สมดุลของบันทึกแห่งประสบการณ์และบันทึกเพื่อความบันเทิง


GotoKnow คือ เว็บไซต์ที่ให้บริการระบบบล็อกหรือสมุดบันทึกออนไลน์และระบบสนับสนุนอื่นๆ เช่น ระบบการ share files เป็นต้น GotoKnow เป็นชื่อย่อของคำว่า The Gateway of Thailand's Online Knowledge Management ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนทำงานในทุกสาขาอาชีพทุกระดับการศึกษาเข้ามาร่วมถ่ายทอดบันทึกแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อสร้างคลังความรู้สาธารณะของประเทศ

GotoKnow เปิดให้ใช้บริการประมาณกลางปี  48 ค่ะ และด้วยการประชาสัมพันธ์โดย สคส. ผ่านกลุ่มเครือข่ายการจัดการความรู้ต่างๆ ทำให้สมาชิก GotoKnow เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วค่ะ จนปีที่แล้ว GotoKnow ประสบปัญหาในการรองรับปริมาณการใช้อยู่หลายเดือนค่ะ จนแก้ปัญหาได้ในที่สุดด้วยการย้ายเครื่องแม่ข่ายกลับประเทศและเพิ่มจำนวนเครื่องแม่ข่ายพร้อมปรับปรุงระบบให้มีเสถียรมากขึ้นด้วยค่ะ

ตลอดเวลาที่ผ่านมาทีมงาน GotoKnow และ สคส.รวมทั้งเครือข่าย ได้พยายามกระตุ้นให้คนไทยได้ใช้บล็อกเื่พื่อการบันทึกความรู้ประสบการณ์ และมีการให้รางวัลบล็อกดีเด่น หรือ รางวัลสุดคะนึง ทุกเดือนค่ะ

บล็อกดีๆ เกิดขึ้นมากมายค่ะ มาเขียนกันด้วยใจโดยไม่หวังผลรางวัลใดๆ กันเกือบทั้งนั้น แต่บล็อกที่ถูกบังคับมาให้เปิดก็มีไม่น้อยค่ะ แต่บล็อกเหล่านี้ก็หายหน้าไปในที่สุดค่ะ

อย่างไรก็ตาม การเขียนบล็อกให้ได้คุณภาพถ่ายทอดประสบการณ์ออกมาอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายนะค่ะ กว่าจะกลั่นออกมาจากสมองได้นั้นเหนื่อยเอาการ หลายท่านนั้นพิมพ์ก็ไม่เก่งนะค่ะ แต่ก็พยายามจิ้มดีดค่ะ แ่ต่ด้วยใจรักในการเขียนเป็นทุนเดิมค่ะ บล็อกเหล่านี้ก็ยังมีชีวิตชีวาอยู่ค่ะ

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนบล็อกทุกคนต้องการ คือ ผู้อ่านค่ะ น่าเสียดายที่บล็อกดีๆ ที่กลั่นสมองเขียนออกมานี้ไม่ค่อยมีคนอ่านค่ะ อาจจะเป็นเพราะ คนคอเดียวกันยังมีน้อยนักใน GotoKnow หรือ อาจจะเป็นเพราะแนวการเขียนที่อ่านเข้าใจยาก หรือเป็นเพราะคนไทยอ่านน้อย ค่ะ เรื่องคนไทยรักสนุกนี่เราเองก็คงรู้กันดีอยู่ ดังนั้นการจะให้มาอ่านงานเขียนจากประสบการณ์นี่ต้องช่่วยเข็นกันหน่อยค่ะ

แต่ก็มีวิธีการนะค่ะที่จะทำให้คนเข้ามาอ่านบล็อกมากขึ้น หนึ่งในวิธีการนั้นก็คือ การเข้าไปเยี่ยมทักทายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบล็อกอื่นๆ ก่อนค่ะ และทำเป็นประจำสม่ำเสมอด้วยนะค่ะ หรือ อีกวิธีหนึ่งก็คือ เมื่อมีคนเข้ามาให้ข้อคิดเห็น ต้องพยายามรีบตอบกลับค่ะ

อาการขาดผู้อ่านนี้ทำให้ผู้เขียนบล็อกท้อกันไปเยอะค่ะ ประมาณว่าเขียนแล้วไม่มีคนอ่านจะเขียนไปทำไม จากนั้นสมุดบันทึกที่เคยเขียนประสบการณ์ก็ค่อยๆ กลายเป็นบล็อกเพื่อสนทนาทักทาย หรือ เขียนเล่าแนวคิดมุมมองต่่างๆ ของสิ่งที่พบพานในชีวิต ปรากฎว่า เรียกเสียงจากผู้่อ่านได้ดีค่ะ เพราะผู้เขียนเขียนได้ง่ายขึ้นค่ะ ไม่ต้องกลั่นกรองเรียบเรียงความคิดมากมายเหมือนกับเขียนถ่ายทอดประสบการณ์ ส่วนคนอ่านก็เริ่มรู้สึกผ่อนคลายแล้วจึงกล้าแสดงข้อคิดเห็นตอบออกไปอีกด้วย

จุดสมดุลของบันทึกแห่งประสบการณ์และบันทึกเพื่อความบันเทิงนั้นเป็นเรื่องสำคัญค่ะ ดิฉันเชื่อว่า วัฒนธรรมที่คนไม่ค่อยอ่านไม่ค่อยเขียนจะต้องมีสีสรรมีความสนุกเข้ามาเป็นลูกล่อค่ะ

อีกอย่างหนึ่ง อย่าลืมนะค่ะว่า GotoKnow ตอนนี้ก็แค่หนึ่งปีครึ่งค่ะ ผู้คนมากมายที่ผ่านเข้ามาจะทักทายพูดจาทักทายผูกมิตรกันผ่านบล็อกก็คงเป็นเรื่องธรรมดาค่ะ ถ้าไม่รู้จักกันไว้ก่อนแล้วจะคุยกันสะดวกใจหรือเชื่อในความรู้กันได้อย่างไร จริงไหมค่ะ

ทีมงาน GotoKnow ก็ได้พยายามทำหน้าที่ดูแลชุมชนมาโดยตลอด บล็อกไหนทำแย่เอามากก็ลบทิ้งทันที หรือเข้ามาผิดวัตถุประสงค์เอามากๆ ก็ขอความร่วมมือให้ย้ายไปใช้ในที่อื่นที่เราได้จัดไว้ให้ค่ะ

ทีมงานนั้นก็เปรียบเหมือนผู้ดูแลหมู่บ้านแต่ไม่ใช่เจ้าของบ้านค่ะ เราสร้างให้ก็แค่โครงบ้านฟรีๆ แต่การค่อยๆ สร้างและดูแลองค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้บ้านดีขึ้นดีขึ้นนั้นเป็นงานของเจ้าของบ้านทั้งสิ้นค่ะ ผู้ดูแลหมู่บ้านไม่ควรเข้าไปบังคับมากมายค่ะ แค่การให้เข้ามาเขียนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนก็เป็นงานที่ท้าทายอักโขแล้วค่ะ

ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ทีมงานก็ได้แต่พยายามค่อยๆ โปรโมทกติกาและวัตถุประสงค์การใช้ GotoKnow ค่ะ พยายามรักษาคนอยู่เก่าและขณะเดียวกันเรียกคนใหม่ๆ เข้ามาอยู่เรื่อยๆ เราไปบังคับเขามากเขาก็ไม่อยู่นะค่ะ เพราะทางเลือกอื่นๆ นั้นก็มีถมไปค่ะ แถมอยู่มานานกว่าGotoKnow เป็นห้าปีสิบปีค่ะ

อย่างไรก็ตาม ทีมงานอาจจะหละหลวมในการดูแลชุมชนไปบ้าง เพราะต้องทำหน้าที่ปรับปรุงและเพิ่มสมรรถนะให้ระบบส่วนต่างๆ คงทนและใช้งานได้ดีด้วยค่ะ

ท่านสมาชิกอ่านบันทึกนี้จบแล้ว อยากให้คำแนะนำว่า จะทำอย่างไรให้ได้บล็อกดีๆ มีเพิ่มขึ้น และ รักษาความดีให้ยาวนาน ก็เชิญฝากข้อความกันเข้ามาได้นะค่ะ ยินดีรับฟังเสมอค่ะ

ขอบคุณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 79250เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2007 01:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2015 12:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

ผมแลกเปลี่ยนอาจารย์ไว้แบบสาธารณะอีกช่องทางที่ บันทึก แลกเปลี่ยนกับ ดร.จันทวรรณ น้อยวัน เรื่อง "สมดุลย์ของบันทึกแห่งประสบการณ์และบันทึกแห่งความสนุก" 

------------------------------------------------------ 

อาจารย์ยังไม่นอนเหรอครับ... ทักทายๆ

นอกประเด็น : จำได้ว่าเมื่อ 18 ม.ค. 2548 พบและรู้จักกับอาจารย์ ดร.จันทวรรณ น้อยวัน แล้วก็ อ.ดร.ธวัชชัย ปิยะวัตน์ ที่ สคส. โดยอาจารย์ไปนำเสนอ Gotoknow กับทาง สคส.

1) ประเด็นการอ่าน เขียน ผมอ่านจบแล้วครับ ...เป็นโจทย์ใหญ่ของคนไทยเลยแหละครับเรื่อง การอ่าน การเขียน เอาแค่วิธีธรรมดาๆ โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีอะไรมากมาย...ยังเข็นกันยากครับ

2) กลับมาที่ประเด็น gotoknow (รวมทั้ง Learners, researcher) ...ผมสรุปเอาจากประสบการณ์(สัญญา) เดิมที่มีในหัวว่า ...เป็นข้อจำกัดของทุกเทคโนโลยีที่จะต้อง เรียนรู้กับเทคโนโลยีนั้นๆ ไหนต้องเสียบปลั๊ก (แบตเตอรี่) แล้วยิ่งเป็นเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตก็ยิ่งต้องไป Connect Internet เสียก่อนถึงจะใช้งานระบบ (Gotoknow) ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนกับตัวผมเอง ในงาน KM แห่งชาติ 1-2 ธ.ค. 2549 ที่ผ่านมา ผมเคยถามอาจารย์ว่ามี Wireless LAN ใช้ในงานนี้หรือไม่ ? (วันนั้นผมยังไม่ได้ใช้ Gotoknow เลยครับ) ...เหล่านี้เป็นภาพใหญ่ๆ ที่นัก IT มองว่าเป็นปัญหาเล็กน้อยจนอาจคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่..เนื่องจากคุ้นชินกับการใช้งานอยู่แล้ว ...แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยเรา อาจมีนัก IT รวมอยู่ด้วย ยังไม่ชอบแม้กระทั่งการอ่าน การเขียน หรือชอบอ่านจากหนังสือบนกระดาษมากกว่าบนจอคอมพิวเตอร์ หรือบ้างก็อาจชอบเขียนบนกระดาษธรรมดาๆ มากกว่าเขียนด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ (อย่าง Gotoknow) ....ที่สำคัญที่สุด นอกจากยังไม่ชอบจัดการเรื่องเวลาแล้ว การจัดการความรู้ในสังคมไทยยังเป็นเหมือนหนังสารคดี คือ เรื่องมันยาวครับ

3) ประเด็นเรื่องของ Blogger  อาจารย์และทีมงาน gotoknow สคส. และสมาชิก(แฟนพันธุ์แท้) ทำดีที่สุดแล้วครับ ....ขอให้คิดเสียว่า "ทุกอย่างล้วนอนิจัง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป"  ...แล้วจะเป็นสุขครับ

ตามโจทย์ข้อสุดท้ายที่อาจารย์ถามว่า

"ท่านสมาชิกอ่านบันทึกนี้จบแล้ว อยากให้คำแนะนำว่า จะทำอย่างไรให้ได้บล็อกดีๆ มีเพิ่มขึ้น และ รักษาความดีให้ยาวนาน ก็เชิญฝากข้อความกันเ้ข้ามาได้นะค่ะ ยินดีรับฟังเสมอค่ะ"

4) การเพิ่มขึ้นของ Blogger อาจารย์คงหมายถึงปริมาณ ..ซึ่งเรื่องนี้ไม่ยากครับ โดยอาศัยฝีมือของเครือข่าย ภาคี คุณเอื้อ คุณอำนวย เท่าที่มีคงเป็นไปได้

5) ประเด็นความยาวนาน อาจารย์คงหมายถึง ความยั่งยืนด้วยใช่หรือไม่? ...ข้อนี้ผมไม่รับประกันและไม่ขอแลกเปลี่ยนอะไรมากนัก ...คงตอบได้ตามประเด็นของ Blogger ที่ "เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป"

สุดท้ายผมขอให้กำลังใจทีมงาน Gotoknow สคส. และสมาชิกที่ทำดีอยู่แล้วและจะดียิ่งๆ ขึ้นไป เท่าที่จะสามารถทำได้ครับ

 

วิชิต ชาวะหา
สมาชิกเครือข่าย UKM (ม.มหาสารคาม)

อรุณสวัสดิ์ค่ะ  ดร. จันทวรรณ น้อยวัน และ  สายน้ำแห่งความคิด

  • ครูอ้อยขอแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับความรู้สึกของตนเองสักนิดค่ะ
  • ที่ว่าทำอย่างไรจะให้มี blogger  เกิดขึ้นมาเยอะๆนั้น  ครูอ้อยสังเกตและพบว่า  มี blogger  ใหม่ๆที่เขียนดี  มามากมายค่ะ
  • แต่ควรจะคิดว่า...ทำอย่างไรให้มี blogger  ที่มีการเขียนบันทักที่ดีและอย่างสม่ำเสมอ  ตลอดทั้งนักอ่านที่ดี แสดงความคิดเห็น  เป็นกำลังใจให้กัน
  • จากการที่ผู้ดูแล  ได้จัดทำสถิติให้มองเห็นว่า   มีผู้อ่านเพิ่มขึ้นนั้นเป็นส่วนที่ดี  ที่ทำให้นักเขียน  หรือ blogger  เพิ่มขึ้นและยังคงอยู่ต่อไป
  • ในนามที่เป็นสุดคะนึงคนหนึ่ง  ก็ขอให้กำลังใจ  ช่วยในสิ่งที่ทำได้  คือ  อ่าน  และให้กำลังใจแก่นักเขียนดี  ให้มีกำลังใจเขียนต่อไป
  • ครูอ้อยจะหายหน้าไปเป็นระยะ  เพราะภารกิจต่างๆที่รุมเร้าเข้ามา  แต่ครูอ้อยก็นำ  gotoknow  เป็นภารกิจหนึ่งในสาระบบการทำงานของครูอ้อย  เพราะการกระทำเช่นนี้เป็นผลดีต่อครูอ้อย และสังคมการทำงานของครูอ้อยในระยะยาวค่ะ

ขอบคุณแนวความคิดที่ดี  ขอบคุณกับการที่มีเวทีในการแสดงความคิดที่ดี  ให้โอกาสที่ดีที่ได้แสดงความสามารถออกมาได้  ..

  • เพิ่งรู้ว่า gotoKnow ย่อมาจาก The Gateway of Thailand's Online Knowledge Management อายจัง...
  • ทุกอย่างที่ทำไม่ว่าจะเกี่ยวกับ gotoKnow หรืออะไร ถ้าจะได้ยึดหลักสมดุลย์ อย่างที่อาจารย์กล่าวไว้ มันธรรมชาติดีนะครับ  คือไม่สุดโต่งหรือสุดขั้วไปไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป ในการเติบโตของ gotoKnow  ก็น่าจะได้ประคับประคองกันให้ไปแนวนี้ ค่อยๆให้หน้าเก่าหน้าใหม่เรียนรู้กันไป ถ้าเขาได้ศรัทธาและเห็นแล้วว่าเวีทีนี้ดีจริง ไม่สงสัยใดๆแล้วค่อยเข้ามาเขียนอย่างเป็นธรรมชาติ หรือถ้าเกิดอาการไม่ศรัทธาแล้วจะออกไปก็ได้ หรือจะพักการเขียน หรือจะกลับเข้ามาใหม่ ก็ให้เป็นไปตามกาล เป็นไปตามการเรียนรู้ของแต่ละคน กลุ่มคน เป็นธรรมชาติดี
  • สมดุลย์ของการเขียนแต่ละบล็อกเกอร์ ระหว่างประสบการณ์การทำงานและความสนุกสนานนั้นผมจึงเห็นว่าสำคัญมากต่อการดำรงอยู่ของ gotoKnow  ต่อศรัทธาของผู้ทั้งที่จะเข้ามาใหม่ และต่อคนเก่าที่เขียนอยู่แล้วว่าจะสร้างศรัทธาความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นได้อีกหรือไม่  ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องช่วยๆกัน ทำอย่างไรให้สมดุลย์ให้ได้อย่าให้ต้องเลยเถิดจนพื้นที่นี้ต้องเอียงไปเป็นอื่นที่ไม่ใช่พื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน
  • ผมก็สะท้อนความเห็นฝากอาจารย์เท่านี้แหละครับ ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ 

กำลังจะร่วมแสดงความคิดว่า คำว่า "ธรรมชาติ" เป็นคำตอบหนึ่งที่สำคัญ   เช่นเดียวกับที่ครูนงเมืองคอนได้ส่งความเห็นล่วงหน้ามาแล้ว 

เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกค่ะ  ในฐานะสมาชิกใหม่คนหนึ่งที่จะบอกได้ว่า GotoKnow ยังมีเสน่ห์ให้สมาชิกหน้าใหม่เข้ามาร่วมส่งบันทึกเล่าประสบการณ์หรือส่งบันทึกแห่งมิตรภาพได้ดี  ลองแวะเวียนเข้ามาอ่านบันทึกของสมาชิก  และเห็นว่าหมุบ้านนี้จะมีแรงดึงดูดผู้คนเข้ามาร่วมอาศัยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้อีกมากค่ะ   ด้วยคุณภาพของทีมงานที่แข็งขันและสมาชิกปัจจุบัน  ยินดีที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกค่ะ 

 

สวัสดีครับ อาจารย์ และทุกๆท่าน

เป็นสมาชิกใหม่ครับ 

แวะมาอ่าน....มาคิด....แต่ยังไม่ได้เขียน 

          เป็นมือใหม่นะครับหลงเข้ามา...เข้ามาแล้วก็ได้มีโอกาสอ่านบทความดี ๆ แล้วก็หลากหลายด้วยครับ...ผมมองว่า...การที่เราได้มีโอกาสทำอะไรดี ๆ สักชิ้นหนึ่ง และเราก็พยายามตั้งใจกับมัน และที่สำคัญสิ่งที่เราทำนั้นก็เป็นประโยชน์กับบุคคลอื่นด้วย...อยากเป็นกำลังใจให้ทำต่อไปนะครับ ไม่ว่าจะเป็นคนทำ Web หรือเจ้าของบทความดี ๆ...มั่นใจในสิ่งที่เราทำ และทำมันต่อไปเรื่อย ๆ นะครับ...ผมว่ามีคนหลายคนมากที่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ...และที่สำคัญที่สุดตัวเราเองก็ได้ความภาคภูมิใจด้วยครับ
อาจารย์ศุภลักษณ์ เข็มทอง

อ่านประเด็นต่างๆ ของอาจารย์จันทวรรณ และ Blogger ท่านอื่นๆ ค่อนข้างน่าสนใจครับ

โดยส่วนตัว การได้เข้ามาใช้เวลาสร้างสรรค์ความรู้ใน G2K เป็นการใช้เวลาว่างที่ดีมากๆ ครับ เพราะช่วงนั้นผมกำลังเขียนวิทยานิพนธ์ที่ออสเตรเลีย และคิดถึงวัฒนธรรมของการแสดงความคิดผ่าน Blog แบบไทยๆ ด้วย

เห็นด้วยกับอาจารย์ว่าเราจะต้องทักทาย Blog อื่นๆ เพื่อรักษาสถิติของผู้เยี่ยมชม Blog ของเรา ผมเองก็ได้เพื่อนหลากหลายวิชาชีพในช่วงหนึ่ง แต่พอเวลาผ่านไประดับหนึ่ง ผมเริ่มคิดว่าเป็นการเขียนทักทายและดำเนินเรื่องภายในกลุ่มเพื่อนๆเหล่านั้น แต่ไม่ได้ขยายความคิดแก่คนที่เราต้องการจะเข้าถึงโดยตรง ผมเลยมีความคิดว่า อยากจะเข้าไปในช่องทางที่น่าถนัด คือ research blog ซึ่งผมกำลังจะเข้าไปพบปะพูดคุยกับกลุ่มดังกล่าว เพื่อเป็นการพัฒนาวิสัยทัศน์ในฐานะนักวิจัยรุ่นใหม่ ในวันที่ 2 มีนาคมนี้ครับ

และผมจะลองใช้เวลาส่วนหนึ่ง เพื่อจัดการกับงานบริหารและงานคลินิกที่มีมากเหลือเกิน หลังจากกลับมาทำงานในไทย และกำลังจะหาเวลาเขียนหนังสือเชิงวิชาการทีต้องส่งต้นฉบับเมษายนนี้ หากมีข้อมูลบางอย่างที่เผยแพร่ผ่าน Blog ได้ ผมคงได้เข้ามาพบกับ Blogger ท่านอื่นๆ ในโอกาสต่อไป

โดยสรุปเพื่อจัดสมดุลย์ของการบันทึก

1. มีเวลาสร้างสรรค์งานให้ถูกช่องทางที่ตนเองและผู้อื่นสนใจขยายงานต่อ

2. ถ้าต้องการใช้เวลาว่างกับเพื่อนใหม่ ก็ลองทักทายและเขียนในหัวเรื่องที่สนใจร่วมกัน แต่การได้เพื่อนกลุ่มนี้ ควรมีโอกาสได้เสวนาผ่านงานต่างๆ นอกเหนือจากการพูดคุยผ่าน Blog ครับ

โชคดีครับทุกๆท่านในเทศกาลตรุษจีน 

ยินดีต้อนรับสมาชิกใหม่ทุกท่านค่ะ และขอขอบคุณสำหรับไอเดียดีๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ของไทยค่ะ

ซินเจีย ยู่อี่ ซินนี้ ฮวดใช้นะค่ะ ;)

  • อาจารย์ครับ organizational citizenship behavior หรือการพลเมืองที่ดีขององค์กร อาจจะมีผลต่อการ share และตามอ่าน blog ของสมาชิกได้ครับ
  • ตัวอย่างของ citizenship behavior เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น (อาจจะไปตามตอบคำถามให้สมาชิก), หรือการติดตามข่าวสารต่าง ๆ โดยสมัครใจ (civic virtue) เป็นต้น
  • ตอนนี้กำลังทำวิจัยด้านนี้ ได้ผลอย่างไรจะมาเรียนอาจารย์ครับ
ผมเห็นสอดคล้องกับคุณศุภลักษณ์ ที่ต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มที่สนใจสิ่งเดียวกัน เช่น research blog ผมเองก็สนใจผู้ที่ทำงานด้าน Social development หรือ Community development  เพื่อเจาะจงลงในรายละเอียดลึกถึงงานแล้วแลกเปลี่ยนกัน  งานที่ผมเขียนลงใน G2K นี้ ผมเขียนล่วงหน้าไปเป็นจำนวนมาก แต่ต้องตัดออกไป หรือสรุปย่อใหม่ หรือทิ้งไปเลย เพราะดูบรรยากาศมันไม่ตรงกับ ผู้คนที่เข้ามาส่วนใหญ่ ผมเองก็ไม่มีปัญญาที่จะไปทำให้เกิด G2K ในสถาบันการพัฒนาชนบทแห่งใดแห่งหนึ่งได้ ผมเพียงเป็นผู้ใช้ประโยชน์ หรือมี chanel นี้อยู่บ้างแล้วแต่ผมไม่รู้ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ได้เพื่อน ได้ประโยชน์มากมายอยู่ครับ  ขอบคุณครับ
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์ขา
  • ก็มองเห็นถึงความตั้งใจมากๆ ในการพัฒนาระบบของทีมงาน gotoknow ค่ะ
  • แม้ดิฉันจะเขียนไม่เก่ง แต่ก็พยายามจะพัฒนาให้งานเขียนได้คุณภาพมากขึ้นค่ะ แต่เป็นแบบฉบับที่เป็นตัวตนของดิฉัน และมุมมองของดิฉันจริงๆ ค่ะ
  • ขอบคุณเพื่อนๆ blogger / ผู้ฟัง / และทีมงาน gotoknow ทุกท่านค่ะ  ชุมชนของเราสวยงามค่ะ

อาจารย์จันทวรรณครับ

 บทความนี้ดีมาก ตอนแรกผมจะเขียนตอบตรงนี้ ปรากฏว่ามันยาวมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นอีกบทความ รบกวนอาจารย์ไปให้ความเห็นที่

Blog คุณภาพ บทเรียนจากสุนทรียสนทนา

ขอให้บ้าน gotoknow อยู่คู่สังคมไทยไปตลอดครับ

ขอบคุณมากครับ สำหรับหมู่บ้านดีๆ แบบนี้

จากลูกบ้านgotoknow

ผมต้องออกตัวก่อนนะครับว่า ประสบการณ์ในชุมชนไซเบอร์ของผมสั้นมาก เท่ากับประสบการณ์ใน GotoKnow นี้เลย คือเดือนกว่าๆเท่านั้น เพราะผมเริ่มต้นที่นี่แล้วก็ ติด ทั้งๆที่เดิมผมปฏิเสธ webboard อย่างสิ้นเชิง

โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่า ผมเรียนรู้ได้ดี ขณะที่ผมผ่อนคลาย ผมจำเรื่องราวประสบการณ์ของคนอื่นเป็นตัวอย่าง ได้ดีกว่าท่องตำราแล้วคิดว่าต้องทำอะไร ผมเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยในส่วนของประสบการณ์ที่ไม่ใช่ทฤษฎีผ่านการดูละคร อ่านนวนิยายได้ดีกว่าการอ่านในตำรา ผมเกิดความคิดดีๆขณะกำลังเล่น

ในที่นี่ผมอยากจะขอตัด ความรู้ในส่วนทฤษฎี ออกไปก่อนนะครับ เพราะนั่นคงจะเน้นหนักในหนังสือตำราเป็นส่วนใหญ่ จะมีบ้างก็เป็นส่วนน้อย และผมคิดเอาเองว่า ไม่น่าเป็นเป้าหมายหลักของการจัดการความรู้ หรือของ GotoKonw

ส่วน ความรู้จากประสบการณ์ ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายหลักของการจัดการความรู้และ GotoKnow   ถ้าเปรียบเทียบ บันทึกแห่งประสบการณ์ คือ เรื่องเรียน บันทึกแห่งมิตรภาพ คือ เรื่องเล่น ผมว่าทั้งสองส่วนจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน ตัดกันไม่ขาด อย่าไปคิดมากว่า จะมีแต่เรื่องเล่น ไม่มีเรื่องเรียนเลยนะครับ

ตัวอย่าง:  blog ของผม

blog สิงห์อีซ้าย ของผมถือว่า เป็น blog เล่น แต่ไปๆมาๆ ผมก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์เอามากๆ จาก เรื่องเล่น นั้น
ไม่ว่าจะเป็น การเขียนโดยใช้มืออยู่ต่ำกว่าบรรทัดจากอาจารย์พิชัย หรือ ความรู้ที่มาของคนถนัดซ้ายต่างๆ 


จะช่วยกันอย่างไร ผมเสนอว่า

  • ควรมีตัวอย่างให้เห็นว่า เขียนบันทึกแบบใดได้ทั้งการเรียนและการเล่นที่ดี ได้ตามความคาดหวังของผู้ดูแล ผู้ให้ทุนสนับสนุน
  • ควรสนับสนุนให้ผู้อ่านบันทึก แล้วรู้สึกว่าดี สามารถให้ rating ได้ ซึ่งทราบว่าอาจารย์กำลังทำอยู่ แต่ต้องยอมรับกันว่า นั่นเป็นความเห็นแต่ละคน เรื่องดีๆอาจได้ rating ต่ำก็ได้
  • ควรสนับสนุนให้มีผู้คอยติดตาม จัดหมวดหมู่บันทึกเป็นเรื่องราว แล้วติดตาม อาจจะเรียกว่าเป็นบรรณาธิการเป็นหัวข้อไป อันนี้ผมลองทำเองดูบ้างแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าจะช่วยได้หรือไม่ ที่นี่
  • เจ้าของ blog ควรติดตามบันทึกของตนเองใน blog ว่ายังตรงประเด็นกับ หัว blog หรือไม่  ผมรู้สึกว่า บางคนเอาเรื่องเล่นที่ไม่เกียวข้องไปใส่ไว้ในเรื่องประสบการณ์ ผู้ที่รับ blog  นั้นใส่ไว้ในแพลเน็ตของตนเองก็จะรู้สึกว่า ไม่ได้อ่านในสิ่งที่อยากอ่าน
  • มายืนยันครับอาจารย์ตอนนี้เครือข่ายของ gotoknow ที่ภาคอีสานไม่ได้มีเพียงการคุยกันธรรมดา
  • เรามาพบกันทำกิจกรรมที่ดีร่วมกันเช่นที่โรงเรียนบ้านเม็กดำ พ่อครูบา ท่านอาจารย์หมอ JJ ท่านอาจารย์ paew พี่หนิงและคุณแผ่นดินมาเยี่ยมและจับกลุ่มการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
  • ในอนาคตคงมีการพบกันของ blogger ที่ภาคอีสานโดยใช้มหาชีวาลัยอีสานของพ่อครูบาสุทธินันท์เป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันครับผม

คงจริงอย่างอาจารย์ดร.จันทวรรณว่าครับ

แต่อย่างไรก็ตามผมว่าเรื่องที่ดีๆนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากประสบการณ์จริงของผู้เขียน และผู้เขียนเหล่านั้นก็จะเขียนด้วยความจริงใจ ถ่ายทอดออกมาไม่หวังรางวัลหรืออามิสใดใดทั้งสิ้น

แต่ผู้เขียนอย่างนี้อาจมีน้อย แต่ก็เป็นตามธรรมชาติครับ ซึ่งต่อไปคงเป็นแม่แบบให้ผู้ที่ก้าวเข้ามาใหม่ ศึกษาแนวทางและสร้างแนวของตนเองได้

เท่าที่ผมตระเวนอ่านดู(จนตาแฉะ) ผมว่ามีผู้เขียนคุณภาพอยู่ใน gotoknow ไม่น้อยเลยครับและมีต่างๆแนวต่างประเภทความสนใจด้วย

อีกหน่อยอาจจะได้กลุ่มใหญ่ๆใน gotoknow ที่สามารถแยกออกได้ชัดเจนขึ้นภายหลังครับ

  • ขอบคุณท่านอาจารย์หมอเต็มศักดิ์มากครับผม

ผมเคยสนใจ workshop of self-appraisal ของ blog ครับ

นั่นคือการเขียนแล้ว ตนเอง สะท้อนตนเองว่าเป็นอย่างไร เป็นการหัดสะท้อนตนเอง รู้จักตนเองมากขึ้น เหมือนสมาธิ วิปัสนาอย่างหนึ่ง

การที่ตนเองสามารถ "สังเกต" ความคิด ความรู้สึก ณ ขณะใด ขณะหนึ่ง หรือ experiencing เป็นการเรียนรู้ระหว่างกระบวนการกระทำ

ผลที่ได้จะมีค่า มีความหมายมากครับ และเราจะพึ่งคนอ่านน้อยลง เราจะได้สามารถเขียนเรื่องที่เราสนใจเป็นส่วนตัวได้โล่งอกมากขึ้น pressure ไม่มาก ถึงแม้ว่าภายหลังอาจจะมีคอเดียวกันมา join ก็ยิ่งดี แต่จะไม่หงุดหงิดเวลามีคนมาอ่านน้อย

เป็นเทคนิก self sustaining ครับ ยิ่งบันทึก ยิ่งเติบโต

เห็นด้วยกับคุณ พิชัย กรรณกุลสุนทร มากค่ะว่า เรายังต้องรอเวลาให้เห็นภาพความรู้ที่เรามีชัดกว่านี้ รวมทั้งรอผู้ที่ชอบรวบรวม (เชื่อว่ามีมากมายค่ะ ในสาขาต่างๆ) ที่จะช่วยกันจัดหมวดหมู่ความรู้ที่เรามี ตามแนวที่เราแต่ละคนถนัด (เหมือนที่อ.เต็มศักดิ์เล่ามา และได้เห็นอีกหลายๆท่านเริ่มทำกันแล้ว) 

แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ อิสระ ค่ะ เราต้องให้อิสระกับพวกเราทุกคน ให้ความเคารพตัวตนของคนทุกคนที่เข้ามาบันทึก ให้โอกาสทุกคนในการเรียนรู้ตัวตนของตนเอง ไม่ตัดสินใครโดยไม่จำเป็น รักษาบรรยากาศแห่งมิตรภาพและความจริงใจเอาไว้ให้มากที่สุด และสิ่งที่เราควรทำอย่างยิ่งก็คือส่งเสริมตัวอย่างที่ดี ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนทำได้ และ features ต่างๆใน G2K มีไว้ให้แล้ว ใครที่พร้อมจะเป็นผู้นำทาง ทำเลยค่ะ เรามีเครื่องมืออยู่แล้วมากมายใน GotoKnow 

เพื่อให้ง่ายและโปร่งใส ผมเสนอให้เปิดเวทีสาธารณะผ่านเนตก็ได้ครับ

หรือถ้าจะถิอเป็นเอกสิทธิ์ ไม่เกี่ยวกับ "สาธารณะ" ก็กำหนดนโยบาย screen คนเข้าคนออกไปเลยครับ ท่านจะได้สบายใจทั้งสองทาง

ทำไมอาจารย์ต้องเล่นคำครับ

ประสบการณ์กับมิตรภาพ ไม่ใช่สิ่งที่ตรงกันข้าม แต่อยู่ด้วยกันได้อยู่แล้ว

การเขียนจากประสบการณ์จะเสียมิตรภาพตรงไหนครับ

หรือการเขียนแบบมิตรภาพมันขาดประสบการณ์ตรงไหน

ที่จริงคำที่ตรงที่สุดคือ คือมีสารคดี กับเชิงบันเทิงคดี

จะตรงกว่าครับ

เป็นคำที่ดีค่ะ ขอบคุณสำหรับคำแนะนำของ ดร.แสวง ค่ะ ดิฉันขอเปลี่ยนเป็นบันทึกเพื่อบันเทิงแล้วกันค่ะ แต่ทุกคนที่ได้อ่านบันทึกนี้แล้วรวมทั้ง ดร.แสวง ก็คงทราบดีว่าเนื้อความหมายถึงความสนุกสนานบันเทิง ค่ะ ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณสำหรับการต่อยอดความรู้จากทุกๆ ท่านค่ะ ทุกความเห็นมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการปรับปรุงพัฒนาระบบ

อีกทั้งยังได้เห็นถึงความต้องการในภาพรวมและความร่วมมือร่วมใจของสมาชิก GotoKnow อีกด้วยค่ะ

แล้วดิฉันก็คงได้เขียนบันทึกต่อยอดขึ้นมาใหม่ได้อีกหลายบันทึกค่ะ

 เห็นใจ  เข้าใจ  และขอเป็นกำลังใจครับ
     ในคนหมู่มาก เป็นเรื่องยากที่จะปรับเปลี่ยนความคิด และจริตให้สอดคล้องต้องกัน คงต้องใช้เวลา  แต่ขณะที่รอคอยก็ควรช่วยกันคิดว่าจะทำให้บ้านนี้ ทั้งมีคุณค่า น่าอยู่ และมีความอบอุ่น ได้อย่างไรบ้าง
    จะมุ่งมั่นพัฒนาอะไรก็ทำกันเถอะครับ  แต่อย่าลืมพัฒนาจิตใจตัวเองให้ ทุกคนที่ล้วน คิดดี ทำดี  มีปัญญาที่จะจัดการให้การอยู่ร่วมกันอย่างสุข เกิดขึ้นได้จริง ใน Cyber World ที่ชื่อ GotoKnow แห่งนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท