ใก้ลจะได้เครื่องมือประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานของไทยแล้ว


ขนาดเส้นรอบวงเอวนั้นไม่ใช่วัดรอบเอวเอาง่ายๆ อย่างที่คิด.... การตรวจสุขภาพเป็นกระบวนการที่จะ identify unrecognized health risks

เมื่อวันศุกร์ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ดิฉันได้เข้าร่วมประชุมที่จัดโดยเครือข่ายวิจัยสุขภาพ (สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดำเนินงานโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ชุดโครงการหัวใจและหลอดเลือด) การประชุมครั้งนี้จัดเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการความรู้เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย เพื่อนำความรู้ไปสู่การควบคุมป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพ

ประธานที่ประชุมคือศาสตราจารย์ นพ.ธาดา ยิบอินซอย เลขานุการคือ รองศาสตราจารย์ นพ.วิชัย เอกพลากร

ในการประชุมครั้งนี้ รองศาสตราจารย์ นพ. ปิยะมิตร ศรีธรา นำทีมแพทย์หลาย specialties เสนอข้อมูลและความก้าวหน้าของ Thai EGAT study การวิจัยนี้เป็นโครงการวิจัยระยะยาวที่มีการริเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๘ (ค.ศ.๑๙๘๕) โดยศาสตราจารย์ นพ.สมชาติ โลจายะ และศาสตราจารย์ นพ.วิชัย ตันไพจิตร

ดิฉันฟังข้อมูลจากทีมผู้วิจัยและความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมด้วยความสนใจ รู้สึกชื่นชมรองศาสตราจารย์ นพ. ปิยะมิตร ศรีธรา ที่ได้รื้อฟื้นโครงการนี้มาดำเนินการต่อ พร้อมทั้งชักชวนผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นๆ เช่น ทางด้าน genetic, oncology, nutrition, toxicology, peridontal disease ฯลฯ มาทำงานด้วยกัน

ดิฉันคอยจับ "ความรู้" ที่จะสามารถนำใช้ในงานการดูแลผู้ป่วยเบาหวานได้ โดยเฉพาะในเชิงของการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ เก็บประเด็นที่น่าสนใจได้หลายเรื่องดังนี้

นพ. สุกิจ แย้มวงษ์ นำเสนอ CAD & EGAT Heart Score โดยใช้ข้อมูลปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มาทำนาย coronary event มีการใช้เส้นรอบวงเอว (waist circumference) เป็นปัจจัยหนึ่งด้วย คนฟังต่างก็คิดว่าการใช้ขนาดเส้นรอบวงเอวน่าจะใช้ได้ง่ายกว่า BMI มีเทปวัดเส้นเดียวก็ใช้ได้แล้ว ไม่ต้องชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงแล้วมาคำนวณอีก บรรดาอาจารย์จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องอธิบายว่าขนาดเส้นรอบวงเอวนั้นไม่ใช่วัดรอบเอวเอาง่ายๆ อย่างที่คิด โดยทั่วไปมักวัดโดยใช้จุดกึ่งกลางระหว่างซี่โครงซี่สุดท้ายและ iliac crest เป็น landmark แต่จริงๆ วัดได้ตั้ง ๔ จุด แล้วยังไม่รู้เลยว่าจุดไหนที่จะใช้ทำนายได้ดีที่สุด เวลาวัดต้องกระทำในที่มิดชิด ต้องถอดเสื้อถอดผ้ากันเลย ตรงนี้จึงควรไปศึกษากันให้รู้แน่อีกที แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้คือไม่ใช่ขนาดเอวกางเกงหรือกระโปรง

ศาสตราจารย์ นพ.สมนึก ดำรงกิจชัย นำเสนอเรื่อง Renal Disease in EGAT ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น Systolic BP, BMI, Cholesterol แต่ urine protein ถูกนำออกไป สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่าการตรวจ urine analysis (UA) ในการคัดกรองโรคไม่เกิดประโยชน์อะไร ดิฉันจึงคิดถึงการตรวจสุขภาพประจำปีที่กระทำกันอยู่ในทุกวันนี้ว่ามีประโยชน์จริงหรือเปล่า เพราะไม่สามารถนำไปสู่การป้องกันได้ การตรวจเลือดตรวจปัสสาวะกลายเป็นการดูว่ามีโรคหรือเปล่า ถ้าผลปกติก็ไม่ต้องทำอะไร นพ.สุรจิต สุนทรธรรม ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ฝ่ายสิทธิและมาตรฐานการบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แสดงความคิดเห็นว่า "สังคมไทยเข้าใจคำว่าตรวจสุขภาพผิด เข้าใจว่าเป็นการตรวจหาโรคว่าเป็นหรือยัง ต้องแก้ความเข้าใจเรื่องนี้ว่าการตรวจสุขภาพเป็นกระบวนการที่จะ identify unrecognized health risks .......คนไทยยังไม่ยอมรับการบริการที่ไม่มีวัตถุ"

ในประเด็นนี้ดิฉันคิดว่าเราต้องมีเครื่องมือที่จะช่วยประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ผลการตรวจสุขภาพประจำปีจะต้องสามารถบอกได้ว่า "คุณ...มีความเสี่ยงกี่เปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดโรคเบาหวานภายใน ๑๐ ปี" เป็นต้น การตรวจเลือดตรวจปัสสาวะ X-ray ไม่พอแน่นอน 

รองศาสตราจารย์ นพ.วิชัย เอกพลากร ได้นำเสนอ Diabetes risk score ซึ่งอาจารย์บอกว่ายังไม่แน่ใจว่าเครื่องมือนี้ "สุกดี" หรือยัง เครื่องมือของอาจารย์วิชัยใช้ปัจจัยอายุ เพศ BMI ขนาดเส้นรอบวงเอว ความดันโลหิตสูง ประวัติการมีเบาหวานในครอบครัว สามารถแยกคนที่เป็นและไม่เป็นเบาหวานได้ ๗๔-๗๕ % อาจารย์วิชัยจะนำเครื่องมือไปปรับปรุงให้ดีอีกหน่อยแล้วสัญญาว่าจะส่งมาให้เราลองเอาไปใช้ ในกรณีนี้ นพ.สุรจิต สุนทรธรรมได้เสริมอีกว่า ประเทศแคนาดาได้ตัดการใช้ Fasting Plasma Glucose ออกจากการประเมินความเสี่ยงแล้ว เพราะความไวไม่พอ และไม่ cost-effective เมื่อใช้ในประชากรทั่วไป

ดิฉันมีความหวังว่าเครื่องมือของอาจารย์วิชัย จะช่วยให้เราสามารถประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและดำเนินโครงการป้องกันได้ การคัดกรองที่เราทำๆ กันอยู่โดยการตรวจเลือดนั้น น่าจะช้าไปสำหรับการป้องกันโรคเบาหวานนะคะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เบาหวาน#test
หมายเลขบันทึก: 780เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2005 12:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท