มองสกว.ย้อนดู นครศรีธรรมราช (9-software/hardware)


hardwareของการปกครอง3ระดับคือส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่นที่ยังเหลื่อมซ้อนทับกันยังเป็นปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนา software ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

การพัฒนานครศรีธรรมราชโดยพิจารณาจากภาพรวมๆอาจมองไม่ออกว่าควรดำเนินไปในทิศทางใดหากไม่มีข้อมูลสภาพพื้นที่ซึ่งเชื่อมโยงกับวิถีการดำรงชีวิตของคนเข้ามาประกอบด้วย

การจัดการความรู้และงานวิจัยจะเข้ามาสนับสนุนการตัดสินใจในการพึ่งตนเอง และพึ่งพากันอย่างเป็นเหตุเป็นผลกันมากขึ้นในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชนในหมู่บ้าน ตำบล ลุ่มน้ำจนถึงระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

หลายกรณีเป็นการพัฒนาที่นำไปสู่ความขัดแย้งก็อาจจะช่วยบรรเทาเบาบางลงได้ ที่ทำได้ดีอยู่แล้วก็ช่วยให้ดียิ่งๆขึ้น ซึ่งต้องการการมีส่วนร่วมในการเข้าถึงความรู้ ทั้งการนิยาม สร้างความหมายและจัดการความรู้ให้เป็นประโยชน์กับตนเองและกลุ่มที่ต้องมีการเจรจาต่อรองอย่างเท่าเทียมและเท่าทันกันตามทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วิน หรือทฤษฎีเกมที่ต้องเชื่อใจกัน มีการแข่งขันและช่วยเหลือพึ่งพากันอย่างเหมาะสมเพื่อการอยู่รอดของตนเองและอยู่รอดร่วมกัน

ชีวิตก็เป็นเช่นนี้ ในวัฏจักรของการดำรงอยู่ตราบเท่าที่ยังมีตัวตน

การจัดการความรู้เป็นวาทกรรมที่กำหนดให้ผู้เล่นมีบทบาทหน้าที่ชัดเจน3บทบาทคือ คุณกิจ คุณอำนวยและคุณเอื้อ โดยที่คุณอำนวยและคุณเอื้อคือฝ่ายสนับสนุนที่เป็นส่วนราชการ ส่วนคุณกิจคือผู้ปฏิบัติการที่เป็นชาวบ้านในแบบจำลองจัดการความรู้เมืองนครศรีธรรมราช

จากแผนกิจกรรมจัดการความรู้ของโครงการตามRoadmap 6ปีของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่แบ่งนักเรียนเป็นรุ่นตามฐานหมู่บ้านเพื่อฝึกฝนให้เกิดการเรียนรู้3ระดับคือรู้จักตนเอง รู้จักชุมชนและ รู้จักโลกด้วยกระบวนการจัดทำแผนแม่บทชุมชน คุณอำนวยและคุณเอื้อจาก6หน่วยงานหลักคือปกครองและยมนา กศน. เกษตร พช.และสาธารณสุขจะต้องพัฒนาตนเองเป็นนักจัดการความรู้มืออาชีพ คือ เป็นคุณอำนวยและคุณเอื้อมืออาชีพซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้แนวทางการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองโดยใช้ธารปัญญาของสคส.เป็นเครื่องมือ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องดี แต่จะทำกันได้มากน้อยเพียงไรคงต้องรอการประเมินผลซึ่งสามารถใช้ตารางอิสรภาพประเมินผลตนเองเป็นระยะได้อยู่แล้ว

กระบวนการจัดทัพและเรียนรู้กันท่ามกลางการทำงานของ6หน่วยงานหลักที่รับส่งกันในแต่ละปีถือเป็นsoftwareที่ใช้กรอบการจัดการความรู้โดยเครื่องมือธารปัญญาเป็นแนวทางสำหรับภาคราชการ (สำหรับภาคชุมชนใช้กระบวนการแผนแม่บทชุมชนเป็นเครื่องมือเรียนรู้พัฒนาตนเอง)

ผมคิดว่า กระบวนการและกิจกรรมที่นำเสนอในตอนที่ 7นั้นยังไม่เห็นบทบาทของคุณอำนวยและคุณเอื้อเท่าไรนัก พูดตรงๆคือ ไม่เห็นคุณลักษณะและทักษะความรู้ของคุณอำนวยและคุณเอื้อในแต่ละระดับตั้งแต่ระดับปฏิบัติการร่วมกับแกนนำชุมชน8คนซึ่งต้องขยายเป็น64เพื่อสร้างการเรียนรู้ขึ้นในชุมชนทั้งในพื้นที่ระดับหมู่บ้านและการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายตำบล การสนับสนุนการเรียนรู้เชิงประเด็นในเรื่องต่างๆ ซึ่งนักจัดการความรู้คุณอำนวยและคุณเอื้อจะต้องเรียนรู้พัฒนาตนเองให้มีความ เชี่ยวชาญในประเด็นที่ตนเองเกี่ยวข้อง และในการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ

โดยสรุป ผมคิดว่าคุณอำนวยและคุณเอื้อจะต้องพัฒนาความสามารถใน 3 กลุ่มเรื่องคือ1.การคิดเชิงระบบ 2.แบบแผนจิตสำนึกและการเป็นนายเหนือตนเองในบทบาทของผู้สนับสนุนชุมชนที่ต้องทุ่มเทอุทิศตน มีวินัยและความรับผิดชอบ 3.ทักษะ/ความรู้เรื่องกระบวนการทำงานเป็นทีมและการมีส่วนร่วมในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอย่างเชี่ยวชาญรอบด้าน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่คุณอำนวยและคุณเอื้อต้องแข่งขันกับตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางที่นครศรีธรรมราชกำลังก้าวเดินไป แต่ยังดูไม่ชัดเจนนัก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้พัฒนาsoftwareอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม ผมคิดว่าข้อจำกัดของsoftware อยู่ที่hardwareที่ใช้ด้วย hardwareของการปกครอง3ระดับคือส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่นที่ยังเหลื่อมซ้อนทับกันยังเป็นปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนา software ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

เราจึงต้องดูที่ hardware เรื่องการกระจายอำนาจด้วย

คำสำคัญ (Tags): #แก้จนเมืองนคร
หมายเลขบันทึก: 78119เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2007 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท