น้ำหนัก ลดเร็วเท่าไหร่ดี


จดหมายข่าวโรงพยาบาลโฮลีครอส สหรัฐฯ แนะนำว่า การลดน้ำหนัก หรือลดความอ้วนแบบเร่งด่วนอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดนิ่วถุงน้ำดีได้

Hiker

เราๆ ท่านๆ คงจะได้ยินได้ฟังโฆษณา "ลดความอ้วน" แบบอาหารจานด่วน (ฟาสต์ฟูด) มาแล้วไม่มากก็น้อย วันนี้มีข่าวดีสำหรับท่านที่ลดน้ำหนักแบบใจเย็นครับ…

จดหมายข่าวโรงพยาบาลโฮลีครอส สหรัฐฯ แนะนำว่า การลดน้ำหนัก หรือลดความอ้วนแบบเร่งด่วนอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดนิ่วถุงน้ำดีได้

 

ถุงน้ำดีอยู่บริเวณกึ่งกลางชายโครงขวา ทว่า… เวลาเกิดนิ่วขึ้นมาอาจทำให้เกิดอาการหลายอย่าง อาการที่พบบ่อยได้แก่
  • ปวดท้องอยางรุนแรงขึ้นมาทันที
  • ปวดท้องร้าวไปไหล่ขวา หรือหลังส่วนบนระหว่างกระดูกสะบัก 2 ข้าง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องอืดเรื้อรังหลังกินอาหารที่มีไขมัน

น้ำดีคนเราประกอบด้วยเกลือน้ำดี โคเลสเตอรอล และน้ำปนกัน… น้ำดีทำหน้าที่คล้าย "สบู่" หรือ "ผงซักฟอก" ทำให้น้ำมันกับน้ำรวมตัวกันได้เป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลทำให้น้ำย่อยเข้าไปย่อยไขมันได้อีกต่อหนึ่ง

ตับของเราสร้างน้ำดีคราวละเล็กละน้อย ทยอยสะสมไว้ในถุงน้ำดี

เวลาเรากินอาหารที่มีไขมัน หรือโปรตีน… ถุงน้ำดีก็จะบีบตัว ทำให้น้ำดีไหลเข้าสู่ลำไส้เล็ก ช่วยย่อยไขมันอีกต่อหนึ่ง

โรคอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินมีส่วนทำให้ตับสร้างโคเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น จึงอาจเกิดการตกตะกอนเป็นนิ่วถุงน้ำดีได้

คนที่ลดความอ้วน หรือลดน้ำหนักจะเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วถุงน้ำดีมากขึ้นในกรณีดังต่อไปนี้

  1. ลดน้ำหนักเร็วมากกว่า 3 ปอนด์ต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 1.362 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
  2. กินอาหารที่มีแคลอรี หรือกำลังงานต่ำมาก (very low calorie diet / VLCD) ประมาณวันละ 800 แคลอรี หรือ 40% ของผู้หญิงทั่วไป (ผู้หญิงที่มีน้ำหนักคงที่มักจะกินอาหารประมาณวันละ 2,000 แคลอรี) การกินอาหารแบบนี้อาจทำให้เกิดนิ่วได้ถึง 25%
  3. น้ำหนักขึ้นๆ ลงๆ (yoyo / weight cycling)

อาจารย์ท่านแนะนำว่า การลดน้ำหนักแบบต่อไปนี้ปลอดภัยกว่า และไม่ทำให้เสี่ยงต่อนิ่วถุงน้ำดีเพิ่มขึ้นได้แก่…

  1.     ลดน้ำหนักช้าๆ:                                        
    การลดน้ำหนักช้าๆ สัปดาห์ละ 1-2 ปอนด์ (0.454-0.908 กิโลกรัม) ปลอดภัยกว่า และมีแนวโน้มจะรักษาน้ำหนักให้คงที่ในระยะยาวได้มากกว่าการโหมลดน้ำหนักเร็วเกิน
  2.     กินอย่างฉลาด:                                        
    การกินอาหารที่มีเส้นใย (ไฟเบอร์) สูง และมีแคลเซียมสูงหน่อยช่วยควบคุมน้ำหนักได้ดีกว่า เช่น อาหารที่มีธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท(สีรำ) ผัก ฯลฯ
  3.     ลดไขมันอิ่มตัว:                                       
    ควรลดไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีมากในกะทิ น้ำมันปาล์ม น้ำมันสัตว์ เนื้อสัตว์(มีไขมันแทรกอยู่แม้จะไม่เห็นมันด้วยตาเปล่า) และใช้น้ำมันพืชชนิดอื่นแทน โดยใช้แต่น้อย
  4.     ออกกำลัง:                                               
    ควรออกกำลังแรงปานกลาง หรือแรงมากให้ได้วันละ 60 นาทีขึ้นไป โดยเริ่มจากน้อยไปหามาก การออกกำลังง่ายๆ คือ การเดินให้มาก และอย่าลืมออกแรงทำอย่างอื่นด้วย เช่น ทำงานบ้าน ล้างรถ ล้างจาน ซักผ้า เดินขึ้นลงบันได ฯลฯ

อาจารย์ท่านแนะนำว่า การลดน้ำหนักให้ได้ 5-10% ของน้ำหนักเดิมในระยะยาว หรือนาน 6 เดือนขึ้นไปมีส่วนช่วยให้สุขภาพดีในระยะยาว

เป้าหมายสำคัญคือ การลดน้ำหนักได้เป็นบางส่วน และมีสุขภาพดีในระยะยาว ไม่ใช่ตัวเลขน้ำหนักที่ลดลงฮวบฮาบ และมักจะไม่ยั่งยืนอะไร… แถมยังเสี่ยงหนังย่น หน้าซูบซีดเนื่องจากการลดน้ำหนักเร็วเกิน และเสี่ยงเจ็บชายโครงขวาจากนิ่วถุงน้ำดีอีกต่างหาก

    แหล่งที่มา:

หมายเลขบันทึก: 78538เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2007 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียน นพ.วัลลพ ครับ

ผมไม่ได้ลดความอ้วน แต่ผมป่วยเป็นโรคลิ่มเลือดและไปทำอุลตราซาวด์ ดันไปพบก้อนนิ่วในถุงน้ำดีขนาด 2 ซ.ม. ครับ และต้องตัดถุงน้ำดีออกในเดือนนี้

คำถามคือ เมือร่างกายไม่มีถุงน้ำดีแล้ว ตัวเราจะเป็นอย่างไร หากทานอาหารที่มีไขมันเข้าไปแล้ว จะเป็นอย่างไร

ขอขอบคุณครับ

ขอขอบคุณ... คุณ sinth และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • การผ่าตัดนิ่วถุงน้ำดีออกน่าจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย เช่น ไม่ต้องปวดนิ่วน้ำดีอีก ไม่ต้องทนกับอาการท้องอืดจากนิ่วน้ำดีอีก ฯลฯ

ถุงน้ำดี...

  • การไม่มีถุงน้ำดีไม่ทำให้เกิดผลเสียอะไรมากมาย
  • ร่างกายพอจะปรับตัวเองได้ เพียงแต่ว่า น้ำดีที่ออกเวลากินอาหารที่มีโปรตีน / ไขมันจะลดลงเล็กน้อย

วิธีง่ายๆ...

  • วิธีง่ายๆ คือ ลดอาหารไขมันลงหน่อยเท่านั้นเอง
  • สุภาษิตญี่ปุ่นเขาว่า "เจ็บป่วยเล็กน้อย อายุยืน" หมายถึงว่า ถ้าเราเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ + รักษาสุขภาพให้ดี บางทีวิกฤตนั้นกลับพลิกเป็นโอกาส ทำให้มีสุขภาพดีได้ในระยะยาว

ขอให้มีสุขภาพดีครับ...

  • ขอบพระคุณมากครับ
  • ผมก็พยายามลดจำนวนอาหารมื้อเย็นลงครับ (ในช่วงเข้าพรรษาของทุกปี) และจะสามาระลดได้ ประมาณ 3-4 กก./ 3 เดือน

ขอขอบคุณ... คุณสิงห์ป่าสักและท่านผู้อ่านทุกท่าน

  • มื้อเย็นนี่... ลดลงหน่อยน่าจะดี (ทำนองเดียวกับเนื้อ... น้อยไว้ละดี)
  • ยิ่งถ้าสมาทาน "วิกาลโภชนา เวรมณิ (เจตนางดเว้นการบริโภคอาหารหลังเที่ยง หรือในเวลาวิกาล)" ยิ่งดีใหญ่เลย

ท่านอาจารย์...

  • นานมาแล้ว... ได้ยินท่านอาจารย์นายแพทย์สุธี วิภาศรีนิมิตร อาจารย์โรคปอด แห่งโรงพยาบาลลำปางกล่าวว่า ท่านลดอาหารมื้อเย็นลง ทานแต่ผลไม้... นี่ก็น่าจะดีครับ
  • ถ้าหัดทานผักเปล่าๆ หรือผัก+น้ำพริกได้... เพิ่มผักไปหน่อย เพื่อให้สัดส่วนผักมากกว่าผลไม้ก็น่าจะดี (อ.สาทิศ ชีวจิตท่านแนะนำไว้ดีมากๆ)

ขอขอบคุณอาจารย์สิงห์ป่าสักและท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขอขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียน และให้กำลังใจครับ...
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท