ใช้เทคนิคเพลิน(Play&Learn)เพื่อสอนกลุ่มผู้ดูแลในเด็กพิเศษ


การเล่าเรื่องและรวมกลุ่มคนหัวใจเดียวกันเป็นพลังมากกว่าที่คาดคิด..

จากที่พี่ปิ่งฝากโจทย์ให้ช่วยเขียนเสริมจากที่พี่ได้เข้ามช่วยจับภาพบรรยากาศการจัดอบรมกลุ่มผู้ดูแล(ซึ่งอาจเป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือป้าน้าอา)ของเด็กที่ได้รับเชื้อเอชไอวี..ซึ่งมีคุณแม่ท่านหนึ่งบอกว่าขอเรียกว่า"เด็กพิเศษ"ได้ไหมเพราะในความรู้สึกมันถูกกระทบเสมอที่ได้ยิน คิดนึกว่าลูกตนเป็นเด็กติดเชื้อเอชไอวีและในขณะที่ใจและความรู้สึกที่มีกับลูกก็รู้สึกว่าลูกคือเด็กที่พิเศษจริงๆ...เราก็เลยขอเรียกน้องๆหนูๆที่ติดเชื้อเอชไอวีว่าเป็น"เด็กพิเศษ"ตามคุณแม่ท่านนั้น...

กิจกรรมการเรียนการสอนผู้ดูแลครั้งนี้พี่หน่อยเป็นหัวหน้าโปรเจ็คเธอได้รบทุนสนับสนุนการดำเนินกิจการจากเอเชียฟาวเดชั่น...เราตั้งใจจะทำการอบรมกลุ่มผู้ดูแลเด็กให้ได้เป็นจำนวน120คนโดยเราจะแบ่งเป็นสี่รุ่นๆละสามสิบคน...อย่างวันที่17กพ.เป็นรุ่นแรกค่ะ...ต้องขอบคุณผู้ดูแลทุกคนที่มาตามนัดหมายและมีผู้ดูแลสี่ห้าคนที่ต้องขอนำเด็กมาด้วยซึ่งพี่หน่อยก็จัดเตรียมการหาพี่เลี้ยงและกิจกรรมให้เด็กๆระหว่างรอผู้ดูแลรับการอบรมอยู่...กิจกรรมนี้เราใช้เวลาครึ่งวันแต่ก็มีเกินเวลาไปบ้างแต่ทุกคนก็แฮปปี้ดีไม่มีใครหนีหายซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่อยากจะเรียนรู้และนำความรู้ไปใช้กับเด็กพิเศษของเขา

ป้าแบนขอให้Seangjaช่วยเหมือนเป็นพิธีกรคู่แต่ส่วนใหญ่แล้วการรันกิจกรรมจะเป็นป้าแบนนซะมากกว่าแต่อาศัยว่าเราเคยทำงานด้วยกันหลายงานเหมือนกันจึงพอจะนึกสเต็ปออกว่าตอนนี้ป้าแบนอยากให้ใช้สื่ออะไรและเน้นบริบทอะไร...

ในครั้งแรกจริงๆแล้วเราตั้งวัตถุประสงค์ง่ายๆว่าให้ผู้ดูแลสามารถที่จะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวีและวิธีการพูดถึงเรื่องเอชไอวีให้กับเด็กที่ตนดูแลอยู่ได้...เราพบจากการทำกลุ่มว่าผู้ดูแลหลายคนนั้นปัดหรือปฏิเสธการที่จะชวนคิดชวนคุยเกี่ยวกับเรื่องเอชไอวีกับเด็ก...หลายคนบอกว่าเพราะกลัวและรับไม่ได้หากพูดถึงแล้วจะทำให้เด็กพิเศษต้องเสียใจและเตลิดเปิดเปิง...ดังนั้นการไม่พูดก็เหมือนกับไม่มีปัญหา...เรา(ป้าแบนและชาวเรา)ก็รับฟังอย่างตั้งใจ...แต่ผู้ดูแลหลายๆคนอยากเรียนรู้ไปจนถึงการที่จะเปิดเผยผลการติดเชื้อเอชไอวีกับลูกหลานของตนเพราะเด็กพิเศษของเราหลายคนเริ่มมีคำถามเริ่มดื้อไม่อยากกินยาไม่อยากมาหาหมอรวมถึงบางคนเริ่มโตเป็นวัยรุ่นแล้ว...เช่นกันเราก็ฟังและขอรบกวนให้ผู้ดูแลช่วยกันเรียนและออกแรงทำกิจกรรมให้เต็มที่ด้วยกันจนหมดเวลานะคะ....

ป้าแบนใช้กิจกรรมสร้างสัมพันธ์เป็นตัวละลายพฤติกรรม รวมถึงช่วยในการแบ่งกลุ่มย่อยๆหกกลุ่มกันก่อน...ให้เวลาเรียนรู้จักกันและกันรวมถึงถามความชอบไม่ชอบและสภาพเด็กที่ดูแลว่าเป็นอย่างไร..ก่อนใช้วิธีการพับกระดาษเพื่อเปิดใจเพราะเราจะมีเรื่องเล่าชวนฟังเพลินๆไประหว่างการพับ...ซึ่งเมื่อนิทานจบทุกคนที่ทำตามก็จะได้บ้านรูปหัวใจ..ขอบคุณพี่ปิ่งที่ถ่ายรูปประกอบในการทำกิจกรรมให้พวกเรา...

เราเข้าสู่การเน้นเรื่องการเปิดใจต่อด้วยเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของเคสสามเคสซึ่งจากเราไปแล้วเป็นเคสวัยรุ่นที่มีเหตุการติดเชื้อแตกต่างกันแต่มีความเหมือนกันอย่างหนึ่งคือการที่เคยมีอาการดีขึ้นได้ด้วยการได้รับความรักการดูแลและทุกรายการจากไปของพวกเขาจากไปก็เพราะขาดความรักและความเข้าใจจากครอบครัวเช่นกัน...เรื่องเล่านี้กระทบใจใครหลายคนในกลุ่ม..ป้าแบนตั้งคำถามให้กลุ่มต่างช่วยกันคิดและนำเสนอว่าเด็กพิเศษต้องการอะไรบ้างและอะไรบ้างที่ผู้ดูแลจะช่วยเหลือให้เด็กพิเศษมีความสุขและแข็งแรง....เราได้รับข้อคิดเห็นที่ดีๆจากทุกกลุ่มและเห็นการแชร์ข้อมูลระหว่างกันอย่างตั้งใจ...ป้าแบนใช้กระดาษและปากกาเป็นสื่อในการแสดงผลงานเพราะฉนั้นเมื่อกลุ่มใดนำเสนอเสร็จเราก็จะเอาไปติดไว้ที่ผนังซึ่งช่วงพักเบรกมีผู้ดูแลหลายคนมาดู-อ่านผลงานของคนอื่นๆด้วย

หลังเบรกป้าแบนสอนกิจกรรมการทำสื่ออย่างง่ายๆไม่ว่าจะเป็นหุ่นขยับปากจากกล่องนม หรือ กระดาษพูดได้...หลายคนไม่ว่าจะเป็นคุณลุงคุณป้าโชว์ฝีมือกันอย่างคึกคักทีเดียว...สื่อนี้ไว้เล่นหรือทำร่วมกันกับเด็กๆได้...

ป้าแบนเริ่มเล่านิทานไวรัสเดวีม่อนสี่ตอนแรกก่อนที่จะขอให้กลุ่มเอาสื่อที่สอนตอนแรกมาใช้ในตอนที่จะช่วยกันสรุปเนื้อหาหรือช่วยกันแชร์ความรู้เกี่ยวกับเอชไอวีและวิธีการที่เราจะเริ่มพูดเกี่ยวกับการติดต่อและอยู่ด้วยกันอย่างปลอดภัย...ซึ่งมันทำให้ไม่รู้สึกเครียดแต่กลับดูเป็นเรื่องสนุกและตลกกับหุ่นหรือกระดาษปากขยับที่ทำเองของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม.และมีเกมส์เติมอวัยวะ(การเรียกชื่อส่วนต่างๆของร่างกายซึ่งกลุ่มผู้ดูแลส่วนใหญ่นิยมวาดเป็นผู้หญิงมีเพียงกลุ่มสองหนุ่มมุสลิมกลุ่มเดียวที่วาดเป็นผู้ชาย..กิจกรรมนี้เราก็รู้ว่าผู้ใหญ่หลายคนอายมากๆที่จะเรียกอวัยวะต่างๆของร่างกายออกมาให้คนอื่นได้ยิน) ..ผู้ดูแลหลายคนฟังนิทานแล้วมีข้อสงสัยมีคำถามก็ใช้เวลาอธิบายและให้ความรู้ไปด้วย...เราพบว่าปู่ย่าตายายหลายคนไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการติดต่อและกังวลกลัวหลานไปทำให้เด็กอื่นติดเชื้อด้วยจึงไม่ค่อยอยากให้หลานไปยุ่งเกี่ยวกับใครแต่เมื่อผู้ดูแลเข้าใจหลายคนมีแววตาที่แจ่มใสและนึกถึงหลานอยากพามาเรียนเรื่องเอชไอวีพร้อมๆกันด้วย...

ป้าแบนเล่านิทานสี่ตอนสุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องของคุณยายสง่าและหลานจันดีเนื้อเรื่องของนิทานเป็นเรื่องที่เด็กพิเศษกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นและเกี่ยวกับความลังเลของผู้ดูแลที่จะเปิดเผยการติดเชื้อ..รวมถึงปัญหาหลังจากที่เด็กรู้แล้วว่าเขาติดเชื้อและมีแฟน...ผู้ดูแลหลายคนหลังจากจบกิจกรรมเข้ามาบอกเราว่าเขาดีใจที่ได้มาฟังการอบรมครั้งนี้แม้ตอนนี้เขายังไม่พร้อมที่จะบอกเด็กแต่เขารู้ว่ามีใครได้บ้างที่จะช่วยเขาได้บ้างหากถึงเวลานั้นและบางคนเข้ามากอดเราและบอกว่าเขารู้สึกเข้าใจความต้องการและจำเป็นของหลานมากขึ้น..เขาตัดสินใจได้แล้วว่าจะต้องเผชิญความจริงและขอให้เราช่วยในการที่จะตัดสินใจคุยกับเด็กเรื่องการติดเชื้อ...มันเป็นสิ่งที่เกินคาดหมายของทีมผู้จัดและฉันรู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันดูแลและเสริมสร้างความรัก(ซึ่งมีมากมายอยู่แล้วในเหล่าผู้ดูแล)ความเข้าใจในการดูแลเด็กพิเศษ

ขอบคุณป้าหน่อย(คนต้นคิด)..ป้าแบน(วิทยากรใจดี).นู๋ไก่(เจ้าแม่ออแกนไนซ์ช่วยจัดการส่วนที่เราหลงๆลืมๆ) .พี่สมถวิล(หัวหน้าตึกเด็กที่แอบมาช่วยดูแลผู้เข้าอบรม) น้องๆเจ้าหน้าที่(เล็ก,ผล,น้องการเงิน,เจ้าติ๊กสุรางค์รัตน์)และป้าเปี่ยมที่มาร่วมด้วยช่วยกัน...โดยเฉพาะป้าแบนทั้งๆที่ไม่ค่อยแข็งแรงแต่ก็ลืมป่วยไปชั่วขณะทำกิจกรรมจนแล้วเสร็จ

ยังเหลืออีกสามรุ่นเราไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรจะดีหรือถูกต่อต้าน....แต่กำลังใจที่ได้จากผู้เรียนในรุ่นแรกนี้ทำให้ป้าหน่อย,พี่ปิ่ง,นู๋ไก่และฉันมีความสุขมากๆและเราได้เห็นด้วยตาตนเองถึงพลังแห่งการใช้เทคนิกการเล่าเรื่อง,การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมและพลังของกลุ่มว่ามีพลังและความงดงามอย่างไร...ทำให้เรามุ่งมั่นที่จะทำต่อให้แล้วเสร็จแม้จะเหนื่อยหรือมาร่วมกันทำในวันหยุดก็ตาม

หมายเลขบันทึก: 79352เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2007 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ดีใจที่ได้มีโอกาสไปเรียนรู้รูปแบบและซึมซับบรรยากาศแบบ Play&Learn ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างดี ทำให้นึกถึงที่อ.ประพนธ์ เคยพูดถึง "ระเบิดจากข้างใน"
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท