สกัดทางอสังหาฯ บูมเกินจริง คลังบี้ กคช. ร่วมเอกชนทำยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย


สกัดทางอสังหาฯ

            หม่อมอุ๋ย สั่ง กคช. ทำยุทธศาสตร์พัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างจริงจังซึ่งเป็นแผนระยะยาว เน้นสนองตอบ      ความต้องการแท้จริงและให้รัฐผสานความร่วมมือเอกชนแบ่งขอบเขตอย่างชัดเจน กคช. ทำตลาดผู้มีรายได้น้อย ส่วนเอกชน จับลูกค้าบ้านที่มีรายได้สูง เน้นความพอเพียงไม่สร้างหนี้เกินตัว ขณะที่รัฐบาลปรับขึ้นราคากลางงานก่อสร้างภาครัฐ 3% มีผล 21 มี.ค.นี้           

             ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดการสัมมนา    เชิงปฏิบัติการเรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยครั้งที่ 1 เพื่อให้ความคิดเห็นกำหนดนโยบายการพัฒนา ที่อยู่อาศัยของประเทศ ว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทุกคนต้องการมีที่อยู่อาศัย  ดังนั้นการเคหะแห่งชาติ (กคช.) จะต้องจัดทำยุทธศาสตร์อย่างจริงจังและเป็นแผนระยะยาว โดยขอให้ทำงานผสมผสานกับเอกชน เพราะ กคช. ทำเพียงหน่วยงานเดียวไม่ไหว โดยให้ภาคเอกชนรับผิดชอบสำหรับตลาดที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้สูง ส่วน กคช. ดูแลที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและรายได้ประจำ แต่ไม่มีเงินเพียงพอในการซื้อบ้าน ซึ่ง กคช. ต้องทยอยสร้างให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม  อย่างไรก็ตาม เห็นว่าไม่ควรจะกำหนดการแบ่งสัดส่วนให้ภาคเอกชน   เป็นแบบตายตัว เพราะเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไป เอกชนจะสามารถสร้างที่อยู่อาศัยตอบสนองความต้องการของตลาดมีผู้รายได้น้อยได้                 

                   การจัดทำยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยจะต้องอยู่บนความพอดี ต้องไม่ทำให้ผู้ซื้อเป็นหนี้เกินตัวหรือเกินความสามารถในการชำระ โดย กคช. ต้องทำที่อยู่อาศัยเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่กระตุ้นความอยากได้อยากมี เหมือนภาคเอกชนดำเนินการ และให้ลดต้นทุนให้มากที่สุด ทั้งต้นทุนที่ดิน เชื่อว่า กคช. สามารถหาที่ดินราคาถูกได้ การลดต้นทุนวัสดุ ต้นทุนการก่อสร้าง โดยให้เน้นการจัดการที่มีคุณธรรม ไม่โกงกิน ลดต้นทุนด้านดอกเบี้ย และไม่ให้ กคช. ฝืนตลาด แต่หาก กคช. ต้องการงบประมาณอุดหนุนเพื่อช่วยลดดอกเบี้ยให้ผู้มีรายได้น้อย สามารถ     ของบประมาณจากภาครัฐได้ หากภาครัฐเห็นสมควรจะพิจารณาให้ และต้องดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้าง สำหรับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย จะระดมความเห็น 5 ครั้ง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนตุลาคม 2550            

              ด้าน นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวระหว่างการเปิดอบรมเจ้าหน้าที่    ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างที่ปรับปรุงใหม่ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.50 เป็นต้นไป สำหรับโครงการงานก่อสร้างใด   ที่คำนวณราคากลางตามหลักเกณฑ์เดิม ได้มีการประกวดราคา สอบราคา ประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลแล้ว ให้ใช้ราคาเดิมต่อไปได้ โดยหลักเกณฑ์ที่ใช้คำนวณราคากลางงานก่อสร้าง แยกเป็น 3 ประเภท คือ งานก่อสร้างอาคาร งานก่อสร้างทาง สะพาน และท่อเหลี่ยมหรือท่อระบาย ราคากลางจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ค่างานด้านต้นทุน คือ จะนำปริมาณงาน วัสดุ แรงงานที่ใช้ในการก่อสร้าง คูณด้วยราคาวัสดุก่อสร้าง ค่าขนส่ง ค่าแรงงาน ค่าดำเนินการ และค่าเสื่อมราคา และส่วนที่ 2 คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้าง หรือ Factor F คือ ค่าอำนวยการ ดอกเบี้ย กำไร และภาษี ซึ่งจะนำไปคูณกับค่างานต้นทุน เมื่อค่าแรงงานและราคาน้ำมันได้สูงขึ้น
อย่างต่อเนื่อง   ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรม คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติให้ปรับเพิ่มราคากลางใหม่ สูงกว่าเดิม 3% ซึ่งจะทำให้ภาครัฐต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น           

               ส่วนการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2551 คือ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเดินหน้าจัดทำงบประมาณให้ได้ตามกรอบเวลาที่วางไว้ หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 ล่าช้าไปจากระยะเวลาปกติมาก โดยขณะนี้ทุกหน่วยงานเร่งสรุปตัวเลขในการวางกรอบงบประมาณ และสิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม คือ รายได้ปีงบประมาณ 2551 เพื่อให้การจัดเก็บรายได้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งยอมรับว่า รัฐบาลคงต้องจัดทำงบประมาณปี 2551 แบบขาดดุล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป เพราะรายได้ของรัฐบาลไม่พอกับงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้ แต่เบื้องต้นเห็นว่า การขาดดุลคงไม่สูงเท่ากับงบประมาณปี 2550 ที่กำหนดไว้จำนวน 142,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และถือเป็นเงินนอกงบประมาณที่สูงเกือบเท่างบประมาณประจำปี เพราะเงินของรัฐจะจุดประกายให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนตามมา

            นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า งานประมูลต่าง ๆ ที่หน่วยงานได้ประกาศทีโออาร์สอบราคาหรือประกวดราคาไปแล้วในปีงบประมาณ มีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของโครงการก่อสร้าง โดยโครงการด้านคมนาคมมีงบประมาณก่อสร้างจำนวน 179,516 ล้านบาท เป็นเงินที่ใช้ลงทุนก่อสร้างอาคารและเส้นทางประมาณ 65,776 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ภาครัฐต้องจ่ายเงินเป็นราคากลางเพิ่มเติมประมาณ 1,300 ล้านบาท แต่ราคากลางดังกล่าวจะปรับขึ้น-ลงได้ตามภาวะเศรษฐกิจ

                                                                       บ้านเมือง 17 ก.พ. 50
คำสำคัญ (Tags): #สกัดทางสังหาฯ
หมายเลขบันทึก: 79419เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2007 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท