อ.ก.พ. กรม : ศาลปกครอง


อ.ก.พ.กรม

          1. ในการพิจารณาเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงนั้น สามารถกระทำได้ทั้งการสอบคัดเลือก คัดเลือกโดยมีการประเมินผลงานและไม่มีการประเมินผลงาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งนั้นว่าเป็นตำแหน่งวิชาการหรือตำแหน่งไม่ใช่วิชาการ โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด          

           2. โดยที่ตำแหน่งว่างมีจำนวนน้อยกว่าผู้มีคุณสมบัติ จึงต้องมีการประกวดเหมือนกับประกวดความงามของสาว ๆ สวย ๆ ตามกติกาที่มีอยู่  คณะกรรมการและส่วนราชการก็ต้องปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง เพื่อให้ ความเป็นธรรมและโปร่งใส ตรวจสอบได้เสมอ

            3. ครั้งนี้มีปัญหาที่เกิดขึ้นและศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว อีกเรื่องหนึ่ง จึงขอนำมาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟังไว้เป็นอุทาหรณ์ของส่วนราชการ โดยเฉพาะบุคลากรที่จะต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ เพื่อที่จะป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วย

            4.  เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ส่วนราชการแห่งหนึ่ง มีอัตราว่างระดับ 8 จำนวนหนึ่ง ส่วนราชการได้เปิดรับสมัครเพื่อคัดเลือกข้าราชการที่มีคุณสมบัติเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ว่างนั้น อ.ก.พ.กรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกผู้สมัครแล้วเสนอ อ.ก.พ.กรมเพื่อพิจารณาคัดเลือกให้เป็นผู้มีสิทธิเสนอผลงาน เพื่อประเมินเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อไป อ.ก.พ.กรมได้มีมติวางแนวทางการพิจารณาคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะ (วช.) ว่าให้พิจารณาจากองค์ประกอบ 2 ด้านคือ ผลงานในระดับเดิมเป็นที่ประจักษ์และข้อมูลด้านบุคคล  ทั้งนี้หากองค์ประกอบด้านแรกชัดเจน สามารถตัดสินใจได้ ก็ไม่ต้องใช้องค์ประกอบด้านที่สอง  ปรากฏว่าในการประชุมของ อ.ก.พ.กรมครั้งที่เป็นปัญหานี้ได้มีมติโดยพิจารณาจากรายชื่อข้าราชการที่คณะกรรมการคัดเลือกเสนอแล้วเห็นชอบให้นาย ก. เป็นผู้เสนอผลงานเพื่อประเมิน เพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับสูงขึ้น  โดยนาง ข.มิได้รับคัดเลือกโดยไม่มีรายละเอียดว่า อ.ก.พ.กรมใช้ดุลพินิจตรวจสอบผลงานหรือผลการปฏิบัติงานในระดับเดิมแต่ประการใด

             5. นาง ข. ได้ทราบผลการพิจารณาคัดเลือกแล้วเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงขอให้หัวหน้าส่วนราชการชี้แจงและพิจารณาทบทวน แต่ก็ได้รับคำชี้แจงอย่างกว้างไม่มีรายละเอียดการพิจารณาแต่อย่างใด   นาง ข.          จึงได้นำเรื่องไปฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การพิจารณาของ อ.ก.พ.กรม  ที่ไม่พิจารณาคัดเลือกให้นาง ข. เสนอผลงานเพื่อเข้ารับการประเมินเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งในตำแหน่งระดับ 8 วช. เป็นการพิจารณาโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและเหตุผลที่สนับสนุนเพียงพอจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ มติของ อ.ก.พ.กรมจึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองชั้นต้นจึงพิพากษาให้เพิกถอนมติของ อ.ก.พ.กรม เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับนาย ก.

           6.  ผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุดว่า คำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าว เป็นการก้าวล่วงเข้าไปถึงการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง ซึ่งกระทบต่อระบบการบริหารงานบุคคลภาครัฐเป็นอย่างมาก

7.  ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุปดังนี้

      1)    ประเด็นที่ว่าศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบการใช้ดุลพินิจได้โดยชอบหรือไม่นั้น ศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542        

     2)   ประเด็นที่ว่า มติของ อ.ก.พ.กรม ที่มีมติคัดเลือกบุคคล (นาย ก.) ให้เป็นผู้มีสิทธิเสนอผลงานฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น หลักเกณฑ์การประเมินบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภท วช. ให้เป็นไปตามที่หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร.0708.4/16 ลงวันที่ 29 กันยายน 2538 และเกณฑ์อื่น ๆ ตามที่ส่วนราชการกำหนดเพิ่มเติม  ในกรณีนี้ อ.ก.พ.กรม ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏว่า อ.ก.พ.กรม          ได้ใช้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้แต่ประการใด จึงเท่ากับว่า อ.ก.พ.กรมมิได้ใช้หลักเกณฑ์ที่กำหนดเพิ่มมาใช้ในการพิจารณาแต่ประการใด   แม้ต่อมา อ.ก.พ.กรมจะได้มีมติคัดเลือก นาย ก. ให้เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน       ตามหลักเกณฑ์ และคัดเลือกให้นาง ข. (ผู้ฟ้องคดี) เป็นผู้เหมาะสมที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นก็ตาม ไม่ทำให้มติของ อ.ก.พ. กรมเดิมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน  โดยสรุป ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายืน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ 18 เมษายน 2549 คดีหมายเลขดำที่ ว.78/2549 คดีหมายเลขแดงที่ ว.78/2549)

             8.  ผลจากคำวินิจฉัย (คำพิพากษา) ของศาลปกครองดังกล่าวที่ให้เพิกถอนมติ อ.ก.พ. กรมที่เห็นชอบให้นาย ก. เป็นผู้ได้รับคัดเลือกให้ส่งผลงาน ซึ่งเป็นสาระสำคัญ เมื่อกระบวนการคัดเลือกถูกเพิกถอนจึงเท่ากับว่าไม่มีการคัดเลือก เป็นผลให้การแต่งตั้ง นาย ก. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนราชการจึงชอบที่สั่งเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งนาย ก. แล้วดำเนินการใหม่ (มติ อ.ก.พ. กฎหมายและระเบียบข้าราชการครั้งที่ 8/2549) 9.  ตรงนี้จึงขอนำมาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟังประกอบการดำเนินงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องและโปร่งใสเป็นธรรมด้วยครับ

              แนวหน้า (คอลัมน์ราชการแนวหน้า)  15  กุมภาพันธ์  2550
คำสำคัญ (Tags): #ศาลปกครอง
หมายเลขบันทึก: 78738เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2007 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท