สุขระดับไหน...ที่เราต้องการ"


 

สุขระดับไหน...ที่เราต้องการ"
เปิ้ล
บทความจาก www.semsikkha.org


          จากการอบรมสู่ชีวิตที่ดีงามและเป็นสุข   ในหัวข้อการรู้เท่าทันบริโภคนิยม เมื่อวันที่ 21-23 ตุลาคม 2549 พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้กล่าวถึงเส้นโค้งแห่งความสุขว่า  ความสุขของมนุษย์จากการบริโภคทรัพย์นั้นเหมือนเส้นโค้ง ตัวความสุขนั้นไม่ได้พุ่งสูงขึ้นตามกำลังทรัพย์ในการซื้อหาอย่างที่หลายๆ คนคิด ในทางตรงกันข้ามยิ่งซื้อมากความสุขยิ่งลดลง ความอยากมีอยากได้ของคนในการหาทรัพย์สินเงินทองมาตอบสนองความสุขของตนนั้น หากไม่รู้จักพอดีความสุขนั้นจะค่อยๆ  โค้งตกลงกลายเป็นความทุกข์ที่เข้ามาแทน
 
 
เราสามารถแบ่งความสุขจากการบริโภคทรัพย์เป็น 4  ประเภทคือ

       1.  ความสุขแบบอัตคัดขัดสน  ประเภทนี้ขอให้พ้นจากความหิวและมีความปลอดภัยในชีวิตก็พอใจแล้ว เงิน 10 บาทขึ้นไปก็สามารถซื้อหาความสุขได้
        2.  ความสุขเพราะความสะดวกสบาย  เมื่อขยับฐานะตัวเองมาเป็นพอกินพอใช้ นอกจากปัจจัย 4  ที่มีแล้ว  ความอยากทำให้ต้องหาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายต่างๆมาทำให้มีความสุขตนเองเพิ่มขึ้น เช่น ชื่อทีวี เครื่องเสียง เครื่องเล่น DVD เครื่องซักผ้า ประเภทนี้เงิน 1,000 บาทขึ้นไปจึงจะซื้อหาความสุขได
          3. ความสุขเนื่องจากอยู่ดีกินดี  เมื่อมีความมั่นคงในหน้าที่การงาน ชีวิตสะดวกสบายขึ้น การหาความสุขอาจใช้เงินเป็นแสน เพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์
          4.  ความสุขจากการเหลือกินเหลือใช้    ประเภทนี้เมื่อร่ำรวยเงินทองก็จะใช้ชีวิตอย่างหรูหนาฟุ่มเฟือย ความสุขจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  หากแต่ต้องใช้เงินหลักล้านในการแลกมา
 
         โดยส่วนใหญ่เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วไม่ว่าจะใช้เงินมากมายสักเท่าใดก็ไม่ได้มีความสุขมากไปกว่าตอนกินอยู่ตามอัตภาพหรือแบบพอกินพอใช้ได้ ถึงขั้นนี้ความสุขแบบเศรษฐีเงินล้านดูจะมีน้อยกว่าเงิน ๑๐ บาทสำหรับผู้หิวโหยในประเภทที่หนึ่ง   เปรียบเหมือนเส้นกราฟที่พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยการหาความสุขสบายจากการทำมาหากินสะสมทรัพย์สินเงินทองจนร่ำรวย แต่สักพักเส้นกราฟความสุขจะเริ่มโค้งต่ำลงเพราะความสุขจากทรัพย์นั้นมีขีดจำกัด ความสุขจากทรัพย์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ถ้าเป้าหมายความสุขคือการกินอิ่มมีที่ซุกหัวนอนหรือมีความสะดวกสบายตามอัตภาพเท่านั้น แต่ถ้าต้องการใช้ทรัพย์เพื่อความอยู่ดีกินดี  หรือเพื่อชีวิตร่ำรวยแบบฟุ่มเฟือยแล้ว ความสุขจะลดต่ำลงหรืออธิบายง่ายๆ  คือ  เมื่อมีความสุขอยู่ในขั้นสะดวกสบายแล้ว ถ้ายังแสวงหาทรัพย์หรือใช้ทรัพย์เพิ่มเพื่อให้มีความสุขยิ่งขึ้น ผลที่ตามมาก็คือความสุขกลับลดลง  
          เหตุที่ความสุขลดลงก็เพราะ  ภาระในการดูแลทรัพย์มีมากขึ้นหากเป็นเศรษฐีร้อยล้านเพราะทำธุรกิจการสื่อสาร ก็ต้องดูแลคนงานนับพัน  ต้องดูแลคอยเปิดทางให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุน มีภาระต้องหมุนเงินมิให้ขาด มีหนี้ที่ผูกพันกับธนาคาร มีบ้านราคาหลายล้านที่ต้องดูแลรักษา  ยิ่งถ้าเป็นเศรษฐีเพราะเป็นนักการเมืองทุจริตด้วยแล้ว ความวิตกกังวลยิ่งเพิ่มขึ้นหลายเท่านัก  เมื่อความต้องการในเรื่องอำนาจ ชื่อเสียง  เกียรติยศ  เข้ามาครอบงำ  สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่ยั่งยืนจะนำพาไปสู่ทุกข์... ทุกข์ที่อยู่บนกองเงินกองทอง ทุกข์จากความหวาดระแวง กลัวการที่จะต้องสูญเสียชื่อเสียง อำนาจบารมีของตน จะสังเกตได้ว่ายาแก้โรคกระเพาะ  ยาแก้เครียดและยารักษาความดันจึงขายดีในหมู่คนรวย
             ดังนั้นเมื่อเสพวัตถุจนสบายถึงจุดหนึ่งแล้วก็ควรหยุดเสพไม่ให้เกินจุดนั้นไป หากเราสามารถหยุดเมื่อถึงจุดนั้นได้ เรียกว่า "รู้จักพอดี" จุดพอดี คือจุดที่เรามีความสุขสูงสุด ถ้าเราไม่รู้จักจุดนั้น เมื่อเสพจนเลยจุดนั้นไป ความสุขก็จะลดลงตามลำดับ  หากเรารู้เท่าทันไม่ไหลตามกระแสบริโภคนิยมที่มีฤทธิ์กระตุ้นภาวะโลภ โกรธ หลง ภายในจิตใจเรา ให้เกิดความอยากมี อยากได้ โดยใช้วิธีคิด วิธีปฏิบัติตามแนวทางของพุทธศาสนา เช่น การถือศีล ทำสมาธิภาวนา การให้ทาน จะเป็นความสุขที่สงบ มีสติตื่นรู้    เบิกบานใจ  ปราศจากข้อผูกมัด  ความคาดหวังใดๆ  จะเป็นความสุขที่เกิดขึ้นขณะนั้นและยังคงสุขต่อไปหลังจากผ่านช่วงเวลานั้นไปแล้ว

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 78112เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2007 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท