ปากไว "คิดเปรี้ยง ทำเปรี้ยง!!!"


ใครคิดอะไรได้ก็โยนตู้ม โยนตู้ม โดยลืมตัวหยุดคิดใคร่ครวญก่อนจะพูด เรียกได้ว่าเป็นการสวมวิญญาณนักวิชาการมืออาชีพกันเต็มที่ พอพูดจบก็ดูเหมือนสบสันในความคิดตัวเองยังไงชอบกล ชอบพูดวกไปวนมา ทำให้ผู้ฟังงงไปซะอย่างนั้น อะก็ว่ากันไป แต่ถ้ายังคิดเปรี้ยงทำเปรี้ยงอยู่อย่างนี้ บอกได้เลยว่า "แมนไม่ปลื้มเลยนะครับ"

ด้วยความเป็นเด็กสุดทำให้สงบเสงี่ยมเป็นพิเศษ

 ในเวทีเตรียมประชุม "กรอบการทำงานร่วมกันเพื่อการวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และจังหวัดลำปาง" โดยสำนักประสานงานและพัฒนาเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง สกว. สถาบันบริหารการวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนเรศวร   ในวันที่ 1 - 2 มีนาคม 2550 ซึ่งเมื่อวานนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2550) ทางคณะผู้ประสานงาน ได้ลงมาหารือพูดคุยในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร โดยได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องจาก 4 ภาคส่วน คือ ภาคประชาชน  ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ   ผมไปในฐานะภาคเอกชนร่วมกับพี่สาวอีกคนหนึ่ง เข้าไปที่ห้องประชุมบรรยากาศก็สบายๆ ไม่มีอะไรเป็นทางการแต่อย่างใด ผศ.ดร.เสมอ ถาน้อย ผู้อำนวยการสถาบันบริหารการวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงที่มาที่ไป ของโครงการสำนักประสานงานการวิจัยและพัฒนา เฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง สกว.  ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นการพัฒนาความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ สังคม ของจังหวัดจากฐานภาคในอย่างยั่งยืน ครอบคลุม 5 มิติ คือ

      - แก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคมในพื้นที่

       -  เสริมสร้างเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างจังหวัด และประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกัน

        - สร้ามเชื่อมโยงเชิงสร้างสรรค์ระหว่างภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่กับภาคเศรษฐกิจท้องถิ่น

       - พัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา และสุขภาวะของคนในพื้นที่

      - จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ซึ่งพื้นที่เป้าหมายได้เน้นระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัด ในเขตภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด (เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี) และจังหวัดลำปาง  โดยมีวิธีการดำเนินงาน ด้วยการสร้างความร่วมมือ ปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาคี ภาคประชาชน เอกชน รัฐบาล และวิชาการ ในการเป็น "เจ้าของ" ทิศทางการพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้เกิด "กลไกการจัดการ"     และมีการกำหนดโจทย์ แบบมีส่วนร่วมกันทุกภาคี ซึ่งต้องการข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเชิงประจักษ์ หรือเชิงปริมาณในทุกๆด้าน เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยง

มี 4 สเต็ปส์ ในการพัฒนาโจทย์วิจัยเฉพาะพื้นที่ คือ 

      1.สร้างความเข้าใจ และหาทิศทางร่วมกัน

      2.ค้นหาประเด็นวิจัย และกำหนดกรอบ/แผนงานวิจัยของพื้นที่

      3.Call for Proposal ตามกรอบ/แผนงานที่กำหนด

      4.ให้นักวิจัยนำเสนอโครงร่างให้กับ User

จากการประชุมภาพใหญ่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร    และติดตามมาพูดคุยกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ดร.ปรีชา เรืองจันทร์   เรียบร้อยแล้ว   จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือเกี่ยวกับการจัดกระบวนการ พร้อมกันนี้ทาง ดร.เสมอ  ก็ได้ยกตัวอย่างกรณีที่ได้ลงไปจัดกระบวนการที่จังหวัดสุโขทัยให้ฟังด้วย   

ร่ายยาวมาทั้งหมดของเวทีที่จะจัดก็เพื่อให้ได้

                             "กรอบแผนงานวิจัยของพื้นที่" 

จากนั้นก็มีการประชาสัมพันธ์ให้นักวิจัยในพื้นที่ที่สนใจ  เสนอกรอบการวิจัยเพื่อทำงานต่อไป ซึ่งคิดว่า ทาง สกว.จะมีทุนสนับสนุนต่อเนื่องประมาณ 3 ปี โดยยังไม่ได้กะเกณฑ์เพดานงบประมาณ เพียงแต่ให้นำเสนอมาก่อน

อย่างที่เกริ่นไว้แรกเริ่มที่ว่า ผมเป็นเด็กสุด(ไม่ใช่สิ อายุน้อยสุด) ในเวทีทำให้กระอักกระอ่วนที่จะพูดพอสมควร  อธิบายง่ายๆก็คือ พูดไม่ออกเลย เกรงไปหมด ก็แหมรอบข้างรอบเอง นักวิชาการ ข้าราชการทั้งนั้น (จริงๆแล้วผมคิดไปเองนั่นแหล่ะ ไม่กล้าแสดงความคิดพูดคุยเอง)  ครั้งนี้เลยขอเป็นผู้ฟังที่ดีดีกว่า (ปกติก็จะเป็นผู้ฟังอยู่แล้ว ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ว่ากันไป)  ฟังๆดูแล้วแต่ละคนที่นำเสนอแลกเปลี่ยน ในการดำเนินงานเกรงอยู่ 2 เรื่อง คือ  กลุ่มเป้าหมาย(การกระจายพื้นที่)  และ ประเด็นกรอบการทำงาน (กลัวว่าจะโน้มเอียงไปไม่กี่ประเด็น)       การพูดคุยเรียกได้ว่าดุเด็ดเผ็ดมันกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะช่วงที่คุณหมอท่านหนึ่งใน สสจ.พิจิตร แลกเปลี่ยน โอ้โห ทั้งห้องเงียบกริบ ด้วยประสบการณ์ของท่านประเด็นที่สะท้อนออกมาจึงน่าสนใจมากเลยทีเดียว แต่ที่ผมฟังๆดูผมคิดมุมต่าง มองว่าไม่ว่าที่นักวิชาการจะนำเสนอวิธีการ รูปแบบอะไรยังไง เนื้อหาสาระกระบวนการทำงาน มันก็ยังมีจุดแข็งจุดอ่อนในตัวอยู่แล้วด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่แต่ละคนเสนอความเห็นมามันสะท้อนความเป็นตัวตนมากไปหน่อย ใครคิดอะไรได้ก็โยนตู้ม โยนตู้ม โดยลืมตัวหยุดคิดใคร่ครวญก่อนจะพูด  เรียกได้ว่าเป็นการสวมวิญญาณนักวิชาการมืออาชีพกันเต็มที่ พอพูดจบก็ดูเหมือนสบสันในความคิดตัวเองยังไงชอบกล ชอบพูดวกไปวนมา ทำให้ผู้ฟังงงไปซะอย่างนั้น อะก็ว่ากันไป แต่ถ้ายังคิดเปรี้ยงทำเปรี้ยงอยู่อย่างนี้ บอกได้เลยว่า "แมนไม่ปลื้มเลยนะครับ"   แต่ถ้าพูดถึงในแง่ที่ว่าเป็นสีสันของการประชุม ก็ไม่เลวเลยทีเดียวนะ เพราะถ้าไม่มีใครพูดคิดเห็นลักษณะแบบนี้เวทีประชุมก็คงจะจืดชืดน่าดู งั้นก็ขอแบบพอดีๆก็พอ มากไปคนที่ว่าจิตใจมั่นคงก็เป๋ได้เหมือนกัน มาร่วมทำงานแล้วเครียดก็คงไม่มีใครเอาด้วยเช่นกันนะ

          อยากขอร้องนักวิชาการอยู่ 2 เรื่องครับ (ถ้าอยากให้ผู้ฟัง ผู้เข้าร่วม ประทับใจนะ)  คือ 1.พูดให้น้อย  กระชับได้ใจความ  เสริมกำลังใจแนวทางการทำงาน ตั้งท่าจะขัดขาอย่างเดียว คนทำงานมันท้อ ไม่อยากทำงานร่วมด้วยหรอก   2.ฟังให้มาก รวบยอดความคิดแล้วเสนอแนะทางบวกดีกว่า ดีกว่าเอาความคิดตัวเองเป็นที่ตั้ง มองแต่จุดด้อยเล็กๆแล้วขยายความเป็นเรื่องใหญ่

รอติดตามดูนะครับว่า วันที่ 1 - 2 มีนาคม 2550 กรอบแผนงานพัฒนาจะออกในรูปแบบไหน อย่างไร แล้วผมจะนำมาเล่าให้ฟังอีกนะครับ

หมายเลขบันทึก: 78687เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2007 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท