แม่แบบ (โลกในใจของบุญถึง ตอนที่ 4)


เมื่อใดก็ตามที่ผมมีโอกาสได้แสดงความสามารถด้านวรรณคดี และบทประพันธ์ต่าง ๆ ผมจะนึกถึงพ่อเสมอ และยามใดที่ผมเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ต่องานในหน้าที่ผมจะนึกถึงคุณครูอรุณี เพื่อเพิ่มพลังและปลุกจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบให้กลับคืนมา
                สมัยผมเป็นเด็กอายุประมาณ 10 - 11 ปี ผมจำได้ว่าที่บ้านผม พอแดดร่มลมตก กินข้าวมื้อเย็นเสร็จ ทุกคนในบ้านชอบมานั่งล้อมวงรับลมที่นอกชาน พูดคุยกันจนสามทุ่ม น้ำค้างเริ่มลง จึงแยกย้ายกันเข้านอน บ่อยครั้งที่ผมและน้องสาวฟังผู้ใหญ่คุยจนผลอยหลับไปต้องถูกแม่ปลุกและพาไปนอน               
           
วันไหนที่พ่อไม่เมาเหล้า พวกเราจะตาสว่างเพราะพ่อมีนิทาน วรรณคดี หรือเล่าเรื่องผีให้พวกเราฟังเสมอ  โดยพวกเราต้องบีบนวดเป็นการตอบแทน    พ่อชอบนุ่งกางเกงขาก๊วยไม่สวมเสื้อปล่อยชายขอบเอวหลวม ๆ  จนเห็นพุงกระเพื่อม พ่อมักจะอยู่ในท่าครึ่งนั่งครึ่งนอนพิงหมอนเหยียดขาให้พวกเราบีบนวดกันคนละข้าง
               
         
พ่อมีเรื่องผีเล่าให้พวกเราฟังหลายเรื่อง เช่น ผีที่วัดมะขามเฒ่า ผีโป่ง ผีกระสือ ผีที่ป่าช้าในหมู่บ้าน ฯลฯ พ่อมีท่วงทำนองการเล่าประกอบท่าทางที่ชวนขนลุก   ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง   แต่พวกเราก็เชื่อสนิท กลัวก็กลัวแต่ก็อยากฟัง พี่บุญแถมอีกคน รู้ว่าน้อง ๆ กลัวผี ชอบย่องลงไปใต้ถุนนอกชาน ระหว่างที่พ่อกำลังเล่าอย่างออกรสชาติ  ก็จะเอาไม้แหย่ขาพวกเราจนร้องลั่น  พวกเราจึงระมัดระวังไม่ยอมนั่งตรงร่องไม้กระดาน
               
      
พ่อเรียนจบแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓  แต่มีวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านเรื่องต่าง ๆ มาเล่าให้พวกเราฟังหลายเรื่อง  เช่น รามเกียรติ์  ขุนช้าง-ขุนแผน  พระอภัยมณี  ลักษณะวงศ์  พระสุธน-มโนราห์ ฯลฯ โดยเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์  พ่อเล่าเป็นฉาก ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ  ผมสนุกตื่นเต้นที่สุด เคยฝันว่าตัวเองเป็นหนุมาน และชอบกระโดดโลดเต้น ล้อเลียนเพื่อน ๆ เหมือนกับเด็ก ๆ ปัจจุบันที่ชอบรำกระบี่ตามหนังจีนในทีวี
               
        
คืนไหนที่พ่อเมาเหล้าพวกเราจะรู้สึกผิดหวังเพราะต้องอดฟังเรื่องรามเกียรติ์  ก็คงเหมือนพวกที่ติดละครวิทยุหรือละครทีวีแล้วไม่ได้ดูนั่นแหละ   เวลามีโขนงานศพหรืองานวัดในหมู่บ้านโคกหัวนา   ผมจะไปแต่หัวค่ำ ขึ้นไปจองที่นั่งบนเวทีติดกับวงปี่พาทย์ลาดตะโพน ถ้าถูกไล่ลงมา ก็จะนั่งแถวหน้าสุด สมบุญกับทองย้อยจะเป็นเพื่อนคู่หูดูโขนทุกครั้ง  ผมดูไปก็เล่าเรื่องที่โขนแสดงให้สมบุญกับทองย้อยฟังล่วงหน้า   จนทองย้อยแปลกใจว่าผมรู้เรื่องล่วงหน้าได้อย่างไร แต่ก็มักจะถูกสมบุญเอ็ดเอาที่ทำให้เขาเสียสมาธิในการดูโขน
                  
        เรื่องพระสุธน
-มโนราห์เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผมประทับใจมาก เวลาพ่อเล่าผมน้ำตาซึมสงสารพระสุธนและนางมโนราห์ที่ต้องพลัดพรากจากกัน พ่อเล่าเป็นกลอนให้เราฟังประกอบในบางตอน เช่น ตอนที่พระสุธนตามนางมโนราห์อาศัยแทรกไปกับขนนกยักษ์ พาบินไปบนท้องฟ้าเวลากลางคืน  ผมยังจำบทกลอนที่พ่อท่องให้ฟังได้จนถึงทุกวันนี้
                “...ดาวช้างดาวม้า  ดาวกา  ดาวหมี               
                            
ทั้งดาวหามผี  หริบหรี่เข้ามา
               
                           
ดาวหมูดาวช้าง  ขึ้นกลางนภา
               
                           
ดาวลูกไก่รายเรียง  ขึ้นเคียงดาวม้า...”
               
         
เวลาผมมาเรียนหนังสือที่โรงเรียน ผมชอบยืมหนังสือวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านเรื่องที่พ่อเล่ามาอ่านต่อจนจบทุกเรื่องและจำขึ้นใจจนทุกวันนี้ นี่น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมได้คะแนนวิชาภาษาไทยสูงมาโดยตลอด
               
      
ผมภูมิใจและศรัทธาในความสามารถของพ่อผมหลายเรื่อง พ่อเป็นคนชอบอ่าน ช่างจดจำและมีศิลปะการถ่ายทอดที่ยอดเยี่ยม  พ่อบอกว่าพ่ออ่านวรรณคดีต่าง ๆ ตอนบวชเป็นพระ อ่านทั้งภาษาบาลี และวรรณคดีนอกจากนี้ พ่อยังมีความรู้ทางโหราศาสตร์อีกด้วย  คนในหมู่บ้านโคกหัวนา เวลามีเรื่องหรือจะมีงานอะไร มักจะมาหาพ่อให้ทำนายทายทักจับยามสามตา  หรือเสดาะเคราะห์ให้เสมอ อาศัยที่พ่อเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีจิตวิทยาสูง พยายามวิเคราะห์ตรวจทำนายทายทักให้ผู้คนที่มาหามีความสุขและพึงพอใจทุกคน  พ่อจึงได้รับความเชื่อถือจากชาวบ้านอย่างกว้างขวางและมีคนมาหาพ่อไม้เว้นแต่ละวัน
               
       
ผมพยายามจดจำและลอกเลียนแบบการกระทำจากพ่อเกือบทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องการดื่มเหล้า ผมไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมจึงไม่ลอกเลียนแบบในเรื่องนี้ด้วย อาจเป็นเพราะผมเห็นพ่อเวลาเมาเหล้า แล้วพาลหาเรื่องทะเลาะกับแม่เป็นประจำหรือร้องรำทำเพลง พูดจาอ้อแอ้ สำรอก อาเจียนอย่างไร้สติเป็นคนละคนกับพ่อที่ผมชื่นชม ศรัทธา กระมัง...  ผมยังสงสัยจนทุกวันนี้ว่า    ทำไมผมจึงรู้จักเฟ้นจำแนกในการลอกเลียนแบบพ่อทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นผมเองก็ยังเป็นเด็ก
               
      ..ชีวิตในโรงเรียนมัธยมศึกษา
ผมประทับใจคุณครูอรุณีมากที่สุด เพราะท่านเป็นทั้งครูประจำชั้น และครูผู้สอนที่ให้ความรักความเป็นกันเอง ถามไถ่ดูแลทุกข์สุขของผมและเพื่อน ๆ ด้วยคำพูด  สายตา ท่าทาง และการปฏิบัติที่เอื้ออารีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย  หยั่งถึงโลกในใจของนักเรียน จนผมไว้วางใจและกล้าที่จะเล่าความในใจให้ท่านฟัง
                ผมตั้งใจเรียนและชอบเรียนวิชาที่คุณครูอรุณีสอน  อยากให้ถึงชั่วโมงของท่านซึ่งผมรู้สึกว่า เวลาเรียนแต่ละชั่วโมงหมดไปเร็วเหลือเกิน  ผมอยากให้มีชั่วโมงของคุณครูทุกวัน ผิดกับชั่วโมงของคุณครูอีกหลายท่านที่ผมรู้สึกเบื่อหน่ายที่จะเรียนและเวลาแต่ละชั่วโมงของคุณครูเหล่านั้นช่างผ่านไปอย่างเชื่องช้า               
       
คุณครูอรุณีสอนวิชาประวัติศาสตร์ ท่านมีเทคนิคการสอนที่ทำให้ผู้เรียนไม่เบื่อหน่าย มีกิจกรรมที่หลากหลายไม่ซ้ำกัน ให้พวกเราปฏิบัติ  อุปกรณ์ที่ท่านนำมาใช้ก็ไม่พิเศษพิสดารอะไร บางครั้งก็ใช้บัตรคำให้จับคู่ หรือให้เราแข่งขันกันจัดแผ่นไม้ฉลุประเทศต่าง ๆ ลงในทวีป หรือในตำแหน่งที่ถูกต้อง บางทีก็มีประเด็นให้เราไปศึกษาค้นคว้าเป็นกลุ่มบ้าง เป็นรายบุคคลบ้าง
               
          
เวลาสอนท่านจะถามและเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น  ด้วยท่าทีที่ยิ้มแย้มแจ่มใสยกย่องชมเชยให้กำลังใจ  พากเราที่ตอบคำถาม  แม้คำตอบหรือข้อคิดเห็นของพวกเราบางครั้งจะไม่เข้าท่า แต่ท่านก็อดทนที่จะรับฟังพร้อมทั้งชมเชยความพยายามของเราแล้วก็เสริม แต่ท่านจะไม่ผูกขาดคำตอบว่าผิดหรือถูก    ทำให้พวกเรากล้าที่จะถามและแสดงความคิดเห็น   ถึงท่านจะใจดีแต่พวกเราก็ไม่กล้าล่วงเกินมีแต่ความเคารพยำเกรงในความเป็นครูที่นั่งในหัวใจของพวกเราเสมอ
               
        
ครั้งหนึ่งท่านสอนประวัติศาสตร์ตอนสมเด็นพระนเรศวรทรงพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง กระสุนปืนถูกสุรกรรมา แม่ทัพพม่าเสียชีวิต ท่านก็ตั้งประเด็นให้พวกเราอภิปรายว่า   สมมุติว่า สมเด็จพระนเรศวรกับสุรกรรมาอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำสะโตง  แล้วสมเด็จพระนเรศวรเห็นช้างของสุกรรมาตัวเท่าหมู  นักเรียนคิดว่า แม่น้ำสะโตงจะกว้างเท่าไร   และพระแสงปืนต้นของสมเด็จพระนเรศวรจะมีลักษณะและคุณสมบัติอย่างไรพวกเราก็อภิปรายและวิเคราะห์กันอย่างสนุกสนาน โดยนำความรู้จากวิชาต่าง ๆ ที่เรียนมาบูรณาการใช้ในการแก้ปัญหาอย่างกลมกลืน
               
         
เวลาสอนประวัติศาสตร์ ท่านมักจะให้พวกเราไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลเรื่องราวจากหนังสือเรียน หรือหนังสือในห้องสมุดมาก่อน หรือบางครั้งท่านก็มีเกร็ดรายละเอียดที่สนุกเล่าให้พวกเราฟังแล้วท่านก็ตั้งคำถามนำให้พวกเราวิเคราะห์ บางทีก็เปลี่ยนเป็นกิจกรรมต่าง ๆ  เช่น  เกม เพลง บทบาทสมมุติ ฯลฯ สลับกันไปให้สอดคล้องกับเนื้อหาในหลักสูตร  ทำให้พวกเราไม่เบื่อ ท่านจะพยายามปลูกฝังให้พวกเรารักชาติ แต่ไม่เน้นการทำสงครามรบราฆ่าฟัน การเคียดแค้นชิงชังพม่าหรือเขมร  โดยท่านจะให้เราเข้าใจข้อมูลในสถานการณ์ของยุคนั้น ๆ แล้ววิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผลอย่างที่เขาเรียกกันว่า ผู้มีจิตใจเป็นประชาคม
               
     
ผมรู้สึกทึ่งในความเป็นครูของท่านตลอดเวลา ขณะนั้นท่านคงอายุประมาร ๔๐ กว่า ๆ ท่านเรียนจบวิชาครูเพียงประกาศนียบัตรประโยคครูประถม ซึ่งโรงเรียนฝึกหัดครูตอนนั้นก็คงไม่เน้นวิธีสอนที่หลากหลายอย่างที่ท่านนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการสอนแบบบูรณาการ การสอนให้คิดวิเคราะห์ การให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่ม  การให้ปฏิบัติจริงตลอดจนการมีจิตใจที่เป็นประชาคม  ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ทันสมัยในการจัดการเรียนการสอนมาจนปัจจุบัน
               
     
จวบจนวันนี้   เมื่อใดก็ตามที่ผมมีโอกาสได้แสดงความสามารถด้านวรรณคดี และบทประพันธ์ต่าง ๆ ผมจะนึกถึงพ่อเสมอ  และยามใดที่ผมเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ต่องานในหน้าที่ผมจะนึกถึงคุณครูอรุณี เพื่อเพิ่มพลังและปลุกจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบให้กลับคืนมา
            เพราะท่านทั้งสองเป็นแม่แบบที่หล่อหลอมกล่อมเกลาจิตและวิญญาณของผมโดยแท้
...
หมายเลขบันทึก: 79434เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2007 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนครูธเนศ

  • บ้านคุณครูดูมีความสุขมาก ๆ ค่ะยินดีด้วยค่ะที่มีเรื่องดี ๆ แบบนี้
  • พ่อ แม่ คือครูคนแรกของ เป็นแม่แบบของเรา  เราจะเป็นอย่างไร ก็ต้องเรียนแบบจากแม่แบบที่ดี  โชคดีของครูธเนศจริง ๆ
  • ครูที่ 2 เป็นแม่แบบที่ดี เมื่อเราเห็นความสำคัญของท่าน 
  • ยอดคนจริงๆ เลยค่ะครูธเนศ ขอยกมือกราบเลยค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท