เรียน... รัก...


เรื่องเรียนและเรื่องรัก ถ้าคนสองคนได้มีโอกาสมานั่งคุยกัน กำหนดเป้าหมายร่วมกันแต่แรก ก็คงสร้างความเข้าใจให้ทั้งสองฝ่ายได้มากขึ้น

ย้อนกลับไปสมัยเด็กนั้น ผมเป็นเด็กประมาณเกรดสามครับ นานๆ ถึงจะได้สี่กับเขาบ้างสักตัวสองตัว บางทีก็หลุดลงมาสอง หรือหนึ่งบ้าง

ผมไม่เคยสงสัยว่าจะได้เกรดอะไร ไม่เคยตั้งคำถามทั้งก่อนและหลังเกรดออก ได้อะไรก็ได้ ไม่ได้เดือดร้อน วุ่นวายใจ เป็นอย่างนี้อยู่จนถึงชั้นมัธยมเลยทีเดียว

จำได้ว่าตอนชั้นมัธยมนั้น มีบางวิชาที่ผมไม่ชอบ และไม่รู้สึกผูกพันเอาเสียเลย เรียนไปอย่างนั้น เรียนไปก็นึกไปว่า จะเอาไปทำอะไรได้ ยิ่งขึ้นมัธยมปลาย ความรู้สึกสงสัยนี้ก็เริ่มจะมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มให้ความสนใจไปที่วิชาที่จำเป็นในการสอบเอ็นทรานเท่านั้น ส่วนวิชาอื่นผมไม่เรียน ไม่สนใจ ได้เกรดศูนย์ก็สอบซ่อม หรือทำรายงานซ่อม ตามแต่ที่อาจารย์จะให้มา ส่วนวิชาที่สำคัญนั้นผมเต็มที่

เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เริ่มมีความรู้สึกมีความสนใจเพื่อนหญิงร่วมชั้น ร่วมห้องเรียน บางทีพอเริ่มสนใจก็เริ่มมีความรู้สึกแปลกๆ มันเริ่มเกร็งเวลาจะคุยด้วย จะโทรไปคุยก็ไม่กล้า ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่ต่างจากเริ่มเรียน

ผมไม่รู้ว่าเธอจะรับไมตรีที่ผมมีให้ไหม จะได้ศูนย์หรือได้สี่ในวิชาความรัก ก็สานความสัมพันธ์ไปอย่างกล้าๆ กลัวๆ รวมๆ สรุปว่าส่วนใหญ่ผมก็สอบตก จะได้คะแนนความสงสารมาบ้าง หรือไม่ก็โอนหน่วยกิตไปเป็นวิชามิตรภาพ เปลี่ยนสถานะเป็นเพื่อนที่ยังคบหากันจนทุกวันนี้ก็มีบ้าง

กลับมาเรื่องเรียน ที่ผมกำลังเริ่มต้นปริญญาใบสุดท้าย
มีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นหลายอย่างครับ วิชาแรกอาจารย์ประกาศในชั้นเรียนวันแรกว่า ผมให้เกรดสี่ทุกคน ถ้าคุณอยากได้ ถ้าคิดว่าสำคัญผมให้เลย ผมไม่แคร์ แล้วก็ไม่ต้องมาเข้าเรียน ส่วนคนที่อยากเรียนก็อยู่เรียนนะครับ

เรียกว่ารู้เกรดกันตั้งแต่ก่อนเรียนเลย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ตั้งใจเรียนกันจนจบ ได้เกรดสี่หรือเกรด A กันทุกคน

อีกวิชาหนึ่งอาจารย์มีโครงการสอนมาให้ดูตั้งแต่เริ่มเรียน แล้วก็ตกลงกันกับนักเรียนแต่ละคนว่าจะทำงานอะไรดี โดยอาจารย์เน้นว่างานที่นักเรียนเลือกทำนั้นต้องอยู่ในความสนใจของนักเรียนและเป็นงานที่จะได้ใช้ต่อไปในอนาตค มีงานอยู่สองสามชิ้น เป็นเชิงวิชาการหนึ่งชิ้น (เขียนบทความ) เชิงเทคนิคอีกชิ้น (เรียนรู้โปรแกรม หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วเอามานำเสนอเพื่อนร่วมชั้น) แล้วก็เป็นงานที่ทำให้ส่วนกลางซึ่งเป็นงานแบบสมัครใจจะทำอะไรก็ได้ครับ สามชิ้นนี้ใครสามารถนำมาเชื่อมโยงกันได้ก็จะได้ประโยชน์สูงสุด
พอถึงชั่วโมงท้ายๆ อาจารย์มาเฉลยว่าหลักการที่อาจารย์ใช้ในวิชานี้ เป็นการศึกษาแบบผู้ใหญ่ (
informal adult learning) ซึ่งเน้นตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ

เรื่องสุดท้ายที่ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับผม คือเมื่อประมาณสัปดาห์ก่อน มีการประชุมวิชาการที่ภาควิชาฯ มีเพื่อนร่วมรุ่นนำเสนอแนวการสอนที่เขาได้รับจากทฤษฎีการศึกษาแบบผู้ใหญ่นี่แหละครับ นำมาปรับใช้กับเด็กนักเรียนชั้นปริญญาตรีในเทอมนี้ แต่ทำให้ชัดเจนขึ้นเพื่อไม่ให้ขัดกับหลักการของมหาวิทยาลัย คือยังมีการให้เกรดตามปกติ แล้วก็ต้องเน้นที่การให้คะแนนเป็นสำคัญ วิธีการของเขาคือสร้างตารางงาน และเกรดกำกับครับ มีการแจกแจงเลยว่าถ้าทำงานตามนี้ หนึ่ง สอง สาม ก็จะได้ C หรือถ้าทำงานที่ยากขึ้นไปอีกหน่อย ก็ได้ B และ A ไปตามลำดับ เด็กก็จะต้องเลือกตั้งแต่ก่อนเรียนว่าอยากทำแบบไหน แล้วก็ต้องมีการเซ็นสัญญากับอาจารย์ไว้ แต่ก็ไม่ได้ซีเรียสมากครับ พอเรียนไปแล้วก็สามารถจะเปลี่ยนได้ ถ้าเลือก C ไว้ แต่รู้สึกว่าทำไหวก็เปลี่ยนเป็น A ก็ได้ ปรับไปเรื่อยๆ แต่ก็มีเป้าหมายในใจไว้แต่เริ่มเรียน ผู้สอนก็ร่วมกำหนดเป้าหมายและทำความเข้าใจไปด้วยกันตลอดเทอม

เรื่องเรียนและเรื่องรัก ถ้าคนสองคน ผู้เรียนและผู้สอน หรือคู่รัก หรือคู่ที่อยากจะเป็นคู่รัก ได้มีโอกาสมานั่งคุยกัน กำหนดเป้าหมายร่วมกันแต่แรก ก็คงสร้างความเข้าใจให้ทั้งสองฝ่ายได้มากขึ้น มีความคาดหวังที่ตรงกัน มีการยับยั้งช่างใจ ไม่คิดหวังไปเอง ซึ่งสุดท้ายถ้าไม่ได้ดังที่หวังก็มีแต่มานั่งช้ำใจ

สุขสันต์วันแห่งความรัก
หวังได้เกรดอะไร ก็ขอให้ได้ดังหวังกันทุกคนนะครับ

หมายเลขบันทึก: 78908เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2007 00:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
สวัสดีเพื่อนยามดึกค่ะ แนวการสอนแบบนี้น่าสนใจดีค่ะ เดี๋ยวต้องขออนุญาตนำไปปรับใช้บ้างค่ะ เคยลงเรียนวิชา e-learning ที่มหาวิทยาลัยไซเบอร์เขาก็ให้ลองประมาณเกรดที่เราน่าจะได้หลังจากจบคอร์ส แต่ยังไม่ค่อยเคลียร์เท่าไหร่ จะไปลองคิดดูค่ะ ขอบคุณนะคะ

 

     "เรื่องเรียนและเรื่องรัก ถ้าคนสองคน ผู้เรียนและผู้สอน หรือคู่รัก หรือคู่ที่อยากจะเป็นคู่รัก ได้มีโอกาสมานั่งคุยกัน กำหนดเป้าหมายร่วมกันแต่แรก ก็คง..........................."

   มุมอง น่าสนใจดีคะ

  ดิฉันว่า ถ้าจะเปรียบเทียบเรื่องเรียนกับเรื่องรัก เป้าหมาย น่าจะ ไม่ใช่ หวังว่า เขาจะให้เกรดระดับไหนกับเรา แต่น่าจะอยู่ที่ ขอให้เราได้เรียนรู้ และสนุกที่ได้เข้าใจ เนื้อหานั้นๆ

ห รือการที่ได้เข้า ใจคนที่เราอยากเข้าใจ สนใจ ก็น่าจะพอ

เมื่อเราเข้าใจ เราก็จะ get บางสิ่งบางอย่าง  

อาจารย์ลูกหว้าครับ
ยินดีมากเลยครับอาจารย์ ถ้าจะได้นำไปทดลองใช้กัน เพราะที่เห็นเพื่อนๆ ผมทดลองอยู่ก็เพิ่งผ่านมาประมาณครึ่งเทอม ส่วนใหญ่ผลตอบรับดี แต่เด็กบางคนก็ยังไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอย่างไรดีในสถานการณ์นี้ ซึ่งตรงนี้ต้องเป็นหน้าที่ของผู้สอนแล้วล่ะครับ (สอนออนไลน์นี่มันเหนื่อยจริงๆ นะครับ) 

คุณดอกแก้วครับ

ผมมองว่าความรักของคู่รัก
เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจกัน
ซึ่งต้องใช้เวลา และความอดทน
เป้าหมายร่วมกันคือการสร้างครอบครัว

ถ้าลองพลิกแล้วมองดูความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนผู้เรียนแล้ว
มันมีข้อจำกัดมากกว่านัก คือมีเวลาที่จำกัด มีความคาดหวังและมุมมองที่ต่างกัน บ้างมองเป็นการค้า เอาเงินแลกความรู้ เอาเงินซื้อปริญญา

ถ้าลองใช้เวลาช่วงแรกปรับความเข้าใจกันก่อนจะเริ่มสานสัมพันธ์การเรียนการสอน ก็คงช่วยให้การเรียนการสอนนั้น get เหมือนกันครับ

  • การเรียนรู้บนความคาดหวังที่ชัดเจน จะมีพลังมาก ครับ 
  • เช่นเดียวกับพวกเรา  ที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีนี้  แม้ไม่เคยร่วมงานกันมาก่อน  เมื่อการแลกเปลี่ยนมีความคาดหวังให้เกิดสิ่งดีๆในสังคม  จึงเกิดพลัง ดังที่เห็นในกิจกรรมของเม็กดำ 
ตามมาทักทาย ชอบเรื่องการจัดการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมให้นักเรียนครับผม
ขอบพระคุณคุณครูศักดิ์พงศ์มากครับ ผมเองก็ติดตามโครงการเม็กดำ และคอยเป็นกำลังใจให้ครับ

เปรียบเทียบได้น่าสนใจดี  จะลองมาปรับใช้ดูค่ะ     แต่คิดว่าเป็นความคาดหวังที่ต่างกัน

เรื่องเรียน เป็นความคาดหวังของเราเอง ซึ่งสามารถควบคุมได้

แต่เรื่องรัก  เป็นความคาดหวังของเราเช่นเดียวกัน  แต่ไม่สามารถควบคุมได้

 

 

ก็ดีนะคะทั้งวิธีการสอนของครู..และการเชื่อมโยงกันถึงเรื่อง..รัก..

ทั้งสองเรื่อง..แม้ว่ามันจะไม่เป็นไปตามความคาดหวังของเรา..แต่เราก็ได้เรียนรู้กับมัน..จริงมั๊ยคะ...

คุณพิมครับ ผมมองว่าทั้งสองเรื่องเราคาดหวังในส่วนที่เรารับผิดชอบได้ครับ ถ้าพูดถึงการเรียนในชั้นเรียน เราก็แทบจะคาดหวังไม่ได้เลย ถ้าครูไม่เตรียมการสอน สอนแบบที่เราไม่ชอบ หรือไม่มีเวลาให้คำปรึกษาเพิ่มเติม

ผมว่าถ้าเราทำส่วนของเราอย่างเต็มที่ แม้จะผิดหวัง คือได้เกรดไม่ดี หรือจะอกหัก แต่ก็ได้เรียนรู้เหมือนที่คุณครูแอ๊วว่าไว้เลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท