ครอบครัว


“ฉลากขนม” หอมหวานแต่ฉาบด้วยความขื่นขม

ระบุ ใช้สัญลักษณ์ไฟจราจร เขียว-เหลือง-แดง ช่วยพ่อแม่เลือกขนมให้ลูกง่ายขึ้น

                   พ่อแม่หลายคนอาจกำลังคิดว่า วันเด็กที่จะมาถึง นอกจากจะต้องพาเจ้าตัวน้อยไปเที่ยวสนุกสนานตื่นตาตื่นใจตามสถานที่ต่างๆ อย่างเพลิดเพลินแล้ว การจัดเตรียมขนมกรุบกรอบหอมหวานไว้ให้ได้เคี้ยวเพลินเกินห้ามใจตลอดทั้งวัน ยังจะสร้างความประทับใจให้ลูกๆ ไปได้ตลอดแม้กระทั่งยามพวกเขาเติบใหญ่

                   โดยหารู้ไม่ว่า ต่อให้ตัวเองพิถีพิถันในการคัดสรรขนมกรุบกรอบภายใต้บรรจุภัณฑ์สีสันโดนใจเด็กๆ มากมายขนาดไหน โอกาสที่จะพลาดท่าเลือกหยิบขนมที่ แปรสภาพเป็น ภัยร้ายจากร้านสะดวกซื้อต่างๆ ก็มีมาก ตราบใดที่ข้อมูลใน ฉลากขนมยังไม่ชัดเจน เข้าใจยาก รวมทั้งนำเสนอผ่านรูปแบบภาษาวิทยาศาสตร์ ที่พ่อแม่น้อยคนนักจะเข้าใจ และประเมินคุณค่าทางโภชนาการได้ว่าควรจะซื้อขนมห่อนั้นให้ลูกรับประทานหรือไม่

                   ทั้งๆ ที่การควบคุมให้ผู้ผลิตติดฉลากหรือเครื่องหมายแสดงคุณค่าทางโภชนาการเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจคุณสมบัติของสินค้าแต่ละตัวจะช่วยให้พ่อแม่มั่นใจว่าขนมที่ซื้อไปให้ลูกรักรับประทานนั้นจะไม่เกิดภัยร้ายต่อสุขภาพของพวกเขาตามมา

แต่ภายใต้ตัวหนังสือขนาดเล็กมาก จนยากจะอ่านด้วยสายตาเปล่าของฉลากขนม การหยิบขึ้นมาพลิกอ่านคุณสมบัติทางโภชนาการ ส่วนประกอบ และวันหมดอายุ ก็เล่นงานพ่อแม่หลายคนจนเวียนหัวได้ง่ายๆ เพราะอ่านเท่าไรก็ไม่เจอข้อมูลที่จะช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าขนมห่อนั้นควรจะอยู่ในมือลูกน้อยหรือไม่ ด้วยถึงแม้ข้อมูลทางโภชนาการบนฉลากจะระบุปริมาณพลังงานที่จะได้รับ รายชื่อสารอาหาร และปริมาณส่วนผสมอย่างละเอียด ทว่าท้ายสุดพ่อแม่ก็ไม่อาจใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เหล่านั้น ด้วยไม่รู้ว่าปริมาณพลังงานเท่าใดจึงจะเหมาะสมหรือไม่เกินจำเป็นต่อวัยของลูกๆ

                 การเร่งวางกรอบข้อตกลงเบื้องต้นในการบริโภคขนมหรืออาหารว่างของเด็กอายุระหว่าง 2-15 ปี โดยราชวิทยาลัย กุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ที่เน้นให้ขนมหรืออาหารว่างแต่ละมื้อ (หรือหนึ่งหน่วยผลิตภัณฑ์) จะต้องให้ปริมาณพลังงานไม่เกิน 100-150 กิโลแคลอรี และจำกัดปริมาณ สารอาหาร ทั้งน้ำมัน น้ำตาล และโซเดียม มื้อละไม่เกิน 2.5, 12 กรัม และ 100 มิลลิกรัมตามลำดับ ตลอดจนให้ขนมหรืออาหารว่างที่สารอาหารต่อไปนี้ไม่น้อยกว่า 2 ชนิด คือ โปรตีน เหล็ก แคลเซียม วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี1 วิตามินบี2 และใยอาหารในปริมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของที่ควรได้รับต่อวันจึงจะเป็นประโยชน์

               ที่สำคัญยังพยายามผลักดันสัญลักษณ์อย่างง่ายให้ได้ปรากฏอยู่บนบรรจุภัณฑ์ขนมหลากสีสัน เพื่อจะได้เป็นภูมิคุ้มกัน ทั้งต่อตัวเด็กที่จะไม่ต้องเสี่ยงต่อฟันผุ อ้วน ส่วนพ่อแม่เองก็จะไม่ต้องฝันร้ายว่าวันหนึ่งวันใดอาจเลือกซื้อขนมให้ลูกผิด

                 การใช้รูปแบบและสัญลักษณ์อย่างง่าย เช่น สัญลักษณ์ ไฟจราจรที่ใช้การอ้างอิงจากไฟจราจร เขียว-เหลือง-แดงน่าจะช่วยพ่อแม่ตัดสินใจเลือกซื้อขนมสำหรับลูกน้อยได้ง่าย หรือแม้กระทั่งเด็ก ที่ซื้อขนมไปรับประทานเองก็ตาม ยังสามารถเข้าใจฉลากเหล่านี้ได้มากกว่า แบบเดิมที่มีแต่ภาษาทางวิชาการด้วย เพราะรูปแบบไฟจราจรที่ใช้วงกลม 4 วงวางเรียงกัน แต่ละวงเป็นตัวแทนหรือปริมาณโดยคำนึงถึง พลังงาน-น้ำตาล- ไขมัน-เกลือ(โซเดียม)ตามลำดับ โดยภายในวงกลมจะระบายสีไฟจราจรสีใดสีหนึ่ง

                 หากวงกลมพลังงานระบายด้วยสีเขียว แสดงว่าให้พลังงานต่ำ ไม่เกิน 150 กิโลแคลอรี ไฟเหลืองแสดงว่าให้พลังงานปานกลางระหว่าง 150-200 กิโลแคลอรี ส่วนไฟแดงแสดงว่าให้พลังงานสูงเกินกว่า 200 กิโลแคลอรี ขณะที่วงกลมน้ำตาล ไฟเขียวแสดงว่ามีปริมาณน้ำตาลต่ำกว่าหรือเท่ากับ 12 กรัม ไฟเหลืองแสดงว่ามีปริมาณน้ำตาลระหว่าง 12-24 กรัม ส่วนไฟแดงจะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่า 24 กรัม

 

                 เช่นเดียวกับวงกลมไขมัน ที่ไฟเขียวแสดงว่ามีปริมาณไขมันต่ำหรือเท่ากับ 2.5 กรัม ไฟเหลืองแสดงว่ามีปริมาณไขมันปานกลางระหว่าง 2.5-5 กรัม ไฟแดงจะมีปริมาณไขมันสูงกว่า 5 กรัม สำหรับ วงกลมเกลือ ไฟเขียวแสดงว่ามีโซเดียมต่ำหรือเท่ากับ 100 มิลลิกรัม ไฟเหลืองมีโซเดียมปานกลางระหว่าง 100-200 มิลลิกรัม ส่วนไฟแดงจะมีปริมาณโซเดียมสูงกว่า 200 มิลลิกรัม

            จากขนมกรุบกรอบที่ทำจากแป้งชนิดต่างๆ ขนมปังกรอบ คุกกี้ บิสกิต และลูกอมที่เด็กๆ ชอบบริโภคมากสุด 3 อันดับแรกจากการสำรวจของกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัยที่ร่วมมือกับเครือข่ายรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวานเมื่อปี 2548 นั้น หากจะหันมาปรับปรุงฉลากด้วยการติดสัญลักษณ์อย่างง่ายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ ผู้บริโภคก็น่าจะช่วยให้ขนมนั้นกรุบกรอบหอมหวาน ไม่ฉาบความขื่นขมที่พ่อแม่และลูกๆ จะต้องรับชะตากรรมจากการถูกหลอกให้รับประทานขนมหวานที่ ไม่หวานจริง
คำสำคัญ (Tags): #สม.4
หมายเลขบันทึก: 79507เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2007 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท