ที่พักพิงสำหรับคนยาก (โลกในใจของบุญถึง ตอนที่ 5)


ห้องสมุดนอกจากจะช่วยฆ่าเวลาให้หมดไปในตอนพักเที่ยงแล้ว ยังทำให้ผมได้มีโอกาส อ่านวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านเรื่องที่พ่อเคยเล่าให้ฟังด้วย
                แม้บ้านผมจะทำสวน มีรายได้จากการขายผลไม้ตลอดปีก็ตาม แต่การที่พ่อแม่มีลูกหลายคน และพ่อเป็นคนใจกว้างเลี้ยงดูเพื่อนฝูงเป็นประจำ จึงทำให้ฐานะครอบครัวของพวกเราไม่ค่อยดีเท่าที่ควร พวกเราจึงต้องกระเหม็ดกระแหม่ในการใช้จ่าย               
     
แม่ให้เงินผมไปโรงเรียนวันละหกสลึง เป็นค่ารถประจำทางไป-กลับเสีย 1 บาท เหลือ 50 สตางค์ ก็ซื้อได้แค่น้ำแข็งไสใส่น้ำหวาน วันไหนที่หาบของไปขายกับแม่ที่ตลาดในเมืองก็ทุ่นค่ารถเที่ยวไป 1 เที่ยว จะเหลือเงิน 1 บาท พอจะซื้ออะไรกินที่เป็นชิ้นเป็นอันอย่างข้าวราดแกงได้บ้าง แต่ผมก็ไม่กล้าซื้อหมดหรอก ต้องขยักเอาไว้ในกระเป๋าบ้างเพื่อให้อุ่นใจเวลาขึ้นรถกลับบ้าน
               
     
พี่บุญวังพี่ชายคนโตที่เรียนจบมาเป็นครูในตัวอำเภอ ซึ่งเป็นผู้คาดคั้นให้ผมเรียนต่อ รับผิดชอบเฉพาะค่าเทอมเท่านั้น ส่วนรายจ่ายประจำวัน ค่าเสื้อผ้าและอุปกรณ์การศึกษาแม่จะเป็นคนจ่ายทั้งหมด แต่กว่าแม่จะควักออกมาให้แต่ละบาทได้ต้องชี้แจงเหตุผลกันเสียยืดยาว เสื้อผ้าชุดนักเรียนที่ใส่ก็ไม่เคยได้ตัดตามร้านเหมือนคนอื่นเขา  แม่จะซื้อเสื้อกางเกงโหลที่ราคาถูกให้ใส่ ตั้งแต่เรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3  ผมมีชุดนักเรียนทั้งหมด 2 ชุด ชุดลูกเสือ 1 ชุด  รองเท้าผ้าใบสำหรับชุดนักเรียน  1  คู่  สำหรับชุดลูกเสือ 1 คู่ ใส่กันตลอดปีเลยทีเดียว  ชุดนักเรียนกลับมาต้องซักเองทุกวัน  และใส่สลับกัน
               
       
ตอนเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก็ใส่เสื้อผ้าที่ไม่ต้องรีดได้ แต่พอชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ก็ชักอายเพื่อน เพราะโดนล้อเป็นประจำ คุณครูประจำชั้นก็คอยเตือนให้แต่งตัวสะอาดเรียบร้อย เวลาเข้าแถวจะได้ไม่ดูแตกต่างไปจากคนอื่น ผมจึงรู้จักรีดเสื้อผ้าใส่เอง ซักลงแป้งมัน ใส่คราม แล้วรีดจนกลีบโง้ง เตารีดก็ใช้เตาถ่าน ซึ่งต้องคอยเติมไฟและเขี่ยขี้เถ้าออกให้พอเหมาะ จะซักหรือรีดอย่างไรก็ยังดูแตกต่างจากคนอื่นอยู่ดี เพราะเสื้อของผมเป็นผ้าฝ้าย ราคาถูก ส่วนของคนอื่นเป็นผ้าลินินอย่างดี
               
       
รถประจำทางที่ผมขึ้นจากหมู่บ้านมาตัวเมืองนั้น เป็นรถบัสขนาดเล็ก มีที่นั่งเป็นม้ายาว 3 แถว ผู้ใหญ่เสียค่าโดยสารคนละ 1 บาท  เด็กเสียครึ่งราคา คือ 50 สตางค์ รถพวกนี้จึงไม่ค่อยเต็มใจรับนักเรียนเท่าใดนัก  เว้นแต่เมื่อไม่ค่อยมีผู้โดยสาร ถ้าที่นั่งเริ่มเต็มเมื่อไร กระเป๋าจะชี้มือและตะโกนมาที่ผม
               
      
เด็กเสียครึ่งราคายืนขึ้น” 
ผมก็ต้องยืนให้ผู้ใหญ่นั่งเกือบทุกครั้ง  จนกลายเป็นธรรมเนียมไป และถ้าเป็นเด็กเล็กก็ต้องให้นั่งตักผู้ใหญ่ ไม่เหมือนกับการขึ้นรถเมล์ในปัจจุบันที่ผู้ใหญ่ ต้องยืนให้เด็กนั่ง แม้เด็กจะไม่เสียค่าโดยสารก็ตาม โดยมีข้อความเขียนติดไว้บนรถชัดเจน               
      
โปรดเอื้อเฟื้อ แก่เด็ก สตรีและคนชรา” 
ผมเลยต้องยืนทั้งตอนเป็นเด็กและเป็นผู้ใหญ่               
        
ตอนเข้าเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ใหม่ ๆ ผมเอาข้าวใส่กล่องไปกินที่โรงเรียน กับข้าวที่ดีที่สุดก็คือไข่ต้มครึ่งลูก และน้ำปลาใส่ถุงพลาสติก บางวันไม่มีไข่ก็ มีปลาเค็ม 1 ชิ้นหรือบางครั้งพี่บุญนำก็ทอดปลาร้ามาให้ กับข้าวเหล่านี้ถือว่าเป็นกับข้าวชั้นดีสำหรับครอบครัวผมแล้ว เวลาผมอยู่บ้านได้ข้าวคลุกน้ำปลาร้า และหัวปลาดุก หรือหัวปลาช่อนต้มน้ำปลาร้าหนึ่งหัวก็กินข้าวได้อิ่มหนึ่ง ถ้าเป็นหัวปลาดุกก็ต้องคอยระวังไม่ให้หอกสามง่ามที่อยู่ในหัวปลาดุกติดคอ ส่วนเนื้อปลานั้นพวกเราไม่มีโอกาสได้กินกันหรอก เอาไว้สำหรับตำน้ำพริกกินกันทั้งครอบครัว ไข่ต้มหนึ่งฟองต้องแบ่งกันกิน 2 คน วันไหนพิเศษหน่อยก็จะได้กินอาหารป่า พวกกระรอก กระแต แย้หรืออีเห็น แต่ก็มีน้อยเต็มที ขนมสำหรับพวกเราก็คือผลไม้ในสวนซึ่งมีทุกฤดูกาล ผลไม้เหล่านี้แหละที่ช่วยทดแทนความขาดแคลนอาหารต่าง ๆ ได้
               
       
ทางโรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนรับประทานอาหารในห้องเรียนได้ ผมจึงยึดโต๊ะเรียน เป็นที่กินข้าวกล่องพยายามเอาฝากล่องปิดกับข้าวไม่ให้ใครเห็น แต่ก็ไม่รอดสายตาพวกลูกคนจีนในตลาดที่ชอบสอดรู้สอดเห็น ครั้งหนึ่งพวกนี้ย่องมาข้างหลังตอนผมกำลังกินข้าวอยู่ แล้วกระชากฝากล่องข้าวไปถือไว้ พอเห็นปลาร้าทอดของผมก็ทำหน้าบูดหน้าเบี้ยวเรียกคนอื่นมาดู ผมทั้งโกรธและอาย ทำอะไรเขาไม่ได้ ก็ได้แต่ร้องไห้ พวกนั้นเห็นผมร้องไห้ก็เอาฝากล่องข้าวมาคืน และแกล้งโอ๋ ยั่วเย้าผมต่อจนผมไม่กล้ากินข้าวอีก
               
       
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมก็ไม่เอาข้าวมื้อกลางวันไปกินที่โรงเรียนอีกเลย และก็ต้องทนแสบท้องเรื่อยมา  อย่างมากก็ได้กินน้ำแข็งใสหนึ่งถ้วย  หรือไม่ก็เก็บสะสมเงินรายวันรอสมทบกินข้าวราดแกงที่โรงอาหารในอีกสองวันถัดไป โดยเฉลี่ยแล้วจะได้กินข้าวราดแกงสัปดาห์ละ ๒ วัน นอกนั้นก็ดื่มน้ำกลั้วคอไปพลาง ๆ เพื่อประทังความหิวและไม่ให้เป็นโรคกระเพาะอาหารตามตำราเรียนสุขศึกษาที่ว่าไว้
               
       
สมัยนั้นยังไม่มีใครคิดโครงการอาหารกลางวัน ฝ่ายแนะแนวของโรงเรียนยังไม่มี ทุนการศึกษาก็มีน้อยเต็มที ผมเคยไปติดต่อขอสมัครรับทุนการศึกษาของธนาคารแห่งหนึ่ง พอได้อ่านเงื่อนไขที่เขาระบุว่า ต้องเรียนดีและยากจนผมเลยต้องถอยหลังกรูด คำว่า เรียนดี  ของเขาคือต้องได้คะแนน 75 เปอร์เซ็นต์ขึ้น  แม้ผมจะตั้งใจเรียนก็ได้เพียง 70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เข้าเกณฑ์อย่างเดียวคือยากจน ผมยังอดขำในเกณฑ์ที่ขัดแย้งกันไม่ได้ว่า คนที่อดมื้อกินมื้ออย่างผมจะให้สมองดีไปได้อย่างไร
               
       
ห้องสมุดเป็นที่พักพิงที่ดีที่สุดสำหรับคนไม่มีอาหารกลางวันกินอย่างผม   เพื่อหลบสายตาคนอื่น  ไม่ให้รู้ว่าเราอดข้าวกลางวัน คุณครูบรรณารักษ์ถามผมอยู่บ่อย ๆ ว่า ทานข้าวหรือยังผมก็ปดท่านเสมอว่า ทานเรียบร้อยแล้วครับทั้ง ๆ ที่ท้องร้องจ๊อก ๆ คนจนที่แท้จริงก็มักจะอายความจนของตนเองอย่างนี้แหละ
               
      
ห้องสมุดนอกจากจะช่วยฆ่าเวลาให้หมดไปในตอนพักเที่ยงแล้ว ยังทำให้ผมได้มีโอกาส อ่านวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านเรื่องที่พ่อเคยเล่าให้ฟังด้วย เช่นเรื่องรามเกียรติ์  ลักษณวงศ์  สามก๊ก  พระสุธน-มโนราห์ เป็นต้น หรือไม่ผมก็อ่านหนังสือพิมพ์ หรือหนังสืออื่น ๆหลบอยู่ตามซอกมุมของตู้หนังสือไปตามเรื่องตามราว
               
         
ห้องสมุดของโรงเรียนผมในสมัยนั้น หนังสือส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือวรรณคดีไทย นอกนั้นก็จะมีหนังสือพวกตำราในสาขาวิชาต่าง ๆ เวลาครูให้อ่านหนังสือนอกเวลาก็มักแนะนำให้อ่านหนังสือ   วรรณคดีไทยในห้องสมุดที่จัดไว้ในชั้นหนังสือเป็นแนวยาวถึง 3 ชั้น ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของผมพอดี เพราะผมมีพ่อเป็นผู้คอยจุดไฟให้อยากรู้อยากอ่านอยู่แล้ว ผมจึงติดนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งนับเป็นผลพลอยได้ที่ดีอย่างหนึ่งจากการอดข้าวกลางวันของผม
               
      
ห้องสมุดโรงเรียนในปัจจุบัน      แม้ว่าจะได้รับการพัฒนาและการบริการให้เป็นศูนย์ศึกษาค้นคว้าที่ก้าวหน้า ทันสมัย มีเนื้อที่กว้างขวางมีหนังสือจำนวนมาก และจัดบรรยากาศได้เป็นอย่างดีก็ตาม แต่ห้องสมุดหลายแห่ง ผมยังพบว่ามีหนังสือวรรณคดีไทยน้อยมาก ส่วนใหญ่จะมีแต่หนังสือนวนิยาย หนังสือเรียนของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ และหนังสือค้นคว้าหาความรู้ทางวิชาการ เวลาครูให้อ่านหนังสือนอกเวลาก็มักจะให้อ่านหนังสือนวนิยาย ส่วนวรรณคดีไทย จะถูกแทรกอยู่เพียงในหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ที่ตัดตอนบางเรื่องและบางส่วนมาให้เรียนเท่านั้น ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเพราะเหตุใด
               
       
เมื่อถูกคุณครูถามบ่อยครั้งเข้า ผมก็ถือหนังสือย้ายไปนั่งตามร่มไม้บ้าง วันใดที่เขามีการเตะตะกร้อวง ผมก็ไปร่วมสมทบกับเขา วิ่งเก็บลูกให้เขาบ้าง ทำไปทำมาหลาย ๆ ครั้งเข้าก็พอร่วมวงเตะกับเขาได้ กีฬาตะกร้อจึงเป็นกีฬาชนิดเดียวที่ผมเล่นเป็น แต่ก็ไม่เก่งอะไรนักหนา แถมยังถูกเพื่อน ๆ ล้ออีกว่า เล่นกีฬาสามล้อ
               
...เสียงออดเข้าแถวภาคบ่ายช่วยเร่งเวลาแต่ละวันให้หมดไปเร็วขึ้น  เหลือเวลาเรียนภาคบ่ายเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้นที่ผมจะได้มีโอกาสกลับบ้านไปกินข้าวคลุกน้ำแกงหรือน้ำปลาร้าให้เต็มคราบ...
 

 

หมายเลขบันทึก: 79601เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2007 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนคุณครูธเนศ

        เห็นจะจริงค่ะ  ที่ว่าคนเรียนดีแต่ยากจน  เพราะเขาไม่ได้รับการกินดีอยู่ดีตั้งแต่ต้น  ความจริงแล้วถ้าคุณครูเป็นคนไม่ใฝ่ดีตั้งแต่ต้นก็คงจะไม่มีวันนี้หรอกค่ะ  ต้องขอบคุณอดีต  ที่ทำให้มีอนาคตที่ดีได้  เพราะถ้าเราไม่อด  ก็จะไม่เข้ามาอ่าน   ภูมิใจเถอะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท