ถอดรหัส อักษรภาพไอยคุปต์


อารยธรรมหนึ่งที่ฝากมรดกล้ำค่าเอาไว้มากมายก็คือ ไอยคุปต์ หรืออียิปต์โบราณ คำว่าไอยคุปต์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เป็นผู้เสนอเอาไว้ [ขอบคุณ อ.ธวัชชัย ดุลยสุจริต สำหรับความรู้นี้ครับ - โปรดอ่านข้อคิดเห็น #11]

ทั้งนี้มีจุดน่าสังเกตว่า ชื่อของอียิปต์ในภาษากรีก คือ aiguptos 

แม้พีระมิด มัมมี่ และสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับไอยคุปต์จะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนทั่วๆ ไป แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีมรดกทางอารยธรรมอยู่อย่างหนึ่งที่ใกล้ตัวพวกเราทุกคน นั่นคือ ตัวอักษรในภาษาอังกฤษ เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยง จะขอเล่าทฤษฎีหนึ่งแบบย่อๆ เอาไว้ดังนี้

 ภาพแอนิเมชันแสดงการเปลี่ยนแปลงลักษณะตัวอักษรในภาษาอังกฤษ 

เริ่มจากภาษาเฮียโรกลิฟิกส์ (hieroglyphics) ของอียิปต์โบราณ ซึ่งมีหลักฐานย้อนกลับไปถึงราว 3,200 ปีก่อนคริสตกาล ภาษานี้เขียนเป็นภาพ โดยภาพๆ หนึ่งอาจแทนเสียงหรือคำ ครั้นพอถึงราว 2,700 ปีก่อนคริสตกาล ก็มีภาพนับร้อย แต่ในจำนวนนี้มีภาพที่แทนเสียง 22 ตัว ซึ่งจะแปลงกายไปเป็นตัวอักษรในภายหลัง  

แผนภาพอย่างง่ายเทียบเสียงในภาษาอังกฤษกับภาพเฮียโรกลิฟิกส์ 

ราว 1500 ปีก่อนคริสตกาล ชาวเคนันไนต์ (Canaanite) ซึ่งพูดภาษาเซมิติก (semitic language) และอาศัยอยู่ในดินแดนซึ่งตรงกับปาเลสไตน์และซีเรียในปัจจุบัน ได้เริ่มใช้สัญลักษณ์ลายเส้นง่ายๆ แทนเสียงแต่ละเสียง นี่คือ ตัวอักษรยุคเริ่มแรก โดยตัวอักษรพวกนี้เขียนจากขวาไปซ้าย

ต่อมาชาวฟีนิเชียน (Phoenician) ได้รับเอาตัวอักษรเหล่านี้ไปดัดแปลงให้ง่ายขึ้น แถมยังเพิ่มเติมตัวใหม่ๆ เข้าไป พวกฟีนิเชียนนี่เป็นพ่อค้าและนักเดินเรือซึ่งติดต่อค้าขายกับกรีก ผลก็คือ ชาวกรีกได้รับเอาตัวอักษรของฟีนิเชียนไปดัดแปลงต่อ เช่น เปลี่ยนเสียงพยัญชนะบางตัว เช่น a, e, o ให้เป็นเสียงสระ

เวลาผ่านไป ชาวอีทรัสคัน (Etruscan) ในคาบสมุทรอิตาลีก็รับเอาตัวอักษรกรีกไปดัดแปลงใช้งาน ต่อมาโรมันได้รับพยัญชนะจากอีทรัสคันไปดัดแปลงต่อ จนทำให้ตัวอักษรมีรูปร่างเหมือนตัวพิมพ์ใหญ่ในภาษาอังกฤษทุกวันนี้

อย่างไรก็ดี ยังมีตัวอักษรขาดไปบางตัว เช่น ตัว G ซึ่งไม่มีในตัวอักษรของอีทรัสคัน เนื่องจากพวกอีทรัสคันไม่แยกความแตกต่างระหว่างเสียง C และ G คนโรมันก็เลยแก้ปัญหาง่ายๆ โดยเติมขีดเล็กๆ เข้าไปที่ตัว C ทำให้ได้ตัว G อย่างที่เราคุ้นเคยกันดี


เมื่อได้เห็นภาพรวมแล้ว คราวนี้ลองย้อนไปดูภาษาเฮียโรกลิฟิกส์ให้ละเอียดอีกนิด ภาพในภาษานี้มี 3 แบบหลักอย่างนี้ครับ

แบบแรก เป็นภาพสัญลักษณ์แทนความหมายหนึ่ง (logogram) เช่น ภาพขาก้าวเดินสองข้าง หมายถึง การเคลื่อนที่ ดังภาพตัวอย่างต่อไปนี้

 

แบบที่สอง เป็นภาพแทนเสียงๆ หนึ่ง (phonogram) เช่น ภาพเส้นหยักๆ ในแนวนอนแทนเสียง N เพราะคำว่า net หมายถึง น้ำ ในภาษาอียิปต์โบราณ

น่ารู้ไว้ด้วยว่าบางเสียงอาจมีภาพได้มากกว่า 1 แบบ เช่น เสียง A อาจเป็นนกแร้ง หรือแขนยื่นออกไปคล้ายแบมือขอตังค์ หรือ เสียง T ซึ่งในตารางเป็นภาพขนมปัง (เสี้ยววงกลม) แต่ในชื่อคลีโอพัตรากลับเป็นอีกภาพหนึ่งกรอบที่ล้อมชื่อคลีโอพัตราเรียกว่า คาร์ทูช (cartouche หรือ cartouch) ซึ่งใช้ล้อมรอบชื่อเทพเจ้า ฟาโรห์ หรือพระมเหสี  เดิมทีกรอบนี้เขียนเป็นวงกลม ซึ่งแทนเส้นเชือกที่ถือกันว่ามีอำนาจวิเศษปกป้องคนที่มีชื่ออยู่ภายใน แต่ต่อมาก็แบนลงอย่างที่เห็น  (แต่หากเขียนชื่อจากบนลงล่าง กรอบก็จะอยู่ในแนวดิ่ง)  

ชื่อพระนางคลีโอพัตราในภาษาเฮียโรกลีฟิกส์

ส่วนแบบสุดท้าย เป็นภาพสัญลักษณ์เพื่อระบุว่าข้อความที่เพิ่งกล่าวถึงคืออะไร (determinative) เช่น หากเห็นภาพผู้ชายกำลังนั่งชันเข่า ทำมือทำไม้อะไรบางอย่าง ปิดท้ายชื่อคน ก็แสดงว่านี่คือชื่อของผู้ชาย เป็นต้น 

ใครเกิดคันไม้คันมือ อยากลองสะกดชื่อตัวเองเป็นอักษรภาพก็ลุยได้เลย ได้ผลยังไงส่งมาอวดกันบ้างครับ

ขุมทรัพย์ทางปัญญา         

ขอแนะนำ http://www.artyfactory.com/egyptianart/hieroglyphics/hieroglyphs.htm ซึ่งมีภาพอักษรเฮียโรกลิฟิกส์สวยๆ เพียบ และหากอยากเรียนภาษานี้ ลองไปที่ The Hieroglyphics Tutor ที่ http://www.mnsu.edu/emuseum/prehistory/egypt/egypttutor/  

 

  • ดัดแปลงจากบทความ ‘ถอดรหัส อักษรภาพไอยคุปต์’ เขียนโดย บัญชา ธนบุญสมบัติ ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ ท่องเวลา ผ่าอารยธรรม นสพ. กรุงเทพธุรกิจ เซ็คชั่น จุดประกาย เสาร์สวัสดี (เสาร์ 23 ธันวาคม 2549)
  • ขอขอบคุณ ดร. จันทวรรณ น้อยวัน สำหรับความช่วยเหลือเกี่ยวกับภาพแอนิเมชันแสดงการเปลี่ยนแปลงลักษณะตัวอักษรในภาษาอังกฤษ 

 


ประวัติของบทความ :

หมายเลขบันทึก: 79399เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2007 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

อาจารย์ครับ เห็นในสารคดี หรือหนังสือเกี่ยวกับอียิปต์ จะเขียนในกรอบแนวดิ่ง มีความแตกต่างจากกรอบแนวนอนมั้ยครับ แล้วก้อเคยเห็นมีสัญลักษณ์เป็นรูปเทพเจ้าต่างๆ เช่น Anubis หรือ Ra จะเกี่ยวข้องกับการอ่านอักขระมั้ยครับ หรือเป็นการแทนการกล่าวถึงเทพเหล่านั้นเท่านั้น

ดิฉันเป็นแฟนตัวยงของตำนานอิยิปต์ค่ะ เดี๋ยวจะลองทำชื่อตัวเองค่ะ แล้วจะนำมาให้อาจารย์ดูนะค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

ผมสังสัยว่า อ.ดร.จันทวรรณ คงต้องอ่านการ์ตูน คำสาปฟาโรห์ สมัยเด็กๆแน่ๆเลยครับ เลยชอบตำนานอิยิปต์ (ผมเดาเอานะครับ)

ผมก็เป็นคนนึงที่สนใจอียิปต์โบราณน่ะนะครับ ซึ่งเท่าที่อ่านมา ไม่ทราบว่า อ. จะยังกลับมาอ่านอีกรอบหรือเปล่า เพราะว่า อ. โพสต์ไว้นานมากแล้ว ผมก็จะขอเสริม และแก้นิดนึงครับ

คือว่าอักษร 24 ตัวนั้นคือ Uniliteral ครับ ซึ่งยังมีอักษร Bi และ Triliterals อีก แต่ว่าการแปลงภาษาของอียิปต์โบราณนั้น ผมก็สังเกตุเห็นว่ามันไปเป็นอักษรของหลายๆภาษา ผมก็ไม่ใจทางด้านนี้เหมือนกัน เพราะว่าไม่ได้เรียนมาทางนี้โดยตรง แต่ว่านอกจาก Hieroglyphs แล้วเวลาชาวอียิปต์ต้องการจะบันทึกหรือใช้วิธี"เขียน"ส่วนใหญ่จะไม่เขียนด้วยภาษา Hieroglyphs แต่จะเขียนด้วยภาษา Hieratic ซึ่งเหมือนว่าเป็นภาษา Hieroglyphs แบบเขียนแล้วกัน ซึ่งเขียนง่ายกว่า (แต่ผมว่าอ่านยากกว่ามากๆ) หลังจาก Hieratic ภาษาก็ดำเนินมาตามกาลเวลา เปลี่ยนไปเป็น Demotic แล้วก็กลายมาเป็น Coptic ซึ่งวิหารส่วนใหญ่ที่เป็นคริสต์(แต่นับถืออียิปต์โบราณ)ยังใช้อยู่ และภาษา Coptic ก็ยังมีคนอ่านออกอยู่ อย่าน้อยก็มาถึง ปี 1799AD ล่ะ

ผมสังเกตุเห็นตัว M ของ Coptic ซึ่งเขียนเหมือนตัว  M ของภาษาอังกฤษเลยครับ แล้วก็ P ของรัสเซีย ก็เหมือนตัว pr ในภาษา Hieroglyphs แต่ผมไม่แน่ใจนัก

 

เรื่องที่จะขอแก้ ผมพอทราบมาว่า คำว่า น้ำ (Water) ในภาษาอียิปต์โบราณนั้นเรียกว่า mw ครับ ไม่ใช่ net เป็นการเขียนโดยเอาตัว n ซ้อนกัน 3 ตัว แต่แทนที่จะอ่าน nw ตามกฏทั่วไป กลับอ่านเป็น mw แทน ซึ่งมันก็อาจจะไม่ได้เป็นตัว n ซ้อนกัน 3 ตัวก็ได้ อาจจะเป็นคำเฉพาะครับ

 ขอบคุณครับ

อ้อ ผมเพิ่งมาอ่านของคุณ นักลงทุนเงินน้อย ผมจะตอบแทน อ.ให้เองแล้วกันนะครับ

คาร์ทูชแนวตั้งหรือแนวนอนไม่ต่างกันครับ เป็นเพียงความสะดวกของคนเขียนเท่านั้น แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่า ประโยคเดิมๆที่กำลังเขียนอยู่นั้นเป็นแนวนอนหรือแนวตั้ง ก็จะเขียนคาร์ทูชไปตามแนวนั้นครับ

สำหรับสัญลักษณ์รูป Anubis นั้น หรือสัญลักษณ์รูป Ra ถือว่าเป็น Determinative ครับ แต่ว่าชาวอียิปต์จะทราบว่าถ้าเขียนรูป Anubis โดยไม่มี Phonogram คำว่า inpw (อ้อ จริงๆแล้ว Anubis เป็นภาษากรีกครับ ภาษาอียิปต์โบราณจริงๆ คือ inpw แต่อ่านว่า eenpoo) ก็จะเข้าใจว่าคือ Anubis ครับแน่นอนว่าเทพ Ra ก็เหมือนกันครับผม 

การย่อคำแบบนี้ปรากฏมากมายในการจารึกอักษรของอียิปต์โบราณครับ ขึ้นอยู่กับ Space ที่จะเขียนคำๆนั้นลงไป ถ้ามีมากก็ใส่เข้าไปทั้ง Phonogram ทั้ง Determinative แต่ถ้าที่น้อยก็วิเคราะห์เอาแหละครับว่าจะเขียนยังไงดี ไม่ต่างกันครับ

มีของเล่นมาฝากค่ะ สร้างชื่อตัวเองในรูปแบบอักษรเฮียโรกริฟฟิค เล่นง่ายมากค่ะ http://www.upennmuseum.com/hieroglyphsreal.cgi แถมอีกอันค่ะ อันนี้เป็นตัวคูนิฟอร์ม http://www.upennmuseum.com/cuneiform.cgi

ปล. ชาว Canaanite อ่านว่าเคนันไนต์หรือคะ ถ้าเทียบจากความเข้าใจทางด้านภูมิศาสตร์พื้นที่โบราณในแถบนั้นน่าจะเรียกว่า คานาอันไนต์หรือเปล่าคะ ไม่แน่ใจ แต่ดินแดนแถบนั้นมีส่วนหนึ่งที่เรียกว่าคานาอัน แต่จำไม่ได้ว่าภาษาที่ใช้เป็นภาษาอะไร เพราะภาษาในแถบนั้นมีเยอะมากทีเดียว ภาษาอาราเมอิค ก็เป็นหนึ่งในภาษาที่ใช้มากทีเดียว

ขออนุญาตลิงค์หน้านี้ไปให้น้องๆอีกห้องอ่านด้วยนะคะ สนุกดีค่ะ

 

ขอบคุณค่ะ

 

ชอบมัมมี่

ไอยคุปต์

แระเรื่องราวต่างๆๆ

ที่เกี่ยวกับอียิปต์โบราณมากค่ะ

ชอบมั่กมากเรยย

สวัสดีครับ หนูดี

ถ้ามีข้อคิดเห็น หรือภาพ ก็นำมาโพสต์ไว้ได้นะครับ

สวัสดีครับอาจารย์ มาถอดรหัส ด้วยคนครับ

สวัสดีครับ

ไอยคุปต์ เป็นคำที่ รัชกาลที่ 6 ทรงเสนอครับ

ผมเคยเขียนเล่าไว้ในต่วยตูน นานแล้ว

คัดมาลงพอย่อๆ ครับ

"ไอยคุปต์ในภาษาไทย

ไม่ทราบว่ามีการใช้คำ ไอยคุปต์ ในภาษาไทยมาช้านานเพียงใด ในหนังสือเก่าๆ ที่แปลจากภาษาอังกฤษดูจะใช้ว่า อีจิปต์ หรือ อียิปต์ เป็นส่วนใหญ่ ที่ใช้ ไอยคุปต์มีอยู่บ้าง แต่ไม่มาก

แต่ที่มีการกล่าวถึงชัดเจนนั้น เป็นพจนานุกรมไทย ของ มานิต มานิตเจริญ อธิบายไว้ว่า   "ไอยคุปต์ หมายถึง อียิปต์" นอกจากนี้ที่เก่าลงไปก็มีพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ทรงพระราชนิพนธ์สารคดีท่องเที่ยวเรื่อง "เที่ยวเมืองไอยคุปต์" เป็นหนังสือขนาดย่อมๆ ผู้เขียนไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แต่ผู้รู้สองสามท่าน เอ่ยถึงหนังสือเล่มนี้ให้ฟัง (แต่ในพระราชประวัติรัชกาลที่ ๖ รวมทั้งหนังสือ สารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒ เล่มจบ) นั้น กลับกล่าวว่าชื่อ เที่ยวเมืองอียิปต์)

อย่างไรก็ตาม มีข้อความแสดงพระราชนิยมเกี่ยวกับการใช้คำศัพท์เรียกชื่อทางภูมิศาสตร์ เมื่อประมาณ พ.. ๒๔๖๕ เมื่อทรงพบว่าหนังสือ ภูมิศาสตร์และพงศาวดาร ของหลวงอนุภาณเลิศยานุสรรค์ มีการสะกดตัวอักษร และเรียงคำศัพท์ขัดต่อพระราชนิยม จึงได้ทรงท้วงติง โดยแสดงเหตุผลวิธีการเขียนคำศัพท์ที่ทรงสันนิษฐานถึงที่มา และควรเขียนให้ถูกต้อง ดังนี้

 

"นามประเทศ          ยี่ปุ่น ควรเขียน ญี่ปุ่น

   "                           อินเดีย รักให้เรียกว่า  มัธยประเทศ

   "                           เปอร์เซีย รักให้เรียกว่า อิหร่าน

   "                           อิยิปต์  รักให้เรียก ไอยคุปต์ ตามแบบหนังสือสันสกฤต"

เร็วๆ นี้มีรายการตอบคำถามทางโทรทัศน์ มีคำตอบชิงรางวัล ว่า ใครเป็นผู้เสนอใช้ "ไอยคุปต์" ผู้แข่งขันท่านหนึ่งตอบถูก ได้รางวัลไป

โอ้ว! ขอบคุณมากครับ อาจารย์ธวัชชัย

เดี๋ยวจะเข้าไปแก้ในตัวเนื้อหาครับ ^__^

---------------------------------------

หมายเหตุสำหรับคนรักภาษาที่แว่บผ่านมาแถวๆ นี้ :

คำว่า อิหร่าน (Iran) แปลว่า ดินแดนของชาวอารยัน

ดูย่อหน้าแรกของคำว่า Iran ใน Wikipedia ได้ที่นี่

 

ชอบไอคุปต์มากครับ

อยากเรียนภาษาไอยคุปต์โบราณจังเ

อยากรู้เรื่องของเทพไอยคุปต์มากๆเลย

คุณวรินทรครับ

        ตอนนี้มีหนังสือเล่มหนึ่ง เกี่ยวกับตัวอักษรโบราณ เขียนเป็นแนววิชาการแต่อ่านง่าย เพราะมีภาพเยอะ จำชื่ออาจารย์ที่แต่งไม่ได้ แต่พิมพ์โดย สนพ.จุฬาฯ ครับ

ถ้าชอบและสนใจเรื่องอียิปต์โบราณ แนะนำเข้าไปที่บอร์ดนี้เลยครับ http://www.iyakoop.pantown.com/

เชิญชวนคุณบัญชาด้วยนะครับ

ส่วนหนังสือที่ อ. แนะนำมา คือเล่มนี้ครับ ตัวเขียนยุคอารยธรรมโบราณ โดยรองศาสตราจารย์จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ ครับ

สำหรับหน้าปก ตาม Link นี้ไปเลยครับ

http://www.chulabook.com/images/book-400/9789740324614.gif

เล่มนี้แจ๋วมากครับ ซื้อมาได้พักหนึ่งแล้วครับ ที่จุฬาฯ

เห็นแว้บแรกนี่รู้เลยว่า "เสียตังค์แน่ตู" (อิอิ)

ขอบคุณมากครับ

ดีจังให้เรียนรู้เรืองอิยิปต์คะ

สวัสดีค่ะหนูก็คนหนึ่งที่ชอบเรื่องตำนานของอียิปต์ และหนูคิดว่าเว็บนี้น่าสนใจมาก ขอบคุณนะค่ะที่นำมาบอกกล่าวสร้างความรู้ให้แก่เด็กนักเรียนอย่างหนูขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท