เครือข่ายชาติพันธุ์ลาหู่


ชาติพันธุ์ลาหู่
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตัวเองว่า ลาหู่” (LAHU) ซึ่งแปลว่า คนทางราชการไทยเรียกว่า มูเซอเป็นการเรียกตามภาษาไทใหญ่ หมายถึง พรานป่าหรือนักล่าสัตว์ สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มโล-โล หรือ โนสุ อยู่ในตระกูลภาษาธิเบตพม่า ถิ่นฐานดั้งเดิมสัณนิษฐานว่าอยู่บริเวณตอนเหนือของมณฑลยูนนานติดกับเขตประเทศธิเบต ต่อมาได้ย้ายมาทางทิศตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างลุ่มน้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน ตามบันทึกของอุปราชแห่งมณฑลยูนนานแล้ว อาณาจักรดังกล่าวกว้างใหญ่ไพศาล มีเมืองต่างๆ ถึง ๓๖ หัวเมือง มีอาณาบริเวณติดต่อกับรัฐว้า รัฐเชียงตุงของประเทศพม่า และเมืองเมียนนิ่ง ไวยวน ซือเหมา ประเทศจีน ต่อมาชาวจีนและชาวพม่าต้องการลดอำนาจของชาวลาหู่ลง จึงได้นำทหารเข้าโจมตีจนชาวลาหู่ต้องทิ้งบ้านทิ้งเมืองหนีไปอยู่กับชาวละว้าบริเวณเทือกเขาสูง ภายหลังเหตุการณ์สงบลงชาวลาหู่บางกลุ่มได้กลับไปยังภูมิลำเนาเดิม บางกลุ่มอพยพไปอยู่ตามพรมแดนของประเทศจีน-พม่า รัฐสิบสองปันนา ลาวเหนือ เวียดนามเหนือ รัฐฉาน และภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยไม่มีการรวมกลุ่มกันเป็นอาณาจักรอีกเลย (เพิ่งอ้าง, ๒๕๔๕ : ๒๐๑)  Anthony R. Walker กล่าวถึงอาณาจักรดังกล่าวว่า ดินแดนดังกล่าวอยู่ในเขตการปกครองของจีน แต่ด้วยความแข็งกร้าวของชาวลาหู่ที่ไม่ยอมรับ วัฒนธรรมของจีน ทำให้จีนยกอำนาจการปกครองให้แก่ชาวลาหู่ ในต้นศตวรรษที่ ๑๘ เพื่อหวังให้ ผู้นำชาวลาหู่ยอมรับวัฒนธรรมของตน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จีนจึงได้ยึดคืนดินแดนดังกล่าวอีกครั้ง เป็นเหตุให้ชาวลาหู่จำนวนหนึ่งอพยพเข้าสู่แคว้นเชียงตุง รัฐฉานของประเทศพม่า (โสฬส, ๒๕๓๒ : ๑๓) แต่การเผยแพร่คริสตศาสนาในยุคอาณานิคมและการยึดครองดินแดนชนกลุ่มน้อยของพม่าหลังยุคการล่าอาณานิคม ทำให้ชาวลาหู่บางกลุ่มพยายามจัดตั้งดินแดนของตนเองขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีผู้นำศาสนาบางคนตั้งตนเป็นผู้วิเศษ เรียกแรงศรัทธาและกำลังพลขึ้นมาต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม แต่ด้วยกองกำลังที่น้อยกว่า อีกทั้งยังขาดอาวุธที่มีประสิทธิภาพทำให้กองทัพลาหู่ต้องแตกพ่ายกระจัดกระจายกันไปทั้งสองครั้ง (เพิ่งอ้าง, ๒๕๓๒ : ๑๒ - ๑๘)

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีชาวลาหู่อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองใดๆ เป็นกลุ่มที่อพยพโยกย้ายแสวงหาที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์ไปเรื่อยๆ ตามวิถีของคนบนพื้นที่สูง คนกลุ่มนี้สัณนิษฐานว่าได้เดินทางเข้ามาบริเวณหัวเมืองล้านนาก่อนคริศตวรรศที่ ๑๙ ตามหลักฐานอ้างอิงของกรมประชาสงเคราะห์ที่ได้จากการสัมภาษณ์ชาวลาหู่อำเภอเวียงป่าเป้าและอำเภอแม่สรวย, หนังสือ People of the Golden triangle ของเอเลน และลูอิล,บันทึกการสำรวจของ Walker, Schrock และบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ กลุ่มที่อพยพเข้ามาแรกเริ่มคือ ชาวลาหู่แดง ลาหู่ เฌเล ลาหู่บาเกียว ที่นับถือเทพเจ้าหงื่อซา ต่อมาหลังจากปี พ..๒๔๙๗ ได้มีลาหู่ดำ และลาหู่ บาหลานับถือศาสนาคริสต์ทยอยกันเข้ามาอีกระลอก การแต่งกายของชาวลาหู่ ผู้หญิงสวมเสื้อแขนยาว เอวลอยสีดำ สลับแถบสีที่แสดงถึงกลุ่มย่อยของตนเองตรงบริเวณแขนเสื้อ (ลาหู่ญี-สีแดง, ลาหู่ลาบา-สีเหลือง, ลาหู่นะ-สีดำล้วน) ส่วนลาหู่แชแลสวมเสื้อคลุมยาวถึงตระโพกสีเขียวและสีน้ำเงิน ชายชาวลาหู่สวมเสื้อแขนยาวสีดำสลับสีแดงติดกระดุมป้าย ชาวลาหู่นิยมตั้งชุมชนอยู่บนพื้นที่สูงตั้งแต่ ๑,๒๐๐ เมตรขึ้นไปเหนือระดับน้ำทะเล (พอลและอิวาล ลูอิส, ๒๕๒๘ :๑๘๖) ปลูกสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่ มุงหญ้าคา ยกพื้นสูง บ้านหนึ่งหลังจะประกอบไปด้วย พ่อ แม่และลูก ชาวลาหู่มีการนับถือเครือญาติทั้งสองฝ่าย ไม่มีระบบการสืบเชื้อสายแบบแซ่สกุล โดยจะนับความเป็นเครือญาติใน ๓ ระดับ คือ ปู่ยาตายาย ลูก และหลาน เนื่องจากความเป็นอิสระของครัวเรือนที่ไม่ค่อยยึดติดกับเครือญาติ ทำให้ชาวลาหู่สามารถอพยพครอบครัวไปอาศัยอยู่ที่อื่นในยามที่เกิดเหตุการณ์คับขันเช่น เกิดความขัดแย้ง การขาดแคลนที่ทำกิน และย้ายกลับมายังกลุ่มเดิมเมื่อสถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้นได้เสมอ  

องค์กรทางสังคมของชาวลาหู่ ในแต่ละชุมชนจะประกอบไปด้วยบุคคล ๓ ฝ่าย คือ อาดอ โตโบ และจาหลี๋ ซึ่งมีหน้าที่ปกครอง ดูแล อบรมสั่งสอน และซ่อมแซมอุปกรณ์การเกษตร ตามลำดับ ชาวลาหู่ถือว่าหากบ้านใดไม่มีองค์กร ๓ องค์กรนี้จะถือว่าเป็นหมู่บ้านทีไม่สมบูรณ์ และอาจล่มสลายไปในที่สุด     (เครือข่ายสิ่งแวดล้อมลาหู่, ๒๕๔๕ : ) การปกครองของชาวลาหู่ได้รับอิทธิพลมาจากหลักความเชื่อของศาสนา ที่เน้นให้คนเป็นผู้มีศีลธรรม ประพฤติตนเป็นคนดีไม่เบียดเบียนผู้อื่น หากเกิดการกระทำผิดขึ้นในชุมชน เช่น การทะเลาะวิวาท ผู้ใหญ่บ้านและผู้อาวุโสภายในหมู่บ้านจะเป็นผู้พิจารณาไกล่เกลี่ยและปรับไหมตามสมควร ชาวลาหู่มีการจัดความสำคัญของสิ่งเหนือธรรมชาติเป็น ๓ ลำดับ คือ ระดับสูงสุดได้แก่เทพเจ้า หงื่อซาหรือเทพเจ้าผู้สร้างสรรค์สรรพสิ่ง รองลงมาคือ เน่หรือเทพ ทำหน้าที่คุ้มครองคนในหมู่บ้าน และ ซื้ ซือ ซึ่งเป็นผีร้ายที่คอยนำความเดือดร้อนมาสู่ชุมชน พิธีกรรมที่สำคัญสอดแทรกอยู่ใน ๓ กิจกรรมหลัก ได้แก่ การเกษตร การล่าสัตว์ และการรักษาอากาศเจ็บป่วย เช่น เทศกาลปีใหม่ พิธีกินข้าวใหม่ มอเหล่เว พิธีเรียกขวัญ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นการบูชาพระเจ้า และการเซ่นไหว้ผีเป็นสำคัญ

การทำมาหากินชาวลาหู่ มีระบบการผลิตแบบตัดฟันโค่นเผา การใช้พื้นที่ของชาวลาหู่เป็นลักษณะของการหมุนเวียน โดยแต่ละครัวเรือนจะมีที่ดินของตนเอง ๕ ๑๐ ไร่ แปลงหนึ่งจะใช้เวลาในการผลิต ๑-๓ ปี (เครือข่ายสิ่งแวดล้อมลาหู่, ๒๕๒๘ : ๘๘) พืชที่ปลูกส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าว/ธัญญาพืชเป็นหลัก และปลูกฝิ่นเป็นรายได้เสริม  ชาวลาหู่มีความเชื่อว่า “หงื่อซา” เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งในโลก โดยมี “เน้”เป็นผู้ดูแลรักษา ตนเองเป็นเพียงผู้มาขอใช้ ดังนั้น การทำไร่แต่ละผืน การตัดต้นไม้แต่ละต้น จะต้องประกอบพิธีกรรมขอใช้ทุกครั้ง นอกจากการใช้ทรัพยากรต่างๆ ยังมีกฎจารีต ประเพณีต่าง ๆ กำหนดไว้ เช่น ข้อห้ามเรื่องการบริโภคสัตว์ป่าบางชนิด หรือ ข้อห้ามของพื้นที่ป่าแย้เขาะ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท