อบรม TQA: ADLI vs Anecdotal


ความเป็นระบบของกระบวนการใน TQA ต้องมีครบ 4 องค์ประกอบ

       วันที่ 14-16 ที่ผ่านมา มาอบรม TQA ร่วมกับอาจารย์แพทย์อีก 10 ท่านที่กทม จัดโดยที่ประชุมร่วมสถาบันผลิตแพทย์ (consortium)  consortium บอกว่าอาจใช้เกณฑ์ TQA เป็นเกณฑ์ในการประเมินโรงเรียนแพทย์        

       การอบรมครั้งนี้ มีอาจารย์นายแพทย์สิทธิศักดิ์ พฤติปิติกุล เจ้าพ่อด้านคุณภาพแนวหน้าคนหนึ่งของเมืองไทยขณะนี้ เป็นหัวหน้าทีมวิทยากร      

       TQA (Thailand Quality Award)  เป็นเกณฑ์รางวัลเพื่อประเมินความเป็นเลิศขององค์กรในการบริหารงาน  โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นองค์กรที่รับผิดชอบ ถึงชื่อจะติดคำว่า Award หรือ รางวัล แต่ก็คือ เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอย่างหนึ่ง โดยมีที่มาจาก the Malcolm Baldrige National Qality Award ของสหรัฐอเมริกา

        เกณฑ์ TQA มีปรัชญาและกรอบแนวคิด (Core values และ concept) ได้แก่ การให้คุณค่าแก่ผู้ปฏิบัติงาน   ความยืดหยุ่น (agility)   การมุ่งเน้นอนาคต   การจัดการเพื่อนวัตกรรม  การบริหารโดยอิงข้อมูลจริง  ความรับผิดชอบต่อสังคม  การมุ่งเน้นผลลัพธ์และการเพิ่มคุณค่า และ การมีมุมมองเชิงระบบ        

        Core values และ concept นี้ เป็นเรื่องสำคัญมากๆ สำหรับองค์กรที่จะนำแนวทางการบริหารนี้ไปใช้ จะต้องเข้าใจและยึดถือ จึงจะเกิดผลที่ต้องการได้  โดย     Core values และ concept เหล่านี้ ได้ถูกฝังกลืน (embed) และแสดงออกมาเป็นเกณฑ์ในการประเมินเป็น 7 หมวด และ มีหัวข้อย่อยๆ ในแต่ละหมวด รวมทั้งสิ้นกว่า 100 ข้อย่อย

       สิ่งที่แตกต่างจากเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพทั่วไป และคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกณฑ์ Malcolm Baldrige ได้รับความยอมรับในหลายประเทศ คือ เป็นเกณฑ์ที่ไม่บังคับว่าต้องทำอย่างไร   TQA เพียงถามว่า ทำท่านสิ่งนี้หรือไม่ และ ทำอย่างไร (ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย ประมาณนี้)   ทำอย่างไร จึงจะได้คะแนน (คือว่าจะเกิดผลดีจริงๆ) คือดูว่า ทำเป็นระบบหรือไม่   

       ความเป็นระบบของกระบวนการใน TQA ต้องมีครบ 4 องค์ประกอบ คือ

  • การวางแผน (approach)
  • การนำสู่การปฏิบัติ (deploy) 
  • การเรียนรู้ ซึ่งหมายถึง การประเมินผลของกระบวนการ และนำผลมาปรับปรุง และ
  • การบูรณาการ (intergration) อันหมายถึงความสอดคล้องกระบวนการอื่นๆ และมุ่งสู่เป้าหมายร่วมขององค์กร

    คนที่อยู่ในแวดวงนี้เขาเรียกองค์ประกอบทั้งสี่ย่อๆ ว่า ADLI (แอ็ดลี่) 

        พฤติกรรมตรงกันข้าม กับ ADLI คือ Anecdotal 

        Anecdotal  หมายถึง การที่เราทำอะไรเป็นเรื่องๆ ไม่มีที่มาที่ไป  ไม่มีการประเมินผลชัดเจน  ไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร  ท่านวิทยากรบอกว่า องค์กรที่ทำอะไรแบบ anecdotal  สังเกตุได้จากในรายงานที่ขอประเมินก็มักจะยกตัวอย่าง บอกว่า มีโน่น มีนี่ แต่พออ่านต่อๆ ไป มันก็ไม่ได้สัมพันธ์อะไรกับหมวดอื่นๆ รวมทั้งก็ไม่มีผลลัพธ์ให้แสดงด้วย 

       พอผู้เข้าอบรมได้ยินท่านวิทยากรอธิบายดังนี้  ถึงกับมีเสียงฮือฮา และ กระซิบกระซาบกันอื้ออึง รวมทั้งในโต๊ะที่ตัวเองนั่งก็ไม่เว้น บอกว่า ที่เป็นอยู่ส่วนใหญ่ มันเป็นอย่างที่ท่านวิทยากรพูดนั่นแหละ  ตัวเองถึงกับใจเต้นตึ๊กๆ ว่า เอ๊ะ! ที่เราทำอยู่นี่ มัน anecdotal หรือเปล่า?? 

       คำๆ นี้เป็นที่ติดอกติดใจผู้เข้าอบรม ตลอดเวลาของการประชุม 3 วัน ก็มีการเอ่ยอ้างเรื่องนี้อยู่เป็นระยะ  บางคนบอกว่า เข้าใจคำนี้คำเดียวก็ถือว่า คุ้มแล้ว กับการอบรมครั้งนี้ !

 

หมายเลขบันทึก: 79332เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2007 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบพระคุณครับท่านอาจารย์

 รบกวนเรียนถามว่าเชื่อมโยงกับ PMQA ของ กพร และ TQA ของอาจารย์ หมอยาวได้ บ่ ครับ

เรียนอ. JJ

ไม่เคยรู้อะไรเลยเกี่ยวกับ กพร ค่ะ ไม่ทราบว่า PMQA คืออะไร  เลยยังตอบคำถามอาจารย์ไม่ได้  หากมีเวลาจะไปหาข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ

กพร. เป็นหน่วยงานในกำกับของสำนักนายก

เป็นหน่วยงานพัฒนาระบบราชการ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ ประยุกต์ TQA ของประเทศไทยซึ่งเป็นของภาคธุรกิจเอกชน มาเป็นเครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ

 

เรียกชื่อเต็มๆ ว่า การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ(PMQA: Public Sector Management Quality Award)พัฒนามาจาก เครื่องมือ Malcolm Baldrige National Quality Award (1987)ของสหรัฐอเมริกา รวมกับ พรก. บริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีครับ

ส่วนราชการทุกส่วนจะต้องนำไปปฏิบัติ เพราะเป็นตัวชี้วัด   ที่กำหนดไว้ด้วยครับ

ภาพรวมเป็นดังภาพครับ

  
ขอบคุณคุณ suthep sanmongkhol  มากค่ะ สำหรับข้อมูล
ไพบูลย์ อุ่นพัฒนาศิลป์

ผมขออนุญาตแลกเปลี่ยน เรียนรู้ด้วยคนนะครับ

ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจระบบคุณภาพ TQA และกำลังแสวงหาความรู้เพื่อนำมาปรับปรุงองค์กร

TQA เป็นองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการของตะวันตก หากองค์กรใดทำมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ เขาก็เชื่อกันว่าจะช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามรายละเอียดและความเชื่อมโยงในมุมมองแต่ละด้านค่อนข้างละเอียด

สำหรับพวกเราซึ่งเป็นชาวตะวันออกนั้นจริงๆแล้วก็มีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการที่อาจเรียกว่าเก่าแก่ที่สุดในโลกแต่ยังมีความทันสมัยอยู่มาก แต่พวกเราอาจนึกไม่ถึง องค์ความรู้ที่ว่านั้น คือ อิทธิบาท 4 ประกอบด้วย

1. ฉันทะ = รักในสิ่งที่ทำ วิธีการที่จะทำให้รักในสิ่งที่ทำง่ายที่สุด คือ เลือกทำในสิ่งที่รัก แต่ชีวิตจริงๆ เราอาจเลือกทำในสิ่งที่รัก ที่ชอบทั้งหมดไม่ได้ ดังนั้นก็มีวิธีอื่นช่วย โดยการคิดให้ถูกต้อง มองหาคุณค่าในสิ่งที่ทำ ว่ามีประโยชน์อย่างไร เหมือนกับเราต้องกินยารสขม เราอาจไม่ชอบที่จะกิน แต่ที่ต้องกินเพราะรู้ว่ายามีคุณค่า มีประโยชน์ งานก็เช่นเดียวกันมันมีคุณค่าในตังของมันเอง อย่างน้อยก็ช่วยให้มีกินมีใช้ สร้างประสบการณ์ ทำให้มีความรู้ ฯลฯ

2. วิริยะ = มีความเพียร ความพยายาม ความขยัน ที่จะทำให้เสร็จ ทำให้สำเร็จ

3. จิตตะ = ตั้งใจทำให้ดี ทำให้มีคุณภาพ อาจยึดหลักง่ายๆ ว่างานที่ออกมาควรจะ "ถูกต้อง รวดเร็ว สวยงาม" หากเทียบกับระบบการจัดการสมัยใหม่ก็คือทำอย่างมีระบบ มีมาตรฐาน เช่น ISO HA QC QA

4. วิมังสา = คิดใคร่ครวญ ทบทวน ค้นหา เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ถ้าเปรียบเทียบกับแนวคิดระบบคุณภาพสมัยใหม่ ก็จัดอยู่ในกลุ่ม Kaizen CIP

ผมคิดว่าองค์ความรู้ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงสั่งสอนไว้ ไม่ล้าสมัยเลย นำมาใช้พัฒนาตนเองก็ได้ พัฒนาระดับหน่วยงานก้ได้ ระดับองค์กรก็ OK ครับ

ขอบคุณ ไพบูลย์ อุ่นพัฒนาศิลป์ มากค่ะ สำหรับการแลกเปลี่ยน เห็นด้วยกับคุณไพบูลย์ ทุกประการค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท