วิธีที่เราประเมินผลอยู่นี้ ดีหรือไม่?


เราสามารถจะใช้ competency ที่เหลือของ candidate คนนี้มาชดเชยจริยศาสตร์ที่บกพร่องไปได้หรือไม่?

ขณะนี้ที่กระดานข่าวคณะแพทย์ กำลังมีการอภิปรายเรื่อง หลักสูตรที่เหมาะสม ผมคิดว่าน่าสนใจในการสนทนาต่อเนื่องเพื่อขยายการรับรู้และความเห็น

 ความรู้มีหลาย มิติ คล้ายๆกับสุขภาพที่เป็นองค์รวม มีหลายมิติ และความรู้ก็มีความเป็นองค์รวม คล้ายๆกับสุขภาพเหมือนกัน มี ความเชื่อมโยง และหากขาดความเชื่อมโยง หรือความไม่สมบูรณ์เกิดขึ้น ความรู้นั้นก็จะไม่ดี ใช้ไม่ได้ หรือแม้กระทั้งเกิดเป็นผลเสียได้

แต่ทว่า การประเมิน ในยุคปัจจุบัน เป็นการ "เชื่อมโยงเอาดื้อๆ" คือไม่ได้พิจารณาว่าอะไรเชื่อมได้ อะไรเชื่อมไม่ได้ (ดูการอภิปรายเรื่องนี้ในบันทึก "3 ด่านมนุษย์ท่อนไม้") เพียงแค่เอามาบวกกันก็แปลว่าเชื่อมแล้ว ยกตัวอย่างเช่น วิชาศัลยศาสตร์ มีรายวิชาทฤษฎี รายวิชาปฏิบัติ หน่วยกิตพอๆกัน มีเกณฑ์ผ่านค่านึง ทีนี้ถ้าเกิดมีเด็กทำทฤษฎีได้ดีมากๆ ก็สามารถจะผ่านทั้งๆที่ปฏิบัติห่วยไม่มีชิ้นดี หรือ vice versa คนที่สอบผ่านศัลยศาสตร์โดยที่มีดีแค่มิติใด มิติหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ สามารถทำผ่าตัด ได้อย่างแน่นอน แต่ด้วยระบบประเมินในปัจจุบันแปลว่า OK!!

หรือเกือบทุกคณะฯ ก็จะมีวิชาจริยศาสตร์รวมอยู่ด้วย หน่วยกิตไม่มากเท่าไร ไม่มากเท่ากับรายวิชากลุ่มสายหลักแน่ๆ แต่สมมติอย่างของคณะแพทย์ ถ้าเด็ก สอบตก วิชาจริยศาสตร์ จะสามารถสอบผ่าน และได้ พ.บ. หรือไม่? ถ้าได้จะแปลว่าอย่างไร?

ในการสอบระดับวุฒิบัตรครั้งหนึ่ง เคยมีคนเสนอให้มีสัดส่วนข้อสอบจริยศาสตร์ทางวิชาชีพลงไปสัก 5 ข้อ จะได้ "ครอบคลุม" ในชุดข้อสอบ final ซึ่งเป็น MCQ (multiple choices) ผมก็รู้สึกอึดอัดใจมาก ถามไปว่าถ้าตอบ 5 ข้อนี้ไม่ได้เลย เราจะ แปลความหมายว่าอย่างไร? เราสามารถจะใช้ competency ที่เหลือของ candidate คนนี้มาชดเชยจริยศาสตร์ที่บกพร่องไปได้หรือไม่?

มีนักศึกษาเขียนลงในกระดานข่าวครั้งหนึ่ง (หา link ไม่เจอแล้ว) ว่าเขาดันไปตก block health promotion ทำให้ไม่ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ทั้งๆที่เกรดถึง จะขอต่อรอง ทำให้นึกถึงสมัยก่อนตอนเด็กๆ ที่เราจะมี "วิชาที่ทิ้งได้" คือมีหน่วยกิตต่ำๆ ถ้าเวลาไม่พอก็ปล่อยไป ถึงเกรดไม่ดีก็ไม่ฉุดเกรดรวมสักเท่าไร วิชาพวกนี้มักจะเป็นพวกสังคมศาสตร์ สุขศึกษา หน้าที่ศีลธรรม หน้าที่พลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายวิทย์ จะ look down วิชาเหล่านี้ หาว่าเป็นวิชาท่องบ้าง (ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า สมัยนั้น วิชาเหล่านีเราแค่ "ท่อง" จริงๆ หาได้นำไปเชื่อมโยงอะไรเลยไม่) วิชากระจอกบ้าง

ในเมื่อพวกเรา (อาจารย์) เป็นคน sign ให้ผ่าน ให้เป็นบัณฑิต จะมาบ่นทีหลังคงจะแปลกอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าเรามองย้อนไปที่นิยามความหมายของบัณฑิตที่จะต้อง

  • มีความรู้ความชำนาญในวิชาชีพของตนเป็นมาตรฐาน
  • มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม
  • มีความแสดงออกทางด้านความคิด การพูด การกระทำ สมเป็นผู้ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษา

แล้วเราได้ปล่อยอะไรออกไปสู่สังคม "ทั้งๆที่รู้" อยู่บ้าง มาบ่นก็คงจะ hypocrisy เกินไป

หมายเลขบันทึก: 78713เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2007 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

   สวัสดี  อาจารย์

        เห็นภาพคันฉ่องนกไฟ ของอาจารย์ประทับใจมากทำได้อย่างไร ภาพนี้ได้มาอย่างไร                     เมื่อเราเปรียบเทียบเรื่องจริยศาสตร์ กับ สมรรถนะcompetency ในการประเมินคน น่าจะต่างกัน หรือว่าเหมือนกัน แต่ในทางบริหารงาน HR  "competency" ช่วยในการประเมินคัดเลือกคน พัฒนาหากมีข้อบกพร่อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่จริยศาสตร์ คือหากใครมีจริยธรรมก็ดีไม่ต้องปรับปรุง ส่วนใครไม่มีบกพร่องก็ต้องถูกลงโทษ ถือว่ากระทำผิด ไม่ดี  คิดแบบงู ๆ  ปลา ๆ ไม่ถูกหรือไม่

สวัสดีครับคุณ พี่หนก

ภาพนกไฟเป็น collection ภาพจีน ผมหามาจาก internet แต่เอามา paint ด้วย Adobe Imageready เองครับ

ผมคิดว่ายังลังเลที่จะนำเอาการประเมิน Ethics มาใช้ในลักษณะการลงโทษครับ มีสาเหตุหลายประการ

  • จริยศาสตร์ เป็นบูรณาการระบบความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา ค่านิยม และระบบสังคม ออกเป้นพฤติกรรม ก่อนที่เราจะ "ไม่เห็นด้วย" นั้น เราต้องคำนึงว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆในพฤติกรรมแต่ละอย่าง และไม่ง่ายเลยที่จะ "ตัดสิน ฟันธง" ออกเป็นเกรด
  • การตัดสินใจของคนเรา ไม่ได้ based on ตรรกะเสมอไป จริงๆแล้วประมาณ 96% เป็นอารมณ์นะครับ ดังนั้นคนหนึ่งถูดประเมินตอนเช้า ตอนบ่ายก็เปลี่ยนคะแนนได้ ทั้งดีขึ้น หรือยิ่งแย่กว่าเดิม

ในที่ประชุมแพทยศาสตรศึกษาเมื่อ 2 ปีก่อน เพื่อนผม หมอชัยชนะ นิ่มนวล ออกความเห็นว่า การประเมินจริยศาสตร์ควรทำในลักษณะ formative evaluation มากกว่า formative evaluation

ขอขยายความนิดนึง

Formative evaulation เป็นการประเมินระหว่างการฝึกอบรม มีไว้เพื่อปรับพัฒนาเด้กเป็นรายๆ และเป็นมิติๆ ก่อนที่จะจบ class

Summative Evaluation เป็นการประเมินเมื่อสิ้นสุดการเรียน เพื่อประกาศได้/ตก จัด ranking จัดกลุ่มนักเรียน

ดังนั้นเรา "ควร" ประเมินเรื่องจริยศาสตร์บ่อยๆ ตอนนักเรียนกำลังเรียน และได้ผลอย่างไร นำมาพัฒนาเด้กอย่างต่อเนื่อง จะมีประโยชน์มากกว่าเอาไปประเมินเพื่อเอาได้/ตก หรือตัดเกรด ซึ่งจะมีปัญหาด้านความตรง ความเที่ยง และความแม่น เยอะมากครับ

จริยศาสตร์เป็น skill-based performance หรือเน้นที่ความชำนาญ และพฤติกรรมการใช้ การทดสอบเชิงทฤษฎีไม่ค่อยมีประโยชน์มากครับ คนเราสามารถเรียนภาคทฤษฎีจนจบดุษฎีบัณฑิตด้านอาชญากรรมวิทยา ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่เป็นโจร ผ่านทดสอบครั้งหนึ่ง ควรจะเอาโจทย์ เอาชีวิตจริง มาหัดใช้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ ความเชี่ยวชาญชำนาญจะเกิดต่อเมื่อได้ฝึกปรือ ลับคมบ่อยๆเท่านั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท