาบาลขั้นวิกฤต. มติชน. 23 พฤศจิกายน 2548. หน้า 21.
  • ขอขอบคุณ > http://www.sfgate.com/cgi-bin/article.cgi?f=/chronicle/a/2003/11/05/MNGOD2QBN81.DTL > Doctors Leaving Phillippines to Become Nurses - - For The Money. > November 5,2003.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ > 22 กันยายน 2550.
หมายเลขบันทึก: 7965เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2005 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท