การใช้เครื่องหมายการค้าผู้อื่นเป็นโดเมนเนม ( Cybersquatting) ภาค 1


มีบุคคลหัวใสจำนวนหนึ่งแสวงหาประโยชน์จากชื่อโดเมนเนม (Domain Name) หรือ address ของเว็บไซต์ โดยทำการจองในชื่อบริษัทใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทนั้นสามารถใช้ชื่อที่ต้องการได้ และแสวงหากำไรโดยการขายโดเมนเนมนั้นๆแก่บริษัทหรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ทำการอย่างใดๆเพื่อทำให้เสื่อมเสียซึ่งชื่อเสียงของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นๆ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่เรียกว่า Cyber Piracy หรือ การโจรกรรมทางระบบคอมพิวเตอร์อย่างหนึ่ง ทั้งนี้การกระทำลักษณะข้างต้นนั้นมีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า Cybersquatting

เปลี่ยนบรรยากาศจากการค้าระหว่างประเทศทางปกติ มาเป็นทางไซเบอร์บ้างดีไหมครับ แต่อย่างไรก็ดีบทความนี้เขียนมาก็นานมากแล้วและก็มิได้ update ล่าสุด หากผู้ใดจะแนะนำความรู้ใหม่ หรือข้อผิดพลาดประการใดก็ขอรบกวนคอมเม้นท์ หรืออีเมล์มาคุยกันได้ครับ เริ่มเลยละกัน

          ในปัจจุบันการค้าขายทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ อี-คอมเมอร์ส (E-Commerce) ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายตามจำนวนผู้เข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้น การตลาดทางอินเตอร์เน็ตจึงเป็นนโยบายที่หวังจับลูกค้าจำนวนมหาศาลทั่วประเทศหรือแม้กระทั่งทั่วโลก หากบริษัทใดไม่มีเว็บไซต์ทางการของตนเองย่อมกลายเป็นบริษัทที่ล้าสมัยและด้อยประสิทธิภาพทางการแข่งขันไปโดยปริยาย ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีบุคคลหัวใสจำนวนหนึ่งแสวงหาประโยชน์จากชื่อโดเมนเนม (Domain Name) หรือ address ของเว็บไซต์ โดยทำการจองในชื่อบริษัทใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทนั้นสามารถใช้ชื่อที่ต้องการได้ และแสวงหากำไรโดยการขายโดเมนเนมนั้นๆแก่บริษัทหรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ทำการอย่างใดๆเพื่อทำให้เสื่อมเสียซึ่งชื่อเสียงของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นๆ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่เรียกว่า Cyber Piracy หรือ การโจรกรรมทางระบบคอมพิวเตอร์อย่างหนึ่ง ทั้งนี้การกระทำลักษณะข้างต้นนั้นมีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า Cybersquatting (ผู้เขียนเข้าใจว่ายังไม่มีคำแปลอย่างเป็นทางการจึงมีความจำเป็นต้องใช้ทับศัพท์)

          การทำ Cybersquatting นั้นตามกฎหมายไทยต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการเลียนหรือปลอมเครื่องหมายการค้า ทั้งยังมิใช่เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าที่ผู้อื่นจดทะเบียนไว้แล้วกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนอีกด้วย เพราะการนำชื่อเรียกหรือการเรียงอักษรอย่างเครื่องหมายการค้าไปใช้นั้นมิใช่การใช้อย่างเครื่องหมายเนื่องจากเป็นการเรียงอักษรเพื่อการเข้าสู่การแสดงผลของเว็บไซต์มิใช่รูปร่างหรือรูปรอยประดิษฐ์ที่ใช้กับสินค้าที่จดทะเบียน ยิ่งไปกว่านั้นการใช้ดังกล่าวเพียงใช้เป็นชื่อโดเมนเนมเท่านั้น ไม่เข้าตามลักษณะเบื้องต้นของการใช้ประโยชน์ทางการค้า” (Commercial Use) ซึ่งเครื่องหมายนั้นเพื่อการขายหรือโฆษณา ซึ่งสินค้าหรือบริการ ดังนั้นเมื่อมิใช่การใช้เครื่องหมายเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการค้าแล้วก็ย่อมไม่เป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าแม้จะเป็นการอันอาจทำให้ประชาชนสับสน (Confusingly Similar) หรือเป็นการนำเครื่องหมายที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย (Well-known Mark)มาใช้ก็ตาม เมื่อกฎหมายเครื่องหมายการค้าเป็นเรื่องเฉพาะดินแดนแต่ละประเทศ (Territorial) จึงไม่เป็นการกระทำผิดกฎหมายเฉพาะทางแพ่งในเมืองไทย

         

แต่การนำสิ่งใดลงแพร่หลายในอินเตอร์เน็ตนั้น ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้เว็บเพจหน้านั้นๆอาจไปแสดงผลในสหรัฐได้แม้จะอัพโหลด (Upload) จากคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยก็ตาม ผลของการกระทำนั้นจึงมีขึ้นทั่วโลกและศาลที่ใดในโลกก็อาจมีเขตอำนาจได้ ดังนั้นการศึกษากฎหมายของต่างประเทศและระหว่างประเทศจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญของ Cyber law ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากฎหมายภายในประเทศ

                 ในประเทศสหรัฐอเมริกา การกระทำดังกล่าวอาจถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย The Federal Trademark Dilution Act แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า กฎหมายการทำให้ด้อยลงซึ่งเครื่องหมายการค้า ดังเช่นในกรณีของ PANAVISION INTERNATIONAL V. DENNIS TOEPPEN, 947 F. Supp 1227 (N.D. Ill. 1996) ซึ่งมีคำพิพากษาจากศาลมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี 1996 อันมีข้อเท็จจริงกล่าวคือ จำเลยได้จดทะเบียนเว็บไซต์ในชื่อ “panavision.com” แล้วมีเพียงภาพถ่ายเมือง Pana ในรัฐอิลลินอยส์ เมื่อบริษัทพานาวิชั่น (ผู้ผลิตกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพ) ขอให้เลิกใช้ก็เรียกเงินจำนวน 13,000 US$ และยังทำการจดทะเบียนชื่อเว็บเป็นชื่อบริษัทในเครือ Pana อีก 1 เว็บ ศาลตัดสินว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เสื่อมเสียเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของตน เพราะเจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่สามารถนำเครื่องหมายการค้าไปแสวงประโยชน์ทางธุรกิจในลักษณะอื่นได้ แต่อย่างไรก็ดีกฎหมายดังกล่าวไม่อาจหยุดยั้งการแข่งขันโดยเสรีด้วยการเพิกถอนและโอนโดเมนเนมดังกล่าวไปยังเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้

 

          อย่างไรก็ดี ในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดี คลินตัน ได้มีการออกกฎหมายเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว

โปรดติดตามภาค 2 ...

หมายเลขบันทึก: 79519เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2007 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

บทความน่าสนใจมาก ไม่มีต่อภาค 2 หรือครับ?

ทำไมนามสกุลเหมือนแม่เราเลย เป็นญาติกันรึเปล่า

และเราควรดำเนินการยังไงกับคนพวกนี้ค่ะ เราเป็นเจ้าของกิจการในเมืองไทย (ระดับสากล) แต่เค้าละเมิดใช้ชื้อเราไปจดใน .co.uk ขอคำแนะนำด้วยคะ ทราบมาว่าการฟ้องร้องจะต้องทำข้ามประเทศและค่าใช้จ่ายก็สูงมา รบกวนขอคำแนะนำคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท