KMธรรมชาติ กับความคิดเชิงระบบ


การมองเห็นตัวเอง จะทำให้รู้จักตนเอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้รู้จักสิ่งต่างๆรอบตัวเรา และรู้จักผู้อื่น ต่อๆไปเรื่อยๆ จนถึงรู้จักสังคมในระดับที่กว้างออกไปเรื่อย ตามระดับการพัฒนาความคิดเชิงระบบ ที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
 

เพื่อให้เกิดความชัดเจนในหลายๆมุมมองของแนวทางการพัฒนา KMธรรมชาติ จึงขอยกประเด็นการใช้แนวคิดเชิงระบบมาสนับสนุนให้ การจัดการความรู้แบบธรรมชาตินี้ ยกระดับจาก ระดับปกติธรรมดา เป็นระดับไม่ธรรมดา ที่มีพลังพัฒนาตัวเองและสนับสนุนการพัฒนาของผู้อื่น

  

KMธรรมชาติ ในระดับธรรมดาที่บุคคลทั่วไปปฏิบัติอยู่นั้น เป็นการใช้ความรู้เท่าที่มี เท่าที่คิดออก เท่าที่เคยได้ยินมาในการทำงานและการดำรงชีวิต โดยอาจไม่มีการวิเคราะห์เพื่อค้นหาประเด็นที่จะทำให้เกิดการทำงานที่ดี และมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

  

ดังนั้น การวิเคราะห์ระบบจึงเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนา ทั้งระบบแนวคิด กระบวนทัศน์ วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ต่างๆในการพัฒนาทุกลำดับขั้น

  

การวิเคราะห์ระบบนั้นต้องอาศัยความคิดเชิงระบบที่ทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจ ถึงองค์ประกอบ ความสัมพันธ์ การทำงาน ผลลัพธ์ และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาปรับระบบคิด และระบบการทำงานให้ดีกว่าเดิม

  

ตัวชี้วัดความสามารถในวิเคราะห์ระบบที่สำคัญก็คือ ความสามารถและผลการจัดระบบการทำงานของตนเองในการที่จะทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง คนใกล้ชิด ชุมชน สังคม และบุคคลทั่วไป

  

คนที่สามารถกำหนดแนวคิดการทำงานได้กว้างขวางมากเท่าไหร่ ก็สะท้อนระดับความสามารถในการคิดเชิงระบบได้มากเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับฐานะทางเศรษฐกิจของบุคคลนั้นแต่อย่างใด

 เช่น

บุคคลหรือพระที่มีความคิดเชิงระบบได้ดี ไม่จำเป็นต้องมีความร่ำรวยอะไรก็คิดและทำงานช่วยเหลือสังคมได้มากอยู่แล้ว ซึ่งอาจตรงข้ามกับคนที่มีฐานะดีนั้นอาจต้องสาละวนอยู่กับ สมบัติ จนทำให้ระบบคิดติดหล่มอยู่แค่วังวนของตนเอง คิดไกลกว่านั้นไม่ได้ เพราะหมดความสามารถหรือหมดเวลาอยู่แค่นั้น

  

หลักในการคิดเชิงระบบก็คือ การเริ่มจากการไม่ติดยึดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ปล่อยความคิดให้ว่าง ลอยตัวอยู่เหนือทุกสิ่ง รวมทั้งตัวเอง แล้วใช้ระบบคิดมองย้อนความคิดกลับมามองสิ่งที่อยู่รอบตัวแบบไม่มี อัตตา ก็จะทำให้เราเริ่มมองเห็นตัวเอง อย่างที่ตนเป็นอยู่จริงๆ อย่างไม่มีอคติอยู่ในนั้น

  

การมองเห็นตัวเอง จะทำให้รู้จักตนเอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้รู้จักสิ่งต่างๆรอบตัวเรา และรู้จักผู้อื่น ต่อๆไปเรื่อยๆ จนถึงรู้จักสังคมในระดับที่กว้างออกไปเรื่อย ตามระดับการพัฒนาความคิดเชิงระบบ ที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

จึงกล่าวได้ว่า

ความสูงต่ำของคนอยู่ที่จิตใจ ครับ

  

จะเห็นได้ว่าความคิดเชิงระบบกับการรู้จักตัวเองเป็นเรื่องเดียวกัน

  

หลักการที่เริ่มจากตนเองนั้นสามารถทำได้ทุกคน เพราะตนเป็นผู้มีข้อมูลทุกอย่างของตนเองมากกว่าคนอื่นทั้งหมด ทั้งความเป็นจริงในทุกๆด้าน เพียงแต่อย่ามีอัตตาลำเอียงเข้าข้างตัวเองเท่านั้น เพราะเมื่อใดลำเอียงเข้าข้างตัวเอง ก็จะเป็นจุดสิ้นสุดของระบบคิด และจำกัดการมองภาพเชิงระบบในทันที

  

ประเด็นนี้ถึงถือว่าเป็นบุญ วาสนาของแต่ละคน ว่าจะทำได้แค่ไหน และเป้าหมายในชีวิตแต่ละคนนั้นตั้งใจจะทำอะไรเพื่อใครบ้าง ทั้งตนเองและผู้อื่น

  

แต่การสร้างและพัฒนาความคิดเชิงระบบ โดยการมองอย่างเป็นระบบเริ่มจากการเข้าใจตนเอง ออกไปเรื่อยๆนั้นเป็นวิธีการที่ดี และทำได้โดยไม่มีขีดจำกัดจากภายนอก เพียงแต่อาจมีขีดจำกัดภายในของตนเอง

  

ลองพัฒนาดูนะครับ เผื่อเราจะได้ใช้ระบบ KMธรรมชาติกันอย่างกว้างขวางในกลุ่มพันธมิตรที่ทำงานแบบอิงระบบ ที่ทำให้มีประสิทธิภาพ และมีพลังขับเคลื่อนในการทำงานเพื่อพัฒนาตัวเอง ชุมชน และสังคมมากขึ้น

  
หมายเลขบันทึก: 78378เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2007 05:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อาจารย์แสวงครับ

ผมคิดว่าบางครั้ง เราก็มองตัวเองออกอยู่เหมือนกัน แต่ว่าการจะตัดสินใจทำอะไรส่วนใหญ่จะขัดแย้งกับความเป็นจริงตลอด เพราะเงื่อนไขมันมีมาก มากจนไม่รู้ว่าจะค้นหาตัวเองไปทำไม เมื่อคิดได้ แต่นำมาสู่การปฏิบัติยาก(เพราะอาจทำให้มันยากเองก็ได้)  การคิดเชิงระบบก็เช่นกัน มันกลายเป็นแค่ความฝัน หรือความนึกคิด จินตนาการเอาเอง ความเป็นจริงมันมีอะไรซับซ้อน (เพราะอาจทำให้มันซับซ้อนเองก็ได้) อีกแหล่ะ   อย่างไรก็ตามแนวคิดการรู้จักตนเอง และเรียนรู้เข้าใจจากคนรอบข้าง ก็ยังเป็นเรื่องจิตใจ สูง ต่ำอยู่ที่การกระทำด้วย (ไม่ใช่แต่คิด) อย่างที่อาจารย์กล่าวไว้  โดยความเข้าใจของผม KM ธรรมชาติที่อาจารย์ได้บันทึกไว้ น่าจะเป็นการพัฒนาทาง "จิตใจ" แท้จริงพิสูจน์ได้อย่างไร? ผมคิดว่าตัวชี้วัดน่าจะเป็นคน สังคมรอบข้าง ว่ามีปฏิกิริยาต่อกัน สัมพันธ์ในรูปแบบใด  อย่างน้อยๆก็น่าจะมีคำนี้นะ "ความรักต่อกัน" อาจารย์ว่ามั๊ยครับ

เป็นสุขในวันแห่งความรักนะครับ (แต่น่าจะดีถ้ารักกันน้อยๆแต่รักนานๆอย่างที่ คุณลุงสายัณต์ สัญญา กล่าวไว้ก็น่าจะดี)

คุณพรหมลิขิตครับ

คำว่าเข้าใจตัวเองลึกซึ้งมากครับ เพราะต้องเริ่มจาก

  • เราคือใคร เกิดมาทำไม มีความสามารถเรื่องอะไร อยากจะทำอะไร เพื่ออะไร ทำไมต้องทำ ไม่ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ฯลฯ
  • เรามีใครอยู่ในระบบของเรา ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ใกล้ชิด จนถึงห่างไกล ฯลฯ
  • เรามีสิ่งแวดล้อมอย่างไร ทำไม จะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร ทำไม ฯลฯ

เมื่อเรารู้เช่นนั้น จะทำให้เราเข้าใจ ยอมรับตัวเองและผู้อื่นในระดับที่เป็นอยู่ หรือจะพัฒนาต่อยอด ก็ตามศักยภาพที่เป็นจริง ที่เราเข้าใจไว้แล้ว ก็จะไม่เกิดทุกข์ครับ

การมองภาพเชิงระบบกับการเข้าใจตัวเองจึงแทบจะเป็นเรื่องเดียวกันครับ

ขอบคุณที่มาแลกเปลี่ยน ทำให้ผมได้คิดต่อครับ

เรียนอ.แสวง

       เห็นด้วยกับอาจารย์ที่ว่า

"ความสูงต่ำของคนอยู่ที่จิตใจ ค่ะ"

  และความคิดเชิงระบบกับการรู้จักตัวเองเป็นเรื่องเดียวกัน

            เราทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมค่ะ  เกือบลืมค่ะ  Happy Valetine dayCarve A Tree

สุขสันต์วันแห่งความรักครับคุณรานี

ขอให้มีคนรักมากๆ และที่แท้จริงที่นำไปสู่ความสุข ความสำเร็จในชีวิต ตลอดกาลนาน

ผมตระหนักดีว่าบันทึกนี้จะอยู่คู่ gotoknow ชั่วฟ้าดินสลาย จนกว่าเราจะไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้กันอีกต่อไป

ผมจึงขออาราธนาสิ่งศักดฺสิทธิ์จงดลบันดาลให้ คุณรานี มีความสุขคู่กับการเรียนรู้ตลอดไปครับ

อาจารย์ คะขอบคุณกับข้อคิดเชิงระบบ  ที่ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ช่วยอย่างมากต่อการมองงานวิจัยของนักศึกษา 

ด้วยความเคารพ

อาจารย์สุทธิดา

โอ้ยผมเหงามาตั้งนาน รอว่าเมื่อไหร่อาจารย์จะเข้ามาคุยกันบ้าง

ดีใจจังเลย และวันนี้ก็เป็นวันแห่งความรักด้วยครับ ขอให้อาจารย์มีความสุขมากๆ ครับ

ตอนนี้ผมพยายามตอบโจทย์หมอวิจารณ์ ที่คุยกันที่ UKM9 เรื่อง "โจทย์วิจัย KM"

 และโจทย์ยุทธศาสตร์มหาชีวาลัยของครูบา เรื่องพันธมิตร อิงระบบ และ KMธรรมชาติ ครับ

อาจารย์ช่วยผมด้วยนะครับ

พรศิริมา บูรณะพันธุ์

ขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างสูงในความกรุณาเรื่อง km ที่ทำให้เข้าใจได้ดีเพิ่มมากขึ้น และกับความเมตตากรุณาของป้าแม๊กด้วยที่ท่านเป็นผู้ไม่อยู่นิ่ง คอยแนะนำและทำเป็นตัวอย่างให้เห็นด้วยค่ะเท่าที่ได้สัมผัสกับท่านเมื่อไปอบรมสมศ.ณ โคราช เรียกว่าครบสูตร km ของครอบครัวรวยสูงเนินจริงๆเลยค่ะ กุศลของท่านทำไว้ยิ่งใหญ่นักผลที่ได้ไม่ต้องพูดถึงค่ะรวยสูงเนินสมดังสกุลจริงๆค่ะ

คิดถึงความจริงใจต่อกันและการกระทำที่มีคุณค่าแสดงออกมาให้เห็นของป้าแม๊ก แม้จะเข้าสู่รุ่น สว. ก็ตามแต่ไม่เคยทำเป็นสว. หรือเป็นภาระใคร นับถือจริงๆค่ะ ความดีเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเสมอและประทับใจไปนานแสนนานค่ะ ขอบพระคุณป้าแม๊กและขออนุญาติเรียกคุณลุงแสวงด้วยค่ะ นับเป็นญาติกาโหตุเพื่อความหนิดหนมค่ะ และเป็นความโชคดีที่ได้รู้จักท่านทั้งสองด้วยค่ะ ขอขอบคุณอย่างจริงใจค่ะ และเดี๋ยวเจอกันวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2553 ที่จุฬาฯ ค่ะ คิดถึงป้าแม๊กค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท