03 ความเกี่ยวพันของรูปและนาม.


"ธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง ธรรมนั้นคือ นาม"
Psychic Physics
ความเกี่ยวพันของรูปและนาม.

จากเรื่องของQuantum Physics และ Quantum Psychics ซึ่งแยกกันคนละส่วน ไม่ปะปนกันเลย ไม่ยุ่งกันแล้ว แต่ เมื่อมีความพยายามเพื่อจะให้มันเกี่ยวพันกัน จึงเกิดความยุ่งขึ้นมา ทั้งๆที่รูปและนามมันไม่เกี่ยวกัน แต่จะเกี่ยวกันได้อย่างไร?

ก็เพราะว่า รูปเป็นปัจจัยให้เกิดนาม นามเป็นปัจจัยให้เกิดรูป. From Psychics to Physics and Physics to Psychics.

ปรากฏการณ์ต่างๆในภายนอกนั้น หากว่าไม่มีผู้สังเกตเสียแล้ว ก็จะไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูล ไม่มีการประมวลผลข้อมูล ไม่เกิดทฤษฎี ไม่เกิดกฎ ไม่มีคำอธิบาย ปล่อยมันไว้อย่างนั้นๆ รูปก็ส่วนรูป นามก็ส่วนนาม. เรื่องทุกข์ก็จะไม่มี.

แต่ว่า ปัญหาของมันไม่ใช่ว่าจะเป็นอย่างนั้น ที่แท้แล้ว เพราะผู้สังเกตมันมีอยู่แล้ว ผู้สังเกตนั้นล่ะอาศัยอายตนะเป็นเครื่องรับรู้รูปภายนอก แล้วแปลงสัญญาณออกเป็นนามไปเกี่ยวพันกับภายใน. แปลงสัญญาภายใน ส่งออกมาเกี่ยวพันกับภายนอก มีผลบังคับกันไปกันมา.

ทำไมผู้สังเกต จึงสังเกต? ก็เพราะว่า มันมีอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นเครื่องรับรู้รูป. และมีใจ เป็นเครื่องรับรู้นาม.

ก็หากว่า ไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้ว การสังเกตรูปก็จะไม่มี ก็จะมีแต่การสังเกตนามเท่านั้น. ก็หากว่า ใจ ไม่มีแล้ว การสังเกตนามก็จะไม่มี ความยุ่งยากเพราะเหตุแห่งรูปและนามก็จะไม่มี. แต่นี่ เพราะมันมีอายตนะเหล่านี้เอง ปัญหามันจึงเกิดขึ้น.

เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย รับรู้รูปอยู่ด้วยอาศัยการกระทบสัมผัสกับรูปด้วย จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส. เกิดเป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ.

ก็เมื่อปรากฏโดยความเป็นวิญญาณแล้ว ซึ่งเป็นนามขันธ์ มันก็ไม่ได้หยุดการกระทบ มันจึงเกิดการสะสมของวิญญาณ เมื่อมากพอ ก็กลายไปเป็นสังขาร เมื่อหนาแน่นขึ้นไปอีก ก็กลายไปเป็น จักขุสัมผัสชาเวทนา โสตสัมผัสชาเวทนา ฆานสัมผัสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสชาเวทนา กายสัมผัสชาเวทนา. เมื่อสะสมนานเข้า หนาแน่นเข้า ทั้งหมดนั้น ก็เข้าไปประมวลเก็บไว้เป็น รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา และ โผฏฐัพพะสัญญา.

การรับรู้ในอายตนะภายนอกทั้ง๕ ทำให้เกิดวิญญาณ เมื่อเข้ากระทบวิญญาณขันธ์ในภายใน ก็เกิดการสะสมกันขึ้นเป็น มโนวิญญาณ.

มโนกับวิญญาณมันก็อันเดียวกันนั่นล่ะ เมื่อกระทบกันก็สะสมกัน เรียกว่า เป็นมโนวิญญาณ คือ วิญญาณสองอันรวมกันเข้าไป. แล้วก่อให้เกิดมโนสังขาร มโนสัมผัสชาเวทนา และ ธรรมสัญญาในที่สุด.

ปรากฏหมวดแห่งสัญญาใหญ่ๆ๖หมวด คือ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา และ ธรรมสัญญา.

ก็นามขันธ์๔ในภายในเอง ก็แล่นกระทบกันเอง ทำปฏิกิริยากันเอง เกิดการสะท้อนกลับ แผ่ออกเป็นคลื่นจิตออกมา คือ ขับส่วนเกินออก เพื่อรักษาดุลยภาพของมัน. คลื่นจิตเหล่านั้น ย่อมปรากฏโดยความว่าเป็นกิเลสตัณหา อาสวะ โอฆะ อวิชชา สารพัดจะเรียก.

คล้ายอย่างสิ่งที่ถูกขับจากดวงอาทิตย์ออกมา มาเป็นเปลวไฟ เป็นควันไฟ เขม่า ละอองฝุ่น รังสีต่างๆ แล้วแต่ลักษณะของมัน แล้วก็เรียกชื่อมันไปต่างๆ ตามความต่างแห่งลักษณะอาการ. แม้คลื่นทางนามที่ถูกขับออกมาเอง ก็มีความปรากฏโดยความเป็นกิเลส ตัณหา อาสวะ หรืออะไรๆก็แล้ว แต่ แต่ทั้งหมดนั้น มีหน่วยพื้นฐานอยู่คือ ปรากฏโดยความเป็นนามขันธ์๔ คล้ายอย่างสิ่งที่ออกมาจากดวงอาทิตย์และดวงอาทิตย์เอง ที่ทั้งหมดนั้น เรียกได้ว่าคือ มหาภูตรูป๔ แต่มีอาการต่างๆกัน จึงเรียกชื่อต่างกันว่า ก้อนแน เปลว ควัน เขม่า ฝุ่นละออง รังสี เนบิวลา หรืออะไรๆก็แล้วแต่.

ในนามต่างๆกัน ก็ปรากฏสัญญาต่างๆกัน หยาบละเอียดต่างกัน. ก็คล้ายอย่างว่า เนบิวล่า อุกาบาต สะเก็ดหิน เปลวไฟสุริยา อะไรเหล่านี้ มีความปรากฏว่าต่างกัน และมีขนาดปฐวีอนุภาคต่างกัน แต่ว่า มันก็คือปฐวีทั้งนั้น.

การพัดสอบของสังขาร


ในเมื่อเกิดการรับรู้ด้วยการกระทบอายตนะรับรูปแล้ว ก็เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ เกิดเป็นธรรมารมณ์คือวิญญาณทั้ง๕(จากการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย) แล่นเข้ากระทบวิญญาณซึ่งมีอยู่ในภายใน.

การกระทบกันนี้ ก็เหมือนรังสีหรืออนุภาคที่เกิดจากดวงอาทิตย์ดวงที่1 แผ่ออกไปแล้วแล่นเข้าไปกระทบรังสีหรืออนุภาคต่างๆของดวงอาทิตย์ดวงที่2 ในแดนแห่งดวงอาทิตย์ดวงที่2นั้น มีผลให้เกิดปรากฏการณ์คลื่น การแหวกไปของอนุภาคกับกลุ่มอนุภาค ทำให้เกิดความกระทบกระเทือนสมดุลเดิมของดวงอาทิตย์ดวงที่2นั้น ซึ่ง มันก็พยายามปรับสมดุลตัวมันเอง โดยการขับส่วนเกินนั้นออกมา

การขับส่วนเกินนั้น บางส่วนก็กลับคืนมาสู่ดวงอาทิตย์ดวงที่1 แต่อีกหลายส่วน ก็ขับออกไปสู่ทิศทางอื่นๆ ส่งไปกระทบดวงอาทิตย์ดวงที่3 4 5 6 .... ซึ่ง จะเห็นอาการส่งต่อกันเป็นทอดๆ เหมือนอย่างการเขียนเส้นเชื่อมจุดต่างๆ อันปรากฏว่า ดวงอาทิตย์ทุกดวงที่อยู่ในอวกาศ ต่างมีผลกระทบกระเทือนกันและกัน กระเทือนไปยังดาวเคราะห์ อุกาบาต และทุกสิ่งทุกอย่างในอวกาศ เพราะต่างก็พยายามปรับสมดุลของตัวมันเอง ด้วยการสั่นไหวของอาโปธาตุในเขตแดนของมัน.

เช่นกันนั้น ในนามขันธ์ เมื่อมันรับธรรมารมณ์เข้ามา มันก็แล่นกระทบกันเองในภายใน ส่งผลให้สัญญาต่างๆที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ กระทบกระเทือนกันไปหมด ไม่ใช่ว่ามันจะกระทบเพียงสัญญาเดียว.

เป็นต้นว่า เมื่อตากระทบรูป เกิดจักขุวิญญาณธาตุ
จักขุวิญญาณธาตุ แล่นเข้ากระทบวิญญาณอื่นๆที่อยู่ในภายใน ที่มีอยู่ก่อนแล้วนั้น ซึ่ง วิญญาณธาตุพวกนี้แวดล้อมสัญญาแต่ละอย่างๆอยู่ มันก็เกิดการกระเทือนต่อวิญญาณในสัญญานั้นๆ แล้วส่งกระทบกันไปจนเข้าไปถึงสัญญา

สัญญาเองก็พยายามปรับสมดุลของมัน โดยการขับวิญญาณส่วนเกินออกมาด้วยแรงแห่งสังขาร ขับผ่านทะเลแห่งเวทนา ส่งผ่านกลับทิศทางเดิมด้วย และแผ่ไปโดยรอบ ไปกระทบวิญญาณในสัททสัญญา ในคันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา และธัมมสัญญา. วิญญาณนั้น แล่นกระทบกันไปทั่ว. ทำให้สัญญาเปลี่ยนแปลงไปตามๆกัน.

เหมือนอย่างปฏิกิริยาลูกโซ่ของนิวเคลียร์ ที่นิวตรอนตัวเดียวที่แล่นเข้ากระทบอะตอมกัมมันตรังสี ทำให้เกิดการแตกตัวออก แล้วนิวตรอนจากตัวเดียว แล่นกระทบกันไปเป็น2 4 8 16 ...ตัว เกิดพลังงานมหาศาลขึ้น

ก็วิญญาณธาตุตัวเดียวนั้นล่ะ แล่นเข้ากระทบวิญญาณธาตุด้วยแรงแห่งสังขาร ผ่านทะเลเวทนา เข้ากระทบสัญญา แล้วก็แตกกระจายออกเป็นวิญญาณธาตุอื่นๆ แล่นกระทบกันไปทั่ว. อาการปรากฏคล้ายอย่างอิเล็กตรอนบ้าง โฟตอนบ้าง ที่แล่นไปในอวกาศ ไปกระทบกับโฟตอนหรืออิเล็กตรอน หรืออะตอม หรือโมเลกุล แล้วแต่ว่ามันจะกระทบตัวไหน เพราะมันกระทบได้หมด แต่มันจะกระทบในระดับขนาดของมันเท่านั้น.

เมื่อเป็นอย่างนั้น ปฏิกิริยาลูกโซ่นั้นก็เกิดไปทั่ว แต่ธรรมชาติของอาโปธาตุ หรือเวทนาขันธ์นั้น มันมีลักษณะของการรักษาสมดุล. เพราะอย่างนั้น ปฏิกิริยาที่แล่นเข้ากระทบกันของรูปธาตุก็ดี ของนามธาตุก็ดีนั้น ก็มีปฏิกิริยาแตกตัวด้วย และปฏิกิริยาการรวมตัวด้วย. เหมือนที่เกิดนิวเคลียร์ฟิชชั่น และนิวเคลียร์ฟิวชั่น นั่นเป็นผลของตัวรักษาสมดุลมันทำงาน.

แต่ได้ส่วนที่มันแล่นพเนจรไป มันก็แล่นไปอยู่ ไอ้พวกที่รวมตัวก็ยังรวมตัว ไอ้พวกที่แตกตัวก็แตกตัว เกิดดับสลับกันไปกันมา. แม้ในนามขันธ์ก็อย่างนั้น รูปขันธ์ก็อย่างนั้น. ทำให้เกิดรูปร่างใหม่ๆในโลกแห่งรูป คือ ก้อนปฐวีมีการเปลี่ยนรูปบ้าง ดูเหมือนคงรูปบ้าง และแม้ในส่วนแห่งนามขันธ์ สัญญาก็มีอาการแปรปรวน คงรูปบ้าง เปลี่ยนรูปบ้าง.

แต่ เมื่อพิจารณาดูทั้งหมด เหมือนอย่างเราพิจารณามหาภูตรูปในท่ามกลางอวกาศทั้งหมด ซึ่ง จะเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีหยุดนิ่ง มันเปลี่ยนแปลงแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา. ในส่วนแห่งนามขันธ์ก็อย่างนั้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรที่มีอาการต่างกันแม้สักนิดเดียว.

ทีนี้ กลับมาหาเรื่องการพัดสอบของสังขาร ซึ่งเป็นนามขันธ์นั้น ซึ่ง เกิดจากการพยายามรักษาสมดุลในโลกแห่งนาม ที่ เมื่อมันกระเทือนด้วยเหตุจากโลกแห่งรูป เหมือนมันรับธรรมส่วนเกินมาจากโลกแห่งรูป แล้วทำให้เกิดความแปรปรวนในภายในโลกแห่งนาม เกิดความไม่สมดุลอยู่ มันพยายามรักษาสมดุล แล่นกระทบกันในภายใน สุดท้าย ขับส่วนเกินนั้นออกมาผ่านทางกาย.

ปฏิกิริยาที่เกิด เวลาที่นัยน์ตาของเรารับรูป ที่ว่า เซลล์ต่างๆในดวงตารับแสงความถี่ต่างๆแล้ว มันก็ส่งสัญญาณไปสมอง เกิดกระแสประสาท.. เหล่านี้คือปฏิกิริยาทางฝ่ายโลกแห่งรูป ซึ่ง เมื่อเกิดเป็นวิญญาณแล้ว ตอนมันพัดสอบ มันก็พัดคืนมาทางประสาทตาบ้าง ประสาทหูบ้าง ประสาทกายบ้าง ประสาทจมูกรับกลิ่น ประสาทลิ้นรับรสบ้าง.

ลักษณะการพัดสอบก็มีผลกระเทือนกลับคืนมายังอณูต่างๆในโลกแห่งรูป นับแต่ระดับเล็กๆที่ละเอียดกว่าควากส์ไปอีก. (เพราะเมื่อแยกแยะหน่วยพื้นฐานของมหาภูตรูป๔แล้ว จะเห็นว่า มันแยกแยะไปได้เรื่อยๆ จนสุดท้าย ว่างเปล่าไป). แล้วเกิดปฏิกิริยาย้อนกลับ อณูเล็กๆพวกนั้น กระแทกกลับคืนมา แล้วเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่บ้าง ปฏิกิริยาการรวมตัวบ้าง กระเทือนมหาภูตรูปที่เป็นองค์ประกอบของกาย.

หากว่า องค์ประกอบของกายเหล่านั้น ปรับสมดุลไม่ทันการพัดสอบของสังขาร คือ ปฏิกิริยาการแตกตัวกับรวมตัวนับแต่ระดับที่ละเอียดกว่านิวเคลียร์นั้น ปรับสมดุลไม่ทัน ก็จะเกิดพลังงานส่วนเกินขึ้นมาตีกระทบอะตอม โมเลกุล เกิดความร้อน เกิดแรงลม เกิดการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่างๆ

ซึ่ง ถ้าควบคุมปฏิกิริยาได้ มันก็เกิดเฉพาะในขอบเขตแห่งกาย แต่ถ้าควบคุมมันไม่ได้ บางคราว แผ่ออกนอกกาย เกิดปฏิกิริยาในภายนอกในระดับละเอียด แผ่กระจายไปครอบโลกแห่งรูปทั้งหมด ทุกสัดทุกส่วนที่จะไม่รับผลกระทบกระเทือนเหล่านี้ไม่ได้มีเลย.

การปรับสมดุลในอภิสังขาร


ก็ในปฏิกิริยาที่จำแนกให้คุณแค้ทอ่าน ในเรื่องการพัดสอบของสังขารนี้ หากว่าในโลก ในจักรวาลนี้ มีแต่เฉพาะนามขันธ์ของเรา ไม่มีนามขันธ์ของบุคคลอื่นอยู่ด้วย เมื่อสังขารมุ่งหมายอย่างไรต่อโลกแห่งรูป รูปทั้งสิ้นนั้นจะปรากฏเปลี่ยนแปลงไปตามการพัดสอบแห่งสังขารทันที ตอบสนองอย่างทันทีทันใดเลย.

แต่ เหตุที่มันไม่เป็นไปตามความนึกคิดของเราแต่ผู้เดียว เพราะในโลกแห่งอภิสังขาร คือ มันมีบุคคลอื่นอยู่ด้วย แม้บุคคลอื่นๆก็มีปฏิกิริยาตอบกลับระหว่างรูปและนามเหมือนกันกับนามขันธ์หรือขันธ์๕ของเรา.
ก็เมื่อสังขารของเราพัดสอบกลับมา เป็นต้นว่า พัดสอบกลับมาว่า ขอดวงอาทิตย์จงมืดดับไป เป็นต้น. ปฏิกิริยาย้อนกลับจากภายในของเราก็ตีกระเทือนออกมา คือ สัญญาประกอบสังขาร แล่นผ่านทะเลเวทนามา หากว่าเวทนานั้นเป็นอุเบกขา ก็ไม่มีแรงหน่วง แต่ถ้าเป็นสุขเวทนาก็มีแรงต้านทานน้อยๆ แต่ถ้าเป็นทุกขเวทนาก็จะมีแรงต้านปฏิกิริยาจากสังขารได้มาก ทำให้ไม่มีผลสำเร็จดังที่สังขารมุ่งหมาย.ทีนี้ ในโลกที่มีแต่เราคนเดียวนั้น เราก็จะไม่มีทุกข์ มันก็ไม่มีทุกขเวทนา อาการของคลื่นไม่เกิด เพราะไม่มีแรงต้าน เวทนาจะปรากฏว่างเหมือนอวกาศ คือ อุเบกขา. สังขารแล่นกระทบวิญญาณ เกิดปฏิกิริยาการแตกตัว กระสะท้อนกลับมากระทบรุนแรงขึ้น คล้ายอย่างระเบิดนิวเคลียร์ คือ มันมหาศาลมาก.

เมื่อมันกระทบออกมา รูปส่วนใดที่สังขารไม่ได้กำหนดหมาย จะไม่มีผลกระทบต่อปฏิกิริยาเลย แต่รูปใดที่สังขารมุ่งหมาย เป็นต้นว่า ขอดวงอาทิตย์จงดับ เป็นต้น ส่วนประกอบทั้งหมดของดวงอาทิตย์ ที่สัญญาจำว่าเป็นดวงอาทิตย์ คือ ตัวก้อนแกนกับส่วนเปลวและควันนั้น จะเกิดปฏิกิริยากับสังขาร เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ ทางฟิชชั่นหรือฟิวชั่นก็แล้วแต่ ซึ่ง ผลสุดท้าย จะทำให้ดวงอาทิตย์นั้นดับได้.

ทีนี้ ก็เมื่อมีคนอยู่รวมกันมากๆ ความมุ่งหมายของแต่ละบุคคลมีไม่เหมือนกัน ในดวงอาทิตย์นั้นล่ะดวงเดียว สัตว์บางตัวมุ่งหมายว่า ขอให้มันเจิดจ้า บางตัวว่าขอให้มันดับ บางตัวว่าขอให้มันเล็ก บางตัวว่า ขอให้มันใหญ่.
สังขารจากคนแต่ละคน จะเกิดปฏิกิริยาที่หักล้างและสนับสนุนกัน ทำให้คนๆเดียว ไม่อาจจะทำอะไรๆในโลกแห่งอภิสังขาร คือ มีสังขารหรือบุคคลปรากฏอยู่รวมกันมากๆให้สำเร็จดังใจของตนได้.

แต่ โดยมากแล้ว อย่างสัตว์ในโลกมนุษย์เรานี้เป็นต้น ไม่ค่อยคิดอะไรใหญ่ๆ เรื่องจะคิดให้ดวงอาทิตย์ดับนั้น ก็คงจะแทบไม่มีปรากฏเลย. เมื่อเป็นอย่างนั้น ดวงอาทิตย์ก็จะรักษาสภาพของมันด้วยอาโปของมันเอง. แม้จะมีใคร ที่อยากให้ดวงอาทิตย์ดับ แต่มันก็จะไม่ดับได้ เพราะ มีจิตของสัตว์พวกหนึ่ง อาศัยในดวงอาทิตย์ เรียกว่า พวกสุริยะเทพ.

จิตสุริยเทพ มีสังขารในการรักษาหล่อเลี้ยงดวงอาทิตย์ ก็หากว่า จิตมวลรวมของสัตว์ที่จะทำให้ดวงอาทิตย์ดับ ไม่มีสังขารมวลรวมแรงพอที่จะหักล้างสังขารจากเหล่าสุริยะเทพแล้ว ความมุ่งหวังนั้นของมนุษย์ธรรดาๆ ก็จะไม่สำเร็จได้.

คุณแค้ทลองพิจารณาดูนะครับ ว่า ในโลกแห่งอภิสังขารนั้น มีแหล่งกำเนิดสังขารมากมายเท่าใด? หากดูในโลกมนุษย์เรา เฉพาะมนุษย์เดี๋ยวนี้ก็หกพันกว่าล้านแหล่งกำเนิดแล้ว. ยังไม่นับภพภูมิอื่น จักรวาลอื่น.

กำเนิดของมหาภูตรูป


เมื่อพิจารณามาถึงตรงนี้แล้ว คุณแค้ทจะเห็นอิทธิพลของสังขาร ปฏิกิริยาจากนามขันธ์ว่า มันครอบงำโลกทั้งสิ้น. พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้แก่เทวดาว่า "
ธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง ธรรมนั้นคือ นาม"

ดวงอาทิตย์ ดวงดาว อากาศ เนบิวล่า หลุมดำ ทะเล มหาสมุทร รูปร่างแห่งสัตว์ ภพภูมิแห่งสัตว์.... เหล่านี้ เป็นผลกำเนิดมาจากอภิสังขาร คือ สังขารมวลรวมของสัตว์.

สังขารเหล่านั้น มีการแล่นไป พัดไป บางส่วนพาดผ่านกัน ตัดกัน เสริมกัน หักล้างกัน. ผลของการเสริมกัน
หากหนาแน่นมาก ก็ปรากฏเป็นปฐวีธาตุ
หากว่าเบาบางกว่าปฐวี ก็เป็น อาโปธาตุ
หากเบาบางกว่านั้น ก็เป็นวาโยธาตุ
และที่สุดท้าย ก็เป็นเตโชธาตุ.

การพาดผ่านกันนั้น ไม่ใช่เฉพาะสังขาร แม้จะพิจารณาโดยนัยแห่งสัญญา ก็จะเห็นว่า

สัญญาอย่างเดียวกันเสริมกัน เมื่อพาดผ่านกัน สะสมหนาแน่น ก็ทำให้เกิดภพ
หากหนาแน่นมากก็เป็นภพใหญ่ หนาแน่นน้อยก็เป็นภพน้อย และที่แบ่งซอยย่อยๆก็เป็นภูมิ คือ ชั้นย่อยๆแห่งภพ. นอกนั้นก็เป็นทวีป เป็นเกาะแก่ง หรืออะไรๆก็แล้วแต่ ล้วนแต่เป็นผลปรากฏของการพาดผ่าน ส่งเสริมและหักล้างกันของสัญญามวลรวมจากสัตว์ทั้งหมดในโลก.

กล่าวโดยนัยแห่งเวทนาก็อย่างนั้น โดยนัยแห่งวิญญาณก็อย่างนั้น.

ก็เพราะว่า รูปทั้งสิ้นเหล่านั้น อาศัยนามเกิดขึ้น เพื่อตอบสนองความแปรปรวนแห่งนาม. และมันเป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแล้ว ไม่อยู่ในอำนาจของใครผู้ใดผู้หนึ่งเลย แต่ สังขารทุกสังขาร ส่งผล เป็นปัจจัยๆหนึ่ง ในสิ่งที่ปรากฏเป็นไปอยู่ในโลกเดี๋ยวนี้.

ก็เพราะว่ารูปเหล่านั้น เกิดจากนามก่อขึ้นมา พระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้รู้แจ้งโลก เมื่อตรัสรู้ ก็ย่อมรู้ความข้อนี้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านั้นในโลก ปรากฏมาจากจิตนี้เท่านั้น ไม่ใช่เกิดจากสิ่งอื่น. แต่ว่า มันเป็นผลรวมของจิตคืออภิสังขาร จึงไม่มีใครที่อาจสามารถทำลายโลกนี้ให้สิ้นไปจากธรรมชาติได้ มันเป็นอยู่อย่างนี้ของมัน.

การดับสังขาร ดับได้เฉพาะตน คือ ตัดผลกระทบโลกที่เกิดจากสังขารของตน. แต่ แม้เราจะหยุดปรุงแต่งโลกแล้ว สังขารอื่นๆที่เหลือ เขาก็ยังปรุงยังแต่งของเขาอยู่เช่นเดิม. เพราะอย่างนั้น จะมีเราหรือไม่มีเรา โลกนี้ก็จะถูกปรุงแต่งอยู่อย่างนี้.

พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า
สัตว์ทั้งหลาย ตั้งอยู่ได้ด้วยสังขาร. สัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร.


โลกทั้งสิ้น ตั้งอยู่ได้ด้วยอภิสังขาร.

การแสดงฤทธิ์ของท่านผู้มีฤทธิ์ ท่านเรียกว่า บันดาลอิทธาภิสังขาร คือ ความสำเร็จในระดับอภิสังขาร คือ ทำให้ปรากฏแม้แก่คนอื่นๆด้วย ไม่ใช่ปรากฏเฉพาะในมโนภาพคือสังขารของตนเท่านั้น. นี่เป็นเรื่องของผู้มีปัญญาในเรื่องนี้.
 
หมายเลขบันทึก: 79046เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2007 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท