กิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน"


เพื่อการบรรลุคุณภาพโรงพยาบาล
เพื่อนช่วยเพื่อน
   เพื่อให้เข้าใจบันทึกนี้  ท่านต้องอ่านบันทึกเรื่อง “มข. จัดกิจกรรม Peer Assist ประยุกต์” ที่คุณสุนทรีกำลังจะเอาขึ้น บล็อก ใน ๒ – ๓ นาทีข้างหน้า เสียก่อน    ท่านจะได้ทราบว่าเราจะจัดกิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน" (Peer Assist) เพื่อการบรรลุคุณภาพโรงพยาบาล    ผู้จัดคือ รศ. นพ. จิตเจริญ ไชยาคำ ผอ. ศูนย์บริการวิชาการ มข.   "เพื่อน" ผู้ขอเรียนรู้ คือ ผอ. รพ. ในภาคอีสาน (อาจมีทีมงานมาด้วย)   "เพื่อน" ผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ คือ นพ. พิเชฐ บัญญัติ ผอ. รพ. บ้านตาก และทีมงานประกอบด้วย "คุณอำนวย" ๑ คน และ "คุณกิจ" ๑ คน
    ในการทำกิจกรรม เพื่อนช่วยเพื่อน ต้องมีความชัดเจนในประเด็นต่อไปนี้
  ๑.  ผู้มาเรียนรู้ต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ อะไร เพื่อนำไปใช้ทำอะไร  เพื่อบรรลุผลอะไร
   ในประเด็นนี้ อ. หมอ เจเจ (ผมเรียก อ. หมอจิตเจริญว่า เจเจ) คงต้องตัดสินใจว่าจะ เปิดโอกาสให้มาเฉพาะ ผอ. รพ. ชุมชน หรือจะเปิดกว้าง    การระบุจำเพาะจะทำให้ ผู้มาร่วมประชุมมีลักษณะร่วมมากหน่อย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะเข้มข้น   ยิ่ง รพ. บ้านตากเป็น รพ. ชุมชน ประสบการณ์ตรงของ นพ. พิเชฐ และคณะ ก็จะตรงเป้ามาก
    ยิ่งถ้าให้ผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมบอกความต้องการ ประสบการณ์ และปัญหา / คำถาม  หรือประเด็นหลักที่ต้องการบรรลุ  มากับใบสมัคร ก็จะยิ่งดี    ทำให้ผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้คิดมาก่อนล่วงหน้า   และทำให้ เพื่อนผู้ถ่ายทอด ได้เตรียมตัว เตรียมเรื่องเล่า หรือข้อมูล
    เรื่องการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าร่วม ประชุมเตรียมคิดมาก่อนนี้เป็นความสำคัญ ระดับยุทธศาสตร์ที่เดียวนะครับ    ท่านเชื่อไหมว่าในการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ไม่ได้คิดมาก่อน   หรือไม่ได้ไตร่ตรองให้รอบคอบมาก่อน   ไม่ได้หาข้อมูลประกอบมาก่อน   ผมมีความเชื่ออย่างนี้ เวลาจัดประชุมผมจึง กำหนดวิธีการขั้นตอนก่อนประชุมให้ผู้เข้า ร่วมต้องคิดมาก่อนโดยอัตโนมัติ
  ๒.  กำหนดหัวข้อย่อยที่จะแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้า    ไม่ควรมีมากข้อเกินไป    อาจมีเพียง ๔ – ๕ หัวข้อย่อย  (อย่าลืมว่าหัวข้อใหญ่คือการพัฒนาคุณภาพ รพ.)   ตรงนี้อาจมีอีกทางเลือกหนึ่ง คือกำหนดหัวข้อย่อยเรื่องเดียว   คุยกันให้ลึกไปเลย     อย่าลืมว่า Peer Assist เต็มรูปตามตำราเขาใช้เวลา 1 ½ - 2 วัน    ที่เราจัดวันเดียว (๒๐ สค. ๔๘) นี้ เป็นฉบับดัดแปลง     ตามปกติ Peer Assist เป็นเรื่องที่มีหน่วยงานเจ้าบ้านเป็นผู้ขอเรียนรู้ เชิญทีมเยือนที่เป็นผู้มี “ผลงานเลิศ”  มาแบ่งปันความรู้ และเรียนรู้ร่วมกัน    แต่ที่เรากำลังวางแผนจัดนี้มีศูนย์บริการวิชาการ มข. เป็นเจ้าภาพ    จัดให้ ผอ. รพ. ในภาคอีสานมาเป็นผู้ขอเรียนรู้    มีทีมเยือนจาก รพ. บ้านตากเป็นผู้แบ่งปันความรู้และร่วมเรียนรู้     Peer Assist
ที่เรากำลังหัดจัด ดูจะยากกว่ารูปแบบในตำราเยอะนะครับ    แต่ก็ท้าทายดี
  ๓.  ทุกคนที่จะมาร่วมประชุมอ่านหนังสือ Learning to Fly บทที่ ๗   หรือหน้า ๙๗ – ๑๒๙ เพื่อทำความเข้าใจ Peer Assist มาก่อนล่วงหน้า
  ๔.  ทุกคนเตรียมมาเล่าว่าในแต่ละหัวข้อตนมีผลสัมฤทธิ์ในลักษณะใด   และมีการปฏิบัติอย่างไรจึงได้ผลเช่นนั้น    ตนต้องการผลสัมฤทธิ์ที่ดีกว่าเดิมอย่างไร    ต้องการเรียนรู้วิธีปฏิบัติในส่วนไหน
  ๕.  อ. หมอ เจเจ คงต้องเป็นผู้ตัดสินว่า Peer Assist ครั้งนี้ต้องการเน้น “ความรู้ฝังลึก” (tacit knowledge) ในระดับไหน    เน้นระดับเทคนิค หรือระดับ mental model      ข้อนี้น่าจะสำคัญที่สุด
           เท่ากับว่าผมได้ใช้บันทึกนี้สื่อถึง อ. หมอ เจเจ,  ผอ. รพ. ในภาคอีสาน,  และคุณหมอพิเชฐ  ผอ. รพ. บ้านตาก  ว่าผมคิดอย่างไรในเรื่องนี้    และการทำ Peer Assist ให้ได้ผลทางปฏิบัติจริงๆ ควรต้องมีการเตรียมการณ์อย่างไรบ้าง  
วิจารณ์ พานิช
๕ กค. ๔๘
หมายเลขบันทึก: 786เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2005 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 01:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ ขอแสดงความเห็นค่ะ การเข้าร่วมpeer assit เป็นสิ่งที่ดีค่ะและ หลังจากการเรียนร้ร่วมกันแล้วน่าจะมีการติดตามคณะที่เข้าประชุมร่วมว่ามีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอย่างไร ต้องการความช่วยเหลือหรือไม่  น่าจะทำให้เพื่อนช่วยเพื่อนสมบรูณ์ขึ้นค่ะ

ขอร่วมชื่นชมกับทีมงานที่มีกระบวนการน่าสนใจมาก ขอศึกษาร่วมด้วยขอบคุณนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท