ผมรู้แล้ว...ตกไม่รู้จักเข็ดจากหลาบ..ตกจนชิน :-)



 สภาพและความจริง (๑)

  เมื่อปลายปีการศึกษา ๒๕๔๘ ผมเป็น ๑ ในกรรมการ ๒ คนผู้คัดเลือกนักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตร ๕ ปี สาขาวิชา สังคมศึกษา ของคณะครุศาสตร์ จำได้ว่า มีนักศึกษาอยู่ ๒ คน ที่ผมและเพื่อนผู้ร่วมคัดเลือกเห็นตรงกันว่า ๒ คนนี้ไม่น่าจะไหวในการศึกษา แต่เราไม่เคยบอกนักศึกษาให้ได้รับทราบ ---- คนที่ ๑ จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี เราเห็นบุคลิกของผู้สมัครแล้วมีความรู้สึกคล้ายคลึงกันคือ ไม่มั่นใจว่าเขาจะเป็นตัวแทนที่ดีกับการศึกษาในหลักสูตรนี้ --- ก่อนนั้นหลายท่านไม่อยากที่จะเข้าเป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบในหลักสูตรนี้ด้วยเหตุผลที่พอจะวิเคราะห์ได้คือ ๑) นักศึกษาไม่เก่งกับการเรียน ๒) แรงจูงใจในการศึกษาไม่ประทับใจผู้สอน ๓) หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรของคณะครุศาสตร์ แต่อาจารย์ที่สอนตลอดถึงกรรมการบริหารหลักสูตรล้วนอยู่ในคณะมนุษย์ฯ ตลอดถึงประธานหลักสูตร ความรู้สึกว่ามันเป็นของฉันและมันไม่ใช่ของฉันของทั้ง ๒ ฝ่ายผู้มีการศึกษา ผมเข้าใจว่าส่งผลกระทบต่อนักศึกษาอยู่ไม่น้อย เมื่อนักศึกษาไปติดต่อที่คณะครุศาสตร์ ก็ถูกผลักมาที่คณะมนุษย์ฯ เมื่อมาติดต่อที่คณะมนุษย์ฯก็ถูกผลักไปที่คณะครุศาสตร์ ความสับสนนี้น่าเห็นใจทีเดียว อย่างไรก็ตาม ปีการศึกษาหน้าคณะครุศาสตร์ไม่เปิดรับสมัครผู้เข้าศึกษาในหลักสูตรนี้แล้ว (เหมือนวิชาเอกการสอนภาษาไทย ที่คณาจารย์อยู่คณะมนุษย์ฯ) และเมื่ออ่านรายงานการประชุมที่ผ่านมาพบว่า หลักสูตรใดถ้าไม่มีการปรับปรุงหลักสูตรก็จะปิดไป สังคมศึกษาก็น่าจะเป็นทำนองนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ ผมเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดายจริงๆ ในเมื่อระดับมัธยมยังมีกลุ่มวิชาสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เป็นฐานรองรับอยู่ ---- คนที่ ๒ จำไม่ได้ว่ามาจากไหน แต่เรียนเทียบ ม.๖ มา สิ่งที่เราทราบคือ ผู้เรียนเทียบ ม.๖ บางคนก็ลอกกันมาบ้าง ครูสอนช่วยบ้าง แต่ลืมนึกไปว่า ในกลุ่มเหล่านี้มีผู้ที่ตั้งใจเรียนอยู่ การคิดแบบเหมาจ่ายเห็นจะไม่ถูกต้อง แต่เราก็รับนักศึกษา ๒ ท่านนี้ เมื่อปรึกษากันแล้วว่า ทุกคนสามารถพัฒนาตนเองได้ด้วยการศึกษา

  มาวันนี้ให้นึกเสียดายแน่ หากวันนั้นเราปฏิเสธที่จะรับเข้าศึกษาด้วยเหตุผลจากการประเมินด้วยประสบการณ์ของตนเอง เพราะเมื่อผมเข้ามารับผิดชอบวิชาในกลุ่มนักศึกษา ปรากฏว่า ๒ คนนี้คือตัวหลักของผู้มีความมุ่งมั่นในการศึกษา และคาดหวังว่าเขาจะเป็นตัวแทนที่ดีของผู้เป็นครู (น่าจะดีกว่ารุ่นพี่ที่ผ่านมามากทีเดียว) ผู้ขวักไขว่ต่อการศึกษาเรียนรู้และการถ่ายทอด จากทั้งหมด ๙ คน ในรุ่นที่ ๓ หลักสูตร ๕ ปี

   กรณีไม่เปิดรับสมัครในปีการศึกษา ๒๕๕๐ นี้ ผมคิดว่า ครุศาสตร์คิดผิด เพราะนักศึกษากลุ่มนี้ในความคิดของผมเพื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ เขาไม่ใช่ธรรมดา เรามักจะยกย่องนักศึกษาวิชาเอกการบัญชี ช่างคัดเด็กได้ดี ผมคิดว่า สังคมศึกษาในรุ่นนี้น่าจะไม่เป็นรองกลุ่มการบัญชีแน่นอน ทุกวันนี้ปรึกษากับเพื่อนว่า “เราต้องให้โอกาสแก่ทุกคน เพราะนี่คือสถาบันการศึกษา ถ้าเขารู้แล้วเขาจะไม่มาศึกษา อีกอย่างหนึ่ง สถาบันนี้เมื่อเทียบกับที่อื่นมันคุ้มกับการลงทุนทีเดียว”

 สภาพและความจริง (๒)

  เพื่อนของผมท่านหนึ่งในที่ทำงานเดียวกันนี้ ผมเชื่อมั่นในตัวของท่านมากเพราะท่านจะเป็นคนมุ่งมั่นทีเดียว จากมุมมองของผมท่านไม่เคยยอมแพ้อะไรง่ายๆ โดยเฉพาะการเรียนและความรู้ จำได้ว่า เรา ๒ คนได้พบกัน (ไม่ได้คุยอะไรกัน) ในฐานะเพื่อนคนหนึ่งเป็นตัวกลางแนะนำและไปสอบเข้าปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ สาขาวิชา สังคมสงเคราะห์ทางการศึกษา เราสอบผ่านข้อเขียนกันได้ แต่ตกสัมภาษณ์ มีคำสัมภาษณ์ประโยคหนึ่งที่ติดหูผมมาตลอดถึง “มีเงินที่จะเรียนหรือไม่” ผมตอบไปว่า “ไม่มี” เพราะผมไม่มีเงินเก็บ (ที่ผ่านมาสอนหนังสือฟรีมาตลอด) แต่ไม่ได้หมายความว่า ผมจะหาเงินไม่ได้ ก่อนตัดสินใจจะเรียน เราต้องวางแผนว่า เราจะนำเงินที่ไหนไปเรียนแล้วแน่นอน แต่การตกสัมภาษณ์ของผมน่าจะไม่ใช่ประโยคนี้ ส่วนเพื่อนของผม ผมไม่เคยถามว่า เขาสัมภาษณ์อะไรบ้าง เราเข้าสอบกัน ๕ คน ตก ๓ ได้ ๒ ทั้ง ๒ ที่ได้นั้น เรามักล้อกันว่า สู้คนพูดเก่งไม่ได้เฟ่ย อะไรประมาณนี้ ซึ่งก็ต้องยอมรับวิธีการพูดของเขาจริงๆ มีเหตุมีผล มีหลักการที่ดี น่าเชื่อถือทีเดียว ส่วนผู้ที่ตกสัมภาษณ์ ๓ คนก็แยกย้ายกันไป ผมไปเรียนที่มหิดล เพื่อนผมไปสอบที่ มหาจุฬาฯ ส่วนเพื่อนคนกลางไปเรียนต่อที่ ม.รังสิต แต่ไม่จบ ทราบว่าค่าเทอมสูงมาก อีกอย่างหนึ่ง ไปเรียนสายที่ตนชอบแต่ไม่ใช่สายที่ตนเรียนมา กล่าวคือ จบภาษาอังกฤษ แต่ไปเรียนต่อคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม แม้จะเรียนไม่จบ แต่เขาก็ไปทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ขณะที่ ผมและเพื่อนจบแล้วมาทำงานที่เดียวกัน มีครั้งหนึ่งที่เพื่อนผมไปสอบเข้าเป็นข้าราชการ แต่ก็ตกสัมภาษณ์ ขณะที่เพื่อนที่จบธรรมศาสตร์ผ่านเข้าไปได้ ท่านมักจะเปรยให้ผมฟังอยู่บ่อยๆ เมื่อเรามาคุยกัน “เรื่องความรู้นั้นไม่กลัว เหนื่อยใจอย่างเดียวคือสัมภาษณ์”
  ผมพยายามคิดอยู่ตลอดเหมือนกันว่า ทำไมผมจึงสอบตกบ่อย ตกจนชิน ตกไม่รู้จักเข็ดจักหลาบ โดยเฉพาะสัมภาษณ์ ทั้งที่ผมพูดจริง ผมเคยตกสัมภาษณ์ที่ใดบ้าง นอกจากเข้าเรียนธรรมศาสตร์ ที่จำได้คือ ๑) การสอบเข้าเป็นอาจารย์ที่ ม.ราชภัฏธนบุรี ๒) สอบเข้าเป็นอาจารย์ที่ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ๓) สอบเข้าปริญญาเอกที่ มจร. และล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ๔) สอบเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ที่ มอ.ปัตตานี คณะมนุษย์ฯ ในกลุ่มปรัชญาและศาสนา ผมพกความมั่นใจและการเตรียมตัวไปสูงมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่สำรองความรู้สึกไว้ เพราะมีเพียง ๑ ตำแหน่งเท่านั้น ที่ผมต้องไปเพราะหวังจะไปทำงานให้ใกล้หาดใหญ่ให้มากที่สุด แต่ตกสัมภาษณ์ ผมบันทึกทุกอย่างที่ผมตอบและเสนอไปลงในกล้องถ่ายรูป (บันทึกเสียงได้) เมื่อทราบว่าตกสัมภาษณ์ ผมก็ค้นทันทีว่าใครได้ พบว่าผู้ที่ได้คือผู้จบปริญญาโทปรัชญาจาก มอ.ปัตตานีนั่นเอง ผมไม่กล้าฟังว่าผมให้การสัมภาษณ์และเสนองานอะไรไปบ้าง ด้วยเหตุคืออายเสียงตัวเอง อันที่จริงครูบาอาจารย์ก็สอนอยู่ตลอดตั้งแต่เล็กว่า ไปพูดที่ไหน ยังไงให้บันทึกเสียงไว้เพื่อจะได้รู้ว่าเราพลาดอะไรไปบ้าง จะได้ไม่พลาดอีก แต่ผมก็บันทึกบ้างไม่บันทึกบ้าง แต่ไม่ได้ฟังเพราะอายนี่เอง ฟังเสียงตัวเองพูดแล้วมันตลกสิ้นดี ทองแดงหล่นเป็นประจำ (อีกนิดหนึ่งที่ต้องบันทึกคือ ก่อนการสอบเหล่านั้น ผมเคยไปสอบเป็นพนักงานที่ภาควิชาปรัชญาและศาสนาของ ม.เชียงใหม่ แล้วก็ตกสัมภาษณ์อีกเหมือนกัน)
  วันนี้ผมรู้สึกว่างๆ จึงกลั้นใจเปิดเสียงที่บันทึกไว้ในโทรศัพท์ที่ไปสัมภาษณ์เมื่อวานแล้วผมก็หัวเราะก๊ากออกมาคนเดียว พร้อมกับบอกตัวเองว่า “อ๋อ อย่างนี้นี่เอง ...ผมรู้แล้ว...มิน่าล่ะ” ผมพบข้อบกพร่องพอจะประมวลได้ดังนี้

๑. เสียงของผม เสียงของผมเป็นเสียงที่ไม่มีความหนักแน่น เส้นเสียงที่จะบาดลึกในหัวใจของผู้ฟังก็ไม่มี (ผมฟังและคิดว่าถ้าคนที่พูดคือคนอื่นซึ่งไม่ใช่ตัวผม ผมจะคิดอย่างไร) เสียงที่ฟังแล้วราบเรียบเหมือนพระเทศน์ เป็นเสียงที่ฟังแล้วชวนให้เคลิบเคลิ้มมากกว่า ผมสงสัยมานานแล้วว่า ทำไมเพื่อนๆมักบอกผมว่า เวลาที่ผมพูดในที่ประชุม เสียงที่ออกมาเหมือนเป็นเสียงน้อยอกน้อยใจ แต่ผมบอกว่า ผมไม่มีความรู้สึกน้อยอกน้อยใจ ไม่มีจริงๆ ก็ให้นึกสงสัยตัวเองอยู่นานแล้ว น่าจะเกิดจากเสียงที่เบา ไร้น้ำหนัก ราบเรียบนี้กระมัง


๒. จังหวะการพูด จำได้ว่า เมื่อผมฝึกพูดใหม่ๆ ผมจะไม่มี “เอ่อ” หรือ “อ่า” เลย ผมเฝ้าคิดว่ามาจากไหน แล้วก็พบว่า ผมเคยเลียนเพื่อนคือพูดก่อนประโยคว่า “อ่า” หรือไม่ก็ “เอ่อ” แล้วผมก็ติดมาในที่สุด นอกจากนั้น เสลดในลำคอ ทำให้ผม “แอมๆ” อยู่บ่อยๆ เสน่หาในการพูดจึงไม่มี  ดูน่าเบื่ออีกต่างหาก เวลาที่เราฟังเราจะรู้สึกว่า ผู้พูดไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เอื่อยๆ น่าเบื่อ นอกจากนั้นคำว่า “เอ่อ” น่าจะติดมาจาก กลวิธีในการให้นักศึกษาคิด ในเวลาที่เราพูดอะไรบางอย่างและเราก็แกล้งคิดไม่ออกแล้วใช้เสียงว่า “เอ่อ” เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดและตอบออกมานี้ด้วยแน่นอน


๓. ความรู้และประสบการณ์ ตัวนี้สำคัญยิ่งกว่าการพูด ผมพบว่า ผมขาดหลักการในการพูดเสมอ เป็นข้อบกพร่องของตัวเองที่ไม่ค่อยใส่ใจหลักที่ใครๆ วางเอาไว้ แต่ผมก็พบว่า ถ้าให้ผมคิด ผมเขียนออกมา ผมจะทำได้ดีกว่าการพูด แต่การพูดโดยไม่มีหลักจะทำให้น้ำหนักของเนื้อเรื่องเบา ไม่น่าเชื่อถือ และดูเหมือนผู้พูดไม่มีความรู้เอาเสียเลย ความรู้ กฎเกณฑ์ กติกา ข่าวสารข้อมูลที่มีหลักชัดเจนนั้นแหละมีเสน่ห์ดีนักกับความนิยมชมชอบและความหนักแน่นของเนื้อหาว่า “อืม ใช้ได้...มีความรู้....รอบรู้ดี...น่าสนใจฯลฯ”


๔. สีหน้าและท่าทาง ผมพบว่า หน้าตาของผมจะเฉยๆ เหมือนกับพระเทศน์ การให้การสัมภาษณ์ก็เหมือนกับการเสนอข้อมูล ไม่ควรที่จะทำหน้าเฉยๆ แบบไร้ความรู้สึกเป็นแน่ เราต้องยืนยันข้อมูลด้วยสีหน้าท่าทางมีความเชื่อมั่น มั่นใจและรู้จริง มิใช่เสนอด้วยสีหน้าที่ไร้ความรู้สึก เหมือนกับไม่อยากที่จะทำอะไรจริงๆ


๕. สบตากับผู้อยู่ต่อหน้าและพูดคุยกับเรา เวลาผมพูดกับใครผมมักจะเหลื่อมเปลือกตา คือมองลงต่ำ หรือไม่ก็ไม่มองหน้าผู้คุยด้วย ในความรู้สึกของผมไม่ใช่การไม่ให้เกียรติ หากแต่เรามีกิริยาอย่างไรก็สามารถพูดคุยกันได้ เช่นนักศึกษาถามขณะที่ผมเดินสวนมา ผมก็จะเดินต่อไปพร้อมกับพูดโดยไม่หันหน้าโดยคิดว่า พูดกับนักศึกษาท่านนั้น ในเชิงสังคมไม่ใช่สิ่งที่ได้รับการยอมรับที่ดี


   จากการฟังการสัมภาษณ์ของตัวเองที่บันทึกไว้ ผมพบว่า อย่างน้อย ๕ ประการนี้คือข้อบกพร่องที่ผมจะต้องแก้ไขที่ตัวเองโดยเฉพาะ ความรู้ การพูด และการแสดงออก และอย่าลืมบันทึกข้อมูลไว้ทุกครั้งที่เราพูดกับใครหรือเสนองานอะไร เราจะพบอะไรหลายๆอย่างที่เราต้องปรับปรุงเหมือนอย่างที่ผมพบนี้

  รศ.มารุต ดำชะเอม บอกว่า "ปัญหาคุณ คุณแก้ ปัญหาฉัน ฉันแก้ ปัญหาเราสองคน เราสองคนก็แก้" ดังนั้น ปัญหาผม ผมต้องแก้ไข โดยเฉพาะความรู้

คำสำคัญ (Tags): #บันทึกความคิด
หมายเลขบันทึก: 78643เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2007 08:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

อาจารย์เอกคะ   อ่านแล้วอยากเจออาจารย์เอกมาก จะได้คุยกันยาวๆทั้ง หัวข้อ สภาพและความจริง (1) กับ (2)  เมื่อไรจะได้เจอกันอีกละคะนี่

แม้ในสาขาเศรษฐศาสตร์   วิชาอย่างเช่น เศรษฐศาสตร์การเกษตร  เศรษฐศาสตร์การพัฒนา   เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ก็มีนักศึกษาไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการเงิน  การค้าระหว่างประเทศ  

ที่น่าสนใจคือ มีเด็กสองกลุ่มที่มาเรียนวิชาที่ไม่ได้เป็น modern sector  กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่มีจิตสำนึกเพื่อสังคมสูง  กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่มีปัญหาในการเรียน (แบบกระแสหลัก)  จึงมาเรียนวิชานี้ด้วยหวังว่าจะเหมาะกับตัวมากกว่า  ทุกคนจึงตั้งใจกันเต็มที่  เรา (ทั้งครูและศิษย์) สร้างพลังจิตสำนึกและสร้างพลังการเรียนรู้ไปด้วยกัน   ไม่เน้นตำราฝรั่งแต่เน้นทำความเข้าใจข้อเท็จจริงในสังคมไทย   Happy ทั้งครูทั้งศิษย์

ทุกคนมีข้อดีมีความสามารถอยู่ในตัว  เราต้องให้โอกาสทุกคนนั้นถูกต้องแล้ว  ขอเพียงแต่ละคนต้องหาตัวเองให้เจอ และไม่ต้อง "เป็นอย่างเขา" ก็ได้

 อดีตผู้ประสานงานโครงการองค์กรการเงินชุมชนของอาจารย์เอก เป็นตัวอย่างที่น่านับถือในเรื่องนี้ค่ะ

  • วิชาที่ท่านอาจารย์ยกมาเช่น เศรษฐศาสตร์การเกษตร.... พอผมเห็นปุ๊ป ผมก็รู้สึกขึ้นทันทีว่า น่าเรียน และตอบกับตัวเองว่า ที่น่าเรียนเพราะ นำไปใช้จริงกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเราเองได้
  • สำหรับผู้ประสานงานโครงการองค์กรการเงินชุมชน.... ผมก็แอบชื่นชมอยู่ในใจอยู่ครับ
  • ผมไม่ได้ไปแถวท่าพระจันทร์นานแล้วครับ หากมีโอกาสผมจะเข้าไปรับฟังสิ่งดีๆ จากท่านอาจารย์ครับ

ผมชื่นชมอาจารย์มากครับ ที่อาจารย์พยายามมองในอีกมุมของตนเอง ที่น่าจะเป็นข้อบกพร่องจนเป็นเหตุให้ตกสัมภาษณ์

ผมเองก็ไม่ต่างกัน พกพาเอาความมั่นใจที่สูงไปสัมภาษณ์หลายๆแห่ง แต่ผลปรากฏว่า ตกสัมภาษณ์เช่นกัน

สำหรับในทุกที่ผมมองว่า ผมได้ทำดีอย่างที่สุดแล้ว

ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า การคิดแบบนี้ทำให้เราหยุดการพัฒนาตนเองหรือไม่ เราเข้าข้างตนเอง เราปลอบใจตนเองหรือไม่

หากมองตามเหตุผลขององค์กรที่จะรับเราเข้าไปทำงาน ก็คิดว่าเราคงไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะทำหน้าที่ในตำแหน่งนั้น

แต่หากมองอีกมุม ปัจจุบันก็มีปัจจัยเยอะแยะมากมายที่ทำให้เราพลาดจากสิ่งที่ควรจะเป็น ควรจะได้รับ..ซึ่งบางเหตุผลก็ยอมรับได้ยาก ไม่เว้นแม้แต่องค์กรที่คิดว่าโปร่งใสอย่างที่สุด

นี่อาจเป็นคำเขียนของคนที่อกหักบ่อยๆนะครับ อาจไม่มีแก่นสาร แต่ขอคิดด้วยอีกมุม

 

  • อมิตตพุทธ ครับอาจารย์จตุพร :-)
  • ไม่อ่อนล้าแม้ข้างหน้าจะสูงชัน
  • ต้องฝ่าฟันแม้นปัญหาข้างหน้าหลาย
  • ต้องผ่อนปรนแม้นเหนื่อยอ่อนใจและกาย
  • ต้องเดินต่อต่อเมื่อวายค่อยว่ากัน

จากประเด็น "ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า การคิดแบบนี้ทำให้เราหยุดการพัฒนาตนเองหรือไม่ เราเข้าข้างตนเอง เราปลอบใจตนเองหรือไม่"

  • ผมคิดอย่างนี้ครับ เด็กบางคนสอบตกบ่อยๆ แต่ในบางวิชาเขาไม่รู้ว่าเขาได้เกรดสูงกว่าที่คาดไว้ได้อย่างไร เขาจะดีใจมาก แม้เกรดที่เกินคาดนั้นจะน้อยกว่าเพื่อนในชั้นเรียน ต่างจากเด็กที่เรียนได้เกรดสูงมาตลอด แต่วันหนึ่งได้เกรดต่ำ เขาจะรู้สึกว่า ชีวิตเขาหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่เกรดนั้นได้มากกว่าคนที่ก่อน
  • การที่เราถูกปฏิเสธบ่อยๆ ช่วยฝึกให้เราพัฒนาความคิดของเราไม่ให้ลิงโลด ไม่ให้ประมาท ให้เห็นความเป็นธรรมดาของสิ่งต่างๆ ต่างจากคนที่ไม่เคยถูกปฏิเสธ เมื่อถูกปฏิเสธจะรู้สึกหน้าชา อะไรประมาณนี้ ส่วนเรา "เรื่องปกติ" "เรื่องธรรมดาของโลก" ผมคิดว่า เราพัฒนาความคิดและจิตวิญญาณนะครับ
  • การศึกษาปัจจุบัน คือการศึกษาเพื่อป้อนเข้าสู่องค์กร รัฐและเอกชน (เด็กที่ผมถามทั้งหมด เขาจะตอบว่า เรียนเพื่อเอาไปทำงานในหน่วยงานนี้ หน่วยงานนั้นตลอด) เราคือเหยื่อ ทำอย่างไรที่จะออกไปสร้างอาชีพส่วนตัวโดยมิต้องพึ่งพาองค์กร วันนี้ ถ้าชาวนาฮั้วกัน (บรรษัทธุรกิจชาวนา) ผมว่า พวกเราตลอดถึงทุกๆ อดตายแน่ๆ น่าสังเกตว่า ทำไมเหล็กจึงแพงกว่าข้าวไปได้ (น่าน ... ผมเริ่มเป็นงานเป็นการไปแล้วสิเนี่ย) :-)

 

มาเยี่ยม...

อ่านแล้ว  การแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองจะทำได้ง่ายและทำได้เลยนะครับ

กระท่อมน้อยปลายนาน่าอยู่นะครับ...นึกถึงตอนเป็นเด็กนั่งอยู่ในเถียงนาน้อยลมพัดโชยเย็นฉ่ำ...

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

อยากให้กำลังใจอาจารย์เอกและทุกคนที่มีจิตใจดีงาม และมีความพยายามมุ่งมั่น

คิดว่าจะตอบประเด็นเรื่อง "เหล็กแพงกว่าข้าว" ใน blog  econ4life นะคะ  

จะแวะไปท่าพระจันทร์เมื่อไหร่ก็อย่าลืมส่งข่าวนะคะ

 

 

อยู่ที่วิธีคิดของเรา

เราจะได้เปรียบ ได้กำไร อยู่ที่มุมมองโลกของเรานะครับ

ผมอ่านข้อคิดเห็นแล้วสบายใจจัง...บางครั้งการมองในมุมที่ต่างออกไป ก็อัศจรรย์ทำให้ใจที่ฟุ้งสงบลงอย่างประหลาด

เมื่อใจสุข สนุก ส่งรอบข้างพลอยรื่นรมย์ ใจเราโศก โลกก็เศร้า

เราเป็นฝ่ายได้กำไรทุกครั้ง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

 

ขอบคุณมากๆครับ

  • เรียนท่านอาจารย์อุทัย ขอบคุณมากครับสำหรับการถ่อสังขารมาเยี่ยม :-) (คงไม่บาปนะครับกับการล้อเล่นๆ)
  • เรียนท่านอาจารย์ปัทม์ เมื่อผมเขียนบันทึกแล้วผมจะตามไปอ่านครับผม
  • เรียนอาจารย์จตุพร อันเป็นที่รักของเพื่อนๆทุกคน เนอะ เรามาสร้างโลกสวยดีกว่าครับ :-)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท