เก็บตกจากงานสอน น่าจะลองให้ผู้ป่วยจัดการความรู้


ผู้ป่วยมีประสบการณ์การมีชีวิตอยู่กับความเจ็บป่วยเรื้อรังยาวนาน มีความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ในเรื่องนี้อยู่มากที่เรามักมองข้ามไป

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ดิฉันได้รับเชิญไปสอนนิสิตปริญญาโท สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่ ที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในเรื่องของการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและพ่วงเรื่องของการจัดการความรู้ ครั้งนี้มีนิสิตสาขาการพยาบาลจิตเวชมาร่วมฟังด้วย

ดิฉันต้องการให้นิสิตร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากๆ จึงส่งวัตถุประสงค์ ขอบเขตเนื้อหา พร้อมรายชื่อเอกสารอ้างอิงไปให้ล่วงหน้า ๑ สัปดาห์ เพื่อให้นิสิตได้เตรียมตัวมาก่อน พร้อมทั้งให้ทุกคนศึกษาเรื่องของการจัดการความรู้จาก www.kmi.or.th และ blog ต่างๆ ที่เรามีอยู่ และให้เตรียมเรื่องเล่าเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่ประสบความสำเร็จหรือที่ตนเองประทับใจมาคนละ ๑ เรื่อง

ช่วงเช้าเป็นการเรียนการสอนในหัวข้อของการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ประเด็นหลักๆ คือการชี้ให้เห็นว่าปัญหาผู้ป่วยเรื้อรังเป็นปัญหาใหญ่ของระบบการดูแลสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑ จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นและอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ระบบการดูแลสุขภาพและบุคลากรด้านสุขภาพ ไม่ได้ถูกออกแบบหรือถูกเตรียมให้รับมือกับปัญหานี้อย่างดีพอ โมเดลที่ใช้เป็นโมเดลของการดูแลปัญหาความเจ็บป่วยเฉียบพลันเสียมากกว่า

แม้จะพยายามกระตุ้นให้นิสิตอภิปราย แต่บรรยากาศก็ไม่คึกคักเท่าไหร่ เข้าใจว่าในวันธรรมดา นิสิตเหล่านี้ต้องทำงานให้บริการตามปกติ วันเสาร์-อาทิตย์ก็มาเรียน จึงอาจไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับการศึกษาค้นคว้า ไตร่ตรองทบทวนประสบการณ์ของตนเอง เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเข้าชั้นเรียน แต่อย่างน้อยดิฉันก็ได้ขายความคิดเรื่องของการปรับปรุงระบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง โดยนำเสนอ Chronic Care Model ที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งบทบาทของพยาบาลที่ควรเป็น และ Basic competencies ของบุคลากรด้านสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑

ช่วงบ่ายดิฉันให้นิสิตผลัดกันเล่า "เรื่องเล่าเร้าพลัง" โดยให้อาจารย์ท่านหนึ่ง (ซึ่งผ่านการอบรมจาก สคส. แล้ว) ทำหน้าที่เป็น group facilitator และอาจารย์อีกท่านหนึ่งเป็น "คุณลิขิต" บรรยากาศก็ยังไม่ค่อยคึกคักนัก อาจเป็นเพราะห้องที่ใช้เป็นห้องประชุมที่มีลักษณะเป็นทางการ ประกอบกับมีการบันทึก VDO นิสิตจึงเกร็งๆ แต่ก็สามารถตีความเรื่องเล่าได้ขุมความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังออกมา เราไม่มีเวลาทำมากกว่านี้ นิสิต ๒-๓ คนเล่าเรื่องได้ดีทีเดียว ดิฉันตั้งใจจะชี้ให้เห็นว่า พยาบาลมีประสบการณ์การปฏิบัติยาวนาน แต่ไม่รู้ตัวว่ามีความรู้อยู่ในการปฏิบัติของตนเองเยอะมาก ไม่ค่อยได้คุยกันว่าทำงานแล้วได้ความรู้อะไรบ้าง พูดถึงความรู้ทีไรบอกว่าต้องทำวิจัยทุกที มักเชื่อความรู้จากการวิจัยมากกว่าความรู้จากการปฏิบัติ ในวันนั้นก็มีนิสิตคนหนึ่งถามว่าความรู้ที่ได้นี้จะเชื่อถือได้อย่างไร แถมบางคนยังติดการตีความตามทฤษฎี ใช้คำจากทฤษฎีทั้งแท่ง ไม่ยึดการตีความจากเหตุการณ์และบริบทในเรื่องเล่า นิสิตบางคนกลับเสนอแนะว่าน่าจะทำโน่นทำนี่เพิ่มเติมไปเสียอีก ระบบการเรียนการสอนของเราที่ผ่านมา คงไปเน้นให้เชื่อทฤษฎีมากกว่า โดยลืมคิดไปว่าความรู้ในทฤษฎีส่วนใหญ่ก็สังเคราะห์ขึ้นมาจากความรู้ในการปฏิบัตินั่นเอง

ถ้าจะให้การเล่าเรื่องมีพลังมากๆ คงต้องมีการฝึกฝนทั้งในเรื่องการเล่าเรื่องและการตีความ

ดิฉันได้เล่าแนวทางการจัดการความรู้ของ สคส. ที่เก็บเล็กเก็บน้อยไปจากเอกสารที่เผยแพร่ใน www.kmi.or.th บันทึกใน blog โดยเฉพาะของท่านศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช และประสบการณ์ (อันน้อยนิด) ของตนเอง เพื่อสร้างความเข้าใจว่าความรู้หลักที่เป็นเป้าหมายของการจัดการความรู้คือความรู้ฝังลึก การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ (means) ไม่ใช่เป้าหมาย (end) การจัดการความรู้คือปลาทู ๑ ตัวที่ประกอบด้วย Knowledge vision, Knowledge sharing และ Knowledge assets ตามที่ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืดเขียนไว้ การจัดการความรู้ไม่ใช่อะไรบ้างตามที่ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ บันทึกไว้ใน blog เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๘ บุคลากรด้านสุขภาพสามารถจัดการความรู้ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Best practice และ community of practice

นิสิตคนหนึ่งอยากรู้เรื่องการจัดค่ายเบาหวาน ดิฉันเลยได้โอกาสแนะนำให้เข้าไปอ่านที่ http://gotoknow.org/dmcop ซึ่งเราได้บันทึกเรื่องนี้ไว้หลายตอนแล้ว

สุดท้ายดิฉันยุให้นิสิต ลองริเริ่มให้มีการจัดการความรู้ของผู้ป่วยเรื้อรัง เพราะโรงพยาบาลและ PCU หลายแห่งมีการตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ตั้งชมรมผู้ป่วยกันอยู่แล้ว น่าจะสนับสนุนให้ใช้กระบวนการจัดความรู้ โดยมี "หัวปลา" คือการดูแลตนเอง ผู้ป่วยมีประสบการณ์การมีชีวิตอยู่กับความเจ็บป่วยเรื้อรังยาวนาน มีความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ในเรื่องนี้อยู่มากที่เรามักมองข้ามไป น่าจะสนับสนุนให้มี community of practice ของผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เพื่อให้มีการแบ่งปันความรู้ ส่งเสริมการสร้างและการใช้ความรู้ของผู้ป่วย 

รูปแบบจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องช่วยกันคิดต่อไป

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘

 

หมายเลขบันทึก: 789เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2005 04:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท